29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

October 17,2020

ทล.ชงสร้างสะพานข้าม แก้รถติด‘แยกหัวทะเล’ ปชช.พร้อมใจคัดค้าน

กรมทางหลวง เสนอสร้างสะพานข้ามแยกหัวทะเล ๔ รูปแบบ หวังลดปัญหาการจราจรติดขัด แต่ประชาชนคัดค้านไม่เห็นด้วย ไม่ต้องการสะพานข้ามหัว หวั่น ธุรกิจเจ๊ง เงียบเป็นป่าช้า ลั่นจะแก้ปัญหารถติดต้อง              แก้ปัญหาน้ำท่วมก่อน ด้าน “เอกภพ โตมรศักดิ์” ชี้น้ำท่วมต้องแก้ไขทั้งระบบ

 

ตามที่มีการประชุมปฐมนิเทศโครงการ (สัมมนาครั้งที่ ๑) โครงการสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับ จุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ กับทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ (แยกหัวทะเล) เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๖๓ โดยตั้งโจทย์ศึกษาสะพานข้ามแยกและอุโมงค์ทางลอด เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในแยกดังกล่าวนั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๖๓ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่ห้องประชุมเทศบาลตำบลหัวทะเล นายพงษ์เทพ จันทร์นอก ปลัดอำเภอเมืองนครราชสีมา พร้อมด้วยนายไชยวิทย์ บุรสมบูรณ์ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๓ นายเอกภพ โตมรศักดิ์ นายกเทศมนตรีตำบลหัวทะเล และประชาชนในพื้นที่ตำบลหัวทะเล จังหวัดนครราชสีมา ร่วมประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ ๑ เพื่อพิจารณารูปแบบทางเลือกที่เหมาะสมของโครงการสำรวจและออกแบบทางแยกต่างระดับ จุดตัดทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ กับทางหลวงหมายเลข ๒๒๖ (แยกหัวทะเล) โดยมีนายสยุมโพธิ์ อินทะผิว วิศวกรโครงการ จากบริษัท สยาม เยนเนอรัล เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จํากัด และนายอาทิตย์ เชาวนาภรณ์ นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม จากบริษัท เอ็นทิค จํากัด เป็นวิทยากรให้รายละเอียดโครงการ

เล็งแก้การจราจร

นายพงษ์เทพ จันทร์นอก ปลัดอำเภอเมืองนครราชสีมา กล่าวว่า “แยกหัวทะเลมีปริมาณรถที่สัญจรไปมาแออัด ยิ่งช่วงน้ำท่วม ก็จะเห็นสภาพปัญหาชัดเจน โครงการนี้ของกรมทางหลวงถือเป็นเรื่องที่ดี จะเป็นหนทางในการพัฒนา เพื่อลดอุบัติเหตุ สภาพการจราจรที่แออัด รวมทั้งพัฒนาในด้านเศรษฐกิจ จากเอกสารจะเห็นว่า มีรูปแบบของโครงการทั้ง ๔ รูปแบบ ที่วันนี้จะมาร่วมระดมเสนอแนะว่า รูปแบบไหนจะเป็นรูปแบบที่เหมาะสม ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ ถึงแม้จะเป็นผลดีแต่ก็มีผลเสียที่อาจจะกระทบไม่มากก็น้อย จึงต้องมีการระดมความคิดเห็น”

“พื้นที่ตำบลหัวทะเลมีประชากร ชุมชนสองข้างทางเป็นร้านค้า ตึกแถว และสถานประกอบการจำนวนมาก ดังนั้นผลกระทบทางเศรษฐกิจย่อมสำคัญ ถึงเวลาที่ต้องพัฒนา ทำให้การจราจรดีขึ้น ซึ่งการจัดประชุมในวันนี้ ต้องการให้ทุกคนแสดงความคิดเห็น เสนอแนะ แลกเปลี่ยนข้อมูล พิจารณาให้เต็มที่ เพื่อชุมชนของเรา สิ่งหนึ่งที่ต้องการฝากไว้คือ ความแตกต่างทางความคิดเห็นจะนำไปสู่เป้าหมายได้ หวังว่าการประชุมครั้งนี้จะเป็นไปได้ด้วยดี” ปลัดอำเภอเมืองนครราชสีมา กล่าว

สร้างสะพานข้ามแยก

นายสยุมโพธิ์ อินทะผิว วิศวกรโครงการ กล่าวว่า “จากการประชุมครั้งก่อน ที่ปรึกษาโครงการได้กลับไปทำการบ้าน และทำเป็นรูปแบบการพัฒนาทางแยกออกมา ๔ รูปแบบ ดังนี้ รูปแบบทางแยกต่างระดับ ทางเลือกที่ ๑ ออกแบบปรับปรุงให้มี One Overpass And U-turn At Grade เป็นการออกแบบที่เน้นการบริการจราจร ในทิศทางตรงจากจังหวัดนครราชสีมาไปอําเภอโชคชัย โดยออกแบบเป็นสะพานข้ามทางแยกและในทิศทางตรงกันข้าม ออกแบบเป็นช่องทางระดับพื้นดิน ซึ่งทิศทางเลี้ยวขวาและทิศทางเลี้ยวซ้าย ออกแบบให้เป็นช่องทางเลี้ยวระดับพื้นดิน โดยมีรายละเอียดดังนี้ ๑.ทิศทางตรง ทิศทางจากจังหวัดนครราชสีมา ไปอําเภอโชคชัย ออกแบบเป็นลักษณะสะพานข้ามทางแยก ส่วนทิศทางจากอําเภอโชคชัย ไปจังหวัดนครราชสีมา ออกแบบเป็นลักษณะถนนระดับพื้น ๒.ทิศทางเลี้ยวซ้าย ทิศทางจากจังหวัดนครราชสีมา ไปจังหวัดบุรีรัมย์ ออกแบบปรับปรุงช่องทางเลี้ยวซ้ายให้สัญจรสะดวกและปลอดภัย ส่วนทิศทางจากจังหวัดบุรีรัมย์ ไปอําเภอโชคชัย ออกแบบปรับปรุงช่องทางเลี้ยวซ้ายให้สัญจรสะดวกและปลอดภัย และ ๓.ทิศทางเลี้ยวขวา ทิศทางจากจังหวัดบุรีรัมย์ ไปจังหวัดนครราชสีมา ออกแบบปรับปรุงโดยออกแบบเป็นช่องทางเดียวระดับพื้น เมื่อถึงบริเวณทางแยกต้องเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒๔ เพื่อมากลับรถมุ่งหน้าไปจังหวัดนครราชสีมา ส่วนทิศทางจากอําเภอโชคชัย ไปจังหวัดบุรีรัมย์ ออกแบบเป็นลักษณะช่องทางเลี้ยวระดับพื้นบริเวณจุดตัดทางแยก”

“รูปแบบทางแยกต่างระดับ ทางเลือกที่ ๒ ออกแบบปรับปรุงให้มี One Directional Ramp And U-Turn At Grade เป็นรูปแบบที่ออกแบบให้มี ช่องทางเลี้ยวขวาจากจังหวัดบุรีรัมย์ ไปจังหวัดนครราชสีมา เป็นรูปแบบสะพาน Directional Ramp ตามแนวทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๔๒๖ เพื่อเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒๔ มุ่งหน้าไปจังหวัดนครราชสีมา ส่วนการบริการจราจรในทิศทางอื่น ออกแบบเป็นลักษณะช่องทางเลี้ยวระดับพื้น โดยมีรายละเอียดดังนี้ ๑.ทิศทางตรง ทิศทางจากจังหวัดนครราชสีมา ไปอําเภอโชคชัย ออกแบบเป็นลักษณะช่องทางเลี้ยวระดับพื้น เมื่อเข้าถึงบริเวณทางแยกต้องเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒๖ จากนั้นต้องวิ่งมาเลี้ยวขวาเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๔๒๖ เพื่อที่จะเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒๔ มุ่งหน้าไปอําเภอโชคชัยต่อไป ส่วนทิศทางจาก อําเภอโชคชัย ไปจังหวัดนครราชสีมา ออกแบบเป็นลักษณะถนนระดับพื้น สามารถผ่านทางแยกแห่งนี้ ๒.ทิศทางเลี้ยวซ้าย ทิศทางจากจังหวัดนครราชสีมา ไปจังหวัดบุรีรัมย์ ออกแบบปรับปรุงซ่องทางเลี้ยวซ้ายให้สัญจรสะดวกและปลอดภัย ส่วนทิศทางจากจังหวัดบุรีรัมย์ ไปอําเภอโชคชัย ออกแบบปรับปรุงช่องทางเลี้ยวซ้ายให้สัญจรสะดวกและปลอดภัย และ ๓.ทิศทางเลี้ยวขวา ทิศทางจากจังหวัดบุรีรัมย์ ไปจังหวัดนครราชสีมา ออกแบบปรับปรุงโดยออกแบบเป็นสะพานข้ามตามแนวทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๔๒๖ เพื่อเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒๔               มุ่งหน้าไปจังหวัดนครราชสีมาต่อไป ส่วนทิศทางจาก อําเภอโชคชัย ไปจังหวัดบุรีรัมย์ ออกแบบให้มีช่องทางเลี้ยวขวาระดับพื้น”

นายสยุมโพธิ์ กล่าวอีกว่า “รูปแบบทางแยกต่างระดับ ทางเลือกที่ ๓ ออกแบบปรับปรุงให้มี Overpass And Directional Ramp ออกแบบให้มีสะพานตามแนวทางหลวง หมายเลข ๒๒๔ ในทิศทางจากจังหวัดนครราชสีมา ไปอําเภอโชคชัย และช่องทางเลี้ยวขวาจากจังหวัดบุรีรัมย์ ไปจังหวัดนครราชสีมา ออกแบบเป็นรูปแบบสะพาน Directional Ramp ตามแนวทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒๖ เพื่อเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒๔ มุ่งหน้าไปจังหวัดนครราชสีมา ส่วนการบริการจราจรในทิศทางอื่น ออกแบบเป็นลักษณะช่องทางเลี้ยวระดับพื้น โดยมีรายละเอียดดังนี้ ๑.ทิศทางตรง ทิศทางจากจังหวัดนครราชสีมา ไปอําเภอโชคชัย เมื่อผ่านบริเวณจุดตัดทางแยก ออกแบบให้มีสะพานตามแนวทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ ส่วนทิศทางจากอําเภอโชคชัย ไปจังหวัดนครราชสีมา ออกแบบเป็นลักษณะถนนระดับพื้น ๒.ทิศทางเลี้ยวซ้าย ทิศทางจากจังหวัดนครราชสีมา ไปจังหวัดบุรีรัมย์ ออกแบบปรับปรุงช่องทางเลี้ยวซ้ายให้สัญจรสะดวกและปลอดภัย ส่วนทิศทางจากจังหวัดบุรีรัมย์ ไปอําเภอโชคชัย ออกแบบปรับปรุงช่องทางเลี้ยวซ้ายให้สัญจรสะดวกและปลอดภัย และ ๓.ทิศทางเลี้ยวขวา ทิศทางจากจังหวัดบุรีรัมย์ ไปจังหวัดนครราชสีมา ออกแบบปรับปรุง โดยออกแบบเป็นสะพานตามแนวทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒๖ เพื่อเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒๔ มุ่งหน้าไปจังหวัดนครราชสีมาต่อไป ส่วนทิศทางจากอําเภอโชคชัย ไปจังหวัดบุรีรัมย์ ออกแบบให้มีช่องทางเลี้ยวขวาบริเวณใต้สะพานตามแนวทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒๔ เพื่อเลี้ยวขวาเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๔๒๖ และเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒๖ เพื่อกลับรถบริเวณใต้สะพาน มุ่งหน้าไปจังหวัดบุรีรัมย์”

“รูปแบบทางแยกต่างระดับ ทางเลือกที่ ๔ ออกแบบปรับปรุงให้มี Two Overpass And Direction At Grade โดยออกแบบให้มีสะพานตามแนวทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒๔ ในทิศทางตรงจากจังหวัดนครราชสีมา ไปอําเภอโชคชัย พร้อมกับออกแบบให้มีสะพานตามแนวทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒๔ ในทิศทางการจราจรจากอําเภอโชคชัย ไปจังหวัดบุรีรัมย์ ส่วนการบริการจราจรในทิศทางอื่นๆ ออกแบบให้มีช่องทางเลี้ยวระดับพื้น โดยมีรายละเอียดดังนี้ ๑.ทิศทางตรง ทิศทางจากจังหวัดนครราชสีมา ไปอําเภอโชคชัย ออกแบบเป็นลักษณะสะพานข้ามทางแยก ส่วนทิศทางจากอําเภอโชคชัย ไปจังหวัดนครราชสีมา ออกแบบเป็นลักษณะถนนระดับพื้น ๒.ทิศทางเลี้ยวซ้าย ทิศทางจากจังหวัดนครราชสีมา ไปจังหวัดบุรีรัมย์ ออกแบบปรับปรุงช่องทางเลี้ยวซ้ายให้สัญจรสะดวกและปลอดภัย ทิศทางจากจังหวัดบุรีรัมย์ ไปอําเภอโชคชัย ออกแบบปรับปรุงช่องทางเลี้ยวซ้ายให้สัญจรสะดวกและปลอดภัย และ ๓.ทิศทางเลี้ยวขวา ทิศทางจากจังหวัดบุรีรัมย์ ไปจังหวัดนครราชสีมา ออกแบบปรับปรุง โดยออกแบบเป็นช่องทาง เลี้ยวขวาระดับพื้น การจราจรที่มาจากจังหวัดบุรีรัมย์บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒๖ ต้องตรงเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๔๒๖ เพื่อที่จะเลี้ยวขวาเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒๔ มุ่งหน้าไปจังหวัดนครราชสีมา ส่วนทิศทางจากอําเภอโชคชัย ไปจังหวัดบุรีรัมย์ ออกแบบเป็นลักษณะสะพานเพื่อยกข้ามบริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒๔ กับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๔๒๖ เพื่อที่จะเลี้ยวขวาเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒๖ มุ่งหน้าไปจังหวัดบุรีรัมย์ต่อไป” นายสยุมโพธิ์ กล่าวว่า

ไม่ต้องจัดทำ EIA

ทางด้านนายอาทิตย์ เชาวนาภรณ์ นักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “สำหรับพื้นที่อ่อนไหวของโครงการ จากการตรวจสอบข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อม ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๒ ในเอกสารท้ายประกาศ ๔ พบว่า โครงการไม่เข้าข่ายจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการ ซึ่งต้องจัดทำรายงาน (EIA) ส่วนพื้นที่อ่อนไหวในพื้นที่ศึกษาในระยะ ๕๐๐ เมตร จากกึ่งกลางถนนของโครงการ มีจำนวน ๓ แห่ง คือ ๑.โรงเรียนบุญวัฒนา ระยะห่าง ๒๐๐ เมตร ๒.วัดดอนขวาง ระยะห่าง ๔๕๐ เมตร และ ๓.สุสานสว่างเมตตาธรรมสถาน ระยะประชิดโครงการ”

“พื้นที่ดำเนินการและพื้นที่โครงการในระยะศึกษา ๕๐๐ เมตร จากที่ตั้งโครงการครอบคลุมเขตการปกครองในเทศบาลตำบลหัวทะเล และเขตเทศบาลนครนครราชสีมา ประกอบด้วย ๑.เทศบาลตำบลหัวทะเล จำนวน ๔ หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ ๑ บ้านหัวทะเล หมู่ที่ ๒ บ้านดอนขวาง หมู่ที่ ๔ บ้านหนองสองห้อง และหมู่ที่ ๑๐ บ้านหนองสองห้องเหนือ ๒.เทศบาลนครนครราชสีมา จำนวน ๒ ชุมชน ได้แก่ ชุมชนท้าวสุระ และชุมชนท้าวสุระ-เบญจรงค์ และ ๓. องค์การบริหารส่วนตำบลหนองบัวศาลา จำนวน ๑ หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ ๑ บ้านหนองตะคลอง” นายอาทิตย์ กล่าว

คนเห็นด้วยมาจากไหน?

จากนั้นที่ประชุมเปิดให้ประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะ โดยนางสมพร ศิริบุญนภา ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณแยกหัวทะเล สอบถามว่า “จากการประชุมครั้งก่อน มีผู้เข้าร่วมน้อยมาก ไม่ทราบว่ามีดำเนินการอย่างไร แล้วที่มาวันนี้ประชาชนก็ไม่ทราบข่าว ใช้วิธีการอย่างไร นี่คือข้อสงสัย และจากที่มีผู้เข้าร่วมครั้งก่อน มีผู้เห็นด้วย ๙๗.๒% นั้น เอามาจากไหน ขอดูเป็นลายลักษณ์อักษรได้หรือไม่ ทำประชาพิจารณ์ต้องมีข้อมูล ประชาสัมพันธ์อย่างไร จดหมายก็ไม่มี เราก็เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเช่นกัน”

นายสยุมโพธิ์ อินทะผิว วิศวกรโครงการ ตอบว่า “ครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งที่ ๓ ในครั้งแรกนั้นเป็นการติดต่อหน่วยงานราชการและประชาสัมพันธ์ในพื้นที่ ส่วนการประชุมครั้งที่ผ่านมานั้น (๗ สิงหาคม ๒๕๖๓) เป็นการประชุมปฐมนิเทศโครงการ ซึ่งยังไม่ลงลึกถึงกลุ่มย่อย เนื่องจากไม่มีรูปแบบของโครงการ ยังไม่ทราบว่าต้องเพิ่มเขตทางหรือไม่ หรือต้องเวนคืนใครบ้าง ส่วนใหญ่จึงเป็นเฉพาะหัวหน้าส่วนราชการ ซึ่งครั้งนี้ผู้ที่ได้รับผลกระทบคือ ผู้ที่ต้องเวนคืนที่ดิน แต่ทั้ง ๔ รูปแบบของโครงการไม่มีการเวนคืนที่ดิน ส่วนการแจ้งข่าวสาร เราใช้วิธีการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อ, เว็บไซต์, ติดป้ายประกาศในบริเวณพื้นที่โครงการ และให้ผู้นำชุมชนช่วยกระจายข่าวก่อนริเริ่มโครงการ”

แนะ’แก้ปัญหาน้ำท่วมก่อน

นางสมพร ศิริบุญนภา กล่าวอีกว่า “หัวหน้าส่วนราชการไม่ได้อยู่ในชุมชน การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกันไม่ผิด เราต้องช่วยกันพัฒนา แต่ที่ถามคือ ทำเต็มที่แล้วหรือยัง การก่อสร้างถนนเคยติดป้ายห้ามจอดหรือไม่ น้ำท่วมที่แก้มา ๒๐ ปียังทำไม่ได้ นี่คือความจริงที่ประชาชนทราบ คุณจะทำอย่างไร คุณต้องมีเวลาไปศึกษาเรื่องน้ำท่วมก่อน รถติดมากแต่                      น้ำท่วมแก้ไม่ได้ แล้วจะสร้างสะพาน ถ้าแก้น้ำท่วมได้แล้วรถยังติดอยู่ ค่อยมาคุยกันต่อ ลองแก้ก่อน งบประมาณเท่าไหร่ไปทำมา ประชาชนเดือดร้อนจริงๆ ต้องแก้น้ำท่วมก่อนที่จะมีสะพาน ถ้าแก้แล้วรถยังติด ก็ทำสะพานได้เลย เพราะมาสร้างความเจริญให้กับเรา เราชอบ แต่รถติดเราไม่ชอบ”

นายเนตร อกกระโทก ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณแยกหัวทะเล เสนอแนะว่า “ขอให้กระจายข่าวให้ชาวบ้านหรือคนในพื้นที่ทราบว่า จะมีโครงการดังกล่าว หากทราบแต่เฉพาะผู้นำ ชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่ไม่ทราบ แล้วทำออกมา เช่นสามแยกตรงบริเวณหน้าบ้านที่ทำแล้วน้ำท่วม ซึ่งแก้ไขมาแล้วถึง ๓ ครั้ง แต่แก้ปัญหาไม่ได้เลย ผมต้องการเห็นบ้านเมืองที่ทำครั้งเดียวแล้วอยู่ได้ถึง ๒๐ ปี หากทำหลายครั้งทำให้ไม่สะดวกในการสัญจร เป็นอุปสรรคทุกด้าน มีคนเคยพูดว่า คนหัวทะเลนั้นรวย เดี๋ยวก็ทำๆ งบประมาณมาจากไหน ใช้ให้คุ้มค่าเถอะ ยกเลิกโครงการดังกล่าวไปก่อน แก้ปัญหาน้ำท่วมก่อนดีกว่า หากไม่ทราบก็สามารถสอบถามคนในพื้นที่ได้ คนในพื้นที่รู้ดีที่สุด”

น้ำท่วมต้องแก้ทั้งระบบ

นายเอกภพ โตมรศักดิ์ นายกเทศมนตรีตำบลหัวทะเล ชี้แจงเรื่องเส้นทางน้ำและปัญหาน้ำท่วมว่า “ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นนั้น เรามีโจทย์ใหม่เกิดขึ้นหลังจากวางบล็อกกำหนดเส้นทาง จากแยกหัวทะเลถึงใต้สะพาน สิ่งที่เป็นปัญหาคือ บริเวณสนาม ๘๐ ปีที่เราทราบกันนั้น เดิมน้ำจะไหลลงไปที่เซฟวันทำให้บริเวณนั้นน้ำท่วมเป็นประจำ แต่ปัจจุบันน้ำส่วนหนึ่งระบายออกมาทางถนนหมายเลข ๓๐๔ ลอดมาบริเวณสวนแก้ว เข้าบริเวณกองบิน ๑ ลงมาในเขตค่าย ผ่านตำบลโพธิ์กลาง และเข้ามาบริเวณหลังวัดป่าศรัทธารวมส่วนหนึ่ง และหมู่บ้านเบญจรงค์ส่วนหนึ่ง อีกส่วนคือบริเวณพื้นที่ตำบลหนองบัวศาลาและเขตตำบลไชยมงคล ซึ่งระดับความสูงห่างกันกับทางแยกหัวทะเลเกือบ ๔๐ เมตร ทำให้น้ำไหลไปสู่หนองตะลุมพุก คือหมู่บ้านจามจุรีที่น้ำท่วมทุกปี ฉะนั้นแนวทางแก้ไขปัญหาคือ นำน้ำจากอ่างเก็บน้ำตะลุมพุกมาอ่างเก็บน้ำหนองหัวเสือ และขณะเดียวกันอ่างเก็บน้ำบริเวณนี้ก็จะไหลไปที่หลังหมู่บ้านรุ่งอรุณวิว เข้ามาบริเวณหน้าโรงเรียนบุญวัฒนา และรวมกันที่แยกหัวทะเลอีกครั้ง”

“บล็อกที่กรมทางหลวงทำ ทำเพื่อมารับน้ำในบริเวณแยกโรงเรียนบุญวัฒนา ซึ่งไหลมาจากหมู่บ้านจามจุรี แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ต้องการนำมารวมไว้ที่แยกหัวทะเล แต่ทำมาแล้วก็มีถนนหมายเลข ๒๔๒๖ ระบายน้ำคั่นมาส่วนนี้ เพื่อออกมาหมู่บ้านซีไซต์และมารวมที่บึงหัวทะเล ถ้าวันนี้เรามองเพียงการวางท่อขนาดใหญ่อย่างไรก็ไม่พอ เพราะปริมาณน้ำที่ไหลมานั้นมีจำนวนมาก มีสาเหตุจากภูมิประเทศที่เป็นจุดรับน้ำ ตามชื่อหัวทะเล มีแหล่งน้ำลำตะคองเก่าและลำตะคองใหม่ที่จะรับน้ำลงสู่ลำน้ำมูล ฉะนั้นน้ำจากในเมืองส่วนหนึ่งจะไหลผ่านลำตะคองใหม่ เพื่อไหลสู่แม่น้ำมูล เมื่อน้ำมีปริมาณมากจะชะลอตัว ทำให้เกิดปัญหาดังกล่าว”

สร้างแก้มลิงชะลอน้ำไหล

“ขณะนี้เทศบาลตำบลฯ ขอกองทัพภาคที่ ๒ ในการขุดแก้มลิง ซึ่งได้งบประมาณจากผู้ว่าราชการจังหวัดฯ เพื่อขุดแก้มลิงระยะที่ ๑ สามารถจุน้ำได้ปริมาณ ๕๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร ปัจจุบันน้ำที่ไหลมาไม่ไปลงแก้มลิง เนื่องจากเส้นทางน้ำจะเอียงมาทางหมู่บ้านรุ่งอรุณวิว ดังนั้นจึงทำเรื่องกับกองทัพบกในการใช้พื้นที่ขุดลอกเป็นร่องน้ำขนาดใหญ่ เพื่อให้น้ำไหลมาลงแก้มลิง เป็นการชะลอน้ำที่ไหลมาแยกหัวทะเล เป็นจุดหนึ่งที่จะบริหารจัดการน้ำให้ชะลอตัวไม่ไหลลงทางแยกหัวทะเลทันที ฉะนั้นแยกหัวทะเลจะรับเฉพาะน้ำในพื้นที่ช่วงฝนตก แต่หลังจากฝนหยุดน้ำก็ไม่ท่วม แยกหัวทะเลที่วางบล็อกไปแล้วนั้น นำน้ำไปใต้สะพานหัวทะเล หากดูบริเวณริมทางรถไฟ ปัจจุบันจะพบปัญหาว่า ในเขตของรถไฟเราขอใช้พื้นที่ยาก สิ่งที่ทำได้คือการขุดรอกซึ่งเป็นการแก้ไขเพียงชั่วคราวในแต่ละปี ดังนั้นจึงเสนอกรมโยธาธิการ และได้รับงบประมาณร่วมกับการแก้ไขปัญหาบริเวณสามแยกปักธงชัย ในเม็ดเงินก้อนเดียวกันจำนวน ๓๕๐ ล้านบาท เราได้งบประมาณบล็อกคอนเวิร์สนี้ เพื่อนำน้ำลงไปคลองเมืองหลัก (ตัวเมือง) ฉะนั้น บล็อกคอนเวิร์สที่รับน้ำจากแยกหัวทะเล จะลอดใต้ทางรถไฟไปลงจุดนี้ ๑ จุด ในส่วนที่ ๒ น้ำที่ไหลจากบริเวณเส้นขนาบทางรถไฟเพื่อมาลงลำตะคองเก่านั้น ทราบข่าวดีจากกรมโยธาธิการว่า มีงบประมาณในการทำที่หมู่บ้านนารีสวัสดิ์ แต่เทศบาลฯ ไปดำเนินการก่อน เราจะได้งบประมาณ ๒๐ ล้านบาท เพื่อมาวางระบบบล็อกคอนเวิร์ส ให้น้ำที่ไหลมาจากแยกหัวทะเลขนาบทางรถไฟไปลงคลองยืม และไหลต่อไปลำตะคองเก่า นี่เป็นส่วนหนึ่งที่จะนำมาแก้ไขปัญหาการจราจรได้ แต่สิ่งสำคัญคือ กรณีลำตะคองทั้งสองสายมีหน่วยงานถมดินทางข้าม วางท่อแถวเดียวหรือสองแถวบางเส้นทาง ซึ่งลำตะคองกว้าง ๘-๑๐ เมตร ลึกประมาณ ๕ เมตร การวางท่อ ๑ เมตร สองแถวอย่างไรก็ไม่พอ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องแก้ทั้งระบบ จึงเป็นสิ่งที่มานำเสนอในวันนี้ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาจราจรและผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม” นายเอกภพ กล่าว

สะพานทำธุรกิจเจ๊งหมด

นางสาวอมรภัค เจริญพร ผู้อาศัยบริเวณทางแยกหัวทะเล สอบถามว่า “ที่บอกว่าที่บริเวณนี้เป็นหัวทะเล คำว่าหัวทะเลคือน้ำท่วมใช่หรือไม่ ทำไมไม่ทำให้หัวทะเลน้ำไม่ท่วมบ้าง และเรื่องใบปลิวประชาสัมพันธ์ การที่จะเชิญเจ้าของบ้านหรือประชาชนที่อยู่บริเวณโดยรอบ ต้องส่งเอกสารที่เป็นทางการลงที่อยู่เจ้าของบ้านให้ชัดเจน ไม่ใช่นำใบปลิวไปเสียบหน้าบ้าน เพราะหากที่บ้านไม่มีคนอยู่ ก็จะไม่ได้รับ ในบริเวณนี้มีแต่ผู้เช่า เขาไม่สนใจ อย่าทำเหมือนขายของ ส่วนเรื่องสร้างสะพานข้ามแยก ไม่เห็นด้วย รถติดแค่ช่วงเช้าประมาณ ๐๗.๐๐-๐๘.๐๐ น. นี่ไม่เรียกว่าติด แต่เรียกว่าชะลอ เนื่องจากมีสัญญาณไฟจราจร ซึ่งใช้เวลาเพียง ๕-๑๐ นาที ถนนปัจจุบันนี้สวยมากแล้ว เรื่องน้ำท่วมหัวทะเล การวางท่อที่เรียบเสมอ ซึ่งดิฉันไม่ใช่วิศวกร แต่ดูในมุมมองของชาวบ้านก็ทราบว่า น้ำจะไหลได้หากวางระดับท่อสูงมาหาต่ำ แต่การวางท่อเป็นแนวตรง แก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้ และทรายที่อยู่ในท่อก็มีปริมาณมาก แล้วน้ำจะไหลอย่างไร ขณะนี้พื้นที่พัฒนาสวยแล้วจะทำสะพานทำไม เทศบาลฯ ได้รับภาษีจากบริเวณนั้นมาก หากทำสะพานก็เจ๊งหมด ไม่มีใครจ่ายภาษีให้ได้ จะมาทำให้เป็นป่าช้าอีกทำไม นี่คือเส้นทางเข้าเมืองที่เป็นหน้าตาให้กับหัวทะเล หากธุรกิจเจ๊งใครจะรับผิดชอบ แค่โควิด-๑๙ ก็จะไม่รอดแล้ว สงสารประชาชนบ้าง”

 

 

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๔๙ วันพุธที่ ๑๔ - วันอังคารที่ ๒๐ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๓

 

988 1617