29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

April 09,2021

‘ศักดิ์ชาย’นำหอการค้าเข้มแข็ง ลุย ๔๐ โครงการเพื่อโคราช

หอการค้าโคราช จัดพิธีสถาปนาคณะกรรมการบริหารปี ๒๕๖๔-๒๕๖๕ “รองผู้ว่าฯ” เสนอทำโครงการของบประมาณเกือบ ๑ พันล้าน หวังลองของคณะกรรมการชุดใหม่ ด้าน “ศักดิ์ชาย ผลพานิชย์” โชว์วิสัยทัศน์ “หอการค้าเข้มแข็ง ขับเคลื่อนสู่เครือข่ายเศรษฐกิจที่ยั่งยืน” พร้อมอวดภาระงานที่จะทำกว่า ๔๐ โครงการ

 

เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๓.๓๐ น. ที่โคราชฮอลล์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลนครราชสีมา นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานในพิธีสถาปนาคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ปีบริหาร ๒๕๖๔-๒๕๖๕ โดยมีคณะกรรมการหอการค้าฯ ซึ่งนำโดยนายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา สมาชิกหอการค้าฯ และประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าฯ เช่น นายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ นายอรชัย ปุณณะนิธิ นายอมร วงศ์สุรวัฒน์ นางสุบงกช วงศ์วิชยากรณ์ และนายชัชวาล วงศ์จร รวมทั้งตัวแทนหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ร่วมงานกว่า ๑๕๐ คน ซึ่งภายในงานสำรองเก้าอี้ไว้ประมาณ ๕๐๐ ตัว ทั้งนี้ ภายในงานมีการบรรยายหัวข้อ “ผู้นำยุคใหม่ Post Covid Leadership” จากนายธนา เธียรอัจฉริยะ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาความคิดสร้างสรรเชิงธุรกิจ (Academy of Business Creativity) ซึ่งเป็นบุตรนายเกษม เธียรอัจฉริยะ นักธุรกิจชาวโคราช

นายชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์ กรรมการที่ปรึกษาหอการจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะประธานจัดงานฯ กล่าวว่า “หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เป็นองค์กรภาคเอกชนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ มีหน้าที่สำคัญในการส่งเสริม สนับสนุน แก้ไข และติดตามปัญหาทางเศรษฐกิจ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๒๓ โดยก่อตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติ หอการค้า พ.ศ.๒๕๐๙ ในฐานะองค์กรภาคเอกชนที่มีบทบาทหน้าที่ในการพัฒนา และส่งเสริมเศรษฐกิจในจังหวัดนครราชสีมา มีคณะกรรมการบริหารมาต่อเนื่อง เมื่อคณะกรรมการหอการค้าฯ ประจำปีบริหาร ๒๕๖๒-๒๕๖๓ หมดวาระ หอการค้าจังหวัดนครราชสีมาก็ได้มีการเลือกตั้งคณะกรรมการหอการค้าฯ ชุดใหม่ เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ จากมวลสมาชิกหอการค้าฯ รวมแล้ว ๓๕ คน เป็นคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาประจำปีบริหาร ๒๕๖๔-๒๕๖๕ จึงเป็นโอกาสดีของวันนี้ที่หอการค้าจังหวัดนครราชสีมาได้จัดงานสถาปนาคณะกรรมการหอการค้าฯ ขึ้น เพื่อเป็นเกียรติต่อคณะกรรมการชุดใหม่ และเป็นการแสดงวิสัยทัศน์ พันธกิจ บทบาท ภารกิจของหอการค้าฯ ให้สมาชิกหอการค้าฯ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนได้ทราบถึงแนวทางการส่งเสริม ผลักดัน และการกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดนครราชสีมาต่อไป”

“เพื่อให้การจัดงานเป็นประโยชน์มากยิ่งขึ้น จึงได้กำหนดจัดงานให้ความรู้แก่สมาชิกหอการค้า และผู้สนใจทั่วไป ในหัวข้อ “ผู้นำยุคใหม่ Post Covid Leadership” โดยวิทยากรชื่อดังคนโคราช นายธนา เธียรอัจฉริยะ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการสถาบัน ABC หรือสถาบันพัฒนาความคิดสร้างสรรเชิงธุรกิจ (Academy of Business Creativity) หรือการเสวนาครั้งนี้จะเป็นโอกาสในการให้ความรู้แก่สมาชิกหอการค้าฯ ผู้ประกอบการ และผู้เข้าร่วมงานให้สามารถปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ยุคใหม่โดยเฉพาะผู้นำทางธุรกิจ อันจะทำให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ประกอบกิจการค้าและเศรษฐกิจของจังหวัดนครราชสีมาต่อไป” ประธานจัดงานฯ กล่าว

โคราช GDP มากสุดในอีสาน

นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวเปิดงานว่า “จังหวัดนครราชสีมา มี GDP เฉลี่ยปีละ ๓ แสนล้าน โดยสัดส่วนอยู่ที่ภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ การท่องเที่ยว ภาคบริการ และภาคการเกษตร ซึ่ง GDP ของโคราชโตเป็นอันดับที่ ๑ ในภาคอีสาน แต่เมื่อนำจำนวนประชากรหารกับค่า GDP จะอยู่ที่ ๑.๑ แสนล้าน เป็นอันดับที่ ๒ ของภาคอีสาน เนื่องจากโคราชมีจำนวนประชากรมาก โดยผู้ที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการหอการค้าฯ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม จึงมีความสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนจังหวัด ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ภาคการศึกษา มีพิธีลงนามของสถาบันการศึกษาต่างๆ โดยใช้คำว่า มาสังเคราะห์ร่วมกัน ผมมองว่า เป็นการสังเคราะห์เฉพาะด้านการศึกษาด้วยกันเอง แต่จะทำอย่างไรให้ภาคการศึกษามีบทบาทและร่วมสังเคราะห์กับภาคส่วนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจหรือภาคอุตสาหกรรม เราควรจะมองหาส่วนผสมที่ลงตัว หากสังเกตดีๆ ทุกภาคส่วนจะขับเคลื่อนแต่งานของตัวเอง เช่น การศึกษา ก็ส่งเสริมแต่ความสามารถเด็กในห้องเรียน แล้วเมื่อออกจากห้องเรียน ได้ขับเคลื่อนหรือไม่ ได้สอนการใช้ชีวิตในสังคมหรือไม่ ส่วนภาคการเกษตรก็มักจะส่งเสริมแต่เรื่องการเกษตร โดย อาจารย์ยักษ์ (ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร) เคยพูดติดตลกว่า ผมจะชวนทุกคนมาทำการเกษตร แต่ทำแล้วจน เพราะไม่ได้ทำแบบการตลาดนำการเกษตร ฟังแล้วก็หดหู่ใจ เพราะเราทำอะไรทำเพียงมิติเดียว”

เล็งของบให้โคราช

“เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สภาพัฒน์จัดประชุมออนไลน์กับทุกจังหวัด โดยมีเป้าหมายว่า จะจัดสรรเงินให้กับทุกจังหวัด เพื่อช่วยกันคิดโครงการเสนอขอรับงบประมาณ โดยมีกรอบวงเงินตามสัดส่วนประชากร ผมจึงจะบอกว่า ในบรรดา ๗๖ จังหวัด โคราชจะได้รับงบประมาณมากที่สุดในประเทศไทย เฉียด ๑ พันล้านบาท นี่คือโอกาสที่คนโคราชจะได้รับ แต่ภายใต้โอกาสนี้ก็มีความยากซ่อนอยู่ เพราะเราต้องมาคิดโครงการร่วมกัน โดยโครงการนี้จะมีคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันประจำทุกจังหวัด ซึ่งโคราชมีทุกภาคส่วนรวมอยู่แล้ว ซึ่งโครงการนี้มีเป้าหมายอยู่ ๔ ด้าน คือ ๑.เพื่อพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ธุรกิจ การบริหาร และการค้า ๒.ยกระดับประสิทธิด้านคุณภาพการเกษตร ๓.ส่งเสริมและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน และ ๔.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจของชุมชน โดย ๔ กรอบนี้เป็นโจทย์ที่คนโคราชจะต้องมาช่วยกันคิด แต่ภายใต้กรอบเหล่านี้มีข้อจำกัดว่า เมื่อจบโครงการ ใครจะเข้ามาดูแลทรัพย์สินต่อ เช่น หากมีการสร้างอาคาร ใครจะมาดูแลอาคารเหล่านี้ และที่สำคัญ โครงการนี้จะต้องเบิกงบประมาณให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม ๒๕๖๔ ซึ่งกว่าเราจะคิดโครงการและยื่นเรื่องไปยังส่วนกลาง คาดว่าประมาณเดือนมิถุนายน เมื่อได้รับเงินประมาณมาก็ต้องนำเข้าวิธีการของราชการ จึงทำให้เหลือเวลาดำเนินโครงการเพียง ๔-๕ เดือน เรื่องนี้คือข้อจำกัด” นายชรินทร์ กล่าว

ลองของคณะกรรมการ

นายชรินทร์ ทองสุข กล่าวท้ายสุดว่า “โครงการนี้จะต้องถูกนำเสนอโดยหน่วยงานที่ไม่ใช่ภาครัฐ เช่น ภาคประชาสังคม กลุ่มวิสาหกิจ กลุ่มอาชีพ กลุ่มผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มผู้สูงอายุ โดยกลุ่มเหล่านี้จะต้องมีสัดส่วนในการเสนอโครงการไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ หรือประมาณ ๓๐๐ ล้านบาท กลุ่มเหล่านี้จึงต้องช่วยกันเสนอโครงการ เมื่อคิดแล้วการขอโครงการนี้ไม่ง่ายแน่นอน แต่ถ้าเราเสนอโครงการไม่ได้ ก็จะเป็นการเสียโอกาส คนโคราชจะเสียโอกาสในการรับงบประมาณ เพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูเศรษฐกิจ ดังนั้นช่วยกันคิดว่าจะทำอะไร คณะกรรมการหอการค้าเมื่อคิดออกก็รีบเสนอประธานหอการค้า เพื่อช่วยกันนำพางบประมาณเหล่านี้มาช่วยเหลือประชาชน ถ้าถามว่า จังหวัดมีโครงการสำรองไว้หรือไม่ ขอตอบว่า มี เพราะที่ผ่านมาภาคเอกชนเสนอโครงการไว้มากมาย แต่ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน หากเป็นโครงสร้างพื้นฐาน เกรงว่า การดำเนินงานจะไม่ทันตามกรอบระยะเวลา ซึ่งประเด็นนี้ผมเข้าใจว่า เป็นเรื่องสำคัญ และเป็นการลองของคณะกรรมการหอการค้าฯ ชุดใหม่ด้วย สุดท้ายนี้ ผมขอแสดงความยินดีกับนายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และคณะกรรมการทุกคน หวังว่าเราจะได้ช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโคราชให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นต่อไป”

วิสัยทัศน์ประธานหอการค้า

จากนั้น นายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา กล่าวแสดงวิสัยทัศน์ ว่า “ตลอดระยะเวลา ๔๐ ปี ที่หอการค้าก้าวผ่านจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงวันนี้ เราอยู่เคียงข้างผู้ประกอบการค้าและธุรกิจในจังหวัดนครราชสีมา เปรียบเสมือนเพื่อน เมื่อล้มก็ช่วยกันดึง เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโคราชไปด้วยกัน จากคติพจน์ของหอการค้าที่ว่า ‘ตะวันเคียงคู่ฟ้า หอการค้าเคียงคู่คุณ’ จวบจนเปลี่ยนผ่านถึงปัจจุบัน ตะวันก็ได้รับผลกระทบด้านต่างๆ เหมือนกับหอการค้าที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็น เรื่องดิจิทัล ผลกระทบต่างๆ มีมากมายมหาศาล ทำให้ทุกภาคส่วนต้องมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังนั้นหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา จึงมีแนวคิดในการพัฒนาส่งเสริมสมาชิกให้เข้มแข็ง ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาวะของโลกที่กำลังเปลี่ยนไปทุกวินาที ให้ทุกธุรกิจสามารถเดินเคียงข้างไปด้วยกันได้ รวมทั้งสามารถต่อยอดเพิ่มมูลค่าสินค้าต่างๆ และต้องการที่จะเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของโคราช และเราต้องการที่จะเป็นคนกลางในการแก้ไขปัญหาและรับฟังปัญหาอุปสรรคต่างๆ จากทุกภาคส่วน หาแนวทางในการทำงานร่วมกัน ให้เกิดผลสำเร็จ ก้าวสู่การเป็น Smart City และต่อยอดเป็น Happy City ทุกคนมีความสุข มีความเท่าเทียม จึงออกมาเป็นวิสัยทัศน์ของปีบริหาร ๒๕๖๔-๒๕๖๕ ว่า หอการค้าเข้มแข็ง ขับเคลื่อนสู่เครือข่ายเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยวิสัยทัศน์นี้มีพันธกิจทั้งหมด ๕ ด้าน ได้แก่ ๑.การประสานอย่างเป็นผู้นำ ๒.การเชื่อมโยงอย่างมีมิติ ๓.การเป็นศูนย์ร่วมช่วยเหลือทุกภาคส่วน ๔.การสร้างโอการให้กับผู้ประกอบการและสมาชิก และ ๕.โปร่งใสด้วยธรรมาภิบาล”

ภาระงานของหอการค้า

“นอกจากวิสัยทัศน์ที่กล่าวมา เรายังมีโครงการที่จะเป็นภาระงานมากกว่า ๔๐ โครงการ โดยสรุปเป็นกลุ่มดังนี้ ๑.โครงการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ให้ทั่วถึงทั้งจังหวัด พัฒนาโคราชให้ตอบโจทย์การเป็น MICE City เชื่อมโยงการท่องเที่ยวสู่อำเภอต่างๆ และการท่องเที่ยวข้ามภูมิภาค ๒.โครงการส่งเสริมธุรกิจด้าน SME และ Start Up โดยจะส่งเสริมผลิตภัณฑ์ชุมชนให้สามารถต่อสู้ทั้งในท้องถิ่นและข้ามภูมิภาค เพิ่มศักยภาพการใช้เทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการ ๓.โครงการด้านการพัฒนาสมาชิกและองค์กร โดยจะพัฒนาการทำงานของหอการค้าให้มีประสิทธิภาพ ดูแลสิทธิประโยชน์ของสมาชิกให้ทั่วถึง ออกเยี่ยมสมาชิกเพื่อรับฟังปัญหา และหาสมาชิกเพิ่มเติม ๔.โครงการด้านการเกษตรกรรม โดยจะจัดทำแพลตฟอร์มเพื่อการเกษตร ช่วยเหลือเกษตรกร หาช่องทางการกระจายสินค้า และการจัดการโดยกลุ่มเกษตรกร เพื่อจัดตั้งเป็นนิติบุคคลเพื่อสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของเกษตรกร ๖.โครงการด้านวิชาการและการฝึกอบรม จะพัฒนาผู้ประกอบการยุคใหม่หรือ YEC อบรมให้ความรู้และกฎหมายให้กับผู้ประกอบการ และจัดทำศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจโคราช ๗.โครงการด้านการค้าและต่างประเทศ ศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจต่างประเทศ จัดทำข้อมูลเพื่อการค้าในกลุ่มอาเซียน วิจัยสภาพแวดล้อมการค้าในกลุ่มอาเซียน และจัดตั้งศูนย์คู่การค้าทางเศรษฐกิจเพื่อผู้ประกอบการ ๘.โครงการกิจกรรมพิเศษ จะมีการจัดงานเทศกาลอาหารย่าง งานของดีด๊ะดาด ๓๒ อำเภอ และกิจกรรมถนนคนเดิน จากวิสัยทัศน์ พันธกิจ และภารกิจ ที่กล่าวไป จะไม่เกิดขึ้นได้หากขาดคณะกรรมการหอการค้าฯ ทั้ง ๓๔ คน ซึ่งเสียสละกำลังกาย กำลังใจ และกำลังทรัพย์ อาสามาช่วยกันพัฒนาและสร้างเศรษฐกิจของโคราชให้ก้าวต่อไปอย่างมั่นคง”

ผู้นำหลังยุคโควิด-๑๙

จากนั้น นายธนา เธียรอัจฉริยะ บรรยายในหัวข้อ “ผู้นำยุคใหม่ Post Covid Leadership” ว่า “ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ การพูดถึงภาวะผู้นำจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก ผมยกตัวอย่างรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่น ทำไมถึงวิ่งได้รวดเร็ว เพราะแต่ละโบกี้จะมีเครื่องยนต์เป็นของตัวเอง ซึ่งแตกต่างจากรถไฟทั่วไปที่ขับเคลื่อนด้วยหัวรถจักร เปรียบเสมือนองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยหัวหน้าเพียงคนเดียว ก็จะทำให้องค์กรเดินหน้าไปได้ช้า แต่ถ้าองค์กรใดที่หัวหน้านำ แล้วมีลูกน้องเดินตาม เหมือนรถไฟความเร็วสูงที่ในแต่ละขบวนจะมีเครื่องยนต์เป็นของตัวเอง ขับเคลื่อนไปพร้อมกัน ก็จะทำให้ถึงจุดหมายได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในยุคปัจจุบัน การทำงานเปลี่ยนแปลงไปมาก หากเจ้านายสั่งงานเพิ่ม ลูกน้องจะถามเลยว่า ทำทำไม ต่างจากสมัยก่อนที่ถามว่า ทำอะไร เพราะสมัยนี้หากทำไปแล้วเจ้านายรวยคนเดียวแต่งานเพิ่ม เขาก็ไม่อยากทำ ไม่ใช่เมื่อก่อนที่ใช้อำนาจสั่งการ ลูกน้องก็ถามแค่ว่า ให้ทำอะไรบ้าง”

ผู้นำต้องสร้างความเชื่อมั่น

“คนเป็นผู้นำยุคนี้จะต้องสร้างความเชื่อมั่นมากกว่าอำนาจสั่งการ องค์กรที่ลูกน้องเชื่อมั่นในตัวหัวหน้า จะเป็นองค์กรที่ก้าวหน้ารวดเร็ว ผู้นำต้องเดินก่อนและรับฟังมากๆ ยกตัวอย่าง สมัยผมทำงานที่ดีแทค หัวหน้าผมขณะนั้นย้ายมาใหม่ เขามาจากวงการการเมือง มีนิสัยดุดัน ทำอะไรก็จริงจังเสมอ ก็ทำให้ลูกน้องทำงานยาก แต่อยู่มาวันหนึ่งเจ้านายผมขึ้นเวทีงานเลี้ยง แล้วทันใดนั้นไฟก็ปิดหมด มีเสียงคนร้องเพลงแร็ปดังขึ้นมา แต่ทำนองไม่ได้เลย ร้องเพี้ยนมาก เมื่อเสียงเพลงจบไฟก็เปิดขึ้น ปรากฏว่าเป็นเจ้านายผมเองที่ร้องเพลง วันนั้นทุกคนอึ้งกันหมด ไม่เชื่อว่าจะได้เห็นภาพที่ปรากฏข้างหน้า ลูกน้องอึ้งจนไม่มีใครปรบมือ หลังจากวันนั้น การทำงานก็เปลี่ยนไป หัวหน้าสามารถเข้ากับลูกน้องได้เป็นอย่างดี ซึ่งวันหนึ่งหัวหน้าผมก็เรียกไปคุย ถามว่างานเลี้ยงครั้งหน้าจะให้ผมร้องเพลง ผมก็บอกว่า ผมเป็นคนร้องเพลงไม่ได้ ผมร้องเพี้ยนมาก แต่เขาถามกลับมาประโยคหนึ่งว่า เขากับผมรู้จักกันมากี่ปี ผมก็บอกว่า ๖ ปี และถามผมอีกว่า วันที่เขาร้องเพลง ฟังแล้วรู้สึกยังไง ผมก็ตอบไปตรงๆ ว่า ฟังไม่ได้เลย ซึ่งเขาก็บอกผมว่า วันนั้นเขายังทำได้แล้วทำไมผมจะทำไม่ได้ เมื่อผมได้ยินคำนี้ ผมรู้สึกว่าผู้นำเขาทำให้เห็นแล้วว่า เขาทำได้ ดังนั้นผมก็ต้องทำให้ได้ นี่เป็นการสร้างความเชื่อมั่นในตัวผู้นำ หากผู้นำคนไหนใช้แต่อำนาจสั่งการ ลูกน้องก็จะทำงานได้ไม่เต็มที่”

วัดความเก่งที่ผลงาน

นายธนา เธียรอัจฉริยะ กล่าวอีกว่า “ผมเคยคุยกับเจ้าของกิจการแห่งหนึ่ง ผมถามเขาว่า กิจการเป็นอย่างไร พนักงานแต่ละคนดีไหม เขาบอกว่า ปีนี้บุคลลดีเด่นเป็นคนที่มาทำงานตลอด ไม่เคยขาด ลา มาสายสักวัน ทำงานตรงเวลาเสมอ ผมจึงคิดในใจว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของกิจการที่กำลังจะถดถอยหรือถอยหลัง เพราะเขามองว่าคนมาทำงานตรงเวลาคือคนเก่ง แต่จริงๆ แล้วไม่รู้เลยว่า คนนั้นทำงานเก่งจริงหรือไม่ ซึ่งแตกต่างกับบางคนที่มาทำงานสายบ้าง มาทำงานไม่กี่วันบ้าง แต่มีผลงานที่จับต้องได้ มีผลงานที่ทำให้กิจการรุ่งเรือง ดังนั้น ความคิดเก่าๆ แบบนี้ในยุคนี้อาจจะใช้ไม่ได้แล้ว เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ทุกวันนี้มีโซเชียลมีเดียเข้ามา ทุกคนจะตั้งคำถามก่อนลงมือทำ”

คนเก่งต้องพร้อมเรียนรู้

“การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งสำคัญมาก เราจะใช้สิ่งเดิมๆ ไม่ได้แล้ว อย่างสมัยก่อนบางคนเรียนรู้งานหรือการบริหารมาจากรุ่นปู่หรือรุ่นทวด ทำกิจการแบบเป็นเส้นตรง เพราะกิจการแข่งขันกับคนในท้องถิ่นด้วยกัน แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไป การแข่งขันกว้างขึ้น ถ้ายังมัวแต่ทำแบบเดิมๆ ทำเป็นเส้นตรงเหมือนเดิม กิจการก็อาจจะไปไม่รอด ทุกวันนี้จะต้องเรียนรู้มากขึ้น คนเก่งในสมัยก่อน คือ คนที่เรียนจบแพทย์ คนที่เรียนจบวิศวกร หรือคนที่ได้ทำงานราชการ แต่ปัจจุบัน คนเก่ง คือ คนที่มีความสามารถในการเรียนรู้สิ่งต่างๆ สามารถทำงานได้หลายอย่าง เพราะว่าโลกเปลี่ยนตลอดเวลา ก็จะต้องพร้อมเรียนรู้ให้ทัน คำว่า ผู้นำ ปัจจุบันคำนี้มีความหมายต่างจากเมื่อก่อนอย่างมาก” นายธนา กล่าว

ผู้นำต้องสร้างผู้นำ

นายธนา เธียรอัจฉริยะ กล่าวท้ายสุดว่า “ปัจจุบันคำว่า Leader หรือผู้นำ จะต้องมีความสามารถในการชักจูงหรือทำให้เชื่อ แต่สมัยก่อนไม่จำเป็น อยากได้อะไรก็สั่งอย่างเดียว และผู้นำที่เจ๋งมากๆ จะต้องทำให้ลูกน้องเชื่อมั่น แต่ถ้าสมัยก่อน คือ ไม่ต้องมีความเชื่อมั่น เพื่อจะปกครองง่าย หากผู้นำทำให้ลูกน้องเชื่อมั่นได้ ก็จะสามารถชักชวนให้ขับเคลื่อนงานไปพร้อมกันได้ สิ่งสำคัญที่สุด คือ การเป็นผู้นำ ทุกอย่างคือความผิดเรา ถ้าเรามัวแต่โทษลูกน้องทั้งหมด แล้วลูกน้องจะมีความเชื่อมั่นได้อย่างไร หน้าที่ของผู้นำ แม้จะไม่มีลูกน้อง แต่ถ้าเราสามารถทำให้คนข้างๆ ดีขึ้น เก่งขึ้น ก็เท่ากับว่าเรามีความเป็นผู้นำแล้ว นอกจากนี้ผู้นำยังมีหน้าที่สร้างผู้นำด้วย เช่น แผนกหนึ่งมีลูกน้องอยู่ ๑๐ คน แล้วหาคนมาเป็นผู้จัดการแผนก ทำให้การทำงานมีความคึกคักขึ้น งานดีขึ้น แบบนี้เท่ากับเราเป็นผู้นำที่ดี แต่ถ้ามีผู้นำแล้วลูกน้องลาออกหมด เท่ากับว่า ผู้นำคนนั้นยังไม่เหมาะสม เราเป็นแค่หัวรถจักร ไม่จำเป็นต้องลากทั้งขบวน แต่มีหน้าที่สร้างผู้นำขึ้นมา เพื่อช่วยลากขบวน ผู้นำจะต้องเดินนำให้มาก ฟังปัญหาให้มาก สร้างบรรยากาศให้ดีขึ้น และที่ยากที่สุดอย่าพยายามเก่งทุกอย่างด้วยตัวเอง หากทำได้แบบนี้กิจการก็จะเติบโตและดีขึ้นต่อไป”

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๗๓ วัวันพุธที่ ๗ - วันอังคารที่ ๒๐ เดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๔

 

939 1596