29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

July 10,2021

ยันสร้าง‘สีหนคร’ตามจินตนาการ ไม่ได้ลอกเลียน‘นครวัด นครธม’

แจงสร้าง “เมืองสีหนคร” ตามจินตนาการหรือนิมิตที่เห็น ไม่ได้ลอกเลียนแบบนครวัด นครธม ตามที่มีกระแสดรามาของชาวกัมพูชา ด้านวัฒนธรรมจังหวัดลงพื้นที่ตรวจสอบ พบก่อสร้างปราสาทหินจริง แต่เป็นการนำจุดเด่นของแต่ละที่มาประยุกต์ผสมผสานกัน ไม่ได้ลอกใคร

จากกรณีที่มีการเผยแพร่ภาพสิ่งก่อสร้างที่ถูกเรียกว่า “อาณาจักรสีหนคร” ตั้งอยู่บ้านหนองบัวราย ต.บ้านสิงห์ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ ในพื้นที่วัดพระพุทธบาทศิลา หรือวัดภูม่านฟ้า ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของบุรีรัมย์ในอนาคต แต่ชาวเน็ตในประเทศกัมพูชา กลับออกมาแสดงความคิดเห็น ไม่เห็นด้วยกับลักษณะการออกแบบของสิ่งก่อสร้างดังกล่าว โดยชาวเน็ตกัมพูชาส่วนใหญ่อ้างว่า อาณาจักรสีหนคร มีความคล้ายคลึงกับปราสาทนครวัด นครธม ซึ่งเป็นศาสนสถานสำคัญของโลก ณ ประเทศกัมพูชา กระทั่งกลายเป็นกระแสดรามา 

ล่าสุดเมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๔ นายขัตติยา ชัยมณี วัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมด้วย น.ส.เพชรรัตน์ ภูมาศ นายอำเภอนางรอง พ.ต.อ.ต่อศักดิ์ ศรีเสริม ผู้กำกับการ สภ.นางรอง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ไปยังวัดพระพุทธบาทศิลา หรือวัดภูม่านฟ้า เพื่อตรวจสอบสิ่งก่อสร้างภายในวัดที่กำลังกลายเป็นกระแสในสื่อโซเชียลของกัมพูชา โดยจากการตรวจสอบพบว่า ภายในวัดพระพุทธบาทศิลาดังกล่าว กำลังมีการก่อสร้างปราสาทหินหลายหลังเพื่อประดิษฐานพระพุทธรูปของทางวัด โดยปราสาทหินแต่ละหลังจะมีการแกะสลักลวดลายที่แตกต่างกัน รวมถึงพระมหาเจดีย์ สถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งส่วนใหญ่สร้างขึ้นจากหินทราย  

โดยจากการสอบถามพระอาจารย์สมศักดิ์ สังวรจิตโต เจ้าอาวาสวัดพระพุทธบาทศิลา หรือวัดภูม่านฟ้า ชี้แจงว่า การก่อสร้างเมืองสีหนครแห่งนี้ เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการก่อสร้างปราสาทหินของคนโบราณในอดีต และคนสมัยปัจจุบัน ซึ่งอาจจะแตกต่างกันเพียงเทคโนโลยีหรือเครื่องจักรที่นำมาใช้เท่านั้น   ทั้งอยากให้เมืองสีหนครแห่งนี้เป็นวัตถุที่สืบทอดให้เห็นถึงเจตนาและความศรัทธา ของผู้มีจิตศรัทธาไปอย่างยาวนานถึง ๕,๐๐๐ ปี แต่ยืนยันว่ารูปแบบการก่อสร้างเกิดจากจินตนาการหรือนิมิต ไม่ได้ลอกเลียนแบบมาจากสถานที่ใด   

ขณะที่ รศ.ดร.สมมาตร์ ผลเกิด นักวิชาการโบราณคดีอิสระ กล่าวภายหลังร่วมเดินทางไปดูการก่อสร้างเมืองสิงหนครที่วัดภูม่านฟ้าว่า กระแสที่เกิดขึ้นในสังคมโซเชียลที่ประเทศกัมพูชา เกิดจากการนำเอาความรู้สึกในอดีตมาอ้างอิงในปัจจุบัน ทำให้เกิดความคิดเห็นที่แตกต่างกันจึงนำไปสู่กระแสวิพากวิจารณ์ จนทำให้การก่อสร้างในสถานที่แห่งนี้ถูกโยงไปด้วย นำไปสู่การเข้าใจที่ไม่ถูกต้องตรงกัน  ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานแห่งความเป็นจริง ดังนั้นการพูดคุยเรื่องเหล่านี้ต้องมองในมิติของวัฒนธรรม ไม่มองในมิติทางการเมืองการปกคอง เพราะมิติวัฒนธรรมคือไม่มีอาณาเขตคนในดินแดนกัมพูชา กับคนในดินแดนทางภาคอีสานตอนใต้ของไทยมีบรรพบุรุษร่วมกัน ไปมาหาสู่กัน ซึ่งก็เชื่อว่า ในกลุ่มของประชาชนทั่วไปของทั้งสองประเทศที่ไม่ได้ผ่านพื้นที่โซเชียล ก็ยังเป็นพี่เป็นน้องไปมาหาสู่กัน  แต่กระแสที่เกิดขึ้นกลับให้สื่อโซเชียลเป็นตัวกำหนดทิศทาง  ก็เลยทำให้เกิดความไม่เข้าใจที่อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งซึ่งกันและกัน อีกอย่างคือภาพที่ถูกนำไปเผยแพร่ค่อนข้างจะแตกต่างจากความเป็นจริง  ซึ่งหากเป็นไปได้ก็อยากจะให้ทางกัมพูชาส่งตัวแทนมาดูพื้นที่จริงว่าการก่อสร้างไม่ได้ลอกเลียนแบบ ส่วน                รูปทรงปราสาทหลายๆ แห่งก็จะคล้ายคลึงกันอยู่แล้ว ซึ่งในประเทศไทยเองก็มีเป็นร้อยๆ ปราสาท จึงไม่ใช่เป็นการเลียนแบบกัมพูชา  โดยเฉพาะนครวัด นครธม ที่ถูกประกาศเป็นมรดกโลก ก็เสมือนเป็นมรดกของคนทั้งโลก 

ทางด้านวัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ ระบุว่า จากการลงตรวจสอบพื้นที่ พบว่ามีการก่อสร้างปราสาทหินจริง ซึ่งทางเจ้าอาวาสบอกว่า สร้างขึ้นจากจินตนาการและนิมิตของท่าน โดยนำรูปแบบที่สวยๆ ของแต่ละสถานที่มาประยุกต์ เช่น ปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินพนมรุ้ง หรือบูโรพุทโธ ของอินโดนีเซีย เป็นการนำจุดเด่นของแต่ละที่มาผสมผสานกันให้ดูสวยงาม ไม่ได้ลอกเลียนแบบนครวัดนครธมตามที่ชาวเน็ตกัมพูชาเข้าใจ ซึ่งท่านไม่ได้มีแบบแปลนที่ชัดเจน คือนึกอะไรออกก็ตกแต่งไปเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างปราสาทหรือศาสนสถานตามสถานที่ต่างๆ นั้น จากการสอบถามไปยังทางสำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา ก็ให้ข้อมูลมาเบื้องต้นว่า ปกติของไทยไม่ได้มีกฎหมายที่ห้ามก่อสร้างศิลปะเลียนแบบ แต่เพื่อความชัดเจนก็ต้องให้กรมศิลปากรตรวจสอบอีกครั้งว่า กฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับเรื่องนี้มีกี่ฉบับและมีอะไรบ้าง เพื่อจะได้เกิดความเข้าใจถูกต้องตรงกัน

สำหรับวัดพระพุทธบาทศิลา หรือวัดภูม่านฟ้า ได้รับอนุญาตให้สร้างวัดเมื่อวันที่ ๘ ตุลาคม ๒๕๖๒ ได้รับอนุญาตให้ตั้งเป็นวัดในพระพุทธศาสนาเมื่อวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ ปัจจุบันมีพระอธิการสมศักดิ์ สังวรจิตโต เป็นเจ้าอาวาส มีเนื้อที่ประมาณ ๒๐๐ ไร่ ปัจจุบันได้งดการเข้าชมเนื่องจากสถานการณ์โควิดระบาด

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๖๘๖ วันพุธที่ ๗ - วันอังคารที่ ๑๓ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔

 

 


1013 1618