29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

July 23,2022

อัตลักษณ์เมืองไมซ์ไม่ชัด โคราชไร้การเปลี่ยนแปลง รัฐ-เอกชนต่างคนต่างทำ

‘ทีเส็บ’ระดมสมองภาครัฐและเอกชนในโคราช สร้างกิจกรรมการตลาดยกระดับเมืองไมซ์ซิตี้ เพื่อดึงศักยภาพเมืองแห่งการประชุมสัมมนาของประเทศ ด้านภาคเอกชนเผยคนโคราชไม่รู้จักไมซ์ซิตี้ และเข้าไม่ถึงระดับชุมชน เสนอสร้างความรับรู้ให้ประชาชน ย้ำโคราชต้องชัดเจน จะเป็นอะไร

 

เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕  เวลา ๐๙.๐๐ น ที่ห้องประชุม ดร.เศาวนิต เศาณานนท์ อาคาร ๙ ชั้น ๓ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) หรือ TCEB จัดประชุมสัมมนากิจกรรมทางการตลาดเพื่อยกระดับเมืองไมซ์ซิตี้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อดึงศักยภาพเมืองไมซ์ซิตี้ของประเทศไทย นำโดยผศ.ดร.ณัฏฐินี ทองดี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ในฐานะผู้ดำเนินการศูนย์ส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการจังหวัดนครราชสีมา โดยมี ดร.วัชรี ปรัชญานุสรณ์ ประธานสภาอุสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา นางสาวเกตน์สิรี สมบูรณ์ศิลป์ รองผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานนครราชสีมา รวมทั้งผู้แทนจากส่วนราชการ และภาคเอกชนในพื้นจังหวัดนครราชสีมา ร่วมประชุมโดยมี ดร.อภิชัย สมบูรณ์ปกรณ์ ที่ปรึกษาโครงการฯ เป็นวิทยากรบรรยาย

ดร.อภิชัย สมบูรณ์ปกรณ์ กล่าวว่า โครงการนี้จัดขึ้นเพื่อให้บุคลากรที่รับผิดชอบในการขับเคลื่อนไมซ์ซิตี้ได้เข้าร่วมการประชุมเชิงฏิบัติการ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ องค์ความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมไมซ์ และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ อันจะนำมาซึ่งการเชื่อมโยงแนวทางพัฒนาและต่อยอดอุตสหากรรมไมซ์ร่วมกัน และระดมความคิดจากตัวแทนของกลุ่มผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมไมซ์ ร่วมกันยกร่างแผนการพัฒนากิจกรรมทางการตลาด”

ขับเคลื่อน MICE City

ดร.อภิชัย สมบูรณ์ปกรณ์ บรรยายต่อไปว่า สำหรับวิธีการในการขับเคลื่อนและประชาสัมพันธ์เมือง มีดังนี้ ๑.จัดทำข้อมูลแนะนำแหล่งท่องเที่ยว โรงแรมที่พัก ร้านอาหาร กิจกรรม เส้นทางการท่องเที่ยวในเมือง แนะนำแหล่งท่องเที่ยวเป็นภาพถ่าย ซึ่งจะทำให้ผู้ที่รับชมได้ใช้งานและนำไปเผยแพร่ได้หลากหลาย ทั้งในสื่อออนไลน์ หรือสื่อสื่งพิมพ์ต่างๆ ทั้งนี้ควรมีการจำแนกความสนใจในแต่ละประเภท ไปจนถึงการแนะนำการท่องเที่ยวแบบหนึ่งวัน  (One Day Trips) ๒.สื่อวิดีโอประชาสัมพันธ์เมืองในมุมมองต่างๆ เพื่อบอกเล่าเรื่องราวและประสบการณ์ในการเดินทางในเมือง ซึ่งทำได้ทั้งวิดีโอเป็นภาพเคลื่อนไหวที่มีทั้งภาพและเสียง สามารถนำเสนอข้อมูลจำนวนมากได้ในเวลาอันสั้น ซึ่งจะทำให้ผู้รับชมจดจำมากที่สุด เพราะในปัจจุบันผู้คนให้ความสนใจในการดูคลิปวิดีโออย่างมาก ทั้งในแอปพลิเคชั่น Facebook หรือ Tiktok หากมีการเรียบเรียงเรื่องราวให้น่าสนใจ จะทำให้นักเดินทางหรือผู้ชมมีความสนใจในเมืองมากยิ่งขึ้น ๓.ทำงานร่วมกับผู้ที่มีชื่อเสียง อินฟลูเอนเซอร์ หรือบล็อกเกอร์ในการประชาสัมพันธ์เมือง ทั้งที่เที่ยว ที่กิน และที่พักจะทำให้เมืองเป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น แต่เครื่องมือประเภทนี้ มีต้นทุนในการจ้างค่อนข้างสูง

๔.การสร้างกลุ่มหรือเพจ Facebook เพื่อใช้เป็นแพลตฟอร์มในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความเห็น และข้อซักถาม ก่อนที่เราจะตัดสินใจเลือกจุดหมายปลายทางของการเดินทาง นักเดินทางมักมีคำถามมากมายที่ต้องการคำตอบจากผู้ที่มีประสบการณ์ หรือผู้ที่อยู่ในสถานที่นั้นๆ ดังนั้นการสร้างกลุ่มหรือเพจใน Facebook เพื่อเป็นแพลตฟอร์มในการตอบคำถามเหล่านั้นยังเป็นการสร้างความประทับใจที่มากขึ้น แต่การสร้างแพลตฟอร์ตไม่ได้จำกัดอยู่แค่ใน Facebook เท่านั้น ยังสามารถทำสิ่งเดียวกันนี้ได้ใน Twitter หรือ Instagram ได้เช่นเดียวกัน เครื่องมือประเภทนี้จะตอบคำถามปัญหาและให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ ๕.ประชาสัมพันธ์สื่อในรูปแบบต่างๆ ทั้งภาพถ่าย วิดีโอ หรือคำบอกเล่าบนสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงานที่มักจะใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการค้นหาข้อมูล พูดคุย หรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น สื่อที่เป็นที่นิยมได้แก่ Facebook, Instagram, YouTube และ TikTok เฉลี่ยแล้วผู้คนมักใช้เวลาออนไลน์ประมาณ ๔ ชั่วโมงต่อวัน ในช่วงเวลาประมาณ ๒๐.๐๐ – ๒๔.๐๐ น. ๖.สร้างสโลแกน หรือแฮชแท็กสำหรับเป็นตัวเชื่อมในการบอกเล่าเรื่องราวความประทับใจของผู้คนที่เคยเดินทางมายังเมือง การสร้างสโลแกนหรือวลีสั้นๆ ที่สะท้อนถึงความเป็นเอกลักษณ์ของเมือง จะทำให้เป็นคำติดปาก วลีสั้นๆ ก็สามารถนำมาสร้างเป็นแฮชแท็กในสื่อสังคมออนไลน์ ที่ในปัจจุบันผู้คนนั้นใช้แฮชแท็กเพื่อค้นหาข้อมูลสิ่งที่เขาสนใจมากที่สุดบนสื่อออนไลน์ ดังนั้นจำเป็นต้องสร้างแฮชแท็กที่สะท้อนเมืองได้เป็นอย่างดี และเป็นสิ่งที่ต้องการให้เป็นที่รู้จักอีกด้วย เช่น #การท่องเที่ยวเชิงเกษตร #อเมริกันประวัติศาสตร์ #กีฬาฤดูหนาว เป็นต้น ๗.รวบรวมข้อมูลการรีวิวของผู้ที่เคยเดินทางมายังเมือง และแบ่งปันเรื่องราวเหล่านั้นในวงกว้าง ผู้คนนิยมแบ่งปันเรื่องราว ประสบการณ์ ความประทับใจต่างๆ ในการเดินทางท่องเที่ยว หรือการทำกิจกรรมอะไรบางอย่างลงแพลตฟอร์มออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, YouTube และ Twitter การรวบรวมเรื่องราวเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นรูปถ่าย หรือคลิปวิดีโอจะทำให้เมืองน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

๘.สร้างแอปพลิเคชั่นของเมืองบนโทรศัพท์มือถือ หรือจัดทำสื่อที่เหมาะสมกับการค้นหาข้อมูลทางโทรศัพท์ ในปัจจุบันผู้คนกว่า ๗๕% ของคนรุ่นใหม่ซึ่งเป็นวัยที่เดินทางบ่อยครั้ง มักใช้เวลากับโทรศัพท์มือถือมากกว่าอุปกรณ์อื่นๆ โดยมักจะพูดคุย และเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และแอปพลิเคชั่นต่างๆ การสร้างแอปพลิเคชั่นของเมือง หรือเว็บไซต์ที่เหมาะสมสำหรับการดูบนโทรศัพท์มือถือที่รวบรวมข้อมูลต่างๆ ไว้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ที่กิน ที่พัก การเดินทาง หรือแม้แต่สินค้าที่น่าสนใจ จะทำให้ผู้คนเหล่านั้นค้นหาข้อมูลได้ง่ายและเตรียมตัวสำหรับการเดินทางได้ดียิ่งขึ้น ๙.สร้างกิจกรรมหรือเกม เพื่อแลกของรางวัลให้ผู้ที่มาท่องเที่ยวรู้สึกสนุกสนาน และท้าทาย การสร้างกิจกรรมหรือเกมที่ท้าทาย และสนุกสนานเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และชื่นชอบของผู้คนทุกช่วงวัย อีกทั้งกิจกรรมหรือเกม ที่เกี่ยวข้องกับเมือง จะช่วยกระตุ้นให้เกิดความสนใจอยากจะเดินทางไปยังเมืองมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังช่วยกระจายข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์อีกด้วย เพราะในปัจจุบันการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมหรือเกมนั้นเข้าถึงได้ง่ายขึ้นในโลกของอินเทอร์เน็ต การร่วมสนุกหาผู้โชคดีในแฟนเพจจากการสุ่มหรือตอบคำถาม และมอบของรางวัล เป็นห้องพักฟรีจำนวน ๒ คืน บัตรรับประทานอาหาร บัตรแทนเงินสด เป็นต้น และ ๑๐.จัดงานมหกรรมและเทศกาลที่น่าสนใจ เพื่อดึงดูดผู้คนให้เดินทางเข้ามาสู่เมือง งานเทศกาลหรือมหกรรม เป็นโอกาสที่จะได้รับผู้คน สังคม หรือวัฒนธรรมที่นอกเหนือจากงานกิจกรรมทั่วไป จึงควรมีการดึงเอาศักยภาพของเมืองมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างมาก เช่น การจัดงานย้อนรอยประวัติศาสตร์ การแสดง การละเล่น รวมไปถึงการจัดจำหน่ายสินค้าขึ้นชื่อของแต่ละท้องถิ่น จัดวิ่งมาราธอน บนเส้นทางที่มีความอุดมสมบูรณ์ชองธรรมชาติ ให้ผู้ที่เข้าร่วมได้ชื่นชมกับทัศนียภาพของธรรมชาติ

จุดเด่นของโคราช

ดร.อภิชัย สมบูรณ์ปกรณ์ กล่าวอีกว่า “สำหรับข้อมูลและจุดเด่นของโคราช คือ มีแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติ โดยแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ซึ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และอำเภอวังน้ำเขียว ที่มีอากาศบริสุทธิ์ ปริมาณโอโซนมาก จนได้ชื่อว่าสวิตเซอร์แลนด์แดนอีสาน มีแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ที่เขาใหญ่มีการจำลองบรรยากาศในประเทศยุโรป ท่ามกลางหุบเขาอย่างพรีโม เพียซซ่า และ Mid-Winter Green ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีสถานที่เรียนรู้เชิงเกษตรที่เปิดให้เข้าชม เช่น ไร่องุ่น สวนผัก ฟาร์มโคนม–แกะ ฟาร์มเห็ด นอกจากนี้ โคราชยังมีแหล่งรองรับกิจกรรมผจญภัยมากมาย โดยเฉพาะในพื้นที่เขาใหญ่ ทั้งสวนสนุก สวนน้ำ กิจกรรมผจญภัยกลางแจ้งต่างๆ เช่น การโรยตัว โหนสลิง นั่งกระเช้า สกีบก ขี่ม้า พายเรือ ยิงธนู ขับรถ ATV โคราชยังมีศูนย์การค้าและช้อปปิ้งขนาดใหญ่หลายแห่ง ได้แก่ เดอะมอลล์, เทอมินอล ๒๑ และเซ็นทรัลพลาซ่า รวมทั้งพรีเมี่ยมเอาท์เล็ท เขาใหญ่ และที่สำคัญมีสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและโบราณสถานหลายแห่ง เช่น อุทยาประวัติศาสตร์พิมาย ปราสาทหินพนมวัน และวิหารเทพวิทยาคม วัดบ้านไร่ อีกทั้งยังมีงานประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัดคือ พิธีบวงสรวงย่าโม ประเพณีกินเข่าค่ำ แห่เทียนพรรษา และแข่งเรือพิมาย”

ภาพเมืองโคราชไม่ชัดเจน

จากนั้น ดร.อภิชัย สมบูรณ์ปกรณ์ เปิดให้ผู้ร่วมประชุมแสดงความคิดเห็น ในประเด็นดังนี้ ๑.กิจกรรมการตลาดที่เคยจัดขึ้นในอดีต และประสบความสำเร็จของโคราช ๒.ปัญหาและอุปสรรคในการจัดกิจกรรมด้านตลาดของจังหวัดคืออะไร จะแก้ไขอย่างไร หน่วยงานต่างๆ ควรมีส่วนรวมอย่างไร ๓.ข้อเสนอแนะ ซึ่ง ผศ.ดร.ณัฏฐินี ทองดี กล่าวว่า “ในส่วนที่เป็นการตลาดของโคราช เบื้องต้นคิดว่า มีข้อจำกัดคือ กลุ่ม Target Market ที่ชัดเจนของโคราช ยังไม่มีข้อมูลตรงนี้ที่จะ Support ข้อมูลในเรื่องของกลุ่มตลาด ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่ยังขาดความชัดเจนว่า กลุ่มที่ทำมีข้อจำกัดในการขับเคลื่อนทางการตลาดของเมืองไมซ์โคราช เช่น กลุ่มลูกค้าหรือนักเดินทางประเภทไหน รวมถึงตลาดในประเทศ และต่างประเทศ ทำให้เกี่ยวเนื่องกับตัว Supply Chain ของโคราช ดังนั้น การยกระดับการตลาดของโคราช จะทำให้สอดคล้องกับกลุ่มการตลาดจริงๆ จะไปในทิศทางไหน นอกจาก Target Market ที่ชัดเจนแล้ว อาจจะทำให้เกิดความชัดเจนด้านการตลาดของเมือง ปัจจุบันถ้ามองการตลาดของโคราชแล้วมองได้ ๒ ส่วน คือ ตลาดในเมืองและตลาดปากช่อง ใน ๒ ส่วนนี้แตกต่างกัน  ส่วนในเมือง ตัว P และ E สามารถเคลื่อนไปได้เพราะมีตัว Demand & Supply ที่รองรับได้ แต่ในส่วนของปากช่องเนื่องจากรูปแบบของกิจการจะเน้นในกลุ่มของการพักผ่อน กลุ่มตลาดที่เป็นตัว M กับ I นั้นค่อนข้างชัดเจนอย่างมาก อย่างไรก็ตามอาจเกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์ ที่อาจจะส่งผลในการทำการตลาด อัตลักษณ์ของเมืองน่าจะเป็นอีกส่วนที่ต้องนำเสนอ โคราชเป็นเมืองที่มีความหลากหลายตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ คือ เรื่องของการที่เมืองไมซ์เป็นมรดกโลก ซึ่งมีความชัดเจนและแตกต่างกับ ขอนแก่นและอุดรธานี แต่พอเราจะเล่าให้มองภาพของเมืองไมซ์โคราชนั้นมีข้อจำกัดอยู่ และสิ่งที่เป็นประเด็น คือ ความเข้าใจในส่วนของการทำการตลาดเกี่ยวกับไมซ์ของโคราชเนื่องจาก โคราชเป็นเมืองท่องเที่ยว แต่ว่าในส่วนของการขับเคลื่อนตัว C และ E นั้นยังไม่ชัดเจนนัก”


ต้องสร้างการรับรู้

ดร.วัชรี ปรัชญานุสรณ์ กล่าวว่า “เมื่อได้รับการประกาศเป็นเมืองไมซ์แล้ว สิ่งสำคัญ คือ การสร้างความรับรู้ให้กับคนในจังหวัด ต้องยอมรับว่าประชาชนเข้าใจและรู้เรื่องน้อย ฉะนั้นวันนี้สิ่งที่จำเป็นที่จะต้องทำคือ การสร้างความรับรู้ ให้คนในจังหวัดเข้าใจว่า ไมซ์คืออะไร มีส่วนร่วมได้อย่างไร เมื่อมีส่วนร่วมแล้ว เขาจะได้รับสิ่งใดตอบแทน ผลประโยชน์อย่างไร ต่อมา การสร้างความรับรู้นั้น เป็นกระบวนการที่จำเป็นและสำคัญมาก หากทำแค่ส่วนบน ลงไม่ถึงกลุ่มหรืออำเภอต่างๆ ก็จะไม่มีผลอะไร เนื่องจากโคราชเป็นจังหวัดใหญ่ วันนี้ต้องการให้มองถึงหลักการทำการตลาดเหมือนอย่างที่ ผศ.ดร.ณัฏฐินี ทองดี ได้กล่าวไป หากไม่ลงพื้นที่เราจะไม่เห็นอัตลักษณ์ และไม่ได้มีการจัดหมวดหมู่ที่ชัดเจน และนำไปปฏิบัติได้จริงๆ หากพวกเราร่วมกันในแผนของปี ๒๕๖๖ ลงลึกในรายละเอียดในส่วนนี้ให้มากขึ้น ต้องดึงองค์กรเอกชน ให้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง แน่นอนสิ่งที่ทำในตอนนี้อาจจะไม่เกี่ยวกับใคร แต่ในอนาคตจะต้องเกี่ยวกับทุกคนแน่นอน ส่วนตัวเห็นด้วยอย่างมากที่จะจัดทำ Facebook หรือสื่อต่างๆ มีผู้ดูแลอย่างชัดเจน ไม่พึ่งแค่ราชการเท่านั้น”

“แต่เนื่องจากเราไม่มีงบประมาณ หากวันนี้มีการสนับสนุนให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วน แน่นอนเรามีบุคลากร แต่ก็ต้อง Support เขาด้วยหากให้เขาเข้ามาดูแลในส่วนนี้ คิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ดีมาก ส่งบุคลากรในองค์กรลงไปยังพื้นที่ทุกอำเภอเพื่อหาอัตลักษณ์ โดยคนเหล่านั้นเป็นผู้คิดค้นให้ และหลังจากนั้นเป็นการประยุกต์การทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น ททท. อพท.ต่อยอดให้ชุมชน ให้ได้ยืนด้วยลำแข้งของตนเอง แต่ในวันนี้เอกชนไม่มีงบประมาณในการทำอย่างเต็มที่ วันนี้มีการรับรู้เพียงไม่กี่คน ต่อไปต้องการให้จัดประชุม Work Shop แต่ละหัวข้อของการทำประชาสัมพันธ์ มันจำเป็นมากที่จะต้องมีสื่อ อย่างที่กล่าวไป ที่ผ่านมามีการวางแผนที่ไม่ชัดเจนมากนัก ส่วนตัวอยากเห็นว่า ต่อไปโคราชจะเป็นอย่างไร หลังจบสัมมนานี้ ต้องปรึกษากันต่อ อย่าทิ้งช่วงไว้นาน” ดร.วัชรี กล่าว

หาอัตลักษณ์ไม่เจอ

นางสาวเกตน์สิรี สมบูรณ์ศิลป์ กล่าวว่า “สินค้าจากการท่องเที่ยวของโคราชนั้นค่อนข้างหลากหลาย และโคราชก็มีจุดเด่นจำนวนมาก ทำให้หาอัตลักษณ์ของตนเองไม่เจอ ไม่รู้จะนำเสนอด้านไหน วันนี้ ททท.ต้องการกิจกรรมขนาดใหญ่ที่จะช่วยดึงนักท่องเที่ยว เช่น พืชสวนโลกที่จะจัดขึ้นอีก ๗ ปีข้างหน้า กิจกรรมกีฬา โคราชก็อยากเป็นสนามในการจัดกีฬาต่างๆ คาดว่าคนที่เดินทางเข้ามาจะมากขึ้น และยังเห็นด้วยกับการทำการตลาดและการสื่อสาร ในระบบออนไลน์มีการจัดทำทุกหน่วยงาน แต่ต่างคนต่างทำ ไม่มีการรวมตัวหรือเจ้าภาพหลัก”

นายจิรายุ วัยวุฒิ ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ตั้งแต่ผมอยู่โคราชมา ๑๐ กว่าปี กิจกรรมการท่องเที่ยวเมื่อ ๑๐ กว่าปีที่แล้ว ยังคงคล้ายกับปัจจุบัน ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงและแปลกใหม่ขึ้น งานที่น่าสนใจที่สุด คือ World Tech จัดขึ้นเมื่อ ๒๗ ปีที่แล้ว หลังจากนั้นมาโคราชไม่เคยมีงานใหญ่อีกเลย โคราชนั้นไม่ได้มีแค่อำเภอปากช่อง วังน้ำเขียว ยังมีตัวเมืองอีก ซึ่งตัวเมืองโคราชในช่วงเทศกาลไม่มีคนเลย คนไปอยู่ต่างอำเภอหมด ส่วนวันจันทร์ถึงศุกร์ คนเยอะมาก หากเราจะทำธุรกิจ ไม่ว่าจะอะไรก็แล้วแต่ คนเขาจะไปอยู่ที่ปากช่องมากกว่า ปัญหาอุปสรรคที่หนักที่สุดในโคราชผมเห็นว่าเป็นเรื่องของการคมนาคม โคราชขอเป็นไมซ์เมื่อปี ๒๕๖๓ ขณะนั้นบอกว่าโคราชจะมีมอเตอร์เวย์ในปี ๒๕๖๒ แต่ขณะนี้ ๒๕๖๕ ยังไม่ได้เปิด และเลื่อนไป ๒๕๖๗ ส่วนรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ ก็ยังไม่เปิดใช้งาน ปัญหานโยบายพวกนี้ภาครัฐต้องผลักดันให้เร็วขึ้น เมื่อภาครัฐช้าผลกระทบก็จะเกิดกับผู้ลงทุน ผมเห็นการแก้ปัญหาของขอนแก่น ทำเป็นรถวิ่งในเมือง เชื่อมต่อการชนส่งระยะสั้น จากอำเภอต่างๆ แต่ในโคราชไม่มีแบบนี้ ภาครัฐทำอะไรบ้าง”

“ที่หลายคนบอกว่าโคราชมีหลายเป้าหมาย แต่ในความหลากหลายนั้นทำให้มีกลุ่มเป้าหมายเยอะ โคราชจัดงานนานาชาติบ่อยแต่ไม่มีใครรู้ อีกทั้งเมืองโคราชมีระเบียบที่เข้มงวดมากเรื่องการกินและดื่ม จะไปเที่ยวสถานบันเทิงก็เจอด่าน ระบบขนส่งมวลชนไม่ได้เอื้อให้การท่องเที่ยว โคราชเป็นจังหวัดที่มีด่านมากที่สุดในประเทศไทย ไม่ได้บอกว่า ไม่ดี เพราะสามารถลดปัญหาที่จะเกิดขึ้นบนถนนได้ แต่ทำอย่างไรให้ไปกันได้กับธุรกิจท่องเที่ยวในเมือง เรื่องของการมีส่วนร่วมสำคัญมาก องค์กรเอกชนในโคราชเข้มแข็งมาก ถือว่าเป็นโอกาสดีที่เราร่วมมือกัน แต่ภาครัฐร่วมได้มากเพียงใด อย่างการเก็บข้อมูลต่างๆ ส่วนตัวเชื่อว่า ทุกหน่วยงานนั้นเก็บข้อมูลอยู่แล้ว แต่ไม่เคยนำมาแบ่งปันกัน วิเคราะห์ร่วมกัน” นายจิรายุ กล่าว

เริ่มทำเรื่องที่ทำได้

ดร.อภิชัย สมบูรณ์ปกรณ์ กล่าวสรุปการประชุมว่า “หลายจังหวัดมีปัญหาคล้ายกัน ผมเชื่อว่าทุกคนคิดการใหญ่ แต่ขณะนี้โคราชต้องมองใกล้ๆ และแผนใหญ่ต้องมีด้วย บางสิ่งที่อยากทำต้องใช้เวลา เช่น โลจิสติกส์ เพราะมีโครงสร้างใหญ่ ผมต้องการให้โคราชมาสนใจไตรมาส ๔ มากกว่า จะทำอะไรได้บ้าง โดยมองทั้งไกลและใกล้ไปพร้อมกัน เพราะต้องของบประมาณในปี ๒๕๖๗ ตั้งงบ ส่งเรื่อง และรออนุมัติ ซึ่งต้องใช้เวลา จึงต้องเตรียมแผนตลอดเวลา ทั้งนี้ ผมขอเสนอว่า อะไรที่ทำได้ง่าย เช่น Marketing จะทำอย่างไรคนจะมาประชุมที่โคราช ต้องคิดว่าในไตรมาสที่ ๔ ต้องการให้เกิดอะไรขึ้น เป็นภาพใหญ่และต้องไม่ลืมภาพเล็ก วางแผนไปทีละอย่าง ลงทุนเล็กน้อยในการทำคลิปวิดีโอเมืองโคราช ครั้งแรกอาจจะทำเป็นประจำเดือน หรือประจำซีซั่นที่น่าสนใจ แต่ต้องทำให้เป็นมืออาชีพ ลงทุนลงแรง และรวบรวมข้อมูลอันดับของจังหวัด เพื่อใช้โปรโมตความเก่งของโคราช ปัญหาในขณะนี้ คือ จะทำยังไง เพราะไม่มีเงินสักบาท คลิปวิดีโอทำแค่นี้ได้ไหม ของบจากภาครัฐ แต่ต้องตั้งงบประมาณก่อน อนุมัติและเริ่มดำเนินการในปี ๒๕๖๗ ซึ่งแน่นอนควรเตรียมการประชุมว่า ต้องการอะไร เพราะในตอนนี้มีภาครัฐมาฟัง รับรู้ถึงความต้องการของเอกชน เป็นเรื่องที่ดีในการสื่อสารและรวดเร็วในการเขียนโครงการเสนอต่อจังหวัด ผมเชื่อว่าสิ่งที่เราคุยกันต้องกลับไปคิดและปรึกษากันอย่างสม่ำเสมอ เสนอสิ่งที่แต่ละหน่วยงานต้องการและมาเลือกกันว่าเรื่องไหนตรงกัน พร้อมกับพัฒนาต่อยอดในเรื่องนั้น”


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๗๓๖ วันพุธที่ ๒๐ - วันอังคารที่ ๒๖ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕


1036 1657