29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

July 06,2011

‘เนวิน’หน้าแหกแพ้ราบคาบ พท.ยกพลครองอีสาน

ผลส.ส.แบ่งเขต ๙ จังหวัดภาคอีสาน ภาพรวมกระแส ‘เพื่อไทย’ แรงต่อเนื่อง กวาด ๕๓ ที่นั่ง ‘ภูมิใจไทย’ เบียดได้แค่ ๑๐ ‘เนวิน’หน้าแหกบุรีรัมย์ถูกแบ่ง ๒ ที่นั่ง โวยปาร์ตี้ลิสส์ถูกทิ้งร่วมแสนคะแนน ‘ซาเล้ง’ รับกระแส ‘ยิ่งลักษณ์’ มาแรง ส่วนสุรินทร์ล็อกถล่มถูกเพื่อไทยถีบตกขอบทั้งแบบเขตและบัญชีรายชื่อ ด้านชัยภูมิ ‘โอชิษฐ์’ พลิกโผล้ม ‘ประสิทธิ์’ ขณะประชาธิปัตย์หงอยเข้าป้าย ๓ ที่นั่ง “ไชยยศ จิรเมธากร” อดีตรมช.ศึกษาฯปิ๋ว  
  
ขอนแก่นเพื่อไทยกินเรียบ

เริ่มกันที่ผลคะแนนส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งจังหวัดขอนแก่น ที่เป็นอีกหนึ่งฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทย และกลุ่มคนเสื้อแดง นอกจากนี้มีพรรคกิจสังคมของนายสุวิทย์ คุณกิตติ และพรรคประชาธิปัตย์ ที่หวังเก้าอี้ส.ส.จากพื้นที่นี้ไม่น้อย ซึ่งจากจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมด ๑,๓๒๗,๕๐๒ คน มีผู้มาใช้สิทธิ ๘๘๙,๘๖๕ คน ไม่ประสงค์ลงคะแนน ๒๑,๘๘๘ บัตร และบัตรเสีย ๓๓,๙๖๙ บัตร ปรากฏว่า พรรคเพื่อไทยสามารถกวาดเก้าอี้ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งได้ยกจังหวัดทั้ง ๑๐ เขต โดยในเขตเลือกตั้งที่ ๑ นายจักริน พัฒน์ดำรงจิตร ได้ ๓๓,๗๔๑ คะแนน ชนะนายสุนทร ลีซีทวน จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ ๑๔,๑๒๙ คะแนน ขณะที่นายไทกร พลสุวรรณ ซึ่งลงสมัครส.ส.ครั้งแรกในนามพรรครักษ์สันติ ได้การตอบรับจากประชาชนไปไม่น้อย ๒,๑๑๗ คะแนน 

สำหรับเขตเลือกตั้งที่ ๒ นายภูมิ สาระผล ของพรรคเพื่อไทย ๔๕,๘๖๓ คะแนน ทิ้งห่างนายสุริยนต์ วะสมบัติ พรรคกิจสังคม ๑๑,๗๓๘ คะแนน ส่วนนายอัษฎางค์ แสวงการ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยอีสาน ที่หนีปัญหากรณีการซื้อขายใบป.บัณฑิต ซึ่งยังไม่สรุปสำนวน มาลงสมัครในนามพรรคภูมิใจไทย ได้ไปถึง ๙,๑๐๙ คะแนน และเขตเลือกตั้งที่ ๓ นายจตุพร เจริญเชื้อ พรรคเพื่อไทย กวาดคะแนนเสียงไปได้ ๖๖,๔๕๙ คะแนน ทิ้งสองคู่แข่งคนสำคัญอย่างนายอรรถพล ชัยนันท์สมิตย์ พรรคกิจสังคม ที่ได้ ๑๖,๒๒๘ คะแนน และนายปัญญา ศรีปัญญา พรรคภูมิใจไทย ๑๔,๙๖๔ คะแนน ส่วนเขตเลือกตั้งที่ ๔ นางมุกดา พงษ์สมบัติ พรรคเพื่อไทย ๖๕,๙๙๑ คะแนน ขณะที่นายณรงค์เลิศ สุรพล จากพรรคกิจสังคมทำได้เพียง ๑๕,๘๗๓ คะแนน

เช่นเดียวกับเขตเลือกตั้งที่ ๔ นายสุชาย ศรีสุรพล ๕๙,๘๘๔ คะแนน, เขตเลือกตั้งที่ ๖ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ พรรคเพื่อไทย ๔๒,๔๗๑ คะแนน และเขตเลือกตั้งที่ ๗ นายนวัธ เตาะเจริญสุข ๕๐,๙๓๘ คะแนน ส่วนคู่แข่งที่ทำได้ใกล้เคียงในเขตนี้ คือ นายจงรักษ์ คุณเงิน จากพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ที่เก็บได้ ๓๐,๓๗๐ คะแนน โดยเฉพาะในส่วนของเขตเลือกตั้งที่ ๘ นางดวงแข อรรณพพร เอาชนะคู่แข่งแบบไร้กังวลด้วยเสียง ๗๗,๒๗๙ คะแนน และเขตเลือกตั้งที่ ๙ ร้อยโทปรีชาพล พงษ์พานิชย์ ที่ต้อนตือแบบถล่มทลายถึง ๗๔,๑๘๐ คะแนน เหลือให้นายวรพัชร พิงคารักษ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ และนายสุระ สิทธิศิริสาร พรรคภูมิใจไทย แบ่งกันไม่ถึงหมื่นเสียงเพียง ๕,๙๘๒ คะแนน และ ๓,๔๖๔ คะแนนตามลำดับ

สุดท้ายสำหรับเขตเลือกตั้งที่ ๑๐ เป็นศึกชนช้างระหว่างขั้วการเมืองเก่า คือนายเรืองเดช สุพรรณฝ่าย อดีตส.ส.พรรคพลังประชาชน ที่ตามน้ำมาลงสมัครส.ส.ครั้งนี้ ในนามพรรคเพื่อไทย และนายเปรมศักดิ์ เพียรยุระ อดีตส.ส.พรรคไทยรักไทย ที่ย้ายมาซบพรรคภูมิใจไทย ผลนายเรืองเดช ๕๑,๕๖๔ คะแนน และนายเปรมศักดิ์ ๓๑,๔๘๒ คะแนน

บุรีรัมย์ภท.พลาดเป้าได้แค่ ๗ ที่นั่ง

สำหรับผลการนับคะแนนเลือกตั้งส.ส. จังหวัดบุรีรัมย์ ทั้ง ๙ เขตเลือกตั้ง ปรากฏว่า พรรคภูมิใจไทย ไม่สามารถกวาดที่นั่งส.ส.ยกจังหวัดได้ตามที่นายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทยตั้งความหวังไว้ โดยทำไปได้ ๗ คน เป็นอดีตส.ส. ๖ คน คือนายสนอง เทพอักษรณรงค์ ๔๖,๘๒๕ คะแนน, นายรังสิกร ทิมาตฤกะ ๓๔,๗๗๔ คะแนน, นายโสภณ ซารัมย์ ๔๓,๖๖๔ คะแนน, นายมนต์ไชย ชาติวัฒนศิริ ๓๔,๘๒๗ คะแนน, นายรุ่งโรจน์ ทองศรี ๓๐,๐๔๕ คะแนน และนายจักรกฤษณ์ ทองศรี ๓๕,๒๒๒ คะแนน และผู้สมัครหน้าใหม่ ๑ คน คือนางอารีญาภรณ์ ซารัมย์ ภรรยานายโสภณ ซารัมย์ ๕๐,๗๘๘ คะแนน ที่นายเนวิน และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ สองพี่น้องแกนนำพรรคภูมิใจไทยคัดเลือกมาด้วยตนเอง และอีกหนึ่งส.ส.บัญชีรายชื่อ คือ นายชัย ชิดชอบ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และอดีตประธานรัฐสภา บิดาของทั้งคู่

ส่วนอีก ๒ ที่นั่ง เป็นของพรรคเพื่อไทย คือนายพรชัย ศรีสุริยันโยธิน ๔๑,๗๖๗ คะแนน และนายหนูแดง วรรณกางซ้าย ที่เข้าวินด้วยเสียง ๔๓,๖๕๖ คะแนน เป็นลำดับแรกตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ปล่อยให้นายไตรเทพ งามกมล ตามมาที่ ๓๙,๗๙๙ คะแนน และนายประกิจ พลเดช ๓๑,๔๐๔ คะแนน จากพรรคภูมิใจไทย สอบตกทั้งคู่ ขณะเดียวกันมีอดีตส.ส. ที่สอบตกในการเลือกตั้งครั้งนี้ ๕ คน ได้แก่ สองผู้สมัครจากพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน คือนายสุรศักดิ์ นาคดี ๒๐,๑๙๗ คะแนน และนายสมนึก เฮงวาณิชย์ ๑๘,๕๕๗ คะแนน และสองผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย คือนายขจรธน จุดโต ๒๗,๔๑๓ คะแนน และนายจำรัส เวียงสงค์ ๒๕,๕๘๕ คะแนน และนายวุฒิพงษ์ เหลืองอุดมชัย พรรคชาติไทยพัฒนา ที่ได้เสียงน้อยที่สุดในเขต ๓ เพียง ๙๕ คะแนน

อย่างไรก็ตาม หลังปิดหีบและนับคะแนนในแต่ละหน่วยเลือกตั้งเสร็จสิ้น บรรยากาศที่บริเวณด้านหน้าสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดบุรีรัมย์(กกต.บุรีรัมย์) มีประชาชนจำนวนมากเดินทางมาตรวจดูผลคะแนนการเลือกตั้งส.ส.บุรีรัมย์ ทั้ง ๙ เขต พร้อมจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์การเมืองอย่างเข้มข้น โดยส่วนใหญ่แสดงความเห็นว่า การเมืองหลังเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร พรรคการเมืองใดจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งโต้เถียงในกลุ่มว่า พรรคการเมืองที่แพ้การเลือกตั้งจะไม่ยอมรับมติของประชาชน เนื่องจากเห็นชัดเจนแล้วว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไว้วางใจพรรคเพื่อไทย และถกเถียงกันว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เหมาะสมหรือไม่กับการเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย ซึ่งเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าควรให้โอกาส

นอกจากนี้ยังจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ถึงความพ่ายแพ้ใน ๒ เขตเลือกตั้งของพรรคภูมิใจไทย โดยเสียงส่วนใหญ่ระบุว่าเกิดจากความชะล่าใจของนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำ ที่มั่นใจจะกวาดส.ส.บุรีรัมย์ทั้ง ๙ เขต โดยไม่ต้องจัดปราศรัยใหญ่ เพียงออกพบปะหาเสียงชาวบ้านกลุ่มย่อย เหมือนดูถูกคนบุรีรัมย์ ทำให้คู่แข่งอย่างพรรคเพื่อไทย อาศัยช่วงโค้งสุดท้าย ที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นำทีมมาปราศรัยใหญ่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ๓ เขต บวกกับการที่ทักษิณ ชินวัตร โฟนอินมาถึงคนเสื้อแดงอ้อนขอคะแนนเสียง ทำให้ผู้สมัครพรรคเพื่อไทยฝ่าด่าน “เนวิน” เข้ามาได้ ๒ ที่นั่ง 

ล่าสุดมีรายงานแจ้งว่า ตลอดทั้งวันของวันที่ ๔ กรกฎาคมที่ผ่านมา นายเนวิน ชิดชอบ เรียกแกนนำพรรค และผู้สมัครส.ส.บุรีรัมย์ ทั้ง ๙ เขต มาหารือและถกเถียงถึงสาเหตุความพ่ายแพ้ครั้งนี้ โดยเฉพาะคะแนนเลือกตั้งส.ส.บัญชีรายชื่อของจังหวัดบุรีรัมย์ ที่แพ้ให้พรรคเพื่อไทย ได้ ๓๒๙,๕๒๐ คะแนน ส่วนพรรคภูมิใจไทย ได้ ๒๒๖,๕๐๐ คะแนน ห่างกันถึง ๑๐๓,๐๒๐ คะแนน โดยทั้ง ๙ เขต พรรคภูมิใจไทยชนะพรรคเพื่อไทยเพียง ๒ เขต นอกนั้นแพ้หมด

ซึ่งเรื่องนี้นายโสภณ ซารัมย์ ออกมายอมรับความพ่ายแพ้ว่ากระแสพรรคภูมิใจไทยสู้พรรคเพื่อไทยไม่ได้ แม้ว่าจะเป็นพรรคของคนบุรีรัมย์ก็ตาม ส่วนกรณีที่ผู้สมัคร ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคเพื่อไทย เขต ๖ และเขต ๗ สามารถฝ่าด่านเข้ามาได้ ส่วนหนึ่งเกิดจากตัวผู้สมัครเอง และกระแสพรรค รวมทั้งการที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และแกนนำพรรคเพื่อไทย ลงพื้นที่ช่วยหาเสียงขอคะแนนจากชาวบ้านด้วยตัวเอง และต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในบุรีรัมย์

สุรินทร์พท.ทิ้งห่างภท. ๗:๑

ที่จังหวัดสุรินทร์ ที่มี ๘ เขตเลือกตั้ง จำนวนประชาชนผู้มีสิทธิทั้งหมด ๙๙๔,๑๑๔ คน มาใช้สิทธิ ๖๖๔,๒๘๔ คน ไม่ประสงค์ลงคะแนน ๑๔,๕๙๐ บัตร บัตรเสีย ๓๘,๓๕๙ บัตร โดยเขตเลือกตั้งจังหวัดสุรินทร์ เป็นการขับเคี่ยวแย่งโควตาส.ส.ระหว่างสามพรรคการเมือง คือพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา โดยมีเพียงเขตเลือกตั้งที่ ๑ เท่านั้น ที่พรรคภูมิใจไทยสามารถแย่งเก้าอี้มาได้จากนายปกรณ์ มุ่งเจริญพร ด้วยเสียง ๓๙,๘๒๙ คะแนน ทิ้งห่างนายกลยุทธ เรืองกาญจนเศรษฐ์ พรรคเพื่อไทย ๒๘,๒๘๓ คะแนน ส่วนเขตเลือกตั้งที่เหลือชัยชนะตกเป็นของพรรคเพื่อไทยทั้งสิ้น  

เริ่มจากเขตเลือกตั้งที่ ๒ นางปิยะดา มุ่งเจริญพร ๓๔,๒๙๖ คะแนน เบียดชนะนายกิตติศักดิ์ รุ่งธนเกียรติ จากพรรคภูมิใจไทย ๒๙,๗๕๕ คะแนน, เขตเลือกตั้งที่ ๓ นายคุณากร ปรีชาชนะชัย พรรคเพื่อไทย ๓๓,๘๘๓ คะแนน ทิ้งนายสุริยะ ร่วมพัฒนา จากพรรคภูมิใจไทย ๒๒,๘๗๗ คะแนน ขณะที่เขตเลือกตั้งที่ ๔ นายตี๋ใหญ่ พูนศรีธนากูล พรรคเพื่อไทย ๓๓,๕๗๓ คะแนน ชนะนางกรรณิการ์ เจริญพันธ์ จากพรรคชาติไทยพัฒนา ที่ได้ ๒๓,๑๑๙ คะแนน

สำหรับเขตเลือกตั้งที่ ๕ นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม พรรคเพื่อไทย ๔๐,๗๘๕ คะแนน ชนะคะแนนนางรัฐาพร สนใจ พรรคชาติไทยพัฒนา ๑๖,๐๒๘ คะแนนแบบขาดลอย ส่วนนายยรรยง ร่วมพัฒนา พรรคภูมิใจไทย เข้ามาเป็นที่สาม ๑๕,๑๔๗ คะแนน เขตเลือกตั้งที่ ๖ จ.ส.ต.ประสิทธิ์ ไชยศรีษะ พรรคเพื่อไทย ๒๓,๙๓๒ คะแนน, นางฟาริดา สุไลมาน พรรคภูมิใจไทย ๑๘,๒๖๓ คะแนน, นายธีระทัศน์ เตียวเจริญโสภา พรรคชาติไทยพัฒนา ๑๗,๗๐๓ คะแนน เขตเลือกตั้งที่ ๗ นายสมบัติ ศรีสุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ๔๔,๙๘๗ คะแนน, นายเลิศศักดิ์ ทัศนเศรษฐ พรรคภูมิใจไทย ๒๗,๑๖๒ คะแนน และเขตเลือกตั้งที่ ๘ นายชูศักดิ์ แอกทอง พรรคเพื่อไทย ๔๒,๘๔๑ คะแนน ชนะนายศุภรักษ์ ควรหา อดีตส.ส.สมัยที่ผ่านมา จากพรรคภูมิใจไทย ๒๑,๙๘๔ คะแนน

นอกจากนี้ ยังเกิดเหตุผู้มาใช้สิทธิ์เสียชีวิตคาหน่วยเลือกตั้ง โดยเมื่อเวลา ๑๐.๐๐ น. นางเทือก ศรีจันทร์แปลง อายุ ๘๖ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๕๕ หมู่ ๑๑ ต.เชื้อเพลิง อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ นั่งรถเข็นวีลแชร์มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งยังหน่วยเลือกตั้ง หมู่ ๑๑ บ้านโสนกพัฒนา ต.เชื้อเพลิง อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ โดยหลังจากลงชื่อรับบัตรเลือกตั้งใบแรกแล้ว นางเทือกเกิดอาการช็อคหมดสติ เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งรีบช่วยปฐมพยาบาล แต่ไม่สามารถช่วยชีวิตได้ นางเทือกจึงเสียชีวิตคาหน่วยเลือกตั้ง

หลังปิดหีบเลือกตั้งและผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการออกมา ชาวจังหวัดสุรินทร์ และผู้สมัครส.ส.พรรคภูมิใจไทยจังหวัดสุรินทร์ ได้ร่วมปรึกษาหารือถึงความพ่ายแพ้ต่อพรรคเพื่อไทย ซึ่งจังหวัดสุรินทร์เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่พรรคภูมิใจไทย หมายมั่นปั้นมือจะกวาดจำนวนส.ส.แบบยกจังหวัด หรือน้อยที่สุดน่าจะชนะถึง ๖ เขตเลือกตั้ง ส่วนที่เหลือจะเป็นผู้สมัครจากพรรคชาติไทยพัฒนา ๑ เขตเลือกตั้ง และจากพรรคเพื่อไทย ๑ เขตเลือกตั้ง

แต่ผลการเลือกตั้ง ออกมาปรากฏว่า มีเพียงเขตเลือกตั้งที่ ๑ ของนายปกรณ์ มุ่งเจริญพร อดีตส.ส.พรรคภูมิใจไทย ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาเพียง ๑ คน ทำให้แกนนำของพรรคภูมิใจไทยในจังหวัดสุรินทร์ มีการหารือถึงเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างเคร่งเครียดเพื่อหาสาเหตุความพ่ายแพ้อย่างราบคาบ ได้แก่ ความประมาทของแกนนำพรรคภูมิใจไทยและผู้สมัครส.ส.ที่ไม่ยอมจัดเวทีปราศรัยใหญ่ในช่วงโค้งสุดท้าย, กระแสการใช้เงินเพื่อจูงใจประชาชน โดยก่อนเลือกตั้ง ๑ วัน ทางพรรคเพื่อไทยได้ย้ำให้แกนนำในพื้นที่ สู้แบบเต็มร้อยเกินพิกัด เพื่อเอาชนะแบบเด็ดขาด, กระแสของพรรคเพื่อไทย ที่ชูน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัครบัญชีรายชื่อลำดับที่ ๑ ลงพื้นที่ช่วยปราศรัยหาเสียงในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ก่อนเลือกตั้งเพียง ๓ วัน พร้อมชูประเด็นเพิ่มเงินกองทุนหมู่บ้านๆ ละ ๒ ล้านบาท เพิ่มเงินเดือนให้ อสม. และเพิ่มสวัสดิการสตรี และโครงการประชานิยมที่ถนัดของพรรคเพื่อไทย และการที่พรรคเพื่อไทยชูนโยบายสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะกัมพูชา จะเปลี่ยนสมรบเป็นสนามการค้า รื้อฟื้นความสัมพันธ์ที่ดีต่อประชาชนในจังหวัดสุรินทร์, ศรีสะเกษ และจังหวัดบุรีรัมย์ จะได้ไม่ต้องหนีสงครามจากบ้านอีกต่อไป

กรณีนี้ ถูกผู้สมัครส.ส.ของพรรคเพื่อไทยในจังหวัดสุรินทร์ นำไปขยายความหาเสียงในทุกเขตเลือกตั้ง และในพื้นที่ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา และสามารถเรียกคะแนนเสียงได้อย่างมาก เพราะพื้นที่ตามแนวชายแดนมีความหวั่นไหวต่อภัยสงคราม กอปรกับมีการปล่อยข่าวลือในช่วงก่อนการเลือกตั้งว่า จะเกิดการปะทะกันเกิดตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา

หากเลือกพรรคเพื่อไทยจะไม่มีสงคราม จะสร้างความสัมพันธ์อันดี ต่างจากพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยที่สร้างสงคราม ทั้งที่ก่อนนี้เสียงของพรรคภูมิใจไทยนำโด่งแบบขาดลอย แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยนำเรื่องนี้มาหาเสียงโดยขยายความใหญ่โต ทำให้ชาวบ้านหวาดผวาสงครามเทคะแนนเสียงให้ รวมถึงการใช้ผู้นำประเทศเพื่อนบ้านที่สนิทสนมกับอดีตผู้นำประเทศไทยสร้างสถานการณ์ขึ้น

ทำให้ประชาชนเชื่อหันมาเลือกพรรคเพื่อไทยแบบไม่ต้องจ่ายเงินสักแดง ส่งผลให้พรรคเต็งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์อย่างพรรคภูมิใจไทยแพ้ราบคาบใน ๗ เขตเลือกตั้ง ถึงขนาดที่ว่ากันว่า “รับเงินหมา กาเบอร์ ๑” ทำให้หัวเรือใหญ่อย่างนายเนวิน ชิดชอบ และแกนนำพรรคภูมิใจไทย เจ็บปวดเป็นอย่างยิ่งในศึกเลือกตั้งครั้งนี้

กระแสความแรงของพรรคเพื่อไทย สะท้อนมายังผลคะแนนเลือกตั้งส.ส.บัญชีรายชื่อของจังหวัดสุรินทร์ ที่แม้แต่พรรคประชาธิปัตย์ยังมีคะแนนมากกว่าพรรคภูมิใจไทย โดยอันดับหนึ่งยังเป็นพรรคเพื่อไทยได้ ๓๙๐,๘๕๙ คะแนน, พรรคประชาธิปัตย์ ได้ ๘๙,๑๔๕ คะแนน, พรรคภูมิใจไทย ได้ ๘๒,๘๘๒ คะแนน, พรรคชาติไทยพัฒนา ได้ ๓๘,๒๒๕ คะแนน, พรรครักประเทศไทย ได้ ๙,๑๓๒ คะแนน, พรรครักษ์สันติ ได้ ๔,๑๑๒ คะแนน และพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ได้ ๒,๓๔๕ คะแนน

เพื่อไทยกวาดศรีสะเกษ ๗ ที่นั่ง

สำหรับจังหวัดศรีสะเกษ มีทั้งหมด ๘ เขตเลือกตั้ง จำนวนประชากรผู้มีสิทธิ ๑,๐๔๗,๖๐๒ คน มีผู้มามาใช้สิทธิ ๗๐๐,๕๒๔ คน ไม่ประสงค์ลงคะแนน ๑๕,๖๘๑ บัตร และบัตรเสีย ๔๑,๔๖๒ บัตร และจังหวัดศรีสะเกษเป็นอีกหนึ่งเขตเลือกตั้งที่กระแสของพรรคเพื่อไทยยังคงแรงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการหาเสียงในช่วงโค้งสุดท้ายที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พร้อมคณะเดินทางลงไปช่วยลูกพรรคหาเสียงเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายนที่ผ่านมา ทำให้ผลคะแนนเลือกตั้งส.ส.อย่างไม่เป็นทางการ พรรคเพื่อไทยสามารถกวาดส.ส.ไปได้ ๗ ที่นั่ง จากทั้งหมด ๘ ที่นั่ง ประกอบด้วย เขตเลือกตั้งที่ ๑ จากนายธเนศ เครือรัตน์ ๔๒,๘๗๖ คะแนน ขณะเขตเลือกตั้งที่ ๒, ๔, ๕, ๖, ๗ และ ๘ ช่วยตอกย้ำถึงความนิยมของประชาชนที่มีต่อพรรคเพื่อไทย โดยผู้สมัครของพรรคต่างกวาดคะแนนเสียงทิ้งห่างคู่แข่งของพรรคการเมืองอื่นอย่างชัดเจน

เริ่มจากนายสุรชาติ ชาญประดิษฐ์ ๖๘,๑๒๔ คะแนน, นายวิวัฒน์ชัย โหตระไวศยะ ๖๐,๕๘๙ คะแนน, นายธีระ ไตรสรณกุล ๕๖,๕๐๖ คะแนน, นายวีระพล จิตสัมฤทธิ์ ๕๐,๐๕๕ คะแนน, นายมานพ จรัสดำรงนิตย์ ๔๖,๑๓๓ คะแนน และนายปวีณ แซ่จึง ๗๕,๖๔๖ คะแนนตามลำดับ มีเพียงเขตเลือกตั้งที่ ๓ ที่เก้าอี้ส.ส.ตกเป็นของนางอุดมลักษณ์ เพ็งนรพัฒน์ จากพรรคภูมิใจไทย ที่ได้ ๒๒,๐๕๐ คะแนน ส่วนนายภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ได้ ๒๑,๒๓๒ คะแนน และนายณรงสิทธิ์ เครือรัตน์ พรรคเพื่อไทย ได้ ๑๘,๔๒๖ คะแนน

ชัยภูมิ‘โอชิษฐ์’ล้ม‘ประสิทธิ์’

ด้านจังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งฐานเสียงสำคัญของพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะจุดขายที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ใช้ขอคะแนนเสียงในการเป็นบ้านเกิดของนางพจมาน ดามาพงษ์ ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ต่างก็ได้รับความนิยมจากชาวจังหวัดชัยภูมิ ประกอบกับฐานเสียงจากผู้สมัครส.ส.เจ้าของพื้นที่ ทำให้หลังปิดหีบเลือกตั้งทั้ง ๗ เขต และผลการนับคะแนนเสร็จสิ้น พรรคเพื่อไทยสามารถกวาดเก้าอี้ส.ส.ไปได้ ๖ ที่นั่ง จากเขตเลือกตั้งที่ ๒, ๓, ๔, ๕, ๖ และ ๗ ไล่เรียงตามลำดับ ดังนี้ นายมานะ โลหะวณิชย์ พรรคเพื่อไทย ๕๐,๒๘๓ คะแนน, น.ส.ปาริชาติ ชาลีเครือ พรรคเพื่อไทย ๔๕,๐๗๔ คะแนน, นายอนันต์ ลิมปคุปตถาวร อดีตนายกอบจ.ชัยภูมิ พรรคเพื่อไทย ๔๖,๐๐๗ คะแนน, นายเจริญ จรรย์โกมล พรรคเพื่อไทย ๓๖,๖๑๓ คะแนน, นางพรเพ็ญ บุญศิริวัฒนกุล พรรคเพื่อไทย ๔๐,๐๘๔ คะแนน และเขตเลือกตั้งที่ ๗ ซึ่งนายสุรวิทย์ คนสมบูรณ์ อดีตส.ส.หลายสมัย เข้าป้ายมาแบบไร้คู่แข่งด้วยเสียงสูงถึง ๖๘,๒๙๒ คะแนน    

มีเพียงเขตเลือกตั้งที่ ๑ ที่เกิดการพลิกโผอย่างมาก โดยนายประสิทธิ์ ชัยวิรัตนะ อดีตส.ส.หลายสมัย ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ได้ ๓๖,๐๘๕ คะแนน แพ้ให้กับผู้สมัครหน้าใหม่ นายโอชิษฐ์ เกียรติก้องชูชัย จากพรรคภูมิใจไทย ๓๙,๑๑๒ คะแนน ขณะที่คนในตระกูลส.ส.เก่าอย่าง “สงวนวงศ์ชัย” คือนายพุฒิพงศ์ สงวนวงศ์ชัย พี่ชายนายวุฒิชัย สงวนวงศ์ชัย พรรคประชาธิปัตย์ สอบตกในเขตเลือกตั้งที่ ๓ ด้วยผล ๓๓,๐๖๗ คะแนน และลูกชายนายอิสระพงศ์ สงวนวงศ์ชัย พรรคประชาธิปัตย์ที่ลงสมัครครั้งแรกในเขตเลือกตั้ง ได้ไปเพียง ๔,๗๖๔ คะแนน

อย่างไรก็ตาม หลังเสร็จสิ้นบรรยากาศการเลือกตั้งและได้สรุปผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดชัยภูมิ(กกต.ชัยภูมิ) ระบุว่า ขณะนี้เริ่มได้รับรายงานเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการกระทำที่ส่อผิดกฎหมายเลือกตั้งจำนวนมาก

นายอนันต์ ปลื้มสุด ประธานกกต.ชัยภูมิ จึงเรียกประชุมด่วนเพื่อเร่งพิจารณาข้อร้องเรียน ส่งกกต.กลางเพิ่มเติมโดยเร็ว พร้อมเปิดเผยว่า “การสรุปบรรยากาศเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคมที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย รวมมีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้กว่าร้อยละ ๗๓.๖๖ และเริ่มมีปัญหาข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการทำผิดกฎหมายเลือกตั้งเข้ามาจำนวนมากแล้วใน ๓ เขตเลือกตั้ง คือเขตเลือกตั้งที่ ๑, ๒ และ ๕ ซึ่งจะต้องเร่งตรวจสอบสำนวนส่งให้กกต.กลางพิจารณาก่อนที่จะมีการประกาศรับรองผลเลือกตั้งโดยเร็ว

ทั้งนี้ จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดของจังหวัดชัยภูมิ ๘๔๕,๔๕๔ คน มีผู้มาใช้สิทธิ ๕๘๔,๕๔๘ คน ไม่ประสงค์ลงคะแนน ๑๑,๐๑๗ บัตร และบัตรเสีย ๒๘,๙๙๓ บัตร

อำนาจเจริญพท.-ปชป.พรรคละหนึ่ง

เช่นเดียวกับที่จังหวัดอำนาจเจริญ ที่มีเพียงสองเขตเลือกตั้ง แต่สัดส่วนการแข่งขันยังคงเป็นการขับเคี่ยวระหว่างสองพรรคการเมืองใหญ่ คือพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ โดยแบ่งกันไปพรรคละ ๑ ที่นั่ง โดยจำนวนประชาชนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง ๑๙๘,๖๘๗ คน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ๒๗๓,๔๗๔ คน ในเขตเลือกตั้งที่ ๑ ประชาชนเทคะแนนให้นางสมหญิง บัวบุตร พรรคเพื่อไทย ๓๗,๑๐๓ คะแนน เบียดชนะนายไพศาล จันทวารา พรรคประชาธิปัตย์ ๓๕,๑๘๖ คะแนน สำหรับเขตเลือกตั้งที่ ๒ นายอภิวัฒน์ เงินหมื่น พรรคประชาธิปัตย์ ลูกชายนายสุทัศน์ เงินหมื่น อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.ยุติธรรม เก็บได้ ๔๕,๖๙๐ คะแนน เอาชนะนายชัยศรี กีฬา จากพรรคเพื่อไทยที่ได้ ๔๓,๗๖๐ คะแนน สำหรับผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนนมีจำนวน ๔,๓๓๖ บัตร และบัตรเสีย ๙,๐๒๘ บัตร

อุดรธานีเพื่อไทยยกจังหวัด

ขณะที่จังหวัดอุดรธานีเมืองหลวงของคนเสื้อแดง และยังคงเป็นฐานที่มั่นของพรรคเพื่อไทยที่เชื่อถือได้เสมอ จากผลงานกวาดเรียบคะแนนเลือกตั้งส.ส.ทั้ง ๙ เขตเลือกตั้ง แม้จะมีพรรคภูมิใจไทย และพรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวสอดแทรก และคาดว่าจะแบ่งเก้าอี้ได้บ้าง โดยผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่ ล้วนเป็นอดีตส.ส.ที่เคยร่วมงานกันตั้งแต่สมัยพรรคพลังประชาชนยังไม่ถูกยุบ  

เริ่มจากเขตเลือกตั้งที่ ๑ นายศราวุธ เพชรพนมพร พรรคเพื่อไทย ๔๗,๗๘๕ คะแนน เอาชน น.ส.ณสุภา กัสนุกาซ์ อดีตทนายความและที่ปรึกษาทางด้านกฎหมาย ที่เพิ่งลงสมัครครั้งแรกในนามพรรคประชาธิปัตย์ ๑๖,๐๓๒ คะแนน เขตเลือกตั้งที่ ๒ พ.ต.ท.สุรทิน พิมานเมฆินทร์ อดีตส.ส.พรรคพลังประชาชน ที่ตามมาสวมเสื้อพรรคเพื่อไทย ได้ไป ๕๗,๙๓๔ คะแนน ทิ้งห่างคู่แข่ง คือนายเชิดชัย วิเชียรวรรณ อดีตส.ส.พรรคพลังประชาชนที่ย้ายมาซบพรรคภูมิใจไทย ได้ ๗,๑๑๓ คะแนน และนายนวมงคล คูสกุล ซึ่งลงสมัครส.ส.เป็นครั้งแรกในนามพรรคประชาธิปัตย์ ๕,๖๙๒ คะแนน เช่นเดียวกับเขตเลือกตั้งที่ ๓ นายอนันต์ ศรีพันธุ์ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นอดีตส.ส.พรรคพลังประชาชน ๔๙,๒๕๑ คะแนน, นายหรั่ง ธุระพล อดีตผู้สมัครส.ส.อุดรธานี ที่ศาลสั่งยกฟ้องกรณีมีส่วนเกี่ยวข้องกับเครือข่ายยาเสพติด จากพรรคภูมิใจไทย ๑๑,๓๙๕ คะแนน

สำหรับเขตเลือกตั้งที่ ๔ เป็นการแข่งขันระหว่างอดีตส.ส.หลายสมัย นายขจิตร ชัยนิคม พรรคเพื่อไทย ที่ได้ไป ๔๘,๒๙๘ คะแนน กับส.ส.สมัยล่าสุด นายไชยยศ จิรเมธากร อดีตรมช.ศึกษาธิการ ผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ แพ้ไปด้วยเสียง ๑๗,๖๒๔ คะแนน ด้านเขตเลือกตั้งที่ ๕ นายทองดี มนิสสาร อดีตส.ส.พรรคพลังประชานของพรรคเพื่อไทย ๗๐,๕๘๑ คะแนน ส่วนเขตเลือกตั้งที่ ๖ นายเกียรติ์อุดม เมนะสวัสดิ์ อดีตส.ส.สมัยล่าสุด ได้ไป ๕๖,๗๙๐ คะแนน ขณะที่นายอุทัย แสนแก้ว น้องชายนายอุทัย แสนแก้ว อดีตกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน แกนนำเสื้อแดง จ.อุดรธานี จากพรรคภูมิใจไทย ๑๙,๒๓๓ คะแนน

ขณะเขตเลือกตั้งที่ ๗ นายจักรพรรดิ ไชยสาส์น พรรคเพื่อไทย ลูกชายประจวบ ไชยสาส์น อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย กวาดคะแนนเสียงไปแบบถล่มทลายถึง ๗๑,๖๐๐ คะแนน เช่นเดียวกับเขตเลือกตั้งที่ ๘ นายเกรียงศักดิ์ ฝ้ายสีงาม พรรคเพื่อไทย อดีตสมาชิกกลุ่มเพื่อนเนวินในสมัยของพรรคพลังประชาชน เข้าป้ายมาแบบไร้คู่แข่งด้วยเสียง ๖๘,๔๖๗ คะแนน ขณะที่นายโชคสมาน สีลาวงษ์ อดีตส.ส.หลายสมัย ที่ย้ายมาลงสมัครในสีเสื้อของพรรคประชาธิปัตย์ เก็บไปได้เพียง ๑๑,๒๑๒ คะแนน และเขตเลือกตั้งที่ ๙ ที่เกิดการพลิกโผเมื่อผู้สมัครหน้าใหม่ คือนางเทียบจุฑา ขาวขำ อดีตประธานสภาอบจ.อุดรธานี จากพรรคเพื่อไทย เอาชนะนายสุรชาติ ชำนาญศิลป์ อดีตส.ส. ๗ สมัย ที่ลงสมัครในนามพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ไปได้แบบไม่ยากเย็น โดยคนแรกได้รับความนิยมสูงถึง ๔๙,๖๒๒ คะแนน ขณะที่คนหลังเก็บได้เพียง ๑๘,๒๘๙ คะแนน

สำหรับการเลือกตั้งส.ส.เขตพื้นที่จังหวัดอุดร ธานีในครั้งนี้ จำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมด ๑,๑๒๕,๖๖๕ คน มีผู้มาใช้สิทธิ ๗๒๕,๑๗๑ คน ไม่ประสงค์ลงคะแนน ๑๙,๕๐๐ บัตร และบัตรเสีย ๒๔,๙๕๒ บัตร

อุบลราชธานีปชป.-ชทพ.แบ่ง ๓ ที่นั่ง

สำหรับจังหวัดอุบลราชธานีมีเขตเลือกตั้ง ๑๑ เขต และพรรคเพื่อไทยยังได้เก้าอี้มากที่สุด คือ ๘ ที่นั่ง จากเขตเลือกตั้งที่ ๑ นายวรสิทธิ์ กัลป์ตินันต์ อดีตส.ส.พลังประชาชน ๓๐,๙๙๘ คะแนน , เขตเลือกตั้งที่ ๒ นายสมบัติ รัตโน ๓๙,๖๔๖ คะแนน, เขตเลือกตั้งที่ ๔ นายสุพล ฟองงาม ๕๔,๕๐๐ คะแนน, เขตเลือกตั้งที่ ๕ นายสุทธิชัย จรูญเนตร ๓๖,๗๑๘ คะแนน, เขตเลือกตั้งที่ ๖ นายพิสิษฐ์ สันตพันธุ์ ๒๖,๙๐๐ คะแนน และเขตเลือกตั้งที่ ๗ นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ๓๐,๘๙๑ คะแนน เฉือนชนะนายวิทยา จันทวีศิริรัตน์ จากพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ที่ได้ ๓๐,๕๑๕ คะแนน นอกจากนี้ยังมีเขตเลือกตั้งที่ ๙ นายปัญญา จินตะเวช ๔๒,๒๑๘ คะแนน และเขตเลือกตั้งที่ ๑๐ นายสมคิด เชื้อคง ๓๓,๖๗๑ คะแนน ที่บดชนะนายประจักษ์ แสงคำ พรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ที่ได้ ๓๓,๕๐๗ คะแนน ส่วนนางอุดร จินตะเวช อดีตส.ส.ที่มาในเสื้อพรรคชาติไทยพัฒนา ตามมาห่างๆ ที่ ๑๔,๐๙๙ คะแนน

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ทำได้ ๒ ที่นั่งในเขตเลือกตั้งที่ ๓ จากนายวุฒิพงษ์ นามบุตร ๔๕,๒๐๓ คะแนน ปล่อยให้นายณรงค์ชัย วีระกุล พรรคเพื่อไทยมองอยู่ไกลๆ ๓๗,๐๑๗ คะแนน ส่วนนายวิชัย ครองยุติ อดีตสว.อุดรธานี พี่เขยนายวิชัย นามบุตร จากพรรคภูมิใจไทย สอบตกได้ไปแค่ ๑,๒๙๐ คะแนน และเขตเลือกตั้งที่ ๘ จากน.ส.บุณย์ธิดา สมชัย พรรคประชาธิปัตย์ ๔๓,๙๙๘ คะแนน ชนะนายบุญยังมั่น โสภาสาย พรรคเพื่อไทย ๓๓,๑๔๓ คะแนน

ด้านพรรคชาติไทยพัฒนา ได้ ๑ ที่นั่งจากเขตเลือกตั้งที่ ๑๑ นายตุ่น จินตะเวช ๒๓,๖๖๔ คะแนน ส่วนนายเอกชัย ทรงอำนาจเจริญ พรรคประชาธิปัตย์ ๒๑,๙๕๒ คะแนน ขณะที่นายศราวุธ พิริยะกิจไพบูลย์ พรรคเพื่อไทย ๒๐,๗๘๔ คะแนน

ทั้งนี้ จำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมดของจังหวัดอุบลราชธานี ๑,๒๙๓,๔๕๓ คน มีผู้มาใช้สิทธิ ๙๑๐,๘๘๙ คน ไม่ประสงค์ลงคะแนน ๑๘,๑๘๔ บัตร และบัตรเสีย ๔๓,๐๕๑ บัตร  

ปีที่ ๓๗ ฉบับที่ ๒๐๒๔ วันอังคารที่ ๕ - วันเสาร์ที่ ๙ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๕๔


742 1380