19thApril

19thApril

19thApril

 

November 07,2019

‘สุวัจน์’ชี้เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว ต้องปรับตัวเพื่ออยู่รอด

ขนทัพเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อคนโคราชและอีสาน‘ประธานสุวัจน์’ เผยทุกวันนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ผู้ประกอบการควรปรับเปลี่ยนแนวคิดไปสู่จุดที่คาดว่าจะเพิ่มโอกาสทางธุรกิจได้มากขึ้น

เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๖.๐๐ น. ที่ Korat Hall ชั้น ๔ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดงาน NORTHEAST TECH 19 (Korat F.T.I) พร้อมด้วยนายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล และนายประเสริฐ บุญชัยสุข อดีตรัฐมนตรี โดยมีนางสริตา จินตกานนท์ ผู้ชำนาญการ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากลยุทธ์องค์กรสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ, ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดี มทร.อีสาน, ผศ.ดร.ปภากร พิทยชวาล ผู้อำนวยการเทคโนธานี มทส., ดร.อรรถพล มณีแดง รองผู้อำนวยการเทคโนธานีฝ่ายบริหารจัดการนวัตกรรม, นายนราทร ธานินพิทักษ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์นครราชสีมา รวมทั้งผู้มีเกียรติจากหลายหน่วยงานเข้าร่วม

นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ในนามสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นตัวแทนเอกชนเพื่อประสานงานกับภาครัฐ พัฒนาอุตสาหกรรมในภาคธุรกิจ ซึ่งได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดงานNORTHEAST TECH 19 (Korat F.T.I) หรือ มหกรรมเทคโนโลยีอีสานขึ้นมา หวังว่างานนี้จะเป็นงานที่จุดประกายให้กับหน่วยงานในท้องถิ่นทางภาคอีสานได้ปรับปรุงเทคโนโลยี เพื่อปรับปรุงธุรกิจในสภาวะเศรษฐกิจช่วงนี้ และวันนี้เราจะต้องมีการ ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีเพื่อทดแทนส่วนของแรงงานที่ขาดแคลน ซึ่งเครื่องจักร เทคโนโลยีใหม่ๆ จะสามารถทำให้ธุรกิจของเราดำเนินต่อไปได้ด้วยดี

ความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน

นายหัสดิน กล่าวอีกว่า การจัดงานปีนี้ เป็นปีที่ ๒ แล้ว ได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงาน, ไม่ว่าจะเป็น จังหวัดนครราชสีมา สํานักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB (ทีเส็บ), เทคโนธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.), บริษัท ซีพีเอ็น โคราช จํากัด (CENTRAL), สํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI), CPF (เครือเจริญโภคภัณฑ์), บริษัท ฮีโน่มอเตอร์สเซลส์ (ประเทศไทย) จํากัด, ITALTHAI INDUSTRIAN Co., Ltd. และ KUBOTA เป็นต้น 

“กิจกรรมในงานมีมากมาย มีผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม เข้ามาจําหน่ายอุปกรณ์โรงงาน หุ่นยนต์ แขนกล รถไฟฟ้า EV เครื่องจักรกล การเกษตร อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) และสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ รวมทั้งการสัมมนาหัวข้อต่างๆ ในแต่ละวัน เพื่อให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมได้รับองค์ความรู้เพิ่มเติมด้วย นอกจากนี้ยังจะมีการประชุมคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะมีคณะผู้บริหารและนักธุรกิจมาจากทั้ง ๑๙ จังหวัดในอีสาน รวมทั้งยังมีผู้ประกอบการจากต่างประเทศเข้าร่วมด้วย ซึ่งที่ลงทะเบียนไว้มีจากเนเธอร์แลนด์ ๑ ราย ออสเตรเลีย ๑ ราย กัมพูชา ๓ ราย และเวียดนาม ๑ ราย ถือว่าเป็นการเริ่มต้น เนื่องจากปีนี้เรายังไม่เน้นผู้ซื้อจากต่างประเทศมากนัก” นายหัสดิน กล่าว

ทีเส็บร่วมขับเคลื่อนนโยบายรัฐ

ด้านนางสริตา จินตกานนท์ ผู้ชำนาญการ รักษาการผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากลยุทธ์องค์กร ทีเส็บ กล่าวว่า ทีเส็บเป็นหนึ่งในหน่วยงาน รัฐที่ขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน การพัฒนาประเทศ รวมถึงการกระจายรายได้มาสู่ภูมิภาค โดยขับเคลื่อนโครงการ Empower Thailand Exhibition (EMTEX) มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้าของประเทศไทย มีนโยบายส่งเสริมผลักดันอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้าสู่ภูมิภาค โดยเพิ่มประสิทธิภาพ ยกระดับและสร้างการจัดงานแสดงสินค้าระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ ซึ่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ทีเส็บเน้นกลยุทธ์โดยกำหนดอุตสาหกรรมเศรษฐกิจเป้าหมาย และกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการส่งเสริมอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้าของไทย โดยอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเป็นอุตสาหกรรมเศรษฐกิจเป้าหมายอุตสาหกรรมหนึ่ง รวมทั้ง จังหวัดนครราชสีมาเป็นเมืองเศรษฐกิจที่มีศักยภาพ จากที่ทีเส็บร่วมทำงานกับสภา อุตสาหกรรมฯ เล็งเห็นถึงศักยภาพของ ผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัยของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีแนวโน้มจะเติบโต ให้สามารถแข่งขันได้ทั้งระดับในประเทศและต่างประเทศ โดยงาน NORTHEAST TECH 19 ถือเป็นการยกระดับงานจากปีที่ผ่านมา ให้เป็นงานแสดงสินค้าที่นำเสนอศักยภาพของกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัยของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ตั้งเป้าซื้อขาย ๑ พันล้าน

“ทีเส็บให้การสนับสนุนและพร้อมผลักดันงานนี้ในระยะยาวอย่างเต็มที่ โดยได้ให้คำปรึกษา ข้อเสนอแนะในการวางแผนของงานอย่างต่อเนื่องระยะ ๓ ปี เพื่อให้สามารถเตรียมงานประชาสัมพันธ์ล่วงหน้า สร้างให้เกิดการ       รับรู้ และดึงดูดผู้เข้าชมงานเป้าหมายได้ เพื่อให้งานเติบโตอย่างเนื่อง โดยวางกลยุทธ์การขยายตลาด ขยายกลุ่มผู้ซื้อที่เป็นตามเป้าหมายเพื่อการเจรจาธุรกิจ (Business Matching) โดยเชื่อมโยงผู้ประกอบการกับกลุ่มผู้ซื้อเป้าหมาย (Target Buyer) ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สร้างโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการให้มากที่สุด โดยการจัดงานนี้ ตั้งเป้ามูลค่าการซื้อขาย Business Matching ในงาน ไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งการสนับสนุนงานในครั้งนี้ถือเป็นการผลักดันงานแสดงสินค้าเพื่อธุรกิจ (Trade Exhibition) ของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัยของภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจกระจายรายได้ของจังหวัดนครราชสีมารวมถึงภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโต” นางสริตา กล่าว

โลกเปลี่ยนแปลง

จากนั้น นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อดีตรองนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษว่า การจัดงานนี้มีวัตถุประสงค์ที่ดีมาก เพื่อที่จะนำเทคโนโลยีของคนอีสานมาผสมผสานกับเทคโนโลยีจากต่างประเทศ หรือจากกรุงเทพฯ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน และประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับภาคธุรกิจในภาคอีสาน และนอกจากนั้นยังมีเรื่องของการจัด Business Matching ให้ผู้ประกอบการธุรกิจมาเจอกัน เพื่อหาจุดลงตัวในการประกอบธุรกิจร่วมกัน ถือว่าเป็นการจัดงานที่เปิดวิสัยทัศน์ และทำให้ทุกท่านสามารถใช้โอกาสนี้เพื่อปรับตัว ปรับกลยุทธ์ เพราะจะได้นำข้อมูลใหม่ๆ หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ มาให้เราเข้าใจ และปรับใช้
“ทุกวันนี้จะอยู่เฉยๆ ไม่ได้ เนื่องจากโลกเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก หากใครเคยทำอะไร แล้วยังทำเหมือนเดิม ก็จะทำให้อยู่ได้ยากขึ้น ดังนั้น หากจะทำแบบเดิม จะต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น เพื่อสามารถอยู่ได้ หรือคิดปรับเปลี่ยนไปสู่จุดอื่นที่คิดว่าจะได้โอกาสทางธุรกิจมากกว่า การจัดงานนี้จึงเหมือนเป็นการกระตุ้นให้เรามีความรู้สึกว่าจะต้องทำอะไรสักอย่าง เพื่อให้จุดประกายความคิดให้อยู่รอดได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง” นายสุวัจน์ กล่าว

ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม

นายสุวัจน์ กล่าวอีกว่า คนรุ่นปัจจุบันจะเป็นคนที่ลำบากที่สุด เพราะอยู่กับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้สูงอายุก็จะเป็นผู้ที่อายุยืน หรืออยู่นานมากขึ้น กับสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ สมัยก่อนเวลาที่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้นาน และจะมีจุดที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งได้ช้า เช่น เราอยู่กับไฟฟ้า เราก็อยู่กับอุตสาหกรรมไฟฟ้าได้นาน และผลการเปลี่ยนแปลงน้อย เราอยู่ในอุตสาหกรรมน้ำมัน ก็จะอยู่ไปอีก ๔๐-๕๐ ปี แต่วันนี้เราอยู่ในยุคที่เรียกว่า ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ ๔ ของโลก ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การดำเนินชีวิต ด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ด้วยตัวของเทคโนโลยีเองก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน และผลของการเปลี่ยนแปลงก็มีขนาดที่ค่อนข้างรุนแรง และมีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน เพราะเทคโนโลยีจะมีสิ่งใหม่ๆ เข้ามาเสมอ
“ไม่เกิน ๑๐ ปีข้างหน้า โลกจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ที่วิ่งด้วยไฟฟ้า ยิ่งไปกว่านั้น อนาคตข้างหน้าก็จะกลายเป็นรถที่ไม่มีคนขับ ดังนั้น ผู้ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับยานยนต์ จะเจอกับการเปลี่ยนแปลงที่ตั้งหลักไม่ทัน และอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าก็เข้ามาเร็วมาก ซึ่งในประเทศไทยก็สามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้า จากที่ได้เห็นนำมาจัดแสดงในงานนี้ ถือเป็นอีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อนักธุรกิจ และต่อพวกเราเอง” นายสุวัจน์ กล่าว

ระบบขนส่ง’ยุคทองโคราช

นายสุวัจน์ กล่าวอีกว่า ในเรื่องระบบขนส่ง ปัจจุบันคนโคราชกำลังจะมีระบบคมนาคมเข้ามาอำนวยความสะดวกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น มอเตอร์เวย์ รถไฟความเร็วสูง รถไฟทางคู่ หรือรถไฟฟ้ารางเบา ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะช่วยย่นระยะเวลาการเดินทางจากกรุงเทพฯ มาโคราช จาก ๒ ชั่วโมงกว่า เหลือประมาณ ๑.๔๕ ชม. และจะเป็นช่วงยุคทองของโคราช และเราต้องมาคิดกันต่อว่า จะต้องทำอย่างไรกันต่อไปในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเช่นนี้

“ทุกวันนี้การเปลี่ยนแปลงอยู่บนความผันผวน แต่ความผันผวนที่เกิดขึ้นวันนี้ ไม่ได้เกิดจากเทคโนโลยี แต่ผันผวนจากไลฟ์สไตล์ทางการเมือง ซึ่งทุกวันนี้โลกมีการจัดบริหารจัดการต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อรักษาผลประโยชน์ของตัวเอง เห็นได้ว่าเศรษฐกิจโลกกำลังถดถอย การกระจายตัวทางด้านการค้าประมาณ ๓% อีกทั้งเศรษฐกิจของอเมริกาก็ไม่ดี จากปัญหาสงครามการค้ากับประเทศจีนที่ไม่รู้ว่าจะจบเมื่อไหร่ ทำให้ประเทศอื่นๆ ได้รับผลกระทบร่วมกันหมด ทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอย จึงต้องยอมรับเศรษฐกิจภายในประเทศที่เกิดปัญหา ก็มาจากปัญหาเศรษฐกิจโลกในปัจจุบันเช่นเดียวกัน ทำให้เราอยู่กับความไม่แน่นอน ซึ่งเราก็ต้องพยายามอยู่ในโซนที่ปลอดภัยที่สุด” นายสุวัจน์ กล่าว

ให้ความสำคัญผู้สูงอายุ

นายสุวัจน์ กล่าวอีกว่า “เมืองไทยเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น และเริ่มเข้าสู่เมืองผู้สูงอายุ ซึ่งต่อไปคนเราจะสุขภาพดีขึ้น อัตราการเกิดค่อนข้างต่ำ ดังนั้นเราต้องมองว่าคนกลุ่มนี้ จะต้องได้รับการดูแล จึงต้องเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ให้ผู้สูงอายุเป็นหน่วยการผลิตของประเทศ และประสบการณ์ของแต่ละคนมีมากมาย ดังนั้นเราจะต้องคิดว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้ผู้สูงอายุเหล่านี้เข้ามาทำประโยชน์แก่ประเทศ”

“จังหวัดนครราชสีมานับได้ว่าเป็นจังหวัดที่โชคดีที่ได้รับโอกาสในการพัฒนา เนื่องจากเราเป็นประตูสู่อีสาน ฉะนั้นอะไรที่จะเข้าสู่อีสาน จำเป็นที่จะต้องผ่านโคราช ซึ่งเป็นจังหวัดที่ต่อไปมีความเพียบพร้อมที่จะพัฒนาทั้งด้านคมนาคม และภาคอุตสาหกรรมต่างๆ และผมมีความมั่นใจในคนโคราช ที่มีความเป็นปึกแผ่น เรารักษาบ้านเมืองได้ทุกวันนี้เพราะมีความรักและความสามัคคีกัน และบรรยากาศในวันนี้ถือเป็นบรรยากาศที่ดีทางด้านเศรษฐกิจ เพื่อแสดงถึงความร่วมมือในการยกระดับจังหวัด และยกระดับภาคอุตสาหกรรมภาคอีสาน” นายสุวัจน์ กล่าวท้ายสุด

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๐๑ วันพุธที่ ๖ - วันอังคารที่ ๑๒ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 


784 1359