19thApril

19thApril

19thApril

 

February 25,2022

‘นกแอร์’ยังไม่ได้ข้อสรุป ‘โคราช-เชียงใหม่-ภูเก็ต’ ขอหารือความชัดเจนก่อน

ผู้บริหารสายการบินนกแอร์เตรียมเยือนโคราชอีกครั้ง หารือร่วมกับผู้ว่าฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังได้รับอนุญาตเปิดทำการบินสู่โคราช ๓ เส้นทาง “เชียงใหม่ ภูเก็ต หาดใหญ่” แต่ยังไม่ได้ระบุว่าจะบินจริงช่วงไหน ขอดูเงื่อนไขต่างๆ ที่เสนอก่อน เพราะที่ผ่านมามี ๕ สายการบินที่ไม่ประสบความสำเร็จ รวมทั้งประเด็นไม่ให้สายการบินอื่นมาทับเส้นทาง เพราะนกแอร์เคยเจอมาแล้ว ด้านผอ.ท่าอากาศยานยืนยันพร้อมรับเส้นทางบินข้ามภาค แต่ไม่ได้เมินกรุงเทพฯ-โคราช

ตามที่บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) นำโดยนายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) มีแผนเปิดเส้นทางการบินเส้นทางในประเทศโดยเฉพาะในเมืองรองต่างๆ ซึ่งมีเส้นทางบินในจังหวัดนครราชสีมารวมอยู่ด้วย ในช่วงกลางปี ๒๕๖๕ โดยมีเส้นทางการบินนครราชสีมา-เชียงใหม่ และเส้นทางนครราชสีมา-หาดใหญ่ หรือภูเก็ต เพื่อใช้เป็นศูนย์กลางทางการบินเชื่อมไปยังภาคเหนือและภาคใต้ เนื่องจากปัจจุบันการเดินทางด้วยรถจากภาคอีสานไปยังภาคใต้ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า ๑๓ ชั่วโมง โดยคาดว่าการเปิดจุดบินครั้งนี้จะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้โดยสาร เพราะจะอำนวยความสะดวกให้ผู้โดยสารจากนครราชสีมา ซึ่งมีประชากรจำนวนมาก ไม่ต้องนั่งรถมายังดอนเมือง เพื่อต่อเครื่องไปยังภาคเหนือ หรือภาคใต้ ซึ่งเมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินนกแอร์ เดินทางมายังท่าอากาศยานนครราชสีมา พร้อม นายประวัติ ดวงกันยา อดีตผู้อำนวยการท่าอากาศยานนครราชสีมา (เกษียณอายุราชการในตำแหน่ง ผอ.ท่าอากาศยานลำปาง) เพื่อหารือในด้านต่างๆ โดยมีนายเสกสรรค์ ขวัญวงศ์ รักษาราชการแทน ผู้อำนวยการท่าอากาศยานนครราชสีมา ให้การต้อนรับและสรุปข้อมูลของท่าอากาศยานนครราชสีมาให้รับทราบ

ต่อมาวันที่ ๒๑ มกราคม ๒๕๖๕ นายเสกสรรค์ ขวัญวงค์ ซึ่งย้ายจากตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการท่าอากาศยานนครราชสีมา ไปดำรงตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการท่าอากาศยานอุบลราชธานี เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๖๕ ได้เกษียนหนังสือรับทราบในหนังสือจากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ลงวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ ลงนามโดยนายศรัณย เบ็ญจรัตน์ รองผู้อำนวยการ ปฏิบัติการแทนผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ซึ่งส่งถึงประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) เรื่องการจัดสรรเส้นทางการบินภายในประเทศเพิ่มเติม พร้อมทั้งอ้างถึงหนังสือบริษัท สายการบินนกแอร์ จํากัด (มหาชน) ที่ BX087/2564 BX089/2564 ลงวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๖๔ ที่ BX112/2564 ลงวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๖๔ และ ที่ PA21/10-085 ลงวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๔ โดยมี ๓ เส้นทางบินมานครราชสีมาที่ได้รับอนุญาตคือเชียงใหม่-นครราชสีมา และกลับ, นครราชสีมา-ภูเก็ต และกลับ และนครราชสีมา-หาดใหญ่ และกลับ สัปดาห์ละ ๗ เที่ยวบิน โดยในวันเสาร์ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) จะนำคณะเข้าหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ตามที่ “โคราชคนอีสาน” เสนอข่าวอย่างต่อเนื่องนั้น

นายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน)

นกแอร์’หารือวิเชียร

ล่าสุดเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ “โคราชคนอีสาน” สอบถามนายวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ถึงภารกิจการเดินทางมายังจังหวัดนครราชสีมาในวันเสาร์ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ เพื่อหารือร่วมกับนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับการเปิดเผยว่า “ในวันเสาร์นี้ยังเป็นการนัดหารือแนวทางเบื้องต้นถึงความเป็นไปได้ ยังไม่ได้จะบินจริงๆ เนื่องจากว่าที่ผ่านมา มีมากกว่า ๕ สายการบินไม่ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติการการบินที่สนามบินนี้ ดังนั้น นกแอร์จึงเตรียมขอความอนุเคราะห์ในหลายๆ ด้าน เพื่อให้สามารถทำการปฏิบัติการบินที่โคราชได้ ในส่วนของเส้นทางที่นกแอร์มีความสนใจก็เป็นตามข่าวที่เสนอกัน คือ เชียงใหม่-โคราช ส่วนภูเก็ต-โคราช ที่มีความต้องการการเดินทางแต่ยังต้องดูเรื่องของราคาค่าบัตรโดยสาร ที่สัมพันธ์กับต้นทุนต่างๆ เช่น ค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน ค่าธรรมเนียมวิทยุการบิน ค่าภาษีสรรพสามิต รวมถึงการเติมน้ำมันในสถานีที่ห่างไกลทำให้ต้นทุนสูง ส่วนเส้นทางหาดใหญ่ นครศรีธรรมราช เชียงราย รวมถึงดอนเมือง นั้นจะอยู่ในช่วงถัดมาเนื่องจากยังไม่เห็น Demand การเดินทางโดยเครื่องบินที่ชัดเจน แต่ถ้าหากได้รับการสนับสนุนอนุเคราะห์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการบินของทางภาครัฐ และภาคเอกชนก็จะสามารถตัดสินไปทำการบินในเส้นทางต่างๆ ได้ง่ายขึ้น”

สำหรับเรื่อง Slot เวลาต่างๆ นั้น นายวุฒิภูมิระบุว่า “ยังไม่ได้ขอไว้ แต่ไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องยาก เนื่องจาก Traffic ไม่ได้หนาแน่น และทางสายการบินนกแอร์ก็ได้รับอนุญาตให้ปฏิบัติการบินโคราช-เชียงใหม่แล้ว”

ทั้งนี้ ในส่วนประเด็นที่นกแอร์ขอสิทธิปฏิบัติการการบินเป็นเวลา ๗ ปีในเส้นทางที่ได้รับอนุญาตโดยไม่ให้สายการบินอื่นมาบินทับเส้นทางนั้น มีรายงานข่าวว่า ในการเปิดเส้นทางบินใหม่นั้น กว่าพฤติกรรมผู้เดินทางจะเปลี่ยนมาใช้เครื่องบิน ใช้ระยะเวลาพอสมควร ทำให้สายการบินจะขาดทุนในช่วงแรก แต่ถ้าตลาดพอไปได้แล้วก็จะมีสายการบินอื่นมาบินด้วย โดยที่ไม่มีต้นทุนใดๆ ซึ่งที่ผ่านมา นกแอร์เจอสถานการณ์เช่นนี้มาหลายเส้นทางแล้ว ดังนั้น ในการจะเปิดบินมาโคราชจึงต้องมีการเจรจาขอแนวทาง และความช่วยเหลือจากทางภาครัฐก่อน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นกแอร์จะขอความอนุเคราะห์จากภาครัฐนั้น จะมีทั้งภาษีสนามบิน ค่าจอดเครื่องบิน ค่าธรรมเนียมวิทยุการบิน และค่าภาษีน้ำมัน ต้องดูว่าจะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด เนื่องจากแต่ละประเภทไม่ได้ยื่นขอผ่านแค่หน่วยงานเดียว แต่แยกเป็นหลายหน่วยงาน แต่ทั้งนี้ จะมีการนำเสนอผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาเป็นการเบื้องต้นก่อน

สนามบินโคราชพร้อมรับ

ด้านนางสาวสุรีรัตน์ ทิพย์โยธา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการท่าอากาศยานนครราชสีมา เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า ท่าอากาศยานนครราชสีมา มีความพร้อมอยู่แล้วเรื่องรองรับสายการบินต่างๆ โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีความพร้อมในการต้อนรับสายการบินพาณิชย์ที่มากำลังจะเข้ามา สำหรับในเรื่องการขอยกเว้นภาษีต่างๆ นั้น จะเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย และประกาศกระทรวงคมนาคมอยู่แล้ว จะอนุมัติตามที่สายการบินเสนอมาได้หรือไม่นั้น ก็เป็นไปตามเงื่อนไขที่ราชการกำหนด

“สำหรับความต้องการของคนโคราชในการใช้บริการในเส้นทางการบินโคราช-เชียงใหม่นั้น โดยส่วนตัวคิดว่าคนโคราชมีความต้องการมาก เพราะว่าจะสนับสนุนการบินข้ามภาค คนโคราชไม่จำเป็นต้องเดินทางไปขึ้นเครื่องบินที่กรุงเทพฯ จะช่วยลดขั้นตอนและเวลาการเดินทาง เนื่องจากปกติคนที่จะเดินทางไปเชียงใหม่ จะต้องเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ก่อน เสียเวลา ๔-๕ ชั่วโมงในการเดินทางเข้ากรุงเทพฯ และยังต้องเสียค่าจอดรถด้วย แต่ถ้าโคราชมีการบินข้ามภาค จะสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่คนโคราชอย่างมาก และยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว เพราะจะมีคนจากภาคเหนือมาโคราชด้วย จะเป็นเรื่องที่ดีและสอดคล้องต่อความต้องการของคนโคราช” นางสาวสุรีรัตน์ กล่าว

นางสาวสุรีรัตน์ ทิพย์โยธา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการท่าอากาศยานนครราชสีมา

ไม่ได้มองข้ามกรุงเทพฯ-โคราช

นางสาวสุรีรัตน์ เปิดเผยอีกว่า การบินข้ามภาคทั้งทางเหนือและทางใต้ มีความเป็นไปได้สูงและมีประโยชน์เหมือนที่กล่าวข้างต้น การบินไปภาคใต้ จะใช้เวลาประมาณ ๑.๓๐ ชั่วโมง รวมเวลาเช็กอินที่สนามบินอีก ๑ ชั่วโมง เท่ากับใช้เวลาเดินทางข้ามภาคเพียง ๒.๓๐ ชั่วโมง จากเดิมที่ต้องนั่งรถไปภาคใต้ด้วยตนเอง อาจจะใช้เวลามากกว่า ๘ ชั่วโมง จึงคิดว่า การเดินทางข้ามภาคด้วยสายการบิน จะเป็นประโยชน์อย่างมาก เป็นเรื่องที่น่ายินดีถ้าโคราชจะมีสายการบินเปิดให้บริการ โดยเริ่มแรกอาจจะเน้นการบินข้ามภาคก่อน ในส่วนของเส้นทางโคราช-กรุงเทพฯ ก็ไม่ได้มองข้าม แต่จุดเริ่มต้นยังไม่ใช่ เพราะต้องเข้าใจว่า โคราช-กรุงเทพฯ เป็นเส้นทางที่การขนส่งทางบกมีความเข้มแข็งอยู่แล้ว แต่ในอนาคตสมมุติว่ามีเส้นทางการบินโคราช-กรุงเทพฯ เกิดขึ้น ก็จะเป็นทางเลือกให้กับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ภาคเอกชน และนักธุรกิจ ที่จะสามารถควบคุมเวลาในการเดินทางได้ จากเดิมที่จะต้องเดินทางด้วยรถยนต์ใช้เวลา ๔-๕ ชั่วโมง เขาก็จะควบคุมเวลาเหลือเพียง ๑ ชั่วโมง แต่สายการบินเองอาจจะต้องมองความสอดคล้องของช่วงเวลาที่ลูกค้าใช้บริการสำหรับเส้นทางนี้ ถ้าถามว่าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ คิดว่าเกิดขึ้นได้ และเป็นอีกเส้นทางการบินหนึ่งที่น่าจับตามอง แต่ยังไม่ใช่เป้าหมายที่จะทำเป็นเส้นทางแรกๆ”

ไม่ใช่สนามบินร้าง

“โครงสร้างพื้นฐานของท่าอากาศยานนครราชสีมาค่อนข้างดี ไม่มีอะไรที่จะต้องปรับปรุง เพราะท่าอากาศยานนครราชสีมาไม่ใช่สนามบินร้าง เพียงแต่ว่าไม่มีบริการสายการบินพาณิชย์ ทุกวันนี้มีเพียงโรงเรียนการบินที่เปิดสอน เป็นการให้บริการเชิงสังคม สร้างนักบิน เป็นเหมือนการปิดทองหลังพระ แต่การให้บริการพาณิชย์ก็เคยมี แต่ก็ต้องปิดตัวไป และช่วงหลังนี้ยังไม่เกิดในเรื่องของเชิงพาณิชย์ขึ้น ส่วนโครงสร้างพื้นฐานทุกอย่างมีความพร้อม ทั้งอาคารผู้โดยสารขาเข้าและขาออก รวมถึงส่วนบริการอื่นๆ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่จะมาเสริมในอนาคต หากสายการบินนกแอร์ยืนยันที่จะบินจริงๆ เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร หรือรถโดยสาร ซึ่งท่าอากาศยานจะต้องวางแผนในการร่วมงานของผู้ประกอบการต่างๆ โดยปกติสายการบินที่ได้รับอนุญาตเพิ่มเส้นทางบินจากสำนักงานการบินพลเรือนฯ สายการบินจะต้องยืนยันกับกรมท่าอากาศยาน ในการขอ Slot เวลาการบินว่า จะบินเส้นทางที่ได้รับอนุญาตเมื่อไหร่อย่างไร โดยปกติจะต้องขอก่อนอย่างน้อย ๒ เดือน ขณะนี้ตรวจสอบกับกรมฯ แล้วยังไม่ได้รับการขอเข้ามา” นางสาวสุรีรัตน์ กล่าว

สนามบินนอกเมืองเลี่ยงผลกระทบ

นอกจากนี้ นางสาวสุรีรัตน์ ทิพย์โยธา ยังแสดงความคิดเห็นเรื่องระยะทางจากตัวเมืองไปสู่สนามบินด้วยว่า “ในการวิเคราะห์สร้างสนามบิน สนามบินที่ห่างจากตัวเมือง ๓๐ กิโลเมตร เป็นไปตามมาตรฐาน เพราะถ้าสนามบินอยู่ในชุมชนจะเกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เช่น เสียง โดยในต่างประเทศหรือที่ไหนก็ตาม มีมาตรฐานในการสร้างสนามบินห่างจากเมือง ๓๐ กิโลเมตร เป็นไปตามข้อกำหนดอยู่แล้ว ดังนั้น สนามบินโคราชไม่ไกล ทั้งนี้เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ และทุกวันนี้ความเจริญทางถนน และการขนส่งสาธารณะก็กำลังจะเกิดขึ้นอีกมาก มีความสะดวกมาก และถ้าเกิดมีสายการบินเข้ามาจริงๆ ชุมชนโดยรอบจะเกิดการจ้างงาน เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนโดยรอบ ส่งผลต่อเศรษฐกิจของจังหวัด ซึ่งภาพรวมของจังหวัดจะดีมากขึ้นแน่นอน”

อนึ่ง ท่าอากาศยานนครราชสีมา กรมท่าอากาศยาน เปิดทำการบินเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๒๙ เดิมตั้งอยู่ในตัวเมืองโดยใช้ทางวิ่งและลานจอดร่วมกับกองทัพอากาศ (กองบิน ๑) ต่อมามีการสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออก ประมาณ ๒๖ กิโลเมตร มีพื้นที่ ๔,๓๒๕ ไร่ และเปิดใช้บริการใน ปี พ.ศ.๒๕๔๐ ซึ่งปัจจุบันท่าอากาศยานนครราชสีมา มีทางวิ่งขนาดความกว้าง ๔๕ เมตร ยาว ๒๑๐๐ เมตร ทางขับขนาดความกว้าง ๒๓ เมตร ยาว ๓๒๐ เมตร ลานจอดขนาดความกว้าง ๘๕ เมตร ยาว ๓๒๓ เมตร สามารถรองรับอากาศยานในเวลาเดียวกันแบบ Boeing 737 (B-737) จำนวน ๒ ลำ แบบ ATR-72 จำนวน ๒ ลำ และ Helicopter จำนวน ๔ ลำ


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๑๖ ประจำวันพุธที่ ๒๓ เดือนกุมภาพันธ์  - วันอังคารที่  ๑  เดือนมีนาคม พุทธศักราช  ๒๕๖๕


1009 1382