29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

September 10,2020

‘กังสดาล สวัสดิ์ชัย’ เกษตรจังหวัดนครราชสีมา กับ ‘พืชเศรษฐกิจทางเลือก’ ความหวังใหม่เกษตรกร

อย่างที่หลายคนรู้ว่า โคราชคือศูนย์กลางด้านการเกษตร ซึ่งเป็นรายได้หลักของจังหวัด เป็นอาชีพของคนส่วนใหญ่ ทั้งรัฐบาล ราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น ล้วนให้ความสำคัญกับการพัฒนาอาชีพเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง จากการให้สัมภาษณ์ของ “นายกังสดาล สวัสดิ์ชัย” เกษตรจังหวัดนครราชสีมา ถึงบทบาทหน้าที่ และทิศทางการพัฒนางานเกษตรของจังหวัดนครราชสีมา เพื่อที่จะจัดการกับปัจจัยการผลิตต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาพัฒนาการเกษตรในทุกแขนง

นายกังสดาล สวัสดิ์ชัย

มาพบเกษตรจังหวัดทั้งที ไม่ลืมที่จะถามถึง “พืชเศรษฐกิจ” ที่เป็นรายได้หลักให้เกษตรกรในจังหวัดนครราชสีมา ด้วยความที่มีพื้นที่เยอะ และมีความหลากหลายด้านเกษตร เกษตรจังหวัดได้ให้ข้อมูลและพูดคุยอย่างเป็นกันเองว่า พืชเศรษฐกิจในจังหวัดนครราชสีมา มีหลากหลายชนิด ตัวแรกคือ “ข้าวนาปี” มีพื้นที่ปลูกประมาณ ๓.๕ ล้านไร่ มีเกษตรกรกว่า ๑๗๒,๐๐๐ ครัวเรือน โดยเป็นสายพันธุ์หอมมะลิร้อยละ ๙๐ มีจุดเด่นและเอกลักษณ์ที่ปลูกในเขตทุ่งสัมฤทธิ์ จึงได้ขนานนามว่า “ข้าวหอมมะลิ ทุ่งสัมฤทธิ์” และที่สำคัญยังได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์” หรือ GI ถือว่าสร้างรายได้ ให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในจังหวัดนครราชสีมายาวนาน

และที่ใครๆ ก็รู้ว่าโคราชเป็นเมืองหลวงของ “มันสำปะหลัง” มีพื้นที่ปลูกประมาณ ๑,๔๐๐,๐๐๐ ไร่ มีเกษตรกรประมาณ ๗๐,๐๐๐ ครัวเรือน เก็บผลผลิตได้ประมาณ ๓,๕๐๐-๔,๐๐๐ ตันต่อไร่ ในปัจจุบันมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่าง “ระบบน้ำหยด” เข้ามาช่วยส่งเสริมเกษตรกร เพิ่มศักยภาพการผลิตและยังช่วยประหยัดเวลา ประหยัดแรงงาน ประหยัดค่าใช้จ่าย และสิ่งที่สำคัญ ระบบน้ำหยด ยังช่วยลดวัชพืชในมันสำปะหลังได้อีกวิธีหนึ่ง ถือว่าได้รับความสนใจจากเกษตรกรในจังหวัดเป็นอย่างมาก

• โรคที่แก้ไม่หาย

ปัญหาหลักของเกษตรกรคือ “โรคใบด่างมันสำปะหลัง” เกิดจากเชื้อไวรัสที่มีแมลงหวี่ขาวยาสูบเป็นพาหะนำโรค ส่งผลให้ใบด่างและหงิก เสียรูปทรง และต้นแคระแกร็น การแพร่ระบาดกระจายเป็นวงกว้าง ถึง ๒๙ อำเภอ เกือบ ๒๐,๐๐๐ ไร่ ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามเข้ามาช่วยทำลายทุกวิถีทาง ทั้งจ่ายค่าชดเชยในการทำลายทิ้ง ส่งเสริมให้ปลูกพันธุ์ทนทาน  แทนพันธุ์มันสำปะหลังพันธุ์ ๘๙ ที่เกิดโรคง่าย รวมทั้งการช่วยเหลือเกษตกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ เมื่อไม่มีเอกสารสิทธิ์จึงยากต่อการได้รับเงินค่าชดเชย

สิ่งที่เป็นไปได้ในการแก้ปัญหา “โรคใบด่าง” ต้องอาศัยทีมนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญ ในการคิดค้นสายพันธุ์ใหม่ที่แข็งแรง ทนทาน และปลอดโรค คาดว่าใช้เวลาไม่ต่ำกว่า ๔-๕ ปี แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่สามารถหยุดยั้งโรคนี้ได้ดีซะทีเดียว จึงมีการส่งเสริมและให้ความรู้กับเกษตรกร ในการหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดใหม่หรือเรียกว่า “พืชทางเลือก” เพื่อให้เกษตกรนั้นมีรายได้เพิ่มขึ้น ปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อเพิ่มรายได้ให้มีลู่ทางการตลาด เราต้องเป็นกำลังใจให้ทุกฝ่ายในการแก้ปัญหาฝ่าพ้นวิกฤตโรคใบด่างมันสำปะหลังนี้ไปให้ได้

ส่วน “ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์” มีพื้นที่ปลูกประมาณ ๒๔,๐๐๐ ไร่ มีเกษตรกร ๗๐๐ กว่าครัวเรือน ปลูกมากในอำเภอปากช่อง อำเภอวังน้ำเขียว และอำเภอด่านขุนทด ปีที่ผ่านมาประสบปัญหาภัยแล้ง และ “หนอนกระทู้” ที่สร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง แต่ปีนี้ถือว่าโชคดีมีฝนตกต่อเนื่อง เป็นพืชไร่อยู่ในที่สูงไม่ต้องการน้ำมาก แค่เพียงมีความชื้นในดินก็สามารถเจริญเติบโตได้แล้ว บวกกับเกษตรกรมีองค์ความรู้ในการกำจัดและรับมือกับปัญหาได้อย่างถูกวิธี ส่งผลให้ปีนี้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไม่ได้ประสบปัญหามากนัก

• พืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่

ในช่วงที่ผ่านมาหลายคนอาจไม่รู้ว่า โคราชเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ ที่ปลูกไม้ผลได้เป็นอย่างดี ได้รับความสนใจอย่างมากทั้งเกษตรกรหน้าเก่าและหน้าใหม่ เรียกได้ว่าเป็น “พืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่” ที่สามารถสร้างรายได้และไม่ทิ้งพื้นที่ให้เสียเปล่า เป็นการปรับเปลี่ยนเพื่อให้อยู่รอด ในยุคที่ทุกคนต้องเอาตัวรอดด้วยตัวเองให้ได้

“มะม่วงน้ำดอกไม้” “น้อยหน่าเพชรปากช่อง” “แก้วมังกร” และ “พุทรานมสด” ถือเป็นไม้ผลที่โดดเด่น ปลูกมากในอำเภอเสิงสาง อำเภอวังน้ำเขียว และอำเภอปากช่อง เป็นพืชเศรษฐกิจที่เกษตรกรพัฒนาสายพันธุ์ แล้วสามารถทำรายได้เป็นอย่างดี ส่วนใหญ่จัดส่งไปยังต่างประเทศ ด้วยคุณภาพระดับพรีเมี่ยม ได้รับมาตรฐานรับรอง ช่วงวิกฤตโควิด-๑๙ ไม่สามารถส่งไปยังต่างประเทศได้ แก้ปัญหาโดยการจำหน่ายให้กับผู้บริโภคในจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง ปรากฏว่าเป็นที่ชื่นชอบเพราะสินค้าที่นำมาจำหน่าย เป็นผลไม้ระดับพรีเมี่ยม เป็นเกรดส่งออก และที่สำคัญราคาไม่สูงมาก

ถ้าถามว่า “ผลไม้คุณภาพระดับพรีเมี่ยม” หมายความว่าอย่างไร ก็ต้องบอกว่า เป็นผลไม้ที่มีคุณภาพทั้งรสชาติและรูปลักษณ์ที่ดีจนสามารถอัพราคาซื้อขายได้ การที่จะทำให้ผลไม้เข้าสู่ระดับพรีเมี่ยมได้นั้นต้องดูแล บำรุงและป้องกันโรคด้วยเทคนิคพิเศษ โดยเฉพาะป้องกันแมลงเข้าไปเจาะทำลาย โดยการใช้ถุงคาร์บอนห่อผล ทั้งยังเป็นการรักษาสีผิวของผลไม้ให้เนียนสวยอยู่ตลอดเวลาด้วย

ขณะนี้พ่อค้าชาวจีนเข้ามามีบทบาทในการเป็นตัวกลางด้านการขายมากขึ้น คำที่ใช้เรียกคือ “ล้งจีน” ซึ่งหมายถึง พ่อค้าชาวจีนที่เข้ามาตั้งโรงคัดบรรจุผลไม้ด้วยตัวเอง กลายเป็นว่าชาวต่างชาติเข้ามามีบทบาทมากกว่าคนไทย จนก่อให้เกิดปัญหาการส่งออก
เช่นเดียวกับ “อินทผาลัม” ที่นิยมปลูกมากในอำเภอครบุรี และอำเภอวังน้ำเขียว ติดแค่ต้องใช้เทคนิคและต้นทุนสูง ต้นพันธุ์ความสูง ๓๐ เซนติเมตร ราคาจะตกอยู่ที่ ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ บาท สายพันธุ์บาฮี เป็นสายพันธุ์ที่มีคุณภาพดี และเป็นที่ต้องการของตลาด บางปียอดขายสูงถึงกิโลกรัมละ ๖๐๐-๗๐๐ บาท แต่เมื่อ ๑-๒ ปีที่ผ่านมาราคาตกมาอยู่ที่กิโลกรัมละ ๔๐๐ บาท เพราะเกษตรกรหันมาปลูกกันมากขึ้น คาดว่า ในอนาคตข้างหน้า ถ้ามีการปลูกมากขึ้นกว่านี้อาจทำให้ล้นตลาดได้

• ทุเรียนโคราช

และที่ไม่พูดถึงคงไม่ได้ ถือเป็นราชาของผลไม้และเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของเกษตรกรโคราช คือ “ทุเรียน” ปลูกมากในพื้นที่อำเภอครบุรี เสิงสาง วังน้ำเขียว และปากช่อง รวมพื้นที่ปลูกแล้วประมาณ ๕,๐๐๐ ไร่ ให้ผลผลิตประมาณ ๓,๐๐๐ ไร่ เป็นพันธุ์หมอนทอง ๙๐% อีก ๑๐% คือก้านยาว เอกลักษณ์เฉพาะของทุเรียนโคราชมีกลิ่นไม่ฉุน รสชาติดีไม่หวานแหลม เนื้อนุ่มละเอียด และเม็ดเล็ก ซึ่งในระยะ ๑-๒ ปีที่ผ่านมา ผลผลิตดีเกินคาด ขายทั้งหน้าสวนและออนไลน์ แต่ถึงกระนั้น ทุกสวนทุกลูกก็ถูกขาทุเรียนจับจองไว้หมดแล้ว น้อยครั้งที่จะขับรถไปหน้าสวนแล้วเลือกซื้อได้เหมือนผลไม้อื่นๆ ทั่วไป เป็นไม้ผล ที่มีลู่ทางการตลาดที่ดี ต้องยอมรับว่า “ทุเรียนโคราช” เป็นอีกหนึ่ง“พืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่” ที่เกษตรกร ในจังหวัดนครราชสีมาให้ความสนใจอย่างมาก

• “KOS” เกษตรอินทรีย์แนวใหม่

ส่วนด้านเกษตรอินทรีย์ มีการขับเคลื่อนให้เป็นรูปประธรรมมากขึ้นกว่าเมื่อก่อน จะมีการก่อตั้งแบรนด์ ว่า “KOS” หรือ “Korat Organic Standard” ขับเคลื่อน “เกษตรอินทรีย์ 5D วิถีคนโคราช” ประกอบด้วย ๑.พันธุ์ดีไม่มีสารเคมีปนเปื้อน ๒.ดินดี เกษตรกรต้องมีการปรับปรุงบำรุงดินด้วยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ หรือน้ำหมักคุณภาพ ๓.น้ำดี ใช้น้ำที่ปลอดภัย ไม่มีสารพิษ หรือสารตะกั่ว ๔.การจัดการที่ดี ตั้งแต่การเตรียมเมล็ดพันธุ์ การเตรียมพื้นที่ปลูก รวมไปถึงการเก็บเกี่ยว การดูแลรักษาให้ทุกขั้นตอนเป็นเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด และสุดท้าย ๕.คนดี เกษตรกรจะประสบความสำเร็จได้ต้องมีความซื่อสัตย์ รับผิดชอบต่อตนเองและสังคมส่วนรวม

โดยนำ “เกษตรอินทรีย์ 5D วิถีคนโคราช” เป็นมาตรฐานกำหนด “KOS” ในการติดตามและประเมินผล ซึ่งในระยะแรกเน้นพืชผักที่เกษตรกรปลูกอยู่แล้ว แต่ขาดโอกาสที่จะได้รับการรับรอง โดย “KOS” นี้ จะเข้าไปผลักดันและพัฒนาคุณภาพให้เกษตรกรปลูกเกษตรอินทรีย์ร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นการรับรองคุณภาพและให้แบรนด์แก่เกษตรกร จนพัฒนาเข้าสู่ห้างร้าน จัดบูธเกษตรอินทรีย์สำหรับเกษตรกรชาวโคราชโดยตรง

จะเห็นได้ว่า พืชเศรษฐกิจมีความสำคัญต่อการดำรงชีวิต มีลักษณะเด่นทางการค้า ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแล พัฒนา และผลักดันให้พืชเศรษฐกิจสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่ด้านเกษตรเท่านั้น แต่ยังสามารถเกิดธุรกิจอื่นตามมาอีกมากมาย ทั้งธุรกิจการค้าเมล็ดพันธุ์ ธุรกิจค้าขาย ทั้งปลีกและส่ง ธุรกิจขายอุปกรณ์การเกษตรปุ๋ย และสารเคมี และธุรกิจขนส่ง ส่งผลให้มีเงินหมุนเวียนมากมายในธุรกิจและภาคเกษตรนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า เกษตรกรไทย จะได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ มีช่องทางในการพัฒนาวงการเกษตร และที่สำคัญ สามารถเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว ได้อย่างยั่งยืน

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๔๔ วันพุธที่ ๙ - วันอังคารที่ ๑๕ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๓


947 1663