29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

November 29,2019

๒๐ องค์กรสร้างประวัติศาสตร์ โคราชมหานครอารยสถาปัตย์

ราชภัฏจับมือภาครัฐและเอกชน ๒๐ องค์กร สร้างประวัติศาสตร์ให้โคราช ร่วมกันประกาศปฏิญญา “โคราชมหานครแห่งอารยสถาปัตย์” เป็นแห่งแรกของประเทศ หวังลดความเหลื่อมล้ำ ทางสังคม สร้างความสะดวกและปลอดภัยให้ทุกเพศทุกวัย เตรียมความพร้อมเป็นเจ้าภาพกีฬาคนพิการทางการเคลื่อนไหวชิงแชมป์โลก

เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๓๐ น. ที่หอประชุมอนุสรณ์ ๗๐ ปี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มีกิจกรรมผนึกกำลังประกาศความพร้อม ก้าวสู่การเป็น “โคราชมหานครแห่ง อารยสถาปัตย์” KICK OFF KORAT FRIENDLY DESIGN โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกับ เทศบาลนครนครราชสีมา และมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล ซึ่งนำโดยนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ประธานในพิธีและสักขีพยาน ในการลงนามปฏิญญาโคราช “โคราชมหานครแห่งอารยสถาปัตย์” โดยมีนายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยหัวหน้าหน่วยราชการ และเอกชน รวม ๒๐ แห่งร่วมลงนาม และปิดท้ายด้วยการประกาศปฏิญญา “โคราชมหานครแห่งอารยสถาปัตย์” โดยนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ กล่าวว่า “สำหรับการจัดงานโคราชมหานครแห่งอารยสถาปัตย์ ถือเป็นเรื่องที่ดีมาก ซึ่งโคราชจะกลายเป็นจังหวัดแรกและเป็นจุดเริ่มต้นของการเอาใจใส่ประชาชนทุกชนชั้น ไม่มีการแบ่งแยก ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ซึ่งหลังจากนี้ จะมีการร่วมมือกันระหว่างส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในจังหวัดนครราชสีมา โดยจะมีการออกแบบอารยสถาปัตย์ เพื่อประชาชนทุกหมู่เหล่า โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้พิการ ซึ่งคนเหล่านี้จะได้รับโอกาสในการใช้โครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่กำลังเติบโต และในขณะนี้การออกแบบอารยสถาปัตย์ทั่วโลกต่างให้การยอมรับและเริ่มดำเนินการบ้างแล้ว เพราะในอนาคตสังคมจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุรวมไปถึงผู้พิการที่มีแนวโน้มมากขึ้นด้วย ที่สำคัญนักท่องเที่ยวต่างให้ความสนใจในการท่องเที่ยวมากขึ้น โดยในอนาคตโคราชจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นิยมอย่างมาก ตามที่รัฐบาลได้ประกาศสนับสนุนอุทยานธรณีโคราช ให้กลายเป็นอุทยานธรณีโลก และในที่สุดโคราชก็จะเป็น ๓ มงกุฎของยูเนสโกด้วย การประกาศปฏิญญาในวันนี้ เป็นการเตรียมความพร้อมให้กับโคราช ก่อนที่จะมีการแข่งขันกีฬาคนพิการทางการเคลื่อนไหวชิงแชมป์โลก ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๐-๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ โคราชจะมีผู้พิการเข้ามาในจังหวัดกว่า ๒,๕๐๐ คน ดังนั้นเราจะต้องเตรียมพร้อมรับมือให้สมกับเป็นเจ้าภาพที่ดี หวังว่างานในวันนี้จะเป็นส่วนช่วยส่งเสริม ผลักดัน ให้ทุกคนหันมาสนใจในอารยสถาปัตย์และพัฒนาให้ดีขึ้นต่อไป”

จากนั้น นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ อ่านประกาศปฏิญญาว่า การประกาศความพร้อม ก้าวสู่การเป็น “โคราชมหานครแห่งอารยสถาปัตย์” สืบเนื่องจากปัจจุบันความเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างประชากรโลกอันเนื่องมาจากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับความต้องการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้พิการในประเทศที่พัฒนาแล้วทั่วโลก ทำให้มีการนำแนวคิดที่เรียกว่า “อารยสถาปัตย์” หรือ Universal Design หรือ Friendly Design ซึ่งหมายถึงการออกแบบที่เป็นสากลและรองรับคนทุกกลุ่มในสังคมอย่างเท่าเทียมกัน มาใช้ในการออกแบบอาคารสถานที่ ทั้งสถานที่สาธารณะและสถานที่ส่วนบุคคล เพื่อมองความสะดวกและปลอดภัยให้แก่ผู้คนทุกเพศ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้เจ็บป่วย หรือแม้กระทั่งผู้ที่มีข้อจำกัดทางร่างกาย ให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้โดยสะดวก ปลอดภัย ทันสมัย เท่าเทียมกันโดยไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งการมีอารยสถาปัตย์ถือเป็นดัชนีชี้วัดที่บ่งบอกถึงความเจริญและการพัฒนาของบ้านเมือง ด้วยเหตุนี้ จึงได้ผนึกกำลังร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ตลอดจนชาวโคราช ได้ผนึกกำลังด้วยวัตถุประสงค์ที่แน่วแน่ในการขับเคลื่อนโคราชให้ก้าวไปสู่การเป็นมหานครแห่งอารยสถาปัตย์ ประกาศปฏิญญา ดังนี้

๑.เราจะร่วมกันสร้างเสริมให้ความรู้ และปลูกฝังค่านิยมการรับรู้ถึงความสำคัญในการสร้างอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล ต่อสาธารณชน 

๒.เราจะร่วมกันสร้างเครือข่ายอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา ภาคเอกชน องค์กร และภาคประชาชน ในจังหวัดนครราชสีมาให้เข้มแข็ง 

๓.เราจะร่วมกันสนับสนุนส่งเสริมให้จังหวัดนครราชสีมา เกิดการขับเคลื่อนในการพัฒนาเมืองตามแนวทางอารยสถาปัตย์เพื่อรองรับคนทั้งมวลในทุกมิติ 

๔.เราจะร่วมกันสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการปรับปรุงและพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดนครราชสีมา ที่คนทั้งมวลสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้โดยสะดวก ปลอดภัย ทันสมัย เป็นธรรม ทั่วถึง และเท่าเทียม 

ประกอบกับระหว่างวันที่ ๒๐-๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ จะมีการจัดแข่งขันกีฬาคนพิการทางการเคลื่อนไหวชิงแชมป์โลก “IWAS WORLD GAMES 2020” ในจังหวัดนครราชสีมา มีนักกีฬาเข้าร่วมประมาณ ๒,๕๐๐ คน จาก ๔๐ ประเทศทั่วโลก และยังเป็นการแข่งขันเพื่อเก็บคะแนนควอลิฟายสำหรับการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ ๒๐๒๐ ณ ประเทศญี่ปุ่น ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนในการพัฒนาเมืองตามแนวทางอารยสถาปัตย์ อันจะทำให้เกิดความพร้อมต่อการรองรับภารกิจดังกล่าว ชาวโคราชในฐานะเป็นเจ้าบ้าน และเพื่อร่วมส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวเพื่อคนทั้งมวลในจังหวัดนครราชสีมา การลงนามปฏิญญาดังกล่าว จึงถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะจุดประกายความร่วมมือของประชาคมโคราช เพื่อสร้างความพร้อมและขับเคลื่อนเมืองโคราช ให้ก้าวสู่ความเป็นมหานครแห่งอารยสถาปัตย์ในอนาคตอันใกล้ได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

นายกฤษนะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล กล่าวในตอนท้ายว่า “ด้วยความตื่นเต้นของงานที่มีในวันนี้ ผมเดินทางออกจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่ ๐๔.๐๐ น. ซึ่งวันนี้จะกลายเป็นวันแห่งประวัติศาสตร์อีกวันหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ของประเทศ สำหรับงานในวันนี้สำเร็จขึ้นได้เพราะนายสุวัจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยฯ และอดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นคนที่คอยประสานงานและให้ความร่วมมือ กระทั่งทำให้งานนี้สำเร็จลุล่วงด้วยดี และอีกคนหนึ่งที่คอยให้การสนับสนุนผมมาโดยตลอด เป็นคนที่พาผมไปชมแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในจังหวัดนครราชสีมา นั่นคือ นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย สำหรับงานที่จัดขึ้นในวันนี้ ถือเป็นโอกาสใหม่ของประชาชน ที่จะช่วยให้การใช้ชีวิตเกิดความปลอดภัย ซึ่งสามารถใช้ได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้พิการและผู้สูงอายุ หลายคนอาจจะไม่เข้าใจถึงความสำคัญของงานนี้ ซึ่งผมก็ไม่เคยเข้าใจมาก่อนว่า การใช้ชีวิตแบบผู้พิการนั้นลำบากแค่ไหน กระทั่งได้เจอกับตัวเอง เพระเมื่อ ๒๐ ปีก่อน ขณะที่กำลังเดินทางมาทำข่าวในโคราช รถที่ผมนั่งมาก็เกิดอุบัติเหตุตกหลุมกลางถนน บริเวณหน้าวัดหลวงพ่อโตปัจจุบัน ทำให้ผมต้องพิการและนั่งรถวีลแชร์อยู่ตลอด จะไปไหนก็ลำบาก อยู่บ้านก็ลำบาก ปัจจุบันภาครัฐและเอกชนต่างเห็นความสำคัญของอารยสถาปัตย์ เป็นการไม่ทอดทิ้งใคร ไม่หลงลืมใคร เช่น ห้องน้ำในที่สาธารณะต่างๆ ที่ออกแบบมาให้ผู้พิการสามารถใช้งานได้อย่างสะดวกสบาย ดังนั้น ต้องการให้ทุกคนเห็นคุณค่าของอารยสถาปัตย์ จะได้ไม่หลงลืมใครไว้ข้างหลัง ทำให้เกิดสังคมที่น่าอยู่ ทุกคนมีความสุขในการใช้ชีวิต และต้องคอยสนับสนุนและพัฒนาต่อไปด้วย”

สำหรับหน่วยงานที่ร่วมลงนามปฏิญญาโคราช “โคราชมหานครแห่งอารยสถาปัตย์” ประกอบด้วย ๑.นายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ๒.นายสุรสิทธิ์ สิงห์หลง ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา ๓.นายสมเกียรติ วิริยะ กุลนันท์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา ๔.ผศ.ณรงค์ ผลวงษ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ๕.ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ๖.นางรุ่งทิพย์ บุกขุนทด ผู้อํานวยการการท่องเที่ยวแห่ง ประเทศไทยสํานักงานนครราชสีมา ๗.นายพงษ์เลิศ สุภัทรวาณิชย์ รองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ๘.นายวิสูตร เจริญสันธิ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ๙.นายอภิชาติ วาที พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดนครราชสีมา ๑๐.นายกฤษณะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล ๑๑.นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ๑๒.นางอุบลรัตน์ บุญประสาทสุข รองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ๑๓.ดร.รังสิสวุฒิ สุวรรณ์โรจน ผู้อํานวยการศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา ๑๑ จังหวัดนครราชสีมา ๑๔.นายจารึก วิไลแก้ว ผู้อํานวยการ สํานักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา ๑๕.นายประชา ฉัตรวงศ์วาน ประธานสาขาสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ประจําจังหวัดนครราชสีมา ๑๖.นางสาวมณีรัตน์ ตัณฑวรรณธนะ นายกสมาคมคนพิการจังหวัดนครราชสีมา ๑๗.นางสาวนรีกานต์ ดีขุนทด หัวหน้าสํานักปลัดองค์การบริหารส่วนตําบลเสมา อําเภอสูงเนิน ๑๘.นายวินัย บุณยรัชตปรีดา ผู้อํานวยการสํานักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครราชสีมา ๑๙.นายกรกฤต วรวงศ์ นายกสมาคมธุรกิจธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา และ ๒๐.นายจีระศักดิ์ คาระวิวัฒนา ประธานชมรมผู้ประกอบการร้านอาหารจังหวัดนครราชสีมา

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๐๔ วันพุธที่ ๒๗ พฤศจิกายน - วันอังคารที่ ๓ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 

 


794 1428