28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

October 09,2019

นักวิจัย มทส.พัฒนาศักยภาพ ระบบเก็บพลังงานด้วยควอนตัม ชาร์จไวใช้งานยาวแถมต้นทุนต่ำ

มทส.แถลงงานวิจัย “การพัฒนาศักยภาพระบบกักเก็บพลังงานขั้นสูงด้วยเทคโนโลยีควอนตัม” พบสามารถเพิ่มความจุเป็น ๓ เท่า อายุใช้งานยาวนาน ชาร์จเร็ว ลดต้นทุนการผลิต หวังต่อยอดนวัตกรรมสู่รถไฟฟ้า และใช้ร่วมกับระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าจากโซล่าเซลล์ 

เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๖๒ ณ อาคารวิชาการ ๒ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. เป็นประธานการแถลงข่าวผลงานวิจัย “การพัฒนาศักยภาพระบบกักเก็บพลังงานขั้นสูงด้วยเทคโนโลยีควอนตัม” กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้ให้ความสำคัญในการสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการวิจัย ที่มุ่งวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม  ที่ต่อยอดสู่นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ และสร้างประโยชน์สู่ชุมชน ตามยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยที่จะสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศโดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผลงานวิจัย“การพัฒนาศักยภาพระบบกักเก็บพลังงานขั้นสูงด้วยเทคโนโลยีควอนตัม” ของศูนย์ความเป็นเลิศด้านวัสดุหน้าที่พิเศษขั้นสูง (Center of Excellence in Advanced Functional Materials, COE AFM) โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.สันติ แม้นศิริ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ จัดตั้งขึ้นเพื่อรวบรวมผู้เชี่ยวชาญรวมกลุ่มพัฒนางานวิจัยที่ตอบโจทย์ของสังคมอย่างแท้จริง จับต้องได้ที่เรียกว่า “จากหิ้งสู่ห้าง”  

สำหรับองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยระบบกักเก็บพลังงานขั้นสูงนี้ ถือเป็นส่วนประกอบหลักหนึ่งที่จะก่อให้เกิดเสถียรภาพในระบบผลิตไฟฟ้า ส่งเสริมการใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานทดแทน และยังช่วยให้เกิดการพัฒนาขีดความสามารถด้านนี้ต่อบุคลากรภายในประเทศ ควบคู่ไปกับการศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้ร่วมกับประเทศชั้นนำอื่นๆ ผมเชื่อมั่นว่า องค์ความรู้ที่ได้จะสามารถตอบโจทย์นโยบายพลังงานของประเทศ สร้างฐานพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานให้เข้มแข็งและสามารถแข่งขันได้ในระยะยาว”

รองศาสตราจารย์ ดร.วรวัฒน์ มีวาสนา คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มทส. ในฐานะหัวหน้าคณะนักวิจัย เปิดเผยว่า “โครงการพัฒนาศักยภาพการอัดประจุของตัวเก็บประจุยิ่งยวดด้วยเทคโนโลยีควอนตัม เป็นส่วนหนึ่งในชุดโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) โดยการสนับสนุนงบวิจัยจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน และศูนย์ความเป็นเลิศด้านวัสดุหน้าที่พิเศษขั้นสูง มทส. ในการมุ่งตอบโจทย์การพัฒนาด้านพลังงานของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานสะอาด (Green Energy) ซึ่งจะเข้ามาทดแทนพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใกล้จะหมดลงในอนาคต เช่น  พลังงานแสงอาทิตย์หรือโซล่าเซลล์ (Solar cell) ปัจจุบันสามารถผลิตได้ในราคาที่ต่ำลงมาก แต่ยังมีข้อจำกัดในการใช้งานช่วงกลางคืนโดยจะต้องมีระบบกักเก็บพลังงานมาช่วยซึ่งปัจจุบันยังไม่เป็นที่นิยมเนื่องจากราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับราคาไฟฟ้าจากรัฐ และในอนาคตอันใกล้มีแนวโน้มที่จะหันมาใช้รถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น แน่นอนว่าจากโครงสร้างพื้นฐานของประเทศขณะนี้ ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้อาจไม่เพียงพอต่อการใช้งานเมื่อเทียบกับอัตราการเจริญเติบโต และรูปแบบการใช้งานที่เพิ่มสูงขึ้น

ทีมวิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาและพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานชนิดตัวเก็บประจุยิ่งยวด (Supercapacitor) โดยได้นำหลักพื้นฐานด้านเทคโนโลยีควอนตัม ที่เรียกว่า Negative electronic compressibility เข้ามาช่วยในการบีบอัดอิเล็กตรอนเชิงลบเข้าไปแทนที่ ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้สำหรับการเพิ่มค่าความจุให้กับตัวเก็บประจุยิ่งยวด ด้วยเทคนิค Sputtering หรือการเคลือบสารที่มีสมบัติพิเศษดังกล่าวลงไปที่ขั้วไฟฟ้า 

ผลจากการทดลองพบว่า ความสามารถในการอัดประจุ (Specific energy) สูงเพิ่มขึ้นได้ ๓ เท่าตัว และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน  (Cycle life) แต่ใช้ปริมาณสารที่น้อยมาก อาจถือได้ว่าปริมาณดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนในการผลิต ซึ่งเป็นแนวทางให้ราคาลดลงต่ำกว่า ๒ บาท/กิโลวัตต์ชั่วโมง แผนการดำเนินงานระยะต่อไป  คือการขยายสเกลในการผลิตตัวกักเก็บพลังงานยิ่งยวด รวมทั้งการนำไปประยุกต์ใช้งานร่วมกับรถไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) และระบบผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ ซึ่งหากผลการใช้งานมีความเสถียรเป็นที่น่าพอใจ อาจจะนำไปสู่การต่อยอดนวัตกรรมในรูปแบบ Startup ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหาความร่วมมือกับภาคเอกชน บริษัท อีคิว เทค เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด และบริษัท ทีม เค พาวเวอร์ จำกัด ในการศึกษาวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของการพัฒนาต่อยอดสร้างสรรค์เป็นนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ต่อไป

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๕๙๗ วันพุธที่ ๙ - วันอังคารที่ ๑๕ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

789 1412