1stMay

1stMay

1stMay

 

January 01,1970

“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย”ระบุปี ๖๐ ซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างยอดขายโต ตอบโจทย์ความสะดวกสบาย

          เชื่อมั่นปีนี้ Supermarket ในห้างสรรพสินค้ามียอดขายโดดเด่นกว่าค้าปลีกอื่นๆ เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมของห้างฯ ที่จูงใจให้ผู้บริโภคเข้ามาใช้บริการ ตอบโจทย์ความสะดวกสบาย รวมทั้งมีกิจกรรมครบครัน รองรับกลุ่มผู้บริโภคได้หลากหลาย 

          เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกมาระบุว่า ในปี ๒๕๖๐ Supermarket (ซูเปอร์มาร์เก็ต) ยังเป็นค้าปลีกที่มีแนวโน้มของยอดขายขยายตัวโดดเด่นกว่าค้าปลีกใน Segment อื่นๆ โดยเฉพาะ Supermarket ที่เปิดสาขาอยู่ในห้างสรรพสินค้า ซึ่งคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวประมาณร้อยละ ๗-๘ เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะจำนวนสาขาใหม่ที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของห้างสรรพสินค้าที่คาดว่าจะเปิดเพิ่มอีกไม่ต่ำกว่า ๓ สาขาทั่วประเทศในปี ๒๕๖๐ นอกจากนี้ยังเป็นผลมาจากจำนวนลูกค้าที่คาดว่าจะหันมาใช้บริการ Supermarket ในห้างสรรพสินค้ามากขึ้น แม้ว่าสาขาเปิดใหม่ของห้างฯ ในปี ๒๕๖๐ จะมีจำนวนไม่มากนักเมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๙ แต่ด้วยทำเลที่ตั้งของแต่ละสาขาที่อยู่ในพื้นที่ชุมชน สามารถอำนวยความสะดวกสบายและตอบโจทย์ความต้องการได้ค่อนข้างหลากหลาย ก็น่าจะทำให้ Supermarket ที่อยู่ในห้างฯ ยังคงน่าสนใจและได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มผู้บริโภค

          ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ยอดขายของค้าปลีกสมัยใหม่ (Modem Trade) ในปี ๒๕๖๐ น่าจะยังทรงตัวหรือฟื้นตัวเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปี ๒๕๕๙ ในขณะที่ยอดขายของ Supermarket ในห้างฯ ยังคงขยายตัวได้ในอัตราที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับภาพรวมของค้าปลีกสมัยใหม่ หรือค้าปลีกใน Segment อื่นๆ สาเหตุหนึ่งอาจมาจากรากฐานมูลค่ายอดขายของ Supermarket ในห้างฯ ที่ยังไม่มากนัก (มูลค่ายอดขายประมาณ ๔.๔ หมื่นล้านบาท) เมื่อเทียบกับไฮเปอร์มาร์เก็ต (มูลค่ายอดขายประมาณ ๔.๖ แสนล้านบาท) หรือภาพรวมของค้าปลีกสมัยใหม่ (มูลค่ายอดขายประมาณ ๑.๐ ล้านล้านบาท) นอกจากนี้ อาจเป็นผลมาจากการดึงยอดขายบางส่วนมาจากค้าปลีกใน Segment อื่นๆ ด้วย

          อย่างไรก็ตาม กิจกรรมทางธุรกิจหลากหลายประเภทที่เปิดให้บริการในห้างสรรพสินค้ากลายเป็นปัจจัยหนุนสำคัญที่ดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ Supermarket ในห้างสรรพสินค้ามากขึ้น เนื่องจากห้างฯ มีกิจกรรมรองรับกับกลุ่มลูกค้าได้ค่อนข้างหลากหลายและครบครัน อาทิ สถาบันการเงิน ธุรกิจประกัน สถาบันเสริมทักษะสำหรับเด็ก ศูนย์ดูแลสุขภาพ (ฟิตเนส โยคะ) ศิลปะป้องกันตัว หรือแม้แต่ในช่วง ๑-๒ ปีที่ผ่านมา ห้างสรรพสินค้าสาขาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น หรือการปรับปรุงพื้นที่ (Renovate) ของห้างสรรพสินค้าสาขาเดิม ได้มีการจัดสรรพื้นที่ที่เอื้อต่อบรรยากาศในการทำกิจกรรมของลูกค้าภายในห้างมากขึ้น โดยเฉพาะลูกค้าที่มาเป็นครอบครัว ซึ่ง Supermarket ที่อยู่ในห้างฯ ก็น่าจะได้รับอานิสงส์ในการทำยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการภายในห้างสรรพสินค้าเช่นกัน และนอกจากนี้ด้วยจุดเด่นในเรื่องของความสะดวกสบายในการให้บริการด้านต่างๆ ก็อาจจะจูงใจให้ลูกค้าของกลุ่มค้าปลีกใน Segment อื่นๆ หันมาใช้บริการ Supermarket ภายในห้างฯ เพิ่มขึ้นด้วย

          ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การขยายตัวของยอดขาย Supermarket ที่โดดเด่นกว่าค้าปลีกใน Segment อื่นๆ น่าจะจูงใจให้ผู้ประกอบการค้าปลีกรายอื่นๆ รวมถึงนักลงทุนต่างชาติที่ยังคงเห็นโอกาสในการเติบโตของค้าปลีกในไทย สนใจเข้ามารุกตลาดค้าปลีกมากขึ้น นำมาซึ่งสัญญาณการแข่งขันของค้าปลีก ซึ่งรวมถึงกลุ่ม Supermarket ที่น่าจะมีแนวโน้มรุนแรงแรงขึ้นในระยะข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันกับผู้ประกอบการค้าปลีกใน Segment เดียวกัน ทั้งที่เป็นผู้ประกอบการรายเดิมและผู้ประกอบการรายใหม่ ที่มีการปรับกลยุทธ์การแข่งขันโดยการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่หลากหลายในการขยายสาขา เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้ครอบคลุมมากขึ้น เช่น ธุรกิจปั๊มน้ำมัน โรงแรม คอนโดมิเนียม เป็นต้น โดยมีการปรับรูปแบบของธุรกิจให้สอดคล้องหรือเหมาะสมกับพันธมิตรทางธุรกิจ และพยายามอำนวยความสะดวกโดยการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้มากที่สุด หรือแม้แต่การเผชิญการแข่งขันผู้ประกอบการค้าปลีกข้าม Segment ที่มีการปรับโมเดลค้าปลีกรูปแบบใหม่ๆ แต่ยังคงเน้นชูจุดขายที่กลุ่มสินค้าเช่นเดียวกับ Supermarket อาทิ ร้านค้าเฉพาะอย่าง (Specially Store) ในกลุ่มอาหารสด หรือค้าปลีกไฮเปอร์มาร์เก็ต (Hypermarket) ที่ปรับพื้นที่ในส่วนของโซนอาหารสด อาหารพร้อมรับประทานเพิ่มขึ้น เป็นต้น จึงกลายเป็นโจทย์ท้าทายของผู้ประกอบการ Supermarket ในห้างฯ ที่จะต้องมีการปรับกลยุทธ์การแข่งขันให้แตกต่างและจูงใจกลุ่มลูกค้าที่จะเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ธุรกิจสามารถรองรับกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น

          ทั้งนี้ ด้วยคุณภาพของการให้บริการที่ดีสม่ำเสมอ กลายเป็นหัวใจสำคัญที่ผู้ประกอบการจะใช้ในการดึงดูดกลุ่มลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ ท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกที่ยังมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในระยะข้างหน้า ประเภทของสินค้าอุปโภคบริโภคและราคาจำหน่ายน่าจะมีความแตกต่างหรือมีช่องว่างระหว่างกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกในแต่ละ Segment ลดลง จนอาจทำให้ผู้บริโภคไม่รู้สึกถึงความแตกต่างเนื่องจากผู้ประกอบการค้าปลีกแต่ละรายต่างมีการปรับกลยุทธ์การแข่งขันกันอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มความหลากหลายของสินค้า รวมถึงการจัดทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดต่างๆ (ลดแลกแจกแถม) เพื่อแย่งชิงกำลังซื้อของผู้บริโภค ดังนั้น จึงกลายเป็นโจทย์สำคัญที่จะทำอย่างไรให้ธุรกิจ Supermarket เกิดความแตกต่าง สามารถสร้างประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ๆ และจูงใจให้ลูกค้าเลือกที่จะเข้ามาใช้บริการภายในร้านค่าปลีกได้อย่างต่อเนื่อง

          ทั้งนี้ เป็นที่สังเกตว่า สินค้าที่ผู้บริโภคเลือกซื้อใน Supermarket ส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ซึ่งผู้บริโภคค่อนข้างมีประสบการณ์ในการเลือกซื้อสินค้า เนื่องจากมี การซื้อใช้อยู่เป็นประจำ ดังนั้น เมื่อความแตกต่างของสินค้าและราคาเริ่มมีช่องว่างลดลง สิ่งสำคัญที่จะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้นอกเหนือจากคุณภาพของสินค้า คือ การรักษาคุณภาพในการให้บริการที่ดีสม่ำเสมอ ซึ่งจะกลายเป็นหัวใจสำคัญที่ผู้ประกอบการจะใช้การแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็น การอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ อาทิ ความสะดวกในการเดินทาง ลานจอดรถที่เพียงพอ การจัดคิวชำระเงินที่รวดเร็ว พื้นที่จับจ่ายหรือบรรยากาศภายในร้านค้าที่ไม่แออัด มีความเป็นระเบียบ หรือแม้แต่การนำเทคโนโลยีต่างๆ มาช่วยอำนวยความสะดวก และสร้างประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับผู้บริโภคยุคดิจิตอล เช่น เทคโนโลยี RFID ระบบเซ็นเซอร์ ระบบการชำระเงิน (e-Money) และบริการ Drive Thru เป็นต้น

          นอกจากนี้ อาจจะต้องให้ความสำคัญกับคุณภาพการให้บริการของพนักงาน เช่น การให้คำแนะนำในการเลือกซื้อสินค้า การคิดเงินหรือทอนเงินที่ถูกต้องและมีความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า รวมถึงการหมั่นตรวจดูความเรียบร้อย และความถูกต้องของสินค้าที่วางจำหน่ายอยู่บนชั้นจำหน่ายสินค้า เช่น วันหมดอายุของสินค้า ราคาจำหน่ายสินค้าถูกต้องหรือไม่ การจัดวางสินค้าอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นต้น

          ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ท่ามกลางการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีกที่รุนแรงขึ้น ช่องว่างระหว่างสินค้าและราคาที่เริ่มแตกต่างกันลดลง “การรักษาคุณภาพการให้บริการที่ดีสม่ำเสมอ” จึงกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจ และสามารถสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภค จนผู้บริโภคตัดสินใจที่จะกลับมาใช้บริการซ้ำ เพราะหากคุณภาพของสินค้าและบริการลดลง โอกาสที่ผู้บริโภคจะหันไปซื้อสินค้ากับคู่แข่งก็มีโอกาสเกิดขึ้นง่าย และการเรียกความเชื่อมั่นของผู้บริโภคกลับคืนมาก็อาจจะต้องใช้เวลาที่ค่อนข้างนาน หากคู่แข่งสามารถสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภคได้ดีต่อเนื่อง


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๒ ฉบับที่ ๒๔๑๐ วันจันทร์ที่ ๑๖ - วันศุกร์ที่ ๒๐ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๐


686 1,344