20thApril

20thApril

20thApril

 

April 25,2022

‘ลูกผู้ชายต้องกล้ายอมรับ หอการค้ายกหนี้ ๗ แสน หวังฝีมือผู้ว่าฯ สงบศึก

กรณีหอการค้ายกหนี้ ๗ แสน ยุคอดีตประธานชัชวาล วงศ์จร ยังว้าวุ่น ‘วิเชียร’ เรียกกลุ่มพิทักษ์หอการค้าโคราชเข้าพบ หลังได้รับหนังสือขอให้ดำเนินการในฐานะนายทะเบียน แต่ยังไม่ได้รับบทสรุป พาณิชย์แสวงหาข้อมูลให้รอบด้าน ฝ่ายกลุ่มพิทักษ์ย้ำ หากค้นพบว่า มีหนังสือสัญญาและบรรจุลงในงบดุล ก็ต้องจ่าย ‘ห้าว’ ลูกผู้ชายต้องยอมรับ

 

ตามที่มีสมาชิกหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาทำจดหมายสนเท่ห์ถึงคณะกรรมการตรวจสอบภายในหอการค้าฯ สอบถามถึงประเด็นการยกหนี้เงินสนับสนุนโครงการพันธมิตรที่ยังคงค้างชําระอยู่จํานวน ๗๐๐,๐๐๐ บาท ได้แก่ ๑. ศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซา นครราชสีมา ๒๐๐,๐๐๐ บาท ๒.โรงแรมวีวันโคราช ๒๐๐,๐๐๐ บาท ๓.สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย นครราชสีมา ๒๐๐,๐๐๐ บาท และ ๔.บริษัท รุ่งเรือง ธ.วัฒนา จำกัด ๑๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยบริหารของนายชัชวาล วงศ์จรนั้น ซึ่งนายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ ประธานหอการค้าฯ สมัยปัจจุบันยืนยันว่า ไม่ใช่การยกหนี้เพราะเงินจำนวนดังกล่าวเป็นการบริจาค และมีสมาชิกหอการค้าฯ รายหนึ่งส่งความคิดเห็นผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้เกิดการแจ้งความหมิ่นประมาทระหว่างอดีตประธานฯ กับสมาชิกรายดังกล่าว ซึ่งต่อมากลุ่มพิทักษ์องค์กรหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ได้ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาในฐานะนายทะเบียนหอการค้าฯ ใน ๔ ประเด็น ได้แก่ ๑.กรณีการจัดทําโครงการพันธมิตร ในประเด็นเงินจํานวน ๗๐๐,๐๐๐ บาท ๒.กรณีการบริหารองค์กรด้านการใช้อํานาจและการจัดประชุม ๓.กรณีการเงินการบัญชีและทรัพย์เงินขององค์กร ๔.การจัดทําโครงการ และกิจกรรมต่างๆ ภายในองค์กร

จากนั้นมีแถลงการณ์ร่วมระหว่างหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา โดยนายศักดิ์ชาย ผลพานิชย์ ประธานหอการค้าฯ กับนายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ ประธานคณะกรรมการตรวจสอบภายในหอการค้าฯ ยังยืนยันว่า เป็นเงินบริจาคจึงไม่ใช่การยกหนี้ ส่วนการให้ที่ผู้บริหารหอการค้าฯ นำเงินเข้าบัญชีส่วนตัวถือเป็นความสะดวกในดำเนินการในเรื่องค่าใช้จ่าย ตามที่ “โคราชคนอีสาน” เสนอข่าวต่อเนื่องแล้วนั้น

ผู้ว่าฯ เชิญประชุม

ต่อมามีหนังสือที่ นม.๐๐๑๖/๘๒๙๙ ลงวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๖๕ ลงนามโดยนายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ส่งถึงสมาชิกกลุ่มพิทักษ์องค์กรหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ระบุว่า “ตามหนังสือที่อ้างถึง ท่านได้ร้องขอให้จังหวัดนครราชสีมาดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการบริหารของหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาในกรณีต่างๆ ๔ เรื่อง ดังนี้ ๑) กรณีการจัดทำโครงการพันธมิตรในประเด็นเงินจำนวน ๗๐๐,๐๐๐ บาท ๒) กรณีการบริหารองค์กรด้านการใช้อำนาจและการจัดประชุม ๓) กรณีการเงินการบัญชีและทรัพย์สินขององค์กร ๔) การจัดทำโครงการ และกิจกรรมต่างๆ ภายในองค์กรฯ นั้น จังหวัดนครราชสีมาจึงขอเชิญท่านมาให้ข้อมูลประกอบข้อร้องเรียนดังกล่าว พร้อมทั้งแสดงเอกสารหลักฐาน (ถ้ามี) ในวันอังคารที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๖๕ เวลา ๑๓.๓๐ น. ณ ห้องรับรองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้การตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวเป็นไปอย่างถูกต้องครบถ้วนตามกรณีที่ร้องเรียนมา”

เมื่อถึงเวลานัดหมายในวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๖๕ เวลา ๑๓.๓๐ น. กลุ่มพิทักษ์องค์กรหอการค้าฯ ประกอบด้วย นายสังคม สายทอง ผู้ประสานงานกลุ่มฯ รวมทั้งผู้ที่ลงนามในหนังสือยื่นต่อผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ในฐานะนายทะเบียนหอการค้าฯ ซึ่งประกอบด้วย นางสาวณัฐฐนันท์ กุมารสิงห์ สมาชิกหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา นายวัชร กลินทะ อดีตผู้อํานวยการบริหารหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา นายธฤษณุ ขจรโกวิทย์ อดีตประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายเศรษฐกิจ ๒ SMEs หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และนายณัฐวุฒิ เตชะวณิช อดีตอนุกรรมการฝ่ายเศรษฐกิจ ๒ SMEs หอการค้าจังหวัดนครราชสีมา ในขณะที่ฝ่ายของหน่วยงานราชการมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ นายศารุมภ์ โหม่งสูงเนิน พาณิชย์จังหวัดนครราชสีมา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุม

ต้องแสวงหาข้อเท็จจริงให้รอบด้าน

ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมนายศารุมภ์ โหม่งสูงเนิน พาณิชย์จังหวัดฯ เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า ผู้ว่าฯ เชิญมาเพื่อพูดคุยและขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่เป็นข้อขัดแย้งกัน จากนั้นจึงจะมีการหารืออย่างเป็นทางการอีกครั้ง เพื่อหาทางออกในเรื่องนี้ ซึ่งในที่ประชุมผู้ว่าฯ ได้สอบถามในประเด็นที่มีการตั้งคำถามเกี่ยวกับการดำเนินงานของหอการค้าฯ

เมื่อถามว่าเรื่องที่มีการยื่นต่อผู้ว่าฯ ในครั้งนี้จะจบลงอย่างไร และเมื่อใด? นาย ศารุมภ์ตอบว่า “เรื่องนี้ต้องมีการแสวงหาข้อเท็จจริงอีกเยอะ ตอนนี้ยังไม่สามารถให้ความเห็นใดๆ ได้ เนื่องจากข้อมูลยังไม่รอบด้าน จะต้องฟังความหลายๆ ฝ่าย และต้องหาข้อมูลอื่นๆ มาประกอบอีกมาก เพื่อที่จะนำมาพูดคุยกันในอีกหลายประเด็น”

ทำไมต้องแจ้งความ

ในขณะที่กลุ่มพิทักษ์องค์กรหอการค้าจังหวัดนครราชสีมามีการสรุปข้อมูลในประเด็นต่างๆ ภายหลังได้ร่วมประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ว่า “ในส่วนโครงการพันธมิตรหอการค้าฯ มีการตีความไม่ตรงกัน ระหว่าง Barter (แลกเปลี่ยน) หรือการขอสนับสนุน (Sponsor) กับการบริจาค เพราะถ้าบริจาคจะไม่มีการบันทึกทางบัญชีและในงบการเงิน ประเด็นนี้นำมาซึ่งการแจ้งความหมิ่นประมาทกัน ระหว่างอดีตประธานหอการค้าฯ กับสมาชิกหอการค้าฯ ที่ออกมาแสดงความคิดเห็น ตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมต้องมีการฟ้องร้องหรือแจ้งความหมิ่นประมาท โดยทางกลุ่มพิทักษ์องค์กรฯ ได้ยืนยันว่า ภายหลังจากมีการฟ้องสมาชิกฯ จึงตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อขอให้ ผู้ว่าฯ ลงมาตรวจสอบข้อเท็จจริง”

ยังกังขาเรื่องยกหนี้

“ส่วนเรื่องการประชุมและการใช้อำนาจในการยกหนี้หรือตัดหนี้นั้น ดำเนินการถูกต้องตามหลักการหรือไม่ กลุ่มพิทักษ์องค์กรฯ ตั้งข้อสังเกตว่า นายชัขวาล วงศ์จร เป็นผู้มีส่วนได้เสียในกรณีเงินจำนวน ๕๐๐,๐๐๐ บาท จึงไม่ควรมาทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมในวาระพิจารณายกหนี้หรือตัดหนี้ครั้งนั้น การประชุมจึงไม่น่าจะชอบด้วยเหตุผล และหลักการตัดหนี้ที่ต้องมีเอกสารสำคัญต่างๆ เช่น คำขอที่ระบุถึงปัญหาที่ไม่สามารถชำระได้มาเสนอต่อกรรมการหอการค้าฯ ไม่ใช่ใช้เสียงข้างมากเท่านั้น นอกจากนี้ ในการประชุมยกหนี้หรือตัดหนี้มีการกระทำถึง ๒ ครั้ง โดยครั้งแรกมีนายศักดิ์ชาย ผลพาณิชย์ เป็นประธานการประชุม ส่วนครั้งที่ ๒ มีนายชัชวาล วงศ์จร เป็นประธาน จึงรู้สึกสับสน และต้องการให้มีการชี้แจง รวมทั้งขอทราบมติการประชุมพร้อมหลักการและเหตุผลที่พิจารณาตัดหนี้ในครั้งนั้น”

จ่ายเช็คเข้าบัญชีกรรมการทำไม่ได้?

กลุ่มพิทักษ์องค์กรหอการค้าฯ สรุปรายละเอียดที่นำเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ในเรื่องการเงิน และบัญชี ที่ทางกลุ่มพิทักษ์องค์กรฯ สงสัยในเรื่องการจ่ายเช็คเงินสดของหอการค้าฯ ต่อกรรมการบางคนว่า ทำได้หรือไม่ เพราะองค์กรภาครัฐและเอกชนไม่ทำกัน เพราะตรวจสอบยาก และขาดธรรมาภิบาล รวมทั้งประเด็นเจ้าหน้าที่ระดับบริหารหอการค้า นำเงินกิจกรรมของหอการค้าฯ ไปเข้าบัญชีส่วนตัว ไม่น่ากระทำได้ เพราะในอดีตไม่มี ผู้อำนวยการหอการค้าฯ คนใดทำมาก่อน การอ้างประเพณีปฏิบัติตามๆ กันมาไม่น่าจะใช่ เพราะหอการค้ามีข้อบังคับ การถือเงินสดนั้น ผู้อำนวยการหอการค้าฯ สามารถถือได้ไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท ในขณะที่ประธานหอการค้าฯ ถือได้ ๕,๐๐๐ บาทเท่านั้น

กก.ไม่ควรรับงานราชการ

กลุ่มพิทักษ์องค์กรหอการค้าฯ เปิดเผยอีกว่า “ในเรื่องการจัดทำโครงการต่างๆ ของหอการค้าจังหวัดฯ โดยเฉพาะการรับงานจากงบราชการ กรรมการหอการค้าฯ ไม่ควรรับทำ เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และสร้างความไม่สบายใจกับส่วนราชการที่อาจเกรงใจ ซึ่งในอดีตการรับงานจะต้องมีการสอบราคา แม้แต่หากมีการประชุมและจัดกิจกรรมตามโรงแรมต่างๆ ก็จะเวียนกันไป เพื่อให้สมาชิกหอการค้าฯ ทุกคน ได้รับโอกาสที่เท่าเทียมกัน”

ในที่ประชุมระหว่างผู้ว่าราชการจังหวัดฯ กับกลุ่มพิทักษ์องค์กรหอกาค้าจังหวัดฯ จึงสรุปว่า ทางจังหวัดจะเชิญบุคคลที่เกี่ยวข้องมาขอรับทราบข้อมูลทั้ง ๔ ประเด็น และจะขอเอกสารต่างๆ มาประกอบการพิจารณา จะตรวจสอบข้อบังคับหอการค้าฯ หากพบปัญหาก็จะต้องแก้ไขเพื่อไม่ให้มีความขัดแย้งกันอีก และจะเชิญนักกฎหมายมาร่วมด้วย ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ทราบเจตนาของกลุ่มฯ ที่ต้องการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เมื่อมีการยื่นหนังสือมาที่จังหวัด ทางจังหวัดก็ยินดี และจะรีบเร่งดำเนินการต่อไป

ให้ผู้ว่าฯ สงบศึก

กลุ่มพิทักษ์องค์กรหอการค้าฯ รายหนึ่งเปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า เหตุที่มีการแจ้งความหมิ่นประมาทระหว่างนายชัชวาลฯ อดีตประธานหอการค้าฯ รายหนึ่งกับสมาชิกหอการค้าฯ ทางกลุ่มพิทักษ์องค์กรฯ จึงต้องการให้ผู้ว่าฯ ช่วยสงบศึกในเรื่องนี้ เพราะหอการค้าโคราชเคยเป็นหอการค้าดีเด่น ได้รับรางวัลชนะเลิศมานาน จึงไม่ต้องการเห็นคนหอการค้าด้วยกันทะเลาะกัน อย่าให้ต้องมีการฟ้องร้องถึงโรงถึงศาล ส่วนประเด็นที่สมาชิกหอการค้าฯ สงสัยในประเด็นเรื่องเงินก็ขอให้มีการตรวจสอบภายใน แต่หากไม่มั่นใจในคณะกรรมการตรวจสอบภายในหอการค้าฯ ดังนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ในฐานะนายทะเบียน รวมทั้งพาณิชย์จังหวัด ก็ควรจะมีการตั้งคณะกรรมการอิสระเข้าไปตรวจสอบ

ไม่ไว้ใจกก.ตรวจสอบ

“ในเรื่องนี้ แม้จะมีการประชุมและแถลงการณ์ของคณะกรรมการตรวจสอบภายในหอการค้าฯ ออกมาแล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีสมาชิกหลายรายไม่ไว้วางใจคณะกรรมการตรวจสอบฯ เพราะได้รับการแต่งตั้งมาจากประธานหอการค้าฯ และผู้อำนวยการฯ จึงเกิดความไม่ไว้วางใจ อีกทั้งในกรณีมีการตั้งข้อสังเกตกับอดีตประธานหอฯ รายหนึ่งเกี่ยวกับเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาทว่ามีการยกหนี้นั้น เพราะไปเห็นเอกสารสัญญาที่มีการทำ Barter กับหอการค้า จึงมีอดีตประธานหอการค้าฯ ๒-๓ คนไปค้นดูเอกสารว่ามีสัญญาตัวนี้จริงหรือไม่ ซึ่งก็มีหนังสือจริง หากมีหนังสือไปขอเงิน ๒ แสนบาท ทางหอการค้าฯ ก็ต้องโฆษณาให้องค์กรนั้น คล้ายกับเป็นการขอโฆษณา ดังนั้น จึงทำให้มีผู้สงสัยว่า ไม่ใช่เงินบริจาค เมื่อไม่จ่ายจึงกลายเป็นหนี้ แล้วจะพากันมายกหนี้ให้ได้อย่างไร ในเมื่อรายอื่นก็จ่ายเป็นเงิน ประเด็นนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่า อดีตประธานหอการค้าฯ คนดังกล่าวก็เป็นคนโคราช ทำมาหากินในโคราช เป็นระดับประธานหอการค้าในระดับภาคอีสาน เรื่องแค่นี้อย่าไปแจ้งความ แต่ถ้าจะมีการแย้งว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ก็ไม่ถูก เพราะไม่ใช่เรื่องส่วนตัว เมื่อสื่อมวลชนนำเสนอข่าวไปแล้วก็ทำให้หอการค้าอื่นๆ จะมองอย่างไร เพราะเป็นหอการค้าขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงในอดีต

ลูกผู้ชายเป็นหนี้ต้องกล้ายอมรับ

“ความจริงการที่กลุ่มพิทักษ์องค์กรหอการค้าฯ ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ก็เพื่อต้องการให้คลายปมเรื่องเงินบริจาคหรือเงินรายได้จากการเป็นผู้สนับสนุน (Sponsor)  ส่วนกรณีที่มีการแถลงการณ์ออกมาก็เหมือนแถลงตามความรู้สึก ไม่มีเอกสารหลักฐานประกอบ ซึ่งถ้ามีการค้นเอกสารพบว่า เป็นหนี้ในงบดุล งบกำไรขาดทุนประจำปี เพราะหอการค้าเป็นนิติบุคคล แล้วถ้าหากพบว่ามีการบันทึกในเดบิตเครดิตทั้ง ๗ แสนบาท ก็แสดงว่าเป็นหนี้จริงๆ ถ้าไปลงแบบนั้น จะปฏิเสธไม่ได้เลย เพราะถ้าเป็นหนี้จริงๆ ก็ต้องมีการชำระหนี้ เมื่อไม่ชำระหนี้แล้วกรรมการมายกหนี้ให้โดยมติกรรมการ แต่บังเอิญคนที่นั่งหัวโต๊ะในที่ประชุมก็เป็นคนที่เป็นหนี้” ตัวแทนกลุ่มฯ กล่าว

“เรื่องนี้ถ้าเป็นลูกผู้ชายก็ต้องยอมรับ ถ้ามีสัญญาก็ต้องยอมรับว่า เป็นโครงการที่ขอสนับสนุน (Sponsor) หากชำระไม่ได้ในคราวเดียวก็สามารถทำหนังสือชี้แจงแล้วขอผ่อนจ่ายได้ ไม่ใช่ยกเลิกกันดื้อๆ ดังนั้น จึงทำให้เกิดข้อสงสัย และยิ่งมีเรื่องของการไปแจ้งความหมิ่นประมาทเข้ามาอีก สำหรับในเรื่องนี้มีผู้ใหญ่ที่เป็นอดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมาหลายคนก็ไม่สบายใจ แต่ไม่ออกหน้า” ตัวแทนกลุ่มพิทักษ์องค์กรหอการค้าฯ กล่าวท้ายสุด


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๒๓ วันพุธที่ ๒๐  - วันอังคารที่  ๒๖  เดือนเมษายน  พุทธศักราช  ๒๕๖๕

 


1025 1398