29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

August 08,2020

โคราชเร่งแยกอีก ๔ อำเภอ อ้างประชากรเยอะ-ไกล แต่‘อำเภอเมือง’ไม่ยอม

“วิเชียร จันทรโณทัย” เร่งแยกพื้นที่จากอำเภอเดิม จัดตั้งอำเภอใหม่ ๔ แห่ง คือ อำเภอกลางดง วังกะทะ คลองไผ่ และห้วยบง อ้างประชาชนเยอะและอยู่ห่างไกล หวังเพิ่มคุณภาพชีวิต ให้บริการงานราชการง่ายขึ้น คาดขอใช้งบปี ๒๕๖๕ เพื่อจัดตั้ง ส่วนอำเภอเมืองเล็งแยก ‘หัวทะเล-โพธิ์กลาง’ แต่ประชาชนไม่ยอม

สืบเนื่องจาก ในการประชุมกรมการจังหวัดนครราชสีมา และหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดนครราชสีมา ครั้งที่ ๗/๒๕๖๓ เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๓ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวช่วงหนึ่งขณะมอบหมายนโยบายและข้อสั่งการว่า “ตามที่แจ้งให้เป็นนโยบายไปที่ทำการปกครองจังหวัดว่า จะขอแยกอำเภอในพื้นที่ของอำเภอสีคิ้ว อาจจะต้องเป็นตำบลคลองไผ่ อำเภอปากช่อง อาจจะเป็นตำบลวังกะทะ ตำบลกลางดง อำเภอด่านขุนทดเป็นตำบลห้วยบง ถ้าอำเภออื่นมีความจำเป็นที่จะแยกก็ให้ปรึกษาหัวหน้าส่วนราชการ เนื่องจากบางพื้นที่ระยะทางไกลมาก ต้องเร่งเสนอแยกอำเภอขึ้นมา ผมคิดว่าอำเภอเมืองนครราชสีมา ประชากรค่อนข้างมากจริงๆ เพียงแต่ว่าใกล้ตัวเมือง ก็ควรจะแยกเช่นกัน และเมื่อวาน (วันอาทิตย์ที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๓) ผมไปที่ตำบลหัวทะเล มีประชากร ๓๐,๐๐๐ คน วันก่อนไปตำบลโพธิ์กลาง ประชากร ๒๒,๐๐๐ คน เท่ากับอำเภอบ้านเหลื่อมทั้งอำเภอ เพราะฉะนั้นประชากรของอำเภอเมืองนครราชสีมานี้มีจำนวนมาก ควรจะแยกอำเภอเพื่อไปดูแลอย่างใกล้ชิด นายอำเภอลองปรึกษาทางหัวหน้าส่วนราชการ ถ้าแยกอำเภอได้ ก็เสนอขึ้นมา ถ้าในอนาคตมีเรื่องแยกจังหวัดอีกหรือเปล่านั้น ก็เป็นเรื่องของอนาคตอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ ก็เพื่อให้การบริการประชาชนง่ายขึ้น”

ผุด ๔ อำเภอใหม่

จากนั้น เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๓ เวลา ๐๗.๐๐ น. ที่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ในพิธีวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างอาคารศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า “เนื่องจากจังหวัดมีความต้องการให้บริการประชาชน เมื่อมาพิจารณาดูแล้ว ในหลายอำเภอ ประชาชนบางตำบลอยู่ห่างไกลมาก จึงได้สั่งการให้ไปสอบถามประชาชนในแต่ละพื้นในเรื่องการแยกเป็นอำเภอ เช่น อำเภอสีคิ้ว จะแยกเป็นอำเภอคลองไผ่ ซึ่งประกอบไปด้วย ตำบลหนองน้ำใส ตำบลกฤษณา, อำเภอด่านขุนทด แยกเป็นอำเภอห้วยบง ประกอบด้วย ตำบลหินดาด, อำเภอปากช่อง แยกเป็นอำเภอวังกะทะ ประกอบด้วย ตำบลวังกะทะ ตำบลวังหมี และตำบลระเริง (อำเภอวังน้ำเขียว) ซึ่งในส่วนของอำเภอปากช่อง ยังจะแยกเป็นอำเภอกลางดงด้วย ส่วนในเขตอำเภอเมือง ซึ่งมีประชากรจำนวนมาก ประมาณ ๔ แสนคน ก็ต้องการแยกอำเภอเช่นกัน แต่ด้วยประชาชนในเขตอำเภอไม่ต้องการ จึงต้องฟังเสียงประชาชนเป็นหลัก ดังนั้นขณะนี้กำลังเร่งดำเนินการในส่วนของอำเภอต่างๆ ที่กล่าวมา”

ต.ห้วยบง’เอาด้วย

ต่อมาเมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๐.๐๐ น. นายวิสูตร ชัชวาลวงศ์ ปลัดจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยผ่านทางโทรศัพท์กับ “โคราชคนอีสาน” ว่า “ในการแยกอำเภอตามคำสั่งของผู้ว่าราชการจังหวัด ขณะนี้อำเภอที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งสอบถามความคิดเห็นและทำประชาคมจากประชาชน ซึ่งยังไม่มีผลสรุปความต้องการของประชาชนส่งขึ้นมายังจังหวัด”

จากนั้น “โคราชคนอีสาน” ติดต่อไปยังที่ว่าการอำเภอด่านขุนทด, สีคิ้ว และปากช่อง ซึ่งนายนิติพัฒน์ ขอดทอง ปลัดอำเภอด่านขุนทด กล่าวว่า “อำเภอด่านขุนทดขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ แต่ยังไม่มีการทำประชาคม ซึ่งจากการสอบถามคร่าวๆ พบว่า ประชาชนตำบลห้วยบงเห็นด้วยกับการแยกเป็นอำเภอใหม่ ส่วนตำบลหินดาดยังไม่มีการสอบถามใดๆ ต้องรอให้ผู้นำชุมชนสอบถามให้แล้วเสร็จเสียก่อน”

ต.ตลองไผ่ อยากอยู่สีคิ้ว

ทางด้าน นายธวัชชัย กรอบสูงเนิน ปลัดอำเภอสีคิ้ว กล่าวว่า “ในส่วนของอำเภอสีคิ้ว ขณะนี้สอบถามประชาชนในพื้นที่ครบแล้ว ซึ่งประชาชนที่ตำบลคลองไผ่ยังประสงค์ที่จะอยู่กับอำเภอสีคิ้ว ไม่ต้องการแยกอำเภอออกไป ทำให้ไม่สามารถจัดตั้งอำเภอใหม่ได้ เนื่องจากไม่ตรงกับหลักเกณฑ์ของกระทรวงฯ โดยหลังจากนี้ทางอำเภอสีคิ้วก็จะรวบรวมข้อมูลและรายงานผู้ว่าฯ ต่อไป”

‘ปากช่อง’เร่งทำประชาคม

ด้าน นายสุรพันธ์ ศิลปสุวรรณ นายอำเภอปากช่อง เปิดเผยว่า “ขณะนี้ได้มอบหมายให้ผู้นำชุมชนในพื้นที่เป้าหมายทำประชาคม ซึ่งคาดว่าประมาณกลางเดือนสิงหาคมก็คงจะได้ผลสรุปที่ชัดเจน จากนั้นจะนำเรื่องส่งต่อไปยังจังหวัด โดยส่วนตัวในการแยกอำเภอใหม่ออกจากปากช่อง หากทำแล้วจะช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลมีความสะดวกสบายมากขึ้น ผมว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะปัจจุบันพื้นที่ของอำเภอปากช่องกว้างมาก พื้นที่เป้าหมายที่ผู้ว่าฯ สั่งการมาก็เป็นพื้นที่ที่ห่างไกลจริง หากแยกออกไปเป็นอำเภอใหม่ ก็จะทำให้ประชาชนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งการติดต่องานราชการ การรับการรักษา และการพัฒนาต่างๆ ที่จะตามมาในอนาคตด้วย”

เตรียมลงพื้นที่ทำความเข้าใจ

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๓ ที่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ถึงความคืบหน้ากรณีการแยกอำเภอว่า “เนื่องจากจังหวัดเห็นว่าประชาชนหลายพื้นที่ อยู่ห่างไกลมาก ยากต่อการให้บริการของส่วนราชการต่างๆ เพราะอำเภอเป็นเหมือนศูนย์กลางในการดำเนินงานด้านเอกสาร การรักษาสุขภาพ หากมีการตั้งอำเภอใหม่ขึ้นมาก็จะทำให้ข้าราชการได้ไปบริการประชาชนอย่างใกล้ชิด และประชาชนก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย สำหรับหลักเกณฑ์การจัดตั้งอำเภอใหม่ พื้นที่นั้นจะต้องมีประชากรมากกว่า ๓๕,๐๐๐ คน มีพื้นที่ที่ห่างไกลจากอำเภอเดิม และมีตำบลไม่น้อยกว่า ๓ ตำบล เพราะฉะนั้นต้องมีการลงไปทำความเข้าใจกับประชาชน เนื่องจากประชาชนบางพื้นที่ยังต้องการอยู่กับอำเภอเดิม หากยังเป็นเช่นนี้ก็จะทำให้ไม่ครบหลักเกณฑ์การจัดตั้งอำเภอใหม่ และไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ซึ่งในบางพื้นที่อาจจะต้องนำตำบลจากอำเภออื่นมาเพิ่มเข้าไปด้วย เช่น อำเภอวังกะทะ ก็จะต้องมีตำบลวังกะทะ ตำบลโป่งตาลอง อำเภอปากช่อง รวมกับตำบลวังหมี ตำบลระเริง ของอำเภอวังน้ำเขียวด้วย เพื่อให้ตรงตามหลักเกณฑ์ต่อไป”

“ขณะนี้ อบต.บางแห่งที่เกี่ยวข้อง กังวลถึงผลกระทบต่างๆ ว่า หากมีการตั้งอำเภอใหม่ขึ้นมา สถานะของ อบต.จะกระทบหรือไม่ และงบประมาณจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ รวมทั้งประชาชนบางตำบลก็คงต้องการที่จะอยู่กับอำเภอเดิม ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะให้รองผู้ว่าฯ ลงไปทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ เพราะในขั้นตอนการจัดตั้งอำเภอใหม่ จะต้องมีการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนเป็นหลัก หากประชาชนไม่ยินยอมหรือไม่ต้องการ ก็จะไม่สามารถดำเนินการได้ และเมื่อประชาชนยินยอมแล้ว ขั้นต่อไปก็จะนำเข้าที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบล หัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ ที่ประชุมกรมการจังหวัด ตามลำดับ จากนั้นจะส่งเรื่องต่อไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณา และออกเป็นพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ) ซึ่งในการจัดตั้งอำเภอใหม่ทั้ง ๔ แห่ง หากไม่มีปัญหาติดขัดอะไร คาดว่าจะขอใช้งบประมาณในปี ๒๕๖๕ โดยโคราชจากเดิมมี ๓๒ อำเภอ จะเพิ่มเป็น ๓๖ อำเภอ” นายวิเชียร จันทรโณทัย กล่าว

หลักเกณฑ์การตั้งอำเภอ

ขณะเดียวกัน นายสวัสดิ์ ปลื้มพันธุ์ เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ ที่ทำการปกครองจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การตั้งอำเภอใหม่ ว่า “การตั้งอำเภอใหม่จะต้องผ่านหลักเกณฑ์ที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้ โดยเมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๗ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การจัดตั้งกิ่งอำเภอและอำเภอ ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้ ๑.การจัดตั้งกิ่งอำเภอ จะต้องมีประชากรไม่ต่ำกว่า ๒๕,๐๐๐ คน มีตำบล ๔ แห่งขึ้นไป มีที่ว่าการกิ่งอำเภอใหม่ ซึ่งควรมีระยะทางห่างจากที่ว่าการอำเภอเดิมไม่น้อยกว่า ๒๐ กิโลเมตร ทั้งนี้ ให้ใช้ข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์และข้อเท็จจริงจากการสำรวจของจังหวัดนำมาประกอบการพิจารณา และต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาตำบลหรือสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการอำเภอ และที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัด”

“สำหรับการจัดตั้งอำเภอใหม่ อำเภอนั้นต้องได้รับการจัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอมาแล้วไม่ต่ำกว่า ๕ ปี แต่ข้อกำหนดนี้สามารถยกเว้นได้ โดยผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี อำเภอใหม่ต้องมีประชากรไม่ต่ำกว่า ๓๕,๐๐๐ คน และต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด และที่ประชุมหัวหน้าส่วนราชการจังหวัด ทั้งนี้ การจัดตั้งกิ่งอำเภอและอำเภอ หากพื้นที่นั้นไม่ตรงกับหลักเกณฑ์ทั้ง ๒ อย่าง แต่มีความจำเป็นพิเศษทางภูมิประเทศ เศรษฐกิจ สังคม การเมืองการปกครองหรือความมั่นคง เช่น เป็นพื้นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยว พื้นที่ปัญหาความสงบไม่เรียบร้อย พื้นที่ชายแดน และพื้นที่ตามโครงการพระราชดำริ กระทรวงมหาดไทยสามารถเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเป็นกรณีพิเศษได้ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การรับฟังความคิดเห็นประชาชน แม้จะเข้าข่ายหลักเกณฑ์ต่างๆ ก็ตาม แต่ต้องทำตามกฎหมาย หากประชาชนไม่ยินยอมก็จะไม่สามารถดำเนินการต่อได้” นายสวัสดิ์ ปลื้มพันธุ์ กล่าว

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ พระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ.๒๔๕๗ หมวดที่ ๕ ว่าด้วยลักษณะปกครองอำเภอ ตอน ๑ การตั้งอำเภอและกิ่งอำเภอ มาตรา ๖๒ ท้องที่หลายตำบลอันสมควรอยู่ในความปกครองอันเดียวกันได้ให้จัดเป็นอำเภอหนึ่ง 

มาตรา ๖๓ ลักษณะการตั้งอำเภอ ให้สมุหเทศาภิบาลจัดการดังนี้ คือ ข้อ ๑ ให้กำหนดเขตท้องที่อำเภอมีเครื่องหมายและจรดเขตอำเภออื่นทุกด้าน อย่าให้มีที่ว่างเปล่าอยู่นอกเขตอำเภอ ข้อ ๒ ให้กำหนดจำนวนตำบลที่รวมเข้าเป็นอำเภอและให้กำหนดเขตตำบลให้ตรงกับเขตอำเภอ ถ้ามีที่ว่างเปล่า เช่น ทุ่งหรือป่าเป็นต้นอยู่ใกล้เคียงท้องที่อำเภอใด หรือจะตรวจตราปกครองได้สะดวกจากอำเภอใด ก็ให้สมุหเทศาภิบาลกำหนดที่ว่างนั้นเป็นที่ฝากในอำเภอนั้น ข้อ ๓ ให้กำหนดที่ตั้งที่ว่าการอำเภอให้อยู่ในที่ซึ่งจะทำการปกครองราษฎรในอำเภอนั้นได้สะดวก ข้อ ๔ ให้สมุหเทศาภิบาลบอกข้อกำหนดเหล่านี้เข้ามายังเสนาบดีในเวลาที่จะจัดตั้งอำเภอใหม่ เมื่อได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตแล้ว จึงประกาศตั้งอำเภอได้

มาตรา ๖๔ อำเภอใดท้องที่กว้างขวาง กรมการอำเภอจะไปตรวจตราให้ตลอดท้องที่ได้โดยยาก แต่หากในท้องที่นั้นผู้คนไม่มากมายพอแก่จะตั้งขึ้นเป็นอำเภอหนึ่ง ต่างหากก็ดี หรือในท้องที่อำเภอใดมีที่ประชุมชนมากอยู่ห่างไกลจากที่ว่าการอำเภอ กรมการอำเภอจะไปตรวจการไม่ได้ดังสมควร แต่จะตั้งที่ชุมชนแห่งนั้นขึ้นเป็นอำเภอต่างหาก ท้องที่จะเล็กไปก็ดี ถ้าความขัดข้องในการปกครองมีขึ้นอย่างใดดังว่ามานี้ จะแบ่งท้องที่นั้นออกเป็นกิ่งอำเภอเพื่อให้สะดวกแก่การปกครองก็ได้ ให้พึงเข้าใจว่าการที่ตั้งกิ่งอำเภอนั้น ให้ตั้งต่อเมื่อมีความจำเป็นในการปกครอง อำเภอหนึ่งจะมีกิ่งอำเภอเดียวหรือหลายกิ่งอำเภอก็ได้

มาตรา ๖๕ การจัดตั้งกิ่งอำเภอใด ก็เสมอตั้งที่ว่าการอำเภอนั้นเองขึ้นอีกแห่งหนึ่ง เพื่อความสะดวกแก่การปกครอง การที่จะกำหนดจะต้องกำหนดแต่ว่าตำบลใดๆ บ้าง ที่จะต้องอยู่ในปกครองของกิ่งอำเภอ เมื่อสมุหเทศาภิบาลได้รับอนุญาตของเสนาบดีแล้วก็จัดตั้งกิ่งอำเภอได้

อนึ่ง ปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมา แบ่งการปกครองออกเป็น ๓๒ อำเภอ ได้แก่ ๑.เฉลิมพระเกียรติ ๒.เทพารักษ์ ๓.เมืองนครราชสีมา ๔.เมืองยาง ๕.เสิงสาง ๖.แก้งสนามนาง ๗.โชคชัย ๘.โนนแดง ๙.โนนไทย ๑๐.โนนสูง ๑๑.ขามทะเลสอ ๑๒.ขามสะแกแสง ๑๓.คง ๑๔.ครบุรี ๑๕.จักราช ๑๖.ชุมพวง ๑๗.ด่านขุนทด ๑๘.บัวใหญ่ ๑๙.บัวลาย ๒๐.บ้านเหลื่อม ๒๑.ประทาย ๒๒.ปักธงชัย ๒๓.ปากช่อง ๒๔.พระทองคำ ๒๕.พิมาย ๒๖.ลำทะเมนชัย ๒๗.วังน้ำเขียว ๒๘.สีคิ้ว ๒๙.สีดา ๓๐.สูงเนิน ๓๑.หนองบุญนาก และ ๓๒.ห้วยแถลง โดยจังหวัดนครราชสีมามีประชากรประมาณ ๒,๖๔๘,๙๒๗ ล้านคน (ข้อมูล ณ วันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๒)

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๕ ฉบับที่ ๒๖๓๙วันพุธที่ ๕ - วันอังคารที่ ๑๑ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

951 1477