29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

September 26,2020

ขยับ‘เมืองใหม่โคราช’ รับเกษตร-อุตสาหกรรม

‘เมืองใหม่โคราช’ วาดภาพอนาคตการพัฒนาเมืองใน ๒๐ ปีข้างหน้า เผยคนโคราชต้องการเชื่อม ภาคเกษตรกรรมเข้ากับอุตสาหกรรม คาดพื้นที่เมืองใหม่อยู่ระหว่างชนบทและตัวเมือง 

 

สืบเนื่องจาก สำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา ว่าจ้างบริษัท แพลนเนอร์ ๒๖ จำกัด เป็นที่ปรึกษาโครงการศึกษาแผนแม่บทเมืองใหม่นครราชสีมา เพื่อสร้างภาพอนาคตพัฒนาเมืองใหม่ใน ๒๐ ปีข้างหน้า ซึ่งมีระยะเวลาศึกษา ๖๐๐ วัน เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๕๖๓ เป็นต้นมา และจัดการสัมมนาเพื่อประเมินความสนใจของภาคเอกชน ครั้งที่ ๑ หัวข้อ การคาดการณ์เชิงยุทธศาสตร์เพื่อการกวาดสัญญาณและจัดลำดับความสำคัญของปัจจัยขับเคลื่อน เพื่อสร้างภาพอนาคตพัฒนาเมืองใหม่ โครงการศึกษาแผนแม่บทเมืองใหม่นครราชสีมา เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๓ นั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๕๖๓ ที่โรงแรมดิอิมพีเรียล โคราช นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และนายประสิทธิ์ ศรีภิรมย์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการสัมมนาเพื่อประเมินความสนใจของภาคเอกชน ครั้งที่ ๒ หัวข้อ การนำเสนอภาพอนาคตและรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยมีตัวแทนภาครัฐและเอกชน อาทิ นายพงษ์เลิศ สุภัทรวณิชย์ รองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ผศ.ดร.นิคม บุญญานุสิทธิ์ คณบดีคณะศิลปกรรมและออกแบบอุตสาหกรรม มทร.อีสาน นายนราทร ธานินพิทักษ์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดนครราชสีมา ร่วมรับฟังบรรยายจากบริษัทที่ปรึกษาโครงการ ซึ่งมี ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง และนายธนิชา นิยมวัน ผู้จัดการโครงการ เป็นวิทยากร

นายประสิทธิ์ ศรีภิรมย์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า สำหรับการดำเนินโครงการที่ผ่านมา บริษัทที่ปรึกษาจัดสัมมนาเพื่อประเมินความสนใจของภาคเอกชน ครั้งที่ ๑ เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๓ โดยนำประเด็นที่ได้จากการสัมมนาดังกล่าว มาพิจารณาประกอบการศึกษา และนำมาสู่การสัมมนาเพื่อประเมินความสนใจของภาคเอกชนในวันนี้ ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมกิจกรรมสามารถแสดงความคิดเห็นต่างๆ ที่อาจมีประโยชน์ต่อการพัฒนาเมืองใหม่โคราช หรือแสดงความคิดเห็นถึงภาพเมืองโคราชในอีก ๒๐ ปีข้างหน้าได้ เพื่อที่ปรึกษาจะได้นำไปใช้เป็นประโยชน์ในการศึกษาหาข้อมูลต่อไป

พัฒนาเมืองใหม่โคราช

นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “โครงการศึกษาแผนแม่บทเมืองใหม่นครราชสีมา ดำเนินการโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง และสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา มอบหมายให้ บริษัท แพลนเนอร์ ๒๖ จำกัด ดำเนินการศึกษาและวางแผนการพัฒนา พื้นที่ที่มีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นพื้นที่เมืองนครราชสีมา โดยมีนายธนิชา นิยมวัน เป็นผู้จัดการโครงการ และนำคณะผู้เชี่ยวชาญศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) หลากหลายศาสตร์ อาทิ ด้านการวิจัยเมือง ด้านวิทยาศาสตร์ข้อมูล ด้านการออกแบบและพัฒนา และด้านสังคมศาสตร์ มารับฟังความคิดเห็นจากคนโคราช พร้อมจัดทำกระบวนการมองภาพอนาคตและวางแผนแบบร่วม หารือด้วย เพื่อเตรียมความพร้อมในการพัฒนาที่กำลังเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ มีเป้าหมายศึกษาและวางแผนพัฒนาพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นเมืองใหม่ ให้สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินเต็มตามศักยภาพ อีกทั้งยังสามารถนำแนวทางการพัฒนาตามแผนแม่บทดังกล่าวมาปรับปรุงข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินของผังเมืองรวมที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ให้มีความเหมาะสมต่อไป โดยการสัมมนาในวันนี้ เป็นผลมาจากกระบวนการระดมความคิดเห็นสาธารณะเพื่อการกวาดสัญญาณและจัดลำดับความสำคัญของปัจจัยขับเคลื่อน ในการสร้างภาพอนาคตการพัฒนาเมืองใหม่จังหวัดนครราชสีมาร่วมกันของทุกภาคส่วนในครั้งที่ผ่านมา”

“การดำเนินโครงการศึกษาแผนแม่บทเมืองนครราชสีมา สอดคล้องและรองรับกับแผนงานและโครงการพัฒนาของรัฐบาลที่กำลังดำเนินการอยู่และที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ผลที่ได้จะแสดงถึงภาพอนาคตของเมืองใหม่โคราชตามปัจจัยขับเคลื่อนต่างๆ โดยการนำเสนอบทสรุปที่เป็นภาพรวมนี้ ต้องการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมประชุมต่อภาพอนาคตนี้อีกครั้ง เพื่อที่กรมโยธาธิการและผังเมืองจะนำมาปรับใช้ในการศึกษาโครงการ รวมทั้งใช้กำหนดทิศทางการพัฒนาพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาอย่างบูรณาการ” นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าว

ภาพอนาคตโคราช

ผศ.ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ในฐานะที่ปรึกษาโครงการศึกษาแผนแม่บทเมืองใหม่นครราชสีมา กล่าวว่า “สำหรับวันนี้ เป็นการนำเสนอภาพอนาคตเมืองนครราชสีมา ๒๐๔๐ โดยใช้ “เทคนิคการมองภาพอนาคต” (foresight technique) ซึ่งเป็นเครื่องมือช่วยในการออกแบบและวางผังยุทธศาสตร์ ให้มีความแม่นยำและยืดหยุ่น สามารถรองรับต่อความเปลี่ยนแปลงหรือความไม่แน่นอนในอนาคต ทำให้เกิดความคิดที่นำไปสู่ข้อเสนอในการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อันเป็นเครื่องมือที่หลายเมืองใหญ่ทั่วโลกใช้สำหรับจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาเมืองในระยะยาว”

“ทั้งนี้ มีหลายปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดภาพอนาคตเมืองนครราชสีมา เช่น โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม อาทิ มอเตอร์บางปะอิน-โคราช โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง และความพร้อมของสถานีขนส่งหลัก ๓ แห่ง ได้แก่ สถานีนครราชสีมา สถานีปากช่อง และสถานีบัวใหญ่ รวมถึงโครงการพัฒนาระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) นอกจากนี้ ยังคาดการณ์ภายใต้แนวโน้มความท้าทายอื่นๆ อาทิ การเคลื่อนย้ายประชากรและแรงงาน ตลอดจนภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเสนอภาพอนาคตเมืองนครราชสีมา ๒๐๔๐ ซึ่งมีสาระสำคัญ ๔ ภาพใหญ่ ประกอบด้วย ๑.ภาพอนาคตที่เมืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยฐานด้านเกษตรกรรมจากการพัฒนาเมืองแบบโตเดี่ยวที่ศูนย์กลาง ๒.ภาพอนาคตที่เมืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยฐานด้านเกษตรกรรมจากการพัฒนาเมืองหลายศูนย์กลาง ๓.ภาพอนาคตที่เมืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยฐานด้านอุตสาหกรรมจากการพัฒนาเมืองแบบโตเดียวที่ศูนย์กลาง และ ๔.ภาพอนาคตที่เมืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยฐานด้าน อุตสาหกรรมจากการพัฒนาเมืองหลายศูนย์กลาง”

เมืองใหม่เกษตร-อุตสาหกรรม

ด้านนายธนิชา นิยมวัน ผู้จัดการโครงการ เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า “โครงการนี้เป็นแผนพัฒนาเมืองใหม่ของนครราชสีมา เริ่มต้นตั้งแต่เป็นภาพอนาคตแล้วไปจบที่โครงการพัฒนาหรือโครงการก่อสร้างจริง โครงการทั้งหมดนี้มองเห็นตั้งแต่ยังไม่มีสภาพของการก่อสร้างใดๆ กระทั่งไปจบที่แผนงานโครงการที่เราจะก่อสร้าง การจัดตั้งงบประมาณในการก่อสร้าง และถ้าพัฒนาหมดตลอดทั้งโครงการนี้ น่าจะได้เมืองใหม่ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ภาพอนาคตของโคราชเท่าที่ได้ฟังมาจะมีความสมดุลระหว่างชนบทที่เป็นภาคเกษตรกรรมกับการพัฒาในเมืองที่เป็นภาคอุตสาหกรรมหรือการค้าการบริการ หมายความว่า ภาพอนาคตของโคราชจะมีทางเลือกให้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยก็มีโอกาสในการพัฒนาทักษะหรือวิถีชีวิตและเพิ่มรายได้ของตัวเอง หรือผู้เรียนจบวิศวะก็มีโอกาสในการทำงานภาคอุตสหกรรม ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการแปรรูป และคนอื่นๆ มีโอกาสเป็นผู้ประกอบการก็จะอยู่ในภาคของการบริการ แต่มีความสมดุลระหว่างเกษตรกรรมกับเมือง เกษตรกรรมกับอุตสาหกรรม นั่นหมายถึงว่า เรามีความยืดหยุ่นกับสภาวะโลกร้อน ภัยพิบัติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด น้ำท่วมหรือภัยแล้งได้ดีขึ้น อีกเรื่องคือความทรหดของเมืองซึ่งสามารถจะกลับมายืนใหม่ได้หลังจากภัยพิบัติ นี่คือความสมดุลของอนาคตเมืองโคราช”

เชื่อมขนบทกับตัวเมือง

“ในขณะนี้ยังไม่ได้พื้นที่เมืองใหม่ ยังอยู่ในขั้นตอนที่จะนำไปสู่ฉากทัศน์อนาคตเพื่อที่จะไปกำหนดพื้นที่ ขณะนี้ฉากทัศน์อนาคตค่อนข้างจะชัดเจนจากหลายๆ กลุ่มพอสมควร เป็นส่วนผสมระหว่างเกษตรกรรมกับอุตสาหกรรมและมีภาคบริการเข้ามาประกอบ เพราะฉะนั้นในส่วนของพื้นที่ ถ้าจะให้ตอบเร็วๆ นี้ ถึงแม้จะยังไม่ได้ชี้พื้นที่เฉพาะเจาะจง คงเป็นพื้นที่ๆ อยู่ก้ำกึ่งระหว่างเมืองกับชนบท อาจจะเป็นส่วนผสมบางส่วนที่อยู่กับเมืองและก็บางส่วนอยู่ในเมืองที่เล็กกว่า ซึ่งในกลไกถัดไปจากนี้อาจจะใช้เวลาอีก ๑-๒ เดือน จะใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ในการให้คะแนนพื้นที่ที่มีศักยภาพ แล้วนำไปสู่พื้นที่เฉพาะเจาะจงลงไปว่าจะอยู่บริเวณไหน จากนั้นจึงนำไปหารือกับกรมโยธาธิการและผังเมืองที่ส่วนกลาง แล้วจะนำกลับมาเสนอในท้องถิ่นอีกครั้ง ส่วนงบประมาณในการศึกษาของโครงการอยู่ที่ ๓๐ ล้านบาท ซึ่งโครงการใช้เวลาเกือบ ๒ ปี หรือ ๖๐๐ วัน งบประมาณจะถูกจัดสรรไปตามขั้นตอนที่ค่อนข้างยาว มีการคาดการณ์อนาคต การทำผังในระดับจังหวัด หรือระดับอำเภอในภาพรวมใหญ่ มีการขยายผังในระดับอำเภอไปสู่ผังที่มีความเฉพาะ ซึ่งเรียกว่า ผังเฉพาะ ต่อไปต้องจัดสรรงบประมาณไปสู่การทำผังเฉพาะนั้นด้วย และต้องจัดสรรงบประมาณไปสู่ในส่วนของการประเมินราคาโครงการ การดำเนินโครงการให้สำเร็จลุล่วงอาจจะเรื่องหลักการทางกฎหมาย ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานอื่น นอกจากกรมโยธาธิการและผังเมืองงบประมาณ ๓๐ ล้านบาทนี้ จะถูกใช้ตลอดอายุโครงการเกือบ ๒ ปี และถูกใช้ไปในขั้นตอนต่างๆ ค่อนข้างมาก”

“ทั้งนี้ สิ่งที่ผมคาดหวังไว้หลังจบโครงการนี้ คือ ผมคิดว่า คนโคราชจะมีความเข้าใจจังหวัดของตัวเองในการขยายตัว การพัฒนาพื้นที่ของตัวเองเพิ่มมากขึ้น และจะระมัดระวังในเรื่องของการพัฒนาไม่ให้มีผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมในจังหวัดเพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันผมคิดว่า คนโคราชน่าจะมีความร่วมมือ ความสามัคคีกันเพิ่มมากขึ้นจากการพูดคุยกัน และที่สำคัญในที่สุดแล้วทางทีมที่ปรึกษาคงย้ายออกจากโครงการนี้เพื่อไปทำโครงการอื่นๆ แต่คนโคราชคนท้องถิ่นน่าจะเป็นทีมขับเคลื่อนโครงการนี้ต่อไป เพราะฉะนั้น ถ้าทีมของคนท้องถิ่นมีความเข้าใจตรงนี้ ผมคิดว่าทางทีมผมหรือทีมงานที่เข้ามาช่วยในช่วงนี้ก็น่าจะหมดห่วงถ้าเรามีความเข้าใจในตรงนี้” นายธนิชา นิยมวัน ผู้จัดการโครงการ กล่าว

ทั้งนี้ ภายหลังจบการสัมมนา ที่ประชุมได้จัดกิจกรรม Work Shop หัวข้อ “อนาคตในอีก ๒๐ ปีข้างหน้า จังหวัดนครราชสีมาจะเป็นอย่างไร” ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้แบ่งเป็น ๖ กลุ่ม เพื่อแสดงความคิดเห็นให้วิทยากรภายในกลุ่มทราบ เพื่อรวบรวมข้อมูลนำใช้ในการศึกษาต่อไป

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๔๖ วันพุธที่ ๒๓ - วันอังคารที่ ๒๙ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๓


966 1643