29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

December 30,2021

ดันคลัสเตอร์โคไทยวากิวครบวงจร ‘อินชา บีฟ’ ร่วมมือ “มทส.” วิจัยพัฒนาเพื่อคุณภาพการผลิต

มทส.ลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับ บริษัท อินชา บีฟ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเนื้อโคไทยวากิว เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางด้านการวิจัยพัฒนาและสร้างระบบนิเวศด้านการผลิตโคไทยวากิว ให้เป็นอาหารปลอดภัยตลอดห่วงโซ่การผลิต 

เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๖๔ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) โดย รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดี มทส. ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการในการวิจัยพัฒนาและสร้างระบบนิเวศด้านโคไทยวากิวตลอดห่วงโซ่การผลิต ร่วมกับ บริษัท อินชา บีฟ จำกัด โดยนายหยับคานเพียรรักษ์ กรรมการผู้จัดการ โดยมีคณะผู้บริหารของ มทส. และบริษัท อินชา บีฟ จำกัด รวมทั้งสมาชิกโครงการจัดตั้งสมาคมผู้บำรุงพันธุ์โคไทยวากิว เกษตรกรที่เป็นสมาชิกวิสาหกิจชุมชนโคขุนสุรินทร์โกเบครบวงจรตำบลสลักได วิสาหกิจชุมชนลุ่มน้ำเจ้าพระยา และสหกรณ์โคนมสวนมะเดื่อ ร่วมในพิธี ณ ห้องประชุมสารนิเทศ อาคารบริหาร มทส. 

รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดี มทส. กล่าวว่า “ความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง มทส. กับ บริษัท อินชา บีฟ จำกัด ในครั้งนี้ นับเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางด้านการวิจัยพัฒนาและสร้างระบบนิเวศด้านการผลิตโคไทยวากิว เพื่อให้เป็นอาหารปลอดภัยตลอดห่วงโซ่การผลิตระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อนำไปสู่การเกิดประโยชน์ร่วมกันอย่างแท้จริง โดยเปิดโอกาสให้เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ต่างๆ ในประเทศไทย สามารถเข้าถึงทุกกระบวนการในการผลิตโคไทยวากิว เพื่อนำนวัตกรรมที่มหาวิทยาลัยมีอยู่ ตลอดจนองค์ความรู้ที่จะเกิดจากการทำงานวิจัยร่วมกันระหว่าง มทส. และบริษัท อินชา บีฟ จำกัด  ไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาชุมชุน สังคมให้มีความเจริญอย่างยั่งยืน” 

 

ศาสตราจารย์ ดร.หนึ่ง เตียอำรุง คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส. กล่าวว่า “สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร โดย รองศาสตราจารย์ ดร.รังสรรค์ พาลพ่าย อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ ได้เริ่มวิจัยปรับปรุงพันธุ์โควากิวในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๘ ตลอดช่วงเวลา ๑๐ ปีแรก สามารถผลิตโควากิวรุ่นที่ ๑ ที่มีเลือดโควากิว ๕๐% จนถึงรุ่นที่ ๓ ที่มีเลือดโควากิว ๘๗.๕% เมื่อนำโคที่ผลิตได้มาขุนด้วยสูตรอาหารและกระบวนการขุนที่ได้จากการวิจัย ทำให้มีเกรดไขมันแทรกระหว่าง ๓-๘ มีคุณภาพและความอร่อยไม่แพ้เนื้อโควากิวนำเข้า เกษตรกรสามารถจำหน่ายโคขุนเสร็จแล้วได้ตัวละ ๑๐๐,๐๐๐-๑๘๐,๐๐๐ บาท กำไรจากการขุนโคตัวละ ๓๐,๐๐๐-๘๐,๐๐๐ บาท สามารถสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิต ซึ่งโคที่ปรับปรุงพันธุ์ขึ้นนี้ได้รับการตั้งชื่อว่า “โคโคราชวากิว” โดยได้จัดการอบรมวิธีการปรับปรุงพันธุ์และการขุน   โควากิวให้เกษตรกรไปแล้วมากกว่า ๕,๐๐๐ ราย มีการขยายการเลี้ยงไปทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือและได้รับการตั้งชื่อว่า “โคอีสาน วากิว” ถึงปัจจุบันมีการขยายการเลี้ยงไปทั่วทุกภาคของประเทศไทยและได้รับการตั้งชื่อว่า “โคไทยวากิว” ตามลำดับ  

ในปีงบประมาณ ๒๕๖๒ มทส. ได้รับงบประมาณจากรัฐบาล ๖๐ ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารปฏิบัติการชำแหละแลตัดแต่งเนื้อโคมาตรฐาน GMP และฮาราลเพื่อการส่งออก มีระบบโซลาเซลล์เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน รวมถึงคอกขุนโควากิวอัจฉริยะ มีเครื่องจักรผสมอาหารทีเอ็มอาร์ที่มีคุณภาพสูง ต้นทุนต่ำ เพื่อขุนโควากิวให้มีกำไรเพิ่มขึ้น พร้อมระบบสืบย้อนกลับรองรับการลงทะเบียนโค ๕๐ ล้านตัว ทั้งนี้ มทส. และบริษัท อินชา บีพ จำกัด ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาชุมชุนสังคมอย่างยั่งยืน จึงจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้ขึ้น ในการร่วมมือกันวิจัยพัฒนาและสร้างระบบนิเวศด้านการผลิตโคไทยวากิวเพื่อให้เป็นอาหารปลอดภัยตลอดห่วงโซ่การผลิต เกิดเป็น “คลัสเตอร์โคไทยวากิว” รวมทั้งผลักดันการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมการผลิตเนื้อโคเกรดพรีเมียมที่ มทส. มีองค์ความรู้พร้อมใช้ ได้แก่ การตรวจยีนควบคุมไขมันแทรกและเนื้อนุ่มในพ่อแม่พันธุ์และลูกโคก่อนเข้าขุน การผลิตสารชีวภาพเสริมอาหารขุนโคเพื่อทำให้มีไขมันแทรกมากขึ้น การใช้ปัญญาประดิษฐ์ตัดเกรดเนื้อโควากิว การตรวจโรคและสารปนเปื้อนโคทุกตัวเพื่อออกใบรับรองอาหารปลอดภัยให้กับเนื้อโคผ่านระบบสืบย้อนกลับ 

สำหรับบริษัท อินชา บีพ จำกัด ดำเนินธุรกิจฟาร์มโคเนื้อ รวมถึงการผลิตเนื้อโคฮาลาลที่มีมาตรฐานการชำแหละ ตัดแต่ง บรรจุภัณฑ์ระดับสากล มีความเชี่ยวชาญสูงในการทำตลาดเนื้อโค โดยเฉพาะโคไทยวากิว ทั้งค้าปลีก ค้าส่ง ครอบคลุมทุกตลาด โดยความร่วมมือการวิจัยครั้งนี้เปิดโอกาสให้เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ต่างๆ ในไทย เข้าถึงทุกกระบวนการในการผลิตโคไทยวากิว ตลอดจนส่งเสริมการเป็นผู้ประกอบการในการทำตลาดทั้งออฟไลน์และออนไลน์โดยผู้เชี่ยวชาญด้าน start up มีศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร สำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มทส. ทำหน้าที่ขับเคลื่อนและเชื่อมโยงงานวิจัยนี้ร่วมกับบริษัท อินชา บีพ จำกัด โดยภายใน ๓ ปีข้างหน้า มีเป้าหมายรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในการผลิตโคไทยวากิวสำหรับทำฐานข้อมูลใหญ่ หรือ Big Data อันเป็นหัวใจสำคัญของทุกขั้นตอนการขุนโคไทยวากิวให้สามารถการันตีเกรดไขมันแทรกโคทุกตัว เพื่อให้เกษตรกรนำไปใช้ประโยชน์ในการผลิตโคไทยวากิวอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๐๙ วันพุธที่ ๒๙ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ - วันอังคารที่ ๑๑ เดือนมกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๕


983 1650