29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

November 05,2020

แก้วด๊ะดาด’ย้ำอย่าให้คนนอกบ้านมาบริหารโคราช ชี้ ๑๒ ปี ใช้เงินไม่คุ้มค่า

ผู้สมัครนายก อบจ.โคราช หมายเลข ๔ วิฑูรย์ ชาติปฏิมาพงษ์ ตอบชัดไม่แข่งกับใคร ชี้เป็นคนท้องถิ่นพันธุ์แท้ ขออาสากลับมาพัฒนาโคราชให้ดียิ่งขึ้น อ้าง ๑๒ ปีที่ผ่านมา อบจ. ใช้งบประมาณไม่คุ้มค่า บริหารไม่เป็น วอนประชาชนเลือกอย่างมีสติ เลือกคนดี ตรงกับงาน เพื่อประโยชน์ของชาวโคราช   

ตามที่ เมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ ที่อาคารชาติชายฮอล์ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จังหวัดนครราชสีมา เปิดการรับสมัครนายก อบจ.นครราชสีมา และสมาชิก อบจ. นครราชสีมา โดยวันแรกมีผู้สมัครนายก อบจ. จำนวน ๔ คน ประกอบด้วย ดร.ยลดา หวังศุภกิจโกศล กลุ่มสร้างโคราชโฉมใหม่ มาสมัครเป็นคนแรก ติดตามมาด้วยนายแพทย์สำเริง แหยงกระโทก กลุ่มรักษ์โคราช , ดร.สาธิต ปติวรา คณะก้าวหน้านครราชสีมา และนายวิฑูรย์ ชาติปฏิมาพงษ์ อดีตนายก อบจ.นครราชสีมา สมัครคนสุดท้ายของวันแรก หลังจากนั้นได้ดำเนินการะบวนการจับหมายเลขประจำตัวผู้สมัคร โดย กกต.ให้ตกลงกันว่าใครจะเลือกหมายเลขใด แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ จึงมีการจับฉลาก ซึ่งผลการจับสลาก ดร.สาธิต ปิติวรา ได้หมายเลข ๑, ดร.ยลดา หวังศุภกิจโกศล ได้หมายเลข ๒, นายแพทย์สำเริง แหยงกระโทก ได้หมายเลข ๓ และ นายวิฑูรย์ ชาติปฏิมาพงษ์ ได้หมายเลข ๔ ส่วนถ้ามีผู้สมัครนายก อบจ.มาสมัครเพิ่มจะได้หมายเลขลำดับต่อไป

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๓ “โคราชคนอีสาน” สัมภาษณ์กับนายวิฑูรย์ ชาติปฏิมาพงษ์ ผู้ลงสมัครนายก อบจ.นครราชสีมา หมายเลข ๔ เกี่ยวกับเป้าหมายในการลงสมัครนายก อบจ. ในครั้งนี้ว่า “เนื่องจากผมรณรงค์การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และมีโอกาสในการบริหารท้องถิ่น แต่เดิมให้ภูมิภาคเป็นผู้ดูแล โดยผู้ว่าราชการจังหวัดจะสวมหมวกผู้ว่าและอบจ. ขณะนั้นเป็นประธานสภาฯ ทำให้เห็นว่าการบริหารท้องถิ่นกับสภาฯ ซึ่งเป็นผู้ตรวจสอบท้องถิ่น ตลอดจนงบประมาณต่างๆ ที่จัดสรรมาให้กับท้องถิ่นนั้น ควรเป็นเรื่องของท้องถิ่นเลือกผู้บริหารและผู้ตรวจสอบด้วยตนเอง เพื่อดูแลการใช้งบประมาณให้ทั่วถึงและเป็นธรรม ผมจึงรณรงค์จนกระทั่งเกิดการกระจายอำนาจขึ้น เพื่อให้ประชาชนเลือกผู้บริหารนายก อบจ. และเลือก ส.จ. แต่ละเขตตามอัตราส่วนเข้าสภาฯ เพื่อช่วยตรวจสอบ หลังจากเลือกผู้แทนเข้ามา อบจ. ก็ยังไม่มีงบประมาณมาบริหาร จึงร่วมรณรงค์เรื่องงบประมาณสนับสนุนอีกครั้ง ทำให้รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ว่า ต้องกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น จึงตั้งคณะกรรมการงบประมาณขึ้น และสำนักงานการคลังจัดสรรงบประมาณให้ ๓๕% แต่เนื่องจากการกระจายอำนาจขณะนั้นยังไม่เต็มรูปแบบ จึงจัดสรรให้เพียง ๒๐% ตามภารกิจตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ขณะที่ผมเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดฯ (ปี ๒๕๔๐-๒๕๕๐) จึงนำงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรมา ๖๐๐-๘๐๐ ล้านบาท ทำให้เกิดกิจกรรมต่างๆ ในโคราช ครอบคลุมทุกด้าน สามารถสร้างโรงเรียนกีฬา นักกีฬา และเป็นเจ้าภาพแข่งขันกีฬาซีเกมส์ที่โคราชได้ ในด้านการส่งเสริมอาชีพ วัฒนธรรม ก็จัดกิจกรรมงาน ‘โคราชด๊ะดาด ของดีเมืองโคราช’ โดยนำคำขวัญของจังหวัดนครราชสีมาเป็นหลักในการจัดกิจกรรม”

สำหรับนโยบายที่จะนำมาเสนอในการเลือกตั้งนายก อบจ. ครั้งนี้ นายวิฑูรย์ เปิดเผยว่า “จะใช้ความจริงใจ ซึ่งมีความถนัดด้านท้องถิ่น ผมเป็นท้องถิ่นพันธุ์แท้ ที่มีผลงานและประสบการณ์ บริสุทธิ์ ไม่มีมลทินมัวหมอง และได้รับการยอมรับ นอกจากนี้ ยังอยู่ในวงสังคมโคราช ทำงานกับภาคประชาชนมาโดยตลอด หากได้รับเลือก จะเข้ามาบริหารเกี่ยวกับงบประมาณ ฟื้นฟูและพัฒนาโคราช ทำให้ชาวโคราชอยู่ดีมีสุข สร้างความคึกคักให้วิถีชีวิต คนโคราชต้องมีอาชีพและหมดความยากจน หมดหนี้สิน สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี แข็งแรงและยั่งยืน ส่งเสริมการท่องเที่ยวให้น่าสนใจ ตั้งใจจัดสรรงบประมาณให้คนโคราชใช้ร่วมกัน เพื่อประโยชน์ของโคราชที่ยั่งยืนต่อไป”

เมื่อถามว่า ภาพจำที่คนส่วนใหญ่มองว่า อบจ. เป็นสภาผู้รับเหมา รับเงินทอนโครงการ หากได้เข้าไปบริหาร จะดำเนินการแก้ไขอย่างไร นายวิฑูรย์ ตอบว่า “เมื่อสมัยที่ผมดำรงตำแหน่งนายก อบจ. จะแบ่งงบประมาณออกเป็น ๒ ส่วน เนื่องจาก อบจ. จะต้องดูแลเทศบาลฯ อบต. ที่งบประมาณไม่เพียงพอ ก็ลงไปช่วยในโครงการที่จัดทำขึ้น หากสิ่งใดที่ประชาชนขาดแคลนหรือมีความต้องการก็ต้องเติมงบประมาณให้ แต่สิ่งใดที่ทำไม่ได้ สามารถเขียนโครงการเพื่อนำงบประมาณลงไปช่วย ต้องเป็นโครงการที่ถูกต้องทั้งผู้ขอและผู้ให้ โดยจะเข้าไปตรวจสอบว่า ผลงานที่ได้รับตรงตามความต้องการหรือไม่ ในสมัยนั้นผู้ขอได้รับในสิ่งที่ต้องการจึงไม่มีการร้องเรียนใดๆ ทำมา ๑๐ ปีไม่เคยโดนฟ้องหรือถูกกล่าวหาว่า นายกแก้วทอนเงิน แต่เมื่อ ๑๒ ปีที่ผ่านมานี้ มีการฟ้องร้องจนทำให้เกิดการกระจายอำนาจลดลง เนื่องจากถูกกล่าวหาว่าคนท้องถิ่นบริหารงานไม่เป็น ที่ผ่านมา ๒ สมัยพบว่า ไม่ผ่านการประเมิน ทั้ง ๔ ปีแรก และ ๘ ปีหลัง หมายความว่าใช้งบประมาณไม่คุ้มค่า ไม่สัมฤทธิผล แล้วจะทดลองใช้คนไม่ทำงานอีกหรือ ผมจึงต้องการฝากให้ประชาชนพิจารณาว่า มีสติ รู้จักคิด ใช้ปัญญา เลือกคนดี ตรงกับงาน ไปบริหารงบประมาณ อบจ. เพื่อประโยชน์ของเมืองโคราช และให้เมืองโคราชมีความเจริญ อยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน”    

ต่อข้อคำถามที่ว่า สำหรับผู้สมัครนายก อบจ. ทั้ง ๓ คน คิดว่าใครเป็นคู่แข่งที่สำคัญ นายวิฑูรย์ตอบว่า “ผมไม่คิดว่าจะต้องไปแข่งขันหรือเป็นคู่แข่งกับใคร แต่จะทำให้ตัวเองและคนโคราชรู้ว่า เรามีอาชีพตรงนี้ มีประสบการณ์ เป็นช่างผู้ชำนาญการงานด้านท้องถิ่น จึงจะขออาสาเข้ามาทำงานท้องถิ่น แก้ปัญหาคนโคราช ให้ได้รับประโยชน์จากงบประมาณ อบจ. เต็มเม็ดเต็มหน่วย ต้องการให้ประชาชนพิจารณาว่า หากเลือกบุคคลที่ไม่เคยผ่านงานท้องถิ่นมาอาจจะใช้งบประมาณไม่เกิดประโยชน์ หากเป็นข้าราชการก็จะนำกฎของข้าราชการมาใช้ หรือเป็นนักการเมืองระดับสูงก็เข้าหายาก และขณะนี้ก็อาจจะมีนักการเมืองมาอีก เปรียบว่า ผู้ที่ลงสมัครถูกครอบงำด้วยนักการเมือง นำพรรคมาใช้ประโยชน์ในท้องถิ่น ไม่ใช่เพียงตัวบุคคล ซึ่งไม่กล้าสนับสนุนโดยตรง เนื่องจากถูกห้ามด้วยระเบียบข้อบังคับ และสำหรับผู้ที่มีงบประมาณแผ่นดินประจำเดือนจะไม่สามารถลงมาช่วยเหลือการหาเสียงท้องถิ่นได้ ส่วนภาคประชาชนนั้นไม่มีปัญหา ซึ่งผมเป็นท้องถิ่นพันธุ์แท้คนเดียว นอกจากนั้นเป็นบุคคลของพรรคการเมืองที่ส่งเข้ามา แสดงให้เห็นว่า บ้านเราคือท้องถิ่น ทำไมคนนอกบ้านต้องมาแย่งชิงเงินของเรา”

สุดท้ายนายวิฑูรย์ กล่าวย้ำอีกครั้งว่า “ต้องการให้ประชาชนพิจารณา มีสติ รู้จักคิด ใช้ปัญญา เลือกคนดี ตรงกับงาน ไปบริหารงบประมาณ อบจ. เพื่อประโยชน์ของเมืองโคราช และให้เมืองโคราชมีความเจริญ อยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืน”

ทั้งนี้ นายวิฑูรย์ ชาติปฏิมาพงษ์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๔๘๗ อยู่ที่ ๘๐ หมู่ที่ ๘ ตำบลบ้านใหม่  อำเภอครบุรี  จังหวัดนครราชสีมา จบการศึกษา ปริญญาตรี ศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) วิชาเอกบริหารธุรกิจ (การบริหารทรัพยากรมนุษย์) มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา, ปริญญาโท รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น เคยผ่านบทบาทต่างๆ ในสังคมและการเมือง อาทิ อดีตนายกสมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย (พ.ศ.๒๕๔๘-๒๕๕๐), นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ๓ สมัย (๒๕๔๐-๒๕๔๓, ๒๕๔๕-๒๕๔๗, ๒๕๔๗-๒๕๕๐), ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ๘ สมัย, ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดนครราชสีมา, กรรมการที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา, กรรมการกีฬาแห่งจังหวัดนครราชสีมา และนายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา


982 1621