24thApril

24thApril

24thApril

 

June 18,2021

บุรีรัมย์เตรียมเปิดเมืองท่องเที่ยว ระดมฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

เตรียมความพร้อมก่อนเปิดเมืองบุรีรัมย์ กระตุ้นเศรษฐกิจ โครงการ “๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ ทัวร์เที่ยวไทย โดยไม่กักตัว”  พร้อมเดินเยี่ยมประชาชนที่มารับบริการฉีดวัคซีน ด้าน ศบค.วางแผนตั้งเป้าหมาย ๔ เดือน ให้ประชาชนได้รับวัคซีนเข็มแรกได้ ๖๐-๗๐% หรือครบก่อนกันยายนนี้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันก่อนเปิดประเทศ

 

เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๖๔ ที่สนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข เข้าตรวจเยี่ยมและติดตามการฉีดวัคซีนโควิด-๑๙ เพื่อเตรียมรับการเปิดเมืองท่องเที่ยว และชมวิดีทัศน์ “เปิดเมืองบุรีรัมย์อย่างปลอดภัย มั่นใจด้วยวัคซีน” พร้อมทั้งเป็นตัวแทนรับมอบและส่งมอบบัตรประกันสุขภาพสำหรับบุคลากรสาธารณสุข และรับฟังนโยบายควบคุมโรค และเปิดเมืองบุรีรัมย์ โดยนายธัชกร หัตถาธยากูล ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ และแนวทางควบคุมโรคและการบริหารวัคซีน โดย นพ.พิเชษฐ พืดขุนทด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดบุรีรัมย์

จากนั้น นายอนุทิน ชาญวีรกูล เข้าร่วมประชุมและมอบนโยบายผู้บริหาร และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) ติดตามผลการควบคุมโรคและการฉีดวัคซีนเพื่อควบคุมป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ของชาวบุรีรัมย์ หวังสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ เตรียมความพร้อมก่อนเปิดเมืองรับนักท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจจังหวัดบุรีรัมย์ และสอดรับโครงการ “๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ ทัวร์เที่ยวไทย โดยไม่กักตัว” ของกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมเยี่ยมและพบปะสอบถามประชาชนที่มารับบริการฉีดวัคซีนด้วย 

ประชาชนรับวัคซีน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล กล่าวว่า “จากการระบาดหลายพื้นที่เกือบทุกอำเภอของจังหวัดบุรีรัมย์ โดยมีมาตรการควบคุมโรคและในระยะยาวนั้นการป้องกันการแพร่ระบาดที่มีประสิทธิภาพอีกแนวทางหนึ่ง คือ ประชาชนต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย ร้อยละ ๗๐ ของประชากรทั้งหมดของจังหวัด จำนวน ๑,๑๒๐,๕๖๒ คน ซึ่งในการติดตามครั้งนี้ ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่จะได้รับทราบผลการดำเนินงานในระดับพื้นที่ว่า สามารถดำเนินการตามแนวทางที่กำหนดได้มากน้อยเพียงใด มีปัญหาอุปสรรคอย่างไรบ้าง และเปิดโอกาสให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องระดับพื้นที่ และส่วนกลางได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการดำเนินงาน ซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอุปสรรค การปรับตามแนวทางการควบคุมการระบาดที่มีประสิทธิภาพตามบริบทของจังหวัด และในวันนี้ เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ จังหวัดบุรีรัมย์ จึงได้ส่งมอบกรมธรรม์ประกันภัยไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ จำนวน ๑๐,๑๙๖ กรมธรรม์ แก่บุคลากรกลุ่มดังกล่าว ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาชนของจังหวัดบุรีรัมย์ แสดงถึงความสามัคคีและปรารถนาดีต่อผู้ให้บริการ นับเป็นความภาคภูมิใจของคนกระทรวงสาธารณสุข” 

“ขอยืนยันจะมีการจัดสรรวัคซีนให้ทุกจังหวัดอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม มีสูตรการจัดวัคซีนให้แต่ละจังหวัดอย่างไร ส่วนใหญ่เป็นสูตรการหารเฉลี่ย จะมีการปรับในเรื่องของปัจจัยเสี่ยง ดังนั้นทุกจังหวัดจะได้รับวัคซีนอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม เพื่อนำไปฉีดให้กับประชาชนอย่างครอบคลุมมากที่สุด” นายอนุทิน กล่าวว่า

ตอบปมหยุดฉีดวัคซีน

ในขณะเดียวกัน นพ.เกียรติภูมิ วงษ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ร่วมแถลงข่าวที่สนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนลเซอร์กิต อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ กรณีที่มีการโพสต์ในโซเชียลว่า โรงพยาบาลหลายแห่งประกาศจะหยุดการให้วัคซีน โดย นพ.เกียรติภูมิ วงษ์รจิต ชี้แจงว่า “กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้จัดหาวัคซีนมาไว้ที่องค์การเภสัชกรรม หรือกรมควบคุมโรค เมื่อได้รับวัคซีนแล้วก็จะมีวิธีการกระจายวัคซีนตามเป้าหมาย ที่ ศบค.ได้วางแผนเอาไว้ โดยเป้าหมายที่ตั้งไว้ประมาณ ๔ เดือนจะให้ประชาชนได้รับวัคซีนเข็มแรกได้ ๖๐-๗๐% หรือครบก่อนเดือน กันยายน ๒๕๖๔ แล้วเดือนตุลาคม ก็พอจะมีภูมิคุ้มกัน และจะได้เปิดประเทศในเวลาถัดไป ซึ่งนอกจากในแต่ละเดือนแล้ว ยังมีการแบ่งเป็นรายสัปดาห์ เนื่องจากในช่วงแรกวัคซีนที่สามารถจัดหามาได้ มีข้อตกลงเพราะว่าไม่แน่ใจจะสามารถฉีดวัคซีนได้มากน้อยแค่เพียงใด แต่หลังจากที่ทดลองไปแล้วพบว่า ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม มีศักยภาพมาก อย่างไรก็ตามวัคซีนที่จะมาในเดือนมิถุนายน ก็จะมีน้อยกว่าเดือนกรกฎาคม–สิงหาคม และกันยายน ทางกระทรวงมีแผนในการบริหารจัดการกระจายวัคซีนไว้แล้ว นอกจากจะเป็นรายเดือนแล้ว จะพยายามจัดสรรเป็นรายสัปดาห์ หรือราย ๒ สัปดาห์ด้วย เพื่อให้วัคซีนที่ได้รับไปเกิดประโยชน์สูงสุด”

ปลัดกระทรวงสารณสุข กล่าวอีกว่า “ตามแผนของ ศบค.มีการจัดสรรวัคซีนให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นส่วนใหญ่ เพื่อกระจายให้กับจังหวัดต่างๆ ทั้ง ๗๖ จังหวัด โดยทาง ศบค.จะเป็นผู้กำหนดยอดในการจัดสรรวัคซีนให้แต่ละจังหวัด เมื่อแต่ละจังหวัดได้ยอดแล้วก็จะไปจัดสรรภายในจังหวัดของตัวเอง ซึ่งตนให้นโยบายไปยังจังหวัด และอำเภอให้จัดการกับวัคซีนที่ได้รับให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะวัคซีนจะทยอยได้รับมาไม่ใช่ได้มาทีเดียวจำนวนมาก เป็นรายสัปดาห์บ้าง ๒ สัปดาห์บ้างก็แล้วแต่กรณี ซึ่งแต่ละพื้นที่กล่าวดีกว่าต้องบริหารจัดการให้เกิดความสอดคล้องกับจำนวนวัคซีน และมีผลลัพธ์ว่า ประชาชนได้รับวัคซีนตามเป้าหมายเพียงใด”

“ส่วนก้อนที่สองจัดสรรให้กับกรุงเทพฯ ส่วนที่สามให้กับกองทุนประกันสังคม ส่วนที่สี่ให้ ๑๑ มหาวิทยาลัย และส่วนที่ห้าจัดสรรให้กับองค์กรภาครัฐต่างๆ ใน กทม. ซึ่งหน่วยงานหรือองค์กรเหล่านี้ที่ได้รับจัดสรรวัคซีนไป จะต้องดำเนินการจัดสรรแจกจ่ายให้กับเครือข่ายในองค์กรของตัวเอง และดำเนินการฉีดวัคซีนให้บุคลากร หรือประชาชนภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น กทม. ซึ่งได้รับการจัดสรรวัคซีนในเดือนนี้ประมาณ ๑ ล้านโดส ขณะนี้จัดสรรให้ไปประมาณ ๕ แสนโดส แล้วในช่วง ๒ สัปดาห์แรก ซึ่งทาง กทม.จะต้องวางแผนกำหนดเป้าหมายในการจัดสรรแจกจ่ายให้กับองค์กรในพื้นที่ดูแลของตัวเองให้เกิดความพอเพียง และเกิดประสิทธิภาพ ซึ่งจังหวัดอื่นๆ ก็จะมีลักษณะคล้ายกัน” นพ.เกียรติภูมิ  กล่าว

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “ศบค.ตั้งสมมุติฐานว่า ในเดือนมิถุนายน จะได้รับวัคซีน ๖.๓ ล้านโดส โดยจะจัดสรรวัคซีนให้กับกลุ่มต่างๆ ตามที่ปลัดกระทรวงได้ชี้แจงไป อย่างเช่น จังหวัด และ กทม. กองทุนประกันสังคม ก็จะได้ประมาณ ๑ ล้านโดส, ๑๑ มหาวิทยาลัยได้ ๕ แสน, องค์กรภาครัฐใน กทม.ได้ ๑๒๐,๐๐๐ โดส และไว้ใช้ยามฉุกเฉินอีกประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ โดส อันที่สองในส่วนของ กทม.จะได้รับจัดสรร ๑,๑๖๐,๐๐๐ โดส ส่วนอีก ๗๖ จังหวัด จะได้ ๓,๒๒๐,๐๐๐ โดส แต่หากวัคซีนไม่ได้มาตามเป้า หรือมีการระบาดฉุกเฉินก็จะมีการลดถอนตามสัดส่วน ดังนั้นก็ขอชี้แจงว่า กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่จัดหาวัคซีน และจัดสรรให้กับ โรงพยาบาลหรือหน่วยงานต่างๆ ตามแผนของ ศบค. แต่การบริหารจัดสรรขึ้นอยู่กับคณะกรรมการโรคติดต่อของแต่ละพื้นที่ หรือหน่วยงาน องค์กรที่ได้รับไปจะต้องมีการบริหารจัดการเอง”

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๖ ฉบับที่ ๒๖๘๓ วันพุธที่ ๑๖ - วันอังคารที่ ๒๒ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๔

 

1013 1409