28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

March 05,2022

กังขา‘หอการค้าใจพระ’ ยกหนี้ให้อ้างพันธมิตร เซ็นทรัล ๒ แสน วีวัน ๕ แสน

จดหมายสนเท่ห์ร่อนไปทั่วเมือง สงสัยหอการค้ายกหนี้ให้อดีตประธานและเซ็นทรัล รวมยอด ๗ แสน ใครเป็นผู้มีอำนาจสั่งให้ยกหนี้ ด้านประธานหอฯ แจงไม่ใช่หนี้ เป็นเพียงเงินบริจาค เมื่อเจอวิกฤตโควิดก็เห็นใจและไม่ได้ทวง ส่วนสถานะการคลังปัจจุบันขาดทุนบ้างไม่ขาดทุนบ้าง เพราะกรรมการช่วยกัน อาจเป็นไปได้มีผู้ต้องการลดความน่าเชื่อถือและสร้างความแตกแยก ยืนยันโปร่งใส ตรวจสอบได้ ให้กก.ตรวจสอบภายในจัดการ

ยกหนี้ให้ ๗ แสน

ตามที่เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๕ มีการเผยแพร่จดหมายสนเท่ห์ ไม่ลงชื่อผู้ส่งระบุเพียงว่า “สมาชิกฯ ผู้ประกอบการรายเล็ก หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา” ส่งถึงกรรมการ และสมาชิกหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งสื่อมวลชน โดยจดหมายดังกล่าวลงวันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๕ ส่งถึง เรียน ประธานและคณะกรรมการตรวจสอบภายใน ประธานกิตติมศักดิ์ ผู้ตรวจสอบบัญชี และสมาชิกหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา เรื่อง การยกหนี้เงินสนับสนุนโครงการพันธมิตร ๗๐๐,๐๐๐ บาท โดยเนื้อหาระบุว่า

“ในฐานะสมาชิกฯ ผู้ประกอบการรายเล็กมีความสงสัยเรื่องการยกหนี้เงินสนับสนุนโครงการพันธมิตรที่ยังคงค้างชําระอยู่จํานวน ๗๐๐,๐๐๐ บาท โดยมีรายการดังนี้ ๑. ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา ๒๐๐,๐๐๐ บาท ๒.โรงแรมวีวันโคราช ๒๐๐,๐๐๐ บาท ๓.สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย นครราชสีมา ๒๐๐,๐๐๐ บาท และ ๔.บริษัท รุ่งเรือง ธ.วัฒนา จำกัด ๑๐๐,๐๐๐ บาท

“โดยได้นําเรื่องนี้ บรรจุเป็นวาระการประชุมรักษาการคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ครั้งที่ ๑๒/๒๕๖๓ วันพฤหัสบดีที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๓ เวลา ๑๓.๐๐ น. ณ ห้องประชุมอินทนากรวิวัฒน์ ชั้น ๔ หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ในระเบียบวาระที่ ๔ เรื่องเสนอเพื่อพิจารณา เป็นครั้งที่ ๑ และการประชุมรักษาการคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ครั้งที่ ๑/๒๕๖๐ วันอังคารที่ ๑๒ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๔ เวลา ๑๓.๐๐ น. ณ ห้องประชุมอินทนากรวิวัฒน์ ชั้น ๔ หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ในระเบียบวาระที่ ๔ เรื่องเสนอเพื่อพิจารณา เป็นครั้งที่ ๒ ในฐานะสมาชิกฯ ผู้ประกอบการรายเล็ก ขอสอบถามเรื่องการยกหนี้ดังกล่าว ดังต่อไปนี้ ๑.การยกหนี้เงินสนับสนุนโครงการพันธมิตรหอการค้าปี ๒๕๖๓ ทั้ง ๔ ราย การพิจารณาเป็นไปตามระเบียบปฏิบัติ และหลักธรรมาภิบาลของหอการค้าฯ หรือไม่ ๒.ใครคือผู้ที่มีอํานาจ หน้าที่ และรับผิดชอบในการพิจารณาเรื่องการยกหนี้ครั้งนี้ ๓.เมื่อยกหนี้ดังกล่าวแล้ว ได้แจ้งให้ลูกหนี้ทุกรายทราบหรือไม่ ๔.การดําเนินการนี้ ได้แจ้งข้อมูลให้ผู้ตรวจสอบบัญชีหอการค้าฯ รับทราบหรือไม่

“ในการนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจน โปร่งใส เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริหารหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา โดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กรหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา จึงขอให้ท่านได้โปรดพิจารณาตรวจสอบ การพิจารณายกเลิกหนี้ดังกล่าวนั้น เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติขององค์กรหอการค้าหรือไม่ และแจ้งให้แก่สมาชิกหอการค้าได้ทราบ”

ทั้งนี้ โรงแรมวีวันโคราชเป็นธุรกิจของนายชัชวาล วงศ์จร อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งยังดำรงตำแหน่งในสมาคมผู้นิยมพระเครื่องฯ อีกด้วย ส่วนบริษัท รุ่งเรือง ธ. วัฒนา จำกัด เป็นกิจการในครอบครัวของนายชัชวาลเช่นกัน

ยืนยันไม่ใช่การยกหนี้ให้

ต่อมาวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๖๕ “โคราชคนอีสาน” สอบถามนายศักดิ์ชัย ผลพานิชย์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเปิดเผยว่า “เงินสนับสนุนโครงการพันธมิตร คือ เงินที่ผู้มีจิตศรัทธา เห็นกิจกรรมของหอการค้ามีประโยชน์ต่อภาพรวมสังคมและเศรษฐกิจ จึงให้เงินสนับสนุนเป็นเงินให้เปล่าหรือเป็นเงินบริจาค เพื่อให้หอการค้านำเงินไปดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อสาธารณประโชยน์ ดูแลเศรษฐกิจของจังหวัดนครราชสีมา สนับสนุนกิจกรรมหอการค้า โดยไม่ได้ระบุว่าจะต้องทำอะไร ซึ่งมาจากพันธมิตรที่บริจาคให้ เป็นเงินบริจาคไม่ได้มีเงื่อนไขว่า จะต้องทำอะไรให้ผู้บริจาค เป็นเพียงเงินที่ผู้บริจาคต้องการมีส่วนร่วมกับหอการค้า”

“เมื่อปี ๒๕๖๓ ถ้าผมจำไม่ผิดน่าจะเป็นสมัยนายชัชวาล วงศ์จร เป็นประธานหอการค้าฯ เนื่องจากขณะนั้นมีวิกฤตโควิด-๑๙ เข้ามา แล้วเห็นใจผู้ประกอบการ ที่เคยบอกไว้ว่าจะให้เงินสนับสนุน เช่น ศูนย์การค้าเซ็นทรัลโคราช ถูกสั่งปิดในช่วงล็อกดาวน์ คณะกรรมการขณะนั้นก็เห็นว่า ไม่ควรไปรบกวน ไม่ควรไปดึงดันขอเงินสนับสนุน รวมถึงผู้ประกอบการรายอื่นๆ ด้วย และสมาคมพระเครื่อง ซึ่งปกติจะมีการจัดประกวดพระ แต่ไม่ได้จัด จึงไม่มีเงินให้ แต่เขาไม่ได้เป็นหนี้ เป็นเพียงเงินบริจาค การบริจาคไม่ใช่การสัญญาว่าจะบริจาคทุกปี ขึ้นอยู่กับผู้บริจาคว่า ปีนี้บริจาค ปีหน้าไม่บริจาคก็ได้ แล้วแต่ว่าจะศรัทธาหอการค้าในแต่ละปีว่า เขารู้จักกับใครอย่างไร ไม่ได้มีการสัญญาว่าจะต้องจ่ายทุกปี แม้กระทั่งปีนี้ผมก็ไม่ได้รับจากพันธมิตรเหล่านี้ ก็ไม่ได้ทวงถาม เพราะเป็นเงินบริจาค แล้วแต่ความศรัทธาของผู้ที่จะให้ ถ้าถามว่าเป็นการยกหนี้หรือไม่ ผมขอบอกว่า เขาไม่ได้เป็นหนี้เรา เป็นเพียงความประสงค์ว่า เขาจะบริจาค แต่ด้วยสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เขาไม่บริจาคก็ไม่เป็นอะไร” นายศักดิ์ชาย กล่าว

เมื่อสอบถามว่า ในปี ๒๕๖๓ นายชัชวาลเป็นประธานหอการค้าฯ และเป็นนายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องฯ จึงมีผู้สงสัยว่า จะเป็นการยกหนี้ให้ตัวเองหรือไม่ นายศักดิ์ชาย กล่าวยืนยันว่า “เป็นเงินบริจาคไม่ใช่การเป็นหนี้เขาเพียงต้องการบริจาค แต่ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้บริจาคไม่ได้ เพราะหลายหน่วยงานประสบกับวิกฤตโควิด-๑๙ เช่น เซ็นทรัลปิด ถ้าเรายังจะไปขอเงินเขาก็ไม่ใช่วิสัยของหอการค้า รวมถึงโรงแรมก็ต้องปิดตัวในสถานการณ์เช่นนี้ ไม่ใช่วิสัยที่จะไปทวง ขอชี้แจงว่า เขาไม่ได้เป็นหนี้เรา เขาแจ้งความประสงค์ว่าจะบริจาค แต่เขาไม่บริจาคเท่านั้นเอง เพราะสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ส่วนอำนาจการยกหนี้ก็ไม่มีเพราะเขาไม่ได้เป็นหนี้ ดังนั้นไม่ใช่การที่จะต้องยกหนี้ให้ ในสมัยผมก็ไม่มีการทวง ผมก็ไม่ได้รับ หอการค้ามีหน้าที่ทวงถามค่าบำรุงสมาชิกเท่านั้น”

นายศักดิ์ชัย ผลพานิชย์ ประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา

ไม่ขาดสภาพคล่อง

“สำหรับสถานะทางการเงินของหอการค้าฯ ในปัจจุบัน ไม่ถึงกับขาดสภาพคล่อง เพราะกรรมการหอแต่ละคนช่วยกัน เช่น บางคนจ่ายให้ส่วนนั้นหรือส่วนนี้ โดยที่ไม่ได้เรียกร้องหรือขอ เช่น กล้องถ่ายภาพ คอมพิวเตอร์ กรรมการก็ช่วยกันสนับสนุน เป็นการบริจาคให้โดยไม่หวังผลตอบแทน ส่วนประธานก็จ่ายเยอะหน่อย รายได้ของหอการค้าส่วนหนึ่งจะมาจากค่าเช่าสำนักงาน เช่น สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ซึ่งสถานะอาจจะขาดทุนบ้างไม่ขาดทุนบ้าง บางเดือนเก็บค่าสมาชิกได้มาก เดือนนั้นก็ไม่ขาดทุน ประธานคนที่ผ่านมาก็สะสมเงินไว้ส่วนหนึ่ง พอที่จะบริหารให้มีสภาพคล่องอยู่ได้ ถ้าถามว่าขาดทุนหรือไม่ก็อาจจะขาดทุน แต่ก็มีกรรมการช่วยๆ กัน ประคองกันไป” นายศักดิ์ชาย กล่าว

ยืนยันอีกเสียงไม่ใช่หนี้

ต่อมานายวีระศักดิ์ บุญเพลิง รองประธานฝ่ายกฎหมายและธรรมาภิบาล หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา โทรศัพท์มาชี้แจงกับ “โคราชคนอีสาน” ในกรณีนี้ว่า “กำลังให้เจ้าหน้าที่หอการค้าและผู้อำนวยการ นำบันทึกการประชุมคณะกรรมการหอการค้าในรอบปีที่ปรากฏอยู่ในหนังสือสนเท่ห์มาตรวจสอบว่า มีการบันทึกไว้หรือไม่ อย่างไร เพราะเรื่องนี้มีการคุยกันไว้ในรายละเอียดครบถ้วนหมดแล้วและบันทึกไว้ในรายงานการประชุม น่าเชื่อว่ามีรายละเอียดที่กล่าวถึงเรื่องนี้ค่อนข้างชัด มีการอภิปราย ซึ่งกรณีนี้อาจจะเป็นความเข้าใจผิด คำว่า ยกหนี้ เท่าที่ผมจำได้ว่า เรามีการคุยกันในที่ประชุมว่าไม่ได้เป็นการยกหนี้ เพราะกลุ่มของสปอนเซอร์หรือพันธมิตรกลุ่มนี้ ไม่ได้อยู่ในสถานะลูกหนี้ของหอการค้า เพียงแต่มีเจตจำนงในการที่จะสนับสนุนตั้งแต่ต้น มีการบริจาคเงินให้ สิ่งที่หอการค้าจะให้พันธมิตรในยุคนั้นจะเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ แต่ปรากฏว่าเกิดการระบาดของโควิด ทำให้เศรษฐกิจแย่ ผู้ประกอบการก็ลำบาก หอการค้าก็เห็นใจพันธมิตร และของดการบริจาคให้หอการค้า จึงไม่ใช่ลักษณะของลูกหนี้ เมื่อเขาประสบปัญหาก็ต้องช่วยกัน เพราะเขามีความประสงค์ดีกับหอการค้า เมื่อไม่พร้อมก็ไม่สามารถไปบังคับกันได้ เพราะไม่ใช่สัญญาที่ต้องผูกพันกัน ดังนั้น เรื่องนี้จึงไม่ใช่การยกหนี้ ซึ่งในทางบัญชีเมื่อไม่ได้เป็นหนี้จึงไม่ได้บันทึกบัญชีว่าเป็นลูกหนี้”

หอฯ ลงโฆษณาตอบแทน

เมื่อถามว่า พันธมิตรกลุ่มนี้ให้การสนับสนุนเป็นเงินหรือการแลกเปลี่ยน นายวีระศักดิ์ เผยว่า “ช่วยเป็นตัวเงิน แล้วหอการค้าก็จะช่วยในการโฆษณา โดยนำโลโก้มาลงในป้ายประชาสัมพันธ์ ในกิจกรรมที่หอการค้าจัดขึ้น เพื่อเป็นการโฆษณาแบรนด์ของพันธมิตรของเรา เมื่อพันธมิตรประสบปัญหาเรื่องโควิดหรือประสบปัญหาอื่นๆ นโยบายของเขาก็เปลี่ยน เพราะเขาเป็นบริษัทต้องมึคณะกรรมการบริหาร จึงมีการปรับเปลี่ยนว่าไม่พร้อมที่จะสนับสนุน และแจ้งเหตุขัดข้องมาที่หอการค้า ซึ่งการที่เขามีปัญหาติดขัดในสิ่งที่เคยบริจาค หอการค้าก็ต้องเห็นใจ และคิดว่า เขาไม่อยู่ในฐานะที่เป็นลูกหนี้เราที่จะต้องบันทึกในทางบัญชี จะไปทวง จะไปเก็บเงินไม่ได้ เพราะไม่ใช่สิ่งที่เป็นสัญญาผูกพันชัดเจน ไม่มีบันทึกทางบัญชี ซึ่งผู้ตรวจสอบบัญชีหอการค้าก็มีการตรวจสอบบัญชีรับทราบข้อมูลนี้ และไม่มีการบันทึกในงบการเงินหรืองบดุลเสนอในที่ประชุมใหญ่ ไม่มีการบันทึกว่าเป็นลูกหนี้อยู่แล้ว และไม่มีประเด็นคำว่ายกหนี้”

สมาชิกไม่เคยสอบถาม

“โคราชคนอีสาน” ถามว่า ประเด็นนี้หอการค้าจะทำความเข้าใจกับสมาชิกอย่างไร นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า ในแง่ของสมาชิก เราผ่านการประชุมใหญ่มา ๒ ครั้งแล้ว คือการประชุมใหญ่ปี ๒๕๖๓ ตอนที่เสนอต่อที่ประชุมเพื่อให้รับรองก็ไม่ปรากฏว่ามีสมาชิกคนใดยกมืออภิปราย สอบถาม โดยคณะกรรมการหอการค้าก็เปิดโอกาสให้สมาชิกสอบถามเพื่อจะชี้แจงรายละเอียด ก็ไม่มีใครสอบถาม จึงไม่มีการชี้แจงต่อที่ประชุมใหญ่ ต่อมาอีกหนึ่งปีในการประชุมใหญ่ปี ๒๕๖๔ มีการประชุมใหญ่เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ มีการเสนองบดุลของหอการค้าต่อที่ประชุมใหญ่อีก ก็ไม่มีใครสอบถามหรือโต้แย้ง ทักท้วงใดๆ ซึ่งเรื่องนี้ก็ผ่านมาแล้ว จึงไม่คิดว่าจะต้องมาอธิบายอะไรกับสมาชิกโดยทั่วไปอีก เพราะเป็นเรื่องที่ผ่านมาแล้ว

โยนภาระให้ กก.ตรวจสอบ

“แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อรู้ว่าเรื่องนี้มีการส่งเข้ามาเป็นบัตรสนเท่ห์ให้กับสื่อมวลชน และคนทั่วไป ก็ไม่สบายใจ ผมจึงคิดว่า เรื่องนี้ให้ผู้อำนวยการหอการค้าหรือประธานหอการค้าส่งเอกสารชิ้นนี้ไปให้คณะกรรมการตรวจสอบภายในหอการค้าฯ ซึ่งประกอบด้วย นายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ เป็นประธาน นายพิเชฐ พัฒนโชติ, นายสุวัฒน์ จึงวิวัฒนาภรณ์ และนายคำรณ ครบนพรัตน์ ซึ่งเป็นคณะกรรมการตรวจสอบภายในตามกฎหมายของหอการค้า หากคณะกรรมการชุดนี้ต้องการขอข้อมูลย้อนหลังเพื่อตรวจสอบก็ทำได้ และคณะกรรมการชุดนี้จะเป็นผู้ให้คำตอบได้ดีว่า เรามีความโปร่งใส พร้อมให้ตรวจสอบ โดยที่เราไม่ต้องมานั่งชี้แจงด้วยตัวเอง เพราะไม่รู้ว่าใครมีข้อสงสัย และไม่มีใครพูด” นายวีระศักดิ์ กล่าว

นายวีระศักดิ์ บุญเพลิง รองประธานฝ่ายกฎหมายและธรรมาภิบาล หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา

ไม่เกิดผลดีกับหอการค้า

“โคราชคนอีสาน” ถามว่า การกระทำครั้งนี้เหมือนมีผู้ต้องการสร้างความแตกแยกในหอการค้าใช่หรือไม่ นายวีระศักดิ์ บุญเพลิง กล่าวว่า “เรื่องนี้มีการวิเคราะห์ว่า เกิดอะไรขึ้น เพราะช่วงนี้เป็นการเข้าสู่ปีที่ ๒ ของการบริหารงานของนายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ ที่จะครบวาระในเดือนตุลาคมปีนี้ และจะมีการเลือกประธานหอการค้าคนใหม่ปลายปีนี้ จึงไม่แน่ใจว่าการดำเนินการในเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการมีผู้นำคนใหม่หรือไม่ และก็เพิ่งผ่านการประชุมใหญ่มาไม่กี่วัน จึงวิเคราะห์ไม่ถูกเหมือนกัน แต่ก็ไม่เกิดผลดีในสายตาของคนนอกที่เห็น โดยเฉพาะสื่อมวลชนที่เห็นก็เกิดความสงสัยว่า เกิดอะไรขึ้นกับหอการค้า ซึ่งหากเป็นคนในที่เป็นสมาชิกหอการค้าก็จะเข้าใจ แต่คนนอกที่ไม่ได้เป็นสมาชิกหอการค้าก็อาจจะไม่รู้เรื่อง จึงทำให้เกิดการตั้งคำถามขึ้นมาได้ แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องในองค์กรที่โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้โดยคนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการที่หอการค้ามีคณะกรรมการตรวจสอบ ก็อยากให้มาดูข้อเท็จจริงว่าหนังสือร้องเรียนนี้มีประเด็นที่จะต้องมีการตรวจสอบหรือไม่”

ต่อข้อถามที่ว่า หอการค้าฯ เปิดโอกาสให้สมาชิกได้สอบถามข้อสงสัยหรือไม่และผ่านช่องทางใดบ้าง นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า “เปิดโอกาสได้อยู่แล้ว โดยเฉพาะมีการแต่งตั้งรองประธานฝ่ายกฎหมายและธรรมาภิบาลขึ้นมา ซึ่งคำว่าธรรมาภิบาลค่อนข้างที่จะครอบคลุมอยู่แล้วว่า โปร่งใส ตรวจสอบได้ ซื่อสัตย์ สุจริต ความคุ้มค่า ถ้ามีสิ่งที่ไม่ชอบมาพลกลต่างๆ ขึ้นในหอการค้าก็สามารถร้องเรียนมาได้โดยตรงที่ตัวผมในฐานะที่ดูแลเรื่องธรรมาภิบาล สามารถตอบสมาชิกได้ มีช่องทางไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์ อีเมล เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก เราก็พร้อมที่จะตอบตลอดเวลา ไม่มีการตัดโอกาสสมาชิก โดยขอให้แจ้งมาที่หอการค้าก่อน หากส่งไปที่คนนอกก็ต้องมานั่งอธิบายคนนอกอีก”

ลดความน่าเชื่อถือ?

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ คิดว่ามีผู้ต้องการปลุกปั่นยุแยงเพื่อลดความความน่าเชื่อถือของหอการค้าหรือไม่ นายวีระศักดิ์ กล่าวว่า “เมื่อดูแล้วอาจจะทำให้เข้าใจได้อย่างนั้น เพราะที่ผ่านมาหอการค้ามีบทบาทพอสมควร ทำงานอาจจะไม่ถูกใจบางคน ถูกใจบ้าง แล้วแต่มุมมอง  เมื่อเกิดกระแสแบบนี้ขึ้นมาก็มองดูว่าเขาต้องการให้เกิดความไม่น่าเชื่อถือขึ้นหรือเปล่า เป็นการดิสเครดิตหอการค้าว่าช่วยเหลือพรรคพวกกัน ยกหนี้ให้กันได้อย่างไร เป็นเงินของลูกหนี้ อยู่ดีดีใครมีอำนาจไปยกหนี้ หากใครที่ฟังเผินๆ ก็ดูเป็นเรื่องใหญ่ ยกหนี้ให้ตั้ง ๗-๘ แสนบาท ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเงินของหอการค้าไม่ได้มีมากมายก่ายกอง แต่อยากจะย้ำว่า การที่เขาไม่ได้ช่วยเป็นตัวเงินแต่ก็ไม่ได้ตัดขาดซะทีเดียว แต่จะแปลงรูปแบบของการช่วยเหลือแทนตัวเงินมาหลังจากนั้น เพราะหอการค้าก็มีการประชาสัมพันธ์แบรนด์ให้ไปในระยะเวลาหนึ่งแล้ว แล้วการที่มาบอกว่าช่วยไม่ได้เป็นตัวเงิน หอการค้าก็มีข้อเสนอว่า รูปแบบที่ช่วยได้ก็ต้องช่วยเราทางช่องไหน ก็มีข้อเสนอ แล้วจึงมีการช่วยเหลือกันในรูปแบบอื่นๆ ตามที่ตกลงกัน เป็นการลดภาระให้เขาด้วย และก็ยังเป็นพันธมิตรที่ดีต่อกันในทุกๆ รายที่มีความจำเป็นไม่สามารถสนับสนุนเป็นเงินเหมือนเดิมได้”

ท้ายสุด นายวีระศักดิ์ บุญเพลิง ย้ำว่า “หอการค้ามีคณะกรรมการตรวจสอบภายใน ซึ่งตั้งขึ้นตามพ.ร.บ.หอการค้า จึงเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจสอบฯ ที่จะพิจารณาในเรื่องนี้อย่างไร และให้ฝ่ายตรวจสอบเป็นผู้ตอบคำถามนี้ต่อสังคม”

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการหอการค้าฯ เมื่อวันที่ ๑๒ มกราคม ๒๕๖๔ มีเรื่องดังกล่าวปรากฏอยู่ในวาระที่ ๔ เรื่องเพื่อพิจารณา โดยในวาระที่ ๔.๒ เงินค้างรับจากโครงการพันธมิตรหอการค้าปี ๒๕๖๓ คือศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา โคราช ๒๐๐,๐๐๐ บาท, โรงแรมวีวัน โคราช ๒๐๐,๐๐๐ บาท, สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย นครราชสีมา ๒๐๐,๐๐๐ บาท และบริษัท รุ่งเรือง ธ.วัฒนา จำกัด ๑๐๐,๐๐๐ บาท รวมทั้งสิ้น ๗๐๐,๐๐๐ บาท


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๑๗ วันพุธที่ ๒ - วันอังคารที่  ๘  เดือนมีนาคม พุทธศักราช  ๒๕๖๕

 


1015 1596