14thSeptember

14thSeptember

14thSeptember

 

June 12,2020

ชวนชิม‘ทุเรียนดินทราย’ แห่งเดียวในอีสาน เริ่มปลูกเพื่อนบอกว่า‘บ้า’

เพื่อนบ้านบอกสองผัวเมียปลูกทุเรียนบนดินทรายเป็นบ้า เวลาผ่านไปไม่กี่ปี ต้องอ้าปาก เมื่อทุเรียนสร้างรายได้ให้ปีละ หลายแสนบาท

ผู้สื่อข่าวพาไปชมสวนทุเรียนที่เดียวในอีสาน หรือในประเทศก็ว่าได้ ซึ่งปลูกต้นทุเรียนที่นับเป็นราชาแห่งผลไม้ในดินทราย โดยเริ่มแรกนายสมัย สายเสน อายุ ๖๓ ปี เกษตรกรชาวนาหมู่บ้านโคกใหม่พัฒนา หมู่ ๑๐ ต.โนนกลาง อ.สำโรง จ.อุบลราชธานี ที่เบื่ออาชีพทำนาปลูกข้าวที่ยึดมาตั้งแต่รุ่นพ่อรุ่นแม่ เพราะผืนนาเป็นนาโคก และพื้นดินยังเป็นดินทรายปนดินเหนียว แต่ละปีต้องรอน้ำฝน เพื่อเอาน้ำมาปลูกข้าวได้เพียงปีละครั้ง และไม่มีความแน่นอนเรื่องผลผลิตข้าวด้วย

ในช่วงวัยหนุ่มนั้นนายสมัย นอกจากทำนาปลูกข้าว ยังตระเวนรับจ้างเป็นคนงานตามสวนผลไม้แถวภาคใต้ เมื่อแต่งงานมีครอบครัวก็กลับมาทำอาชีพขายรองเท้าตามตลาดนัดกับภรรยา และปลูกข้าวปีละครั้ง พอมีรายได้เลี้ยงครอบครัวและมีข้าวไว้กินแต่ละปี แต่เมื่ออายุมากขึ้น เริ่มมีปัญหาด้านสุขภาพ การขับรถตระเวนไปขายรองเท้าตามตลาดนัดเริ่มมีอุปสรรค ตาฝ้าฟาง เกรงว่าวันไหนเกิดพลาดท่ามีอุบัติเหตุขึ้น จะทำให้ครอบครัวเดือดร้อน ครั้นจะกลับไปทำนาปลูกข้าวแบบเดิมที่เก็บเกี่ยวได้เพียงปีละครั้ง ก็กลัวว่าเงินทุนที่เก็บหอมรอมริบมาทั้งชีวิตเพียง ๒ แสนบาทเศษ ต้องหมดไปกับค่าจ้างไถนา ซื้อปุ๋ยใส่นาข้าวเหมือนที่ผ่านมา

นายสมัยจึงคิดปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตแบบใหม่ตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ ๙ โดยแบ่งที่นาที่รับสืบทอดมากว่า ๒๒ ไร่ ใช้ทำนา ๑๒ ไร่ อีก ๑๐ ไร่ ปลูกพืชสมุนไพร พืชผักสวนครัว และผลไม้นานาชนิด เช่น ละมุด ลำไย สับปะรด ส้มเขียวหวาน เงาะ มะม่วง กล้วย รวมทั้งทุเรียน เพื่อให้มีรายได้เข้ามาตลอดทั้งปี แต่การปลูกอะไรไม่สำคัญเท่าปลูกทุเรียน เพราะเป็นผลไม้ที่ปลูกยากในพื้นดินที่เป็นดินทราย โดยเริ่มแรกในปี ๒๕๕๓ ซื้อพันธุ์ทุเรียนหมอนทองจำนวน ๒๐ ต้นมาทดลองปลูกลงในที่นาของตนเอง โดยนำประสบการณ์ความรู้สมัยหนุ่มที่ไปเป็นคนงานในสวนผลไม้ทางภาคใต้ มาประยุกต์ปรับใช้กับดินทรายในที่นาของตนเอง

โดยขนดินจากใต้สระน้ำที่มีตะกอนดินของดินเหนียวสะสมทับถมเป็นเวลานานและมีจำนวนมาก มาผสมกับดินทรายบนที่นา แล้วจึงนำต้นทุเรียนลงปลูก ซึ่งการปลูกช่วงแรกมีเพื่อนบ้านแวะเวียนเข้ามาดูการปลูกทุเรียนบนดินทรายด้วยความสมเพช บางรายถึงขั้นว่า นายสมัยเป็นบ้า เพราะนอกจากไม่เดินตามรอยทำนาข้าวเหมือนบรรพบุรุษแล้ว ยังนำพันธุ์ผลไม้นานาชนิดมาปลูกแทนข้าว แล้วชีวิตบั้นปลายนายสมัยจะไปรอดหรือ แต่เมื่อเวลาผ่านไปกว่า ๓-๔ ปี ทุเรียนจำนวน ๒๐ ต้นเริ่มให้ผลผลิต โดยมีผลใหญ่ น้ำหนักเฉลี่ยตั้งแต่ ๓-๕ กิโลกรัม มีเนื้อหอม หวาน กรอบ กลิ่นไม่ฉุน สามารถเก็บออกขายผสมกับผลไม้ชนิดอื่นๆ ด้วย

ปัจจุบัน นายสมัยขยายพื้นที่ปลูกทุเรียนบนดินทรายจาก ๒๐ ต้นเป็นเกือบ ๓๐๐ ต้น และเก็บผลผลิตที่งอกเงยออกขายทุกปี แต่ด้วยพื้นที่ที่แห้งแล้ง แม้มีผลทุเรียนให้เก็บเกี่ยวได้เพียง ๑ ใน ๓ ในแต่ละปี แต่ก็ทำเงินให้กับนายสมัยปีละไม่น้อยกว่า ๓ แสนบาท ซึ่งไม่รวมรายได้จากพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร และผลไม้อีกหลากชนิดที่มีอยู่ในสวน “ตายาย” ของนายสมัยและนางราตรีผู้เป็นภรรยา ทุกวันนี้สองตายายแค่นั่งๆ นอนๆ อยู่ในสวนของตัวเอง ก็มีคนเข้าไปจับจองขอซื้อผลผลิตที่หมุนเวียนออกตามฤดูกาล ไม่ต้องเหนื่อยยากไปขายรองเท้าตามตลาดนัดอีกแล้ว โดยเฉพาะช่วงนี้ที่มีโรคระบาดไวรัสโควิด-๑๙ ก็ไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อรายได้ของสองตายายคู่นี้

สำหรับผู้สนใจต้องการเดินทางไปชมสวนหรือเลือกซื้อผลผลิตหลากชนิดของนายสมัย-นางราตรี สามารถโทรศัพท์สอบถามล่วงหน้าที่หมายเลข ๐๘๑-๐๖๒-๖๔๗๐ ซึ่งขณะนี้ทุเรียนในสวนที่ผลหนัก ๔-๕ กิโลกรัม ยังพอมีเหลือจากการจองให้ซื้อกลับไปกินได้ราคาเพียงกิโลกรัมละ ๑๕๐ บาทเท่านั้น ส่วนผลไม้ชนิดอื่นๆ ต้องเข้าไปตามฤดูกาลจะได้ผลไม้ที่สดใหม่จากต้น

ขณะนายชินวัต ทองปรีชา นายอำเภอสำโรง จ.อุบลราชธานี พร้อมเจ้าหน้าที่เกษตรที่เข้าเยี่ยมชมผลผลิตในสวนทุเรียนของนายสมัยกล่าวถึงผลสำเร็จของเกษตรกรที่มีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจนประสบความสำเร็จในการสร้างรายได้ให้ครอบครัวมีชีวิตดีขึ้นว่า 

“เป็นสวนทุเรียนเพียงแห่งเดียวของอำเภอในขณะนี้ ที่ปลูกบนดินทราย และเป็นทุเรียนที่มีลักษณะพิเศษต่างจากที่อื่นคือ เนื้อมีความหอมออกรสหวาน แต่กลิ่นไม่ฉุน เนื้อแห้ง ราคาไม่แพง ส่วนการต่อยอดขณะนี้ มีเกษตรกรรายอื่นที่อยู่ใกล้กับสวนพ่อสมัย และเห็นความสำเร็จได้เริ่มปลูกทุเรียนสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งนายสฤษดิ์ วิฑูรย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ได้ให้เกษตรอำเภอเข้ามาสนับสนุน เพื่อเพิ่มช่องทางการประกอบอาชีพแก่เกษตรกรที่ประสบปัญหาการระบาดของโรคโควิด-๑๙ ได้มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย”


857 1,970