29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

August 20,2021

เร่ง ผอ.เฉลิมพระเกียรติ ชี้แจงวัคซีนเพื่อเมีย ผวจ.ย้ำไม่ควรเลือกยี่ห้อ

ตัวเลขผู้ติดเชื้อในโคราชยังไม่ลด สสจ.เผยล็อกดาวน์ทำให้ไม่รุนแรง ซ้ำมีแนวโน้มลดลง เชื่อปลายเดือนนี้ดีขึ้น แต่พบคลัสเตอร์โรงงานต่อเนื่อง ซ้ำบางแห่งรายงานผู้ติดเชื้อ ล่าช้า สคร.๙ ย้ำทุกแห่ง เจอติดเชื้อแค่ ๑ ราย ต้องรีบแจ้ง เพื่อเร่งสกัดไม่ให้กระจาย ซ้ำพบ บับเบิลแอนด์ซีล มีผู้ติดเชื้อ สสจ.ตั้งกรรมการสอบ ผอ.รพ.จัดวัคซีนไฟเซอร์ให้เมีย สกัดปัญหาโดยพิจารณาจากใบประกอบวิชาชีพ “ผู้ว่าฯ กอบชัย” ย้ำถ้ารู้จะไม่ยอม เพราะจัดมาเพื่อแพทย์และด่านหน้า ระบุประชาชนไม่ควรเลือกยี่ห้อวัคซีน


ความคืบหน้าสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ระลอกที่ ๓ ในจังหวัดนครราชสีมา ยังพบการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ ๓๒ อำเภอ ทั้งนี้มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดฯ ในวันจันทร์ พุธ และศุกร์ โดยส่วนใหญ่นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ทำหน้าที่ประธานการประชุม ณ สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๓๑๑ ราย เสียชีวิตเพิ่ม ๕ ราย โดยมาจากพื้นที่เสี่ยง ๑๗๑ ราย, รับผู้ป่วยกลับมารักษา ๔๖ ราย และสัมผัสผู้ป่วยในจังหวัด ๙๔ ราย (สรุปมีผู้ติดเชื้อสะสม ๑๒,๗๗๘ ราย รักษาหาย ๖,๑๗๒ ราย เสียชีวิตสะสม ๙๙ ราย และยังรักษาอยู่ ๖,๕๐๗ ราย แยกเป็น ผู้ป่วยสีแดง ๒๒๖ ราย ผู้ป่วยสีเหลือง ๑,๓๑๕ ราย ผู้ป่วยสีเขียว ๔,๙๖๖ ราย)

นพ.วิชาญ คิดเห็น กล่าวว่า “ในการรายงานสถานการณ์แต่ละครั้ง จะมีคอมเมนต์จากประชาชนเสมอ ซึ่งผมก็อ่านทั้งหมด ทั้งคำชมและข้อตำหนิ แต่มีความคิดเห็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ถามว่า การล็อกดาวน์นั้นมีประโยชน์หรือไม่ ขอบอกว่า เมื่อเกินการล็อกดาวน์ที่กรุงเทพฯ กลุ่มคนใช้งานเริ่มทยอยเดินทางกลับภูมิลำเนา ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในโคราชเพิ่มมากขึ้น โคราชจึงประกาศล็อกดาวน์เมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๔ แต่เมื่อล็อกดาวน์แล้วยังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น เพราะว่า คนไข้ที่เขาติดเชื้อ มีระยะฟักตัว ๗-๑๔ วัน การล็อกดาวน์เหมือนการสั่งให้ไก่ไม่ออกไข่ แต่ไข่ที่ออกมาแล้วก็ต้องฟัก ดังนั้นผู้ติดเชื้ออยู่แล้ว เมื่อตรวจก็จะพบมากขึ้น ดังนั้น การที่จะดูว่า ผลของการล็อกดาวน์นั้นได้ผลดีหรือไม่ ต้องนับหลังจากการล็อกดาวน์แล้ว ๑๔ วัน โดยหลังจากวันที่ ๑๐ สิงหาคม จะเห็นว่า ผู้ติดเชื้อในจังหวัดไม่เพิ่มขึ้น แต่ถ้าไม่ล็อกดาวน์ตัวเลขผู้ติดเชื้อของวันที่ ๙-๑๐ สิงหาคม อาจจะเพิ่มถึง ๗๐๐ ราย ผมไม่ได้บอกว่า การล็อกดาวน์นั้นดี แต่การล็อกดาวน์ทำให้สถานการณ์ไม่รุนแรงมากขึ้น และยังมีแนวโน้มลดลงด้วย ถ้าคนโคราชช่วยกัน เชื่อว่า ปลายสิงหาคมนี้ ถ้าสถานการณ์ของประเทศดีขึ้น โคราชก็จะค่อยๆ ดีขึ้นด้วย ดังนั้น ถ้าเรากดตัวเลขไม่ให้เพิ่มขึ้นได้ ก็จะสามารถกลับมาสู่สถานการณ์ปกติได้เร็ว” นพ.วิชาญ กล่าว

นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ นักระบาดวิทยา รายงานคลัสเตอร์ที่ยังมีการระบาดและพบผู้ติดเชื้อต่อเนื่อง คือ คลัสเตอร์โรงงานแปรรูปไก่ย่าง-ไก่จ๊อห้าดาว ตำบลท่าเยี่ยม อำเภอโชคชัย มีผู้ป่วยทั้งหมด ๔๙ ราย มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ๓๒ ราย คลัสเตอร์โรงงานแปรรูปสุกร อำเภอปักธงชัย เบื้องต้นพบผู้ป่วย ๒๐ ราย ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างสอบสวนโรคเพิ่มเติม คลัสเตอร์โรงงานแปรรูปไก่ ตำบลท่าเยี่ยม อำเภอโชคชัย เป็นคลัสเตอร์เก่าที่ยังมีการระบาดต่อเนื่อง โดยขณะนี้พบผู้ติดเชื้อแล้ว ๑๘๖ ราย และมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงในวงที่ ๑ และ ๒ รวม ๓๓๕ ราย และคลัสเตอร์โรงงาน ตำบลกระโทก อำเภอโชคชัย พบผู้ติดเชื้อ ๒๖๓ ราย มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ๓๑๘ ราย

โรงงานนำคนเข้าปากช่อง

สำหรับความคืบหน้ากรณีโรงงานแปรรูปไก่สระบุรี นำคนเข้าพื้นที่อำเภอปากช่อง เพื่อเข้าระบบ Bubble and Seal ที่ค่ายลูกเสือแห่งหนึ่ง นางสาวกาญจนา ประดับลาย พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สสจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า “เมื่อวันก่อนโรงงานแปรรูปไก่สระบุรี จะนำคนเข้าพักที่รีสอร์ตแห่งหนึ่งในอำเภอปากช่อง ประมาณ ๔๐๐ คน และในรีสอร์ตอีกแห่ง ประมาณ ๓๐๐ คน จึงนัดหมายผู้บริหารโรงงานแปรรูปไก่เข้ามาพูดคุย โดยมีปลัดเทศบาลตำบลหมูสีร่วมด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้มีปัญหาโรงงานนี้นำคนเข้าพื้นที่โดยไม่แจ้ง ซึ่งปลัดบอกว่า ไม่ได้ห้ามนำคนเข้ามา แต่โรงงานต้องแจ้งก่อน ซึ่งวันนี้พนักงานทั้งหมดที่โรงงานนำเข้ามาก่อนได้รับอนุญาต จะถูกส่งตัวกลับ แต่ถ้ามีความประสงค์จะอยู่ต่อ จะต้องให้ สสจ.ตรวจสอบพื้นที่ และให้เจ้าหน้าที่ อปท.ในพื้นที่ รับรายงานตัวพนักงานทุกคน ส่วนกรณีที่จะนำพนักงานเข้าพักเพิ่มในรีสอร์ต ๒ แห่งล่าสุด จะต้องมีเจ้าหน้าที่ เทศบาลตำบลหมูสี และเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ท่าช้าง มารอรับ พร้อมกับมีรายชื่อพนักงานที่ตรวจหาเชื้อแล้วมาให้ โดยผลตรวจจะต้องเป็นลบ ไม่อย่างนั้นจะไม่อนุญาตให้เข้าพื้นที่”

พูดแทนคนโคราช

นอกจากนี้ มีโรงงานแปรรูปอาหารสัตว์ อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ขออนุญาตนำพนักงานเข้าพื้นที่อำเภอปากช่อง เพื่อเข้าสู่ระบบ Bubble and Seal ที่ค่ายลูกเสือแห่งหนึ่ง ซึ่ง นพ.วิชาญ คิดเห็น สอบถามในประเด็นนี้ว่า “การทำ Bubble and Seal ต้องจำกัดวงพนักงานในแคบที่สุด แต่ครั้งนี้โรงงานยอมรับส่งพนักงานข้ามจังหวัดกว่า ๖๐ กิโลเมตร เพื่อมา Seal ในโคราช ผมขอถามแทนคนโคราช ๒.๗ ล้านคนว่า ทำไมต้องมาทำที่นี่ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะหาในสระบุรี เมื่อนำคนเข้ามาพื้นที่ตำบลดงพญาเย็น จะสร้างความมั่นใจอย่างไรว่า พนักงานจะไม่ออกจากที่พัก มีระบบรักษาความปลอดภัยอย่างไร และที่สำคัญ กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดหรือเคสฉุกเฉิน ถ้าเขาป่วยขึ้นมาจะต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาลใด สมมุติว่า พนักงานที่ Seal อยู่ เกิดมีไข้และหอบเหนื่อยขึ้นมา จะนำผู้ป่วยไปโรงพยาบาลใด ถ้ายืนยันว่า จะส่งผู้ป่วยกลับไปรักษาที่โรงพยาบาลในจังหวัดสระบุรี สสจ.ต้องลงไปพิสูจน์ว่า โรงงานทำได้จริง อย่าลืมว่า อำเภอปากช่องมีคนไข้มากที่สุดในโคราช ผมพูดแทนคนโคราช ๒.๗ ล้านคน แต่คนสระบุรีฟังแล้วอาจจะไม่สบายใจ ถ้าเลือกได้อยากให้อยู่ในจังหวัดตัวเอง เพื่อไม่ให้เกิดการเคลื่อนย้ายคน และเมื่อนำคนเข้าระบบ Seal ต้องมีการเฝ้าคนและคอยนำคนไปรักษา และบริกรที่ทำงานในที่พักเป็นคนที่ไหน ถ้าเขามาทำงานแล้วกลับไปนอนบ้านก็จะเกิดความเสี่ยง”

เจ้าหน้าที่โรงงานแปรรูปอาหารสัตว์ดังกล่าว ชี้แจงว่า “บริกรเป็นพนักงานที่อยู่ในระบบ Bubble and Seal ทั้งหมด ซึ่งเป็นคนจากจังหวัดสระบุรีทั้งหมด สำหรับด้านความปลอดภัย จะมีการเช็คชื่อทั้งเข้าและออก และถ้ามีผู้ป่วยฉุกเฉิน จะนำส่งโรงพยาบาลในระบบประกันสังคมของพนักงาน ซึ่งอยู่ในจังหวัดสระบุรี ส่วนสาเหตุที่เลือกพื้นที่ในโคราช เพราะว่า การทำ Bubble and Seal มีหลายโรงงานทำเช่นกัน ทำให้หาสถานที่ในสระบุรีค่อนข้างยาก ซึ่งค่ายลูกเสือกับโรงงานอยู่ห่างกันประมาณ ๗๐ กม.”

นพ.วิชาญ คิดเห็น กล่าวอีกว่า “สำหรับเคสผู้ป่วยฉุกเฉิน ถ้าเทียบระหว่างโรงพยาบาลในปากช่อง กับโรงพยาบาลในจังหวัดสระบุรี ที่อยู่ห่างประมาณ ๔๐ กิโลเมตร แน่นอนว่า โรงพยาบาลปากช่องใกล้กว่า แต่ตามหลักสากลในการดูแลผู้ป่วย ตามหลักวิชาชีพและจรรยาบรรของหมอ ให้สมมุติว่า ผู้ป่วยคนนั้น คือ ญาติของเรา ถ้าเกิดเขามีอาการรุนแรง แล้วเลือกระหว่างโรงพยาบาลห่าง ๒๐ กิโลเมตร กับโรงพยาบาลที่ห่าง ๔๐ กิโลเมตร ดังนั้น ๒๐ กิโลเมตร ผู้ป่วยมีโอกาสรอดมากกว่า นี่จึงเป็นเหตุผลที่ผมต้องการให้หาสถานที่ทำ Bubble and Seal ในพื้นที่ตัวเอง”

พบเสียชีวิตต่อเนื่อง

จากนั้นวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๓๑๓ ราย มาจากพื้นที่เสี่ยง ๑๘๙ ราย, รับผู้ป่วยกลับมารักษา ๔๓ ราย และสัมผัสผู้ป่วยในจังหวัด ๘๑ ราย (สรุปมีผู้ติดเชื้อสะสม ๑๓,๐๙๑ ราย รักษาหาย ๖,๓๒๕ ราย เสียชีวิตสะสม ๙๙ ราย และยังรักษาอยู่ ๖,๖๖๗ ราย แยกเป็น ผู้ป่วยสีแดง ๑๘๖ ราย ผู้ป่วยสีเหลือง ๑,๓๙๐ ราย ผู้ป่วยสีเขียว ๕,๐๙๑ ราย)

ต่อมาวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๔ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๕๕๓ ราย เสียชีวิตเพิ่ม ๕ ราย รายที่ ๑๐๐ เพศชาย อายุ ๕๕ ปี อำเภอโนนสูง รายที่ ๑๐๑ เพศหญิง อายุ ๗๔ ปี อำเภอโนนแดง รายที่ ๑๐๒ เพศหญิง อายุ ๘๑ ปี อำเภอเสิงสาง รายที่ ๑๐๓ เพศชาย อายุ ๗๘ ปี อำเภอโนนสูง รายที่ ๑๐๔ เพศชาย อายุ ๕๑ ปี อำเภอลำทะเมนชัย โดยมาจากพื้นที่เสี่ยง ๒๓๙ ราย, รับผู้ป่วยกลับมารักษา ๕๐ ราย และสัมผัสผู้ป่วยในจังหวัด ๒๖๔ ราย (สรุปมีผู้ติดเชื้อสะสม ๑๓,๖๖๔ ราย รักษาหาย ๗,๐๙๒ ราย ยังรักษาอยู่ ๖,๔๔๘ ราย แยกเป็น ผู้ป่วยสีแดง ๑๘๖ ราย ผู้ป่วยสีเหลือง ๑,๓๕๖ ราย และผู้ป่วยสีเขียว ๔,๘๐๖ ราย เสียชีวิตสะสม ๑๐๔ ราย)

ตั้งครรภ์ติดเชื้อเยอะ

วันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. พบผู้ติดเชื้อ ๔๕๐ ราย เสียชีวิตเพิ่ม ๒ ราย ติดเชื้อสะสม ๑๔,๐๙๔ ราย รักษาหาย ๗,๘๒๗ ราย เสียชีวิตสะสม ๑๐๔ ราย และยังรักษาอยู่ ๖,๑๖๑ ราย เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา นำโดยนายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา หัวหน้าส่วนราชการ และเจ้าหน้าที่ สสจ.นครราชสีมา

นพ.เจษฎ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา กล่าวว่า “ปัจจุบันสถานการณ์โรงพยาบาลมหาราชฯ มีผู้ป่วยทั้งหมด ๒๒๗ คน ครึ่งหนึ่งเป็นผู้ป่วยสีเหลือง ซึ่งต้องให้ออกซิเจน ส่วนผู้ป่วยสีเขียวมี ๒๔ ราย โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยสีเขียวไม่ค่อยมีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย มักจะเป็นผู้ป่วยที่เข้ามาในวันแรกๆ หลังจากนั้นจะถ่ายออกไปโรงพยาบาลสนามจังหวัด เพราะต้องการเก็บเตียงไว้สำหรับคนไข้สีเหลือง สีส้ม และสีแดง ซึ่งปัจจุบันสีส้มกับสีแดงรวมกันประมาณ ๗๐ ราย เตียง ICU สีแดงครองเตียง ๒๙ ราย ฉะนั้นยังมีความน่ากังวล ส่วนแนวทางการแก้ไข คือ พยายามปรับปรุงตึกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสัปดาห์นี้มีเคสผู้ป่วยตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิด-๑๙ ค่อนข้างมาก เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญ ซึ่งจะเริ่มซับซ้อนมากกว่าเคสติดเชื้อธรรมดา เนื่องจากผู้ป่วยตั้งครรภ์ติดเชื้อโควิด-๑๙ และต้องคลอด ทำให้ระยะเวลา ๒-๓ เดือนที่ผ่านมา พบเคสตั้งครรภ์จำนวนมาก โดยเฉลี่ยการคลอดในหนึ่งสัปดาห์ ๑๐ ราย เพราะฉะนั้นการปรับปรุงตึกต่างๆ เพื่อเป็นการรองรับ ซึ่งในจุดนี้ไม่ใช่แค่การปรับปรุงห้องคลอดอย่างเดียว แต่คนไข้ต้องอยู่หลายจุด เช่น จุดที่ ๑ ห้องคลอด ซึ่งทำการปรับปรุงแบบชั่วคราว ให้เป็นห้องแรงดันลบ ขณะนี้กำลังปรับปรุงให้เป็นถาวร และจุดที่ ๒ หลังจากคนไข้คลอดออกมาเรียบร้อย แม่และลูกจะต้องขึ้นไปพักรักษาตัวอยู่ตึกที่เตรียมไว้ คาดว่า ในสัปดาห์นี้น่าจะเสร็จ โดยห้องดูแลหลังคลอดจะเสร็จเรียบร้อย ๑๖-๒๔ เตียง หากมีใส่ท่อช่วยหายใจก็จะลดเตียงลง เพราะว่าต้องรักษาระยะห่างมากขึ้น”

คลัสเตอร์ยังระบาด

สำหรับคลัสเตอร์สำคัญ นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ นักระบาดวิทยา รายงานว่า คลัสเตอร์โรงงานไก่ย่าง-ไก่จ๊อ พบผู้ป่วยเพิ่ม ๑ ราย รวมสะสม ๕๒ ราย มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ๓๔ ราย คลัสเตอร์โรงงานแปรรูปไก่ ตำบลท่าเยี่ยม อำเภอโชคชัย พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๑๒๙ ราย รวมสะสม ๓๑๕ ราย หายแล้ว ๒๓๓ ราย มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ๒๘๙ ราย คลัสเตอร์โรงงานแปรรูปไก่ ตำบลกระโทก อำเภอโชคชัย พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม ๑๖๖ ราย รวมสะสม ๔๔๐ ราย หายแล้ว ๒ ราย คลัสเตอร์พนักงานโรงงานปริ้นเตอร์ อำเภอสูงเนิน เป็นคลัสเตอร์ใหม่ เบื้องต้นพบผู้ติดเชื้อ ๑๐ ราย คลัสเตอร์ร้านค้าตำบลลำคอหงษ์ อำเภอโนนสูง มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ๔๙ ราย ตรวจหาเชื้อ RT-PCR ครั้งที่ ๑ จำนวน ๒๔ ราย พบติดเชื้อ ๑๒ ราย และรอผลอีก ๑๒ ราย และคลัสเตอร์ หมู่ ๑๐ ต.สีมุม อ.เมือง พบผู้ติดเชื้อแล้ว ๗ ราย

วัคซีนไฟเซอร์เพื่อด่านหน้า

นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา กล่าวว่า “เนื่องจากประเทศไทยมีวัคซีนหลากหลายยี่ห้อ รวมทั้งได้รับการสนับสนุนวัคซีนไฟเซอร์ที่อยู่ในโควตา ๑.๕ ล้านโดส จากสหรัฐอเมริกาที่บริจาคให้ประเทศไทย โดยเป็นไปตามหนังสือลงวันที่ ๑๕ สิงหาคม มีกำหนดฉีดบุคลากรทางการแพทย์ และคนที่ทำงานด่านหน้าที่ต้องสัมผัสกับผู้คนจำนวนมาก โดยโคราชได้รับวัคซีนมาทั้งสิ้น ๕,๗๖๐ โดส ซึ่งจัดสรรลงไปทุกพื้นที่ทุกอำเภอ และได้มาเพิ่มอีก ๔๘๐ โดส สำหรับชาวต่างชาติและผู้ที่จะต้องเดินทางไปต่างประเทศ เพื่อภารกิจต่างๆ เช่น ไปเรียน หรือทำงาน”

ผอ.รพ.จัดไฟเซอร์ให้เมีย

วันเดียวกัน (๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๔) มีการแชร์โพสต์การจัดฉีดวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ซึ่งเป็น Booster Dose เข็มที่ ๓ ให้บุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา ข้อความว่า “กรณีวัคซีนไฟเซอร์พบว่าภรbยา ผอ.รพ. สามีหัวหน้าฝ่ายเภสัชกรรม ได้สิทธิ์ฉีดวัคซีนทั้งที่ไม่ได้เป็นบุคลากรด่านหน้าอะไร คนใน รพ.ก็ไม่กล้าพูดอะไร เพราะเป็นครอบครัวผู้บังคับบัญชา วัคซีนหล่นหายตามทางก็คนในนี้แหละ”     

กรณีดังกล่าวได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก สำหรับโรงพยาบาลดังกล่าวมี นพ.แชมป์ สุทธิศรีศิลป์ เป็นผู้อำนวยการ ประเด็นนี้ นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา ได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง โดยมี นพ.วิชาญ คิดเห็น รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา เป็นหัวหน้าชุด มีกำหนดรายงานผลการสอบข้อเท็จจริงภายในวันที่ ๑๙ สิงหาคมนี้ โดยประเด็นในการสอบจะต้องพิจารณาว่าทั้งสองคนที่ถูกระบุได้รับวัคซีนไฟเซอร์ ปฏิบัติหน้าที่ด่านหน้าเสี่ยงสัมผัสผู้ป่วยโควิด-๑๙ จริงหรือไม่ และอยู่ในหลักเกณฑ์ที่ทางแพทยสภากำหนดให้ไว้หรือไม่ หากพบว่ามีการฝ่าฝืนคำสั่งผู้บังคับบัญชาก็มีความผิดทางวินัย ซึ่งมีบทลงโทษตามระเบียบ

นพ.แชมป์ สุทธิศรีศิลป์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ

ผอ.รพ.ยืนยันไม่เบียดบังวัคซีน

ทางด้าน นพ.แชมป์ สุทธิศรีศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ ออกมาชี้แจงว่า โรงพยาบาลฯ ได้ส่งรายชื่อผู้ที่ประสงค์จะฉีดวัคซีนไฟเซอร์ จำนวน ๑๓๘ คน แบ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ ๑๓๕ คน และบุคลากรทางการแพทย์ในคลินิกเอกชน ๓ คน ในจำนวนนี้มีเภสัชกรในร้านขายยาเอกชนที่เป็นสามีของหัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมและคุ้มครองผู้บริโภค และภริยาของตนเองที่ทำงานอยู่ในคลินิกเอกชนรวมอยู่ด้วย ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาพิจารณาเพื่อจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์มาให้ และได้รับการจัดสรรวัคซีนมา ๑๔๔ โดส ซึ่งเป็นการให้มาเกิน ๖ โดสจากจำนวนที่เสนอชื่อไป ดังนั้นทางโรงพยาบาลฯ จึงได้นำวัคซีนที่เกินไปฉีดให้บุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลฯ ที่กำลังตั้งท้อง ๒ ราย บุคลากรที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนใดๆ เลยอีก ๓ ราย และบุคลากรที่จองวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ ๓ แต่ยังไม่ได้ฉีดอีก ๑ ราย เนื่องจากต้องไปดูแลใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด-๑๙ จึงจำเป็นต้องฉีดวัคซีนเข็มที่ ๓ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันไว้ก่อน ขอยืนยันว่าได้ทำการสำรวจบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าตามเกณฑ์ที่ สสจ.นครราชสีมากำหนดทุกประการ และได้รับการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์มาให้ตามที่เสนอชื่อไปทุกราย ส่วนวัคซีนที่ได้รับการจัดสรรเกินมาก็พิจารณาฉีดให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าตามความเหมาะสมทุกราย จึงไม่ได้ไปเบียดเบียนวัคซีนของบุคลากรทางการแพทย์คนอื่นเลย

ผู้ติดเชื้อสูงขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ ในจังหวัดนครราชสีมา จากการรายงานของศูนย์โควิด-๑๙ โคราช ประจำวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๔ เพิ่มขึ้น ๕๓๒ ราย พบการสัมผัสผู้ติดเชื้อในพื้นที่ ๓๔๐ ราย และมาจากพื้นที่เสี่ยง ๑๗๑ ราย และรับมารักษา ๒๑ ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ๑ ราย โดยพบผู้ติดเชื้อมากที่สุดที่อำเภอปากช่อง ๘๙ ราย รองลงมาเป็นอำเภอโชคชัย ๗๔ ราย รวมมีผู้ป่วยสะสม ๑๔,๖๒๖ ราย รักษาหาย ๘,๖๑๒ ราย ยังรักษาอยู่ ๕,๙๐๗ ราย (ผู้ป่วยสีแดง ๑๙๓ ราย สีเหลือง ๑,๓๐๓ ราย และสีเขียว ๔,๔๑๑ ราย)

เกิดคลัสเตอร์ใหม่อีกแล้ว
 
การประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา วันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๔ มีนายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ เป็นประธาน มี นพ.สมบัติ วัฒนะ รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา เข้าร่วมประชุมด้วย พร้อมนำเสนอตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มในวันนี้จำนวน ๔๓๙ ราย ติดเชื้อในพื้นที่ ๒๗๒ ราย มาจากพื้นที่เสียง ๑๔๖ ราย รับผู้ป่วยมารักษา ๒๑ ราย เสียชีวิตเพิ่ม ๑ ราย รวมมีผู้ป่วยสะสม ๑๕,๐๖๕ ราย รักษาหาย ๙,๒๕๙ ราย ยังรักษาอยู่ ๕,๖๙๘ ราย เสียชีวิตสะสม ๑๐๘ ราย

โดยวันนี้ นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ นักระบาดวิทยา รายงานว่า มี ๑๑ คลัสเตอร์ โดยคลัสเตอร์เดิมคือ แคมป์คนงานก่อสร้าง B.S.Y ในเขตอุตสาหกรรมนวนคร อ.สูงเนิน พบผู้ป่วยรวม ๓๘๖ ราย รักษาหายแล้ว ๒๒๓ ราย, แคมป์ก่อสร้างอิตาเลี่ยนไทย อ.สีคิ้ว จำนน ๘๐ ราย ซึ่งทางอำเภอมีการแจ้งความดำเนินคดีแล้ว กรณีนำแรงงานไปฉีดวัคซีนที่กรุงเทพฯ โดยไม่แจ้งให้ทราบและไม่รายงานต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรค, คลัสเตอร์โรงงานไก่ย่างห้าดาว ที่ต.ท่าเยี่ยม อ.โชคชัย มีพนักงานติดเชื้อ ๔๙ ราย คนในครอบครัวพนักงาน ๔ ราย และมีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่กักตัวในโรงงานอีก ๒๙ ราย, คลัสเตอร์โรงงานแปรรูปไก่ ต.ท่าเยี่ยม อ.โชคชัย มีพนักงานติดเชื้อ ๓๖๗ ราย ครอบครัว ๑๗ ราย รักษาหายแล้ว ๒๓๓ ราย ซึ่งผู้ติดเชื้อไม่มีอาการรุนแรง, คลัสเตอร์โรงงานแปรรูปไก่ ต.กระโทก อ.โชคชัย มีพนักงานติดเชื้อ ๔๐๖ ราย ครอบครัว ๓๔ ราย รักษาหาย ๒ ราย พบผู้ป่วยเพิ่มในพื้นที่อำเภอโนนไทยและสูงเนิน เป็นต้น

สำหรับคลัสเตอร์ใหม่คือ บริษัท คาสิโอ (ประเทศไทย) ต.ท่าอ่าง อ.โชคชัย ขณะนี้พบติดเชื้อ ๑๘ ราย ซึ่งรายแรกพบเมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม และมีประวัติสัมผัสกับผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์โรงงานแปรรูปไก่ ซึ่งมีอาการจึงไปตรวจเอง ซึ่งบริษัทนี้มีพนักงานกว่า ๒,๕๐๐ คน มีกลุ่มเสี่ยงในโรงงาน ๕๑ ราย กลุ่มเสี่ยงในครอบครัว ๑๐๐ กว่าราย ในขณะที่คลัสเตอร์โรงงานแปรรูปสุกรที่อ.ปักธงชัย ล่าสุดพบผู้ติดเชื้อ ๒๖ ราย มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ๒๗ ราย และขยายไปสู่ครอบครัวพนักงานแล้ว โดยพบแม่วัย ๘๒ ปีติดเชื้อจากลูก

อ้าง‘โลตัสปากช่อง’ให้ปิดข่าว

คลัสเตอร์ต่อมาคือ พนักงานโลตัส อ.ปากช่อง รายแรกเป็นผู้ป่วยรายที่ ๓๐๗๙ ทำงานที่ร้านอาหารหนึ่งในโลตัส ส่วนแม่นั้นค้าขายในตลาดปากช่อง ไปตรวจที่โรงพยาบาลปากช่องนานา ตั้งแต่วันที่ ๒๐ กรกฎาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ ผู้ป่วยรายที่ ๕๗๒๔ ทำงานที่แผนกอาหารสดของโลตัสด้วย ซึ่งภริยาและแม่ขายผักอยู่ที่ตลาดสี่มุมเมือง และติดเชื้อโควิด โดยขณะนี้ในโลตัสปากช่องพบผู้ติดเชื้อ ๓๖ ราย ซึ่งทีมสสจ.นครราชสีมาเพิ่งได้รับการรายงานเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งในส่วนของฝ่ายปกครองอำเภอปากช่องก็ไม่ได้รับการรายงานเช่นกัน แต่จากการสอบสวนโรคทราบว่า ผู้ติดเชื้ออ้างว่าทางห้างไม่ให้เปิดเผย ซึ่งในเรื่องนี้ให้มีการสืบสวนโรคอย่างเข้มข้นเพื่อเอาผิดกับผู้กระทำผิด โดยเฉพาะในส่วนของผู้จัดการ หากกระทำผิดก็ต้องแจ้งความดำเนินคดี

คลัสเตอร์ครอบครัวตำบลถนนโพธิ์ อ.โนนไทย ซึ่งนายอำเภอโนนไทยต้องการให้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อฯ เนื่องจากไม่ได้รับข้อมูลที่แท้จริง ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อ ๘ ราย โดยรายแรกเป็นภารโรง และมีการนั่งรถด้วยกัน ๔ คนมากู้เงินที่สำนักงานสหกรณ์ครูนครราชสีมา (ตั้งอยู่ถนนราชสีมา-ปักธงชัย อ.เมือง) ด้วย โดยนายอำเภอโนนไทยแจ้งว่าเพิ่งทราบเมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคมว่ามีการติดเชื้อในกลุ่ทนี้ จึงได้ดำเนินการกักตัวผู้เสี่ยงสูง ๒๒ ราย และปานกลาง ๖๐ กว่ารายแล้ว ส่วนคลัสเตอร์สุดท้ายในวันนี้คือ กรณีพนักงานเก็บเงินค่าแผงตลาดสดเทศบาลสีคิ้ว ซึ่งเก็บค่าเช่าแผงทั้ง ๓ ตลาด ผู้ป่วยรายแรกคือ ๑๓๙๒๒ และภริยาติดเชื้อเป็นรายที่ ๑๓๙๒๕ โดยทีม CDCU อ.สีคิ้วร่วมกับเทศบาลเมืองสีคิ้วได้ทำความสะอาดและตรวจเชิงรุก ๑,๐๙๐ ราย เป็นแม่ค้า ๒๕๐ ราย ครอบครัวแม่ค้า และผู้มาใช้บริการ ๘๓๘ ราย ผล ATK พบแม่ค้าติดเชื้อ ๖ ราย รวมพบติดเชื้อแล้ว ๘ ราย

เจอ ๑ รายก็ต้องรายงาน

นพ.ธีรวัฒน์ วิลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมโรคที่ ๙ (สคร.๙) เน้นย้ำว่า หากพบผู้ป่วยในโรงงาน ห้าง หรืออื่นๆ แม้เพียง ๑ ราย ขอให้แจ้งสสจ.ทันที เพราะต้องรีบลงพื้นที่ไปประเมินความเสี่ยง เพื่อป้องกันเชื้อกระจายไปสู่ครอบครัว และชุมชน ทราบช้าก็จะทำให้การจัดการช้า จำนวนผู้ติดเชื้อก็จะสูงขึ้น จึงขอเน้นย้ำไปทุกอำเภอให้ดำเนินการด้วย

นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา กล่าวเสริมว่า ฝากทุกอำเภอตรวจสอบ ให้มีการข่าวภายในให้ดี โดยเฉพาะในบางองค์กรที่เมื่อมีการติดเชื้อก็จะไม่ให้ข่าว จึงเป็นอันตรายต่อสาธารณะ หากรีบแจ้งก็จะจัดการได้ไว ดังนั้น ขอความร่วมมือในเรื่องนี้ด้วย เมื่อรู้ปัญหาก็จะนำเข้าสู่การแก้ไขได้เร็วที่สุด แต่ถ้าช้าก็จะจัดการยาก พร้อมทั้งให้สนใจบรรดาข่าวกระซิบกระซาบ ถ้าได้ยินให้เจ้าหน้าที่เข้าไปทันที อย่าถือเป็นเรื่องปกติ ให้เข้าไปชาร์จเร็วที่สุด

พบติดเชื้อในรร.บับเบิลแอนด์ซีล

นายไกรสีห์ หล่อธราประเสริฐ รองนายกเทศมนตรีนครฯ นำเสนอว่า “เทศบาลนครฯ ได้รับแจ้งว่า มีบริษัทนำพนักงานเข้าระบบ Bubble and Seal จำนวนมาก ซึ่งมีส่วนหนึ่งที่ขอมายังเทศบาลฯ แต่ก็ยังมีอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ขอและนำเข้ามาก่อน เมื่อทราบจึงเข้าไปตรวจสอบ โดยวันที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๔ ไปตรวจสอบที่โรงแรมขวัญเรือน พบโรงงานแปรรูปไก่ ต.กระโทก อ.โชคชัย นำคนเข้ามาแล้ว ๑๔๔ ราย ซึ่งยังมีบางมาตรการที่ผู้ประกอบการไม่เข้าใจ เทศบาลฯ จึงให้คำแนะนำเพิ่มเติม ซึ่งขณะนั้นตรวจพบผู้ที่เข้าข่าย PUI ๑ ราย จึงให้โรงงานนำพนักงานไปตรวจหาเชื้อในวันรุ่งขึ้น จากการติดตามผลพบว่า จริงๆ แล้วที่ขวัญเรือนมีพนักงานเข้าข่าย PUI ทั้งหมด ๑๔ ราย และจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ของโรงงานพบว่า มีผู้ติดเชื้อ ๖ ราย จากการสอบสวนโรคพบอีกว่า วันที่ ๔ สิงหาคม พบผู้ติดเชื้อ ๑ ราย วันที่ ๕ สิงหาคม พบผู้ติดเชื้อ ๕ ราย วันที่ ๖ สิงหาคม พบผู้ติดเชื้อ ๓ ราย วันที่ ๑๖ สิงหาคม พบผู้ติดเชื้อ ๓ ราย และวันที่ ๑๗ สิงหาคม พบผู้ติดเชื้อ ๖ ราย รวมทั้งสิ้น ๑๘ ราย เป็นคลัสเตอร์ขวัญเรือน จากการทำ Bubble and Seal ของโรงงานแปรรูปไก่นี้ และจากการตรวจสอบสถานที่พบว่า การทำความสะอาดค่อนข้างมีปัญหา ห้องพักที่มีการติดเชื้อ ไม่มีการทำความสะอาดห้อง โดยเฉพาะระบบแอร์ เมื่อผู้ติดเชื้อออกจากห้องไปรับการรักษา จากนั้นก็มีการนำคนใหม่เข้าไปทันที จึงพบรายชื่อผู้ติดเชื้อ เป็นผู้ที่ใช้ห้องซ้ำกัน และจากการตรวจสอบการจัดการพนักงานพบว่า มีการสลับห้องกัน จึงทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม เทศบาลฯ จึงติดต่อไปยังผู้บริหารของโรงงาน ให้ปรับปรุง แก้ไข และรักษามาตรฐานตามที่เสนอให้เทศบาล และจากรายงานของโรงงานแห่งนี้ในโรงแรมอื่น ก็พบว่า มีแม่บ้านติดเชื้ออีก ๓ ราย ซึ่งเทศบาลฯ อยู่ระหว่างลงไปตรวจสอบ”

วัคซีนทุกยี่ห้อมีประโยชน์

ในขณะที่นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยภายหลังร่วมแจกอาหารปรุงสุกและเครื่องดื่ม ให้กับประชาชนที่หน้าศาลากลางจังหวัดฯ ในเวลา ๑๑.๐๐ น. (วันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๖๔) ว่า “สำหรับสถานการณ์วัคซีนในโคราชวันนี้ รัฐบาลพยายามจัดหาและจัดซื้อวัคซีนทุกยี่ห้อ ผมอยากจะบอกคนไทยว่า ไม่ควรเลือก เพราะเราต้องเชื่อมั่นทางการแพทย์และสาธารณสุขว่า จะมีวิธีการบริหารวัคซีนสำหรับทุกคน เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ดังนั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องเลือกไฟเซอร์หรืออะไรต่างๆ และตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมนี้ โคราชจะได้รับวัคซีนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ในขณะนี้ มีให้สำหรับบุคคลที่ทำงานด่านหน้า โดยเฉพาะแพทย์และพยาบาล ส่วนกรณีที่มีแอบฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่ด่านหน้า ต้องสอบสวนข้อเท็จจริงต่อไป ถ้าเห็นว่าทำไม่ถูกต้องก็ให้รับโทษทางวินัย จริงๆ แล้วไม่ควรมี VIP สำหรับใครที่รู้สึกว่าตัวเองเป็น VIP ต้องมีสิทธิพิเศษกว่าคนอื่น ท่านไปขอที่อื่นละกัน แต่ถ้าผมรู้ผมไม่ยอม รัฐบาลมีเป้าหมายแล้วว่า วัคซีนไฟเซอร์ต้องให้ใคร ขอให้เป็นไปตามนั้น ถ้าผมทราบว่า มีคนได้รับสิทธิพิเศษ อ้างอิงต่างๆ ผมไม่ยอมเหมือนกัน สำหรับผมวัคซีนทุกยี่ห้อมีประโยชน์และสร้างภูมิคุ้มกันได้เหมือนกัน อย่าฟังข้อมูลเพียงด้านเดียว เพราะวัคซีนทุกยี่ห้อล้วนมีผลข้างเคียง”

ผอ.แชมป์ขอโทษแล้ว

ล่าสุดเมื่อวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๖๔ “โคราชคนอีสาน” สอบถามความคืบหน้าการสอบสวนกรณี นพ.แชมป์ สุทธิศรีศิลป์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ให้ภริยา และบุคลากรในร้านยา ๒ ราย จากนพ.วิชาญ คิดเห็น รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา ในฐานะหัวหน้าคณะสอบข้อเท็จจริง ซึ่งอธิบายว่า “การสอบของราชการมี ๒ ลักษณะคือ ต้องสอบข้อเท็จจริงก่อนว่าเป็นอย่างไร จากนั้นเมื่อนำเสนอข้อเท็จจริงต่อนายแพทย์ สสจ. ท่านก็จะตั้งคณะกรรมการสอบวินัย สำหรับในประเด็นนี้ ข้อเท็จจริงคือ โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติได้รับการจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ ๑๔๔ โดส ซึ่ง ๑๔๑ เข็มฉีดถูกต้องตามข้อสั่งการคือฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า คือ ผู้ที่ทำงานอยู่ในโรงพยาบาล แต่มีเพียง ๓ ราย โดยรายที่ ๑ ฉีดให้ภริยาผอ.รพ., สามีของเภสัชกรที่อยู่ในร้านขายยา และผู้ที่อยู่ในร้านยาเภสัชของหัวหน้าเภสัช ซึ่งบุคคลทั้งสามที่ได้รับวัคซีนเข้าข่ายกลุ่มแรกที่ต้องฉีดหรือไม่ คำตอบคือยัง เพราะว่า กลุ่มนี้จะฉีดเป็นกลุ่มต่อไป เพราะการทำงานในคลินิกก็มีความเสี่ยงเหมือนกัน แต่จะอยู่ในล็อตต่อไป แต่ว่ามีจำนวนวัคซีนเหลือ ที่เหลือเพราะว่า ตอนที่ขอเข้ามานั้น ขอจากจำนวนคนที่มีอยู่จริง แต่เมื่อเวลาผ่านไปกว่าที่วัคซีนไฟเซอร์จะเข้ามา คนที่มีอยู่จริงนั้นอาจจะฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็ม ๓ ไปแล้วก็ได้ หรือมีบางคนติดเชื้ออยู่ จึงทำให้วัคซีนเหลือ ดังนั้น ข้อสรุปคือไม่ได้เบียดบังวัคซีนใครมาฉีด เพียงแต่ฉีดเกินแถวที่กำหนดไว้ ๑ แถว เป็นการผิดข้อสั่งการ แต่ก็ต้องให้ทีมสอบวินัยพิจารณาต่อไป โดยทางนพ.แชมป์ก็ยอมรับและขอโทษในเรื่องนี้ เพราะเห็นว่ามีวัคซีนเหลือจึงเอาไปฉีดให้แถวสอง และทางผมก็ได้ตักเตือนไปแล้ว ในส่วนของแถวสองที่จะได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็ม ๓ จะมีการจัดสรรให้ในบ่ายวันนี้”

นพ.วิชาญ คิดเห็น รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา หัวหน้าคณะสอบข้อเท็จจริง

ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ

“โคราชคนอีสาน” ถามถึงแนวทางการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดกรณีเข่นนี้อีก นพ.วิชาญ กล่าวว่า “ล็อตแรกจัดสรรวัคซีนได้ประมาณเกือบ ๙๙% ในหลายหน่วยงาน แต่บางแห่งก็ยังขาดอยู่อีก ๔-๕ คน บางแห่งเกินมา ๒-๓ คน แต่หลายที่ก็นำชื่อเจ้าหน้าที่ที่ประสงค์ต่อจากนั้น คือเป็นบุคคลในโรงพยาบาลหรือในอนามัย ส่วนจะป้องปรามอย่างไรในการจัดสรรวัคซีนไม่ให้มีการนำไปฉีดบุคคลอื่น ความจริงแล้ววัคซีนต้องจัดสรรตั้งแต่วันจันทร์ (๑๖ สิงหาคม ๒๕๖๔) แต่ผมชะลอไว้ โดยให้กลับไปตรวจสอบข้อมูลที่ส่งมาทั้งหมดว่า รายชื่อที่ส่งมาเป็นบุคลากรด่านหน้าจริงหรือไม่ ยิ่งล็อตสองยิ่งตรวจสอบยากกว่าล็อตสอง เนื่องจากล็อตแรกให้ฉีดหมอ พยาบาลในโรงพยาบาล อนามัย แต่ล็อตสองให้ฉีดคลินิกเอกชนได้ด้วย ร้านยาได้ด้วย เพราะถือว่ามีความเสี่ยง เพียงแต่ว่าจะพิสูจน์อย่างไรว่า ร้านยาแต่ละแห่งมีพนักงานจริงๆ กี่คน และทั้งหมดทำงานจริงหรือไม่ นี่คือความยากในการคัดกรอง จึงให้นำกลับไปทบทวนใหม่ ไม่เช่นนั้นก็เป็นข่าวขึ้นมาอีก ดังนั้น การประชุมคณะกรรมการจัดสรรวัคซีนในบ่ายวันนี้จึงอาจจะจัดสรรให้เฉพาะผู้ที่มีใบประกอบวิชาชีพ ถ้าอยู่ในร้านยาแต่ไม่ใช่เภสัชกรก็ไม่ได้ จึงจะขอยึดใบประกอบวิชาชีพเป็นหลัก”

ทัศนะจากหมอผู้ทรงศีล

พระอาจารย์ทองถม ชลอกุล แห่งวัดสัมปัตตะวนาราม ต.โคกกรวด อ.เมืองนครราชสีมา หรืออดีต นพ.ทองถม ชลอกุล ศัลยแพทย์ และผู้ช่วย ผอ.โรงพยาบาลมหาราชฯ แต่ฝักใฝ่ในพระพุทธศาสนาจึงลาออกบวช ๒๐ ปีแล้ว ปัจจุบันอายุ ๗๕ ปี กล่าวเมื่อถูกเรียนถามกรณีโรคโควิด-๑๙ ว่า “โรคนี้น่าจะอยู่อีกนาน หากจะให้หายไปเร็วๆ จะต้องปรับที่ประชาชน ให้รู้จักป้องกันตัวเอง วัคซีนก็ต้องมีพอใช้ ความจริงรัฐบาลต้องเปิดเสรี ใครต้องการก็สามารถสั่งเข้ามาได้

และต่อคำถามว่า กรณีที่ผอ.รพ.ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้ภริยา ซึ่งไม่ใช่บุคลากรด่านหน้าตามนโยบายรัฐ ถือเป็นการละเมิดหรือไม่? พระอาจารย์ทองถม กล่าวว่า “แม้จะอ้างเป็นวัคซีนเหลือก็ไม่ควรทำ เพราะยังมีคนที่ต้องการมาก ที่เป็นแบบนี้เพราะทำกันจนชิน ทำกันทุกๆ วัน คิดแบบเอาล่ะ เอาแบบนี้ก็ได้ ตามที่เคยทำกันเป็นประจำ จริงๆ แล้วคนไทยยังไม่มีวินัยที่แข็งแรง ประเทศกำลังพัฒนาก็เป็นแบบนี้”

นสพ.โคราชคนอีสาน  ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๖๙๒ วันพุธที่ ๑๘ - วันอังคารที่ ๒๔ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔


1013 1582