May 28,2021
คืนพื้นที่โรงงานกุนเชียง เตรียมทำความสะอาดป้องกันการแพร่ระบาดอีกครั้ง ต้องทำตามมาตรการอย่างเคร่งครัด
ตามที่ จังหวัดนครราชสีมา มีประกาศคำสั่งปิดสถานที่ บริษัท เตียหงี่เฮียง (เจ้าสัว) จำกัด ระหว่างวันที่ ๑๔-๑๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๘.๐๐ น. ซึ่ง ‘โคราชคนอีสาน’ ได้นำเสนอข่าวถึงกรณีการพบผู้ติดเชื้อของคลัสเตอร์โรงงานกุนเชียงอย่างต่อเนื่อง โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมาระบุว่าเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ที่สุดของจังหวัดนครราชสีมา เนื่องจากพบผู้ติดเชื้อมากกว่าคลัสเตอร์อื่น อีกทั้งยังกระจายไปหลายอำเภอ โดยจ้อมูล ณ วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ จำนวน ๖๗ ราย และยังขยายเป็นวงที่ ๓ อีกด้วย ดังนั้น ในการพิจารณาจะให้โรงงานกุนเชียงเปิดกิจการอีกครั้งจึงต้องให้มีการคืนพื้นที่ก่อนนั้น
ล่าสุด วันนี้ (๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔) เวลา ๑๐.๐๐ น. มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ถ่ายทอดสดการประชุมศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ตอบโต้โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ จังหวัดนครราชสีมา ด้วยโปรแกรม zoom นำโดยนายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และเจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา ร่วมประชุม
สำหรับความคืบหน้ากรณีคลัสเตอร์โรงงานเจ้าสัว นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดฯ ในฐานะนักระบาดวิทยา สสจ.นครราชสีมา รายงานว่า “คลัสเตอร์โรงงานเจ้าสัว ณ วันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ยังพบอย่างต่อเนื่อง รายล่าสุดที่พบเป็นพนักงานในโรงงานที่ ๓ ซึ่งตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับร้านเจ้าสัว เป็นผู้ป่วยรายที่ ๙๓๐ มีความเกี่ยวข้องกับแผนกอนามัยในโรงงานที่ ๒ ซึ่งพนักงานอนามัยพบว่า ติดเชื้อ เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔ และทั้งคู่เป็นเครือญาติกัน ซึ่งคนอื่นๆ ที่สัมผัสใกล้ชิด ยังไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม โดยมีการติดเชื้อในอำเภอเมือง ๓๘ ราย ขามทะเลสอ ๒ ราย สูงเนิน ๑ ราย ด่านขุนทด ๑ ราย พิมาย ๑ ราย โนนไทย ๕ ราย และชุมพวง ๑๙ ราย โดยรายแรกของคลัสเตอร์นี้ ทำงานอยู่ที่โรงงานข้าวตัง มีอาการเมื่อวันที่ ๓ และผลตรวจออกมาวันที่ ๔ พฤษภาคม ๒๕๖๔ จากนั้นวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ก็พบผู้ป่วยในแผนกบรรจุภันณ์กุนเชียง จำนวน ๓ ราย ซึ่งหลังจากนั้นมา ก็พบการระบาดอย่างต่อเนื่องมาตลอด โดยวันนี้โรงงานเจ้าสัวจะครบกำหนดปิด เวลา ๑๘.๐๐ น.”
“สำหรับร่างพิจารณาอนุมัติคืนพื้นที่ เมื่อครบกําหนดประกาศปิดสถานที่ วันที่ ๒๘ พ.ค. ๒๕๕๔ เวลา ๑๘.๐๐ น. ให้เข้าดําเนินการทําความสะอาดในพื้นที่โรงงานเจ้าสัว โดยให้ทางโรงงาน จัดหาเจ้าหน้าที่ในการทําความสะอาดตามมาตรการโควิด-๑๙ และให้เจ้า พนักงานสาธารณสุขด้านสิ่งแวดล้อม และเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เข้าควบคุมกํากับการดําเนินการ และการดําเนินการการรวมตัวคนทํา ความสะอาดฆ่าเชื้อโรคไม่เกิน ๕๐ คน ตามประกาศจังหวัดนครราชสีมา (ตั้งแต่วันที่ ๒๘ พ.ค. ๒๕๖๔ เวลา ๑๘.๐๐ น. เป็นต้นไป”
“ส่วนร่างพิจารณาอนุญาตให้ดําเนินการกิจการ ให้ดําเนินการปรับปรุงตามข้อเสนอของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อที่ได้ให้ข้อเสนอแนะเมื่อวันที่ ๑๑ พ.ค. ๒๕๖๔ หากแก้ไข้เรียบร้อย ให้แจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อเข้าตรวจสถานที่ตามที่เสนอแนะ เพื่อพิจารณาเปิดดําเนินการ มีมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการติดเชื้อในสถานประกอบการอย่างเคร่งครัด เน้นการปฏิบัติตาม DMHTT พนักงานทุกคนที่จะเข้ามาปฏิบัติงานที่โรงงานเจ้าสัว ต้องแสดงผลการตรวจ RT-PCR ครบ ๓ ครั้ง ต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อก่อนเข้าปฏิบัติงาน โดยส่งเอกสารล่วงหน้า ๓ วัน เน้นการสื่อสารกับพนักงานให้กักตัว ๑๔ วันก่อนมาปฏิบัติงาน เฝ้าระวังวันที่พบผู้ป่วยรายสุดท้ายต่อจนครบ ๑๔ วัน” นางสาวทิพวรรณ กล่าว
นายชรินทร์ ทองสุข กล่าวว่า “หากตั้งหลักว่า จะขออนุมัติคืนพื้นที่ ผมคิดว่า ไม่จำเป็นต้องขออนุมัติ เพราะพื้นที่จะถูกคืนตามผลของคำสั่ง ในเวลา ๑๘.๐๑ น. แต่สิ่งที่ต้องพิจารณา คือ ทำอย่างไรเมื่อกลับไปใช้พื้นที่แล้ว จะไม่เกิดการแพร่ระบาดของโรคอีกครั้ง หรือมีมาตรการสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพื่อไม่ให้โรงงานกลายเป็นแหล่งเพราะเชื้อโรคอีกครั้ง”
จากนั้น นางสาวณภัทร โมรินทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เตียหงี่เฮียง (เจ้าสัว) จำกัด นำเสนอมาตรการต่างๆ โดยสรุปได้ว่า “ในวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เราจะความอนุเคราะห์ในการส่งหรือจัดหาเจ้าหนักงานควบคุมโรค มากำกับการทำความสะอาดหลังจากที่ปิดทำการไป ๑๔ วัน เพื่อให้การฆ๋าเชื้อเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในช่วงเวลา ๐๙.๐๐-๐๙.๓๐ น. เป็นขั้นตอนการอธิบายการฉีดพ้นทำความสะอาด โดยมีพนักงานเจ้าสัว ๗ คน ซึ่งทั้งหมดผ่านการตรวจคัดกรองครบ ๓ ครั้ง เวลา ๐๙.๓๐-๑๑.๐๐ น. ฉีดพ้นฆ่าเชื้อ โดนมีเจ้าหน้าที่ควบคุมโรคและพนักงานของเจ้าสัว ๗ คน และเวลา ๑๓.๐๐-๑๗.๐๐ น. จะมีพนักงาน ๔๐ คน เข้าพื้นที่ทำความสะอาดเช็ดถูก หลังจากที่ฉีดพ้นฆ่าเชื้อแล้ว”
“สำหรับการปรับปรุงสถานที่ จะเข้าไปในวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๔ โดยจะปรับปรุงอุปกรณ์ให้ลดการสัมผัส เช่น เดิมทีจะใช้เครื่องแสกนนิ้วในการเข้างาน แต่จะเปลี่ยนเป็นการสแกนหน้า หรือมีน้ำยาล้างมือให้สำหรับเข้าห้องน้ำ เป็นต้น สำหรับห้องแต่งตัว จะปรับปรุงโดยการขยายพื้นที่ห้อง และจะติดตั้งระบบแสงยูวี เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่ติดตามเสื้อของพนักงานที่แขวงทิ้งไว้ โดยการปรับปรุงด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ จะสามารถทำได้ประมาณ ๒ วัน ในวันที่ ๒๙-๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ส่วนมาตรการดูแลและป้องกัน หลังจากลับมาปฏิบัติงานตามปกติ ในเรื่องของการดูแลคน สถานที่ และการวิธีการปฏิบัติต่างๆ เพื่อลดความเสี่ยงติดเชื้ออีกครั้ง โดยผู้ที่จะเข้ามาในพื้นที่บริษัททั้งคนนอกและพนักงาน จะต้องผ่านจุดคัดกรอกตั้งแต่ทางเข้า ด้วยการวัดอุณหภูมิ หากเป็นบุคคลภายนอกจะต้องคัดกรองว่า ได้เดินทางไปพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ รวมทั้งบังคับทุกคนให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา”
“ในการจัดการบุคลากร มีมาตรการดูแลพื้นที่ส่วนรวมที่จะต้องใช้ร่วมกัน เช่น พื้นที่โรงอาหาร มีฉากกั้นในการรับประทานอาหาร โดยจะแบ่งพนักงานออกเป็น ๓ ช่วง ในการพักกลางวัน เพื่อลดความแออัดในการใช้สถานที่ ซึ่งในแต่ละจุดจะมีแม่บ้านคอยเช็ดทำความสะอาดทุกครั้งหลังจากใช้งาน รวมทั้งสถานที่อื่นๆ ก็จะทำตามมาตรการเดียวกัน โดยมีการเช็ดทำความสะอาดทุกครั้งหลังใช้งาน และจัดให้มีอุปกรณ์เหยียบเจลแอลกอฮอล์ เพื่อลดการสัมผัสโดยใช้มือ นอกจากนี้ในส่วนของพนักงาน ก่อนจะกลับมาทำงานก็จะมีการจัดอบรมให้ความรู้ เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวตามมาตรการทางสาธารณสุข”
“ทั้งนี้ แผนกำหนดการต่างๆ หลังจากประกาศปิดพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ ๑๕-๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ซึ่งในวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ก็จะขอให้เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคเข้ามาช่วยกำกับดูแล การทำความสะอาดพื้นที่อย่างถูกต้อง วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๖๔ จะทำความสะอาด Big Cleaning พร้อมทั้งดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ ตามที่เจ้าหน้าที่ควบคุมโรคแนะนำ และวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ จะทดสอบความพร้อมของระบบและเครื่องจักรต่างๆ และบริษัทพร้อมที่จะทำตามมาตรการของเจ้าพนักงานควบคุมโรค จากที่ผ่านมาได้รับคำแนะนำ ก็นำมาเขียนเตรียมแผนไว้ตลอด ในช่วงที่ปิดโรงงานก็มีการประชุมหารือตลอด มีการสั่งอุปกรณ์ที่จำเป็นเข้ามา ขณะนี้อุปกรณ์เหล่านั้นมีความพร้อมแล้ว หากมีการเปิดพื้นที่ก็พร้อมเข้าไปติดตั้งทันที ส่วนเรื่องของคน ทราบดีว่าเจ้าหน้าที่เป็นห่วงในการกลับมาปฏิบัติงาน ซึ่งบริษัทได้ให้พนักงานไปตรวจคัดกรองให้ครบ ๓ ครั้ง และมีการโทรติดตามตลอดว่า พนักงานตรวจหรือยัง โดยบริษัทจะรวบรวมข้อมูลผลการตรวจจากพนักงานที่ส่งผลยืนยันมาให้ ผ่านช่องทางต่างๆ จึงเป็นความผิดพลาดจริงจากการเร่งทำข้อมูลเพียง ๑ คืน แต่ล่าสุดส่งข้อมูลทั้งหมดให้กับ พญ.อารีย์ เชื้อเดช รอง นพ.สสจ. แล้ว ซึ่งเป็นข้อมูลผลการตรวจครั้งแรกของพนักงานทั้ง ๗๒๗ คน ส่วนพนักที่ตรวจครบแล้ว ๓ ครั้ง มีข้อมูลประมาณ ๕๐๐ คน”
นพ.วิญญู จันทร์เนตร กล่าวว่า “การคืนพื้นที่ไม่ต้องขอมติที่ประชุมตามที่รองผู้ว่าฯ เสนอนั้น ถูกต้องแล้ว แต่สิ่งที่จะต้องทำต่อไปนี้ คือ การปฏิบัติตามคำแนะนำ จึงกลายเป็นเงื่อนไขของการเปิดโรงงาน เพื่อปฏิบัติการ แต่ก่อนจะปฏิบัติการได้นั้น จะต้องทำตามคำแนะนำและผ่านเงื่อนไขเสียก่อน โดยสรุปเงื่อนไขได้ว่า จะต้องมีการทำความสะอาดฆ่าเชื้อ เจ้าหน้าที่ที่จะเข้าไปทำกิจกรรม จะต้องผ่านการตรวจเชื้อและผลตรวจเป็นลบครบ ๓ ครั้ง และจะต้องส่งรายชื่อพนักงานให้กับเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เพื่อให้ทราบว่า มีพนักงานคนไหนที่มีผลตรวจครบ ๓ ครั้งจริง สิ่งที่ต้องทำอีก คือ การสุ่มตรวจ บูรณาการจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคหรือเจ้าหน้าที่จากสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด หรือส่วนปกครองอื่นๆ ทางโรงงานอาจจะต้องอนุญาตให้เข้าไปตรวจสอบสิ่งที่นำเสนอวันนี้ เพื่อตรวจสอบว่า ทำได้จริง เราต้องการให้กิจการกลับมาเปิดโดยเร็วที่สุด แต่ต้องมีความปลอดภัยต่อพนักงานที่ทำงาน และเพื่อเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของโคราชให้แข็งแรงมากขึ้น”
ทั้งนี้ นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ มอบหมายให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่ ติดตามและกำกับดูแล ตามร่างมาตรการที่กำหนด โดยให้ทำเป็นคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรค เพื่อติดตามว่า มีการทำตามคำสั่งหรือไม่ จากนั้นให้นำมารายงานผลในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ ทุกวัน หากไม่ได้รับความร่วมมือ ก็สามารถเสนอมาตรการเพื่อพิจารณาเพิ่มเติม
63 1,585