28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

July 24,2020

อบจ.โคราชเปิดห้องแถลงรพ.มหาราชไม่รับครุภัณฑ์แพทย์ ยืนยันจัดซื้อถูกต้องตามระเบียบ

อบจ.โคราชชี้แจง เรื่องครุภัณฑ์ไม่ตรงคุณสมบัติ ทำให้ รพ.มหาราชฯ ไม่รับ พร้อมยืนยันดำเนินการถูกต้อง ไม่ขัดต่อระเบียบของกรมบัญชีกลาง ยืนยันจัดซื้อตรงตามความต้องการของโรงพยาบาล ไม่มียัดเยียด ใช้งบประมาณคุ้มค่า ตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน  

เมื่อวันที่ ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๐.๓๐ น. ณ ห้องประชุมรวงผึ้ง สำนักงาน อบจ.นครราชสีมา นางปิยะฉัตร อินสว่าง รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี นายก อบจ.นครราชสีมา, พญ.ศุภมาส ลิ่วศิริรัตน์ รองผู้อำนวยการภารกิจด้านการเงินการคลัง โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา, นพ.ชาญชัย บุญอยู่ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา, นางวันเพ็ญ อำพาส คลังจังหวัดนครราชสีมา, น.ส. ปัณฑารีย์ โชรัมย์ ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา, นายวัชรวิชย์ สุขวัฒนาภิรมย์ ท้องถิ่นจังหวัดนครราชสีมา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถลงข่าวชี้แจงกรณีที่มีการเสนอข่าวโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ปฏิเสธการรับครุภัณฑ์ทางการแพทย์ ที่จัดหาโดย อบจ.นครราชสีมา ซึ่งเรื่องดังกล่าวร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี นายก

อบจ.นครราชสีมา ชี้แจงรายละเอียดในที่ประชุม และการแถลงข่าวศูนย์บัญชาการโต้ตอบเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายนที่ผ่านมา และต่อมา นายอดิศักดิ์ ชนสูงเนิน ประธานองค์กรเครือข่ายต้านการทุจริตภาคประชาชน จังหวัดนครราชสีมา และคณะ เข้ายื่นหนังสือถึงนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา ตรวจสอบการจัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ในครั้งนี้ รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางในสื่อสังคมออนไลน์นั้น

แจงครุภัณฑ์อีกครั้ง

ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี กล่าวว่า “ดิฉันได้รับการแต่งตั้งจากผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ให้จัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์ทางการแพทย์ และนำส่งให้กับโรงพยาบาล ซึ่งโรงพยาบาลแรกที่ขอสนับสนุน คือ โรงพยาบาล มทส. (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี) ตามด้วยโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา, โรงพยาบาลเทพรัตน์นครราชสีมา และโรงพยาบาลในเครือข่ายสาธารณสุขจังหวัดฯ ๓๒ แห่ง ซึ่งโรงพยาบาลรัฐที่อยู่ในจังหวัดนครราชสีมามีเกือบ ๔๐ แห่ง แบ่งเป็นโรงพยาบาลในอำเภอ ๓๒ แห่ง, โรงพยาบาลมหาราชฯ, โรงพยาบาลเทพรัตน์ฯ และโรงพยาบาล มทส. ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในเครือข่าย สำหรับการเบิกครุภัณฑ์ทางการแพทย์ทุกหน่วยงานต้องส่งเรื่องไปที่ ศบค.ก่อน แล้วส่งให้สาธารณสุขจังหวัดรวบรวมและคัดกรอง เพื่อส่งให้กับ อบจ.สนับสนุน ซึ่งสาธารณสุขจังหวัดจะสำรวจความจำเป็นของโรงพยาบาลเพื่อจัดหาครุภัณฑ์ ขณะนั้นพบผู้สุ่มเสี่ยงติดเชื้อโควิด-๑๙ สะสม ๑๓๙ ราย และผู้ติดเชื้อ ๑๙ ราย ซึ่งรักษาหายทั้งหมด ๑๙ ราย โดยไม่มีผู้เสียชีวิตในจังหวัดนครราชสีมา ถือเป็นความสามารถของจังหวัดนครราชสีมาในการประสานความร่วมมือ โดยจากการสำรวจพบว่า ครุภัณฑ์ที่ต้องการส่วนใหญ่คือ เครื่องช่วยหายใจ มีขนาด เล็ก, กลาง, ใหญ่ และขนาดใหญ่พิเศษ ตามความต้องการของโรงพยาบาลที่ขอสนับสนุนมา โดยแต่ละรายการที่ขอสนับสนุนรวมแล้ว ๑๐๐ ล้านบาทก็ไม่เพียงพอ จึงประชุมกันภายในคณะกรรมการว่า เลือกเฉพาะที่จำเป็นก่อน โดยงบประมาณที่ตั้งไว้คือ ๕๐ ล้าน แต่คัดเลือกแล้วเหลือ ๓๔ ล้าน ตามราคากลาง ทั้งนี้ โรงพยาบาลที่ไม่ได้ทำการสนับสนุน ทางต้นสังกัดก็จัดครุภัณฑ์ภายในเครือข่ายของตนตามการบริหารจัดการของสาธารณสุขจังหวัดฯ”

ยืนยันครุภัณฑ์คุณภาพ  

ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี กล่าวว่า “สำหรับการส่งมอบให้โรงพยาบาลจะจัดให้ตามความต้องการของโรงพยาบาลเท่านั้น ไม่มียัดเยียด ส่วนคุณภาพของครุภัณฑ์ อบจ.จะสอบถามโรงพยาบาลเกี่ยวกับประวัติการใช้งาน เพื่อจัดครุภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการ พร้อมดำเนินงานตามระเบียบ ว.๑๑๕ ของกรมบัญชีกลางทุกด้าน แต่ขณะนี้ อบจ.กลับเป็นจำเลยสังคม ในประเด็นส่งของไม่มีคุณภาพให้โรงพยาบาล ความจริงครุภัณฑ์ที่จัดซื้อนั้นมีคุณภาพ และกำลังจัดเตรียมทีมไปประเมินครุภัณฑ์ที่ส่งมอบให้โรงพยาบาล เพื่อส่งผลการประเมินไปให้กรมบัญชีกลาง พร้อมตรวจสอบความต่อเนื่องของครุภัณฑ์ เนื่องจากยังอยู่ในสัญญา หากพบปัญหาสามารถเปลี่ยนแปลงได้ ปัจจุบันครุภัณฑ์บางประเภทอาจล่าช้า เนื่องจากเป็นสินค้านำเข้า และอยู่ในวิกฤตของทั่วประเทศ” 

นายก อบจ.นครราชสีมา กล่าวอีกว่า “ครุภัณฑ์ที่ อบจ.สนับสนุน จะมีทั้งหมด ๑๙ ประเภท ซึ่งจะเน้นไปที่เครื่องช่วยหายใจ และอุปกรณ์ที่ทางโรงพยาบาลจำเป็น รวมทั้งครุภัณฑ์ที่ไม่ใช่อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น ชุด PPE หน้ากากอนามัย เทอร์โมสแกน ส่วนแอลกอฮอล์ อบจ.ไม่ได้จัดซื้อ เพื่อนดิฉันเป็นเจ้าของบริษัทผลิตแอลกอฮอล์ จึงขอฟรี และต้องขอขอบคุณโรงพยาบาลมหาราชฯ ที่ผสมแอลกอฮอล์ ๙๕% รวม ๒,๐๐๐ ลิตร ให้ อบจ.ส่งมอบต่อโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งหมด ครุภัณฑ์บางประการที่ไม่ได้สนับสนุน คือ หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ เนื่องจากราคาที่ผันผวนไม่สอดคล้องกับราคากลางที่ตั้งไว้ รวมทั้งหน้ากากอนามัย N95 ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานก็มีผู้บริจาคให้กับโรงพยาบาลแทบทุกแห่ง ส่วนเทอร์โมสแกนหรือเครื่องวัดอุณหภูมินั้นขาดแคลนมาก ทาง อบจ.ก็จัดหาให้ ทั้งนี้สาธารณสุขจังหวัด ที่มี รพ.สต. อีก ๓๔๗ แห่ง และโรงพยาบาลอีก ๓๒ แห่ง โดยรวมเกือบ ๑,๐๐๐ ชิ้น ซึ่งทางอบจ.ไม่สามารถจัดสรรให้ได้ จึงช่วยในส่วนที่ทำได้เท่านั้น” 

“ส่วนกรณีข้อสงสัย ที่โรงพยาบาลรับของหรือไม่รับของ ดิฉันสามารถตอบได้ว่า สั่งซื้อให้กับความต้องการของโรงพยาบาลทุกแห่ง ซึ่งทุกโรงพยาบาลที่ได้รับนั้น มีความจำเป็นในการขอ อบจ.มา ซึ่งตั้งงบประมาณไว้ ๕๐ ล้านบาท แต่ขอสนับสนุนทั้งหมด ๓๔ ล้านบาท โดยครุภัณฑ์ที่ส่งมอบให้โรงพยาบาลมี ๒ รายการที่ยังอยู่ในสัญญา ซึ่งจะสอบถามกับโรงพยาบาลถึงความต้องการครุภัณฑ์ดังกล่าว ถ้าโรงพยาบาลยังต้องการแต่การขนส่งล่าช้ากว่าสัญญา ก็จะถูกปรับไปตามระเบียบ ซึ่งเป็นครุภัณฑ์ในการช่วยชีวิตทั้งสิ้น โดยโรงพยาบาลมหาราชฯ รับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-๑๙ จากครั้งแรก ๑๐ ราย และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น ๑๙ ราย ทำให้แพทย์ต้องใช้ห้องที่มีแรงดันอากาศในห้องต่ำกว่ารอบข้าง (Negative Pressure) ซึ่ง อบจ.ก็ช่วยในบางส่วนที่จัดสรรได้ หากจะให้ อบจ. ทำทั้งหมด ๑๐๐ ล้านบาทก็ไม่พอ สำหรับเครื่องช่วยหายใจที่จัดส่งมาถึงแล้ว อบจ.ส่งมอบให้โรงพยาบาลทุกแห่งเรียบร้อย ส่วนโรงพยาบาลมหาราชฯ นั้น รับเครื่องสกัดสารพันธุกรรม ราคา ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท และเครื่องเพิ่มสารพันธุกรรม ราคา ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท รวม ๓,๕๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งโรงพยาบาลมหาราชฯ ขอรับในส่วนนี้” นายก อบจ.นครราชสีมา กล่าว

รพ.มหาราชฯ รับเยอะแล้ว

พญ.ศุภมาส ลิ่วศิริรัตน์ กล่าวว่า “โรงพยาบาลมหาราชฯ รองรับการตรวจเชื้อโควิด-๑๙ ทั้งจังหวัด ฉะนั้นจำเป็นต้องใช้เครื่องสกัดพันธุกรรมและเครื่องเพิ่มสารพันธุกรรมอย่างมาก เหตุที่ไม่รับทุกครุภัณฑ์ เนื่องจากช่วงสถานการณ์โควิด-๑๙ ระบาดรุนแรง โรงพยาบาลฯ ได้รับธารน้ำใจจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาชนด้วย ทำให้มีเครื่องมือเครื่องใช้เข้ามาอย่างมหาศาล พร้อมทั้งสนับสนุนเงินบริจาค ทำให้มีเครื่องมือมากพอในการรักษาผู้ป่วย หากครุภัณฑ์ใดที่มีมากเกิน ก็จะมอบให้ อบจ.นำไปกระจายให้โรงพยาบาลที่มีความต้องการต่อไป”

ด้านร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี กล่าวว่า “ส่วนที่โรงพยาบาลมหาราชฯ ไม่รับนั้น สาธารณสุขจังหวัดฯ ก็ส่งมอบให้โรงพยาบาลที่มีความต้องการ ครุภัณฑ์บางประเภทก็ส่งมอบให้กับโรงพยาบาลในเครือข่าย เช่น โรงพยาบาลปากช่อง, โรงพยาบาลพิมาย, โรงพยาบาลบัวใหญ่, โรงพยาบาลโชคชัย, โรงพยาบาลครบุรี, โรงพยาบาลด่านขุนทด, โรงพยาบาลปักธงชัย และโรงพยาบาลจักราช สาธารณสุขจังหวัดฯ ก็ส่งมอบให้กับโรงพยาบาลทั้ง ๘ แห่งต่อไป โรงพยาบาลมหาราชฯ รับเฉพาะครุภัณฑ์ที่ใช้ตรวจหาเชื้อโควิด-๑๙ โดยตรงเท่านั้น สาธารณสุขจังหวัดฯ จึงเสนอขอมอบให้โรงพยาบาลในเครือข่ายแทน อบจ.จึงให้ทำหนังสือมาที่กองกลาง ศูนย์ ศบค. เพื่อพิจารณา” 

“สำหรับครุภัณฑ์ที่ส่งมอบนั้น มีคณะกรรมการตรวจสอบคุณภาพในทุกกระบวนการ ทำตามระเบียบทุกขั้นตอน จึงต้องการให้สื่อมวลชนนำเสนออย่างถูกต้อง ซึ่งอาจทำให้ทั้ง ๒ หน่วยงานนั้นเสียหาย ปัจจุบัน ศบค.ยังเฝ้าระวังผู้สุ่มเสี่ยงที่มาจากจังหวัดระยองและกรุงเทพฯ คิดว่าไม่มีปัญหาอะไร หากพบผู้ป่วยโรงพยาบาลทุกแห่งก็สามารถรองรับได้อยู่แล้ว” ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ กล่าว

พี่ไม่รับ น้องรับแทน

ต่อข้อคำถามว่า เหตุใดโรงพยาบาลมหาราชฯ ไม่รับไว้ก่อน แล้วนำมากระจายให้โรงพยาบาลต่างๆ แทนนั้น นพ.ชาญชัย บุญอยู่ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “เนื่องจากการจัดซื้อยังไม่เสร็จสิ้น จึงส่งให้ อบจ.จัดการจะเร็วกว่า อีกทั้งยังไม่เป็นภาระของงานพัสดุ ส่วนครุภัณฑ์ที่โรงพยาบาลมหาราชฯ ไม่รับนั้น ได้แก่ ๑.เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งมีโรงพยาบาลที่พร้อมรับ จึงส่งมอบให้โรงพยาบาลจักราช ๓ เครื่อง, โรงพยาบาลพิมาย ๑ เครื่อง และโรงพยาบาลบัวใหญ่ ๑ เครื่อง ๒.เครื่องกำจัดเชื้อโรค ๑๐ เครื่อง ส่งมอบให้โรงพยาบาลปากช่อง, โรงพยาบาลเทพรัตน์ฯ, โรงพยาบาลจักราช, โรงพยาบาลปักธงชัย, โรงพยาบาล มทส., โรงพยาบาลด่านขุนทด, โรงพยาบาลพิมาย, โรงพยาบาลบัวใหญ่, โรงพยาบาลโชคชัย และโรงพยาบาลครบุรี ๓.เครื่องช่วยหายใจชนิดวีดีทัศน์ ๓ เครื่อง ส่งมอบให้โรงพยาบาลปากช่อง, โรงพยาบาลบัวใหญ่ และโรงพยาบาล มทส. ๔.เครื่องผสมออกซิเจนอัตราการไหลสูง ๒ เครื่อง ส่งมอบให้โรงพยาบาลบัวใหญ่และโรงพยาบาล มทส. ซึ่งทั้งหมดในขณะนั้น ยังไม่ได้จัดซื้อจึงส่งให้สาธารณสุขจังหวัดฯ เพื่อกระจายให้กับโรงพยาบาลที่เป็นแม่ข่าย อาจจะไม่ถึงโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง แต่สามารถมารับบริการที่โรงพยาบาลแม่ข่ายได้ เป็นการกระจายไปให้กับภาคประชาชน ส่วนการจัดซื้อนั้น นอกจากจะซื้อตามมาตรฐานคุณภาพที่โรงพยาบาลมหาราชฯ เสนอมานั้น เครื่องมือบางชิ้น นายก อบจ.สามารถต่อรองได้ในราคาที่ต่ำกว่าด้วยซ้ำ”

ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี กล่าวเสริมว่า “ในเรื่องของการรับของหรือไม่รับของนั้น โรงพยาบาลมหาราชฯ รับในส่วนครุภัณฑ์ที่ใช้สำหรับตรวจหาเชื้อโควิด-๑๙ โดยตรง สำหรับเครื่องช่วยหายใจ อาจใช้ระยะเวลานาน ขณะนั้นโรงพยาบาลมหาราชฯ ได้รับบริจาคเพียงพอแล้ว นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดฯ จึงเสนอขอนำครุภัณฑ์ไปมอบให้โรงพยาบาลแม่ข่ายแทน เพราะมีความต้องการ อีกทั้งงบประมาณที่นำมาเป็นงบประมาณรวม จึงแบ่งงบประมาณ โดยตั้งไว้ ๕๐ ล้านบาท แต่ข้อมูลราคากลางและคัดเลือกตามความจำเป็น ทำให้งบประมาณที่ใช้เพียง ๓๔ ล้านบาท ขณะนี้โรงพยาบาลมีเครื่องมือพร้อมที่จะรองรับผู้ป่วย ยืนยันหายทุกรายด้วยฝีมือแพทย์ ส่วนของการรักษาพยาบาล โรงพยาบาลมหาราชฯ ก็ทำสำเร็จ แต่อาจจะมีความคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับครุภัณฑ์ จึงต้องการให้สื่อนำเสนออย่างถูกต้อง งบประมาณทั้งหมดมีมูลค่าเพราะเป็นภาษีของประชาชน หากมีการอ้างว่าซื้อครุภัณฑ์แพงกว่าราคากลาง สามารถตรวจสอบได้ว่าราคาเท่ากันกับราคากลางหรือไม่ อาจพบบางรายการราคาต่ำกว่า เนื่องจากซื้อในปริมาณมาก” 

งบประมาณ‘คุ้มค่า’

นางวันเพ็ญ อำพาส คลังจังหวัดนครราช สีมา กล่าวว่า “ในการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ต่างๆ อบจ.จะต้องดำเนินการตามกฎหมายของกรมบัญชีกลาง แต่ในช่วงสถานการณ์โควิด-๑๙ กรมบัญชีกลาง มีหนังสือหลักเกณฑ์หรือระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจัดซื้อหรือ ว.๑๑๕ ซึ่ง อบจ. ขอคำปรึกษากับคลังตลอด พร้อมทั้งดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบกรมบัญชีกลางทุกด้าน ทั้งการกำหนดเวลา การกำหนดมาตรฐานครุภัณฑ์ การจัดตั้งคณะกรรมการตรวจรับ ในส่วนของการจัดซื้อจัดจ้าง อบจ.ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบของกรมบัญชีกลาง สำหรับงบประมาณการเบิกจ่ายเงินที่คุ้มค่านั้น ขณะนี้กรมบัญชีกลางหรือสำนักงานคลัง มองว่า คุ้มค่า เนื่องจากเกิดสถานการณ์โควิด-๑๙ ทั้งประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดนครราชสีมา ที่พบผู้ป่วยถึง ๑๙ ราย ถือว่าคุ้มค่าอย่างมาก ที่ อบจ. สนับสนุนงบประมาณในครั้งนี้ ซึ่งดำเนินการอยู่ในหลักเกณฑ์ของ ว.๑๑๕ ที่รองรับการจัดซื้อจัดจ้างในสถานการณ์โควิด-๑๙”

ไม่ขัดต่อระเบียบ

นายวัชรวิชย์ สุขวัฒนาภิรมย์ ท้องถิ่นจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ มอบหมายให้ อบจ.ดำเนินการจัดหาครุภัณฑ์ ซึ่งสาธารณสุขจังหวัดฯ ดำเนินการสำรวจความต้องการของโรงพยาบาล พร้อมทั้งแจ้งให้ อบจ.ดำเนินการ ซึ่ง อบจ. ดำเนินการตามแบบสำรวจและได้รับมอบหมายตามระเบียบข้อกฎหมาย ตามที่ได้แจ้งในที่ประชุม ดังนั้น การดำเนินการในขณะนี้ อบจ. อุดหนุนเงินของตนไม่ได้ เพราะไม่ได้ตั้งงบประมาณอุดหนุนไว้ ทำให้ อบจ.ต้องจัดซื้อด้วยตนเองตามที่สำรวจมา ซึ่งถูกต้องตามกฎหมายและหลักเกณฑ์ ไม่ขัดต่อระเบียบท้องถิ่น”

ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี กล่าวย้ำว่า “อบจ. ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบทุกขั้นตอน พร้อมเอกสารดำเนินการ รวมทั้ง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ตรวจสอบแล้ว ยังไม่พบข้อติติง เนื่องจากมีเอกสารในการจัดซื้อจัดจ้างครบถ้วน” 

ครุภัณฑ์ตรงคุณสมบัติ

ภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าว ร้อยตรีหญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า “จัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบทุกขั้นตอน จัดซื้อครุภัณฑ์ตามที่โรงพยาบาลขอสนับสนุน ไม่มีการยัดเยียด ซึ่งประเด็นที่สงสัยส่วนใหญ่คือ ‘ทำไมโรงพยาบาลมหาราชฯ ไม่รับ’ โรงพยาบาลมหาราชฯ รับครุภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการตรวจหาเชื้อโควิด-๑๙ โดยตรง ส่วนครุภัณฑ์อื่นๆ โรงพยาบาลมหาราชฯ ได้รับบริจาคเพียงพอแล้ว สาธารณสุขจังหวัดจึงเสนอขอครุภัณฑ์เหล่านี้ไปมอบให้โรงพยาบาลชุมชนที่เป็นแม่ข่ายทั้งหมด ๘ แห่ง เป็นการสื่อสารผิดพลาดที่ต้องการให้สื่อมวลชนช่วยกระจายข่าวให้ถูกต้อง หากจะให้สนับสนุนเป็นเงินสดนั้น ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเงินหลวงบริจาคไม่ได้ ต้องใช้ตามระเบียบ ตั้งงบประมาณล่วงหน้า ๑ ปี ในวันนี้ต้องการมาพูดความจริง หากใครที่เข้าใจคลาดเคลื่อน ก็จะเข้าใจถึงระเบียบราชการในทุกขั้นตอน”

“จากประเด็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการซื้อครุภัณฑ์ไม่ตรงคุณสมบัติ การกำหนดคุณสมบัตินั้นจะกำหนดร่วมกันกับสาธารณสุขจังหวัดหรือโรงพยาบาลมหาราชฯ ใครมีความถนัดก็เข้ามากำหนดคุณสมบัติ (TOR) รวมทั้งโรงพยาบาลผู้รับครุภัณฑ์ก็จะต้องจัดส่งบุคลากรเข้ามาเป็นคณะกรรมการตรวจรับราคากลาง ตรวจรับครุภัณฑ์ จะต้องมีคณะกรรมการ รวมถึง อบจ.ต้องเข้าไปร่วมด้วย ไม่ใช่กำหนดเพียงฝ่ายเดียว ให้บุคลากรที่ต้องใช้มากำหนดร่วมกัน จึงไม่ต้องการให้ประชาชนสับสน ต้องการให้เข้าใจว่า อบจ.และโรงพยาบาลมหาราชฯ ไม่ใช่จำเลย ซึ่งการส่งมอบนั้น ต้องมีคณะกรรมการตรวจรับ พร้อมประเมินครุภัณฑ์ที่ส่งมอบทุก ๓ เดือน และส่งมอบให้โรงพยาบาลนั้นๆ ต่อไป” นายก อบจ.นครราชสีมา กล่าว

งบครุภัณฑ์ ๓๑ ล้าน 

ทั้งนี้ งบประมาณที่ตั้งไว้ตามหนังสือที่ นม ๐๐๓๒.๐๐๗.๑/๑๐๙๙๐ ลงวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๓ เรื่องขอรับการสนับสนุนครุภัณฑ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ สำหรับรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ รวมทั้งสิ้น ๕๑,๕๔๘,๕๐๐ บาท 
ทั้งนี้ อบจ.นครราชสีมา ชี้แจงงบประมาณที่ต้องจ่ายหลังต่อรองราคาแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน ดังนี้ ส่วนที่ ๑ ครุภัณฑ์ที่จัดซื้อและส่งมอบให้กับโรงพยาบาลทั้งหมด ๑๒ รายการ รวมทั้งสิ้น ๑๘,๖๒๔,๕๐๐ บาท ส่วนที่ ๒ ครุภัณฑ์ที่อยู่ในขั้นการดำเนินการทั้งหมด ๔ รายการ รวมทั้งสิ้น ๑๖,๒๔๐,๐๐๐ บาท และส่วนที่ ๓ ครุภัณฑ์ที่ไม่ถูกจัดซื้อ ๒ รายการ รวมทั้งสิ้น ๑๒,๔๕๐,๐๐๐ บาท รวมงบประมาณที่ใช้ทั้งหมด ๓๔,๘๖๔,๕๐๐ บาท แต่จากการสอบถามเพิ่มเติม ร้อยตรีระนองรักษ์กล่าวว่า “การจัดซื้อครุภัณฑ์ทั้งหมดสุทธิคือ ๓๑ ล้านบาท เนื่องจากบางครุภัณฑ์นั้น ซื้อในปริมาณมาก ทำให้ราคาต่ำกว่าราคากลาง แต่คุณสมบัติตรงตามความต้องการของโรงพยาบาล” 

 

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๓๗ วันพุธที่ ๒๒ - วันอังคารที่ ๒๘ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

 

 


863 1424