28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

May 06,2021

โควิดกระทบรถทัวร์โคราช ให้จังหวัดสั่งหยุดเดินรถ ‘ผู้ว่า’ลั่นยังไม่เห็นด้วย

ผู้ประกอบการรถทัวร์ วอนคณะกรรมการโรค ติดต่อฯ พิจารณาสั่งหยุดเดินรถ แบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว หลังรัฐไม่ส่งเสริมการเดินทาง อาจจะต้องเลิกจ้างพนักงานกว่า ๑,๐๐๐ คน “ผู้ว่าวิเชียร” ขอส่งเรื่องให้กรมการขนส่งฯ พิจารณา

 

 

สืบเนื่องจาก สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ หรือ โควิด-๑๙ (COVID-๑๙) ที่มีการแพร่ระบาดไปทั่วโลก เริ่มตั้งแต่ปลายปี ๒๕๖๑ และล่าสุดประเทศไทยมีการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ระลอกที่ ๓ ตั้งแต่เดือนเมษายน ๒๕๖๔ ซึ่งส่งผลให้ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบเรื่อยมานั้น โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อในจังหวัดนครราชสีมา เพิ่มจำนวนมากขึ้น ณ วันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔ มีผู้ติดเชื้อสะสม ๖๖๑ ราย

เมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา แพทย์หญิงอารีย์ เชื้อเดช รองนายแพทย์สาธารณสุขนครราชสีมา และผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ผู้แทนจากชมรมผู้ประกอบการรถโดยสารจังหวัดนครราชสีมา นำโดยนายชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นครชัยทัวร์ จำกัด เข้าร่วมประชุมด้วย เพื่อขอพิจารณารอบการเดินรถหรือหยุดการเดินรถโดยสาร

นายชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท นครชัยทัวร์ จำกัด 

นายชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์ นำเสนอต่อที่ประชุมว่า “ชมรมผู้ประกอบการรถโดยสารโคราช ประสบปัญหากับการระบาดของโควิด-๑๙ ระลอกที่ ๓ โดยมีไทม์ไลน์ผู้ป่วยหลายราย เดินทางจากจังหวัดควบคุมสูงสุดมายังโคราช โดยรถโดยสารทุกคันมีการตรวจสอบผู้โดยสารตอบที่ราชการกำหนด คือ วัดอุณหภูมิก่อนขึ้นรถ แต่เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ป่วยประมาณร้อยละ ๘๐ ไม่แสดงอาการ จึงทำให้ไม่ทราบว่ามีผู้ติดเชื้อ แต่เมื่อผ่านไปสักพักหนึ่ง สสจ.ก็จะแจ้งว่ามีผู้ติดเชื้อเดินทางมากับรถโดยสาร ทำให้พนักงานประจำรถโดยสารและผู้โดยสารคนอื่นอยู่ในภาวะเสี่ยง ทำให้มีการกักตัวหรือเฝ้าสังเกตอาการ แต่การกักตัวของพนักงานบนรถมีผลกระทบต่อพนักงานภาคพื้นในสำนักงาน เพราะลักษณะการทำงานของพนักงานบนรถต้องมีปฏิสัมพันธ์กับพนักงานภาคพื้น และรวมถึงจุดระหว่างที่รถโดยสารจอดแวะด้วย ทำให้ผู้ประกอบการทำงานลำบาก ซึ่งเส้นทางที่ผู้ติดเชื้อเดินทางมากที่สุด คือ กรุงเทพฯ-โคราช ประกอบกับการศึกษาข้อมูลว่า เมื่อมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-๑๙ กลุ่มผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงก็จะเดินทางกลับภูมิลำเนา เพราะเขามีความรู้สึกว่าต้องมากักตัวและสังเกตอาการ ประกอบกับมาตรการจากภาครัฐที่ขอความร่วมมืองดการเดินทาง สิ่งเหล่านี้มีทั้งข้อดีและข้อเสียในมุมของผู้ประกอบการรถโดยสาร แต่การขอความร่วมมือนี้ไม่ระบุให้หยุดการเดินรถ ซึ่งกฎหมายของการเดินรถสาธารณะ จำเป็นต้องเดินรถแม้ว่าจะมีผลกระทบตามมา”

“ธุรกิจรถโดยสาร เป็นธุรกิจที่ต้องได้รับใบอนุญาตประกอบการ จึงมีเงื่อนไขข้อบังคับในการวิ่งรถ เราจึงไม่สามารถกำหนดได้เองว่า จะหยุดหรือจะวิ่ง และจะวิ่งมากหรือวิ่งน้อย เมื่อภาครัฐไม่ส่งเสริมการเดินทางก็ทำให้ลูกค้าส่วนหนึ่งหายไป แต่เราก็ยังต้องวิ่งต้องประกอบกิจการ จึงทำให้เกิดผลกระทบในการประกอบกิจการ โดยเฉพาะเส้นทางที่มาจากจังหวัดชลบุรี เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ นอกจากนี้พนักงานที่มีอยู่ ไม่สามารถปรับเปลี่ยนไปด้านอื่นได้ เพราะพนักงานเหล่านี้มีความสามารถเฉพาะด้าน ไม่สามารถหันไปทำงานอย่างอื่นได้ ซึ่งเส้นทางใน ๓ จังหวัดที่กล่าวมา มีลูกจ้างประมาณ ๑,๐๐๐ คน ในเมื่อประกอบการไม่ได้ก็จำเป็นต้องเลิกจ้าง เมื่อเลิกจ้างก็จะส่งผลกระทบต่อแรงงาน ในกรณีที่ไม่เลิกจ้าง ผู้ประกอบการก็จะต้องแบกรับภาระเหล่านี้ทั้งหมด รวมกับต้องแบกภาระรถทุกคันที่ต้องวิ่งด้วย โดยธุรกิจรถโดยสารไม่ถูกสั่งหยุด แต่ก็เหมือนหยุด ทำให้ลูกจ้างไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการใดๆ ส่วนบริษัทผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระไว้ จึงเป็นที่มาของการเลิกจ้างพนักงาน หรือบางบริษัทก็ใช้วิธีหยุดกิจการโดยไม่จ่ายค่าจ้าง ซึ่งมีผลกระทบรุนแรงต่อแรงงาน หากจังหวัดสามารถประกาศหยุดการเดินรถหมวด ๒ หรือหยุดการเดินรถในเส้นทางระหว่างจังหวัด หรือหยุดการเดินรถเส้นทางที่อยู่พื้นที่ควบคุมสูงสุด ก็จะช่วยลดการแพร่ระบาดและส่งผลดีต่อผู้ประกอบการในเส้นทางเหล่านั้น ซึ่งมีอยู่ประมาณ ๑๐ บริษัท ชมรมผู้ประกอบการรถโดยสารฯ จึงมีข้อเสนอว่า ต้องการให้รถหมวด ๒ และ ๓ หรือถ้าไม่เป็นรถหมวด ๒ และ ๓ ทั้งหมด ก็ให้เป็นรถหมวด ๒ และ ๓ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดเข้มงวด เพราะเส้นทางนี้มีผลกระทบต่อการแพร่ระบาดและการประกอบการ และลูกจ้างบริษัทก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถยืดระยะในการดูแลลูกจ้างจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย แต่ถ้าไม่มีเงื่อนไขอะไรเลยผู้ประกอบการก็อาจจะต้องหยุดและเลิกจ้าง ซึ่งจะทำให้มีผลกระทบรุนแรงต่อแรงงาน” นายชัยวัฒน์ กล่าว

ไม่สั่งหยุดการเดินรถ

นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ปัญหานี้มีการพูดคุยกันแล้ว โดยมีข้อสรุปและข้อเสนอแนะว่า เรามองเห็นผู้ได้รับผลกระทบ ๓ กลุ่ม คือ ผู้ประกอบการ ลูกจ้าง และผู้โดยสาร ต่อมาเรามองในเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ รอบที่ ๑ รอบที่ ๒ และรอบที่ ๓ โดยมาตรการทางสาธารณสุขที่ใช้กับรถโดยสารถือว่า อยู่ในเกณฑ์ดีในการดูแลผู้โดยสารและผู้ที่โดยสารร่วมกัน ซึ่งหากมีผู้ติดเชื้อขึ้นไปบนรถ ไม่ได้หมายความว่า ผู้โดยสารทุกคนจะเป็นกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง แต่จะเสี่ยงสูงเพียงไม่กี่คนที่อยู่ใกล้ และที่ผ่านมายังไม่เคยเกิดกลุ่มคลัสเตอร์รถโดยสาร บนรถโดยสารอาจจะมีผู้ติดเชื้อนั่งมาด้วยจริง แต่ทุกคนก็ปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุข ทำให้ไม่พบการติดเชื้อบนรถโดยสาร”

“เมื่อพูดถึงความเดือดร้อนของผู้ประกอบการรถโดยสาร ในการระบาดรอบที่ ๑ เป็นการเสนอไปยังส่วนกลาง จังหวัดไม่ใช่ผู้สั่งปิด ดังนั้นในรอบนี้ก็จะมาร่วมพิจารณากัน หากพูดถึงการปิดรถโดยสารเส้นทางกรุงเทพฯ มาโคราช แต่รถจากกรุงเทพฯ ไปยัง ๑๙ จังหวัดในภาคอีสาน ก็จะต้องผ่านโคราช รวมทั้งเส้นทางกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ หากจะพิจารณาเส้นทางเดียวก็คงลำบาก และรถเส้นทางโคราชไปชลบุรี และโคราชไปเชียงใหม่ แต่อย่าลืมว่า ยังมีรถในภาคอีสานวิ่งผ่านโคราชไปชลบุรีและเชียงใหม่อีกเช่นกัน หากจะให้พิจารณาปิดเส้นทางเหล่านี้ ก็ยังมีรถจากจังหวัดอื่นที่ผ่านโคราชและแวะที่สถานีขนส่ง เมื่อพิจารณาแล้วก็น่าเห็นใจ แต่ก็ต้องมองให้ชัดเจนว่า การหยุดเดินรถยังไม่เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง ให้สังเกตว่าที่กรุงเทพฯ แม้จะมีการระบาดอย่างหนัก แต่รัฐบาลก็ยังมีมาตรการเพียงขอความร่วมมือเท่านั้น เพราะรัฐบาลยังต้องการให้มีการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ และที่เราคุยกันไว้ว่า ทุกสายสามารถเดินรถได้ปกติ แต่ไม่ต้องเต็มตามจำนวน เช่น เส้นทางไปประจวบคีรีขันธ์อาจจะเดินทางไปกลับอย่างน้อยสัปดาห์ละ ๑ ครั้ง เพื่อเป็นการลดต้นทุนต่างๆ ของบริษัท ผมเห็นใจทุกฝ่าย แต่ขณะนี้ต้องมองในเชิงนโยบายและผลกระทบในทุกด้าน เราจึงพิจารณาว่า อาจจะต้องส่งเรื่องนี้ขึ้นไปข้างบน ให้เป็นเชิงนโยบายออกมา เราจะรับเรื่องไว้และส่งไปให้อธิบดีกรมการขนส่งทางบกพิจารณา” นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าว

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวเพิ่มเติมว่า “จากการหารือก่อนหน้านี้เราเห็นว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ยังไม่เห็นด้วยที่จะหยุดการเดินรถเส้นทางโคราชไปยัง ๖ จังหวัด แต่เราจะส่งข้อเสนอไปให้กรมการขนส่งทางบก และขอให้คิดข้อเสนออื่นๆ ขึ้นไปด้วย เช่น การช่วยแบ่งเบาค่าจ้าง จะได้นำเสนอไปพร้อมๆ กัน”

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบก กำหนดคำจำกัดความของรถโดยสาร ไว้ ๔ ประเภทด้วยกัน คือ รถหมวด ๑ หมายถึง เส้นทางรถโดยสารประจำทาง ซึ่งมีระยะทางส่วนใหญ่อยู่ภายในเขตกรุงเทพมหานคร รถหมวด ๒ หมายถึง เส้นทางซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากสถานีขนส่งกรุงเทพฯ และไปสิ้นสุดเส้นทางในจังหวัดต่างๆ ในส่วนภูมิภาค เช่น กรุงเทพฯ-นครราชสีมา กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ กรุงเทพฯ-หาดใหญ่ เป็นต้น รถหมวด ๓ หมายถึง เส้นทางซึ่งมีจุดเริ่มต้นในจังหวัดหนึ่ง และไปสิ้นสุดเส้นทางในอีกจังหวัดหนึ่งในส่วนภูมิภาค ระหว่างกลางเส้นทางอาจจะผ่านเขตจังหวัดต่างๆ จังหวัดเดียวหรือหลายจังหวัดก็ได้ เช่น สระบุรี-หล่มสัก เชียงใหม่-ตาก เป็นต้น และรถหมวด ๔ หมายถึง เส้นทางรถโดยสารประจำทาง ซึ่งประกอบด้วยเส้นทางสายหลักและเส้นทางสายย่อย ซึ่งแยกไปยังหมู่บ้านหรือแหล่งชุมชนต่างๆ ระหว่างจุดต้นทางและปลายทางอยู่รอบเขตกรุงเทพฯ โดยรวมทั้งรถเมล์เล็กในซอยหรือรถสองแถวด้วย

 

 

 นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๗๗ วันพุธที่ ๕ - วันอังคารที่ ๑๑ เดือนพฤษภาคม  พุทธศักราช ๒๕๖๔


965 1612