29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

May 28,2021

‘โรงงานกุนเชียง’ยังไม่จบ คลัสเตอร์ใหญ่สุดในโคราช ให้คืนพื้นที่ก่อนเปิดกิจการ

 

โคราชพบผู้ป่วยเฉียดพันคน รักษาหาย ๗๓๓ ราย สสจ.เผยยังมีหลายคลัสเตอร์ที่ต้องจับตามอง ส่วนคลัสเตอร์โรงงานกุนเชียงยังไม่จบ ชี้เป็นคลัสเตอร์ใหญ่ที่สุดในโคราช ต้องผ่านการคืนพื้นที่ก่อน จึงจะอนุญาตให้เปิดดำเนินการได้

การประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา มีขึ้นต่อเนื่องทุกวัน ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา โดยมีการรายงานผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ ทุกวัน ซึ่ง ‘โคราชคนอีสาน’ นำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง โดยมีคลัสเตอร์สำคัญ คือ คลัสเตอร์โรงงานกุนเชียง รวมทั้งคลัสเตอร์อื่นๆ ด้วย

ความคืบหน้าล่าสุด เริ่มจากวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๒๑ ราย ผู้ติดเชื้อสะสม ๘๖๕ ราย รักษาหายแล้ว ๖๓๖ ราย ยังรักษาอยู่ ๒๒๑ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ถ่ายทอดสดการประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ตอบโต้โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ จังหวัดนครราชสีมา ด้วยโปรแกรม zoom นำโดยนายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.ชาญชัย บุญอยู่ รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา

นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯ ในฐานะนักระบาดวิทยา สสจ.นครราชสีมา รายงานว่า “คลัสเตอร์เจ้าสัวเป็นคลัสเตอร์สำคัญ วันนี้ยังพบผู้ป่วยอยู่ ซึ่งก่อนหน้านี้เคยแจ้งว่า ที่จุดบริการขายหน้าโรงงาน ยังไม่พบผู้ป่วย และได้เน้นย้ำว่า ให้พนักงานของโรงงานเจ้าสัวเข้ารับการตรวจหาเชื้อให้ครบ ๑๐๐% วันนี้จึงพบผู้ป่วยรายที่ ๘๕๓ เป็นพนักงานขาย เขามีความกังวลจึงไปตรวจ และพบว่าติดเชื้อ โดยเขาไม่มีความเกี่ยวข้องกับโรงงาน แต่สภาพแวดล้อมก็สามารถทำให้ติดเชื้อได้ และรายที่ ๘๕๔ ซึ่งพบเพิ่มวันนี้ อยู่ในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่มีการเฝ้าระวังอยู่แล้ว โดยพบเชื้อจากการตรวจครั้งที่ ๓ สถานการณ์ของโรงงานเจ้าสัวยังมีอย่างต่อเนื่อง ระหว่างวันที่ ๔-๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ปัจจุบันยังต้องเฝ้าระวังอยู่ โดยขอเน้นย้ำถึงทุกอำเภอ ประชาสัมพันธ์ถึงบุคคลที่ทำงานในโรงงานเจ้าสัว ให้ไปตรวจหาเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำก็ต้องไป และคณะกรรมการโรคติดต่อฯ มีมติให้ปิดโรงงานเจ้าสัวตั้งแต่วันที่ ๑๔-๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ หากยังพบการติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ก็อาจจะต้องปิดต่อ”

“คลัสเตอร์ตำบลหันห้วยทราย อำเภอประทาย วันนี้พบผู้ป่วยเพิ่ม ๑ ราย รายที่ ๘๖๕  อยู่ในวงที่ ๒ ของการร่วมกิจกรรมสังสรรค์ของผู้ป่วยรายที่ ๘๑๔ ซึ่งติดเชื้อมาจากผู้ป่วยรายที่ ๘๓๓ ที่ร่วมกิจกรรมสังสรรค์ด้วย โดยคลัสเตอร์นี้เกิดขึ้นแล้ว ๒ วง ยังไม่เกิดวงที่ ๓ ขณะนี้อยู่ในการควบคุมดูแลของอำเภอประทาย และมีการปิดหมู่บ้านไว้แล้ว”

นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ รายงานอีกว่า “คลัสเตอร์ใหม่วันนี้อยู่ในพื้นที่เขตอำเภอเมือง หมู่บ้านดวงพร ถนนเดชอุดม มีผู้ป่วยทั้งหมด ๙ ราย คือ รายที่ ๘๑๙ ๘๔๙ ๘๕๐ ๘๕๑ ๘๔๑ ๘๕๕ ๘๔๐ ๘๓๙ ๘๕๒ โดยรายแรก คือ รายที่ ๘๑๙ มีอาการหนาวสั่น มีไข้ ปวดเมื่อยามร่างกาย เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๔ จากนั้นไปตรวจหาเชื้อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ และรู้ผลวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๔ พบติดเชื้อโควิด-๑๙ เมื่อค้นหาผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในพื้นที่อำเภอเมืองกว่า ๑๐ ราย พบ ๔ รายติดเชื้อโควิด-๑๙ โดยผู้ป่วยรายที่ ๘๑๙ มีอาชีพเป็นช่างเสริมสวยและสักคิ้ว มีผู้ป่วยรายที่ ๘๔๙ และ ๘๕๑ ไปร่วมทานข้าวและพูดคุยกับป่วยรายที่ ๘๑๙ จึงทำให้ติดเชื้อ ซึ่งรายที่ ๘๔๙ อาศัยอยู่กับรายที่ ๘๔๑ และรายที่ ๘๕๐ เป็นเด็กอายุ ๕ เดือน คาดว่าติดจากการเลี้ยงดูของคนในครอบครัว นอกจากนี้ผู้ป่วยรายที่ ๘๕๒ ก็ติดเชื้อมาจากครอบครัวนี้เกิดเป็นการแพร่ระบาดไปวงที่ ๒ สำหรับรายที่ ๘๑๙ มีครอบครัวอยู่ที่อำเภอพิมาย วันที่ ๗ พ.ค.๒๕๖๔ ได้เดินทางไปพูดคุยกับครอบครัวโดยไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย เมื่อกลับมาในเมือง ก็เดินทางไปพิมายอีกครั้งในวันที่ ๑๒-๑๓ พ.ค.๒๕๖๔ ซึ่งเขาไปนวดหน้าและสักคิ้วให้กับรายที่ ๘๕๕ ส่วนผู้ป่วยรายที่ ๘๓๙ และ ๘๔๐ เป็นคนในครอบครัว ขณะนี้กำลังติดตามกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงว่า จะมีเพิ่มขึ้นหรือไม่”

ยืนยันต้องตรวจเชื้อทั้งโรงงาน

วันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๒๒ ราย ผู้ติดเชื้อสะสม ๘๓๗ ราย รักษาหายแล้ว ๖๕๒ ราย ยังรักษาอยู่ ๒๒๗ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา นำโดยนายกรกต ธำรงวงศ์สวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย พญ.อารีย์ เชื้อเดช รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ร่วมประชุม

พญ.อารีย์ เชื้อเดช เปิดเผยว่า “จากการประกาศให้โรงงานเจ้าสัว คัดกรองพนักงานที่เหลือทั้งหมดที่ยังไม่ได้ตรวจ พบว่า รายที่ ๘๕๓ และ ๘๕๘ เป็นกลุ่มที่ไม่ได้เข้ารับการตรวจตั้งแต่แรก เป็นพนักงานอยู่ในส่วนของฝ่ายขาย ซึ่งในส่วนของพนักงานที่ยังไม่ตรวจประมาณร้อยละ ๒๐ เราไม่รู้ว่ามีจำนวนกี่คน ในส่วนนี้คงต้องขอข้อมูลจากฝ่ายบุคคลของโรงงาน”

นายกรกต ธำรงวงศ์สวัสดิ์ กล่าวว่า “เจ้าพนักงานควบคุมโรคอำเภอเมือง จะต้องประสานกับหน่วยงานที่เขามีข้อมูลว่า โรงงานนี้มีพนักงานทั้งหมดกี่คน ตรวจแล้วกี่คน และยังไม่ตรวจกี่คน ถ้ายังตรวจไม่หมด ให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคประสานกับผู้ประกอบการให้นำพนักงานไปตรวจ หากไม่ตรวจก็ให้ประสานกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ เพื่อให้ออกเป็นคำสั่ง จะปล่อยให้เขาตามใจไม่ได้ ฝากนายอำเภอเมืองนครราชสีมา ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งเจ้าพนักงานควบคุมโรค รพ.สต.ยางใหญ่ หน่วยงานสาธารณสุข และหน่วยงานสังกัดกระทรวงแรงงาน ให้ตรวจสอบพนักงานที่ยังไม่ตรวจว่ามีกี่คน ให้พูดทำความเข้าใจ และรายงานที่ประชุมให้ทราบ เพื่อจะได้ทราบว่า ผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร”

นายเกษมสันต์ เครือเจริญ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ข้อมูลที่ได้ตรวจสอบล่าสุดของโรงงานเจ้าสัว ทั้งลูกจ้างที่เป็นของผู้รับเหมา ยอดทั้งหมด ๘๔๑ คน ซึ่งทุกคนได้ตรวจหาเชื้อรอบแรกทั้งหมดแล้ว และการตรวจรอบที่ ๒ ในส่วนของลูกจ้างของเจ้าสัว ก็ตรวจครบทั้งหมดแล้ว ขณะนี้กำลังติดตามลูกจ้าง outsource ที่กระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อนำตัวมาตรวจรอบ ๒ ให้ครบ”

นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ กล่าวว่า “ข้อมูลที่ได้รับจากโรงงาน ณ วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ มีข้อมูลผลแล็บแล้วประมาณ ๖๐๐ คน ซึ่งเหลือประมาณ ๒๐๐ คน ส่วนลูกจ้างชาวเมียนมาหรือผู้ป่วยใหม่วันนี้ ๒ ราย อยู่ในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่เฝ้าระวังอยู่แล้ว ในส่วนของพนักงานที่เป็นผู้จัดการระดับสูง เจ้าหน้าที่ Back Office และพนักงานขายสินค้าที่จุดจำหน่ายหน้าโรงงาน ซึ่งกลุ่มนี้ไปตรวจเพราะเห็นข้อมูลที่ สสจ.ส่งให้ว่า ต้องไปตรวจครบ ๑๐๐% ซึ่งโรงงานไม่ได้ประสานให้พนักงานไปตรวจ เพียงแต่ว่า สสจ.ส่งภาพให้ดูว่าต้องตรวจและความจริงยังตรวจไม่ครบ ๑๐๐% ขนาดผู้จัดการก็ยังไม่ได้ตรวจ”

นายกรกต ธำรงวงศ์สวัสดิ์ กล่าวเสริมว่า “สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานช่วยประสานกับผู้ประกอบการ เพราะถ้าข้อมูลชัดเจนว่า การตรวจหาเชื้อยังไม่ครบถ้วน ทางทีมสอบสวนโรคอาจจะนำเรื่องเสนอคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดว่า มาตรการที่จะจัดการกรณีที่ยังมีการสอบสวนโรค ยังไม่มีการไปตรวจโรคให้ครบถ้วนจะทำอย่างไรต่อ ขอให้ประสานกับฝ่ายเลขาฯ ด้วย เพราะทีมสอบสวนโรคยืนยันว่า ยังตรวจไม่ครบ ขาดอีกประมาณ ๒๐๐ คน การเปิดกิจการในวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ อาจจะขึ้นอยู่กับข้อมูลนี้ด้วยว่า พนักงานของบริษัทนี้ตรวจโรคครบหรือยัง เพราะขณะนี้ยังพบผู้ติดเชื้อเชื่อมโยงกับผู้ติดเชื้อรายเก่าอยู่”

พญ.อารีย์ เชื้อเดช กล่าวเสริมว่า “ขอยืนยันว่าตัวเลขไม่ตรงกัน ทางเจ้าสัวบอกว่า มีพนักงานประมาณ ๘๕๐ ราย ตรวจหาเชื้อครบแล้ว เนื่องจากสถานที่ตรวจมีหลายที่ พนักงานควบคุมโรคอาจจะตรวจสอบได้ไม่ครบ จึงอยากให้โรงงานยืนยันรายชื่อพนักงานว่า มีการตรวจไปเมื่อใด ตรวจที่ไหน และผลการตรวจเป็นอย่างไร โดยก่อนหน้านี้เราพบการระบาดในวงที่ ๑ จำนวน ๓๒ ราย แต่เมื่อมีการกำชับว่า ให้ตรวจเพิ่ม ก็พบว่า จาก ๓๒ ราย กลายเป็น ๓๗ ราย ซึ่งการหาผู้ติดเชื้อในวงที่ ๑ อาจจะยังไม่ครบถ้วน จึงเป็นสาเหตุว่า คนที่พนักงานควบคุมโรคไม่มีข้อมูลการตรวจ ให้ยืนยันว่าตรวจแล้ว ตามที่โรงงานยืนยัน เพื่อมั่นใจว่า ตรวจครบแล้ว แต่ถ้าไม่มีก็จะไม่มั่นใจว่า ส่วนที่เหลือประมาณ ๒๐๐ รายนั้น จะมีใครติดเชื้อแล้วไม่มีอาการหรือไม่”

พญ.อารีย์ เชื้อเดช กล่าวอีกว่า “ในส่วนของคลัสเตอร์ตำบลหันห้วยทราย อำเภอประทาย เริ่มต้นจากผู้ป่วยรายที่ ๘๑๔ กลับมาจากพื้นที่เสี่ยง พบว่า มีกิจกรรมสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงาน ตั้งแต่วันที่ ๗-๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้นใน ๒ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มครอบครัว มีผู้ติดเชื้อแล้ว ๗ ราย และกลุ่มเพื่อนที่ร่วมสังสรรค์ มีผู้ติดเชื้อแล้ว ๑๓ ราย และในกลุ่มผู้ติดเชื้อทั้ง ๒ กลุ่ม มีการระบาดสู่วงที่ ๒ จำนวน ๗ ราย รวมทั้งหมดในวันนี้คลัสเตอร์นี้มีผู้ติดเชื้อ ๒๗ ราย”

ฉีดวัคซีนแต่ติดโควิด-๑๙

พญ.อารีย์ เชื้อเดช กล่าวท้ายสุดว่า “สำหรับผู้ป่วยรายที่ ๘๕๒ อยู่ในตำบลเมืองปัก อำเภอปักธงชัย เพศชาย อายุ  ๕๗ ปี ซึ่งภายหลังทราบว่า ผู้ป่วย คือ พ.ต.อ.ชนัตถ์ กวีขาวฉลาด ผู้กำกับการ สภ.ปักธงชัย ซึ่งมีประวัติเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-๑๙ เข็มที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคมที่ผ่านมานั้น ขอยืนยันว่า วัคซีนที่ดีที่สุด คือ วัคซีนที่ฉีดได้เร็วที่สุด ไม่ว่าจะเป็นซิโนแวคหรือแอสต้าก็ตาม ถามว่า ทำไมฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มที่ ๒ แล้ว แต่ยังติดเชื้อ ที่ฉีดไปสามารถป้องกันการติดเชื้อที่รุนแรงและอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งการฉีดวัคซีนซิโนแวค จะสร้างภูมิคุ้มกันเกิน ๙๐ ในเข็มที่ ๒ ส่วนท่านที่ติดเชื้อหลังจากฉีดวัคซีน พบติดเชื้อหลังฉีด ๗ วัน ซึ่งภูมิคุ้มกันเข็มที่ ๒ อาจจะยังเพิ่มขึ้นไม่ดี เราจึงได้ยืนคำว่า ถึงแม้จะฉีดวัคซีนแล้วการ์ดก็ห้ามตก แต่จากการตรวจสอบทางระบาดวิทยา ข้อมูลที่พบ คือ เขาน่าจะมีการติดเชื้อมาก่อนฉีดวัคซีนเข็มแรก หรือมีเชื้อมาระหว่างฉีดเข็มแรก เพียงแต่ว่า การติดเชื้อระยะหลังมักจะไม่มีอาการ และไม่ได้มีประวัติสัมผัสเสี่ยงมากก่อน จึงอาจจะมีเชื้อมาก่อนได้รับวัคซีนโดยไม่แสดงอาการ เข็มที่ ๒ ก็ฉีดไปตามกำหนด มาตรวจพบภายหลังว่า ติดเชื้อ อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนยังมีประโยชน์อยู่ดี คนไทยทุกคนควรจะต้องถือเป็นวาระแห่งชาติในการฉีดวัคซีน ให้ความเชื่อมั่นว่า วัคซีนยังป้องกันการติดเชื้อที่รุนแรง และการ์ดอย่าตกด้วย”

เร่งติดตามพนักงาน

วันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๑๑ ราย ผู้ติดเชื้อสะสม ๘๙๘ ราย รักษาหายแล้ว ๖๖๘ ราย ยังรักษาอยู่ ๒๒๑ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา นำโดยนายกรกต ธำรงวงศ์สวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.วิชาญ คิดเห็น รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และเจ้าหน้าที่ สสจ.นครราชสีมา

นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ รายงานว่า “วันนี้ยังพบผู้ติดเชื้อในคลัสเตอร์เจ้าสัว ๒ ราย เป็นผู้ป่วยในวงที่ ๒ ซึ่งเป็นคนในครอบครัวของพนักงานที่ทำงานในโรงงาน สถานการณ์ของคลัสเตอร์นี้ยังมีการพบเชื้ออย่างต่อเนื่อง จึงต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มงวด โดยขอเน้นให้พนักงานที่ทำงานในโรงงานเข้ารับการตรวจหาเชื้อทั้งหมด ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ในแผนกที่พบผู้ป่วยก็ต้องเข้ารับการตรวจ ซึ่งพนักงานขนส่ง พนักงานขาย และพนักงานการเงิน ก็ยังพบว่าติดเชื้อโควิด-๑๙ เนื่องจากเข้ามาสัมผัสในโรงงานนี้ แม้จะบอกว่าไม่ได้ปฏิบัติงานภายในโรงงาน แต่ทำงานอยู่ที่บริษัท ก็ต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อทุกคน”

“สรุปข้อมูลการเข้ารับการตรวจหาเชื้อของโรงงานเจ้าสัว ที่ได้รับจากแผนกบุคคลของโรงงาน ข้อมูล ณ วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ พบว่า พนักงานในโรงงานทั้งหมด ๘๔๑ คน ตรวจหาเชื้อแล้ว ๗๐๔ คน ยังไม่มีข้อมูลหรือลาออก ๑๓๗ คน โดยมีข้อมูลที่ส่งตรวจที่โรงพยาบาลมหาราชฯ ๓๔๔ คน แต่พบผลตรวจที่โรงพยาบาลมหาราชฯ ๑๖๖ คน และที่โรงพยาบาลเทพรัตน์ ๑๓๗ คน เหลือรายชื่อที่ไม่พบผลตรวจ ๓๑ คน เมื่อนำข้อมูลผู้ตรวจหาเชื้อสุ่มแยกเป็นแผนก พบว่า แผนกขายมีพนักงานทั้งหมด ๔๑ คน มีข้อมูลตรวจหาเชื้อจริง ๓๙ คน และไม่พบข้อมูลการตรวจหาเชื้อในโรงพยาบาล ๙ คน โดยขณะนี้รวบรวมข้อมูลแล้ว ๔๑๕ คน เหลืออีก ๔๒๖ คน แต่ถ้าคิดตามที่โรงงานแจ้งมาว่า ตรวจหาเชื้อแล้ว ๗๐๔ ราย ก็จะคงเหลือ ๒๘๙ ราย ที่ยังไม่ตรวจสอบ” นางสาวทิพวรรณ กล่าว

ลาออกก็ต้องตรวจ

นายเกษมสันต์ เครือเจริญ กล่าวเสริมว่า “ในจำนวนพนักงาน ๘๔๑ คน มีการตรวจสอบข้อมูลแล้ว มีการแจ้งว่าได้ตรวจเชื้อรอบที่ ๑, ๒ และ ๓ และจากข้อมูลที่บอกว่า มีการตรวจประมาณ ๔๐๐ คน ขณะนี้โรงงานได้รวบรวมผลการตรวจที่ได้รับแจ้งจากโรงพยาบาลทั้งหมด ๗๔๓ คนที่มีผลการตรวจยืนยันเป็นเอกสารจากโรงพยาบาล และมี ๙๘ คน ลาออกตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ มีรายชื่อ มีเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งบริษัทได้ประสานให้ผู้ที่ลาออกไปตรวจหาเชื้อโควิด-๑๙ แต่จะไปตรวจหรือไม่นั้น โรงงานไม่สามารถบังคับได้”

นายกรกต ธำรงวงศ์สวัสดิ์ กล่าวว่า “ในส่วนที่ลาออกไปแล้ว เราไม่แน่ใจว่าการติดเชื้อเข้ามาในโรงนั้นเกิดขึ้นเมื่อใด ดังนั้น ผู้ที่ลาออกไปแล้วก็จะต้องติดตามต่อไป เช่น อาจจะต้องทำหนังสือแจ้งไปยังอำเภอที่เป็นภูมิลำเนา และแจ้งให้ประสานการตรวจโรค เพราะไม่ต้องการให้เป็นประเด็นค้างคาใจของคนในสังคมว่า มีกลุ่มก้อนของการระบาดเกิดขึ้น การตรวจหาเชื้อยังไม่ครบถ้วน เกิดวงที่ ๒ และวงที่ ๓ หากมีข้อมูลที่ครบถ้วน เราจะได้ตอบประชาชนได้อย่างชัดเจนว่า กรณีนี้ผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร เชื่อว่า ผู้ประกอบการคงให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เรื่องที่เราทำเป็นเรื่องของผลประโยชน์ส่วนรวม ไม่ใช่ผลประโยชน์ของใคร ขอให้ช่วยกันเพื่อความปลอดภัยของคนโคราช”

นพ.วิชาญ คิดเห็น กล่าวว่า “เราพบเคสแรกของเจ้าสัว เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๔ จะต้องนับถอยหลังไป ๑๔ วัน ใครที่ทำงานในโรงงานแห่งนี้ จะต้องมาตรวจหาเชื้อทุกคน ส่วนวิธีการควบคุมโรคตามหลักวิชาการ คือ ต้องนำตัวผู้สัมผัสโรคมาตรวจหาเชื้อให้เร็วที่สุด และครอบคลุมมากที่สุด ดังนั้นในฐานะที่เป็นเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ มีอำนาจที่จะเชิญมาตรวจหาเชื้อทันที สมมุติว่า ขณะนี้ ๑ ใน ๑๐๐ คน อาจจะอยู่ที่จังหวัดชัยภูมิ เราก็นำเรียนว่า บ้านเลขที่นี้ คนชื่อนี้ แจ้งไปยังคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดชัยภูมิ เขาก็จะสามารถนำตัวมาตรวจได้ เพราะปัจจุบันมีหลายรายที่ไม่แสดงอาการ ซึ่งคนที่ไม่แสดงอาการเหล่านี้ เป็นบุคคลที่สำคัญที่จะต้องนำตัวมาตรวจหาเชื้อและกักตัว จะบอกว่า เขาลาออกไปแล้วจึงไม่เกี่ยวข้อง แบบนี้ไม่ได้ ไม่อย่างนั้นคนทั้งประเทศจะต้องรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ว่าจะไปที่ไหนในประเทศไทย เชื้อก็จะวนเวียนอยู่เช่นนี้ ดังนั้น ผู้ที่เคยทำงานในโรงงานเจ้าสัว นับถอยหลัง ๑๔ วัน จากวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๔ จะต้องนำตัวเข้าตรวจหาเชื้อโดยเร็วที่สุด หากพบว่ามีเชื้อ ก็จะต้องนำตัวเข้ารับการรักษา เราจะต้องจริงจังในเรื่องนี้”

คลัสเตอร์ที่น่าสนใจ

นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ กล่าวอีกว่า “สำหรับคลัสเตอร์ตำบลหันห้วยทราย พบผู้ป่วยเพิ่ม ๑ ราย ซึ่งอยู่ในวงที่ ๒ แต่เราก็อุ่นใจ เพราะว่าเป็นผู้ป่วยที่จำกัดวงได้แล้ว ส่วนคลัสเตอร์ครอบครัวอำเภอด่านขุนทด มีผู้ป่วยทั้งหมด ๙ ราย โดยผู้ป่วยรายที่ ๘๑๗ มีอาชีพปลูกผัก โดยนำผักไปขายที่ตลาดสุรนคร ช่วง ๒๑.๐๐-๐๓.๐๐ น. ซึ่งเขาใช้ชีวิตในอำเภอเมือง และเมื่อกลับไปบ้านที่อำเภอด่านขุนทด ก็จะมีการพูดคุยและทานอาหารร่วมกัน จึงทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้น คลัสเตอร์ต่อมา คือ คลัสเตอร์ตำบลบ้านเกาะ โดยผู้ป่วยรายที่ ๘๕๖ มีอาชีพอิสระ โดยทำงานและอาศัยอยู่ที่คลอง ๓ จังหวัดปทุมธานี วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๖๔ จึงเดินทางกลับมาโคราชด้วยรถตู้ประจำทาง จากนั้นวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ มีอาการไอและเจ็บคอ จึงไปตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลมหาราชฯ และพบว่า ติดเชื้อ ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้วก็พบผู้ติดเชื้อเพิ่มภายในครอบครัวอีก ๔ ราย ยังไม่พบการแพร่ระบาดในวงที่ ๒ ขณะนี้กำลังติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของคลัสเตอร์นี้ และคลัสเตอร์อำเภอชุมพวง วันนี้พบเพิ่ม ๑ ราย แต่อยู่ในกลุ่มที่มีการเฝ้าระวังและปิดหมู่บ้าน”

คลัสเตอร์เจ้าสัว ๖๔ ราย

วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๘ ราย ผู้ติดเชื้อสะสม ๙๐๖ ราย รักษาหายแล้ว ๖๙๒ ราย ยังรักษาอยู่ ๒๐๕ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา นำโดยนายกรกต ธำรงวงศ์สวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย พญ.อารีย์ เชื้อเดช รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และเจ้าหน้าที่

นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ กล่าวรายงานไทม์ไลน์ผู้ป่วยที่น่าสนใจว่า “ขณะนี้คลัสเตอร์ของโรงงานเจ้าสัวแพร่ระบาดไปวงที่ ๓ แล้ว โดยวงที่ ๑ เป็นพนักงานของโรงงานเจ้าสัว ๓๗ ราย ในส่วนของวงที่ ๒ เป็นกลุ่มครอบครัวผู้สัมผัสเสี่ยงที่อยู่ร่วมบ้านกับผู้ป่วย โดยวันนี้พบเพิ่มในวงนี้ ๒ ราย รวมเป็น ๙ ราย และวงที่ ๓ มี ๑ ราย รวมทั้ง ๓ วง มีผู้ป่วย ๔๗ ราย เมื่อรวมกับคลัสเตอร์งานศพที่อำเภอชุมพวงด้วย ๑๗ ราย รวมทั้งสิ้นคลัสเตอร์เจ้าสัวมี ๖๔ ราย ซึ่งยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง”

“สำหรับคลัสเตอร์หมู่บ้านดวงพร รายที่ ๘๑๙ เป็นช่างเสริมสวย ซึ่งใช้วิธีให้บริการโดยเดินทางไปตามสถานที่ต่างๆ ทำให้เกิดคลัสเตอร์ขึ้นมา ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อในวงของเครือญาติและลูกค้าที่เขาเดินทางไปสักคิ้วและนวดหน้าให้ และวันนี้พบผู้ติดเชื้อเพิ่มในคลัสเตอร์นี้ ๒ ราย เป็นรายที่ ๘๙๔ และ ๘๙๙ อยู่ในอำเภอเมือง โดยเป็นการติดเชื้อในวงที่ ๓ จากการสอบสวนย้อนหลัง ๑๔ วัน พบว่า ผู้ป่วยไม่ได้เดินทางไปไหน อยู่แค่กับผู้ใกล้ชิด การสอบสวนแหล่งที่แท้จริงยังไม่ทราบ เพราะว่า มีอาชีพเป็นช่างเสริมสวย แม้จะปิดหน้าร้าน แต่ก็ยังรับงานนอกสถานที่ จึงไม่ชัดเจนว่า ติดมาจากแหล่งใด”

นายกรกต ธำรงวงศ์สวัสดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับการติดตามพนักงานของโรงงานแห่งหนึ่ง การตรวจหาเชื้อตามที่ต้องตรวจ จะเป็นข้อเสนอของทีมสอบสวนโรค ที่จะนำเสนอต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เมื่อครบวันกำหนดปิดแล้ว จะสามารถเปิดทำการได้หรือไม่ เรื่องนี้ทางโรงงานต้องร่วมด้วยช่วยกัน ทั้งผู้ประกอบการ เจ้าพนักงานควบคุมโรค และทุกภาคส่วน เพื่อให้ปลอดภัยสำหรับทุกคน ซึ่งขณะนี้ยังพบวงขยายที่มาจากสถานที่เดียวกัน ตราบใดที่การตรวจหาเชื้อยังไม่ครอบคลุม ยังไม่เป็นไปตามหลักวิชาการ ก็อาจจะเป็นปัญหากับการเปิดทำการตามที่ผู้ประกอบการต้องการได้”

เสียชีวิตเพิ่มอีก ๑ ราย

วันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๗ ราย ผู้ติดเชื้อสะสม ๙๑๓ ราย รักษาหายแล้ว ๗๐๘ ราย ยังรักษาอยู่ ๑๙๕ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งวันนี้มีนายจรัสชัย โชคเรืองสกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.ชาญชัย บุญอยู่ รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา เข้าร่วมประชุม

นพ.ชาญชัย บุญอยู่ กล่าวว่า วันนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ๑ ราย เพศชาย อายุ ๗๗ ปี อยู่ที่ ต.โนนทองหลาง อ.บัวใหญ่ ผู้ป่วยมีโรคประจำตัว โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง มีประวัติอาศัยอยู่และเดินทางมาจาก จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ ๒๒ พ.ค.๒๕๖๔ ผู้ป่วยมีอาการไข้ ไอ ปวดกล้ามเนื้อ เวียนศรีาะ เข้ารักษาที่ รพ.บัวใหญ่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ผลตรวจพบเชื้อ มีอาการหอบเหนื่อย แพทย์จึงใส่ท่อช่วยหายใจ และส่งต่อรักษาที่ รพ.มหาราชฯ รวมผู้เสียชีวิตสะสมขณะนี้ ๑๐ ราย”

คลัสเตอร์เจ้าสัวสงบ ๑ วัน

นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ กล่าวรายงานไทม์ไลน์ที่น่าสนใจ ว่า “วันนี้เป็นวันดีที่ไม่พบผู้ป่วยเกี่ยวข้องกับโรงงานเจ้าสัว แต่ยังมีคลัสเตอร์ที่น่าจับตามอง คือ คลัสเตอร์ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมือง คลัสเตอร์นี้เริ่มจากรายที่ ๘๕๖ ซึ่งเคยทำงานอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี และกลับมาโคราชเมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๖๔ โดยอาศัยอยู่กับครอบครัว ๕ คน และเพื่อนบ้านที่มาร่วมทานอาหาร ทุกคนติดเชื้อ ซึ่งวันนี้พบผู้ป่วยเพิ่มอีก ๑ ราย เป็นรายที่ ๙๐๙  มาเยี่ยมหลานที่บ้าน และนำหลานไปเลี้ยงที่ตำบลโคกสูง ทำให้มีผู้สัมผัสกับหลานหลายราย ขณะนี้กำลังติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูงของครอบครัวนี้”

วัคซีนไม่เพียงพอ

นพ.ชาญชัย บุญอยู่ กล่าวในตอนท้ายว่า “สำหรับกรณีที่มีประกาศเลื่อนกำหนดการฉีดวัคซีน เดิมทีคิดว่า จะได้วัคซีนมาในจำนวนหลักแสนโดส แต่ภาพรวมของประเทศมีการยื้อแย่งกัน โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงและพื้นที่ท่องเที่ยว จึงต้องจัดสรรไปในพื้นที่ดังกล่าว และวัคซีนที่นำเข้ามาในประเทศมีจำนวนน้อยกว่ากำหนด จึงทำให้โคราชได้รับวัคซีนมาในจำนวนน้อยลงจากหลักแสน เหลือเพียงหลักหมื่น จึงทำให้การฉีดวัคซีนที่โคราชต้องเลื่อนกำหนดออกไป แทนที่จะฉีดได้วันละ ๔,๐๐๐-๖,๐๐๐ คน ก็จะเหลือเพียงวันละ ๑,๐๐๐-๒,๐๐๐ คน”

“ในนามของส่วนราชการต้องขออภัยผู้ที่จองวัคซีนไว้ เพราะต้องเลื่อนวันฉีดออกไป แต่ขอยืนยันว่า ผู้ที่จองเข้ามาจะได้ฉีดทุกคน แต่อาจจะต้องเลื่อนเวลาออกไปเท่านั้น โดยในเดือนมิถุนายน คาดว่า จะได้รับวัคซีนประมาณ ๑๔๐,๐๐๐ โดส เดือนกรกฎาคมประมาณ ๙๐,๐๐๐ โดส เดือนสิงหาคมก็หลักแสน แต่เดือนกันยายน จะได้รับจำนวนมาก ประมาณ ๑.๒ ล้านโดส ได้จำนวนมากจนต้องหาคนมาฉีด ทั้งนี้ ถึงแม้จะฉีดวัคซีนแล้ว แต่ก็ต้องป้องกันตัวเอง เพราะฉีดวัคซีนแล้วยังสามารถป่วยได้ เพียงแต่ว่า ความรุนแรงของโรคจะลดลง ดังนั้น มาตรการต่างๆ ยังจะต้องทำอยู่ ถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าการฉีดวัคซีน” นพ.ชาญชัย กล่าว

จับตาคลัสเตอร์บ้านดวงพร

วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๗ ราย ผู้ติดเชื้อสะสม ๙๒๐ ราย รักษาหายแล้ว ๗๓๓ ราย ยังรักษาอยู่ ๑๗๗ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา นำโดยนายกรกต ธำรงวงศ์สวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย พญ.อารีย์ เชื้อเดช รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา

นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ กล่าวรายงานไทม์ไลน์ที่น่าสนใจ ว่า “วันนี้มีเพียงหนึ่งคลัสเตอร์ที่ยังต้องจับตามอง คือ คลัสเตอร์หมู่บ้านดวงพร โดยรายที่ ๘๑๙ ที่เป็นช่างเสริมสวยและสักคิ้ว ในช่วงที่มีประกาศให้ปิดร้าน เขาก็ให้วิธีบริการนอกสถานที่ให้กับคนรู้จัก ทำให้มีการติดเชื้อขึ้น และเดินทางไปที่อำเภอพิมาย ทำให้กระจายเชื้อให้ครอบครัวด้วย ซึ่งวันนี้พบเพิ่ม ๑ ราย อยู่ที่อำเภอพิมาย เป็นหลานของรายที่ ๘๑๙ อยู่ในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ทั้งนี้ ทีมสอบสวนโรคจะต้องสอบสวนโรครายที่ ๘๑๙ อีกครั้ง เพราะยังพบผู้ติดเชื้อจากรายนี้เรื่อยๆ เพื่อติดตามหาผู้สัมผัสเสี่ยงอย่างแท้จริง”

‘รง.เจ้าสัว’คลัสเตอร์ใหญ่ที่สุด

ในวาระที่ ๓.๑ เรื่องสืบเนื่อง การสอบสวนและควบคุมโรคกรณีการระบาดของโรคไวรัสโคโรนา หรือโควิด-๑๙ ของพนักงานโรงงานเจ้าสัว ที่มีที่อยู่ต่างอำเภอ พญ.อารีย์ เชื้อเดช เปิดเผยว่า “ตามที่เรามอบหมายให้เจ้าสัวทำรายชื่อพนักงานที่ทำงานอยู่จริงแยกตามรายอำเภอ ขณะนี้ได้แจ้งข้อมูลที่อยู่และเบอร์ติดต่อให้กับทุกอำเภอ เพื่อติดตามการเฝ้าระวังกลุ่มนี้ที่อยู่ต่างอำเภอ ส่วนโรงงานก็จะต้องติดตามพนักงานทั้งหมด ให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อให้ครบ ๓ ครั้ง และเจ้าพนักงานควบคุมโรคได้ติดตามผู้ที่อยู่ในอำเภอต่างๆ เรียบร้อยแล้ว”

“สถานการณ์ภาพรวมของการระบาดในโรงงานเจ้าสัว ซึ่งอาจจะเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ที่สุดของโคราช การติดเชื้อในวงที่ ๑ ของพนักงานโรงงานเจ้าสัว รวมทุกแผนกจะพบว่า มีการติดเชื้อ ๓๗ ราย วงที่ ๒ จำนวน ๙ คน และวงที่ ๓ จำนวน ๑ คน โดยมีการติดเชื้อในอำเภอเมือง ๒๖ ราย ขามทะเลสอ ๒ ราย สูงเนิน ๑ ราย ด่านขุนทด ๑ ราย พิมาย ๑ ราย โนนไทย ๕ ราย และชุมพวง ๑๗ รายรวมผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับพนักงานของโรงงานเจ้าสัว มีทั้งหมด ๖๕ ราย โดยพบการติดเชื้อตั้งแต่วันที่ ๔-๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔ โดยสรุปลผลการค้นหาผู้ป่วยในกลุ่มพนักงานโรงงานเจ้าสัว แหล่งที่มาของข้อมูลมาจากแผนกบุคคลของเจ้าสัว ซึ่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคก็ใช้ข้อมูลชุดเดียวกัน แต่เราใช้วิธีรวบรวมต่างกัน โดยเรานำข้อมูลที่เขารายงานผล และเอกสาร มารวมกับผลตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ได้จากโรงพยาบาลมหาราชฯ และโรงพยาบาลเทพรัตน์ โดยมีพนักงานทั้งหมด ๘๔๑ ราย ซึ่งยอดทั้งหมดนี้รวมถึงคนที่ลาบวช ลาคลอด และลาออก หากตัดพนักงานเหล่านี้ออก ก็จะมีจำนวนพนักงานที่ปฏิบัติงานอยู่และนำตรวจรอบที่ ๑ จำนวน ๗๔๓ ราย ซึ่งข้อมูลของเจ้าสัวรายงานว่า ตรวจครบทั้งหมด ๗๔๓ ราย แต่ข้อมูลของทีมสอบสวนโรคที่รวบรวมจากผลตรวจห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาล พบเพียง ๕๗๓ ราย ซึ่งมีผลต่างที่ไม่พบหลักฐานหรือข้อมูลไม่ถูกต้อง ๑๕๘ ราย ในรอบที่ ๒ มีพนักงานกลุ่มเป้าหมายที่ต้องตรวจ ๗๑๐ ราย พบผู้มีผลการตรวจถูกต้องและไม่ผิดพลาด ๔๔๒ ราย และมีส่วนต่างอยู่ ๒๖๘ ราย ส่วนการตรวจรอบที่ ๓ ข้อมูลของเจ้าสัวบอกว่า รอบผลตรวจ ๔๔๘ ราย ซึ่งใกล้เคียงกับที่ทีมสอบสวนโรคไม่พบข้อมูล ๕๔๐ ราย หลังจากนี้จะดำเนินการต่อโดยทีมสอบสวนโรค จะนำรายชื่อที่ไม่พบผลการตรวจรอบที่ ๒ จำนวน ๒๖๘ ราย และรอบที่ ๓ จำนวน ๕๔๐ ราย ส่งให้สถานประกอบการติดตามตรวจสอบให้ครบและรายงานผลให้ถูกต้อง จึงจะกลายเป็นการคัดกรองที่ครบถ้วนและถูกต้อง เพื่อการควบคุมโรคที่เหมาะสมต่อไป”

นายกรกต ธำรงวงศ์สวัสดิ์ กล่าวว่า “ต้องการให้ติดต่อกับผู้ทำข้อมูลนี้ของโรงงาน ให้มาพบกับทีมสอบสวนโรค เพื่อมาพูดคุยกันให้จบ และนำเอกสารมาด้วยว่า ครั้งที่ ๑, ๒ และ ๓ ตรวจเท่านี้คนมีอะไรเป็นหลักฐาน เพราะข้อมูลของทีมสอบสวนโรคตรวจสอบแล้วเป็นอีกแบบ วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ จะเป็นวันที่ครบกำหนดคำสั่งปิด ถ้าไม่มีคำสั่งใหม่ก็ไม่ต้องปิดแล้ว แต่ถ้าพูดคุยกันแล้ว ก็ให้เสนอเรื่องไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดว่า ควรจะดำเนินการอย่างไรกับเคสนี้”

เงื่อนไขเปิดกิจการเจ้าสัว

พญ.อารีย์ เชื้อเดช กล่าวเพิ่มเติมว่า “ตามที่มีคำสั่งประกาศปิดจะครบกำหนดวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๘.๐๐ น. มีประเด็นอยู่ ๒ เรื่อง คือ การพิจารณาคืนพื้นที่ และการอนุมัติให้ดำเนินกิจการของสถานประกอบการ โดยหลักการของการคืนพื้นที่ของโรงงาน จะต่างกับการคืนพื้นที่กรณีการปิดหมู่บ้าน เนื่องจากการปิดหมู่บ้านคนก็จะอยู่ในหมู่บ้านด้วย เมื่อครบกำหนดปิด ก็จะครบกำหนดการกักตัวด้วย แต่คนในกรณีนี้เป็นการปิดพื้นที่ คนที่ทำกิจกรรมในนี้ก็จะต้องแยกย้ายออกไปข้างนอก ซึ่งสามารถทำให้เชื้อกระจายวงกว้างในสังคม เมื่อกลับมาในพื้นที่ที่มีการทำความสะอาดแล้ว ก็มีโอกาสที่จะนำเชื้อกลับมาด้วย โดยจะเสนอให้มีการทำความสะอาดพื้นที่ โดยมีเจ้าพนักงานควบคุมโรคและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขควบคุมดูแล จำนวนไม่เกิน ๕๐ คน ตามประกาศจังหวัด โดยพนักงานที่จะเข้าดำเนินการจะต้องมีผลตรวจครบ ๓ ครั้ง และไม่พบเชื้อ และให้ดำเนินการหลังจากพ้นระยะเวลาคำสั่งปิด คือ หลังเวลา ๑๘.๐๐ น. วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ นี่เป็นร่างหลักการการคืนพื้นที่ แต่ไม่ได้แปลว่าจะอนุญาตให้ประกอบการค้าตามปกติ ข้อนี้เป็นเงื่อนไขที่ ๑”

“เงื่อนไขที่ ๒ ตามที่ สคร.เข้าไปตรวจสอบพื้นที่ พบว่า ควรจะมีการปรับปรุงในด้านต่างๆ ที่จะทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ รวมถึงมาตรการของพนักงานให้ปฏิบัติตาม DMHTT ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ให้ข้อเสนอแนะสถานประกอบการไปแล้ว แต่จะต้องมีการเข้าไปดำเนินการในเรื่องปรับปรุงพื้นที่ จึงเสนอว่า ก่อนที่จะเปิดดำเนินกิจการ หลังจากที่อนุมัติคืนพื้นที่แล้ว ทางผู้ประกอบการจะต้องปรับปรุงตามข้อเสนอของเจ้าหนักงานควบคุมโรค ที่ให้ข้อเสนอแนะไปเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ หากแก้ไขเรียบร้อยแล้ว ให้ติดต่อเจ้าหนักงานควบคุมโรคติดต่อ เข้าไปประเมินสถานที่ และพิจารณาแผนในเรื่องของการปรับปรุงมาตรการต่างๆ ที่ผู้ประกอบการต้องดำเนินการ เช่น การเหลื่อมเวลาทำงาน การลดระยะห่าง การลดความแออัด ตามมาตรการ DMHTT หากพบว่า ผ่านการประเมินจะต้องดำเนินการตามนี้ก่อน และอีกเรื่อง คือ ถ้าจะเปิดดำเนินกิจการ พนักงานจะต้องแสดงผลตรวจ RT PCR ครบ ๓ ครั้ง ต่อพนักงานควบคุมโรคก่อน ว่า ไม่มีการติดเชื้อ ซึ่งการจะเปิดดำเนินกิจการ ผู้ประกอบการจะต้องรวบรวมรายชื่อพร้อมกับผลตรวจให้ทีมสอบสวนโรคพิจารณาว่าถูกต้อง ครบถ้วน ล่วงหน้า ๓ วัน หากตรวจสอบแล้วถูกต้องก็สามารถให้เข้าไปปฏิบัติงานได้ และในระหว่างที่ยังไม่มีผลตรวจครบ ๓ ครั้ง ให้พนักงานกักตัว ๑๔ วัน และจุดที่พบผู้ติดเชื้อรายล่าสุด จะต้องเฝ้าระวังเป็นเวลา ๑๔ วัน นี่เป็นร่างเงื่อนไขในการที่จะให้ดำเนินกิจการต่อ หลังจากการคืนพื้นที่แล้ว หากผู้ประกอบการทำได้ตาม ๒ เงื่อนไขแล้ว ก็จะมีการตรวจสอบพื้นที่ของพนักงานควบคุมโรค และนำผลมาเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาว่า จะให้ดำเนินกิจการได้หรือไม่” พญ.อารีย์ กล่าว

ให้ผู้บริหารเข้าชี้แจง

พญ.อารีย์ เชื้อเดช กล่าวสรุปว่า “ในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๓.๐๐ น. ผู้ประกอบการโรงงานเจ้าสัวและทีมสอบสวนโรคจะหารือเรื่องข้อมูลที่ไม่ตรงกัน จากนั้นให้ผู้ประกอบการส่งรายชื่อพนักงานที่จะเข้าไปทำความสะอาดคืนพื้นที่ ไม่เกิน ๕๐ คน พร้อมผลการตรวจ และนำข้อมูลทั้งหมดเข้าในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. เพื่อประกอบการพิจารณาการคืนพื้นที่ เพื่อเข้าไปดำเนินการทำความสะอาดฆ่าเชื้อได้หรือไม่ หากมติให้คืนพื้นที่ ผู้ประกอบการก็จะต้องเข้าไปปรับปรุงมาตรการต่างๆ จากนั้นก็จะมีทีมเข้าไปประเมินพื้นที่จริง แล้วจึงจะนำเข้ามาเสนอที่ประชุม เพื่อขอดำเนินกิจการต่อไป”

ในช่วงท้าย พญ.อารีย์ เชื้อเดช ตอบคำถามสื่อมวลชนว่า “คลัสเตอร์โรงงานกุนเชียงยังไม่จบ เนื่องจากว่าเราพบผู้ป่วยรายสุดท้ายในวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๔ สถานการณ์กำลังดีขึ้น แต่ยังต้องเฝ้าระวังอยู่ และวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๔ โรงงานยังไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ เพราะคณะกรรมการโรคติดต่อฯ ยังไม่มีมติให้ดำเนินการ จะต้องรอการอนุมัติว่า จะให้ปิดต่อหรือคืนพื้นที่ในวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ดังนั้น ยังไม่จบยังต้องติดตามอยู่”

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๘๐ วันพุธที่ ๒๖ เดือนพฤษภาคม - วันอังคารที่ ๑ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๔


979 1616