18thApril

18thApril

18thApril

 

March 20,2022

‘พยาบาลศาสตร์ราชภัฏ’ มั่นใจท้าทายและได้คุณภาพ


ราชภัฏโคราชยกระดับการเรียนการสอน เปิดตัวคณะพยาบาลศาสตร์ สร้างบัณฑิตคุณภาพให้เป็นบุคลากรทางการแพทย์ ตอบโจทย์ความต้องการด้านสุขภาพของคนในท้องถิ่น เปิดรับนักศึกษารุ่นแรก ๗๒ คน สมัครผ่านระบบ TCAS ‘อธิการบดี’ มั่นใจผลิตบัณฑิตมีคุณภาพ เรียนจบมีงานทําแน่นอน

เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๕ ที่ศูนย์ฝึกทักษะการพยาบาลเสมือนจริง อาคาร ๓๑ ชั้น ๔ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดี พร้อมด้วย ผศ.ดร.สุรีย์ ธรรมิกบวร รักษาราชการแทนคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมแถลงข่าวรับสมัครนักศึกษาใหม่ในหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต และแนะนำการจัดการเรียนการสอน โดยมี ผศ.ดร.อานรรต ใจสำราญ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการสภามหาวิทยาลัย กิจการพิเศษและวิเทศสัมพันธ์ ผศ.ดร.ณัฐกิตติ์ อินทร์สวรรค์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์กรและพันธกิจสัมพันธ์ คณาจารย์ และผู้สนใจ ร่วมรับชมและฟังทั้งในสถานที่แถลงข่าวและในระบบ Zoom meeting

ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา แถลงว่า “ภารกิจหลักที่สำคัญที่สุดของมหาวิทยาลัยฯ คือ การผลิตบัฒฑิต และเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เรื่องนี้คือความแตกต่างของมหาวิทยาลัยราชภัฏกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ โดยการพัฒนาท้องถิ่นมีหลายมิติ ไม่ใช่เพียงมิติด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ แต่ยังมีมิติที่ทำให้คนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข คือ มิติด้านสุขภาพ จากการศึกษาพบว่า สังคมยังมีปัญหาในการผลิตพยาบาลและการให้บริการด้านสุขภาพ ซึ่งในโคราชมี ๓ สถาบันที่ผลิตพยาบาลอยู่แล้ว โดยแต่ละปีสามารถผลิตได้ประมาณ ๓๐๐ คน ยังถือเป็นตัวเลขที่ขาดแคลน ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เปิดคณะพยาบาลศาสตร์ และอีกปัจจัยหนึ่ง คือ การบริการด้านสุขภาพให้กับประชาชน ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา”

“การเปิดคณะพยาบาลศาสตร์ ไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นเรื่องที่ท้าทาย หินสุดๆ เนื่องจากคณะพยาบาลศาสตร์ มีสภาพยาบาลคอยควบคุมมาตรฐานและคุณภาพในการผลิตบัณฑิตหรือจัดการเรียนการสอน โดยมหาวิทยาลัยฯ ใช้เวลาพัฒนาเรื่องต่างๆ เป็นเวลา ๒ ปี ทั้งเรื่องหลักสูตร อาคารสถานที่ ครุภัณฑ์วัสดุการเรียนการสอน และที่สำคัญ คือ คณาจารย์ประจำหลักสูตร รวม ๑๑ คน ซึ่งทุกอย่างต้องเป็นไปตามเกณฑ์ของสภาพยาบาลทั้งหมด จึงขอให้ประชาชน นักเรียนที่สนใจมาเรียนที่คณะพยาบาลศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มั่นใจและเชื่อมั่นในมาตรฐานการผลิตบัณฑิต ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ จะเน้นย้ำให้บัณฑิตมีคุณภาพ ทั้งในเรื่องการพยาบาล และเรื่องที่จะเติมเต็มให้ คือ ความมีจิตอาสา เอาใจใส่คนป่วยหรือญาติของคนป่วย และ เรื่องจิตใจที่ต้องการบริการให้กับประชาชนในท้องถิ่น นอกจากสองเรื่องนี้ มหาวิทยาลัยฯ ยังช่วยเติมเต็มความรู้ด้านภาษาให้แก่บัณฑิตพยาบาล เพื่อให้สามารถทำงานได้ทั้งในท้องถิ่น และในต่างประเทศ ซึ่งทั่วโลกยังมีความต้องการสูง ขอให้เชื่อมั่นว่า มหาวิทยาลัยฯ จะทำเต็มที่ เพื่อสร้างบัณฑิตคุณภาพต่อไป” ผศ.ดร.อดิศร กล่าว

ผศ.ดร.สุรีย์ ธรรมิกบวร รักษาราชการแทนคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า “คณะพยาบาลศาตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ได้รับการรับรองจากสภาพยาบาลแล้ว ทั้งหลักสูตรและสถาบัน โดยการเรียนการสอน จะเน้นคุณภาพ มีห้องปฏิบัติการที่มีความพร้อม เสมือนโรงพยาบาลทุกระดับ ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลระดับจังหวัด และโรงพยาบาลจิตเวช และยังมีเครื่องมือที่ผู้เรียนสามารถยืมไปทดลองฝึกปฏิบัติได้ตลอด เพื่อเน้นการเรียนรู้ที่ปฏิบัติได้จริง ตามมาตรฐานวิชาชีพและมุ่งพัฒนาบัณฑิตให้มีอัตลักษณ์ สำนึกดี มีความรู้ พร้อมสู้งาน ภาษาอังกฤษเยี่ยม วิจัยและนวัตกรรมโดดเด่น มีความเป็นผู้นำ มีความเท่าทันเทคโนโลยี สำหรับนักเรียนที่ต้องการมาเรียน

“ทั้งนี้ คณะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเรียนแบบ Active learning ดังนั้น จึงจัดให้มีทรัพยากรทั้งฐานข้อมูลออนไลน์ และในสำนักวิทยบริการ เพียงพอต่อการค้นคว้าเรียนรู้ด้วยตนเอง มีพื้นที่ส่วนกลางที่สามารถใช้ในการประชุมกลุ่ม ด้วยศักยภาพมหาวิทยาลัยมีสถานที่ในการออกกำลังกาย มีหอพัก มีร้านอาหาร ไปรษณีย์ ที่อำนวยความสะดวกครบถ้วน และมีคณะต่างๆ ที่พร้อมเป็นเครือข่ายในการร่วมเรียนรู้ในการทำงานเป็นทีมสหสาขา สถานที่ตั้งมหาวิทยาลัย และคณะอยู่ในตัวเมืองจังหวัดนครราชสีมา การเดินทางสะดวก เมื่อเรียนจบจากที่นี่ มั่นใจได้ว่า สามารถเข้าทำงานได้ทุกแห่ง ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงต่างประเทศ” ผศ.ดร.สุรีย์ กล่าว

จากนั้น ผศ.ดร.สุรีย์ ธรรมิกบวร นำคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และผู้สนใจ เยี่ยมชมห้องปฏิบัติการทางการพยาบาลที่ครบครันทันสมัย เป็นศูนย์ฝึกทักษะทางการพยาบาลเสมือนจริงเพื่อให้สอดรับกับการจัดการเรียนการสอนในยุคปัจจุบัน ที่มีความทันสมัยในด้านเทคโนโลยี โดยแบ่งห้องปฏิบัติการเป็น ๓ กลุ่มดังนี้ กลุ่มที่ ๑ ห้องปฏิบัติการพยาบาลครอบคลุมครบทั้ง ๕ สาขาวิชา ได้แก่ ห้องปฏิบัติการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ห้องปฏิบัติการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น ห้องปฏิบัติการผดุงครรภ์ ห้องการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช และห้องการพยาบาลอนามัยชุมชน รวมทั้งห้องปฏิบัติการพยาบาลพื้นฐาน ๑ ห้อง และห้องอุบัติเหตุฉุกเฉิน ๑ ห้อง กลุ่มที่ ๒ ห้องปฏิบัติการพยาบาลเสมือนจริง จำนวน ๓ ห้อง ได้แก่ ห้อง Simulation Lab (SIM MAN), ห้อง Simulation Lab (SIM MOM) และห้อง Simulation Lab (SIM BABY) และกลุ่มที่ ๓ ห้อง Anatomy Lab (พร้อมปรับปรุงเป็นห้อง Smart Classroom) ห้องปฏิบัติการพยาบาลในแต่ละห้อง จัดไว้เพื่อเป็นพื้นที่ให้นักศึกษาฝึกการคิดวิเคราะห์และปฏิบัติการพยาบาล ตามสถานการณ์จำลอง มีหอผู้ป่วยจำลอง มีอุปกรณ์การศึกษาครอบคลุมทุกสาขาการพยาบาล ได้แก่ หุ่นฝึกทักษะการพยาบาลพื้นฐาน หุ่นฝึกทักษะการฟื้นคืนชีพเด็กและผู้ใหญ่ และอุปกรณ์การฝึกทักษะพื้นฐานทางการพยาบาล ห้องสาธิตและห้องฝึกปฏิบัติการพยาบาล ครอบคลุมการพยาบาลพื้นฐานและการพยาบาลในสาขาหลัก

ไม่ตกงานแน่นอน

ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม ว่า “คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา รับสมัครนักศึกษาเพียง ๗๒ คน ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของสภาพยาบาล ซึ่งคิดสัดส่วนจากจำนวนอาจารย์ ๑ คนต่อนักศึกษา ๘ คน หากรวมคณบดีด้วย จะรับนักศึกษาได้ ๘๘ คน แต่มหาวิทยาลัยฯ ขอไปเพียง ๗๒ อัตรา โดยหลักสูตรนี้จะเรียน ๔ ปี ปีการศึกษาละ ๒ เทอม ซึ่งบทบาทของมหาวิทยาลัยราชภัฏ นอกจากจะผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ ยังมีบทบาทในด้านการพัฒนาท้องถิ่น ที่ผ่านมารากฐานของมหาวิทยาลัยฯ เริ่มมาจากการผลิตครู จากนั้นมีการผัดเปลี่ยนเรื่อยมา กระทั่งปัจจุบันมีรากฐานสำคัญในการผลิตบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เพื่อตอบโจทย์ภาวะมีงานทำ จึงขอบอกว่า พยาบาลที่นี่ไม่ตกงานแน่นอน เพราะการเรียนจบพยาบาล ไม่ใช่จบไปแล้วต้องเป็นข้าราชการเท่านั้น แต่สามารถทำงานในโรงพยาบาลเอกชนได้ ดังนั้น เชื่อมั่นว่า บัณฑิตจะมีงานทำแน่นอน จะตอบสนองกับความต้องการของประเทศ และปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในยุคผู้สูงอายุ ประกอบกับมีโรคอุบัติใหม่เกิดขึ้น ซึ่งในอนาคตจะมีโรคอื่นๆ อีกหรือไม่ ดังนั้น พยาบาลจึงมีความจำเป็นที่จะมาช่วยรับมือหรือรักษา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จึงตอบโจทย์ความต้องการของประเทศและสังคมโลก ผลิตบัณฑิตพยาบาลที่มีคุณภาพออกไปรับใช้ท้องถิ่น”

อาจารย์มีประสบการณ์

“สำหรับคณาจารย์ทั้ง ๑๑ คน ไม่ใช่บัณฑิตจบใหม่มาเป็นอาจารย์ แต่ทุกคนล้วนมีประสบการณ์ในการทำงานจริง ทั้งเป็นพยาบาล และเป็นอาจารย์ผู้สอนในสถาบันอุดมศึกษา เช่น ผศ.ดร.สุรีย์ ธรรมิกบวร เคยเป็นคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ดังนั้น อาจารย์ผู้สอนทุกคนมีประสบการณ์ ทั้งการสอน การทำงาน การบริหาร และมีคุณวุฒิเป็นไปตามมาตรฐาน เชี่ยวชาญพอที่จะผลิตบัณฑิตแน่นอน ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ ใช้เวลาเตรียมการจัดตั้งคณะพยาบาลศาตร์ ๒ ปี มีทั้งล้มและลุก ซึ่งบางแห่งอาจจะใช้เวลานานกว่านี้ โดยเราทุ่มทั้งกำลังและงบประมาณกว่า ๓๐ ล้านบาท ในการปรับปรุงสถานที่ และอุปกรณ์การเรียนการสอน แต่ในอนาคตจะมีสิ่งต่างๆ เพิ่มเข้ามาอีกมาก โดยการเรียนการสอนที่นี่ มีค่าใช้จ่าย ๗๐,๐๐๐ บาทต่อเทอม ซึ่งผู้เรียนสามารถกู้ยืม กยศ.ได้สูงถึง ๙๐,๐๐๐ บาทต่อปีการศึกษา นอกจากนี้ ผมคิดว่า ในอนาคต มหาวิทยาลัยฯ อาจจะพัฒนาให้มีหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล และบริบาล รวมถึงการเปิดรับสมัครให้ผู้ที่จบปริญญาตรี สามารถเข้ามาศึกษาในหลักสูตรพยาบาลได้ด้วย” ผศ.ดร.อดิศร กล่าว

ทั้งนี้ คณาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ประกอบด้วย ๑.ผศ.ดร.สุรีย์ ธรรมิกบวร คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ อาจารย์ประจำหลักสูตรการพยาบาลอนามัยชุมชน ๒.อาจารย์กัลยาวีร์ อนนท์จารย์ รองคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ ผู้รับผิดชอบหลักสูตรการพยาบาล อนามัยชุมชน หัวหน้าสาขาการพยาบาลอนามัยชุมชน ๓.น.ท.(หญิง) ดร.ศิริกัญญา ฤทธิ์แปลก ผู้รับผิดชอบหลักสูตรสาขาการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น หัวหน้าสาขาการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น ๔.อาจารย์สุมนทิพย์ บุญเกิด ผู้รับผิดชอบหลักสูตรสาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช หัวหน้าสาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช ๕.อาจารย์รณชัย คนบุญ ผู้รับผิดชอบหลักสูตรสาขาการพยาบาลมารดา ทารก และการผดุงครรภ์ หัวหน้าสาขาการพยาบาลมารดา ทารก และการผดุงครรภ์ ๖.อาจารย์อลงกรณ์ สุขเรืองกูล ผู้รับผิดชอบหลักสูตรสาขาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ หัวหน้าสาขาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ๗.ผศ.ดร.นัฐรัมภาพร ปิยธนวัฒน์ อาจารย์ผู้สอนสาขาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ๘.อาจารย์วริศรา ปั่นทองหลาง อาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาการพยาบาลผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ๙.ดร.สมรทิพย์ วิภาวนิช อาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช ๑๐.อาจารย์อรุณี รัตน์สกุล อาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น และ ๑๑.อาจารย์เสาวนีย์ ชูจันทร์ อาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาการพยาบาลอนามัยชุมชน

สำหรับการรับสมัครนักศึกษาใหม่ ประจำปีการศึกษา ๒๕๖๕ เปิดรับสมัครระหว่างวันที่ ๑๑ มีนาคม–๑๐ เมษายน ๒๕๖๕ สมัครเรียนออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ entrance.nrru.ac.th ชำระเงินค่าสมัครระหว่างวันที่ ๑๑ มีนาคม–๑๑ เมษายน ๒๕๖๕ ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส ทุกสาขา หรือที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ทุกสาขา (ไม่สามารถชำระผ่านแอปพลิเคชันธนาคารได้) ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สัมภาษณ์ ในวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๖๕ (ประกาศผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัย หลังเวลา ๑๘.๐๐ น.) สอบสัมภาษณ์ วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๖๕ ประกาศรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือก ในวันที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๖๕ (ประกาศผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัย หลังเวลา ๑๘.๐๐ น.) ยืนยันสิทธิ์ Clearing house ในวันที่ ๔-๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕ (ประกาศผ่านเว็บไซต์ ทปอ. www.mytcas.com) และสละสิทธิ์ ในวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๖๕ (ผ่านเว็บไซต์ ทปอ. www.mytcas.com) ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์เข้าศึกษาในวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๖๕ (ประกาศผ่านเว็บไซต์มหาวิทยาลัย หลังเวลา ๑๘.๐๐ น.) ผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์สมัครเรียนออนไลน์ entrance.nrru.ac.th หรือที่ Facebook Fanpage งานจัดรับนักศึกษา ราชภัฏโคราช สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ สำนักส่งเสริมวิชาการและงานทะเบียน อาคาร ๓๑ ชั้น ๒ หมายเลขโทรศัพท์ ๐-๔๔๐๐-๙๐๐๙ ต่อ ๓๑๒๐, ๓๑๒๑

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๑๙ วันพุธที่ ๑๖ - วันอังคารที่  ๒๒  เดือนมีนาคม  พุทธศักราช  ๒๕๖๕

 


1073 1394