28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

May 28,2021

๘ หน่วยงานกระชับมือ ดันโคราชสู่จีโอพาร์คโลก

เครือข่ายใหม่ ๘ หน่วยงานลงนามความร่วมมือส่งเสริมสนับสนุนพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน เพื่อเป้าหมายของการจัดตั้งจีโอพาร์คโลกของยูเนสโก หวังให้เป็น “ดินแดนแห่ง ๓ มงกุฎของยูเนสโก”

เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๓.๓๐ น. ณ ห้องประชุมสํานักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จังหวัดนครราชสีมา ที่ประชุมคณะกรรมการอํานวยการอุทยานธรณีโคราช หรือโคราชจีโอพาร์ค นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา มอบหมายให้นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธาน โดยมีการทําบันทึก ข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง ๘ หน่วยงาน ประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัย เทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยวงษ์ชวลิตกุล องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. และสมาคมโคราชจีโอพาร์คและฟอสซิล โดยมีผู้แทนหน่วยงานเข้าร่วม ได้แก่ นางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายก อบจ.นครราชสีมา ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล นายกสมาคมโคราชจีโอพาร์คและฟอสซิล ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดี มทร.อีสาน เป็นต้น

สำหรับการลงนามครั้งนี้เพื่อร่วมมือขับเคลื่อนโคราชจีโอพาร์คสู่จีโอพาร์คโลกยูเนสโก ร่วมกับเครือข่ายอื่นๆ ซึ่งคาดว่าจะมีการประเมินเพื่อการรับรองโดยยูเนสโกในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงตุลาคมของปีนี้ แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิดด้วยว่า ทุเลาเบาบางลงด้วยหรือไม่

ทั้งนี้ โคราชจีโอพาร์ค เป็นโครงการสําคัญของจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งประกาศเป็นวาระสําคัญของจังหวัดและอยู่ในแผนพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา ช่วง พ.ศ.๒๕๖๑-๒๕๖๕ เป้าหมาย คือ การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นแนวใหม่ตามแนวทางขององค์การยูเนสโกที่มุ่งหวังให้ประเทศต่างๆ ให้ความสําคัญกับการอนุรักษ์ ศึกษา วิจัย มรดกทางธรณีวิทยา ธรรมชาติและวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกัน และเป็นเอกลักษณ์อัตลักษณ์ของชุมชุมท้องถิ่นที่ไม่เหมือนที่ใดในโลก และร่วมกันคิด วางแผนและพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจ สังคม เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยรูปแบบการท่องเที่ยวที่เรียกว่า Geotourism ซึ่งโดยความหมายจากยูเนสโกและเนชั่นแนลจีโอกราฟิก หมายถึง การท่องเที่ยวที่สนับสนุนหรือส่งเสริมลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่โดดเด่นหรือเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่ ทั้งด้านธรณีวิทยา สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม สุนทรียภาพ มรดก และความเป็นอยู่ที่ดีของชุมชน ที่อาศัยอยู่

ปัจจุบัน การพัฒนาจัดตั้งจีโอพาร์คทั่วโลก เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางแล้ว โดยยูเนสโกได้รับรองแล้วในช่วง ๑๖ ปีที่ผ่านมาถึง ๑๖๙ แห่งใน ๔๔ ประเทศทั่วโลก เฉพาะที่ประเทศจีน มีจีโอพาร์คโลกมากที่สุด กว่า ๔๐ แห่ง หากนับรวมจีโอพาร์คระดับประเทศและจังหวัดจะมีมากกว่า ๔๐๐ แห่ง สําหรับประเทศไทย เพิ่งมีจีโอพาร์คโลกเพียงแห่งเดียว คือ สตูลจีโอพาร์ค 

สำหรับ “โคราชจีโอพาร์ค” หากยูเนสโกรับรองก็จะได้ชื่อว่าเป็น “ดินแดนแห่ง ๓ มงกุฎของยูเนสโก” หรือ UNESCO Triple Crown ด้วย เพราะจังหวัดนครราชสีมามีมรดกยูเนสโกอยู่แล้ว ๒ แห่ง คือ มรดก โลกผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ กับมรดกพื้นที่สงวนชีวมณฑลป่าสะแกราช ดังนั้น มรดกจีโอพาร์คโลกยูเนสโก ซึ่งเน้นการท่องเที่ยวด้วย หากเกิดขึ้นที่โคราชอีกก็จะเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์การ ท่องเที่ยวโคราชไปสู่วงกว้างทั้งในระดับประเทศและสากล ทําให้ผลิตภัณฑ์และการบริการที่เป็น เอกลักษณ์อัตลักษณ์ของท้องถิ่น สามารถสร้างงานและรายได้ให้กับชุมชนเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน มรดกทางธรณีวิทยา ธรรมชาติและวัฒนธรรม ก็ได้รับการอนุรักษ์ให้คงอยู่ เกิดประโยชน์ต่อลูกหลาน เราอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม โคราชจีโอพาร์ค มีเครือข่ายความร่วมมืออยู่ก่อนแล้วหลายเครือข่าย เช่น เครือข่ายโรงเรียน จีโอพาร์ค ๓๗ แห่ง เครือข่ายกับ ปตท. และ กฟผ. เครือข่าย ๕ อําเภอในพื้นที่โคราชจีโอพาร์ค เครือข่ายโรงแรม ร้านอาหาร สมาคมผู้ประกอบการรถรับจ้าง เครือข่ายชุมชนท่องเที่ยวโคราชจีโอพาร์ค ๑๓ แห่ง เป็นต้น 

สําหรับเครือข่ายใหม่ ๘ หน่วยงานที่ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ จะเป็นเครือข่ายที่สําคัญอีกเครือข่ายหนึ่งที่สามารถช่วยส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมที่สอดคล้อง กับพันธกิจของแต่ละหน่วยงาน โดยมีเป้าหมายร่วมกัน คือ การพัฒนาชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืน ซึ่งหมายถึงชุมชนทั้งรุ่นปัจจุบันและอนาคตจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีความสุขและภาคภูมิใจในท้องถิ่น ที่ตนอาศัยอยู่ จะถือได้ว่าบรรลุเป้าหมายของการจัดตั้งจีโอพาร์คโลกของยูเนสโก

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๘๐ วันพุธที่ ๒๖ เดือนพฤษภาคม - วันอังคารที่ ๑ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๔


957 1562