30thApril

30thApril

30thApril

 

January 01,1970

ชี้แปรจุดอ่อนสู่จุดแข็งยั่งยืน อีสานพร้อมรับเสรีอาเซียน แนะตั้งนิคมอุตฯนวัตกรรม

‘ดร.สุรเกียรติ์’ ปาฐกถาพิเศษ “ทิศทางเศรษฐกิจอีสานหลังเปิดตลาดอาเซียนอย่างสมบูรณ์” แนะแปรจุดอ่อนของ ‘อีสาน’ เป็นจุดแข็งยั่งยืน บูรณาการเศรษฐกิจประเทศลุ่มแม่น้ำโขง เชื่อมเพื่อนบ้านอาเซียนและยุทธศาสตร์ประเทศมหาอำนาจ วางแนวทางพัฒนานิคมอุตสาหกรรมนวัตกรรม/เอสเอ็มอี ศูนย์นวัตกรรมซ่อมอากาศยาน และพัฒนาระบบราง พร้อมสร้างศักยภาพกลุ่มจังหวัด ‘วินัย’ ผวจ.กาฬสินธุ์คนใหม่ เสนอแก้ ‘วังน้ำเขียว’ เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านการท่องเที่ยว 

เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๘ เวลา ๐๙.๓๐ น. ณ ห้องตะโกราย ๓ อาคาร ๓๕ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) จ.นครราชสีมา นายวินัย วิทยานุกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดสัมมนาทางด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ภายใต้หัวข้อ “ทิศทางเศรษฐกิจอีสานหลังเปิดตลาดอาเซียนอย่างสมบูรณ์” พร้อมด้วยศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองแห่งเอเชีย ประธานสมาคมกฎหมายระหว่างประเทศแห่งเอเชีย และนายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เป็นองค์ปาฐกถาพิเศษ, ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดี มทร.อีสาน, นางสาวอรุณ สว่างสินอุดมชัย คลังจังหวัดนครราชสีมา, นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และคณะกรรมการฯ และนายไพสิทธิ์ ปิติทรงสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ได้รับความสนใจจากนักธุรกิจ กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ในจังหวัดนครราชสีมา และประชาชนทั่วไป เข้าร่วมรับฟังจำนวนกว่า ๕๐๐ คน

ผู้จัดงานหวังเสริมสร้างความรู้

นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวต้อนรับว่า การจัดงานสัมมนา “ทิศทางเศรษฐกิจอีสานหลังเปิดตลาดอาเซียนอย่างสมบูรณ์” ในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือกันของสองหน่วยงาน ระหว่างหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และสำนักงานคลังจังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้ความรู้เรื่องทิศทางเศรษฐกิจอีสานหลังเปิดตลาดอาเซียนอย่างสมบูรณ์ ให้ทันต่อการแข่งขันในตลาดเสรีที่จะมาถึงในเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งนับเป็นโอกาสดีอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและการปรองดองแห่งเอเชีย เป็นองค์ปาฐกถาพิเศษ ซึ่งท่านเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ประสบความสำเร็จในหลายด้าน สาระสำคัญต่างๆ ที่ได้รับวันนี้ ล้วนมีเนื้อหาสาระที่มีประโยชน์ ผู้เข้าร่วมรับฟังการสัมมนาสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อการประกอบธุรกิจ รวมถึงประโยชน์ต่อการพัฒนาจังหวัดนครราชสีมาโดยรวม

นางสาวอุรณ สว่างสินอุดมชัย คลังจังหวัดนครราชสีมา กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดสัมมนาว่า เพื่อนำเสนอข้อมูลเศรษฐกิจของจังหวัดนครราชสีมาในปี ๒๕๕๘ ให้พ่อค้า นักธุรกิจ กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ในจังหวัดนครราชสีมา และประชาชนทั่วไป ได้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และเตรียมพร้อมรับมือกับทิศทางเศรษฐกิจหลังเปิดตลาดอาเซียนอย่างสมบูรณ์ นำมาซึ่งการเรียนรู้การปรับวิสัยทัศน์ เพื่อการแข่งขันทางเศรษฐกิจในอนาคตอันใกล้นี้ และเพื่อให้เศรษฐกิจเข้มแข็งสามารถแข่งขันกับตลาดอาเซียนและตลาดโลกได้ โดยภายในงานมีกิจกรรมการเสวนาด้านเศรษฐกิจ และทิศทางความเคลื่อนไหวเศรษฐกิจอีสานหลังเปิดตลาดอาเซียนอย่างสมบูรณ์ กิจกรรมการปาฐกถาพิเศษจากผู้มีความรู้ ประสบการณ์ ที่เชี่ยวชาญทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ในภาคพื้นเอเชีย ซึ่งได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและการปรองดองแห่งเอเชีย มาเป็นองค์ปาฐกถาพิเศษ ซึ่งทั้งสองกิจกรรมคณะผู้จัดงานหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะนำประโยชน์ให้กับผู้ร่วมงาน ในการนำข้อมูลที่รับปรับใช้ให้มีประสิทธิภาพ 


เขตเศรษฐกิจพิเศษท่องเที่ยว

นายวินัย วิทยานุกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวเปิดสัมมนาว่า สภาวะเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทุกคน ตั้งแต่ระดับบุคคล ครอบครัว องค์กร ภูมิภาค และระดับประเทศ เพราะเศรษฐกิจถือเป็นเครื่องชี้ฐานะความเป็นอยู่ของทุกคน จะยากดีมีจนย่อมวัดได้จากฐานะทางเศรษฐกิจ ดังนั้น หากมีผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญ มาให้ข้อมูล มาบอกกล่าวทิศทาง แนวโน้ม หรือความเคลื่อนไหวของภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ก็จะทำให้เรามีความรู้ มีข้อมูลในการรับมือ หรือเตรียมพร้อมที่จะดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทางด้านเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ดังจะเห็นได้ว่า จังหวัดนครราชสีมา หรือโคราช ตั้งอยู่ในภูมิศาสตร์ซึ่งเป็นประตูสู่ภาคอีสาน ขณะนี้จึงเกิดการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งทางถนนและระบบราง ซึ่งการพัฒนาต้องคำนึงถึงประชากรอีก ๑๙ จังหวัดในภาคอีสานด้วย ไม่เฉพาะโคราชเพียงอย่างเดียว

“ในวันที่ ๑ ตุลาคมนี้ ผมต้องไปรับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ขณะที่ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา (นายธงชัย ลืออดุลย์) ซึ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ตั้งแต่วันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๕๗ ถึงวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๘ ก็ครบวาระเกษียณอายุราชการ ที่ผ่านมาท่านมีเวลาปฏิบัติหน้าที่ ๔๘๖ วัน โคราชเป็นจังหวัดใหญ่ จึงจำเป็นต้องวางกรอบการปฏิบัติงานและแก้ไขปัญหาด้านต่างๆ โดยแบ่งเป็น phase (โครงการ) โดยเฉพาะความสำเร็จในการรื้อผู้บุกรุกมอปลาย่าง (ที่ราชพัสดุริมอ่างเก็บน้ำลำตะคอง), การบริหารจัดการน้ำ ปัญหาขยะและมลพิษ เป็นต้น โดยมีงบประมาณโครงการขนาดใหญ่ หรือ Mega Project ที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจังหวัดนครราชสีมา ในปี ๒๕๕๙ ได้แก่ ๑. โครงการบริหารจัดการน้ำ งบประมาณ ๒,๗๒๑.๙๒ ล้านบาท ๒. โครงข่ายทางสนับสนุนเชื่อมต่อด้านการค้าการลงทุน และเชื่อมต่อด้านการท่องเที่ยว งบประมาณ ๒,๐๘๒ ล้านบาท ๓. โครงการรถไฟทางคู่ ๓ ช่วง งบประมาณ ๘๙,๒๑๙.๖๕ ล้านบาท ได้แก่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ, ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น และชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ๔. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายเส้นทางคมนาคม ๗ เส้นทาง งบประมาณ ๙๓,๑๙๖.๑๗ ล้านบาท โดยเฉพาะสาย ๓๐๔ (กบินทร์บุรี-ปักธงชัย) ซึ่งท่านผู้ว่าฯ เร่งผลักดัน ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้าง ส่วนการแก้ไขปัญหาการบุกรุกป่าในท้องที่อำเภอวังน้ำเขียวนั้น ผมมองแนวทางแก้ไขปัญหาว่าจะเป็นไปได้หรือไม่? ที่จะจัดตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษด้านการท่องเที่ยว และวางแนวทางการแก้ไขปัญหาร่วมกันต่อไป” นายวินัย กล่าว

๘ ข้อจำกัดประเทศไทย

ต่อมาเป็นการปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “ทิศทางเศรษฐกิจอีสานหลังเปิดตลาดอาเซียนอย่างสมบูรณ์” โดยศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและการปรองดองแห่งเอเชีย และประธานสมาคมกฎหมายระหว่างประเทศแห่งเอเชีย เปิดประเด็นถึงข้อจำกัดด้านต่างๆ ของประเทศไทยในขณะนี้ว่า ๑. กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging society) ๒. เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง หรือรายได้ต่ำ ๓. การขาดนวัตกรรม (innovation) ๔. การพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศที่เพิ่มระดับหนี้ภาคครัวเรือน ๕. การพัฒนาราคาสินค้าเกษตรที่ไม่เห็นประสิทธิภาพการผลิต ๖. ข้อจำกัดช่วงเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย โดยเฉพาะปัญหาที่หมักหมมมานานหลายปี แต่มาเป็นแผลใหญ่ในช่วงเวลานี้ที่รัฐบาลกำลังเข้าไปแก้ปัญหา คือ การค้ามนุษย์ โดยกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา รายงานการค้ามนุษย์ ประจำปี ค.ศ. ๒๐๑๕ อย่างเป็นทางการ ซึ่งปรากฏว่า ยังคงจัดอันดับประเทศไทย อยู่ใน Tier 3 หรือกลุ่มประเทศที่จัดการปัญหาการค้ามนุษย์ต่ำที่สุดต่อไป, ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย โดยสหภาพยุโรป หรือ EU ได้ประกาศเตือนทางการไทย เกี่ยวกับการกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย และด้านอากาศยาน ซึ่งองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO ได้เข้มงวดด้านความปลอดภัยของกรมการบินพลเรือนไทย ๗. เศรษฐกิจโลกชะลอตัว แม้กระทั่งประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ก็เริ่มส่งสัญญาณ ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและยุโรปจะเริ่มฟื้นตัวบ้าง แต่ก็ยังไม่กระตุ้นภาคส่งออกของประเทศไทยมากนัก ๘. นโยบายเศรษฐกิจของทีมเศรษฐกิจใหม่ 

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย

บูรณาการเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำโขง

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ ชี้ให้เห็นปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจว่า โอกาสในการแปรจุดอ่อนของภาคอีสานให้เป็นจุดแข็งและทำให้จุดแข็งยั่งยืน นั่นคือ ความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาค ๑. บูรณาการทางเศรษฐกิจประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ด้วยยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา - แม่โขง (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy - ACMECS) ระหว่างกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา ไทย และเวียดนาม เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับอนุภูมิภาคที่จัดตั้งขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งและความหลากหลายของทั้งห้าประเทศสมาชิกเพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างสมดุล ทั้งยังมีความร่วมมือประเทศลุ่มแม่น้ำโขงกับญี่ปุ่น (Japan-Mekong Cooperation) ซึ่งขณะนี้ประเทศญี่ปุ่นพร้อมให้การสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้กับประเทศไทย รวมถึงการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมผ่านสถาบันการศึกษา นอกเหนือจากการลงทุนพัฒนาระบบราง ๒. ประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะ ๑ ใน ๓ เสาหลัก คือประชาคมความร่วมมือการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ในการป้องกันภัยพิบัติและปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้

อีสานเชื่อมอาเซียน-มหาอำนาจ

สำหรับโอกาสของภาคอีสานนั้น ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ มองว่า มีจุดแข็งจากพื้นที่และที่ตั้งเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน โดยเฉพาะสปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งขณะนี้การค้าและการลงทุนเริ่มเติบโต และอยู่ในส่วนสำคัญของยุทธศาสตร์เศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นสาธารณรัฐประชาชนจีน ขณะนี้การเติบโตทางเศรษฐกิจแซงหน้าสหรัฐอเมริกาขึ้นมาเป็นอันดับ ๑, สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ที่จะต้องผ่านพื้นที่ภาคอีสาน อย่างไรก็ตาม ต้องเชื่อมภาคการเกษตรกับภาคอุตสาหกรรม มรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อลดความยากจน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงการคมนาคมในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งทางบก อากาศ และแม่น้ำ การลงทุน การค้า สินค้า บริการ และคน ซึ่งแนวทางการพัฒนา คือ นิคมอุตสาหกรรม นิคมอุตสาหกรรมนวัตกรรม หรือ SMEs เขตเศรษฐกิจพิเศษ การพัฒนาระบบราง และศูนย์นวัตกรรมซ่อมอากาศยาน แต่ที่ลืมไม่ได้คือ การสร้างศักยภาพกลุ่มจังหวัด อาทิ การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ๆ (Tourism Product) เช่น เชิงนิเวศน์ สุขภาพ วัฒนธรรม พุทธศาสนา เป็นต้น, การจัดกลุ่มทางเศรษฐกิจ/ระเบียงนวัตกรรม (Innovation Corridor) ไม่ว่าจะเป็นเกษตรอินทรีย์ เทคโนโลยีการผลิต อาหาร สุขภาพ และมีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมีการลงทุนในรูปแบบนวัตกรรมสีเขียว (Green Innovation) ดังจะเห็นได้จากขณะนี้ธุรกิจพลังงานทดแทนขยายตัวในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งมีศักยภาพทั้งการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากลมและแสงอาทิตย์ ส่วนสถาบันการศึกษาที่เปิดการเรียนการสอนจำนวนมากในภาคอีสาน โดยเฉพาะที่จังหวัดนครราชสีมา ต้องเชื่อมโยงทางการศึกษาและภาคปฏิบัติ ระหว่างมหาวิทยาลัยกับโรงงานอุตสาหกรรมในไทยและประเทศเพื่อนบ้านอาเซียน รวมถึงประเทศญี่ปุ่นด้วย ที่พร้อมจะสนับสนุนและส่งเสริมบุคลากรและมหาวิทยาลัยในประเทศไทย อีกทั้งการสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังผลักดันอยู่ จะมีความเป็นได้หรือไม่ที่จะส่งเสริมให้เกิดพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) การส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน หมอพื้นฐาน ผลักดันจากท้องถิ่น เพื่อพัฒนาท้องถิ่นสู่เชิงพาณิชย์ และนำไปสู่การเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับเพื่อนบ้านในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงต่อไป 

พัฒนา/รักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวอีกว่า จุดอ่อนของภาคอีสาน คือ พื้นที่กว้าง ประชากรส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มการเกษตร พึ่งพาธรรมชาติ จำนวนประชากรมาก และปัญหาความยากจน แต่มีข้อเสียเปรียบที่เป็นข้อได้เปรียบ และมีข้อด้อยที่เป็นข้อเด่นดังที่กล่าวในข้างต้นนั้น ดังนั้น ๑. ต้องมองโอกาสทางเศรษฐกิจที่เปิดขึ้นจากยุทธศาสตร์ต่างๆ และจากบูรณาการของอาเซียน และการสร้างความเข้มแข็งของภาคอีสาน ๒. สมดุลการพัฒนาและรักษามรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น การเชื่อมโยงสถาบันการศึกษา ภาคเอกชน ภาคราชการ และท้องถิ่น กับอาเซียน ที่กำลังจะเปิดประชาคมอาเซียนในปลายปี ๒๕๕๘ จึงจำเป็นอย่างยิ่งว่า การก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจ จะต้องไม่ละทิ้งท้องถิ่น เพราะภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นพลังให้ก้าวกระโดด แต่สิ่งที่เรายังขาดคือความเข้าใจต่ออาเซียน และความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาค ซึ่งต้องสร้างความรู้และความเข้าใจให้มากขึ้น

ต้องมอง‘ภาคอีสาน’เป็นบวก

“ทิศทางเศรษฐกิจอีสาน จึงต้องมองที่การแปรจุดด้อยเป็นจุดเด่น สร้างความยั่งยืนได้, รู้จักไทย เข้าใจเทศ, ใจเป็นไทย สายตาเป็นสากล มองภาคอีสานให้เป็นบวก หรือ Esaan Plus โดยบูรณาการร่วมกันระหว่างราชการ เอกชน ท้องถิ่น สถาบันการศึกษา เพื่อนบ้านลุ่มแม่น้ำโขง อาเซียน ตลอดทั้งจีนและญี่ปุ่น และต้องไม่ลืมที่จะพัฒนานวัตกรรมในเชิงความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ และภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วย” ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย กล่าวสรุป  

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๑ ฉบับที่ ๒๓๑๘ วันพฤหัสบดีที่  ๑  -  วันจันทร์ที่  ๕  เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๘


710 1,363