March 05,2021
มทส.มอบ“เครื่องฟอกอากาศและกำจัดฝุ่น PM 2.5” บรรเทามลพิษกรุงเทพฯ
มทส.มอบ“เครื่องฟอกอากาศและกำจัดฝุ่น PM 2.5” แก่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อบรรเทาปัญหามลพิษทางอากาศ ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร
วันที่ 5 มีนาคม 2564 ณ ห้องประชุมสารนิเทศ อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. พร้อมด้วย นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และคณะผู้บริหาร ร่วมให้การต้อนรับ พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในโอกาสเป็นประธานใน “พิธีมอบเครื่องฟอกอากาศและกำจัดฝุ่น PM 2.5 (ระบบสนามแม่เหล็กและปล่อยประจุไฟฟ้าไอออน) แก่ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์” ผลงานวิจัยและนวัตกรรมจากทีมวิจัย อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มทส. พร้อมส่งต่อโรงเรียนช่างฝีมือทหาร ดำเนินการศึกษาติดตั้งและบำรุงรักษา เครื่องกำจัดฝุ่นละอองดังกล่าวจะนำไปติดตั้งเพื่อใช้บรรเทามลพิษทางอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. กล่าวว่า “มทส. เป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มุ่งวิจัยและพัฒนานวัตกรรม สู่การปรับแปลง ถ่ายทอด และพัฒนาเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ปัญหาของประเทศ ถือเป็นหนึ่งในภารกิจหลักที่ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยได้สนับสนุนให้คณาจารย์และนักศึกษาได้คิดค้นพัฒนานวัตกรรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด การลดต้นทุน วัตถุดิบหาได้ภายในประเทศ จากองค์ความรู้ทางวิชาการ และประสบการณ์จากความเชี่ยวชาญที่สั่งสม โดยทีมวิจัย รองศาสตราจารย์ ดร.ชาญชัย ทองโสภา อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มทส. ได้ประยุกต์ใช้ทฤษฎีระบบสนามแม่เหล็กและปล่อยประจุไฟฟ้าไอออน ก่อให้เกิดผลงานที่ตอบโจทย์ของชุมชนและสังคมหลากหลาย อาทิ เครื่องฆ่ามอดข้าว เครื่องกำจัดไวรัส ตู้ความดันลบ-บวก ที่ใช้สำหรับตรวจผู้ป่วย และล่าสุด เครื่องฟอกอาการและกำจัดฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งได้รับการออกแบบปรับปรุงให้เหมาะสมกับหลายพื้นที่ใช้งานจริง ทั้งในพื้นที่ตัวเมืองนครราชสีมา และหน่วยงานที่ประสานความร่วมมือกระจาย ทั่วประเทศ ทั้งนี้ ด้วยปัญหาด้านมลภาวะทางอากาศส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนในวงกว้าง ทั้งเป็นปัญหาที่ต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย
ในโอกาสที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ส่งมอบเครื่องฟอกอากาศและกำจัดฝุ่น PM 2.5 แก่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยได้รับเกียรติจาก พลเรือเอก พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี ในฐานะประธานมูลนิธิเป็นผู้รับมอบ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์บรรเทาแก้ไขปัญหาสภาวะมลพิษทางอากาศในพื้นที่ กรุงเทพมหานครนั้น มหาวิทยาลัยได้รับความร่วมมือจาก พันเอก ศักดาวุฒิ กุมารสิงห์ รองผู้บังคับบัญชา โรงเรียนช่างฝีมือทหาร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย รับผิดชอบดำเนินการติดตั้งและบำรุงรักษาตลอดการใช้งาน พร้อมทั้งได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ ด้านการออกแบบ ติดตั้ง และดูแลบำรุงรักษา แก่โรงเรียนช่างฝีมือทหาร เพื่อสามารถดำเนินการจัดสร้างเองนำไปใช้เป็นสาธารณะประโยชน์แก่ประชาชนในพื้นที่ ที่ประสบปัญหามลภาวะทางอากาศต่อไปในอนาคตอีกด้วย”
รองศาสตราจารย์ ดร.ชาญชัย ทองโสภา อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มทส. กล่าวว่า “เครื่องฟอกอากาศและกำจัดฝุ่น PM 2.5 ที่ส่งมอบแก่มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในครั้งนี้ ได้ออกแบบให้มีขนาดตัวเครื่อง ความสูงประมาณ 4 เมตร ฐานเป็นรูป 3 เหลี่ยม ยาวด้านละ 2 เมตร ตัวเครื่อง ประกอบด้วยโมดูล ชุดฟอกอากาศและกำจัดฝุ่น PM 2.5 จำนวน 3 โมดูล ขนาดพื้นที่หวังผลประมาณ 15 เมตร (~150 ตารางเมตร) รอบตัวเครื่องหรือเท่ากับปริมาณอากาศ ประมาณ 600 ลูกบาศก์เมตรต่อนาที ใช้ไฟฟ้า 220V, 50Hz กำลังไฟฟ้ารวมประมาณ 800W ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยชั่วโมงละ 2.50 บาท การคิดค้นได้ใช้ทฤษฎีการประยุกต์ใช้ระบบการสร้างสนามแม่เหล็กและปล่อยประจุไฟฟ้าไอออน (ion) ในการจับอนุภาคของฝุ่นหรือก๊าสพิษ จากวงจรทวีแรงดัน และถูกดูดไปติดกับแผ่นเพลตที่ออกแบบไว้ในตัวเครื่อง ช่วยลดการกระจายของฝุ่นละออง การทำงานอากาศจะถูกดูดทางด้านบนของตัวเครื่อง ผ่านเข้าชุดฟอกอากาศและกำจัดฝุ่น PM 2.5 ทำให้ได้อากาศที่บริสุทธิ์ ซึ่งจะไหลออกด้านล่างของตัวเครื่อง คล้ายเครื่องฟอกอากาศที่ใช้ในระบบปิด แต่คณะนักวิจัยได้ออกแบบให้เครื่องดังกล่าวสามารถใช้ในระบบเปิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงการนำไปใช้งานได้จริง การประหยัดพลังงาน และการออกแบบให้สวยงามกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานถูก การบำรุงรักษาโดยการทำความสะอาดแผ่นเพลตประมาณปีละครั้ง ทั้งยังสามารถขยายขนาดการใช้งานได้ตามขนาดพื้นที่ ทั้งในครัวเรือน ตัวอาคาร สถานประกอบการ รวมถึงพื้นที่สาธารณะทั่วไป”
65 1,578