16thApril

16thApril

16thApril

 

September 19,2021

ต้องกล้าจัดการให้เด็ดขาด คลัสเตอร์ตลาดใหญ่ร้ายแรง ชาวเมืองรอการปฏิบัติที่ชัดเจน

กลายเป็นคลัสเตอร์ใหญ่กลางเมือง หลังพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากจากการตรวจคัดกรองใน “ตลาดสุรนารี” กระจายไปหลายอำเภอ รองผู้ว่าฯ ย้ำต้องกล้าจัดการให้เด็ดขาด ทุกเรื่อง เพราะน่าจะมีความชัดเจนแล้วว่าใครเป็นเจ้าของ หลังจากฟ้องร้องกันมาหลายตลบ อยู่ใจกลางเทศบาลนครฯ ต้องทำให้ถูกต้อง ชาวโคราชรอคำตอบ ตลาดต้องมีทะเบียนผู้ค้า และต้องปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุข ล่าสุดผู้ว่าฯ ลงนามสั่งปิดตลาด ๑๔ วัน ถึงวันที่ ๒๖ กันยายนนี้

ตามที่เทศบาลนครนครราชสีมาได้ดําเนินการตรวจเชิงรุกภายในตลาดสุรนารี (ชื่อเดิมตลาดสุรนคร) เพื่อป้องกันและควบคุมโรคโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) โดยพบผู้ติดเชื้อในวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๔ จํานวน ๕ ราย, วันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๖๔ จํานวน ๒๖ ราย และวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๔ จํานวน ๔๘ ราย ซึ่งถือเป็นการติดเชื้อแบบกลุ่มก้อน (Cluster) โดยมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น ต่อมานายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ได้มีคำสั่งปิดตลาดสุรนารีระหว่างวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๔.๐๐ น. ถึงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๔.๐๐ น. เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไปยังประชาชนหรือผู้ใช้บริการ หรือผู้ประกอบกิจการในตลาด พร้อมกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและควบคุมโรคนั้น

คลัสเตอร์ใหญ่กลางเมือง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๖๔ ในที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีนายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย นพ.ชาญชัย บุญอยู่ รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และทีมสอบสวนโรคเข้าร่วมประชุม โดยนางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ นักระบาดวิทยา รายงานถึงคลัสเตอร์ตลาดสุรนารีว่า สสจ.ได้รับแจ้งจากแพทย์อายุรกรรมโรคติดเชื้อโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาว่า มีผู้ป่วยโควิด-๑๙ จากตลาดเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาลจำนวนมาก จากนั้นจึงแจ้งเทศบาลนครฯ ให้ลงพื้นที่ตรวจสอบตลาดสุรนารี และลงพื้นที่ในวันนั้นทันที เพื่อค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในตลาด โดยเบิกชุดตรวจ ATK จาก สสจ.จำนวน ๑,๐๐๐ ชุด และชุดตรวจ RT-PCR อีก ๕๐ ชุด โดยในวันนั้นตรวจทั้งหมด ๔๕๒ คน พบผลบวก ๒๖ คน จึงเรียกผู้ที่มีผลบวกมาตรวจ RT-PCR แต่ปรากฏว่า เรียกมาตรวจได้เพียง ๒๑ คน อีก ๕ คนปัจจุบันก็ยังหาตัวไม่เจอ และตลาดแจ้งว่า เทศบาลนครฯ เป็นคนทำข้อมูลรายชื่อ จึงไม่สามารถตามหาอีก ๕ คนที่หายไปได้ ซึ่งตอนโทรไปแจ้งผลการตรวจ ตอนแรกก็รับสายและร้องไห้ แต่หลังจากนั้นก็ปิดเครื่องโดยตลอด สำหรับผลแล็บการตรวจ RT-PCR พบว่า มีผู้ติดเชื้อ ๑๙ ราย

จากนั้นในวันที่ ๑๑ กันยายน เทศบาลฯ ทำการตรวจเชิงรุกด้วย ATK อย่างต่อเนื่อง จำนวนผู้เข้ารับการตรวจทั้งหมด ๙๙๒ คน พบผลบวก ๔๘ คน ทีม สสจ.จึงลงพื้นที่ให้คำแนะนำและวางแผนว่า ๔๘ คนนี้ จะไปตรวจ RT-PCR ที่โรงพยาบาลใดบ้าง แต่พบว่า ใน ๔๘ คน มีคนไปตรวจเพียง ๔๗ คน หายไป ๑ คน ซึ่งปัจจุบันก็ยังตามหาตัวไม่เจอ ส่วนสถานที่กักตัวสำหรับผู้ที่มีผลบวกและรอผลตรวจ RT-PCR จะให้กักตัวที่บ้าน ในลักษณะ Home Isolution เพราะขณะนั้นยังไม่สามารถหาสถานที่กักตัวให้ได้ และล่าสุดผลตรวจออกแล้ว พบเชื้อทั้งหมด ๔๕ คน ส่วนอีก ๒ คนไม่พบเชื้อ สรุปคือ การตรวจทั้ง ๒ วัน พบผลบวก ATK จำนวน ๗๔ คน ส่งตรวจ RT-PCR พบเชื้อ ๖๔ คน ตรวจไม่พบเชื้อ ๔ คน และไม่เข้ารับการตรวจ ๗ คน ซึ่งขณะนี้กำลังเร่งตามหาตัวอยู่

ขยายเป็นวงกว้างหลายอำเภอ
“สำหรับคลัสเตอร์ตลาดสุรนารี ได้รับแจ้งจากอำเภอต่างๆ พบผู้ป่วยเชื่อมโยง เกิดเป็นวงที่ ๒ ขึ้น ได้แก่ อำเภอวังน้ำเขียว เป็นกลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ๑ ราย ขามทะเลสอ ๔ ราย สีคิ้ว ๑ ราย (มีวงที่ ๓ จำนวน ๓ ราย) พิมาย ๒๕ ราย (มีวงที่ ๓ จำนวน ๑ ราย และวงที่ ๔ จำนวน ๑ ราย) ด่านขุนทด ๓ ราย และเมือง ๒ ราย ซึ่งอำเภอเมือง ผู้ป่วยเป็นเด็กอายุ ๑๓ ปี ติดเชื้อจากการไปนั่งเล่นที่แผงขายสินค้า และอีก ๑ คน เป็นลูกค้าที่มาซื้อของที่แผงนั้น สิ่งที่ได้จากการพูดคุยกับน้องอายุ ๑๓ ปี ทราบว่า น้องไปนั่งเล่นที่แผงขายมะเขือเทศ ซึ่งมีคนในร้าน คนดูแลห้องน้ำใกล้ๆ และพ่อของน้องก็ติดเชื้อด้วย แต่พ่อของน้องไม่ได้อยู่ในทะเบียนของตลาด ดังนั้นตัวเลขคนในตลาด จำนวน ๑,๑๗๘ คน ไม่ได้ครอบคลุมทั้งหมด และน้องบอกอีกว่า จุดที่น้องนั่งใกล้กับห้องน้ำ มีคนเข้าออกจำนวนมาก ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ห้องน้ำเป็นจุดที่มีการสัมผัสร่วมกันของคนในบริเวณนั้น โดยวันนี้ทีมอนามัยและสิ่งแวดล้อม จะลงพื้นที่ทำความสะอาดตลาด และจะตรวจสอบปริมาณคลอรีนในตลาดว่า มีปริมาณเท่าไหร่ เพียงพอต่อการฆ่าเชื้อหรือไม่ ในส่วนของพ่อค้าแม่ค้าโซน D ซึ่งเป็นพื้นที่มีหลังคา พ่อค้าแม่ค้าโซนนี้ไม่ได้ใช้ห้องน้ำร่วมกับโซนขายผลไม้ จึงคาดว่าน่าจะติดเชื้อจากการเดินของลูกค้า เพราะจากการสอบถามป่วยอำเภอเมืองที่ติดเชื้อ เขาก็เดินมาโซนนี้ด้วย” นักระบาดวิทยา สสจ.นครราชสีมา กล่าว

นางสาวทิพวรรณ รายงานอีกว่า คลัสเตอร์ตลาดสุรนารี อยู่ระหว่างการสอบสวนโรค เพราะหลังจากทำการตรวจ ATK ก็ยังไม่ได้สอบสวนอย่างชัดเจนทั้ง ๗๔ คน จึงยังไม่ชัดเจนเรื่องผู้สัมผัสเสี่ยงสูง มีการกระจายมากน้องเพียงใด และขณะนี้ หลังจากประกาศปิดตลาด ๓ วัน กลุ่มพ่อค้าแม่ค้าและคนที่ทำงานในตลาด เดินทางกลับภูมิลำเนา ซึ่งทุกอำเภอได้กักตัวไว้แล้ว และรอคำสั่งว่า ควรจะทำอย่างไร โดยเบื้องต้นคาดว่า ผู้สัมผัสเสี่ยงค่อนข้างมาก และการระบาดส่วนใหญ่เกิดขึ้นในโซนขายผักกับผลไม้ที่มาจากต่างจังหวัด

ต้องกล้าจัดการ

นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา กล่าวเสริมว่า “ตลาดสุรนารีก่อนหน้านี้มีการร้องเรียนมานาน ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโควิด-๑๙ ซึ่งควรจะเรียบร้อยได้แล้ว ขอฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องกล้าตัดสินใจ เพราะถ้าไม่ทำอะไร อาจจะเกิดการฟ้องร้องขึ้น โดยเฉพาะฝ่ายบริหาร ต้องมีหน้าที่ตัดสินใจ ต้องกล้าดำเนินการ ผมเข้าใจว่า มีผลประโยชน์มหาศาล พ่อค้าแม่ค้าได้รับประโยชน์แน่นอน สถานที่ตั้งก็อยู่ใจกลางเขตเทศบาลนครฯ และอยู่ใกล้โรงพยาบาลด้วย ดังนั้นขอให้ทำให้ถูกต้อง ทั้งเรื่องการก่อสร้างและการขอใช้พื้นที่ ขณะนี้มีความชัดเจนว่า ใครคือเจ้าของ เพราะฟ้องร้องกันมาหลายตลบแล้ว ขอฝากให้เทศบาลฯ โดยปลัด แม้จะเกษียณแต่ก็ต้องมอบหมายงานว่า จะให้ใครรับผิดชอบในเรื่องโครงสร้าง หมายถึงให้ตรวจสอบระบบทั้งหมด และให้ดูข้อกฎหมาย ถ้าไม่ชอบก็ต้องดำเนินการ ต้องหาสถานที่แห่งใหม่ ขอพูดก่อนจะเข้าถึงเรื่องโควิด-๑๙ เพราะเรื่องนี้คนโคราชติดตามโดยตลอด ยิ่งก่อนหน้านี้มีการนำชายชุดอะไรไม่รู้ ถือมีดถืออาวุธเข้าไป เป็นข่าวดังอยู่ช่วงหนึ่ง คนโคราชต้องการความชัดเจน ขอฝากให้เทศบาลฯ ติดตามต่อไป”

คิดถึงประโยชน์ประชาชน

“สำหรับการระบาดเป็นคลัสเตอร์ ที่จริงก็ทราบตั้งแต่วันที่ ๘-๙ กันยายน จากนั้นวันที่ ๑๐ จึงลงไปตรวจสอบ และพบเชื้อ ๑๗ คน เมื่อตรวจแล้วปรากฏว่า ยังมีคนบางกลุ่มไม่เข้าระบบรักษา หลายคนหายสาบสูญ ตลาดต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจน และตลาดต้องฟังเจ้าหน้าที่ อย่าไปดื้อกับเจ้าหน้าที่ เพราะเรื่องนี้ต้องใช้คนที่มีความสามารถมีความรู้เฉพาะทางเฉพาะด้าน อย่าคิดว่า ทำเองได้ เพราะการสอบสวนโรคจะมีการวินิจฉัยและวิเคราะห์ตามมาอีก เมื่อมีการตรวจพบเชื้อจะต้องสอบถามว่า ไปที่ใดมาบ้าง เพื่อสอบสวนว่า รับเชื้อมาจากใครและจะนำเชื้อไปแพร่ให้ใครบ้าง สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ต้องทำ ไม่ใช่แค่ตรวจหาเชื้อแล้วจบ ขอฝากตลาดไว้ด้วย ส่วนเทศบาลนครฯ และ สสจ. เคสนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องทำงานร่วมกัน โดยทำตามหลักวิชาการให้มากที่สุด โดยไม่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ว่า ใครจะได้รับ แต่ให้คำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน เพราะเราทำเพื่อป้องกันและระงับการแพร่ระบาดของไวรัส สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อพบผลตรวจ ATK เป็นบวก ปกติจะต้องนำเข้าโรงพยาบาลทันที แต่ช่วงนั้นเป็นช่วงที่กำลังจะยุบโรงพยาบาลสนาม ทำให้เกิดปัญหาว่า จะนำคนไปไว้ที่ใด หากโรงพยาบาลสนามยังเปิดอยู่ ก็จะสามารถนำคนเข้าได้ทันที เรื่องผู้ป่วยสำคัญที่สุด ดังนั้นต้องชัดเจน เพราะบางทีผู้ป่วยคิดว่าตัวเองไม่เป็นอะไร มีเชื้อแต่ไม่มีอาการ จึงต้องการจะขายของต่อ เพื่อระบายของที่ซื้อมาให้หมด ยอมขาดทุนหรือขาดทุนน้อยที่สุด เรื่องนี้เห็นใจพ่อค้าแม่ค้า แต่ต้องเข้าใจว่า เป็นเรื่องสำคัญที่สุด เมื่อพบเชื้อต้องเข้ารับการรักษาทันที เรื่องการขายของอาจจะให้คนอื่นมาขายแทน และในสถานการณ์แบบนี้ ตลาดจะต้องชัดเจนเรื่องการลงทะเบียนของพ่อค้าแม่ค้า ตลาดต้องตรวจด้วยว่า มีการขายสิทธิ์กันหรือไม่ คนที่เข้ามาทำถูกต้องหรือไม่ แต่พอเกิดปัญหาแล้วตลาดไม่ให้ข้อมูล ก็ทำให้เกิดอุปสรรค” นายศักดิ์สิทธิ์ กล่าว

ต้องตรวจให้ครบ

รองผวจ.นครราชสีมา กล่าวอีกว่า “ในส่วนของคนในตลาดที่กระจายไปในที่ต่างๆ ต้องมองว่า ทุกคนคือผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับคนในพื้นที่ ทุกคนที่ออกไปต้องกักตัว ทุกพื้นที่ยังมี SQ หรือ CI ส่วน HI ควรจะใช้ลำดับสุดท้าย เพราะ HI ส่วนใหญ่สถานที่ไม่อำนวย เพราะในบ้านมีคนอยู่ร่วมกันหลายคน แต่ถ้าอยู่คนเดียวก็ทำได้ ขอฝากให้ทุกอำเภอประเมินสถานการณ์และเคร่งครัดในเรื่องเหล่านี้ และผมเชื่อว่า ในจำนวนพ่อค้าแม่ค้า ๑,๑๗๘ คน เข้าตรวจ ATK จำนวน ๙๐% ถือว่าอยู๋ในเกณฑ์ดี แต่ท้ายที่สุดจะต้องตรวจให้ครบทุกคน และทำอย่างรวดเร็ว”

นายไกรสีห์ หล่อธราประเสริฐ รองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา รายงานว่า “กรณีการเชื่อมโยงตลาดสุรนารี ได้เข้าตรวจที่โรงพยาบาลมหาราชฯ ๕ ราย มีผลเป็นบวก แต่มีความเชื่อมโยงมาจากตลาดพิมายก่อน เจ้าหน้าที่จึงได้ลงไปตรวจพื้นที่ทันที ในเวลาบ่ายโมง ประสานจากทางตลาด ต้องการรายชื่อของผู้ค้าแผงทั้งหมดในตลาด ให้ตรวจหาคนที่ติดเชื้อว่าอยู่แผงไหนในตลาด พบอยู่ใน โซน J โซน I ให้ตีวงของคนที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว เข้ามาตรวจบริเวณโดยรอบ ทางตลาดต้องควบคุมบุคคลที่ตรวจแล้วให้อยู่ในพื้นที่ห้ามออกไป โดยวันที่ ๑๐ กันยายน นำกลุ่มเสี่ยงสูงมาตรวจได้ ๔๙๒ ราย พบเชื้อ ๒๖ ราย และประสานติดต่อให้ทางตลาดนำบุคคลที่ผล ATK เป็นบวกให้มาตรวจซ้ำ เพราะทางเจ้าหน้าที่มีชุดตรวจ PCR เพื่อนำผลตรวจไปที่โรงพยาบาลมหาราช ทันที ทางตลาดตามมาให้ได้แค่ ๒๑ ราย อีก ๕ ราย ไม่สามารถตามได้ คาดว่าสถานการณ์แบบนี้น่าจะมีการกระจายโดยทั่ว เพราะจำนวนการตรวจ ๔๙๒ ราย ยังน้อยอยู่ เนื่องจากตลาดให้ข้อมูลไม่เหมือนกันว่า มีทะเบียนรายชื่อ ๑,๑๗๘ ราย ต่อมาให้ข้อมูลว่า มี ๑,๔๙๐ ราย”

“วันที่ ๑๐ กันยายน เวลา ๒๑.๔๕ น. ได้ตามข้อมูลจากตลาดแจ้งว่า มีการส่งข้อมูลไปทางไลน์ ทางเทศบาลฯ ไม่ได้อยู่ในไลน์กลุ่มนั้น จึงไม่ทราบว่าตลาดไปตั้งไลน์อยู่กับใคร แสดงว่ามีบุคคลที่ติดต่อกับทางตลาดอยู่แล้ว ทางเทศบาลฯ ทราบปัญหาอยู่แล้วว่าหากตรวจ ATK เป็นบวก กังวลว่าเชื้อจะกระจายลงไปสู่ชุมชน ทางเทศบาลจะดำเนินการตรวจคู่ขนานไปพร้อมกันระหว่างรอการประชุมกับ สสจ. โดย สสจ. พร้อมทีมงาน ปกครอง และตลาด ได้เข้าประชุมหาแนวทางร่วมกัน ได้ตกลงกันในทิศทางที่เป็นประโยชน์ที่สุด ในการสอบสวนโรคทางตลาดประสานข้อมูลกับ สสจ. และภายในวันนี้ดำเนินการตรวจ ๙๙๒ ราย ทางเทศบาลฯ ได้ออกแบบฟอร์มให้ผู้ที่มีผลเป็นบวก ให้จดบันทึกว่า คนในครอบครัวมีกี่คน ตนเองอยู่ในแผงที่เท่าไหร่ มีกี่คน และได้จัดพื้นที่พักรอ ระหว่างนั้นได้ประสานทาง รพ.เทพรัตน์ รพ.มทส ให้ผู้ที่มีผล ATK เป็นบวก ทั้งหมดเข้ารับการตรวจอีกครั้ง” นายไกรสีห์ กล่าว

นายไกรสีห์ รายงานอีกว่า “ผู้ที่มีผล ATK เป็นบวก เข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลเทพรัตน์ฯ ๓๘ ราย โรงพยาบาลมทส ๑๘ ราย รวมเป็น ๕๖ ราย จากนั้นเทศบาลฯ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมใน วันที่ ๑๒ กันยายน เวลา ๑๕.๐๐ น. ได้ข้อสรุปดังนี้ การสอบสวนโรคในกลุ่มเสี่ยงสูงที่อยู่ในบ้านเดียวกัน แผงเดียวกัน อยู่ในเขตพื้นที่ใด ให้พื้นที่นั้นเป็นคนรับผิดชอบ ทางสสจ.จะส่งข้อมูลต่อให้ในพื้นที่สสอ.ต่างๆ เพื่อให้ค้นหากลุ่มเสี่ยงสูงได้รวดเร็ว ส่วนทางเทศบาล และโรงพยาบาลมหาราชฯ จะประสานงานกัน จัดพื้นที่รองรับผู้ที่มีผล ATK เป็นบวก ใช้โรงพยาบาลสนามแห่งที่ ๓ และมีการประกาศให้เริ่มปิดตลาด เวลา ๑๔.๐๐ น. (๑๒ กันยายน ๒๕๖๔) ทางเทศบาลร่วมกับตำรวจภูธรภาค ๓ และหน่วยงานเทศกิจ ลงตรวจพื้นที่ ที่มีคนขายเร่ริมทาง สอบถามข้อมูล ชื่ออะไร อยู่แผงไหนในตลาด ตรวจ ATK หรือยัง และพบว่ามีบุคคลจำนวนมากที่ได้รับการตรวจ ATK ไปแล้ว อยู่ในกลุ่ม ๒,๔๔๔ ราย ส่วนบุคลคลที่หายไป ๑ ราย เป็นบุคคลขับรถส่งของมาจากจังหวัดน่าน เข้ามาส่งของยังด่านขุนทด ทางเทศบาลจึงแนะนำผู้ส่งของให้แจ้งข้อมูลกับทางจังหวัดน่าน ว่าเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง”

ตลาดต้องจัดทำทะเบียนผู้ค้า

นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา กล่าวว่า “ฝากถึงผู้ที่เกี่ยวข้องในตลาดให้นำข้อมูลของผู้ที่ขนของ เข็นผัก ขับรถสามล้อ ยาม พนักงานของตลาด คนขนส่งสินค้า นำสินค้าเข้ามาขายทั้งรับทั้งส่ง ให้เช็คข้อมูล ในแต่ละวันมีเท่าไหร่ คนซื้อของ ทั้งรายย่อย รายใหญ่ ให้แจ้งรายชื่อไปยังพื้นที่ต่างๆ ระบบการเข้าตลาดต้องมี เพราะบุคคลเหล่านี้อาจอยู่ในกลุ่มผู้เสี่ยงสูง ผู้ที่ดูแลตลาดทุกแห่งสำรวจ และจัดทำทะเบียนพ่อค้า-แม่ค้า และขอให้เจ้าของตลาดทุกแห่งจัดเตรียมสถานที่กักกันตัว หากเกิดการระบาด ห้ามปล่อยทิ้ง และให้ท้องถิ่นจัดเจ้าหน้าที่ชุดลงตรวจตลาด มาตรการต่างๆ ต้องเข้มงวดเข้มข้นเหมือนเดิม ไม่ว่าจะเป็นตลาดนัดตลาดประจำ ต้องลงตรวจ และนำข้อมูลมารายงานผล หลังจากที่โรงงานควบคุมได้ แต่ตลาดเป็นเรื่องที่คุมลำบาก ดังนั้นต้องมีการตรวจ มีระเบียบในการจัดการวางแผน ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน โอกาสที่การระบาดจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ยังเป็นในทิศทางที่ค่อนข้างยาก”

พบติดเชื้อแล้ว ๒๖๐ ราย

ล่าสุดวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๔ เวลา ๑๐.๐๐ น. มีการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา โดยมีนายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ พร้อมด้วย นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา ร่วมประชุม

นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ นักระบาดวิทยา รายงานถึงคลัสเตอร์ตลาดสุรนารีว่า ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อ ๒๖๐ ราย โดยแยกเป็นวงที่ ๑ เป็นพ่อค้าแม่ค้าในตลาด มีผู้ติดเชื้อ ๑๐๖ คน แต่มีชื่อในทะเบียนของตลาดเพียง ๖๔ คน ส่วน ๔๒ ที่เหลือเป็นกลุ่มพ่อค้าแม่ค้าที่เข้าไปตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลมหาราชฯ โดยทั้ง ๑๐๖ คน กระจายไปยังอำเภอพิมาย ๒ คน ด่านขุนทด ๒ คน ขามทะเลสอ ๕ คน ขามสะแกแสง ๑ คน สีคิ้ว ๑ คน และอำเภอเมือง ๙๕ คน ส่วนวงที่ ๒ มีผู้ติดเชื้อ ๔๑ คน โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแม่ค้าที่มารับของในตลาดนำไปขายในพื้นที่อำเภอต่างๆ ได้แก่ อำเภอพิมาย ๒ คน ด่านขุนทด ๒ คน วังน้ำเขียว ๑ คน พระทองคำ ๑ คน สีคิ้ว ๒ คน และอำเภอเมือง ๓๓ คน วงที่ ๓ มีผู้ติดเชื้อ ๖๒ คน เป็นกลุ่มครอบครัวและลูกค้าที่ซื้อของจากวงที่ ๒ กระจายในอำเภอเมือง ๑๑ คน พระทองคำ ๗ คน สีคิ้ว ๓ คน และพิมาย ๔๑ คน ซึ่งผู้ติดเชื้อในอำเภอพิมายกลุ่มนี้ มีการแพร่ระบาดเป็นวงที่ ๔ คลัสเตอร์ตลาดพิมายเมืองใหม่ ๕๑ คน รวมทั้งหมดคลัสเตอร์ตลาดสุรนารี มีผู้ติดเชื้อ ๒๖๐ คน”

ห้องน้ำอาจเป็นจุดเสี่ยง

“สสจ.พยายามตรวจสอบข้อมูลจากที่เทศบาลฯ ให้มา ซึ่งไม่พบกลุ่มแม่ค้าที่เข้าไปรับการตรวจกับโรงพยาบาลมหาราชฯ อาจจะเป็นเพราะรายชื่อในทะเบียนของตลาดไม่ครอบคลุมทั้งหมด ซึ่งการสรุปครั้งนี้เป็นข้อมูล ณ วันที่ ๑๔ กันยายน เวลา ๑๘.๐๐ น. แต่เมื่อคืนนี้และช่วงเช้าวันนี้ นพ.เจษฎ์ได้ส่งข้อมูลมาให้อีกจำนวนมาก ซึ่งทีมสอบสวนโรคจะนำข้อมูลมาเทียบกับข้อมูลที่เทศบาลฯ ได้รับมาจากตลาด จากนั้นจะส่งให้สสจ.ต่อไป นอกจากนี้ ในการตรวจค่าคลอรีนในน้ำประปาของตลาด พบว่า มีค่าต่ำกว่า ๐.๒ ซึ่งตามจริงแล้ว การใช้น้ำประปาจะต้องมีค่าคลอรีนประมาณ ๐.๕-๑ เพราะจากการสอบสวนโรคคาดว่า จุดสัมผัสร่วมกันคือการใช้ห้องน้ำ หากคลอรีนมีปริมาณมากพออาจจะช่วยได้ในจุดสัมผัสจากการใช้ห้องน้ำร่วมกัน ขอฝากให้เทศบาลฯ ช่วยตรวจสอบระดับคลอรีนในน้ำด้วย ในวันที่ ๑๓ กันยายน มีกลุ่มแรงงานต่างด้าวไปส่งสินค้าที่ตลาดเทิดไท ซึ่งบังเอิญว่า ขณะนั้นตลาดเทิดไทกำลังตรวจ ATK ให้คนในตลาด เมื่อเห็นกลุ่มนี้ซึ่งไม่คุ้นหน้า ตลาดเทิดไทจึงเชิญมาตรวจ ผลปรากฏว่า แรงงานต่างด้าวทั้ง ๓ คน มีผลบวก สสจ.จึงประสานให้เข้ารับการตรวจ RT-PCR ที่โรงพยาบาล มทส. และผลตรวจยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-๑๙ สำหรับตลาดเทิดไท มีการตรวจครบทุกคนแล้ว ส่วนคนที่จะเข้าไปในตลาดจะต้องมีผลตรวจยืนยันว่า ไม่พบเชื้อ หากพบพ่อค้าแม่ค้าที่มาจากตลาดอื่น จะจับตรวจทั้งหมด” นางสาวทิพวรรณ กล่าว

น่าเป็นห่วง

นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา กล่าวว่า “ขณะนี้คลัสเตอร์ที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ คลัสเตอร์ตลาดสุรนารีหรือตลาดสุรนครที่คนโคราชรู้จัก จากการติดตามตั้งแต่วันศุกร์ (๑๐ กันยายน ๒๕๖๔) ถึงปัจจุบัน สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ที่สำคัญ คือ ข้อมูลในตลาด ผมให้ขอข้อมูลเพิ่ม ไม่รู้ตลาดได้ทำให้หรือไม่ ไม่ใช่จะมีรายชื่อเฉพาะพ่อค้าหรือแม่ค้า แต่คนขนผักขนของมีหรือไม่ รวมถึงพนักงานของตลาด วินมอเตอร์ไซค์ในละแวกนั้น และที่สำคัฐที่สุด คือ คนที่เข้ามาใช้บริการ ตลาดมีข้อมูลหรือไม่”

นายไกรสีห์ หล่อธราประเสริฐ กล่าวว่า “ขณะนี้มีการประสานงานกับทางตลาด พยายามจะทำข้อมูลให้อยู่ เนื่องจากตลาดมีข้อมูลทะเบียนตามที่ให้มาเท่านั้น ซึ่งมีทั้งหมด ๑,๔๙๐ คน และมีผู้รับจ้างรวมอยู่ด้วย เทศบาลฯ จึงนำรายชื่อมาเทียบกับการตรวจ ATK จำนวน ๑,๔๔๔ คน พบว่า มีวินมอเตอร์ไซค์ และผู้รับจ้าง เข้ามาตรวจหาเชื้อด้วยจำนวนหนึ่ง ซึ่งข้อมูลรายชื่อ เทศบาลฯ ได้ขอไปตั้งแต่วันที่ ๑๐ กันยายน เขายอมรับว่า ไม่ได้ทำบันทึกไว้ วันนี้ก็พยายามติดตามกับที่ปรึกษาของตลาด ซึ่งที่ปรึกษาเขามีอำนาจที่จะบอกกับเจ้าของตลาด ขณะนี้เขาก็อยู๋ในตลาด เพื่อจะดูแลและกำชับ เขาก็รับปากว่า จะเร่งรีบทำข้อมูลให้ โดยเทศบาลฯ กำลังติดตามอย่างใกล้ชิดอยู่ ซึ่งเขาก็ไม่ได้ยืนยันว่าจะทำเสร็จเมื่อไหร่

ระบบหละหลวม

นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา กล่าวว่า “ต้องกำหนดเวลาเขา จะปล่อยให้เป็นแบบนี้ไม่ได้ พ่อค้าแม่ค้าก็กระจายไปมากแล้ว แล้วประชาชนที่มาใช้บริการมีรายชื่อหรือไม่ ไทยชนะไม่ได้ทำใช่หรือไม่ การลงทะเบียนคนเข้าพื้นที่ไม่มีใช่หรือไม่ เรื่องเหล่านี้จะต้องติดตาม”

นายจักรกฤษณ์ ศรีสุวรรณ นิติกรชำนาญการพิเศษ สสจ.นครราชสีมา กล่าวถึงข้อกฎหมายว่า “กรณีของตลาดถูกระบุไว้ในข้อกำหนดว่า ให้ประชาชนหรือผู้ใช้บริการ และผู้ประกอบการ จะต้องลงทะเบียน ไม่ว่าจะเป็นการบันทึกด้วยการเขียนหรือใช้ระบบไทยชนะก็ได้ เรื่องนี้ต้องมี และจะต้องมีในเรื่องของการทำความสะอาดในจุดเสี่ยงต่างๆ”

นายศักดิ์สิทธิ์ สกุลลิขเรศสีมา กล่าวว่า “เมื่อก่อนเราตรวจกันตลอด หากที่ใดไม่มีก็จะสั่งให้มี แต่ถ้าไม่ทำตามก็ต้องสั่งให้หยุด ในช่วงหลังเราอ่อนเกินไป ไม่มีความเข้มงวด ดังนั้น เทศบาลฯ จะต้องเข้มงวดทุกตลาด ไม่อย่างนั้นจะเป็นปัญหา ในผู้ติดเชื้อทั้งหมด ๒๖๐ คน มีการกระจายไปทั่วเหมือนผึ้งแตกรัง ในส่วนของข้อมูลทะเบียนคนในตลาด ไม่รวมผู้ใช้บริการ ข้อเท็จจริงมีแค่พันกว่าคนจริงหรือไม่ จะต้องมีการสอบสวนเชิงรุกว่า ความจริงแล้วมีมากน้อยเพียงใด เพราะมีพ่อค้าแม่ค้าส่วนหนึ่งที่ไปตรวจกับโรงพยาบาล แต่เมื่อมาเช็ครายชื่อกับตลาด ปรากฏว่า ไม่มีรายชื่อ แล้วข้อมูลรายชื่อที่ส่งมาจะน่าเชื่อถือได้เพียงใด เมื่อเห็นข้อมูลจะต้องวิเคราะห์และเชื่อมโยงข้อมูล หากพ่อค้าแม่ค้าที่ไปตรวจกับโรงพยาบาลไม่มีรายชื่อในตลาด ต้องตั้งข้อสังเกตแล้วว่า ข้อมูลที่ให้มาไม่สมบูรณ์ แสดงว่าตลาดไม่ได้ทำข้อมูลที่แท้จริงให้กับส่วนราชการ หากข้อมูลตั้งต้นถูกต้อง ก็จะสามารถตามได้ว่า ใครอยู่ที่ไหน ไม่ว่าจะมีคนมากเพียงใดก็ต้องสอบสวน จะได้ทราบว่า ใครคือกลุ่มเสี่ยง ตลาดไม่เหมือนโรงงาน เพราะโรงงานเขาสามารถทำ Bubble and Seal ได้ เมื่อทำแล้วคนงานจะนิ่ง อยู่ในระบบที่กำหนดไว้ แต่ตลาดเมื่อประกาศปิด ก็ไม่รู้จะไปไหน กลายเป็นผึ้งแตกรัง ตัวใครตัวมัน กระจายไปพื้นที่ต่างๆ แต่ถ้าเรามีข้อมูลที่ชัดเจน อย่างน้อยก็ยังแจ้งไปยังพื้นที่ตามตัวได้ รวมทั้งผู้ใช้บริการด้วย แต่ก่อนผมก็ชอบเข้าไปซื้อของ เพราะผลไม้ราคาถูก แต่ปัจจุบันไม่ไปแล้ว เพราะปัญหาเยอะ ดังนั้น ข้อมูลจะต้องไปตรวจสอบว่า ตลาดเก็บเงินวันละกี่แผง มีใบเสร็จอยู่แล้ว และการเข้ามาค้าขายในตลาดทำไมไม่ลงทะเบียน เรื่องเหล่านี้สำคัญ และชาวบ้านติดตามกันอยู่ ขณะนี้ข้อมูลยังเป็นปัญหา ข้อมูลไม่ชัดเจน และไม่ปฏิบัติตามรูปแบบ แล้วมาตรการที่จะเปิดวันนี้มีอะไรบ้าง เพราะวันที่จะปิดครบ ๓ วันแล้ว”

นายไกรสีห์ หล่อธราประเสริฐ กล่าวว่า “เบื้องต้นมาตรการที่ตลาดนำเสนอกับเทศบาลฯ โดยเสนอการตรวจคัดกรองผู้ที่จะเข้าไปขายของ ด้วยการใช้ผลการตรวจ RT-PCR จากนั้นจึงจะอนุญาตให้เข้าไปค้าขาย แต่เมื่อเช้าได้ประสานกับตลาดแล้ว พบว่า มีเพียง ๖ รายเท่านั้นที่ยื่นผลการตรวจ จึงประสานกับตลาดให้ลงทะเบียนว่า มีการนำผลการตรวจมาเสนอหรือไม่ โดยวันนี้จะมีการนำเสนอมาตรการต่อที่ประชุม และชะลอพ่อค้าแม่ค้าที่จะเข้าพื้นที่ เพื่อรอความชัดเจนจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดก่อน”

เสนอปิดตลาด ๑๔ วัน

นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา กล่าวว่า “เนื่องจากว่าตลาดเป็นเรื่องของคนส่วนใหญ่ที่จะต้องใช้ โดยเฉพาะตลาดใหญ่ในเมือง เมื่อมีการระบาดแล้ว มีโอกาสที่จะกระจายทั้งจังหวัดและจังหวัดใกล้เคียง จะเห็นตัวอย่างจากตลาดในพื้นที่ปริมณฑลหรือแม้แต่กรุงเทพฯ ที่มีการปิดแคมป์คนงาน ทำให้คนมีการกระจายไปพื้นที่ต่างๆ และนำเชื้อแพร่ระบาดไปยังจังหวัดต่างๆ ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งในเรื่องข้อมูล จะต้องมีการลงทะเบียน โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้าที่ใช้แผงขายสินค้าที่อยู่ในตลาด ส่วนในเรื่องของผู้ใช้บริการ จะต้องทำในเรื่อง D-M-H-T-T-A และตรวจสอบว่า มีการทำตามมาตรการถูกต้องหรือไม่ เมื่อมีการระบาดมากขนาดนี้ ต่อไปคงต้องใช้มาตรการป้องกันและแก้ไข สำหรับคนที่กระจายไปพื้นที่ต่างๆ เราต้องแจ้งไปอำเภอว่า พ่อค้าแม่ค้าที่มาจากตลาดสุรนารีหรือประชาชนที่มีไทม์ใลน์เกี่ยวข้อง ให้ตรวจคัดกรองสุขภาพตัวเอง โดยติดต่อกับอำเภอเพื่อขอตรวจ ATK ได้ทันที หากไม่สะดวกสามารถติดต่อที่จังหวัดก็ได้ เจ้าหน้าที่จะประสานให้เข้ารับการตรวจ เพื่อช่วยให้สถานการณ์ต่างๆ ดีขึ้น และจากการติดตามสถานการณ์ ดูเว่าหมือนว่า ตลาดสุรนารีอาจจะมีคนติดเชื้อแฝงและไม่เข้ารับการตรวจอีกมาก ผมจึงขอเสนอมาตรการว่า ควรจะขยับการปิดตลาดออกไปให้ครบ ๑๔ วัน เพื่อให้คนที่เขาปลอดภัยยังมีความปลอดภัยก่อน ส่วนคนที่ตรวจพบเชื้อก็เข้ารับการรักษา เมื่อครบ ๑๔ วัน อยากให้ตลาดมีมาตรการตรวจซ้ำอีกรอบ เมื่อตรวจเสร็จจะต้องประสานกับโรงพยาบาลหรืออำเภอว่า จะนำคนเหล่านี้ไปไว้ที่ไหน เช่น จุดพักคอย หรือมีผลบวกจะเข้ารับการรักษาที่ใด ขณะนี้การค้นหาเชิงรุกควรจะทำทุกที่ โดยเฉพาะที่ตลาด ดังนั้น ขอเสนอที่ประชุมว่า ควรจะขยายการปิดตลาดให้ครบ ๑๔ วัน”

นพ.ธีรวัฒน์ วิลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมโรคที่ ๙ (สคร.๙) กล่าวเสริมว่า “ขณะนี้มาถึงระยะในการควบคุมโรคแล้ว ซึ่งในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อเพียงร้อยละ ๕ จากจำนวนคนในตลาด จึงสั่งปิดตามเกณฑ์ของกรมอนามัยได้ ๓ วัน แต่วันนี้มีการติดเชื้อ ๒๖๐ คน หากคิดง่ายๆ ก็น่าจะเกินร้อยละ ๑๐ แล้ว ซึ่งตามมาตรการเข้มเพื่อควบคุมตลาดสด มีกฏหมายมาตรา ๔๕ ข้อ ๒๖ ระบุไว้ชัดเจนว่า ถ้ามีผู้ติดเชื้อมากกว่าร้อยละ ๑๐ ให้ปิดตลาดต่อไปจนครบ ๑๔ วัน จากสถานการณ์ของคลัสเตอร์ตลาดสุรนารี มีการขยาย ๔ วง ผู้ป่วย ๒๖๐ คน ดังนั้น ชัดเจนในแง่ของกฎหมายและมาตรการ”

สั่งปิดตลาดสุรนารี ๑๔ วัน

จากนั้นในช่วงบ่ายวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๖๔ นายกอบชัย บุญอรณะ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เจ้าพนักงานควบคุมโรค ได้ลงนามในคําสั่งจังหวัดนครราชสีมา ๙๒๗๑/๒๕๖๔ เรื่อง ปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ของโรคติดต่ออันตราย โดยระบุว่า ด้วยปรากฏว่า เมื่อวันที่ ๘ และวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๔ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ได้รับผู้ป่วยด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙(โควิด-๑๙) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการค้าในตลาดสุรนารี ตําบลในเมือง อําเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เข้ารับการรักษาพยาบาล จํานวน ๖ ราย เทศบาลนครนครราชสีมา จึงได้ดําเนินการตรวจเชิงรุกเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ เพิ่มเติมภายในตลาดสุรนารี ระหว่างวันที่ ๑๐ ถึงวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๔ จากการคัดกรองเชิงรุก พบผู้ติดเชื้อโควิด-๑๙ วันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๖๔ จํานวน ๑๙ ราย วันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๔ จํานวน ๔๖ ราย และยังมีประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดโรคเป็นจํานวนมาก ปัจจุบันพบผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด-๑๙ จํานวน ๒๖๐ ราย แบ่งเป็นผู้ค้าขายในตลาด ๑๐๖ ราย ผู้สัมผัสกับกลุ่มผู้ค้าขายในตลาด ๑๕๔ ราย และมีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น จึงมีความจําเป็นที่ต้องควบคุมโรคโควิด-๑๙ ในพื้นที่ตลาดสุรนารีให้ได้โดยเร็ว เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อประชาชน จึงอาศัยอํานาจตามความในข้อ ๗ (๑) ตามข้อกําหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่ง พระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๑) ลงวันที่ ๒๕ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๓ ข้อ ๑๐ ตามข้อกําหนดออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราชกําหนดการ บริหารราชการ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ (ฉบับที่ ๓๐) ลงวันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๔ ข้อกําหนด ออกตามความในมาตรา ๙ แห่งพระราช กําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๕๘ (ฉบับที่ ๓๒) ลงวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๔ มาตรา ๕๒/๑ และมาตรา ๕๔ แห่งพระราชบัญญัติ ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๓๔ ประกอบมาตรา ๓๕ แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.๒๕๕๘ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา ตามมติที่ประชุมครั้งที่ ๑๓๘/๒๕๖๔ เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๔ จึงให้ดําเนินการ ดังนี้ ๑.ให้ปิดตลาดสุรนารี ตําบลในเมือง อําเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ๒. ห้ามมิให้ผู้ใดเข้าหรือออกพื้นที่ตามข้อ ๑ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เนื่องจากเป็นกรณีที่มีความจําเป็นรีบด่วน หากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดผลเสียหายอย่างร้ายแรงแก่สาธารณชน หรือกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่อาจให้คู่กรณีใช้สิทธิโต้แย้ง ตามมาตรา ๓๐ วรรคสอง (๑) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ หากผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งนี้ มีความผิดตามมาตรา ๑๘ แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.๒๕๔๘ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี หรือ ปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และมีความผิดตามมาตรา ๕๒ แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.๒๕๕๘ ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๑๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๔ เวลา ๑๔.๐๐ นาฬิกา ถึงวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๖๔ เวลา ๑๔.๐๐ นาฬิกา

อนึ่ง มีรายงานว่า ตลาดสุรนารีชื่อเดิมตลาดสุรนคร มีปัญหาพิพาทระหว่างกลุ่มทายาทเจ้าของที่ดินกับผู้เช่า เพื่อครอบครองกิจการดูแลผลประโยชน์ต่อเดือนหลายล้านบาท รวมทั้งปัญหาใบอนุญาตประกอบกิจการ การจัดการขยะมูลฝอยและน้ำทิ้งไม่ถูกหลักสุขาภิบาล เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา สิ้นสุดสัญญาเช่า ๓๐ ปี กลุ่มทายาทเข้ามาบริหารแทนก็ยังมีปัญหาฟ้องร้องกันอีก โดยมีการร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๖๙๖ วันพุธที่ ๑๕ - วันอังคารที่ ๒๑ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๔


1027 1376