28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

August 10,2019

ผู้ตรวจการแผ่นดิน’คลายปัญหา เขตอุทยานทับที่ดินราษฎร ให้อาศัยทำกินตามเงื่อนไข

ผู้ตรวจการแผ่นดิน’ลงพื้นที่หาทางออกปัญหาประกาศเขตอุทยานทับลานทับที่ดินทำกินราษฎร ๒ จังหวัด ที่ผ่านมามีประชาชนถูกจับกุมดำเนินคดี ได้รับความเดือดร้อน สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา อนุญาตให้อยู่อาศัยต่อไปตามหลักเกณฑ์ ส่วนพื้นที่ที่ถูกกันออกให้รายงานให้รัฐมนตรีทราบ มอบส.ป.ก.จัดสรรให้ราษฎรทำกิน 

เมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม ๒๕๖๒ พลเอกวิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วย นายสิริน ชาวเพ็ชรดี ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน ๒ และคณะ ลงพื้นที่อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา เพื่อสร้างความเข้าใจในคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา, ผู้แทนแม่ทัพภาคที่ ๒, นายอำเภอวังน้ำเขียว, นายอำเภอครบุรี, นายอำเภอปักธงชัย, นายอำเภอเสิงสาง, ปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา, ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ ๗ และผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๘ (นครราชสีมา) รวมทั้งราษฎรในพื้นที่ให้ทราบถึงการอำนวยความเป็นธรรมของผู้ตรวจการแผ่นดินในการแก้ปัญหาการประกาศเขตอุทยา

แห่งชาติทับลานทับที่ดินทำกิน ของราษฎร ในการถือครองที่ดินของราษฎรในอำเภอวังน้ำเขียว อำเภอปักธงชัย อำเภอครบุรี และอำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี รวม ๕ อำเภอ ๒ จังหวัด ซึ่งพื้นที่บางส่วนถูกกล่าวหาว่า บุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและอุทยานแห่งชาติทับลาน 
โดยจากการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า ปัญหาเกิดจากการส่งมอบพื้นที่และการประกาศแนวเขตของหน่วยงานภาครัฐในแต่ละช่วงเวลาเกิดความคลาดเคลื่อนของแนวเขต กระทั่งทำให้เขตพื้นที่รับผิดชอบของหน่วยงานทับซ้อนกัน ซึ่งต้องย้อนไปเมื่อปี ๒๕๒๐–๒๕๒๓ ที่กรมป่าไม้ร่วมกับ ส.ป.ก. ได้สำรวจรังวัดและส่งมอบป่าวังน้ำเขียวแปลงที่ ๑ และป่าวังน้ำเขียวแปลงที่ ๒ โดยการสำรวจรังวัดได้มีการโยงยึดค่าพิกัดหมุดหลักฐาน แผนที่ของกรมแผนที่ทหาร ระบบพิกัดฉากเพื่อทราบตำแหน่ง รูปแปลงและเนื้อที่ที่แน่นอน ต่อมาได้มีการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฯ พ.ศ.๒๕๒๔ กำหนดที่ดินป่าวังน้ำเขียว ป่าครบุรี ในท้องที่ตำบลสะแกราช ตำบลวังน้ำเขียว อำเภอปักธงชัย ตำบลครบุรี ตำบลจระเข้หิน ตำบลโคกกระชาย อำเภอครบุรี และตำบลสระตะเคียน ตำบลโนนสมบูรณ์ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา และป่าแก่งดินสอ ป่าแก่งใหญ่ และป่าเขาสะโตน ในท้องที่ตำบลบุพราหมณ์ ตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยไม่ได้ทำการสำรวจพื้นที่จริงก่อนการประกาศกำหนดเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จึงทำให้เกิดกรณีพิพาทเรื่องที่ดิน และรัฐได้พยายามแก้ไขปัญหามาโดยตลอด 

ทั้งนี้ ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ราษฎรในพื้นที่ดังกล่าวมีทั้งราษฎรที่อาศัยอยู่มาแต่เดิมตั้งแต่ปี ๒๔๕๗ และราษฎรที่เคยอาศัยกระจัดกระจายอยู่บนป่าเขาในเขตอิทธิพลผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) ซึ่งเมื่อปี ๒๕๑๘ รัฐได้อพยพราษฎรเหล่านี้ลงมาอยู่ในพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม ไม่มีสภาพความเป็นธรรมชาติ และจัดสรรพื้นที่ทำกินพร้อมกับจัดตั้งหมู่บ้านชื่อว่า “บ้านไทยสามัคคี” ให้อยู่อาศัยกันมามากกว่า ๔๐ ปี กระทั่งเมื่อปี ๒๕๓๓–๒๕๔๓ มีการสำรวจรังวัดปรับปรุงแนวเขตและปักหลักเขตจนเป็นที่รับรู้ทั่วกันของราษฎร แต่การแก้ไขพระราชกฤษฎีกาปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานไม่แล้วเสร็จ จึงยังคงใช้พระราชกฤษฎีกาฯ พ.ศ.๒๕๒๔ มาถึงปัจจุบัน ทำให้มีราษฎรถูกจับกุม ดำเนินคดี เป็นการสร้างปัญหาความเดือดร้อน ความไม่มั่นคงในการประกอบอาชีพ ถูกภาครัฐทอดทิ้งไม่ให้ความช่วยเหลือใดๆ เฉกเช่นเดียวกับที่ให้แก่เกษตรกรทั่วไป ส่งผลให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับราษฎรในพื้นที่เรื่อยมา

ในการนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงเห็นชอบให้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๖๐ เสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย กฎ คำสั่ง และขั้นตอนการปฏิบัติงานที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน โดยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน และดำเนินการตราพระราชกฤษฎีกาปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยให้ยึดถือแนวเขตตามที่ได้ดำเนินการสำรวจรังวัดร่วมกันมาแล้วเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๓ เพื่อแก้ไขปัญหาการทับซ้อนกันของพื้นที่ จากนั้นให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการในแต่ละพื้นที่ ดังนี้

๑. บริเวณพื้นที่ที่ยังคงเป็นเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยการพิจารณาอนุญาตให้ประชาชนอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ ตามเงื่อนไข หลักเกณฑ์ และวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๒
๒. บริเวณพื้นที่ที่ถูกกันออกหรือเพิกถอนจากเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ให้กรมป่าไม้รายงานเหตุผลและความจำเป็นไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อออกกฎกระทรวงยกเลิกเขตป่าสงวนแห่งชาติ รวมถึงเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีให้มีมติยกเลิกพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ เนื่องจากสภาพความเป็นจริงคือเป็นป่าเสื่อมโทรมที่รัฐจัดให้ประชาชนเข้าไปทำกิน (พมพ./คจก.) ดังนั้น แสดงว่าไม่มีสภาพของป่าอนุรักษ์อีกแล้ว จากนั้นให้กรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่บริเวณดังกล่าวให้ ส.ป.ก. ดำเนินการจัดที่ดินให้ประชาชนเข้าอยู่อาศัยทำกินตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมให้ครบถ้วนต่อไป

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๘๘ วันอาทิตย์ที่ ๑๑- วันพฤหัสบดีที่ ๑๕ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 


793 1419