28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

July 11,2019

ปธ.หอเชื่อ‘อสังหา’จะดีขึ้น ฝันบิน‘โคราช-ฟูกูโอกะ’ ใช้ขก.เป็นโมเดลพัฒนาเมือง

          ประธานหอฯ เชื่อแนวโน้มอสังหาฯ จะต้องดีขึ้นแน่นอน จากหลายปัจจัย ส่วน LRT เสนอ รฟม.ปรับเส้นทาง พร้อมยืนยันโคราชต้องมีสายการบิน เตรียมทาบทามบินโคราช-ฟูกูโอกะ ‘บริษัท โคราชพัฒนาเมือง’ ยึดขอนแก่นเป็นโมเดล แล้วต่อยอดนำมาใช้ หวังเอกชนร่วมมือกัน เพื่อโคราชเปลี่ยนแปลง และไปในทิศทางเดียวกัน ระบุคนสนใจบ้านชั้นเดียวมากกว่าสองชั้น ผู้ประกอบการต้องปรับตัว อนาคตโครงการบ้านอาจอยู่ตามซอย

          เมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๒ เวลา ๑๓.๐๐ น. ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ จัดการสัมมนา วิเคราะห์สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัย จังหวัดนครราชสีมา ปี ๒๕๖๒ โดยมี ดร.วิชัย วรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์อสังหาริมทรัพย์ นายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา นายวีรพล จงเจริญใจ กรรมการผู้จัดการบริษัท โคราชพัฒนาเมือง จำกัด และนายนราทร ธานินพิทักษ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดนครราชสีมา เข้าร่วมเป็นวิทยากรณ โรงแรมแคนทารี โคราช

          ดร.วิชัย วรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์อสังหาริมทรัพย์ รายงานสรุปผลการสำรวจอุปทานและอุปสงค์ของโครงการ ที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขายในช่วงครึ่งหลังปี ๒๕๖๑ ในจังหวัดนครราชสีมา ครอบคลุมพื้นที่ ๒ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนครราชสีมา และอำเภอปากช่อง โดยนับเฉพาะโครงการที่มีหน่วยเหลือขายไม่ต่ำกว่า ๖ หน่วย
สถานการณ์ตลาดที่อยู่โคราช

          โครงการที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการขายในจังหวัดนครราชสีมา มีจำนวน ๑๓๙ โครงการ รวม ๑๖,๘๘๒ หน่วย (ยูนิต) มูลค่าโครงการรวม ๗๗,๓๓๘ ล้านบาท มีหน่วยเหลือขายหรือเป็นอุปทานในตลาด ๖,๙๓๙ หน่วย หรือร้อยละ ๔๑.๑ ของหน่วยในผังโครงการบ้านจัดสรรทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าหน่วยเหลือขาย ๓๒,๘๔๐ ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรร จำนวน ๙๗ โครงการ ๑๑,๗๘๙ หน่วย มูลค่าโครงการรวม ๔๗,๐๑๖ ล้านบาท มีหน่วยเหลือขายหรือเป็น อุปทานในตลาด ๔,๗๗๕ หน่วย หรือร้อยละ ๔๐.๕ ของหน่วยในผังโครงการบ้านจัดสรรทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า หน่วยเหลือขาย ๑๙,๒๒๐ ล้านบาท โครงการอาคารชุด จำนวน ๒๘ โครงการ ๔,๕๖๒ หน่วย มูลค่าโครงการรวม ๑๕,๘๑๒ ล้านบาท มีหน่วยเหลือขายหรือเป็นอุปทานในตลาด ๑,๘๘๑ หน่วย หรือร้อยละ ๔๑.๒ ของหน่วยในผังโครงการอาคารชุดทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าหน่วยเหลือขาย ๕,๗๐๗ ล้านบาท และมีโครงการวิลล่า ๑๔ โครงการ ๕๓๑ หน่วย มูลค่าโครงการรวม ๑๔,๕๑๐ ล้านบาท หน่วยเหลือขายหรือเป็นอุปทานในตลาด ๒๘๓ หน่วย หรือร้อยละ ๕๓.๓ ของหน่วยในผังโครงการวิลล่าทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าหน่วยเหลือขาย ๗,๙๑๓ ล้านบาท

          ทั้งนี้ หน่วยในผังโครงการบ้านจัดสรรและอาคารชุด จำนวน ๖,๖๕๖ หน่วย เป็นบ้านเดี่ยวมากที่สุด ร้อยละ ๕๒.๓ ราคา ๓-๕ ล้านบาท รองลงมาเป็นอาคารชุด ร้อยละ ๒๘.๓ ราคา ๑.๕-๒ ล้านบาท เป็นที่ดินเปล่า ร้อยละ๗.๑ ราคา ๓-๕ ล้านบาท เป็น ทาวน์เฮ้าส์ ร้อยละ ๔.๙ ราคา ๒-๓ ล้านบาท ที่เหลือเป็นอาคารพาณิชย์และบ้านแฝด ตามลำดับ

ย่าน‘หัวทะเล’ขายดี

          ทำเลบ้านจัดสรรในจังหวัดนครราชสีมาที่ขายดีมากที่สุด ๕ อันดับแรก โดยดูจากสัดส่วนที่ขายได้ต่อหน่วยทั้งหมดในโครงการ ได้แก่ ๑) ทำเลหัวทะเล ขายได้ร้อยละ ๗๖.๙ มูลค่าขายได้ ๕,๕๖๓ ล้านบาท ๒) ทำเลในเมือง ขายได้ร้อยละ ๖๙.๔ มูลค่าที่ขายได้๕,๔๔๒ ล้านบาท ๓) ทำเลตำบลสุรนารี-ปักธงชัย ขายได้ร้อยละ ๖๔.๗ มูลค่าที่ขายได้ ๓,๓๘๐ ล้านบาท ๔) ทำเลบ้านใหม่-โคกกรวด ขายได้ร้อยละ ๖๐.๑ มูลค่าที่ขายได้ ๖,๖๖๗ ล้านบาท และ ๕) ทำเลกลางดง (อำเภอปากช่อง) ขายได้ร้อยละ ๕๗.๘ มูลค่าที่ขายได้ ๑,๐๒๒ ล้านบาท ตามลำดับ

          ส่วนทำเลอาคารชุดในจังหวัดนครราชสีมาที่ขายดีมากที่สุด โดยดูจากสัดส่วนที่ขายได้ต่อหน่วย ทั้งหมดในโครงการ ได้แก่ ทำเลนิคมลำตะคอง ขายได้ร้อยละ ๘๗.๔ มูลค่าที่ขายได้ ๕๔๓ ล้านบาท ทำเลเขาใหญ่ ขายได้ร้อยละ ๗๓.๙ มูลค่าที่ขายได้ ๗,๑๐๐ ล้านบาท ทำเลบ้านใหม่-โคกกรวด ขายได้ร้อยละ ๕๘.๒ มูล ค่าที่ขายได้ ๓๘๓ ล้านบาท ทำเลกลางดง ขายได้ร้อยละ ๔๕.๘ มูลค่าที่ขายได้ ๗๑๗ ล้านบาท และทำเลใน เมือง ขายได้ร้อยละ ๔๒.๕ มูลค่าที่ขายได้ ๑,๓๖๒ ล้านบาท ตามลำดับ

          “ในครึ่งปีแรกของโคราชถือว่าเป็นครึ่งปีแรกที่ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากความต้องการในการซื้อบ้าน เป็นความต้องการที่แท้จริง ไม่ใช่เพื่อเก็งกำไร ดังนั้น ในด้านการขาย การโอนสิทธิ์ต่างๆ ถือว่ามีการปรับตัวที่ค่อนข้างดี อัตราการขายใน ๓ เดือนแรกอยู่ในเกณฑ์ดีระดับหนึ่ง แต่ช่วง ๓ เดือนหลังอาจมีชะลอลงบ้าง เนื่องจากการตัดสินใจซื้อจะต้องมีการวางแผนการซื้อ เงินดาวน์ อาจเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้ตลาดชะลอลงเล็กน้อยในช่วงไตรมาสที่ ๒ ส่วนครึ่งหลัง คาดว่า ตลาดของ โคราชน่าจะเป็นตลาดที่มีการชะลอตัวอยู่บ้างและเป็นช่วงที่มีสินค้าใหม่ๆ เข้ามา ซึ่งการชะลอตัวจะเป็นการชะลอเพื่อปรับตัวเข้าสู่  สภาวะใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากขึ้น” ดร.วิชัย กล่าว

ความต้องการซื้อโคราชยังหนาแน่น

          ดร.วิชัย กล่าวอีกว่า ประชาชนต้องการบ้านในระดับราคาล้านต้นๆ ไม่เกินสองล้าน แต่ในโคราชเท่าที่สำรวจพบในปัจจุบันจะอยู่ในระดับ ๒-๓ ล้าน และ ๓-๕ ล้าน ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้ประชาชนมีการเก็บออม และมีการวางแผน เพื่อซื้อบ้านในระดับราคาที่มีขายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนของความต้องการนี้ ผู้ประกอบการสามารถที่จะปรับแผน เพื่อให้สอดรับกับความต้องการ ทั้งนี้ ในโคราชความต้องการซื้อยังคงหนาแน่น แต่กำลังซื้ออาจจะลดลงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจ และการจ้างงานในปัจจุบัน

          ในส่วนของเครดิตบูโร ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เก็บประวัติด้านภาระหนี้ของประชาชน ซึ่งไม่มีบทบาทในด้านของการพิจารณาหนี้ แต่อย่างไรก็ตามสถาบันการเงิน หรือธนาคารทุกแห่ง จะต้องพิจารณาว่า จะมีเกณฑ์ผ่อนปรนอย่างไร โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการซื้อจริง ไม่ใช่ซื้อเพื่อเป็นการเก็งกำไร อาจจะดูศักยภาพ และความสามารถ เพื่อกำหนดเกณฑ์ เพื่อให้ประชาชนสามารถซื้อได้

ฟุ้งคมนาคม

          ต่อมา มีการจัดเสวนาเรื่อง ทิศทางการลงทุนและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดนครราชสีมา โดยนายชัชวาล วงศ์จร ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ในปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมายังคงเป็นจังหวัดที่น่าสนใจ ถึงแม้บางโครงการที่เกิดขึ้นอาจจะไม่ได้รับกระแสตอบรับที่ดีมากเท่าไหร่ แต่เชื่อว่าโคราชเป็นจังหวัดที่น่าสนใจ และดีที่สุด ซึ่งนายชัชวาล เผยถึงโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นว่า นี่เป็นสัญญาณที่ดีในการที่จะทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ดีขึ้น และมีอัตราการซื้อขายที่ดินของโคราชสูงขึ้นในอนาคต

          นายชัชวาล กล่าวว่า รถไฟทางคู่เป็นโครงการที่ทางหอการค้ามีการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นการสร้างความสะดวก และความเจริญให้กับจังหวัดนครราชสีมา คาดว่าจะเริ่มได้ช่วงปี ๒๕๖๖ ส่วนรถไฟความเร็วสูงมีการลงเสาเอก เริ่มดำเนินการเฟสแรกเรียบร้อย คาดว่าจะเริ่มช่วงปี ๒๕๖๗ พร้อมกันนี้ยังมีโครงการสถานีรถไฟ ซึ่งจะเป็นจุดศูนย์รวมต่างๆ ทั้งรถไฟ รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ซึ่งสถานีรถไฟ จะมีทั้งหมด ๓ ชั้น ชั้นแรกเป็นหอพักผู้โดยสาร ชั้นสองยกระดับสำหรับรถไฟทางคู่ และชั้น ๓ ยกระดับสูงขึ้น สำหรับรถไฟความเร็วสูง โดยรูปแบบของสถานีจะยังคงให้เห็นถึงอัตลักษณ์ความเป็นอีสาน

          สำหรับเรื่องมอเตอร์เวย์ บางปะอิน-โคราช ระยะทาง ๑๙๖ กม. จะผ่าน ๓ จังหวัดคือ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี และนครราชสีมา เบื้องต้นมีการกำหนดราคาค่ามอเตอร์เวย์ไว้อยู่ที่ ๒๓๕ บาท ซึ่งทางหอการค้าอาจจะมีการพูดคุยตกลงอีกครั้ง เนื่องจากราคาอาจจะสูงเกินไป จากที่คาดการณ์ไว้ในช่วงแรก

          ในเรื่องของท่าเรือบก นายชัชวาล กล่าวว่า ในส่วนตรงนี้มีการผลักดันอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งจะมีทั้งที่จังหวัดขอนแก่น และที่นครราชสีมา โดยทางหอการค้าพยายามผลักดัน เห็นควรว่าจะมีทั้งสองจังหวัดไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้ขอนแก่นพัฒนาในส่วนของอีสานตอนบน ส่วนโคราชเพื่อเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจอีสานตอนล่าง จึงได้รับอนุมัติให้มีการสร้างท่าเรือบกพร้อมกันทั้งที่ขอนแก่นและนครราชสีมา

สำรวจเส้นทาง LRT ใหม่

          สำหรับรถไฟรางเบา LRT ซึ่งมีข่าวชัดเจนแล้วว่าจะเริ่มดำเนินการเส้นทางสายสีเขียว เซฟวัน-บ้านนารีสวัสดิ์ โดยที่ทาง สนข.มีการเสนอโครงการมานั้น อาจจะยังไม่ตรงใจกับคนโคราช ซึ่งไม่นานมานี้ทางหอการค้าก็ได้มีการประชุมพูดคุยกับหลายภาคส่วน และมีความเห็นพ้องกันว่า  LRT ไม่เหมาะกับพื้นที่นครราชสีมา จึงให้ทาง รฟม.ทำการสำรวจใหม่อีกครั้ง โดยเส้นหลัก คือถนนมิตรภาพ โคกกรวด-จอหอ เพื่อให้ผ่านสถานที่สำคัญๆ ซึ่งหากสิ้นสุดอยู่ที่บ้านนารีสวัสดิ์อาจจะไม่เหมาะสม จึงเสนอให้สิ้นสุดที่จอหอ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการเดินทางเข้าเมืองได้มากขึ้นอีกด้วย พร้อมกันนี้ยังมองถึงเรื่องการสร้างเมืองใหม่ โดยย้ายศูนย์ราชการต่างๆ ไว้ใกล้กัน เนื่องจากปัจจุบันศูนย์ราชการค่อนข้างกระจายอยู่ในหลายพื้นที่ อาจจะยากในเรื่องของการส่งเอกสาร หรือด้านอื่นๆ โดยที่คิดไว้จะเป็นพื้นที่ตรง ปภ.เขต ๕ เยื้องกับหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา

          สำหรับการขับเคลื่อนความเป็น MICE City นายชัชวาล กล่าวว่า รัฐบาลต้องการให้เกิดที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อเป็นศูนย์ประชุมนานาชาติภาคอีสาน ซึ่งตรงนี้อาจจะเลือกเป็นที่ มทส. แต่ถ้าเลือกเป็น มทส. อาจพบปัญหาในด้านการเดินทาง เนื่องจากค่อนข้างไกล จึงต้องการให้ภาคเอกชนมีการลงมือร่วมกัน โดยนายชัชวาล เน้นย้ำว่า การพัฒนาเมือง อยากจะให้ภาคเอกชนลงทุนร่วมกัน

“โคราชต้องมีแอร์ไลน์”

          นายชัชวาล กล่าวว่า สิ่งที่ตนตั้งใจ และผลักดันมาตั้งแต่ต้นที่เข้ามาเป็นประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา คือ “โคราชต้องมีแอร์ไลน์” โดยในปัจจุบันยังมีการติดต่อสายการบินอยู่อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ สายการบินที่ จะมานครราชสีมาเน้นให้บริการในเส้นทางต่างประเทศ และเส้นทางระหว่างภูมิภาค มากกว่าการบิน โคราช-กรุงเทพฯ เพราะหากมีรถไฟความเร็วสูงแล้ว ก็ไม่จำเป็น ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการทาบทามสายการบินสำหรับเส้นทางฟูกูโอกะ (โคราช-ญี่ปุ่น) หากจะเดินทางไป และเลือกมาขึ้นเครื่องบินที่โคราชโดยตรงจะเป็นการย่นระยะการเดินทาง จากจุดเริ่มต้นที่สนามบินสุวรรณภูมิได้

          “อสังหาริมทรัพย์ยังคงมีบทบาทอีกไกลในจังหวัดนครราชสีมา อาจจะมีการชะลอตัวลงบ้าง แต่ข้อมูลการลงทุน เห็นได้ว่าส่วนใหญ่คนต่างจังหวัดเข้ามาลงทุนในจังหวัดเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้เห็นได้ว่ามีโครงการต่างๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อาทิ ด้านการศึกษา ที่มีการก่อตั้งโรงเรียนนานาชาติ และด้านโรงพยาบาล อีกทั้ง การเปลี่ยนแปลง และพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา จะต้องเปลี่ยนแปลง และไปในทิศทางเดียวกัน ผมการันตีเลยว่า ในอนาคตอสังหาริมทรัพย์โคราชจะต้องดีขึ้นแน่นอน” นายชัชวาล กล่าว

โคราช ประตูสู่อีสาน?

          นายวีรพล จงเจริญใจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โคราชพัฒนาเมือง จำกัด กล่าวว่า “ในการพัฒนาเมืองในทุกวันนี้ จะถูกแบ่งไว้เป็น ๔ แบบ คือ ๑.ผู้ใหญ่ในกระทรวงต่างๆ คิดอยู่ที่ส่วนกลาง แล้วก็ตัดสินใจว่าจะทำ ๒.ส่วนกลางคิดแล้วมีการลงพื้นที่ เพื่อให้ความรู้ประชาชน ๓.ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมด้วยกัน แต่ภาครัฐจะเป็นฝ่ายทำ ๔.ภาคเอกชนและประชาชนเป็นผู้คิด แล้วบอกสิ่งที่ต้องการให้ภาครัฐดำเนินการ หรือที่เราเรียกกันว่า “City Development Movement” สำหรับโคราชในปัจจุบัน กลุ่มโคราชพัฒนาเมืองได้หยิบหลักการและแนวความคิดของจังหวัดขอนแก่นมาเป็นโมเดล คือ กลุ่มขอนแก่นพัฒนาเมือง จะมีการลงขันกันของภาคเอกชน อาจจะคนละ ๑๐ ล้าน หรือ ๒๐ ล้านบาท ตามกำลังของแต่ละคน ซึ่งขณะนี้หลายๆ โครงการของขอนแก่นก็เดินนำโคราชไปมาก

          “ทุกวันนี้เราเป็นประตูสู่อีสานของจริง ใครมาใครไปเขาก็ข้ามหัวเราไปหมด แต่ผมมองว่า ที่ขอนแก่นเขาเดินหน้าได้เพราะว่า ในขอนแก่นนั้น กลุ่มนักธุรกิจเขาส่งต่อให้รุ่นลูกหมดแล้ว ส่วนโคราชยังเป็นพ่อแม่ต้องคอยเซ็นเช็คให้ลูกอยู่เลย ถ้าลูกจะขอไปลงขันทำโคราชพัฒนา พ่อคงจะถามว่า จะเอาไปทำอะไรเงินตั้งมากมาย อย่างเจ้าของธุรกิจรถทัวร์ในโคราชรายหนึ่ง ทุกวันนี้ก็ไม่รู้ว่าแม่ยังเซ็นเช็คให้อยู่ไหม และที่สำคัญขอนแก่นเขาบรรจุ    เรื่อง Smart City เข้าไปในแผนยุทธศาสตร์เมืองด้วย ซึ่งภาครัฐจะทำอะไรก็ต้องทำให้ตรงกับแผน ดังนั้นกลุ่มโคราชพัฒนาเมืองจึงเอาขอนแก่นเป็นโมเดล แล้วต่อยอดนำมาใช้กับเมืองโคราช” นายวีรพล กล่าว

พัฒนาโคราชให้แกร่งเหมือนเมืองอื่น

          นายวีรพล กล่าวต่อไปว่า นอกจากขอนแก่นแล้ว ที่ภูเก็ตก็มีกลุ่มพัฒนาเมือง เช่นกัน ซึ่งที่นั่นเขาทำเรื่อง City Data เมื่อนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต ก็จะดูแอปพลิเคชั่นได้เลยว่า ต้องไปเที่ยวตรงไหน ซื้อของอะไรที่ไหน หรือเข้าพักที่ไหนได้บ้าง ทางด้านของจังหวัดสระบุรี ก็มีกลุ่มพัฒนาเมืองเช่นกัน เมื่อมองค่า GDP ของสระบุรีจะพบว่าสูงมาก แต่ที่จริงแล้วรายได้ส่วนใหญ่ไปอยู่กับกลุ่มอุตสาหกรรมจากส่วนกลาง ส่วนคนสระบุรีจริงๆ มีรายรับเพียงค่าแรงเท่านั้นยิ่งไปกว่านั้นคือ คนสระบุรีต้องได้รับฝุ่นละออง มลพิษต่างๆ จากโรงงานใหญ่ๆ อีก ซึ่งในส่วนนี้จะมีกลุ่มสระบุรีพัฒนาเมืองที่เข้ามาช่วย นอกจากนี้ก็มีที่อุดรธานี และอุบลราชธานีด้วย

          “ผมพยายามทำในส่วนของโคราชพัฒนาให้แข็งแกร่งได้อย่างจังหวัดอื่นๆ เช่น ในตอนนี้ ผมก็มีทุนจาก สวก.ที่ให้ทำในเรื่องของแอปพลิเคชั่นที่สามารถเก็บข้อมูลของต้นไม้ทุกต้นในจังหวัด พร้อมกับทำเพจ Korat Green Space มาเพื่อช่วยในเรื่องของการดูแลสิ่งแวดล้อมด้วย และเมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้มีโอกาสคุยกับคุณหมอคง (นพ.คงฤทธิ์ สุขานุศาสน์ รองผู้อำนวยการด้านสวัสดิการและสื่อสารองค์กร) ในการทำให้โรงพยาบาลมหาราชฯ ได้มีพื้นที่สีเขียวบ้าง อย่างที่ทุกคนเห็น เวลาเราไปโรงพยาบาลมหาราชฯ ทางเข้าจะมีแต่ปูนและตึกโด่ๆ อยู่ จึงเสนอคุณหมอคงไปว่า ให้ทำทางเท้า ทางจักรยาน และปลูกต้นไม้เพิ่ม ยังมีเรื่องตลกที่ว่า คุณหมอในโรงพยาบาลมหาราชฯเป็นโสดเยอะ ถ้ามีทางเท้าหรือทางจักรยานขึ้นมา ตกตอนเย็นคุณหมอก็มาเดินออกกำลังกายหรือเดินเล่น เราเห็นสวยๆ หล่อๆ ก็อยากจะเข้าไปทำความรู้จัก คุณหมอหรือพยาบาลในโรงพยาบาลก็จะได้อารมณ์ดีมีความรัก การบริการก็อาจจะดีขึ้นด้วย”

          นายวีรพล กล่าวอีกว่า ในส่วนของแอปพลิเคชั่นสำรวจต้นไม้ที่ทำขึ้นมา หากได้ใช้งานจริงๆ ผมก็อยากจะถวายให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งพระองค์ท่านกำลังทำต้นไม้ในโรงเรียน ซึ่งแอปฯ นี้อาจจะตอบโจทย์และช่วยได้ไม่มากก็น้อย ผมเชื่อว่า การอนุรักษ์และพัฒนาเมือง ต้องเป็นเรื่องที่เดินคู่กันไป สำหรับเรื่องของการพัฒนาเมือง ผมคงต้องสู้ไปอีกเยอะ ต้องจัดสัมมนาขึ้นอีกมาก หากมีโอกาสก็อยากจะเชิญทุกคนร่วมรับฟังและร่วมแสดงความคิดเห็น จะได้ช่วยกันพัฒนาเมืองโคราชต่อไป

แนวโน้มอสังหาฯ โคราช

          นายนราทร ธานินพิทักษ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดนครราชสีมา และเจ้าของโครงการเดอะซิกเนเจอร์ กล่าวว่า “ในเรื่องของการลงทุนอสังหาริมทรัพย์นั้น ภาครัฐจะต้องมีส่วนเข้ามาช่วยเหลือ เมื่อช่วยเหลือแล้วสุดท้ายกำไรก็จะคืนกลับไปยังภาครัฐด้วย ซึ่งแน่นอนว่า จังหวัดนครราชสีมาในอนาคตจะต้องมีแผนรองรับการช่วยเหลือของภาครัฐในระยะยาว ในปัจจุบันอสังหาริมทรัพย์ของโคราชเริ่มได้รับผลกระทบบ้างแล้ว ความเคลื่อนไหวของคนที่กำลังหาบ้านในขณะนี้เริ่มจะหดตัวลงไปมาก ซึ่งพฤติกรรมการหาบ้านในปัจจุบัน ส่วนมากจะเป็นผู้หญิง โดยจะอยู่ในช่วงอายุ ๒๕-๓๔ ปี หรือ ๓๕-๔๔ ปี แต่ที่พิเศษกว่าจังหวัดอื่น โคราชมีคนอายุช่วง ๕๕-๖๔ ปีด้วย ตรงนี้เราจะต้องให้ความสำคัญกับคนกลุ่มนี้เป็นอย่างมาก แน่นอนว่ามีเพียงที่โคราชแห่งเดียวในประเทศ นอกจากนี้ คนโคราชจะมองหาบ้านมากกว่าทาวน์โฮม และคอนโด โดยจะเลือกบ้านที่มี ๓ ห้องนอน ๒ ห้องน้ำเป็นส่วนใหญ่ และราคาจะอยู่ในช่วง ๑-๒ ล้าน แต่ระยะหลังมีคนสนใจในราคา ๓-๕ ล้านด้วย”

          “แนวโน้มของการซื้อบ้านในปัจจุบัน คนมักสนใจบ้านชั้นเดียวมากกว่าบ้าน ๒ ชั้น ซึ่งหลายๆ ผู้ประกอบการก็เริ่มปรับเปลี่ยนให้เข้ากับความต้องการ เช่น อาณาสรา ที่เมื่อก่อนจะมีแค่บ้าน ๒ ชั้น แต่ในปัจจุบันก็เปลี่ยนมาสร้างบ้านชั้นเดียวบ้างแล้ว ส่วนทาวน์โฮมในโคราชก็เริ่มมีการลงทุนบ้างแล้ว ซึ่งที่เข้ามาลงทุนในปัจจุบันก็มี ศุภาลัย, พฤกษา, โกลเด้นแลนด์ และเดอะเชนจ์ ส่วนคอนโดที่ลงทุนแล้ว เช่น อาคาร Munich ของ คลังคาซ่า, พลัสคอนโดและเดอะเชนจ์ ซึ่งในอนาคต การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในโคราชอาจจะมีมูลค่าสูง เพราะมีเมกะโปรเจ็กต์มากมายเข้ามา พื้นที่ติดถนนเลี่ยงเมืองก็ไม่สามารถสร้างบ้านจัดสรรได้ ซึ่งในอนาคตบ้านจัดสรรรอาจจะต้องเข้าไปอยู่ในซอย โดยพื้นที่ในอนาคตที่น่าสนใจจะเป็นทางทิศเหนือ คือ เหนือถนนเลี่ยงเมืองไป ซึ่งแน่นอนว่าทางทิศใต้เมืองไม่สามารถเติบโตได้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ของทหาร ส่วนสถานการณ์ราคาที่ดินในโคราช ผู้ลงทุนต้องทำการบ้านให้มาก ในอนาคตการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในโคราช มีแนวโน้มว่า คนมีครอบครัวจะมองหาบ้านเดี่ยว ส่วนคนโสดก็จะมองหาคอนโด ใช้ชีวิตที่สะดวกสบายในเมือง นี่เป็นความเคลื่อนไหวที่สมาคมฯเห็นในปัจจุบัน”

 

หนังสือพิมพ์โคราชคนอีสาน ฉบับที่ ๒๕๘๓ วันพฤหัสบดีที่ ๑๑ - วันจันทร์ที่ ๑๕ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๒

 

 


804 1436