28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

September 19,2020

โคราชมหานครไร้สาย ประเดิมรื้อเสาไฟหน้าย่าโม เตรียมคืนผิวถนนทันที

โครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน กฟภ.ประเดิมรื้อเสาไฟฟ้า ล็อตที่ ๑ หน้าย่าโม เพื่อปรับทัศนียภาพเมือง “โคราชมหานครไร้สาย” ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีสู่นานาชาติ ยันปัญหาไฟฟ้าขัดข้องแทบจะไม่เกิดขึ้น ด้านเทศบาลนครฯ เตรียมคืนผิวถนนทันที

จากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ อนุมัติและเห็นชอบให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ดำเนินโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ ระยะที่ ๑ (คพญ.๑) เพื่อก่อสร้างและปรับปรุงระบบไฟฟ้า พร้อมทั้งติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมในพื้นที่โครงการเพื่อเพิ่มความมั่นคงและเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า ลดปัญหาและอุปสรรคด้านการปฏิบัติการบำรุงรักษาและความปลอดภัย พื้นที่ดำเนินการ ๔ เมือง ได้แก่ เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครนครราชสีมา เมืองพัทยา และเทศบาลนครหาดใหญ่ งบประมาณ ๑๑,๖๖๘.๕๖ ล้านบาท โดยใช้เงินกู้ในประเทศ จํานวน ๘,๗๔๘.๕๖ ล้านบาท และเงินรายได้ PEA จํานวน ๒,๙๒๐ ล้านบาท ซึ่งในส่วนของเทศบาลนครนครราชสีมา ได้รับงบประมาณ ๒,๔๓๓ ล้านบาท เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๒ เป็นต้นมา มีแผนงานการดําเนินงาน ในระยะที่ ๑ แบ่งเป็น ๖ ล็อต รวมระยะทาง ๑๗.๓๗ วงจรกิโลเมตร โดยปี ๒๕๖๓ PEA จะดําเนินการแล้วเสร็จ ๒ ล็อต รวมระยะทาง ๔.๔๒ กิโลเมตร เส้นทางล็อตที่ ๑ บริเวณถนนชุมพลและถนนราชดําเนิน รอบอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี เส้นทางล็อตที่ ๒ บริเวณถนนสุรนารี ถนนบุรินทร์ ถนนพิบูลละเอียด และถนนจอมสุรางค์ยาตร์ และถนนโพธิ์กลางบางส่วน โดยภายในปี ๒๕๖๔ จะดําเนินการแล้วเสร็จครบทั้ง ๖ ล็อต

รื้อถอนเสาไฟฟ้าล็อตที่ ๑

ล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๓ เวลา ๐๙.๐๐ น. ที่โรงแรมสบาย อำเมือง นครราชสีมา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา (PEA) จัดการบรรยาย โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ (คพญ.) การดำเนินงานโครงการที่ผ่านมา รวมทั้งแผนการพัฒนาสถานีไฟฟ้าและระบบส่งสำหรับเมืองใหญ่ การปรับปรุงระบบจำหน่ายไฟฟ้าเป็นเคเบิลใต้ดิน การปรับปรุงระบบจำหน่ายเหนือดินนอกเหนือจากพื้นที่เคเบิลใต้ดิน จากนั้นเวลา ๑๐.๐๐ น. ลงพื้นที่ทำการรื้อถอนเสาไฟฟ้า ที่บริเวณริมถนนราชดำเนิน ข้างลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) เขตเทศบาลนครนครราชสีมา โดยมีนายศรีธร ญาณะนันท์ ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัด (กฟภ.จ.) นครราชสีมา พร้อมด้วยนายกานต์ระพี ธงชัยไตรวัฒน์ รองผู้จัดการ (บริการลูกค้า) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา และเจ้าหน้าที่งานซ่อมบำรุง ร่วมรื้อถอนเสาไฟฟ้า เพื่อเตรียมความพร้อมเปิดจ่ายระบบไฟฟ้าใต้ดิน ‘โคราชมหานครไร้สาย’ เต็มรูปแบบ โดยนำสายเคเบิ้ลส่งลงใต้ดิน ก่อนจะใช้รถเครนรื้อถอนเสาไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ตามริมถนนทั้งสองฝั่งออก 

ปรับทัศนียภาพกระตุ้นท่องเที่ยว

นายศรีธร ญาณะนันท์ ผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “หลังจากนำสายไฟฟ้าลงสู่ใต้ดินแล้ว ระบบจําหน่ายไฟฟ้าจะมีความมั่นคงด้วยระบบสายไฟฟ้าใต้ดิน ช่วยเสริมสร้างความมั่นคงปลอดภัยของระบบไฟฟ้า ลดปัญหาไฟฟ้าตกหรือไฟฟ้าดับจากภัยธรรมชาติและอุบัติภัยต่างๆ รวมถึงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอก เช่น อุบัติเหตุจากรถชนเสาไฟฟ้า ฝนตกลมแรง ซึ่งอาจพัดกิ่งไม้หรือป้ายโฆษณามาเกี่ยวสายไฟฟ้า ทําให้เกิดความเสียหายและอันตรายได้ อีกทั้งรองรับการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ด้วยระบบสายไฟฟ้าใต้ดิน มีความมั่นคง และมีประสิทธิภาพมากกว่าระบบสายไฟฟ้าอากาศ อีกทั้งนับวันการใช้ไฟฟ้ายิ่งมีบทบาทกับเรามากขึ้น จึงสามารถรองรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของสังคมเมือง และช่วยทําให้ทัศนียภาพสวยงามด้วยเพราะประเทศไทยเป็นประเทศท่องเที่ยว ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเป็นสิ่งสําคัญ PEA เร่งมือนําสายไฟฟ้าลงใต้ดิน เพื่อทัศนียภาพที่สวยงาม อีกทั้งยังเพิ่มความน่าเชื่อถือและเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีสู่สายตาชาวต่างชาติ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านการท่องเที่ยว ของจังหวัดนครราชสีมา ในนาม PEA ขอขอบคุณ จังหวัดนครราชสีมา นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ตำรวจภูธร และทุกภาคส่วน ประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมา ที่ให้ความร่วมมือสนับสนุนการดำเนินงานของ PEA รวมทั้งผู้ประกอบการธุรกิจโทรคมนาคมที่มีแผนนําสายสื่อสารลงสู่ใต้ดินแล้วเสร็จในช่วงระยะเวลาดําเนินการของ PEA”

ยันมีความปลอดภัยสูง

“การนําสายไฟฟ้าลงดินมีความปลอดภัยอย่างไร และเมื่อเกิดเหตุอุทกภัยจะเป็นอันตรายหรือไม่นั้น ซึ่งระบบสายเคเบิลใต้ดิน มีความปลอดภัยสูงมากและสูงกว่าระบบสายไฟฟ้าเหนือดิน เนื่องจากระบบสายเคเบิลใต้ดิน สายที่นํามาใช้งานเป็นสายที่ประกอบด้วยฉนวน ๒ ชั้น ซึ่งมากกว่าระบบสายเหนือดิน พร้อมทั้งชิลด์ (Shield) ตลอดความยาวสาย ซึ่งทําหน้าที่นํากระแสรั่วลงดิน ทําให้ระบบเคเบิลใต้ดินมีความปลอดภัยกว่าระบบไฟฟ้าเหนือดินเป็นอย่างมาก และเนื่องจากสายเคเบิลใต้ดินประกอบด้วยฉนวน ๒ ชั้น พร้อมมีระบบป้องกันน้ำหรือความชื้นเข้าไปในสายเคเบิลใต้ดิน ทําให้สายเคเบิลใต้ดินสามารถแช่อยู่ในน้ำได้โดยที่ไม่เกิดไฟรั่ว ในขณะที่มีอุทกภัย เมื่อเกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้อง การดําเนินการแก้ไขยากกว่าเดิมหรือไม่อย่างไรนั้น ระบบเคเบิลใต้ดินเป็นระบบที่มีความมั่นคงที่สูงมาก และมีโอกาสน้อยที่จะเกิดปัญหาไฟฟ้าขัดข้อง เนื่องจากการติดตั้งสายเคเบิลใต้ดินในท่อร้อยสายไฟฟ้าที่อยู่ใต้ดิน แทบไม่มีปัญหาจากมลภาวะอากาศ สัตว์ต่างๆ หรือ ปรากฏการณ์ฟ้าผ่า โดยโครงการนี้ PEA ได้ดําเนินการออกแบบระบบเคเบิลใต้ดินเป็นแบบวงรอบ (Loop) ซึ่งหากเกิดปัญหากับสายเคเบิลใต้ดินช่วงใด ก็ยังคงมีสายเคเบิลใต้ดินช่วงที่เหลือสามารถจ่ายไฟทดแทนได้ ดังนั้นปัญหาไฟฟ้าขัดข้องจึงแทบจะไม่เกิดขึ้นสําหรับระบบเคเบิลใต้ดิน” นายศรีธร ญาณะนันท์ กล่าว

เทศบาลฯ พร้อมซ่อมถนน

นายศรีธร ญาณะนันท์ กล่าวท้ายสุดว่า “นอกจาก PEA ปัจจุบันมีอีก ๒ หน่วยงานที่รับผิดชอบ คือองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (TOT) และเทศบาลนครนครราชสีมา ในเรื่องการคืนผิวจราจร มีการตกลงกับเทศบาลนครฯ โดย PEA จะมีการคืนผิวจราจรในส่วนหนึ่ง ซึ่งจะมีวิศวกรและผู้รับเหมาดำเนินการอยู่ตลอด ทั้งนี้ อาจจะมีปัญหาบ้างเมื่อทำเสร็จแล้วอาจจะเกิดฝนตก ทำให้ถนนเกิดการยุบตัว ได้เร่งรัดให้ผู้รับเหมาเร่งดำเนินการ ในส่วนเทศบาลนครฯ จะทำการคืนผิวจราจรให้สมบูรณ์ คาดว่าจะดำเนินการต่อเนื่องหลังจากการรื้อถอนเสาไฟฟ้าแล้วเสร็จในแต่ละระยะ อย่างไรก็ตาม มีเสียงสะท้อนถึงผลกระทบในการนำสายไฟฟ้าลงดิน จากผู้ที่ใช้เส้นทางสัญจร ผู้ประกอบการร้านค้า รวมถึงเรื่องอุบัติเหตุ ซึ่งหากพบบริเวณจุดเสี่ยงสามารถร้องเรียงได้ จะแก้ไขให้โดยเร็ว เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ส่วนหม้อแปลงไฟฟ้าที่ต้องอยู่ริมทางเท้าในบ้างพื้นที่ ซึ่งนำมาทดแทนหม้อแปลงที่อยู่บนเสาไฟฟ้า ในบางพื้นที่จะมีการติดตั้งบนอากาศด้วยเสาเหมือนเดิม แต่จะไม่มีสายไฟระโยงระยาง ในเรื่องสายสื่อสารนำออกเช่นกัน เพราะไม่มีเสาไฟฟ้าในการเดินสายไฟ ส่วนนี้ TOT จะเป็นผู้ดำเนินงานนำลงใต้ดิน ร่วมกับบริษัทต่างๆ ที่ให้บริการเรื่องสายสื่อสาย ทั้งโทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ต” 

รายละเอียด คพญ.๑

ทั้งนี้ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เดินหน้าตามมติคณะรัฐมนตรีพัฒนาระบบไฟฟ้าเมืองใหญ่ ระยะที่ ๑ แบ่งเป็น ๖ ล็อตได้แก่ ล็อต ๑ ถนนชุมพลและถนนราชดำเนิน ระยะทาง ๑.๖๖ กิโลเมตร วงเงิน ๑๖๐.๐๑๘ ล้านบาท ผู้รับจ้าง บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน), ล็อต ๒ ถนนสุรนารี, ถนนบุรินทร์, ถนนพิบูลละเอียด, ถนนจอมสุรางค์ยาตร์, และถนนโพธิ์กลาง ระยะทาง ๒.๕๘ กิโลเมตร วงเงิน ๒๓๕.๕ ล้านบาท ผู้รับจ้าง บริษัท RSS 20108 จำกัด ล็อต ๓ ถนนจอมสุรางค์ยาตร์, ถนนบัวรอง, ถนนโพธิ์กลาง และถนนโยธา ระยะทาง ๓.๑ กิโลเมตร วงเงิน ๒๗๗.๘ ล้านบาท ผู้รับจ้าง บริษัท เด็มโก้ จำกัด (มหาชน) 

 

ล็อต ๔ ถนนราชดำเนิน, ถนนราชนิกูล, ถนนไชยณรงค์, ถนนพลแสน, ถนนยมราช, ถนนอัษฏางค์, ถนนจอมพล, ถนนมหาดไทย และถนนสรรพสิทธิ์ ระยะทาง ๔.๘ กิโลเมตร วงเงิน ๓๑๔ ล้านบาท ผู้รับจ้าง กิจการค้าร่วม ศรีชลธร และโปรเอ็น (บริษัท ศรีชลธร จำกัด และ บริษัท โปรอิมเมจ เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด) ล็อต ๕ ถนนมนัส, ถนนพลแสน, ถนนยมราช, ถนนอัษฏางค์, ถนนจอมพล, ถนนมหาดไทย และถนนสรรพสิทธิ์ ระยะทาง ๒.๖ กิโลเมตร วงเงิน ๑๘๗ ล้านบาท ผู้รับจ้าง บริษัท ธนวรรณ อีเล็คทริค คอนสตรัคชั่น จำกัด ล็อต ๖ ถนนจักรี, ถนนพลแสน, ถนนยมราช, ถนนอัษฏางค์, ถนนจอมพล, ถนนมหาดไทย, ถนนสรรพสิทธิ์และถนนกำแหงสงคราม ระยะทาง ๒.๖๓ กิโลเมตร วงเงิน ๑๘๓.๗๕ ล้านบาท ผู้รับจ้างบริษัท ฟิวเจอร์ อีเล็คทริคอล คอนโทรล จำกัด

ส่วนล็อตที่ ๗ เป็นงานจ้างเหมาก่อสร้างสายส่ง ๑๑๕ เควี เคเบิลใต้ดินช่วงโรงแรมสีมาธานีถึงสถานีไฟฟ้านครราชสีมา ๖ (บริเวณสำนักงาน PEA จังหวัดนครราชสีมา) ระยะทาง ๒.๒ กิโลเมตร วงเงิน ๓๐๘.๔ ล้านบาท ผู้รับจ้าง กลุ่ม Consortium FEC & ETE และล็อตที่ ๘ เป็นงานก่อสร้าง “สถานีไฟฟ้านครราชสีมา ๖” วงเงิน ๑๖๒ ล้านบาท ผู้รับจ้าง บริษัท พรีไซซ ซิสเท็ม แอนด์ โปรเจ็ค จำกัด

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๔๕ วันพุธที่ ๑๖ - วันอังคารที่ ๒๒ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

968 1604