20thApril

20thApril

20thApril

 

January 24,2022

คืบหน้าทุบตึกแถวข้างศาลหลักเมือง สร้าง“พระบรมราชานุสาวรีย์พระนารายณ์ฯ”

ขอคืนพื้นที่ตึกแถว เนรมิตแลนด์มาร์ค “พระบรมราชานุสาวรีย์ พระนารายณ์มหาราช” เชื่อมศาลหลักเมือง เตรียมจัดงาน “สถาปนาเมืองนครราชสีมา” เป็นกิจกรรมประจำปี

เมื่อเวลา ๐๙.๐๐ น. วันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๖๕ ที่บริเวณศาลหลักเมือง เขตเทศบาลนครนครราชสีมา รถแบคโฮหรือรถขุดตักได้เข้ารื้อถอนอาคารพาณิชย์ขนาด ๒ ชั้นครึ่ง ที่เหลืออยู่จำนวน ๕ คูหา ริมถนนประจักษ์ โดยอาคารเหล่านี้ครบกำหนดสัญญาเช่า ๓๐ ปี จึงถือเป็นทรัพย์สินของวัดพระนารายณ์มหาราชวรวิหาร หรือวัดกลางนคร เพื่อเตรียมดำเนินโครงการจัดสร้างลานและฐาน “พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนารายณ์มหาราช” ตามที่กรมศิลปากรเห็นชอบและมีเงื่อนไขสำคัญ เพื่อความสง่างามและสมพระเกียรติ ห้ามมิให้มีสิ่งปลูกสร้างบดบังอย่างเด็ดขาด

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ คือเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๖๔ จังหวัดนครราชสีมาและคณะกรรมการศาลหลักเมืองรวมทั้งวัดพระนารายณ์ได้ขอคืนพื้นที่โดยเข้ารื้อถอนอาคารพาณิชย์บริเวณข้างศาลหลักเมือง จากการตรวจสอบวิศวกรรมโยธาตัวอาคารมีอายุกว่า ๕๐ ปี จึงหมดสภาพการใช้งานและมีอันตรายด้านโครงสร้าง ขณะนี้ขั้นตอนการออกแบบ “พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช” เสร็จสมบูรณ์ หากชาวโคราชได้เห็นแบบจะภูมิใจมาก ในอนาคตจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาชมวัดพระนารายณ์และรูปหล่อองค์พระนารายณ์ออกแบบโดยคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) รวมทั้งศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์เมืองเก่าโคราช

“การก่อสร้างแยกเป็น ๒ ส่วนคือโรงหล่อองค์ “สมเด็จพระนารายณ์ฯ” และวัดพระนารายณ์ฯ ปรับภูมิทัศน์สร้างฐานใช้งบประมาณกว่า ๑๐ ล้านบาท ส่วน “ศาลหลักเมือง” มีแนวคิดยกสูงขึ้นอีกประมาณ ๓ เมตร ให้ดูเด่นสง่าพร้อมขยายพื้นที่ให้กว้างเพื่อเชื่อมไปยัง “พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช” ให้เป็นแลนด์มาร์คประวัติศาสตร์แห่งใหม่ต่อจากอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) กำหนดแล้วเสร็จประมาณปี ๒๕๖๖ ในระหว่างนี้ตนได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ค้นหาประวัติศาสตร์อีกครั้ง เพื่อหาวันและเดือนจัดงาน “สถาปนาเมืองนครราชสีมา” เป็นกิจกรรมประจำปีคู่กับ “งานฉลองวันแห่งชัยชนะท้าวสุรนารี” ที่จัดขึ้นวันที่ ๒๓ มีนาคมถึงวันที่ ๓ เมษายนของทุกปี ซึ่งโคราชจะมีงานประจำปีเพิ่มขึ้น” นายวิเชียร กล่าว

ทั้งนี้ ศาลหลักเมืองนครราชสีมา จัดสร้างขึ้นเมื่อครั้งสร้างเมืองนครราชสีมาระหว่างปี พ.ศ.๒๑๙๙-๒๒๓๑ ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อมาเจ้าอนุวงศ์ได้ยกกองทัพมายึดเมืองนครราชสีมา เมื่อ พ.ศ.๒๓๖๙ และได้ทำลายเสาหลักเมือง โดยโค่นล้มเสาหลักเมือง จากการเล่าสู่กันมา นายแก้ว เพชรโสภณ คนดูแลศาลระบุว่า เดิมเป็นศาลไม้เล็กๆ มีเสา ๖ ต้น ปลูกเป็นโรงเรือน พื้นเป็นดิน หลังคามุงสังกะสีฝากระดานเกร็ด มีประตู ๑ ประตู เสาหลักเมืองถูกแขวนโยงไว้ด้วยเชือกหนัง ทั้งหัวเสาและโคนเสา โดยหันหัวเสาไปทางประตูไชยณรงค์ หรือประตูผี ด้านทิศใต้ ส่วนโคนเสาอยู่ทางทิศเหนือ สภาพภายในค่อนข้างมืดสลัว มีกลิ่นหอมธูปเทียนอบอวล บริเวณหน้าศาลเป็นโคลน มีต้นจันทน์ปลูกเรียงรายตามถนน มีเสาหลักร้อย (เสาหลักแรกของเมืองนครราชสีมา ปักไว้ฝั่งตรงข้ามถนน) เสานี้จะปักไว้ข้างถนนเป็นระยะจนถึงบ้านหลักร้อย ทางทิศตะวันตกของศาลเป็นป่า มีโรงหนัง โรงลิเก คนเมืองนครราชสีมานับถือศาลหลักเมืองนี้มาก คนผ่านไปมาจะต้องกราบไหว้ โดยเฉพาะเกวียนเทียมวัว ถ้าไม่กราบไหว้เกวียนจะติดหล่ม วัวจะล้มลุกเดินไปไม่ได้จนกว่าจะเซ่นไหว้เสียก่อน ในการเสด็จพระราชดำเนินโดยรถไฟ ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ร.ศ.๑๑๙ ทรงได้ทอดพระเนตรศาลหลักเมือง ทรงจุดเทียนบูชาเทพารักษ์ แล้วเสด็จทรงม้าพระที่นั่งกลับทางประตูชุมพล ต่อมาเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๔๖ (ร.ศ.๑๒๒) พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมาทรงสังเวย ขณะนั้นพระองค์ทรงดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมาร เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖ ประชาชนพ่อค้า ข้าราชการ ได้ร่วมกันสร้างศาลขึ้นใหม่แทนศาลเดิมซึ่งสร้างด้วยไม้ได้ชำรุดทรุดโทรมลง เมื่อสร้างเสร็จแล้วได้ทำพิธีอัญเชิญขึ้นศาลใหม่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯมาทำพิธีสังเวย เมื่อวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๐๖ เวลา ๐๙.๓๐ น. และกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ ๓ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๐ ศาลหลักเมืองจังหวัดนครราชสีมา ตั้งอยู่ที่ถนนจอมพล ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๑๑ วันพุธที่ ๑๙ - วันอังคารที่ ๒๕ เดือนมกราคม พุทธศักราช  ๒๕๖๕


1012 1396