29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

April 08,2021

ซินโครตรอน-กรมศิลปากรร่วมมือ อนุรักษ์ศิลปวัตถุและโบราณวัตถุด้วยแสงซินโครตรอน

สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) จับมือ กรมศิลปากร ใช้แสงซินโครตรอนและการวิเคราะห์ทดสอบทางวิทยาศาสตร์ อนุรักษ์ศิลปวัตถุและโบราณวัตถุ ชี้จุดเด่นแสงซินโครตรอนสามารถศึกษาความหลากหลาย ความซับซ้อนของโครงสร้างและองค์ประกอบในวัตถุโบราณได้ อีกทั้งศึกษาธาตุองค์ประกอบที่มีปริมาณน้อยมากๆ โดยไม่ทำลายตัวอย่างที่นำมาตรวจวิเคราะห์

พร้อมชูตัวอย่างความร่วมมือกับช่างสิบหมู่วิเคราะห์กระจกเกรียบโบราณจากวัดพระแก้วจนคิดค้นวิธีวิธีผลิตขึ้นใหม่ นำไปสู่การบูรณะราชรถ ราชยาน ภายใน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ

เมื่อวันจันทร์ที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๖๔ นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากรและ รองศาสตราจารย์ ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน(องค์การมหาชน) กับ กรมศิลปากร ณ ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร กรุงเทพ  มหานคร

นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า “ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการประยุกต์เทคโนโลยีแสงที่มีในปัจจุบัน มาใช้สนับสนุนภารกิจของกรมศิลปากรให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งกรมศิลปากรเป็นสถาบันหลักในการสร้างทุนทางปัญญาแก่คนไทยในด้านการอนุรักษ์และสร้างสรรค์มรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ มีหน้าที่อนุรักษ์ปกป้องและฟื้นฟูมรดกศิลปวัฒนธรรมให้คงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติเพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศโดยพัฒนาศักยภาพและองค์ความรู้รวมทั้งการสร้างมาตรฐานในการอนุรักษ์บำรุงรักษา ซึ่งการบูรณาการข้ามศาสตร์ด้วยวิทยาการเป็นข้อกำหนดสำคัญในหลักการอนุรักษ์”

รองศาสตราจารย์ ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า “ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์ด้วยแสงซินโครตรอนศึกษาวัตถุที่มีคุณค่าทางโบราณคดีเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนทั้งในระดับชาติและนานาชาติ เนื่องด้วยแสงซินโครตรอนมีประสิทธิภาพสูง สามารถศึกษาความหลากหลาย ความซับซ้อนของโครงสร้างและองค์ประกอบในวัตถุโบราณได้ และยังสามารถใช้ศึกษาธาตุองค์ประกอบที่มีปริมาณน้อยมากๆ ตรวจวัดข้อมูลที่มีความละเอียดเชิงพื้นที่ได้ และเทคนิคแสงซินโครตรอนหลายเทคนิคนั้น ไม่ทำลายตัวอย่างที่นำมาตรวจวิเคราะห์ จึงตอบโจทย์การวิเคราะห์วัตถุทางโบราณคดีได้เป็นอย่างดี 

“สำหรับประเทศไทยนั้นถึงแม้ว่าจะมีโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญ อยู่เป็นจำนวนมาก แต่การศึกษาเพื่อระบุอัตลักษณ์ในเชิงลึกยังคงมีจำนวนน้อย ทางสถาบันฯ จึงเห็นถึงความสำคัญในการศึกษาวัตถุโบราณด้วยแสงซินโครตรอนควบคู่กับการวิเคราะห์ทดสอบทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และมุ่งสร้างความร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาสตร์ นักโบราณคดี และภัณฑารักษ์ เพื่อสนับสนุนการแลกเปลี่ยนความรู้และเกิดการบูรณาการระหว่างสหสาขาวิชา อันจะนำไปสู่การยกระดับผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ ด้านมรดกวัฒนธรรมและโบราณคดีจากประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับนานาชาติ และพัฒนาความรู้ด้านประวัติศาสตร์ที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น” 
รองศาสตราจารย์ ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ กล่าวเพิ่มเติม

ทางด้าน ดร.วันทนา คล้ายสุบรรณ์ ผู้จัดการระบบลำเลียงแสงที่ ๘ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน นำเสนอรายงานการปฏิบัติงานและผลงานเด่นที่เกิดจากการทำงานร่วมกันทั้งสองฝ่ายในรอบ ๕ ปีที่ผ่านมา โดยสถาบันฯ มีความร่วมมือกับสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ในการใช้แสงซินโครตรอนวิเคราะห์ส่วนประกอบเชิงธาตุของกระจกเกรียบโบราณจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และคิดค้นวิธีผลิต
กระจกเกรียบขึ้นใหม่ ซึ่งนำไปใช้ในการบูรณะและอนุรักษ์ราชรถราชยาน ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร

นอกจากนี้สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนยังเคยสนับสนุนการศึกษาวิจัยโบราณคดีอื่นๆ เช่น งานวิจัยค้นหาธาตุที่ให้สีลูกปัดแก้วแบบอินโดแปซิฟิกที่พบในภาคใต้ของประเทศไทย งานวิจัยเพื่อจำแนกวัตถุทำลอกเลียนแบบเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงโดยการวิเคราะห์ธาตุบ่งชี้บางชนิด งานวิจัยสำริดโบราณจากแหล่งโบราณคดีโน่นป่าช้าเก่า จ.นครราชสีมา การให้ความอนุเคราะห์สำนักศิลปากรที่ ๕ ปราจีนบุรี ในการใช้แสงซินโครตรอนจำแนกวัสดุสำหรับผลิตลูกปัดโบราณว่าผลิตจากเปลือกหอยหรือปะการังหรือซากฟอสซิลบางชนิด

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๗๓ วัวันพุธที่ ๗ - วันอังคารที่ ๒๐ เดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๔


962 1601