28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

November 07,2019

โรงแป้งร่วมซื้อ‘มันแปลงใหญ่’ หวังช่วยราคาให้ดีกว่าตลาด แบน ๓ สารพิษกระทบต้นทุน

กลุ่มโรงแป้งร่วมลงนามรับซื้อมันสำปะหลังจากเกษตรกร ช่วยขายมันสำปะหลังในราคาสูงกว่าตลาด เผยปีนี้ผลผลิตลดลง “ผู้ว่าฯ วิเชียร” ห่วงการแบน ๓ สารเคมี ส่งผลให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น จี้ภาครัฐแก้ปัญหาอย่างรอบด้าน

เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่สมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ถนนราชสีมา-โชคชัย จังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นายศารุมภ์ โหม่งสูงเนิน พาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา นายวรวุฒ บุญทิพย์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา และเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือซื้อขายผลผลิตหัวมันสำปะหลัง ปีการผลิต ๒๕๖๒/๖๓ โดยมีผู้ประกอบการที่ร่วมลงนามกับกลุ่มเกษตรกร ประกอบด้วย นายชาคริต ตรีกูล กรรมการบริหาร บริษัท เอี่ยมธงชัยอุตสาหกรรม จำกัด, นายอาคม ธัญญสนธิ ผู้ช่วยกรรมการ ผู้จัดการ บริษัท ชัยภูมิพืชผล จำกัด, นายดำรง อินทรเสนา ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ราชสีมา กรีน เอ็นเนอร์ยี จำกัด, นางโชติมา ลีอังกูร ผู้บริหาร บริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด, นางวันเพ็ญ อ่อนวงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แป้งไทย จำกัด และนายภาสกร สุรมูล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารงานสำนักงาน บริษัท เยนเนรัล สตาร์ช จำกัด และเลขานุการสมาคมฯ 

นายศารุมภ์ โหม่งสูงเนิน พาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “มันสําปะหลังเป็นพืชอาหารที่มีความสําคัญเป็นอันดับ ๕ ของโลก รองจากข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าว และมันฝรั่งในปี ๒๕๖๑ มีผลผลิตทั่วโลกปริมาณรวมประมาณ ๒๒๗ ล้านตัน โดยประเทศไทยเป็นผู้ผลิตสําคัญเป็นอันดับ ๒ ของโลก มีผลผลิตประมาณ ๒๗.๗ ล้านตัน มีความเกี่ยวข้องกับเกษตรกรกว่า ๗๐๐,๐๐๐ ครัวเรือน ประกอบกับขณะนี้ใกล้เข้าสู่ฤดูกาลที่ผลผลิตสินค้าเกษตรสําคัญ ได้แก่ ข้าว มันสําปะหลัง ข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ จะออกสู่ตลาด โดยเฉพาะสินค้ามันสําปะหลัง ซึ่งจังหวัดนครราชสีมาเป็นแหล่งเพาะปลูกสําคัญของประเทศ โดยปีการผลิต ๒๕๖๒/๖๓ มีพื้นที่เพาะปลูก ๑,๔๓๖,๐๗๕ ไร่ ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ๔.๐๔ ตันต่อไร่ ผลผลิตรวม ๕,๘๐๑,๗๔๓ ตัน ซึ่งมีแนวโน้มลดลง เหตุจากสถานการณ์ภัยแล้ง และภาวการณ์เกิดโรคไวรัสใบด่างมันสําปะหลัง ซึ่งผลผลิตจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๒-มีนาคม ๒๕๖๓ โดยพฤติกรรมการค้าทั่วไปราคารับซื้อผลผลิตจะปรับลดลงในช่วงต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว เนื่องจากจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดจํานวนมาก เกินกําลังการผลิตของผู้ประกอบการในพื้นที่ ส่งผลให้ผลผลิตต้องเกิดการติดคิวเพื่อรอจําหน่าย ซึ่งทําให้คุณภาพผลผลิตลดลงและมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น”

“ดังนั้น เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพราคา สินค้ามันสําปะหลังและสร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกรในด้านการตลาดเพื่อรองรับผลผลิตในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก สํานักงานพาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา จึงได้ดําเนินโครงการเชื่อมโยงตลาดโดยการลงนามความร่วมมือการซื้อขายผลผลิตหัวมันสําปะหลังสด ปีการผลิต ๒๕๖๒/๖๓ เพื่อเป็นทางเลือกสําหรับกลุ่มแปลงใหญ่มันสําปะหลัง ด้วยการเชื่อมโยงตลาดซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งจะทําให้เกษตรกรทราบสถานที่จําหน่าย ช่วงเวลา และราคาจําหน่ายขั้นต่ำ ทําให้ไม่ต้องรีบเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงต้นฤดู ส่วนโรงงานที่รับซื้อสามารถนําข้อมูลไปวางแผนการบริหารจัดการวัตถุดิบในกระบวนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ปัญหาผลผลิตออกสู่ตลาดจํานวนมากในช่วงต้นฤดูเก็บเกี่ยวลดลง ทําให้การแก้ไขปัญหาการตลาดมันสําปะหลังเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีผู้ประกอบการโรงงานผู้ผลิตแป้งมันสําปะหลังให้ความร่วมมือเข้าร่วมโครงการจํานวน ๖ ราย กับกลุ่มแปลงใหญ่มันสําปะหลังจํานวน ๒๔ กลุ่ม ผลผลิตรวม ๑๓๖,๑๔๓ ตัน” พาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา กล่าว

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้สอบถามนายวรวุฒ บุญทิพย์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา ถึงสถานการณ์ผลผลิต ราคา และปัญหาโรคใบด่างที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ซึ่งนายวรวุฒ ชี้แจงว่า “สถานการณ์ผลผลิตมันสำปะหลังในขณะนี้ทั้ง ๓๒ อำเภอทั่วจังหวัดนครราชสีมา มีพื้นที่ประมาณ ๑,๔๐๐,๐๐๐ ไร่ มีผลผลิตรวมแล้วประมาณ ๔ ตัน ซึ่งปัจจุบันเทคโนโลยีช่วยทำให้เกษตรกรมีผลผลิตเพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาเล็กน้อย เนื่องจากปีนี้จังหวัดนครราชสีมาประสบปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรง และปัญหาโรคใบด่างที่กำลังแพร่กระจายอยู่ในขณะนี้ คาดว่าผลผลิตปีหน้าจะมีมากกว่า ๔ ตัน โดยเพิ่มขึ้นจากปีนี้ ซึ่งมีผลผลิตอยู่ที่ ๓.๙-๔ ตัน เนื่องจากมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มผลผลิตให้เกษตรกรนั่นเอง”

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “วันนี้ถือว่าเป็นโอกาสดีที่ได้มาร่วมลงนามซื้อขายมันสำปะหลังแปลงใหญ่ระหว่างกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ทั้งหมด ๒๔ กลุ่ม กับผู้ประกอบการโรงงานหรือโรงแป้ง และโรงงานผลิตเอทานอล ทั้งหมด ๖ ราย รวมทั้งสิ้น ๓๐,๐๐๐ ไร่ ซึ่งเกษตรกรแปลงใหญ่ที่เข้าร่วมจะได้ราคาซื้อสูงกว่าราคาตลาด แต่ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมามีเกษตรกรแปลงใหญ่ถึง ๗๔ แปลง ที่อยู่ในระหว่างการพูดคุยเจรจา ซึ่งจะมีการรวมกลุ่มเพื่อเจรจาลงนามอีกเช่นกัน ซึ่งในช่วงก่อนทำ MOU ได้สอบถามถึงสถานการณ์การผลิตมันสำปะหลังในเขตจังหวัดนครราชสีมา ปกติจะมีพื้นที่ปลูกประมาณ ๑.๔ ล้านไร่ แต่ปีนี้ประสบภาวะฝนแล้ง ทำให้ผลผลิตลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง และเจอปัญหาโรคใบด่าง โรคไรแดง ทำให้ผลผลิตมันสำปะหลังน้อยลง แต่อย่างไรก็ตาม คาดว่า รัฐบาลโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะมีมาตรการในการประกันรายได้เกษตรกร แต่ปัญหาที่ยังท้าทายคือเรื่องลดต้นทุนการผลิต ซึ่งจะมีการแบน ๓ สารเคมีฆ่าหญ้า จะทำให้มีค่าใช้จ่ายในการจัดหาแรงงานเพิ่มขึ้นที่จะมาดายหญ้าแทนการใช้สารเคมี แต่ที่สำคัญคือ จะไม่มีคนรับจ้าง จึงต้องคิดว่าจะทำอย่างไร และอีกประเด็นคือ เรื่องเพิ่มผลผลิตให้ได้มากขึ้น ทั้งนี้เกษตรกรมันสำปะหลังยังอยู่ในระดับทรงตัว ยังไม่ถึงกับรายได้ดี ภาครัฐจึงจำเป็นต้องเข้าไปช่วยในเรื่องของน้ำ ลดต้นทุนการผลิต และเรื่องของการใช้สารเคมีทดแทนสารที่ถูกแบน”

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๐๑ วันพุธที่ ๖ - วันอังคารที่ ๑๒ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 


787 1433