29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

June 05,2020

รถทัวร์‘โคราช-กทม.’ยังไม่วิ่ง ขอรัฐเยียวยาหากเว้นที่นั่ง ๓ เดือนที่หยุดเจ็บหนักพอแล้ว

กลุ่มผู้ประกอบการรถโดยสารโคราช ยื่นหนังสือเสนอผู้ว่าฯ ขอภาครัฐช่วยหากวิ่งรถตามมาตรการเว้นระยะแล้วขาดทุน พร้อมเสนอหากไม่เยียวยา ขอรับผู้โดยสารเต็มคัน แต่มีมาตรการรองรับอย่างเข้มงวด ด้านผู้บริหารนครชัย ๒๑ เผย ที่หยุดวิ่ง ๓ เดือนก็เจอ็บหนักพอแล้ว ขอให้รัฐมีช่วยเหลือชัดเจน

 

ตามที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ไปทั่วโลก และในประเทศไทย ซึ่งภาครัฐต่างมีมาตรการในการคุมเข้มการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการประกาศห้ามเดินรถโดยสารประจำทาง โดยเมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๓ มีคำสั่งกรมการขนส่งทางบก เรื่อง “ระงับการเดินรถโดยสารประจําทางในเส้นทางหมวด ๒ และหมวด ๓ ที่มีต้นทางหรือปลายทาง ในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาเป็นการชั่วคราวในสถานการณ์ฉุกเฉิน” โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ ๑๑ เมษายน ๒๕๖๓ และในวันเดียวกัน มีคำสั่งจังหวัดนครราชสีมา ที่ ๓๘๑๑/๒๕๖๓ เรื่องปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดต่ออันตราย ลงนามโดยนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้ปิดสถานีขนส่งผู้โดยสาร ๔ แห่ง ประกอบด้วย สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดนครราชสีมา แห่งที่ ๑-๒, สถานีขนส่งผู้โดยสารอำเภอพิมาย และสถานีขนส่งผู้โดยสารอำเภอโชคชัย แต่ยกเว้นการเดินรถเฉพาะรถโดยสารประจำทางหมวด ๔ (รถโดยสารที่วิ่งประจำอยู่ในเส้นทาง ที่มีจุดต้นทางและปลายทางอยู่ระหว่างอำเภอกับจังหวัด หรือระหว่างอำเภอกับอำเภอ และอยู่ในเขตจังหวัดนครราชสีมา) ในช่วงเวลา ๐๕.๐๐-๑๙.๐๐ น. โดยให้มีมาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มข้น ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๖๓ ซึ่งกรณีดังกล่าวส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเดินรถโดยสารอย่างมาก ที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ  รวมทั้งผู้ใช้บริการที่ต้องการเดินทางข้ามจังหวัดด้วยนั้น

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๓ หอการค้าจังหวัดนครราชสีมาเชิญผู้ประกอบการรถโดยสารในจังหวัดนครราชสีมา ไปหารือถึงความพร้อมของผู้ประกอบการฯ หากกลับมาเปิดให้บริการ โดยในส่วนของนายชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นครชัย ๒๑ จำกัด และรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท นครชัยทัวร์ จำกัด ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ว่า “ช่วยหอฯ ร่างจดหมายในรถ เพื่อนำเสนอมาตรการช่วยเหลือหรือมาตรการรองรับในการเปิดการเดินรถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัด” ซึ่งต่อมาในวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๓ นายชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์ ยังแสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวอีกว่า “คิดอยู่แล้วว่า ถ้าภาครัฐฯ ไม่สร้างความชัดเจนเกี่ยวกับการกลับมาเปิดเดินรถสาธารณะ ระวังกฎจะไม่เป็นกฎ!!!”

“การกลับมาเดินรถ ภายใต้เงื่อนไข เว้นระยะห่างที่นั่ง ถ้าแค่กำหนดให้เดินรถ แต่ไม่แก้ปัญหาผลกระทบจากนโยบายเว้นระยะห่างที่นั่ง ไม่ใครก็ใครต้องเดือดร้อนแบบนี้ บางเจ้าวิ่งรับผู้โดยสารได้แค่ครึ่งคันขาดทุนก็ไม่ไหว เลยไม่วิ่ง เจ็บหนักกันมาสามเดือนชนิดไม่มีรายได้เข้าแม้แต่บาทเดียว แต่รายจ่ายต่อเดือนยังบานเบอะ ก่อหนี้กันมหาศาล จะให้วิ่งแบบขาดทุนต่ออีกใครจะไหว ถ้าจะไหวก็เพิกเฉยแหกกฎกันแบบนี้ ถ้ารถไม่วิ่งผู้โดยสารก็เดือดร้อนไม่มีรถเดินทาง แต่การจะเปิดเดินรถแล้วขึ้นราคาค่าโดยสารเอง แบบนี้แม้จะอ้างว่าชดเชยที่นั่งที่หายไป มันก็ผิดกฎหมายอยู่ดี”  

นายชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์ แสดงความคิดเห็นอีกว่า “ทำอย่างไรดีกับรถสาธารณะ...นี่ยังไม่นับ รถนำเที่ยว ที่ก็รับคณะได้ทีละครึ่งคันเช่นเดียวกัน คนจ้างเหมาหรือจัดทัวร์ ถ้าต้องจ่ายค่าเหมาเพิ่มเป็น ๒ คัน จะจ้างไหวได้อย่างไร จ้างไม่ไหว จะไปขึ้นราคาค่าหัว/ที่นั่งจากลูกค้า ใครเขาจะไป เมื่อไม่มีคนจ้าง ก็จอดกินข้าวคลุกน้ำปลา ตกงานกันต่อไป บางรายกู้หนี้ยืมสินมาจ่ายค่างวดรถ ไม่ใช่หลักแสนเหมือนรถเก๋งนะ มันเป็นหลักล้านและหลายล้าน งานไม่มีเงินไม่มี ขายรถ ทิ้งรถ โดนยึดกันไป แล้วจะเตรียมสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศทำไม ถ้าปัญหาการเดินทางยังไม่ถูกวางแผนแก้ไข..... ๑. ถ้ายังคงให้เว้นระยะห่าง รัฐก็ควรชดเชยการขาดทุนต่อเที่ยว ไม่ต้องให้กำไรหรอก เอาแค่เติมต้นทุนส่วนที่ขาดไปก็พอ รถก็วิ่งได้ คนต้องการเดินทางก็ไม่เดือดร้อน ค่าโดยสารก็ไม่ต้องขึ้นราคา ๒. ถ้าชดเชยไม่ไหว (ซึ่งจริงๆ น่าจะไหว ถ้าไม่อิงผลทางการเมืองใดๆ) ก็ต้องพิสูจน์ด้วยหลักที่ถูกต้องว่า สถานการณ์ปัจจุบัน ถ้ามีมาตรการป้องกันทั้งของตัวผู้เดินทาง และเงื่อนไขด้านสาธารณสุขต่างๆ ที่เพียงพอในการประกอบการเดินรถ คิดว่าไม่จำเป็นจะต้องนั่งเว้นระยะได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ ก็ไปคิด ข้อ ๑ ถ้าได้ ก็เปิดการเดินรถปกติ แล้วตามควบคุม สั่งปิดเฉพาะรายที่ไม่สนใจมาตรการที่กำหนด จะดีกว่าทางออกที่คลุมเครือหากันไม่เจอแบบนี้ หรือไม่...รถที่ควบคุมได้ออกข้อจำกัดเยอะจนประกอบการได้ยาก แต่หน้าหมอชิต รถตู้ส่วนบุคคล รถปิคอัพ รถเก๋ง ที่ออกมาหากินรีดราคาตามใจช่วงรถทัวร์ไม่วิ่ง ถามสักนิด รถพวกนี้ เว้นระยะห่างใช่ไหม .. คนรักทางสีขาวดิ้นอะไรไม่ได้ ลำบากกันสุดๆ ส่วนสายสีเทาๆ เจริญกันเสมอประเทศไทย” พร้อมทั้งทิ้งท้ายไว้ว่า “ทางออกถ้าหาไม่เจอก็ออกมันทางเข้านี่แหละ ปรับปรุงทางเข้าสักนิดคิดแล้วมันออกได้เหมือนกันนะ” 

จากนั้น ในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๓ คณะกรรมการหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เข้าพบนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เพื่อยื่นหนังสือซึ่งเป็นการนำเสนอมาตรการช่วยเหลือหรือมาตรการรองรับในการเปิดการเดินรถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัด โดยระบุว่า 

ปัจจุบันประชาชนมีความต้องการเดินทางจำนวนมาก เนื่องจากรถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัด ส่วนใหญ่หยุดการเดินรถมากว่า ๒ เดือน และเมื่อเกิดความต้องการการเดินทาง ทำให้เกิดการเดินรถที่ผิดกฎหมาย หลอกลวงประชาชนเกิดขึ้นจำนวนมาก ด้วยความจำเป็นของประชาชนดังกล่าว จึงควรมีการประกาศเปิดการเดินรถระหว่างจังหวัด แต่ด้วยมาตรการในการป้องกันการแพร่การระบาดของโรคโควิด-๑๙ กำหนดให้มีการเว้นระยะห่างที่นั่งในการโดยสาร ทำให้ผู้ประกอบการเดินรถไม่สามารถเปิดการเดินรถได้ ภายใต้การบรรทุกผู้โดยสารเพียง ๕๐% ของจำนวนที่นั่งต่อคัน ทั้งที่กรมการขนส่งทางบก ได้ประเมินอัตราการบรรทุก (Load Factor) ที่ประกอบการได้อยู่ที่ ๗๐-๗๕% และตลอดช่วงที่ผ่านมาที่ต้องหยุดการประกอบการมากกว่า ๒ เดือนนั้น ผู้ประกอบการด้านการขนส่งสาธารณะก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ จากทางภาครัฐต่อการกลับมาประกอบการได้อย่างแข็งแรง และไม่ได้รับความช่วยเหลือต่อมาตรการฟื้นฟูใดๆ อีกทั้ง หากการเปิดการเดินรถจะผลักภาระการชดเชยที่นั่งที่ว่างตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมไปที่ผู้โดยสารด้วยการเพิ่มราคาค่าโดยสาร ก็จะเป็นการเพิ่มความเดือดร้อนให้กับประชาชน ทั้งนี้เพื่อการกลับมาใช้ชีวิตโดยปกติสุขของประชาชน การมีงานทำของแรงงานในภาคการขนส่งจำนวนมาก เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถประกอบการเดินรถได้ และสามารถฟื้นฟูกิจการได้โดยเร็ว หอการค้าฯ และผู้ประกอบการด้านการขนส่งจึงขอนำเสนอมาตรการแก้ไข เยียวยา เพื่อให้ สามารถเปิดการเดินรถเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ดังนี้ 

๑.กรณียังคงมาตรการเว้นระยะห่างที่นั่ง ขอให้ภาครัฐชดเชยการขาดทุนในการประกอบการ ในราคาค่าโดยสารปกติตามลักษณะมาตรฐานรถ อีกจำนวน ๓๐% ของจำนวนที่นั่งของแต่ละเที่ยววิ่ง และ ๒. หากการชดเชยตามข้อ ๑. เห็นว่า เป็นภาระด้านงบประมาณของภาครัฐ ขอนำเสนอในมิติที่จะสามารถลดผลกระทบในทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐไม่ต้องใช้งบประมาณ ผู้โดยสารไม่ต้องชำระค่าโดยสารเพิ่ม ผู้ประกอบการสามารถประกอบการได้ คือ การยกเลิกการนั่งเว้นระยะห่างภายในรถโดยสารสาธารณะ โดยสามารถพิจารณาข้อเท็จจริงในภาวะปัจจุบันและที่ผ่านมา หากผู้โดยสารได้ป้องกันตนเอง และผู้ประกอบการมีมาตรการควบคุมที่เข้มงวด โอกาสที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคจากการเดินทางก็เป็นไปได้ยาก ผู้ประกอบการและผู้โดยสารยังคงต้องเข้มงวดกับมาตรการอื่นๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยนำเสนอมาตรการการปฏิบัติของผู้ประกอบการ ดังนี้ 

(๑) ยกเลิกการเว้นระยะห่างในรถสาธารณะที่มีที่นั่ง เพื่อให้กลับมาวิ่งได้ โดยไม่ต้องผลักภาระให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ตามวันเวลาที่ภาครัฐเห็นควรว่าเหมาะสมในการเปิดให้บริการ (๒) กำหนดให้ผู้ประกอบการวัดใช้ผู้โดยสารทุกคน และจัดเจลล้างมือไว้ให้บริการ ทั้งก่อนขึ้นรถและในรถ กรณีที่ผู้ประกอบการสงสัยในอาการของผู้โดยสาร กำหนดให้มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ๑ คน ประจำทุกสถานีขนส่ง เพื่อตรวจสอบและตัดสินใจในการอนุญาตให้โดยสารหรือเดินทาง (๓) กำหนดให้ผู้โดยสารต้องใส่หน้ากากอนามัยทุกคน ประชาสัมพันธ์ให้งดทานอาหาร พูดคุย สัมผัสบุคคลอื่น (ป้องกันการเปิดปาก จมูก) (๔) รถโดยสารทุกคัน ผู้ประกอบการควรทำความสะอาด เช็ดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทุกเที่ยว โดยเฉพาะจุดสัมผัสต่างๆ 

(๕) กรณีรถมีระยะทางยาว หากต้องบริการอาหาร ต้องกำหนดจุดจอดทานอาหาร เพื่อจอดให้ผู้โดยสารลงทานอาหาร และที่ร้านอาหาร เมื่อผู้โดยสารต้องเปิดปาก มีการสัมผัสอุปกรณ์ต่างๆ ด้วยมือ ร้านอาหารต้องปฏิบัติตามมาตรการเข้มงวดในการให้บริการตามนโยบายรัฐเพื่อความปลอดภัย (๖) พนักงานประจำรถต้องใช้มาตรการป้องกันเช่นเดียวกับผู้โดยสาร และงดการสัมผัสระหว่างกันในการให้บริการ งดการแจกอาหารของบริโภคภายในรถ การซื้อตั๋ว ขายตั๋ว ใช้มาตรการเว้นระยะและลดกระบวนการที่ต้องสัมผัสเงิน สิ่งของระหว่างกันให้มากที่สุด (๗) บันทึกข้อมูลผู้โดยสารทุกคนให้ครบถ้วนตามแบบฟอร์ม หรือการใช้แอปพลิเคชันในการติดตาม ผู้โดยสาร เพื่อติดตามได้ในภายหลัง กรณีเกิดปัญหาหรือต้องการข้อมูล และ (๘) ใช้จุด Check Point ที่กำหนดโดยกรมการขนส่งทางบก ที่มีทุกระยะตลอดเส้นทางให้เป็นประโยชน์ ในการควบคุม ตรวจสอบ ประชาสัมพันธ์ผู้โดยสารตลอดการเดินทาง
ต่อมาแฟนเพจเฟซบุ๊ก “นครชัย ๒๑ - Nakhonchai Twenty-One” ซึ่งให้บริการเดินรถสาย ๒๑ นครราชสีมา-กรุงเทพฯ ได้โพสต์ข้อความเมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๓ ว่า “ข่าวดี!!...#นครชัย๒๑ เตรียมเปิดให้บริการจำหน่ายตั๋วและรับส่งพัสดุภัณฑ์ ในเส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ติดตามวันเปิดให้บริการได้ที่นี่ เร็วๆ นี้ครับ”

ในขณะที่ แฟนเพจเฟซบุ๊ก “นครชัยทัวร์-รถโดยสารประจำทางและรถเหมาทัศนาจร” ก็โพสต์ข้อความในลักษณะเดียวกันว่า “ข่าวดี!!... #นครชัยทัวร์ เตรียมเปิดให้บริการจำหน่ายตั๋วและรับส่งพัสดุภัณฑ์ ใน ๔ เส้นทางของบริษัทฯ สาย ๖๓๕ นครราชสีมา-เชียงใหม่, สาย ๖๕๑ นครราชสีมา-แม่สาย, สาย ๑๒๑ นครราชสีมา-นครสวรรค์, สาย ๘๒๐ นครราชสีมา-มุกดาหาร ติดตามวันเปิดให้บริการได้ที่นี่ เร็วๆ นี้ครับ” 

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๓ มีประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา เรื่องมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด สำหรับผู้เดินทางเข้ามาในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ในส่วนของผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดภูเก็ต ยะลา และนราธิวาส ต้องกักตัวเพื่อสังเกตอาการ ณ ที่พัก (Home Quarantine) เป็นเวลา ๑๔ วัน เท่านั้น ตั้งแต่วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๓ เป็นต้นไป  หลังจากที่ก่อนหน้านี้ คือเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๓ มีประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ให้ผู้ที่เดินทางมาจากกรุงเทพมหานคร ภูเก็ต นนทบุรี ยะลา สมุทรปราการ ชลบุรี ปัตตานี สงขลา เชียงใหม่ และ ปทุมธานี ดังต้องทําการกักตัวเพื่อสังเกตอาการ ณ ที่พัก (Home Quarantine) เป็นเวลา ๑๔ วัน แต่เมื่อเหลือแค่ ๓ จังหวัดที่เดินทางเข้าโคราชต้องกักตัว ๑๔ วัน คือ ภูเก็ต ยะลา และนราธิวาส จึงทำให้ประชาชนหลายคนเข้าใจว่า รัฐอนุญาตให้มีการเดินทางเข้าโคราชและเข้าใจผิดคิดว่า รถโดยสารเปิดเดินรถในเส้นทางโคราช-กรุงเทพฯ แล้ว กอปรกับ ศบค. มีมาตรการผ่อนคลายระยะ ๓ ให้ประกอบกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๓ ด้วย 

ประเด็นนี้ส่งผลให้บริษัท นครชัยทัวร์ และนครชัย ๒๑ ต้องโพสต์ข้อความผ่านแฟนเพจว่า ยังคงปิดให้บริการชั่วคราวตามคําสั่งของกรมการขนส่งทางบก และยังไม่สามารถระบุวันวิ่งล่วงหน้าได้ เนื่องจากต้องรอคําสั่งกําหนดวันให้เดินรถจากจังหวัดนครราชสีมา และกรมการขนส่งทางบกก่อน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอดูมาตรการช่วยเหลือ เรื่องเว้นระยะห่างที่นั่งจากรัฐบาล ขอให้ลูกค้าอย่าสับสนกับข่าวเปิดเดินรถของนครชัยแอร์และนครชัยขนส่ง เนื่องจากเดินรถคนละเส้นทาง และคําสั่งของแต่ละจังหวัดกําหนดไม่เหมือนกัน

ล่าสุดนายชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นครชัย ๒๑ จำกัด และรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท นครชัยทัวร์ จำกัด เปิดเผยในรายการ “พบหอการค้า” ซึ่งมีนายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ รองประธานหอการค้าฯ เป็นผู้ดำเนินรายการ ออกอากาศทาง KCTV เมื่อวันจันทร์ที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๓ เวลา ๑๓.๓๐-๑๔.๓๐ น. เกี่ยวกับเรื่องการเดินรถโดยสารว่า “ลูกค้าถามเข้ามาจำนวนมากว่า เมื่อไหร่จะเปิดบริการ ซึ่งก็ต้องดูว่าการประชุม ครม.สัปดาห์หน้ารัฐจะเข้ามาช่วยอย่างไรบ้าง ถ้าไม่ช่วยเราก็ต้องวิ่ง เพราะลูกค้าเดือดร้อนตัองการเดินทาง แต่เราก็จะวิ่งเท่าที่ไหว ถ้าไม่ไหวก็ต้องหยุดวิ่งอีก ความชัดเจนในการวิ่งหรือไม่วิ่งนั้นอยู่ที่รัฐ ผู้ประกอบการเดินรถทุกรายของโคราชก็อยากได้คำตอบ ซึ่งที่ผ่านมา ๓ เดือนที่หยุดวิ่งเราก็เจ็บหนัก จะให้เราเจ็บต่อไปหรือ?” 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๓๐ วันพุธที่ ๓ - วันอังคารที่ ๙ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

 


777 1437