August 30,2021
มาตรการผ่อนคลายของจังหวัดนครราชสีมา ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นไป
คําสั่งจังหวัดนครราชสีมา
ที่ ๘๖๖๘/๒๕๖๔
เรื่อง มาตรการในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
สําหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดของจังหวัดนครราชสีมา (ฉบับที่ ๓)
-------------------------------------
ด้วยปรากฏว่าสถานการณ์ปัจจุบันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ค่อนข้างทรงตัวและมีแนวโน้มคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งผลดังกล่าวเกิดจากการบูรณาการและประสานความร่วมมือของฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง อาสาสมัครและประชาชน ทุกภาคส่วนในการระดมสรรพกําลังเพื่อให้ความช่วยเหลือป้องกันโรคแก่ประชาชน จนสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคเริ่มดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การคงไว้ซึ่งมาตรการในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคยังคง มีความสําคัญยิ่งที่ประชาชน ผู้ประกอบการ จะต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อมิให้เกิดการแพร่ระบาดขึ้นอีกในจังหวัดนครราชสีมา จึงเห็นสมควรปรับปรุงมาตรการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปภายใต้มาตรการด้านสาธารณสุขที่เข้มงวด
อาศัยอํานาจตามความในข้อ ๗ (๑) ตามข้อกําหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๑) ลงวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๓ ข้อกําหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๒๔) ลงวันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๔ ข้อกําหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๒๘) ลงวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๔ ข้อกําหนดออกตามความในมาตรา ๔ แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๓๐) ลงวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๔ ข้อกําหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๕๕ (ฉบับที่ ๓๒) ลงวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๔ มาตรา ๕๒/๑ และมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๓๔ ประกอบมาตรา ๒๒ (๑), (๗) มาตรา ๓๔ และมาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.๒๕๕๘ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ตามมติที่ประชุมครั้งที่ ๑๓๑/๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๔ จึงกําหนดมาตรการในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ดังนี้
ข้อ ๑ ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา
การจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลไม่เกิน ๒๕ คน สามารถกระทําได้โดยขออนุญาตพร้อมเสนอมาตรการป้องกันโรค ต่อศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ (ศปก.) ในพื้นที่รับผิดชอบ และหากมีความจําเป็นต้องจัดกิจกรรมรวมกลุ่มเกิน ๒๕ คน จะต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา โดยยื่นผ่าน ศปก.ในพื้นที่ รับผิดชอบไม่น้อยกว่า ๗ วัน ในแต่ละกรณี เว้นแต่เป็นกิจกรรมที่ดําเนินงานโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กําหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรค
ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จัดการอบรม สัมมนา หรือการประชุมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก กิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อเคยอนุญาต ให้จัดกิจกรรมได้ก่อนหน้านี้ หากประสงค์จะจัดกิจกรรมในช่วงระยะเวลานี้ให้ผู้รับผิดชอบการจัดกิจกรรมดังกล่าว ดําเนินการขออนุญาตต่อ ศปก.ในพื้นที่ เพื่อตรวจสอบและทบทวนมาตรการป้องกันโรคในการจัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับห้วงเวลาและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
ข้อ ๒ กิจการที่ได้รับยกเว้น
กิจกรรมหรือการรวมกลุ่มของบุคคลดังต่อไปนี้สามารถจัดได้โดยไม่ต้องขออนุญาตตามข้อ ๑ แต่ต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนดอย่างเคร่งครัด
(๑) กิจกรรมเกี่ยวกับการขนส่งหรือขนย้ายประชาชน ได้แก่ การขนส่งประชาชนเพื่อเดินทางไป หรือออกจากที่เอกเทศตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ ศูนย์พักคอยรอการส่งตัว หรือสถานที่เพื่อการช่วยเหลือผู้ติดเชื้อในชั้นแรก
(๒) กิจกรรมเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลและการสาธารณสุข
(๓) กิจกรรมเกี่ยวกับการให้บริการ การให้ความช่วยเหลือหรืออํานวยประโยชน์หรือความสะดวกแก่ประชาชน
(๔) การรวมกลุ่มของบุคคลตามปกติในที่พักอาศัย สถานที่ทํางาน การประชุมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือการออกกําลังกายในสถานที่ตามที่ทางราชการกําหนด
(๕) กิจกรรมที่ดำเนินโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ หรือเป็นกิจกรรมที่จัดโดยองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐโดยความเห็นขอบของหัวหน้าหน่วยงานดังกล่าว หรือกิจกรรมอื่นตามที่ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินด้านความมั่นคง (ศปม.) กําหนด พนักงานเจ้าหน้าที่อาจเข้าไปกํากับ ตรวจสอบ หรือให้คําแนะนําการดําเนินกิจกรรมรวมกลุ่มของบุคคลได้ แต่หากพบว่าการจัดหรือการดําเนินกิจกรรมดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจตักเตือนหรือแนะนําเพื่อให้แก้ไขให้ถูกต้อง หรือ อาจสั่งให้ยุติการดําเนินกิจกรรมนั้นได้
ข้อ ๓ มาตรการเพื่อเตรียมความพร้อมสําหรับการจะบังคับใช้ในอนาคต
ให้สํานักงานสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมมาตรการภาครัฐและแผนการเกี่ยวกับการจัดหาและจัดสรรวัคซีน ยา เครื่องมือแพทย์ โรงพยาบาลสนาม สถานพยาบาล และเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั้งส่วนบุคคล องค์กร ผู้ประกอบการแต่ละประเภทและแนะนําแนวปฏิบัติเพื่อป้องกันการติดเชื้อ เพื่อให้เกิดการเตรียมความพร้อม และการปฏิบัติตน โดยเพิ่มความระมัดระวังในการป้องกันตนเองขั้นสูงสุดตาม “มาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบ ครอบจักรวาล” (Universal Prevention for COVID - 19) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกําหนด สําหรับการจะบังคับใช้ในอนาคต
ให้ผู้ประกอบการและผู้มีหน้าที่รับผิดชอบขององค์กรและหน่วยงานตรวจสอบและกํากับดูแล ให้มีการปฏิบัติตาม “มาตรการปลอดภัยสําหรับองค์กร” (Cavid Free Setting) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกําหนด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่โรคของสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมที่ได้อนุญาตให้เปิดดําเนินการได้ เพื่อเตรียมความพร้อมสําหรับการจะบังคับใช้ในอนาคตในการเปิดสถานที่ และการดําเนินกิจการและกิจกรรมต่างๆ ให้เป็นไปอย่างปลอดภัย ต่อเนื่อง ยั่งยืน โดยให้มีการประเมินผลภายในหนึ่งเดือน
ข้อ ๔ มาตรการควบคุมแบบบูรณาการเร่งด่วนเฉพาะในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา
(๑) ให้โรงเรียนทุกสังกัด หรือสถานศึกษาทุกประเภท รวมทั้งสถาบันกวดวิชา สถานที่ เรียนพิเศษ ยังคงงดจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนหรืออาคาร สถานที่ของโรงเรียนหรือสถานศึกษาทุกประเภท (แบบ On Site) จนกว่าจะได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาร่วมกันระหว่างผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ทั้งนี้ ให้จัดการเรียนการสอนผ่านระบบสื่อสารของทางหลัก (On air) ระบบอินเทอร์เน็ต (On line) แอปพลิเคชัน (On demand) หรือศึกษาเองที่บ้านโดยหนังสือเรียนแบบฝึกหัด (On Hand) ตามความเหมาะสมแทน ยกเว้น การจัดการเรียน การสอนของสถานศึกษาระดับอุดมศึกษา ให้เป็นอํานาจหรือดุลยพินิจของผู้บริหารสถานศึกษา
(๒) ร้านจําหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม สามารถเปิดให้บริการได้โดยให้บริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มในร้านได้ไม่เกินเวลา ๒๐.๐๐ นาฬิกา ห้ามการบริโภคสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้านและจํากัดจํานวนผู้นั่งบริโภคในร้าน หากเป็นการบริโภคในห้องปรับอากาศให้มีจํานวนไม่เกินร้อยละ ๕๐ ของจํานวนที่นั่งปกติ แต่หากเป็นการบริโภคในพื้นที่เปิดที่อากาศสามารถระบายถ่ายเทได้ดี เช่น ร้านอาหารขนาดเล็ก หาบเร่ แผงลอย รถเข็น ให้มีจํานวนผู้นั่งบริโภคไม่เกินร้อยละ ๗๕ ของจํานวนที่นั่งปกติ และให้ใช้บังคับมาตรการนี้กับร้านจําหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่มที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกันด้วย
(๓) สถานเสริมความงาม ร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผม ให้เปิดดําเนินการได้
(๔) สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ หรือสถานประกอบการนวดแผนไทย ให้เปิดดําเนินการได้เฉพาะการให้บริการนวดเท้า และให้ใช้ระบบการจองคิวนัดหมายล่วงหน้า
(๕) ตลาดนัด ให้เปิดดําเนินการได้ตามปกติจนถึง ๒๐.๐๐ นาฬิกา เฉพาะการจําหน่าย สินค้าอุปโภคหรือบริโภค
(๖) ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน สามารถเปิดดําเนินการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้นๆ แต่ไม่เกิน ๒๐.๐๐ นาฬิกา เว้นแต่กิจการ หรือกิจกรรมบางประเภทที่กําหนดเงื่อนไขควบคุมการให้บริการ หรือให้ปิดการดําเนินการไว้ก่อน ประกอบด้วย
(ก) คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม สถานเสริมความงาม สามารถเปิดดําเนินการและให้บริการได้ผ่านการนัดหมาย ส่วนร้านเสริมสวย แต่งผมหรือตัดผมให้เปิดดําเนินการได้ โดยผ่านการนัดหมายและจํากัดเวลาการให้บริการภายในร้านไม่เกินรายละหนึ่งชั่วโมง
(ข) สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ หรือสถานประกอบการนวดแผนไทย ให้เปิดดําเนินการได้โดยผ่านการนัดหมายและจํากัดเฉพาะการให้บริการนวดเท้า
(ค) กิจการ/กิจกรรม ที่ยังคงให้ปิดการดําเนินการไว้ก่อน ประกอบด้วย สถาบันกวดวิชา โรงภาพยนตร์ สวนสนุก สวนน้ำ สระว่ายน้ำ สถานที่ออกกําลังกาย ฟิตเนส ผู้เกม เครื่องเล่น ร้านเกม การจัดเลี้ยงหรือการจัดประชุม
(๗) สวนสาธารณะ ลานกีฬา สนามกีฬา สระน้ำเพื่อการกีฬา หรือกิจกรรมทางน้ำเพื่อ การสันทนาการ หรือสระว่ายน้ำสาธารณะ หรือสถานที่เพื่อการออกกําลังกายกลางแจ้งหรือตั้งอยู่ที่เป็นพื้นที่โล่ง สนามกีฬา หรือสถานที่เพื่อการออกกําลังกายประเภทในร่มที่อากาศถ่ายเทได้ดี สามารถเปิดดําเนินการได้ไม่เกิน เวลา ๒๐.๐๐ นาฬิกา และสามารถจัดการแข่งขันได้โดยไม่มีผู้ชมในสนาม โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมาสามารถพิจารณากําหนดหลักเกณฑ์การใช้สถานที่เป็นการเฉพาะเพื่อความเหมาะสมกับสถานที่นั้นๆ ได้
(๘) ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา เพื่อเข้าใช้สนามกีฬาทุกประเภทเพื่อการฝึกซ้อมของนักกีฬาทีมชาติได้ โดยไม่มีผู้ชมในสนาม แต่ต้องดําเนินการตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนดอย่างเคร่งครัด
(๙) โรงแรม ให้เปิดดําเนินการได้ตามเวลาปกติ การจัดกิจกรรมการประชุม การสัมมนา หรือการจัดเลี้ยง ซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลไม่เกิน ๒๕ คน สามารถกระทําได้โดยขออนุญาตพร้อมเสนอมาตรการป้องกันโรคต่อศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคติดต่อ (ศปก.) ในพื้นที่รับผิดชอบ และหากมีความจําเป็นต้องจัดกิจกรรมรวมกลุ่มเกิน ๒๕ คน จะต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา โดยยื่นผ่าน ศปก. ในพื้นที่รับผิดชอบไม่น้อยกว่า ๗ วัน ในแต่ละกรณี เว้นแต่เป็นกิจกรรมที่ดําเนินงานโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ หรือเป็นกิจกรรมในพื้นที่ที่กําหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรค
(๑๐) ร้านสะดวกซื้อ และตลาดสด ให้เปิดบริการได้ตั้งแต่ ๐๔.๐๐ น. ถึง ๒๐.๐๐ น.
(๑๑) ศูนย์พระเครื่อง พระบูชา และสนามพระเครื่อง พระบูชา ให้เปิดบริการได้ โดยให้มีมาตรการทางสาธารณสุข มีการคัดกรองผู้ใช้บริการ รักษาระยะห่าง ทั้งนี้ ห้ามมิให้มีการจัดประกวดพระ
ทั้งนี้สถานที่ซึ่งได้รับการผ่อนคลายมาตรการตามข้อ ๔ (๒) (๓) (๔) (๕) (๖) (๗) (๙) (๑๐) ต้องปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคแนบท้ายคําสั่งนี้โดยเคร่งครัด
ข้อ ๕ การใช้เส้นทางคมนาคมเพื่อการเดินทางข้ามจังหวัดจากจังหวัดนครราชสีมา การเดินทางข้ามเขตจังหวัดและการเดินทางออกนอกเขตจังหวัดนครราชสีมาไปยังพื้นที่อื่นสามารถกระทําได้ แต่ขอความร่วมมือให้ประชาชนเดินทางต่อเมื่อกรณีมีเหตุจําเป็นเท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อและการแพร่โรค และหากเป็นการเดินทางของผู้ติดเชื้อหรือผู้ที่มีประวัติเสี่ยงติดเชื้อ ให้เดินทางผ่านมาตรการ หรือรูปแบบการเดินทางที่กําหนดขึ้นเป็นการเฉพาะเท่านั้นเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อระหว่างการเดินทาง ทั้งนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ยังคงมีอํานาจตรวจตราความเรียบร้อยและการตรวจคัดกรองเพื่อให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค โดยเป็นไปตามแนวทางที่ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด - 19 (ศปก.ศบค.) กําหนด
ข้อ ๖ การขนส่งสาธารณะ ให้สํานักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมาหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ กํากับดูแลการให้บริการขนส่งผู้โดยสารสาธารณะทุกประเภทในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา และการขนส่งสาธารณะ ระหว่างจังหวัดทุกประเภททั่วราชอาณาจักรให้เป็นไปตามแนวทางที่ ศปก.ศบศ. กําหนด โดยจํากัดจํานวนผู้โดยสารที่ใช้บริการไม่เกินร้อยละ ๗๕ ของความจุผู้โดยสารสําหรับยานพาหนะแต่ละประเภท รวมทั้งจัดให้มีการเว้นระยะห่าง การมีระบบระบายอากาศที่ดี การแวะพักตามช่วงเวลา รวมทั้งการปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขที่ทางราชการกําหนดอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ให้พิจารณาตามความเหมาะสมของยานพาหนะและสภาพการเดินทาง นอกจากนี้ ให้จัดบริการขนส่งสาธารณะที่เพียงพอต่อความจําเป็นและตามเวลาที่เหมาะสมในการเดินทางของประชาชนด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอํานวยความสะดวกเพื่อการขนส่งประชาชนเข้ารับวัคซีนและบริการทางการแพทย์
ข้อ ๗ ให้ปิดสถานที่หรือกิจการที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด - 19 เป็นการชั่วคราว ดังนี้
(๑) สถานบริการตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ.๒๕๐๙
(๒) สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน
(๓) สถานประกอบกิจการอาบ อบ นวด
(๔) สถานประกอบกิจการอาบน้ำ สถานประกอบกิจการอบไอน้ำ อบสมุนไพร
(๕) สนามชนไก่ สนามซ้อมชนไก่ สนามกัดปลา หรือ สถานที่แข่งสัตว์อื่นๆ
(๖) โต๊ะสนุกเกอร์ บิลเลียด
(๗) สถานที่เล่นโบว์ลิ่งหรือตู้เกม เครื่องเล่นเกม
(๘) ร้านเกม และร้านอินเทอร์เน็ต
(๙) สนามม้า
(๑๐) โรงภาพยนตร์ โรงละคร โรงมหรสพ
(๑๑) สวนน้ำ สวนสนุก
(๑๒) สนามเด็กเล่น เครื่องเล่นสําหรับเด็ก
(๑๓) สถานที่ออกกําลังกายฟิตเนส
(๑๔) สนามมวย และโรงเรียนสอนมวย
(๑๕) โรงเรียนสอนศิลปะการต่อสู้ (ยิม)
(๑๖) สถานที่สักหรือเจาะผิวหนังหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย
(๑๗) สถาบันลีลาศหรือสอนลีลาศ
(๑๘) สถานที่แสดงมหรสพ สถานที่มีการแสดงหรือการละเล่นสาธารณะ
(๑๙) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และสถานที่รับเลี้ยงเด็กเอกชน
ข้อ ๘ ทั้งนี้คําสั่งจังหวัดนครราชสีมา ที่ ๖๓๒๔/๒๕๖๔ ลงวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๔ ในเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า มาตรการเกี่ยวกับการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว คําสั่งจังหวัดนครราชสีมา ที่ ๖๔๘๒/๒๕๖๔ ลงวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๔ ในเรื่องการดําเนินการสถานที่กักกันที่ทางราชการ กำหนด คําสั่งจังหวัดนครราชสีมา ที่ ๗๓๖๘/๒๕๖๔ ลงวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๖๔ ในเรื่องมาตรการสําหรับสถานที่ท่องเที่ยว คําสั่งจังหวัดนครราชสีมา ที่ ๗๙๑๖/๒๕๖๔ ลงวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๔ ในเรื่องการลดและจํากัดการเคลื่อนย้ายของบุคคล การห้ามออกนอกเคหสถานในระหว่างเวลา ๒๑.๐๐ นาฬิกา ถึง ๐๔.๐๐ นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น ข้อยกเว้นการการห้ามออกนอกเคหสถาน เงื่อนไขการใช้เส้นทางคมนาคม การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ยังมีผลบังคับใช้ต่อไปในส่วนที่ไม่ขัดหรือแย้งกับคําสั่งนี้
ข้อ ๙ การไม่ปฏิบัติตามคําสั่งนี้ ถือเป็นความผิดตามมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.๒๕๕๘ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือเป็นความผิดตามมาตรา ๕๒ แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.๒๕๕๘ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ แล้วแต่กรณี รวมทั้งเป็นความผิดตามมาตรา ๑๘ แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
อนึ่ง เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจําเป็นรีบด่วน หากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชน หรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้งตามมาตรา ๓๐ วรรคสอง (๑) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๔ เป็นต้นไป หรือจนกว่าจะมีคําสั่งเปลี่ยนแปลง
สั่ง ณ วันที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๔
(นายกอบชัย บุญอรณะ)
ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา
ประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา
ผู้กํากับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดนครราชสีมา
66 1,608