July 24,2020
เมกะโปรเจ็กต์’คืบหน้า มอเตอร์เวย์ขยับใช้ปี’๖๖ ผังเมือง ง๑-ง๒ ไปต่อไม่ได้
อจร.นม.ประชุมความคืบหน้าจัดระบบจราจรโคราช เผยรถไฟทางคู่-ความเร็วสูง ไร้อุปสรรค ส่วน LRT เสนอปรับรูปแบบ เส้นทางใหม่ รวมสายสีเขียว-สีม่วงเข้าด้วยกัน ด้านมอเตอร์เวย์ขยับอีก คาดเปิดใช้ได้ปี ๒๕๖๖ “รองผู้ว่าฯ” ลั่นขอวิ่งฟรีช่วงเทศกาล ส่วนถนนผังเมือง ง๑-ง๒ ยังไปต่อไม่ได้ เพราะมีผู้คัดค้านและได้รับผลกระทบจำนวนมาก
เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ที่ห้องประชุมหลวงพ่อคูณปริสุทโท ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกจังหวัดนครราชสีมา (อจร.นม.) ครั้งที่ ๓/๒๕๖๒ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมประชุม
สายไฟฟ้าลงดินเสร็จปี’๖๔
โดยการประชุมมีทั้งหมด ๕ วาระ ซึ่งวาระสำคัญคือ วาระที่ ๔ การติดตามความคืบหน้าการประชุมครั้งที่ผ่านมา โดยเริ่มจากวาระที่ ๔.๑ การดำเนินโครงการนำสายไฟฟ้าลงดิน ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา นายกานต์ระพี ธงชัยไตรวัฒน์ รองผู้จัดการ (บริการลูกค้า) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ระยะที่ ๑ (คพญ.๑) ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว ๖ ล็อต ได้แก่ ล็อต ๑ ถนนชุมพลและถนนราชดำเนิน ล็อต ๒ ถนนสุรนารี, ถนนบุรินทร์, ถนนพิบูลละเอียด, ถนนจอมสุรางค์ยาตร์, และถนนโพธิ์กลาง ล็อต ๓ ถนนจอมสุรางค์ยาตร์, ถนนบัวรอง, ถนนโพธิ์กลาง และถนนโยธา ล็อต ๔ ถนนราชดำเนิน, ถนนราชนิกูล, ถนนไชยณรงค์, ถนนพลแสน, ถนนยมราช, ถนนอัษฏางค์, ถนนจอมพล, ถนนมหาดไทย และถนนสรรพสิทธิ์ ล็อต ๕ ถนนมนัส, ถนนพลแสน, ถนนยมราช, ถนนอัษฏางค์, ถนนจอมพล, ถนนมหาดไทย และถนนสรรพสิทธิ์ และล็อต ๖ ถนนจักรี, ถนนพลแสน, ถนนยมราช, ถนนอัษฏางค์, ถนนจอมพล, ถนนมหาดไทย, ถนนสรรพสิทธิ์และถนนกำแหงสงคราม โดยล็อตที่ ๑ และ ๒ จะแล้วเสร็จภายในปี ๒๕๖๓ ส่วนล็อตที่ ๓-๖ จะเสร็จภายในปี ๒๕๖๔”
รถไฟความเร็วสูงคืบหน้า
วาระต่อมา แผนงานโครงการแก้ไขปัญหาการจราจรในระยะยาว นายศุภฤกษ์ สุดยอดประเสริฐ หัวหน้ากลุ่มมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐาน กรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า “ความคืบหน้าของโครงการความร่วมมือไทย-จีน หรือรถไฟความเร็วสูง ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ ระยะ โดยระยะที่ ๑ ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา งบประมาณที่ ครม.อนุมัติ ๑๗๙,๔๑๒.๒๑ ล้านบาท ระยะทาง ๒๕๐.๗๗ กิโลเมตร ประกอบด้วย ทางระดับดิน ๕๔.๐๙ กิโลเมตร ทางยกระดับ ๑๘๘.๖๘ กิโลเมตร อุโมงค์ ๘ กิโลเมตร และสถานี ๖ สถานี ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา ความคืบหน้า ล่าสุดมีการประชุมร่วมของคณะกรรมการ เมื่อวันที่ ๑๘ มิถุนายน ๒๕๖๓ เห็นชอบร่างสัญญา ๒.๓ งานระบบราง ไฟฟ้า เครื่องกล การจัดหาขบวนรถและฝึกอบรมบุคลากร ในวงเงิน ๕๐,๖๓๓.๕๐ ล้านบาท อยู่ระหว่างรออัยการสูงสุดพิจารณา ก่อนนำเสนอ ครม.พิจารณาความเห็นชอบต่อไป
“สำหรับงานด้านโยธาระยะที่ ๑ แบ่งออกเป็นทั้งหมด ๑๔ สัญญา อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ๒ สัญญา คือสัญญาที่ ๒-๑ ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก วงเงิน ๓,๑๑๔.๙๘ ล้านบาท ระยะทาง ๑๑ กิโลเมตร คืบหน้าร้อยละ ๒๘ และสัญญาที่ ๑-๑ กลางดง-ปางอโศก วงเงิน ๓๖๒ ล้านบาท ระยะทาง ๓.๕ กิโลเมตร อยู่ระหว่างรอลงนามสัญญา ๗ สัญญา (สัญญา ๓-๒, ๓-๓, ๔-๒, ๔-๓, ๔-๕, ๔-๖ และ ๔-๗) อยู่ระหว่างการรถไฟฯ อนุมัติสั่งจ้างหรือประกาศผู้ชนะ ๓ สัญญา (สัญญา ๓-๑ ๓-๔ และ ๓-๕) อยูระหว่างจัดเตรียมเอกสาร ๑ สัญญา (สัญญา ๔-๑) และอยู่ระหว่างพิจารณาเอกสารประกวดราคา ๑ สัญญา (สัญญา ๔-๔)”
นายศุภฤกษ์ กล่าวอีกว่า “ส่วนความคืบหน้าระยะที่ ๒ ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย อยู่ระหว่างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียด ระยะทาง ๓๕๖.๑ กิโลเมตร หลังจากที่ รฟท.ลงนามในสัญญาจ้างที่ปรึกษาเพื่อออกแบบรายละเอียดโครงการฯ เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๖๓ ที่ปรึกษาได้ดาเนินการสำรวจสภาพภูมิประเทศตลอดแนวเส้นทางแล้วเสร็จและมีความก้าวหน้าในการออกแบบรายละเอียด ณ เดือนกรกฎาคม ๒๕๖๓ อยู่ที่ประมาณ ๔๐% จากปริมาณงานทั้งหมด ความคืบหน้าของโครงการ ๓๗% ซึ่งหลังจากนี้ที่ปรึกษาจะจัดให้มีการประชุมกลุ่มย่อยช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ๒๕๖๓ เพื่อหารือกับผู้มีส่วนได้เสียในรายละเอียด และจะจัดประชุมการมีส่วนร่วมฯ ครั้งที่ ๒ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๓ เพื่อนาเสนอผลการออกแบบรายละเอียดต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จทั้งหมดในช่วงเดือนมีนาคม ๒๕๖๔”
รถไฟทางคู่เมืองโคราช
“โครงการรถไฟทางคู่ในจังหวัดนครราชสีมา มีอยู่ ๒ โครงการ คือ ๑.ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้างในขณะนี้ งานด้านโยธาและระบบราง แบ่งออกเป็น ๓ สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ ๑ ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร ระยะทาง ๕๘ กิโลเมตร คืบหน้า ๗๒.๖๖% สัญญาที่ ๒ ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ ระยะทาง ๗๐ กิโลเมตร อยู่ระหว่างพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนเสนอ ครม. เนื่องจากมีการปรับแบบ และสัญญาที่ ๓ งานด้านอุโมงค์ จำนวน ๓ อุโมงค์ ระยะทาง ๘ กิโลเมตร คืบหน้า ๔๔.๓๒% ส่วนงานด้านระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม คือ สัญญาที่ ๔ งานระบบอาณัติและโทรคมนาคม ครอบคลุมทั้งโครงการ และ ๒.ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง ๓๐๘ กิโลเมตร จำนวนสถานี ๓๕ สถานี วงเงินการลงทุน ๓๖,๖๘๓ ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างทำข้อมูลเพิ่มเติมโดย รฟท. ซึ่งรายงาน EIA เตรียมเสนอ กก.วล ครั้งที่ ๔/๒๕๖๓ ในวันที่ ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๓” นายศุภฤกษ์ กล่าว
เสนอปรับรูปแบบ LRT
นายศุภฤกษ์ กล่าวท้ายสุดว่า “โครงการรถไฟรางเบา หรือ LRT สายสีเขียว ตลาดเซฟวัน-บ้านนารีสวัสดิ์ ระยะทาง ๑๑.๑๕ กิโลเมตร มี ๒๑ สถานี จุดจอดแล้วจร ๒ ตำแหน่ง ศูนย์ซ่อมบำรุง ๑ ตำแหน่ง ขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นของประชาชน คืบหน้า ๘๙.๘๒% โดยจะมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นอีกครั้งในเดือนสิงหาคม ๒๕๖๓”
นายรัฐกิตติ์ (ทอม) วัชรไพศาลสิน อ้างเป็นอนุกรรมการผู้แทนภาคประชาชน กล่าวว่า “ผมมีคำถามว่า ทำไมสถานีรถไฟทางคู่และสถานีรถไฟความเร็วสูง ที่อำเภอปากช่องถึงอยู่ห่างกัน ขณะนี้มีการปรับแบบหรือยัง และปัญหาเรื่องรถไฟฟ้ารางเบาสายสีเขียว ต้องการให้ชี้แจงเกี่ยวกับปัญหาท่อร้อยสายของโครงการสายไฟฟ้าลงดิน และปัญหาด้านโบราณสถาน ซึ่งทั้ง ๒ ปัญหา ทำให้รถไฟฟ้ารางเบาไม่สามารถวิ่งได้”
นายศุภฤกษ์ กล่าวว่า “สถานีรถไฟความเร็วสูงจะอยู่ห่างออกไปทางทิศเหนือของสถานีรถไฟปากช่องปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามจะมีการออกแบบเพื่อให้รองรับกับการใช้งานของประชาชน ที่จะใช้งานทั้งรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ ส่วนเรื่องของรถไฟฟ้ารางเบาต้องให้ที่ปรึกษาฯ เป็นผู้ชี้แจง”
ตัวแทนที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวชี้แจงว่า “เดิมที สนข.ได้ศึกษาทั้งหมด ๓ สาย คือ สายสีเขียว สายสีม่วง และสายสีส้ม ซึ่ง สนข.ศึกษาแล้วว่า สายสีเขียวควรทำเป็นสายแรก โดยให้ รฟม.ดำเนินการต่อ จากนั้น รฟม.ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาฯ ซึ่งที่ปรึกษาได้ทบทวนความเหมาะสมของสายสีเขียวด้วย โดยการว่าจ้างจะสิ้นสุดภายในเดือนพฤษภาคม ๒๕๖๓ แต่เนื่องจากปัญหาโรคระบาดจึงทำให้ต่อสัญญาออกไปเป็นเดือนกันยายน ๒๕๖๓ ซึ่งในวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๓ จะจัดประชุมการมีส่วนร่วมภาคประชาชนครั้งที่ ๒ ในส่วนของปัญหาต่างๆ ที่นายรัฐกิตต์แจ้ง ทางที่ปรึกษารับทราบถึงปัญหาเหล่านี้ และเป็นหน้าที่ของที่ปรึกษาที่จะต้องหาทางแก้ไขปัญหา ส่วนการเปลี่ยนไปศึกษาเส้นอื่นนั้น รฟม.ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาให้ศึกษาสายสีเขียว ทำให้ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเส้นอื่นได้ หากจะเปลี่ยนเป็นเส้นอื่นก็คงต้องมาว่าจ้างกันใหม่”
นายรัฐกิตติ์ กล่าวว่า “ข้อเสนอของผมก็คือว่า การปรับเปลี่ยนรูปแบบสายสีเขียว ไม่ใช่การยกเลิก แต่ยังทำต่อ เพียงแต่อาจจะต้องใช้รถที่เล็กลงเพื่อไม่ให้กระทบกับสิ่งต่างๆ แล้วเส้นที่ผมเสนอคือ สายสีเขียว+สายสีม่วง ให้ก่อสร้างพร้อมกันทำเป็นสายเดียวกัน หรือที่เรียกว่า backbone จะเป็นการแก้ปัญหาที่สมบูรณ์ แต่ถ้ายืนยันจะทำเส้นเดิม ก็น่าจะใช้รถที่เล็กลง อย่างที่ผมเคยพูดว่า คนโคราชอยากจะมี แต่ถามว่า ควรหรือไม่ หากยังทำสายสีเขียว ในช่วงเวลาเร่งด่วนก็อาจจะมาติดที่บริเวณหน้าโรงเรียน รถไฟวิ่งไม่ได้จะทำอย่างไร และชุมชนที่อยู่ในเส้นทางรถไฟ หากไปกั้นหน้าบ้านประชาชน โครงการนี้เจอค้านแน่นอน ดังนั้นผมจึงถามว่า ปรับได้หรือไม่ แล้วทำ ๒ เส้นเชื่อมกันให้เป็น backbone”
มอเตอร์เวย์เปิดใช้ปี’๖๖
วาระต่อมา เรื่องความคืบหน้าการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ บางปะอิน-นครราชสีมา และการก่อสร้างทางเชื่อมทางลงถนนมอเตอร์เวย์ ถนนสุรนารี ๒ ซึ่งผู้แทนจากกรมทางหลวง ชี้แจงว่า โครงการถนนมอเตอร์เวย์ฯ ระยะทาง ๑๙๖ กิโลเมตร วงเงินลงทุน ๘๔,๖๐๐ ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าก่อสร้าง ๗๗,๙๗๐ ล้านบาท ค่าเวนคืน ๖,๖๓๐ ล้านบาท แผนการดำเนินงานก่อสร้างอยู่ระหว่างปี ๒๕๕๙-๒๕๖๓ ซึ่งโครงการมีทั้งหมด ๒๐ โครงการ แล้วเสร็จ ๑๔ โครงการ คืบหน้า ๙๕.๗๔๗% ส่วน ๖ โครงการที่เหลืออยู่มีดังนี้ ๑.ช่วงที่ ๒๑ ระยะทาง ๒.๔๒๗ กิโลเมตร วงเงิน ๑,๘๕๐.๔๗ ล้านบาท รับจ้างโดย บริษัท กรุงธนเอนยิเนียร์ จำกัด คืบหน้า ๕๒.๕% ๒.ช่วงที่ ๒๒ ระยะทาง ๑๒.๓๔๗ กิโลเมตร วงเงิน ๑,๔๔๗.๙ ล้านบาท รับจ้างโดย บริษัท บัญชากิจ จำกัด คืบหน้า ๘๕.๐๙๑% ๓.ช่วงที่ ๒๓ ระยะทาง ๘.๙ กิโลเมตร วงเงิน ๑,๖๔๐.๘๕๔ ล้านบาท รับจ้างโดย หจก.กิจรุ่งเรืองก่อสร้าง คืบหน้า ๙๓.๙๖๖% ๔.ช่วงที่ ๒๔ ระยะทาง ๘.๑ กิโลเมตร วงเงิน ๑,๒๔๐.๔๖๒ ล้านบาท รับจ้างโดย หจก.แพร่วิศวกรรม คืบหน้า ๙๙.๓๗๐% ๕.ช่วงที่ ๓๗ ระยะทาง ๙.๒ กิโลเมตร ๑,๓๒๕.๑๐๓ ล้านบาท รับจ้างโดย หจก.กิจรุ่งเรืองก่อสร้าง คืบหน้า ๙๙.๙๘๑% และ ๖.ช่วงที่ ๔๐ ระยะทาง ๗.๑๔ กิโลเมตร วงเงิน ๑,๙๔๙ ล้านบาท รับจ้างโดย บจก.ยิ่งเจริญก่อสร้างบุรีรัมย์ คืบหน้า ๙๕.๐๗๒% คาดว่างานด้านถนนจะแล้วเสร็จทั้งหมดในปี ๒๕๖๔ แต่เนื่องจากติดปัญหาในบางสัญญาช่วงเขตจังหวัดสระบุรี และเรื่องการก่อสร้างด่านเก็บเงิน จึงทำให้อาจจะเปิดใช้งานจริงในปี ๒๕๖๖
“ส่วนความคืบหน้าการสร้างทางเชื่อมต่อทางลงถนนมอเตอร์เวย์กับถนนสุรนารี ๒ โครงการก่อสร้างทางเชื่อมทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ตอนที่ ๔๐ กับถนนทางหลวงชนบท นม.๑๑๒๐ (สุรนารี ๒) ได้รับงบประมาณปี ๒๕๖๔ งบประมาณ ๔๐๐ ล้านบาทขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการออกแบบรายละเอียดทางวิศวกรรม” ผู้แทนกรมทางหลวง กล่าว
รอ ๒ ปี วิ่งฟรีก่อนได้หรือไม่?
ด้าน นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “มอเตอร์เวย์สร้างเสร็จปี ๒๕๖๔ แต่จะเปิดใช้งานปี ๒๕๖๖ คนโคราชจะต้องรออีกตั้ง ๒ ปี แม้จะสร้างเสร็จแล้ว ผมเชื่อว่ากรมทางหลวงสามารถทำให้เร็วกว่านั้นได้ ใครรู้จักกับรัฐมนตรีคมนาคม ก็ช่วยพูดให้หน่อยแล้วกัน และจริงๆ แล้ว ถึงจะสร้างเสร็จแต่ไม่มีด่านเก็บเงิน ผมว่า เปิดให้วิ่งฟรีก่อนก็ดีในช่วงเทศกาลต่างๆ ที่รถจะหนาแน่น เพราะทำมาแล้วไม่ใช้งาน เราก็จะสร้างทิ้งไว้เฉยๆ”
จากนั้น ผู้แทนกรมทางหลวง กล่าวอีกว่า “ในส่วนของโครงการก่อสร้างอุโมงค์บริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒ กับทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ (แยกนครราชสีมา) เคยได้รับงบประมาณปี ๒๕๕๐ วงเงิน ๔๐๐ ล้านบาท แต่มีผู้คัดค้านในเวทีการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๖๓ กรมทางหลวงจัดประชุมหารือเพื่อเตรียมการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยตั้งวงเงินค่าก่อสร้างประมาณ ๘๐๐ ล้านบาท และจะเสนอขอรับงบประมาณปี ๒๕๖๕ ต่อไป ในขณะที่โครงการก่อสร้างอุโมงค์ลอดทางแยก (บ้านประโดก) ค่าก่อสร้างประมาณ ๑,๕๐๐ ล้านบาท ระยะทาง ๑.๗๕๐ กิโลเมตร ในปีงบประมาณ ๒๕๖๑ ได้ทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยบริษัท เทสโก้ จำกัด และบริษัท ธารา ไลน์ จำกัด ซึ่งเตรียมเสนอขอรับงบประมาณปี ๒๕๖๕ เช่นเดียวกัน”
“โครงการทางหลวงหมายเลข ๒๙๐ ถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ระยะทางรวมทั้งสิ้น ๑๑๐ กิโลเมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จ ๓๑.๙๔ กิโลเมตร กำลังก่อสร้าง ๕๔.๒๕ กิโลเมตร และเตรียมขอรับงบประมาณปี ๒๕๖๓ จำนวน ๒๙ กิโลเมตร ผลงานรวมขณะนี้คืบหน้า ๖๔.๗๐๗% สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข ๓๐๔ ตอน อ.กบินทร์บุรี-อ.ปักธงชัย ขณะนี้ก่อสร้างแล้วเสร็จ ๒ โครงการ เหลือเพียง ๑ โครงการคือ บริเวณถนนหมายเลข ๓๐๔ สาย อ.กบินทร์บุรี –อ.วังน้ำเขียว ตอน ๓ ส่วนที่ ๒ กม.๒๑๖+๕๖๐-กม.๒๒๓+๒๖๙ ระยะทาง ๖.๗๐๙ กิโลเมตร งบประมาณ ๗๙๔.๒๐ ล้านบาท เนื่องจากผู้รับจ้างขาดประสิทธิภาพทำให้งานล่าช้ากว่าแผน -๑๓.๑๗% ทางด้านของความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาการจราจรสามแยกหัวทะเล งบประมาณ ๕.๗๕๔ ล้านบาท เป็นงานขยายช่องจราจร ขณะนี้คืบหน้า ๙๐% คาดว่าจะแล้วเสร็จ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๓” ผู้แทนกรมทางหลวง กล่าว
ถนนสุรนารี ๒ เสร็จปี ๒๕๖๓
ต่อมา นายรักชาติ ชาติสิริทรัพย์ วิศวกรโยธาปฏิบัติการ กรมทางหลวงชนบท ชี้แจงโครงการก่อสร้างถนนสาย นม.๑๑๒๐ แยก ทล.๒-บ้านโคกไผ่ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ว่า โครงการนี้แบ่งออกเป็น ๒ ตอน โดยตอนที่ ๑ ระยะทาง ๔.๒ กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง ๓๕๕.๘๒ ล้านบาท คืบหน้า ๙๐.๖๑% ระยะเวลาตามสัญญา ๙๐๐ วัน ก่อสร้างผ่านไปแล้ว ๗๙๖ วัน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี ๒๕๖๓ นี้ และตอนที่ ๒ ระยะทาง ๑.๗๙ กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง ๑๔๗.๐๗ ล้านบาท คืบหน้า ๒๔.๒๙% ระยะเวลาก่อสร้าง ๗๒๘ วัน ก่อสร้างแล้ว ๓๔๑ วัน คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางปี ๒๕๖๔
ถนน ง๑-ง๒ ไปต่อไม่ได้
“ส่วนโครงการถนนผังเมืองรวมนครราชสีมา ง๑ ง๒ และ ง๕ จังหวัดนครราชสีมาได้ร้องขอไปยังกรมฯ เมื่อปี ๒๕๕๘ ว่า ให้ช่วยดูแลและพัฒนาโครงขายของถนนทั้ง ๓ เส้น ซึ่งในปี ๒๕๖๑ กรมทางหลวงชนบทได้ศึกษาความเหมาะสมของถนนสาย ง๑ และ ง๒ ระยะทางรวมเบื้องต้น ๑๒.๑ กิโลเมตร มีการปฐมนิเทศโครงการไปเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๑ เนื่องจากเส้นทางที่ออกแบบมา ต้องผ่านชุมชนที่มีความหนาแน่น ทำให้มีผู้ได้รับผลกระทบและมีผู้คัดค้านจำนวนมาก ซึ่งการคัดค้านโครงการมีทั้งแสดงออกในเวที ส่งเรื่องมายังผู้ว่าราชการจังหวัด และมีบางรายทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา จากผลการสำรวจเส้นทางเบื้องต้นของสาย ง๑ และ ง๒ มีผู้เห็นด้วยประมาณ ๕๓% มีพื้นที่โดนเวนคืนประมาณ ๒๒๓ ไร่ บ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างได้รับผลกระทบ ๘๓ หลัง ทำให้ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อลดผลกระทบของประชาชน จึงเกิดเป็นแนวเส้นทางใหม่ ระยะทาง ๑๒.๔๕ พื้นที่ถูกเวนคืน ๒๓๑ ไร่ บ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างได้รับผลกระทบเพียง ๒๒ หลัง และมีประชาชนเห็นด้วยเพิ่มเป็น ๖๗% ทั้งนี้ กรมทางหลวงชนบทยินดีที่จะดำเนินการศึกษาต่อให้ แต่จังหวัดนครราชสีมา จะต้องจัดประชุมการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เรียบร้อยก่อน เนื่องจากว่า หากส่วนกลางนำไปออกแบบทำ Detail Design ให้ก็ไม่สามารถดำเนินการต่อได้อยู่ดี เพราะต้องติดที่มีผู้ร้องเรียนจำนวนมาก ดังนั้น จังหวัดนครราชสีมาต้องทำให้มีข้อสรุปที่ตกผลึกจากภาคประชาชนก่อน ส่วนความคืบหน้าถนน ง๕ ระยะทาง ๑๓.๕ กิโลเมตร เชื่อมระหว่างถนนทางหลวงหมายเลข ๓๐๔ กับถนนวงแหวนทิศใต้ตอนที่ ๑ บริเวณอ่างห้วยยาง ขณะนี้ได้สำรวจเบื้องต้นไว้แล้ว เราได้บรรจุไว้ในปีงบประมาณ ๒๕๖๕” นายรักชาติ กล่าว
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๓๗ วันพุธที่ ๒๒ - วันอังคารที่ ๒๘ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓
991 1,633