5thDecember

5thDecember

5thDecember

 

December 25,2019

โรงเรียนเล็กโคราช ๖๙๙ แห่ง แนวโน้มอาจต้องยุบรวม

ครม.มีมติให้ สพฐ.ควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีนักเรียนน้อยกว่า ๑๒๐ และมีระยะห่างไม่ถึง ๖ กม.ในตำบลเดียวกัน โคราชสำรวจพบ ๖๙๙ แห่งเสี่ยงถูกควบรวม ด้านศึกษาธิการจังหวัดชี้ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทำแผน คาดมกราคมปีหน้าชัดเจน

สืบเนื่องจาก ครม.มีมติให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน พิจารณาดำเนินการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีระยะห่างจากโรงเรียนในสังกัด สพฐ.ในตำบลเดียวกันน้อยกว่า ๖ กิโลเมตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอน และลดค่าใช้จ่ายงบประมาณ ทำให้มีกระแสข่าวบนโลกโซเชียลว่า โรงเรียนขนาดเล็กในจังหวัดนครราชสีมา อาจถูกควบรวมกว่า ๑๐๐ โรงเรียนนั้น

ทั้งนี้ เมื่อคราว ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ ห้องประชุม ๕๐๑ ตึกบัญชาการ ๑ ทำเนียบรัฐบาล โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุม ซึ่งสรุปสาระสำคัญ การขอยกเว้นเงื่อนไขการจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ปีงบประมาณ พ.ศ ๒๕๕๙ และ ๒๕๖๐

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการยกเว้นเงื่อนไขการจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๙ และ ๒๕๖๐ ตามมติคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ในการประชุมครั้งที่ ๒/๒๕๖๒ เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๖๒ ตามที่สำนักงาน ก.พ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการร่วม คปร. เสนอดังนี้

๑.เห็นชอบการยกเว้นเงื่อนไขการจัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา กรณีโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียน ๑๒๑–๒๔๙ คน โดยให้คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) จัดสรรอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาให้กับโรงเรียนที่มีผลรวมของอัตราข้าราชการครูและอัตราพนักงานราชการครูไม่เกินกว่าอัตรากำลังครูตามเกณฑ์ของ ก.ค.ศ. และจัดสรรให้ไม่เกินกว่าอัตรากำลังครูที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เสนอขอรับการจัดสรรในปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๕๙ รวมทั้งสิ้น ๓๐๑ แห่ง รวม ๓๖๒ อัตรา และในปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๐ รวมทั้งสิ้น ๑,๕๗๘ แห่ง รวม ๑,๙๒๑ อัตรา

๒.ให้ สพฐ. พิจารณาดำเนินการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กที่มีระยะทางห่างจากโรงเรียนในสังกัด สพฐ. ในตำบลเดียวกันน้อยกว่า ๖ กิโลเมตร (กม.) ให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษาให้เพิ่มสูงขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอน และลดภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณด้านบุคลากรและการบริหารจัดการลง และ ๓.กำหนดเงื่อนไขโดยไม่ให้นำอัตราว่างจากผลการเกษียณอายุของข้าราชการครูไปปรับปรุงการกำหนดตำแหน่งให้เป็นสายงานอื่น

รวมตัวค้านมติ ครม.

จากนั้น เมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๒ ที่หอประชุมอำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา นายอุทัย  เที่ยงดี แกนนำเครือข่ายคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและตัวแทนผู้ปกครองนักเรียนขนาดเล็กในเขตอำเภอเสิงสาง จำนวน ๑๒ แห่ง รวมกลุ่มคัดค้านมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ให้ยุบควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก จากนั้นได้ยื่นหนังสือซึ่งเป็นฉันทานุมัติของเครือข่ายและรายงานการประชุมประชาคมหมู่บ้าน ๑๒ แห่ง ให้ว่าที่ร้อยตรีประกอบ ทรงพระ ปลัดอาวุโส อำเภอเสิงสาง ตัวแทนฝ่ายปกครองดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

บทสรุปจากการทำประชาคมมีข้อเสนอดังนี้ ๑.การดำเนินการดังกล่าวไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวงถือเป็นการย้อนแย้ง มาตรา ๕๔ รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปี ตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจบการศึกษา ภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ๒.โรงเรียนถือเป็นสถาบันหลักของชุมชน ซึ่งประกอบด้วย บ้าน-วัด-โรงเรียน หรือ บวร ที่เป็นศูนย์รวมทางจิตใจหากขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดชุมชนจะอ่อนแอและมีปัญหาตามมาอย่างแน่นอน ๓.นโยบายยุบแล้วควบรวมเป็นการทำลายขวัญ กำลังใจผู้ปกครอง ชาวบ้านที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในการเดินทางและความปลอดภัยของบุตรหลาน ๔.ให้เปลี่ยนคำนิยามโรงเรียนขนาดเล็กใหม่ ซึ่งไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่มีอัตราการเกิดของประชากรน้อย ๕.ขอให้ยกเลิก มติ ครม. ดังกล่าว เว้นแต่โรงเรียนที่สมัครใจผ่านความเห็นชอบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หากไม่ดำเนินการใดๆ โดยพยายามยื้อเวลาเพื่อยุบแล้วควบรวม ซึ่งเป็นการเพิกเฉยกับข้อเรียกร้อง เครือข่ายโรงเรียนขนาดเล็ก อ.เสิงสาง จะนัดประชุมหารือกับ เครือข่ายฯ โรงเรียนขนาดเล็ก อ.ครบุรี เพื่อเคลื่อนไหวให้เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๒ เวลา ๐๙.๐๐ น. นายกฤตพล ชุติกุลกีรติ ศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ถึงกรณีการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กในจังหวัดนครราชสีมาว่า “แผนการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก จะดำเนินการทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งขั้นตอนแรกต้องเสนอเข้าคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด โดยมีคณะกรรมการ ๒ ระดับ คือ ๑.ระดับจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และหัวหน้าส่วนทุกภาคส่วน เป็นคณะกรรมการ ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ส่วนกลางกำหนดมาใช้เหมือนกันทั่วประเทศ และ ๒.ระดับอำเภอ นำโดยนายอำเภอทั้ง ๓๒ อำเภอ แต่นายอำเภอก็ยังเป็นคณะกรรมการระดับจังหวัด และนายอำเภอยังเป็นประธานคณะกรรมการระดับอำเภอด้วย เพื่อประสานงานหน่วยงานระดับอำเภอ ในการหาข้อมูลโรงเรียนจากทุกพื้นที่ ที่อยู่ในสภาพตามความจริงว่า มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า ๑๒๐ คน และมีระยะทางห่างกันน้อยกว่า ๖ กม. ที่อยู่ในตำบลเดียวกัน ซึ่งในขณะนี้เป็นเพียงแผนงบประมาณปี ๒๕๖๓ และงบประมาณปี ๒๕๖๔ เรียกได้ว่า เป็นการดำเนินการตามขั้นบันได ค่อยเป็นค่อยไป โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เมื่อถึงวันจริงก็ต้องเป็นไปตามสภาพตามความจริง ตามบริบทของชุมชนในท้องถิ่น ซึ่งในขณะนี้ได้เสนอข้อมูลฉบับร่างไปที่กระทรวงศึกษาธิการ ยังเป็นเพียงแผนที่เรียกว่า แผนบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก ในส่วนของแผนการช่วยเหลือนักเรียนที่กำลังศึกษาในโรงเรียนที่ถูกควบรวมนั้น เมื่อกระทรวงทราบข้อมูลแล้ว ก็จะมีการดูแลช่วยเหลือด้านผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอน เช่น ค่าพาหนะ มีการกำหนดโรงเรียนหลักที่จะมาเรียนรวม จะต้องจัดการให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด”

ทางด้าน นางวลี ศรีพิมาย ผู้อำนวยการ   กลุ่มนโยบายและแผน สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “ตามที่มีข่าวว่าจะมีการยุบโรงเรียน แท้จริงเรียกว่าการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก ในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเสนอแผน จากการสำรวจทั่วจังหวัดนครราชสีมาพบว่า มีโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า ๑๒๐ คน และมีระยะทางห่างกันน้อยกว่า ๖ กม. ที่อยู่ในตำบลเดียวกัน จำนวน ๖๙๙ โรงเรียน โดยนโยบายของกระทรวงคือ การควบรวมไม่ใช่การยุบโรงเรียน ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการเสนอแผนและรวบรวมข้อมูล คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงปีใหม่ จากนั้นเมื่อแผนผ่าน ก็จะมอบให้เขตพื้นที่นำไปปฏิบัติตาม พร้อมกับแจ้งให้โรงเรียนทราบ เพื่อทำความเข้าใจกับผู้ปกครองหรือภาคีฝ่ายต่างๆ ทั้งนี้ ในจำนวนโรงเรียน ๖๙๙ แห่งในจังหวัดนครราชสีมา สุดท้ายแล้วอาจจะไม่ควบรวมทั้งหมด เพราะต้องดูเงื่อนไขด้วย เช่น บางโรงเรียนอยู่ในเขตพื้นที่ห่างไกล อาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาด้านระยะทาง คาดว่า ในเดือนมกราคม ๒๕๖๓ จะเห็นความชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง”

 

 ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๐๘ วันพุธที่ ๒๕ - วันอังคารที่ ๓๑ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 


900 1,586