16thApril

16thApril

16thApril

 

September 19,2020

กกต.พร้อมเลือกตั้งท้องถิ่น ‘บิ๊กตู่’คาดใช้ ๒-๓ พันล้าน ลือ‘อบจ.’กาบัตร ๑๓ ธันวา

กกต.พร้อมจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น หลัง “นายกฯตู่” ประกาศภายในปีนี้ ด้วยงบประมาณ ๒-๓ พันล้านบาท ส่วนข่าวแพร่สะพัดจะจัด เลือกตั้ง อบจ.ในวันที่ ๑๓ ธันวาคมนี้ ผอ.กกต.ระบุยังไม่แน่ เพราะไม่มีใครยืนยัน แต่ก็พร้อมจัดการเลือกตั้ง แนะให้ประชาชนเลือกผู้แทนที่ดี

 

ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาเปิดเผยเมื่อวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๖๓ ภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า “รัฐบาลเตรียมความพร้อมสำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณราว ๒,๐๐๐–๓,๐๐๐ ล้านบาท พร้อมยืนยันว่าจะมีการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นภายในปีนี้ แต่อาจต้องเว้นระยะประมาณ ๖๐ วัน เนื่องจากมีขั้นตอนในการดำเนินการหลายอย่างด้วยกัน” 

ต่อมามีการส่งข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง เกี่ยวกับกำหนดการเลือกตั้งท้องถิ่นต่างๆ ดังนี้ อบจ. ๗๖ แห่ง เลือกตั้งวันอาทิตย์ที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๓, เทศบาลนคร ๓๐ แห่ง เทศบาลเมือง ๑๘๑ แห่ง เทศบาลตำบล ๒,๒๓๔ แห่ง และ อบต. ๕,๓๒๙ แห่ง    เลือกตั้งวันอาทิตย์ที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔, กทม. เลือกตั้ง วันอาทิตย์ที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๔ และเมืองพัทยา เลือกตั้งวันอาทิตย์ที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๔

ล่าสุดวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๓ “โคราชคนอีสาน” สอบถามความพร้อมและกำหนดการเลือกตั้งท้องถิ่นจากนายศิริชัย วิริยพงศ์ ผู้อำนวยการ สำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเปิดเผยว่า เรื่องกำหนดการเลือกตั้งที่มีการเผยแพร่ทั่วไปนั้น เป็นข่าวที่ไม่มีแหล่งที่มา ไม่สามารถเชื่อถือได้ ไม่ได้ออกมาจากกระทรวงมหาดไทย เป็นเพียงการคาดการณ์ ส่วนอำนาจที่จะให้ท้องถิ่นใดเลือกตั้งก่อนนั้น เป็นอำนาจของ ครม. ส่วน กกต.จะเป็นผู้กำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งจะเป็นวันใดนั้น ทางเลขาธิการ กกต.จะต้องเป็นผู้ออกมาแถลงความชัดเจน 

ในขณะนี้ กกต.ทำในเรื่องเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกประเภท ซึ่งไม่ทราบว่า ครม.จะกำหนดให้เลือกตั้งท้องถิ่นใดก่อนหลัง หรือเมื่อไหร่ แต่ กกต.เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในด้านของการเลือกตั้ง ขณะนี้ทั้ง กกต.ส่วนกลาง และกกต.จังหวัดต้องจัดการเตรียมความพร้อม เช่น การแบ่งเขตเลือกตั้งซึ่งดำเนินการไปแล้ว มีการอบรมวิทยากรในระดับต่างๆ เพื่อเตรียมการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะมีขึ้น หากมีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ก็สามารถดำเนินการได้ทันที ซึ่งการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น ในส่วนของงบประมาณทางท้องถิ่นจะเป็นผู้รับผิดชอบ สามารถใช้เงินสะสมได้ หากท้องถิ่นไหนขาดเหลือ คงจะขอไปทางต้นสังกัด กระทรวง หรือกรมที่รับผิดชอบ

สำหรับเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละท้องถิ่นในจังหวัดนครราชสีมานั้น นายศิริชัย วิริยพงศ์ เปิดเผยว่า กกต.ดำเนินการเรียบร้อยหมดแล้ว เหลือเพียงลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น ในส่วนของอบจ. แม้จะมีประชากรเพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังมีจำนวน ๔๘ เขตเท่าเดิม มีเพียงบางอำเภอเท่านั้นที่มีเพิ่ม-ลดเขตเลือกตั้ง เช่น อำเภอบัวใหญ่ จากที่เคยมี ๒ เขต การเลือกตั้งครั้งนี้จะเหลือ ๑ เขต เพราะประชากรลดลง ในขณะที่อำเภอปากช่อง มีประชากรเพิ่มขึ้น จากที่มี ๓ เขต ก็จะเพิ่มเป็น ๔ เขต เท่ากับว่าจะมี ส.อบจ. ๔ คน 

“โคราชคนอีสาน” สอบถามความเห็นกรณีที่ไม่ได้จัดการเลือกตั้งมานาน หากมีการแข่งขันสูง กกต.จะรับมือไหวหรือไม่? ผู้อำนวยการ กกต.ประจำจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “สำนักงาน กกต.จังหวัดฯ สามารถรับมือได้อยู่แล้ว หากมีเรื่องกระทำผิดเราก็พร้อมสอบสวน ดำเนินการไปตามกระบวนการ ไม่น่ามีปัญหา แต่จะขอความร่วมมือจากประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งเวลาเข้าไปในคูหาเลือกตั้งไม่มีใครไปบังคับได้ ฉะนั้นหากผู้สมัครคนใดมีชื่อเสียงไม่ดี แล้วประชาชนรู้ว่าเขาทุจริต อำนาจก็อยู่ในมือประชาชนว่าจะเลือกหรือไม่ เพราะการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้นใกล้ชิดและมีผลกระทบกับประชาชนโดยตรง ต้องใช้ดุลพินิจในการพิจารณาเลือกบุคคลเข้ามาให้ดี อยากได้ผู้แทนแบบไหน ท่านก็เลือกตามใจท่าน ท่านมีสิทธิ์ที่จะเลือก หากเขาซื้อเสียงเข้าไป เขาก็คงไปถอนทุน หากท่านเลือกเขาอีก ก็เป็นเรื่องของท่าน เราไม่สามารถบังคับได้ การเข้าคูหาเป็นอำนาจของผู้มีสิทธิ์จริงๆ กกต.ไปยุ่งเกี่ยวไม่ได้ ทำเพียงแค่จัดสถานที่เลือกตั้งให้ลงคะแนน หากต้องการให้ท้องถิ่นพัฒนา ชาติบ้านเมืองไม่มีปัญหา ก็ต้องพิถีพิถันในการเลือกคน เราว่างเว้นมาหลายปีแล้ววันนี้เราได้เลือกตั้ง เราเรียกร้องอยากให้ลงคะแนน อยากให้มีการเลือกตั้ง เวลาเข้าคูหาก็ต้องพิถีพิถัน จะได้คนดี ท้องถิ่นท่านจะเจริญ จะพัฒนา จะใช้จ่ายงบประมาณอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพหรือไม่อยู่ที่ตัวผู้มีสิทธ์เลือกตั้ง อำนาจในการจะเลือกผู้แทนท้องถิ่นอยู่ในมือท่าน” 

ทั้งนี้ จังหวัดนครราชสีมา มีทั้งหมด ๓๒ อำเภอ ๒๘๙ ตำบล ๓,๗๔๓ หมู่บ้าน ๗๓๗,๓๗๗ ครัวเรือน มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ๓๓๔ แห่ง แบ่งเป็น องค์การบริหารส่วนจังหวัด ๑ แห่ง, เทศบาลนคร ๑ แห่ง, เทศบาลเมือง ๔ แห่ง, เทศบาลตำบล ๘๕ แห่ง, องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ๒๔๓ แห่ง มีประชากรจำนวน ๒,๖๑๐,๑๖๔ คน

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๔๕ วันพุธที่ ๑๖ - วันอังคารที่ ๒๒ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๓

 
 

957 1374