19thApril

19thApril

19thApril

 

August 21,2012

ถล่มรีสอร์ต-บ้านพัก-สวนยาง รุกป่าทับลาน ๑,๘๕๗ ไร่ เขาแผงม้า ๔๓ คดีจ่อเชือด!

wang

ภาพถ่ายทางอากาศจาก SKY Report CH3 รีสอร์ตที่บุกรุกป่าทับลาน ถูกรื้อถอนเมื่อวันที่ ๒๘ ก.ค.

 

ปฏิบัติการคืนผืนป่า’วังน้ำเขียว เขาแผงม้าถูกครอบครองมิชอบ ๑,๔๖๕ กว่าไร่ ดำเนินคดี ๔๓ ราย แต่ยังไม่สามารถเข้ารื้อถอนได้ ด้านการบุกรุกป่าทับลานคืบหน้า อธิบดีนำรื้อถอนรอบ ๓ ถูกปาระเบิด เผายางรถยนต์ เจอมวลชนกดดัน แต่รีสอร์ตใหญ่ ‘บ้านทะเลหมอก’ ราคา ๓๐๗ ล้านบาท ดิ้นไม่หลุดหนีไม่รอด พบกำนันทำผิดกฎหมาย พร้อมยึดคืนพื้นที่ปลูกยางพารา ๑,๒๕๐ ไร่ จ้างแรงงานต่างด้าวดำเนินการ  

จากกรณีที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  รวมถึงสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปฏิบัติการตรวจยึดและจับกุมดำเนินคดีกับเจ้าของรีสอร์ตและบ้านพักตากอากาศหรูหราจำนวนมากในอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา เพื่อร่วมแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง(เขาแผงม้า) อุทยานแห่งชาติทับลาน และพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมที่กรมป่าไม้มอบให้ส.ป.ก. นำไปจัดสรรที่ดินทำกินให้กับเกษตรกรผู้ยากไร้ ตามที่ “โคราชคนอีสาน” นำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น 

๔๓ คดีรอเชือดรุกเขาแผงม้า

ความคืบหน้าปฏิบัติการคืนผืนป่าให้แผ่นดิน เริ่มต้นจากที่ปรากฏว่า ในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ถูกบุกรุกแผ้วถางเพื่อก่อสร้างรีสอร์ตและบ้านพักตากอากาศหรูหราจำนวนมาก แต่ก็มีความพยายามจากเจ้าหน้าที่รัฐ รื้อถอนสิ่งก่อสร้างผิดกฎหมายนั้นมาเป็นระยะตามคำสั่งศาล
และเมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคมที่ผ่านมา นายสุวิทย์ รัตนมณี อธิบดีกรมป่าไม้ เป็นประธานแถลงข่าวผลการดำเนินงานด้านต่างๆ โดยมีสาระสำคัญการจัดตั้งชุดเฉพาะกิจป้องกันปราบปรามการบุกรุกทำลายป่าในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อป้องกันรักษาพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูหลวง พื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว และพื้นที่ใกล้เคียงโดยเฉพาะพื้นที่ป่าอนุรักษ์โซนซี และบริเวณเขาแผงม้า ตามที่กรมป่าไม้ ดำเนินการตรวจยึดพื้นที่ดังกล่าวเพิ่มเติม เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๕ สามารถตรวจยึดพื้นที่ป่าถูกบุกรุกครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จำนวน ๕ แปลง เนื้อที่รวม ๑๐๘ ไร่ ๑ งาน ๕ ตารางวา รวมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าภูเขาหลวง อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ที่ยึดถือครอบครองมาโดยมิชอบด้วยกฎหมายและเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจยึดแล้ว จำนวนทั้งสิ้น ๔๓ คดี เนื้อที่รวม ๑,๔๖๕ ไร่ ๑ งาน ๒๖ ตารางวา ขณะนี้ทุกคดีอยู่ในการพิจารณาของพนักงานสอบสวน

ส่วนการดำเนินการตามมาตรา ๒๕ แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ ๘ (นครราชสีมา) ได้สรุปเรื่องเสนอนายอำเภอวังน้ำเขียว เพื่อพิจารณาสั่งเป็นหนังสือให้ผู้กระทำผิดต่อพระราชบัญญัตินี้รื้อถอน แก้ไข หรือทำประการอื่นใดแก่สิ่งที่เป็นอันตราย หรือสิ่งที่ทำให้เสื่อมสภาพ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ และอำเภอวังน้ำเขียว ได้แจ้งให้ทราบว่าไม่สามารถดำเนินการตามที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม่ที่ ๘ (นครราชสีมา) เสนอได้ เนื่องจากนายอำเภอวังน้ำเขียว ร่วมเป็นพนักงานสอบสวนในทุกคดี ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐาน เพื่อส่งต่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พิจารณาอำนาจตามมาตรา ๒๕ แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติฯ

ตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหา

แนวทางการแก้ไขปัญหาและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน นายสุวิทย์ รัตนมณี อธิบดีกรมป่าไม้ ระบุว่า เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๕ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาตามความเห็นและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นไปด้วยความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยให้คณะทำงานมีอำนาจ ดังนี้

๑. ตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ตามรายงานข้อเท็จจริง ความเห็นและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อแก้ไขปัญหาและบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ป่าวังน้ำเขียว และอุทยานแห่งชาติทับลาน

๒. เสนอแนวทางปฏิบัติให้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน ในการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าวังน้ำเขียว และอุทยานทับลาน

๓. ติดตามและรายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการติดตามการแก้ไขปัญหาที่ดินป่าไม้ กรณีป่าสงวนแห่งชาติวังน้ำเขียว และพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดนครราชสีมา และสำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน

๔. เชิญบุคคลใดๆ ในสังกัดกระทรวงทรัพยา กรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และบุคคลภายนอกที่มีความเกี่ยวข้องและสามารถให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของคณะทำงาน

ยุ‘ยิ่งลักษณ์’เอาผิดผู้บุกรุก

ทั้งนี้ ผลสอบปัญหาการครอบครองที่ดินป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาภูหลวง(เขาแผงม้า) อุทยานแห่งชาติทับลาน และที่ดิน ส.ป.ก. ในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว โดยนายศรีราชา เจริญพานิช ผู้ตรวจการแผ่นดิน สรุปว่า เกิดจากเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบละเลยการปฏิบัติหน้าที่ อีกทั้งนโยบายแต่ละหน่วยงานไม่สอดคล้อง ทำให้เกิดความขัดแย้ง โดยฝ่ายปกครองและท้องถิ่นควรส่งเสริมการท่องเที่ยวในเขตอำเภอวังน้ำเขียว พร้อมออกหนังสือรับรองสิทธิ์การอยู่อาศัยและทำกินของราษฎร ในขณะที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมทั้งกรมป่าไม้ ได้ออกสำรวจเพื่อบังคับใช้กฎหมายตามอำนาจหน้าที่อย่างจริงจัง ปล่อยปละละเลยให้ราษฎรเข้าครอบครองที่ดินมาเป็นเวลานาน รวมทั้งไม่ปรับปรุงแนวเขตอุทยานที่ได้รังวัดกันออกให้แล้วเสร็จ ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี ๒๕๔๐ ซึ่งจากปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงยื่นเสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้สั่งการเอาผิดกับผู้ที่บุกรุกแผ้วถาง หรือรับโอนสิทธิ์โดยไม่สุจริต หลังมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑ เพื่อยับยั้งการบุกรุกป่าในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว และให้ความเป็นธรรมกับผู้ที่ถือครองอย่างถูกต้องก่อนมติคณะรัฐมนตรี

พังรีสอร์ต-บ้านพัก-สวนยาง

การรื้อถอนรีสอร์ตและบ้านพักตากอากาศจำนวนมากที่บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งผิดกฎหมายพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๔ ตามที่นายดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีคำสั่งตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๕๔ เป็นต้นมา แต่ประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งผู้ประกอบการ รวมตัวกันต่อต้านและขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ทำให้เป็นอุปสรรคในการดำเนินการ ล่าสุดตั้งแต่ช่วงเวลา ๒๔.๐๐-๐๖.๐๐ น. วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๕๕ นายดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำกำลังเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ทั่วประเทศ กว่า ๔,๘๐๐ คน พร้อมด้วยเครื่องจักรกล เข้ารื้อถอนบ้านพักตากอากาศ รีสอร์ต รวมทั้งสวนยางพารา ที่บุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานเป็นครั้งที่ ๓ บริเวณอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี รวม ๙ แห่ง

นายนุวรรต ลีลาพตะ ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า “การรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และพื้นที่การเกษตร ที่ตรวจสอบพบว่าบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน นับเป็นครั้งที่ ๓ หลังจากดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ตามมาตรา ๒๒ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๔ ตั้งแต่ปีที่ผ่านมา โดยครั้งนี้มีเป้าหมายการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งเป็นบ้านพักตากอากาศรีสอร์ต และบ้านพักคนงาน รวมทั้งพื้นที่ปลูกยางพารา รวม ๙ แห่ง ประกอบด้วย

๑. บ้านพักตากอากาศของนายรนกร พิชัยโยธิน บนพื้นที่ ๔๕ ไร่ ตำบลอุดมทรัพย์ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ๒. บ้านพักตากอากาศของนายไพโรจน์ ศรีสมสุข ๑๑ ไร่ ๑ งาน ๘๙ ตารางวา ๓. บ้านพักตาอากาศของนายนายณรงค์ วานิชกิตติ ๓ งาน ๑๓ ตารางวา ๔. บ้านพักตากอากาศของนายสุรเดช จิตภักดีบดินทร์ ๕ ไร่ ๓ งาน ๔๓ ตารางวา ทั้งหมดตั้งแต่รายที่ ๒-๔ อยู่ในพื้นที่ตำบลบุพพราหมณ์ อำนาดี จังหวัดปราจีนบุรี รวมทั้งรายใหญ่ ๕. บ้านทะเลหมอก มูลค่า ๓๐๗ ล้านบาท ของนางวไลลักษณ์ วิชชาบุญศิริ ซึ่งปลูกสร้างบ้านพัก ๓๖ หลัง เพื่อประกอบกิจการในลักษณะรีสอร์ตมาตั้งปี ๒๕๔๔ บนพื้นที่ ๖๕ ไร่ ตำบลบุพพราหมณ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี ซึ่งเจ้าของอ้างใบภบท. ๕ ในการถือครอง และทราบว่าซื้อที่ดินต่อมาจากผู้ที่เคยบุกรุกมาแล้ว ซึ่งรายนี้ศาลพิพากษาคดีสิ้นสุดแล้ว โทษปรับและจำคุกรอลงอาญา แต่ที่ผ่านมาเจ้าของไม่ยินยอมที่จะรื้อถอนออกไป  

๖. นายวิรัตน์ ศิริรักษ์ กำนันตำบลทุ่งโพธิ์ บุกรุกพื้นที่อุทยานฯ ประมาณ ๓๗๐ ไร่ โดยดำเนินการแบ่งพื้นที่ขายเป็นแปลง และมีสิ่งปลูกสร้างที่กำลังก่อสร้างเป็นอาคาร ๒ หลัง ๗. นายมงคล เงินเต็ม ก่อสร้างบ้านพักขนาดใหญ่ ๑ หลัง และบ้านพักขนาดเล็ก ๑ หลัง บนเนื้อที่ ๘ ไร่ ๘. นายเกิด เพชรเลิศ ก่อสร้างบ้านพักขนาดเล็กสำหรับคนงาน และครอบครองพื้นที่อุทยานฯ ๒๐๐ กว่าไร่ เพื่อใช้ประโยชน์ในการปลูกยางพารามากว่า ๒ ปี และ ๙. นายสัมพันธ์ ประเสริฐ กับพวกรวม ๒๔ คน เป็นการบุกรุกพื้นที่อุทยานฯ ๑,๒๕๐ ไร่ มากที่สุดจากที่เคยจับกุม ทราบว่าผู้กระทำผิดรายนี้จ้างแรงงานต่างด้าวเพื่อเข้ามาบุกรุกปลูกยางพารา ในขณะที่จับกุมเจอกล้ายางพาราประมาณ ๒ หมื่นกล้า พร้อมด้วยรถสิบล้อและรถไถล้อยาง ๒ คัน อีกทั้งยังมีการสร้างบ้านพักคนงานชั่วคราวจำนวน ๑๐ หลัง ซึ่งทั้งหมดตั้งแต่รายที่ ๕-๘ อยู่ในพื้นที่ตำบลทุ่งโพธิ์ อำเภอนาดี จังหวัดปราจีนบุรี รวมทั้ง ๙ แห่ง บุกรุกพื้นที่อุทยานฯ ผิดกฎหมายประมาณ ๑,๘๕๗ ไร่”

ปาระเบิด-เผายาง!สะกัดกั้น

นายนุวรรต สรุปผลการเข้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสวนยางพาราในครั้งนี้ว่า “วันนี้ (๒๘ ก.ค. ๕๕) นายดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ กว่า ๔,๘๐๐ นายทั่วประเทศ พร้อมด้วยเครื่องจักรกล เข้ารื้อถอนรีสอร์ต บ้านพักตากอากาศ บ้านพักคนงาน และสวนยางพารา ทั้ง ๙ แห่ง ตั้งแต่เวลา ๒๔.๐๐-๐๖.๐๐ น. โดยช่วงหัวค่ำมีการลอบวางระเบิดข่มขู่เข้ามาภายในบริเวณจุดจอดรถเครื่องจักรกล บริเวณศูนย์วิศวกรรมที่ ๕ ของกรมอุทยานฯ ตำบลบุพพราหมณ์ อำนาดี จังหวัดปราจีนบุรี จากนั้นช่วงดึกมีการเผายางรถยนต์เส้นทางเข้าบ้านทะเลหมอก รวมทั้งมีประชาชนในพื้นที่กว่า ๖๐-๗๐ คน รวมตัวกันบริเวณเส้นทางดังกล่าว พร้อมกับนำรถยนต์และรถตู้จำนวน ๔ คัน มาจอดขวางทางเข้า-ออกของเจ้าหน้าที่ แต่สุดท้ายก็สามารถสะสางได้ โดยใช้กำลังพลมายกยางที่ถูกเผาและรถยนต์ออกไป โดยไม่มีการปะทะกับประชาชน นอกจากนี้กำนันตำบลทุ่งโพธิ์ซึ่งกระทำความผิดการบุกรุกดังกล่าว ยังเกณฑ์คนเข้าไปนอนในอาคารที่จะทำการรื้อถอน แต่สุดท้ายก็สามารถเข้าทำการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งสวนยางพารา ได้สำเร็จทั้ง ๙ แห่ง รวมมูลค่าทรัพย์สินที่รื้อถอนกว่า ๓๐๐ ล้านบาท

ยัน‘ไร่กุลละวณิชย์’ปิดกิจการ

“อย่างไรก็ตาม มีการดำเนินดีกับเจ้าของรีสอร์ตและบ้านพักตากอากาศที่บุกรุกไปแล้วรวม ๔๑๘ ราย จากการครอบครองพื้นที่กว่า ๘,๐๐๐ ไร่ เพื่อก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง โดยเป็นคดีที่ดำเนินตามมาตรา ๒๒ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๔ จำนวน ๔๙ ราย ในจำนวนนี้เป็นการรื้อถอนครั้งแรก เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๕๔ โดยเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ จำนวน ๓ ราย และเจ้าของทรัพย์สินรื้อถอนเองจำนวน ๖ ราย ส่วนการรื้อถอนครั้งที่ ๒ จำนวน ๘ ราย มีรีสอร์ตรายใหญ่ เช่น ไร่กุลละวณิชย์ และคลองกะทิง  ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เหลือแค่การรื้อถอนบางส่วนที่เจ้าของทรัพย์สินต้องรื้อถอนเองเพื่อไม่ให้ทรัพย์สินเสียหายทั้งหมด ซึ่งกรณีไร่กุลละวณิชย์ขอยืนยันว่า ไม่สามารถประกอบกิจการรีสอร์ตต่อไปได้ หลังจากรื้อถอนครั้งนั้นเป็นซากปรักหักพัง เจ้าของก็ปรับปรุงให้เรียบร้อย อาทิ สวนหย่อม ขณะนี้อยู่ระหว่างประเมินค่าใช้จ่ายการรื้อถอนที่เหลือทั้งหมด เพื่อเสนอของบประมาณจากกรมอุทยานฯ ว่าจ้างเอกชนทำการรื้อถอนให้เสร็จเรียบร้อย” ผช.หัวหน้าอุทยานแห่งชาติฯ กล่าว  

เดินแนวทางพิทักษ์ทับลานต่อ

ต่อซักถามว่า ในวันที่ ๓๐ กันยายนนี้ นายดำรงค์ พิเดช อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ จะเกษียณอายุราชการ จะมีการเร่งดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งพื้นที่การเกษตร ที่บุกรุกป่าทับลานอย่างไร นายนุวรรต ลีลาพตะ ผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติทับลาน กล่าวว่า “ท่านอธิบดีฯ บอกว่า อุทยานแห่งชาติทับลานจะดำเนินการกับผู้บุกรุกให้เป็นตัวอย่างกับอุทยานทั่วประเทศไทยว่า ดำเนินการกับผู้กระทำความผิดแบบเดียวกัน ผลสุดท้ายผู้บุกรุกป่า คือจบสิ้นในการรื้อถอนออกจากพื้นที่ อีกทั้งท่านอธิบดีฯ ยังกำชับว่า ไม่ว่าอธิบดีคนไหนจะมาดำรงตำแหน่งต่อจากท่าน คงต้องปฏิบัตินโยบายเหมือนกับที่ท่านปฏิบัติมา พร้อมกับยืนยันว่าเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ทุกคนจะต้องทำตามอำนาจหน้าที่เพื่อป้องกันรักษาป่า ซึ่งแนวทางดังกล่าวได้ผลดีในการรักษาป่าให้คงอยู่ต่อไป ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติทับลานถูกบุกรุกหลายหมื่นไร่ เจ้าหน้าที่ทุกคนมีความพยายามยึดพื้นที่เหล่านั้นคืนมาให้ได้ แต่ว่าทั้งหลายทั้งปวงต้องพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้กระทบกับราษฎรที่เข้ามาอยู่อาศัยดั้งเดิม ยกเว้นที่ได้รับผล กระทบทางอ้อม คือรายได้จากการท่องเที่ยวจะลดลงบ้าง” 


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๓๘ ฉบับที่ ๒๐๙๙ วันอังคารที่ ๓๑ กรกฎาคม - วันเสาร์ที่ ๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕


732 1342