28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

August 07,2019

ชลประทานทุ่ม ๘๐๐ ล. พัฒนาฝายหนองหวาย แก้น้ำท่วมขอนแก่นยั่งยืน

           ชลประทานทุ่มงบ ๘๐๐ ล้านบาทพัฒนาโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย คาดสร้างได้ปี ๒๕๖๔ มั่นใจแก้แล้ง รับมือน้ำท่วมพื้นที่ขอนแก่นและมหาสารคามได้อย่างยั่งยืน คาดดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี ๒๕๖๘

           เมื่อเวลา ๑๐.๐๐ น. วันที่ ๕ สิงหาคม ๒๕๖๒ ที่ห้องประชุมชั้น ๒ โรงแรมอวานี ขอนแก่น แอนด์ คอนเวนชั่น เซนเตอร์ นายสันติ เหล่าบุญเสงี่ยม รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานเปิดการปัจฉิมนิเทศโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย จ.ขอนแก่น ซึ่งกรมชลประทาน ได้กำหนดจัดการประชุมขึ้น โดยมีผู้บริหารจากกรมชลประทาน รวมทั้งคณะนักวิชาการ และประชาชนในพื้นที่ใช้น้ำของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย ในเขตจังหวัดขอนแก่น และ มหาสารคาม ร่วมรับฟังรวมกว่า ๒๐๐ คน

           นายทรงวุฒิ กิจวรวุฒิ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวาย กล่าวว่า โครงการส่งน้ำฯ มีพื้นที่การบริหารจัดการน้ำในเขตชลประทานครอบคลุมพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและมหาสารคาม โดยดำเนินการส่งน้ำในพื้นที่มานานกว่า ๕๐ ปี สำหรับการทำการเกษตร การบริหารจัดการภัยแล้ง รวมไปถึงการบรรเทาด้านอุทกภัย ปัจจุบันกรมชลประทาน ได้พิจารณาแผนการปรับปรุงด้วยการสำรวจและศึกษาความเหมาะสม ซึ่งแผนการดำเนินการดังกล่าวแล้วเสร็จ โดยขั้นตอนจากนี้ไปคือ การสรุปผลการศึกษาให้กับกรมชลประทานเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลในการพิจารณางบประมาณ ๘๐๐ ล้านบาทในการปรับปรุงโครงการดังกล่าว ซึ่งหากได้รับการพิจารณาแล้วคาดว่าจะสามารถดำเนินการปรับปรุงโครงการดังกล่าวได้ภายในปี ๒๕๖๔

           “การปรับปรุงโครงการดังกล่าว หลังโครงการส่งน้ำฯ มีระยะเวลาการทำงานมานานกว่า ๕๐ ปี ในปัจจุบันหลายจุดชำรุดทรุดโทรมอย่างมาก ซึ่งการศึกษาร่วมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้นเสร็จสิ้นแล้วทั้งหมด กระทั่งสามารถที่จะสรุปเป็นการประมาณการงบประมาณได้ที่ ๘๐๐ ล้านบาท ที่จะประกอบด้วยการปรับปรุงประตูระบายน้ำ บริเวณตอนต้นของโครงการ ให้มีความสูง ๑๖๕.๕ เมตร และมีประตูระบายน้ำ ๙ ช่อง ซึ่งจะเพิ่มปริมาณกักเก็บน้ำจากเดิมในปัจจุบันที่เก็บกักน้ำได้ที่ ๘๐ ล้าน ลบ.ม. เป็น ๑๗๔ ล้าน ลบ.ม. การซ่อมแซมคลองส่งน้ำฝั่งซ้ายและฝั่งขวา ตลอดแนวทั้งโครงการ การปรับปรุงประตูระบายทุกจุดตลอดแนวโครงการ ทั้งยังคงมีการก่อสร้างสถานีสูบน้ำที่ปลายคลองระบาย ที่ประตูระบายน้ำ D8/D9 ฝั่งซ้าย และ ประตูระบายน้ำ D9/D10/D11 ฝั่งขวา” นายทรงวุฒิ กิจวรวุฒิ กล่าว

           นายทรงวุฒิ กล่าวอีกว่า ภายหลังจากการปรับปรุงโครงการแล้วเสร็จ จะเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งน้ำในพื้นที่เขตชลประทานและพื้นที่ที่รับผิดชอบ ในการที่จะจัดสรรน้ำจากต้นน้ำไปยังท้ายน้ำได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น รวมทั้งการปรับปรุงระบบโทรมาตรเพื่อการบริหารจัดการน้ำ ทั้งการติดตั้งเกียร์มอเตอร์ไฟฟ้า ระบบ CCTV และระบบ SCADA เพื่อเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล รวมถึงใช้ในการเฝ้าระวังติดตาม และแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำ ทั้งในช่วงน้ำแล้ง และฤดูน้ำหลาก อย่างไรก็ตามแผนดำเนินงานดังกล่าวนี้กรมชลประทานได้กำหนดระยะเวลาในการดำเนินโครงการ ๔ ปี ซึ่งหากเป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาหนองหวายจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในปี ๒๕๖๘

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๘๗ วันอังคารที่ ๖ - วันเสาร์ที่ ๑๐ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

794 1434