29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

August 27,2019

อีสานโพล’สำรวจ ๕ เมืองใหญ่ ลดปัญหาจราจรด้วยจักรยาน คนอีสานยังไม่เข้าใจ‘สมาร์ทซิตี้’

เผยผลสำรวจ “การพัฒนา ๕ เมืองใหญ่อีสานด้วยจักรยาน” พบว่า ยังไม่เข้าใจ “สมาร์ทซิตี้” มองปัญหาจราจรและอุบัติเหตุบนถนนรุนแรงที่สุด เสนอให้แก้ด้วยการกวดขันวินัยจราจร และส่งเสริมการใช้จักรยานอย่างเป็นระบบ กว่าครึ่งหนุนให้สร้างเลนจักรยาน

เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๒ ผศ.ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) เปิดเผยว่า อีสานโพลได้ทำการสำรวจเรื่อง การพัฒนา ๕ เมืองใหญ่อีสานด้วยจักรยาน” เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานในเขตเมืองใหญ่ต่อการพัฒนาเมืองด้วยการสร้างเลนจักรยานและส่งเสริมการใช้อย่างเป็นระบบ ทำการสำรวจระหว่างวันที่ ๑๕ กรกฎคม ถึง ๑๕ สิงหาคม  ๒๕๖๒ จากกลุ่มตัวอย่างอายุ ๑๘ ปีขึ้นไป จำนวน ๕๐๐ ราย ในเขตพื้นที่เทศบาลนครหรือเทศบาลเมืองในภาคอีสาน ๕ จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี และบุรีรัมย์

เมื่อสอบถามว่า เคยได้ยินคำว่า “สมาร์ทซิตี้ หรือเมืองอัจฉริยะหรือไม่” พบว่า ร้อยละ ๔๗.๒ บอกว่าเคยได้ยินแต่ยังไม่เข้าใจความหมาย รองลงมา ร้อยละ ๓๐.๐ ไม่เคยได้ยิน และ ร้อยละ ๒๒.๘ เคยได้ยินและเข้าใจความหมาย ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างที่เคยได้ยินและเข้าใจความหมาย เรียงตามลำดับ ดังนี้ อุบลราชธานี ๓๓.๐๐% ขอนแก่น ๓๒.๐๐% นคราชสีมา ๑๙.๐๐% อุดรธานี ๑๘.๐๐% และบุรีรัมย์ ๑๒.๐๐%

จากนั้นสอบถามความเห็นว่าโครงการใดที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเมืองของท่านมากที่สุด พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เห็นว่า การมีศูนย์กลางทางการแพทย์เป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาเมืองมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ ๒๔.๐ โดยเรียงตามลำดับ ดังนี้ นครราชสีมา ๓๙.๐๐% บุรีรัมย์ ๓๗.๐๐% ขอนแก่น ๑๙.๐๐% อุบลราชธานี ๑๓.๐๐% และอุดรธานี ๑๒.๐๐% รองลงมาการเป็นสมาร์ทซิตี้ (เมืองอัจฉริยะ) ร้อยละ ๒๑.๐ ถัดมาเป็นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและธุรกิจท่องเที่ยว ร้อยละ ๒๐.๐ การมีระบบรถราง ร้อยละ ๑๗.๒ การเป็นนิคมอุตสาหกรรม ร้อยละ ๑๑.๘ ศูนย์กลางแห่งการประชุมและสัมมนา ร้อยละ ๓.๔ และอุตสาหกรรมซ่อมบำรุงอากาศยาน ๑.๒ ท่าเรือบก ร้อยละ ๐.๘ และอื่นๆ ร้อยละ ๐.๔

ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างในจังหวัดนคราชสีมาและบุรีรัมย์ เห็นว่า ศูนย์กลางทางการแพทย์ เป็นประโยชน์มากที่สุด ๓๙.๐๐%  และ ๓๗.๐๐% ตามลำดับ ขอนแก่น ๓๐.๐๐% และอุดรธานี เห็นว่าการเป็นสมาร์ทซิตี้ เป็นประโยชน์มากที่สุด ๒๗.๐๐% ส่วนอุบลราชธานี เห็นว่า นิคมอุตสาหกรรม เป็นประโยชน์มากที่สุด ๒๖.๐๐%

ต่อมาสอบถามว่า สิ่งใดเป็นปัญหารุนแรงที่สุดในเมืองของท่าน พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ ๓๓.๒ คือปัญหาการจราจรติดขัดและอุบัติเหตุบนถนน โดยเรียงตามลำดับ ดังนี้ นครราชสีมา ๔๕.๐๐% ขอนแก่น ๓๓.๐๐% อุดรธานี ๓๑.๐๐% อุบลราชธานี ๒๙.๐๐% และบุรีรัมย์ ๒๘.๐๐% รองลงมา ร้อยละ ๑๖.๔ ปัญหายาเสพติด ถัดมาเป็นปัญหารายได้ต่อหัวและความเหลื่อมล้ำ ร้อยละ ๑๔.๘ ปัญหามลภาวะทางอากาศ ร้อยละ ๑๔.๖  ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ร้อยละ ๑๒.๒ ปัญหาสวนสาธารณะและพื้นที่สีเขียวน้อยเกินไปร้อยละ ๔.๐ กับปัญหาสุขภาพจิตสังคม ร้อยละ ๔.๐ และปัญหาอื่นๆ ร้อยละ ๐.๘

จากนั้นสอบถามว่า เมืองของท่านควรแก้ปัญหาการจราติดขัดด้วยวิธีการใดมากที่สุดพบว่า อันดับหนึ่ง ร้อยละ ๓๕.๐ เห็นว่าควรกวดขันวินัยจราจรและการจอดรถ โดยเรียงตามลำดับ ดังนี้ บุรีรัมย์ ๕๐.๐๐% อุบลราชธานี ๔๓.๐๐% อุดรธานี ๔๑.๐๐% ขอนแก่น ๓๙.๐๐% นครราชสีมา ๒.๐๐% รองลงมา ร้อยละ ๒๓.๒ อยากให้ส่งเสริมการใช้จักรยานอย่างเป็นระบบ ถัดมา สร้างรถไฟฟ้าระบบราง ร้อยละ ๑๕.๖ พัฒนารถเมล์ให้ทันสมัยขึ้น ร้อยละ ๑๔.๐ และสร้างทางลอดและขยายถนนเพิ่ม ร้อยละ ๑๒.๒

ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างในจังหวัดนครราชสีมา เห็นว่าควรแก้ปัญหาจราจร ด้วยการส่งเสริมการใช้จักรยานอย่างเป็นระบบและสร้างทางลอดและขยายถนนเพิ่ม มากที่สุดถึง ๓๖.๐๐% ขอนแก่นและอุบลราชธานีหนุนการกวดขันวินัยจราจรและการจอดรถ ๓๙.๐๐% และ ๔๓.๐๐% ตามลำดับ และส่งเสริมการใช้จักรยานอย่างเป็นระบบ ๒๗.๐๐% และ ๒๕.๐๐% ตามลำดับ อุดรธานี หนุนการกวดขันวินัยจราจรและการจอดรถ ๔๑.๐๐% และสร้างรถไฟฟ้าระบบราง ๒๖.๐๐% และบุรีรัมย์ หนุนการกวดขันวินัยจราจรและการจอดรถ ๕๐.๐๐% และพัฒนารถเมล์ให้ทันสมัยขึ้น ๑๘.๐๐%

เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างว่า ชื่นชอบการปั่นจักรยานหรือไม่ พบว่า เกินครึ่งหรือร้อยละ ๕๓.๒ ชื่นชอบการปั่นจักยานเล็กน้อย รองลงมาชื่นชอบการปั่นจักรยานมาก ร้อยละ ๒๕.๖ และไม่ชื่นชอบการปั่น ร้อยละ ๒๑.๒ ตามลำดับ ทั้งนี้ ขอนแก่นมีสัดส่วนผู้ชื่นชอบการปั่นมากที่สุดถึง ๓๖.๐๐% ตามมาด้วย อุบลราชธานี ๓๓.๐๐% บุรีรัมย์ ๒๖.๐๐% นครราชสีมา ๑๗.๐๐% และอุดรธานี ๑๖.๐๐%

จากนั้นสอบถามความคิดเห็นว่า ในการสร้างเลนจักรยานและส่งเสริมการใช้จักรยานอย่างเป็นระบบในเขตเมืองจะเกิดประโยชน์ด้านใดมากที่สุด พบว่า อันดับหนึ่ง ร้อยละ ๔๔.๔ เห็นว่าจะสามารถบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดได้ โดยเรียงตามลำดับจังหวัด ดังนี้ นครราชสีมา ๕๙.๐๐% อุดรธานี ๔๖.๐๐% อุบลราชธานี ๔๕.๐๐% ขอนแก่น ๔๐.๐๐% และบุรีรัมย์ ๓๒.๐๐% รองลงมา จะช่วยลดปัญหาเรื่องค่าฝุ่นละอองในอากาศ ร้อยละ ๓๒.๔ ถัดมา จะช่วยลดรายจ่ายในการเดินทางได้ ร้อยละ ๑๐.๖ สุขภาพประชาชนจะดีขึ้น ร้อยละ ๗.๐ เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ร้อยละ ๕.๐  และด้านอื่นๆ ร้อยละ ๐.๖

เมื่อสอบถามถึงการสร้างเลนจักรยานและส่งเสริมการใช้จักรยานอย่างเป็นระบบในเขตเมืองว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ โดยพิจารณาถึงพื้นที่การจราจร ความปลอดภัยบนถนน และอุณหูมิที่ค่อนข้างร้อน พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามกว่าครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ ๔๙.๖ เห็นว่า เหมาะสมมาก รองลงมา ร้อยละ ๔๔.๐ เห็นว่าเหมาะสมเล็กน้อย และมีเพียงส่วนน้อย ร้อยละ ๖.๔ ที่เห็นว่าไม่เหมาะสม

ทั้งนี้ จังหวัดที่เห็นว่าเหมาะสมมากที่สุด คือ ขอนแก่น ๖๕.๐๐% ตามมาด้วย นคราชสีมา ๖๒.๐๐% อุดรธานี ๔๘.๐๐% อุบลราชธานี ๔๓.๐๐% และบุรีรัมย์ ๓๐.๐๐%

และสุดท้ายสอบถามว่า หน่วยงานใดหรือใครควรเป็นผู้ผลักดันในการสร้างเลนจักรยาน และส่งเสริมการใช้จักรยานอย่างเป็นระบบ พบว่า ร้อยละ ๓๕.๔ เห็นว่าเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด โดยเรียงตามลำดับจังหวัด ดังนี้ นครราชสีมา ๕๑.๐๐% ขอนแก่น ๓๖.๐๐% อุดรธานี ๓๕.๐๐% อุบลราชธานี ๓๑.๐๐% และบุรีรัมย์ ๒๔.๐๐% รองลงมา ร้อยละ ๒๗.๘ เทศบาลนครและเทศบาลรอบๆ ร้อยละ ๒๑.๐ องค์การบริหารส่วนจังหวัด ร้อยละ ๑๒.๐ หอการค้าและภาคเอกชน ร้อยละ ๓.๘ อื่นๆ เช่น ดารานักแสดง บุคคลต้นแบบ หรือเน็ตไอดอล เป็นต้น

ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วยเพศหญิง ร้อยละ ๕๑.๔ และเพศชายร้อยละ ๔๘.๖ โดยมี อายุ ๑๘-๓๐ ปี ร้อยละ ๒๔.๖ อายุ ๒๖-๓๐ ปี ร้อยละ ๑๙.๒ อายุ ๓๑-๔๐ ปี ร้อยละ ๒๒.๔ อายุ ๔๑-๕๐ ปี ร้อยละ ๑๖.๔ อายุ ๕๑-๖๐ ปี ร้อยละ ๑๓.๒ และอายุ ๖๑ ปีขึ้นไป ร้อยละ ๔.๒ 

ด้านการศึกษา จบประถมศึกษา/ต่ำกว่า ร้อยละ ๑๐.๖ มัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ ๒๒.๘๑๓.๖  มัธยมศึกษาตอนปลาย/ระดับปวช. ร้อยละ ๓๙.๔ ระดับอนุปริญญา/ปวส. ร้อยละ ๑๐ ระดับปริญญาตรี ร้อยละ ๒๓ และสูงกว่าปริญญาตรี ร้อยละ ๓.๐ 

ด้านอาชีพส่วนใหญ่ประกอบอาชีพพนักงานบริษัทและเอกชน ร้อยละ ๒๕.๔ รองลงมานักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ ๒๑.๘  ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว/งานอิสระ ร้อยละ ๑๗.๒ ผู้ใช้แรงงาน/รับจ้างทั่วไป/ลูกจ้างสถานประกอบการ ร้อยละ ๑๖.๔ รับราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ ๑๑.๐ พ่อบ้าน/แม่บ้าน ร้อยละ ๕.๖ และ อื่นๆ ร้อยละ ๒.๒ 

ด้านรายได้เฉลี่ยต่อเดือนส่วนใหญ่รายได้ระหว่าง ๑๕,๐๐๑-๒๐,๐๐๐ บาท     ร้อยละ ๒๗.๒ รองลงมามีรายได้อยู่ระหว่าง  ๑๐,๐๐๑-๑๕,๐๐๐ บาท ร้อยละ ๒๕.๘ รายได้ระหว่าง ๕,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ บาท ร้อยละ ๒๐.๔ รายได้ระหว่าง ๒๐,๐๐๑-๔๐,๐๐๐ ร้อยละ ๑๓.๘ รายได้ไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท ร้อยละ ๑๑.๖ และรายได้มากกว่า ๔๐,๐๐๑ บาทขึ้นไปร้อยละ ๑.๒

 

 ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๙๑ วันจันทร์ที่ ๒๖ - วันเสาร์ที่ ๓๑ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

790 1408