29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

August 12,2022

‘กรมศิลปากร’เอาผิดที่พักสงฆ์ รุกปราสาทพันปี‘หลุ่งตะเคียน’

 

ชาวหลุ่งตะเคียนไม่หยุด บุกร้อง ป.ป.ช.โคราช ให้ตรวจสอบข้าราชการท้องถิ่น อ้างมีส่วนเกี่ยวข้องก่อสร้างเจดีย์ในพื้นที่ปราสาทบ้านหลุ่งตะเคียน และจี้สำนักพุทธฯ จัดการผู้อวดอ้างเป็นอรหันต์ ล่าสุด ‘กรมศิลปากร’ ยอมแจ้งความดำเนินคดีผู้บุกรุกแล้ว


ตามที่ ‘โคราชคนอีสาน’ นำเสนอข่าว ประชาชนในพื้นที่บ้านหลุ่งตะเคียน ตำบลหลุ่งตะเคียน อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา ร้องเรียนที่พักสงฆ์โคกปราสาท บุกรุกพื้นที่เขตโบราณสถานปราสาทบ้านหลุ่งตะเคียน พบสิ่งปลูกสร้างจำนวน ๑๐๗ จุด ซึ่งปัจจุบันสำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา สั่งให้รื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างออกไปแล้ว นั้น

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๑.๐๐ น. ชาวบ้านหลุ่งตะเคียน นำโดยผู้ดูแลแฟนเพจ “ห้วยแถลง” พร้อมด้วยนางพรไพลิน วงษ์ทองดี และนางเปรมฤดี เพียนาม เดินทางมาที่สำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดนครราชสีมา เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนต่อ นายปริญญา วิกุลศิริรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบข้าราชการในพื้นที่ ที่นำโบราณสถานปราสาทบ้านหลุ่งตะเคียน เข้าไปบรรจุในแผนพัฒนาการท่องเที่ยว และมีการก่อสร้างต่างๆ ในพื้นที่ปราสาท โดยที่ชาวบ้านไม่ทราบและถูกห้ามเข้าพื้นที่

นายปริญญา วิกุลศิริรัตน์ กล่าวว่า “ป.ป.ช.จะดำเนินการตรวจสอบตามข้อร้องเรียน โดยต้องพิจารณาก่อนว่า ข้าราชการในท้องถิ่นนั้นมีอำนาจกระทำได้หรือไม่ แต่ถ้าเป็นเรื่องส่วนตัวก็จะตรวจสอบให้ เพราะบางครั้งข้าราชการเหล่านี้ อาจจะรับส่วนตัว ก็จะดูพฤติการณ์ของแต่ละคนว่า ผิดต่ออำนาจหน้าที่หรือไม่ ในกรณีนี้ ป.ป.ช.จะตรวจสอบว่า มีใครกระทำผิดต่อหน้าที่หรือไม่”

จี้เอาผิดผู้อวดอ้าง

จากนั้น ชาวบ้านหลุ่งตะเคียน เดินทางไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครราชสีมา เพื่อยื่นหนังสือให้ตรวจสอบพระฉลวย อาภาธโร ผู้ดูแลที่พักสงฆ์โคกปราสาท กรณีอวดอ้างว่า ตนเป็นพระอรหันต์ และอวดคุณวิเศษต่างๆ โดยมีเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้รับหนังสือ

นางพรไพลิน วงษ์ทองดี กล่าวว่า “เนื่องจาก อบต.หลุ่งตะเคียน โดยเฉพาะปลัด และนายช่าง ดำเนินการก่อสร้างเจดีย์ ในพื้นที่โบราณสถานปราสาทบ้านหลุ่มตะเคียน ซึ่งชาวบ้านต้องการโบราณสถานคืน อบต.นำงบมาจากไหนไปสร้างก็ไม่รุ้ ชาวบ้านก็ไม่รับรู้ว่าก่อสร้าง ไม่บอกกล่าวชาวบ้านสักคน วันนี้จึงมาร้องเรียน ป.ป.ช.ให้เข้าไปตรวจสอบว่า มีการก่อสร้างอะไรบ้าง ทำอะไรจริงหรือไม่ การก่อสร้างนี้ไม่สมควรที่จะสร้างในพื้นที่โบราณสถาน หินโบราณ วัตถุโบราณต่างๆ หายไปหมด ชาวบ้านต้องการทวงคืนสมบัติโบราณของชาติ ชาวบ้านสงสัยมาตลอดว่า เจดีย์งอกขึ้นมาได้อย่างไร ใช้เงินของใครในการก่อสร้าง ไม่มีใครต้องการรีสอร์ต ไม่ต้องการสถานที่ท่องเที่ยว แต่ต้องการโบราณสถานคืนมา หากต้องการก่อสร้างเจดีย์หรืออะไร วัดในหมู่บ้านก็มี ทำไมไม่ไปก่อสร้าง ไม่ไปพัฒนา ไม่ใช่มาสร้างเจดีย์ในพื้นที่โบราณสถานแบบนี้”

“สำหรับพระอรหันต์ ก็ไม่รู้เป็นอรหันต์มาจากไหน เห็นแต่หันซ้ายหันขวา และยังพาครอบครัวเข้าไปอาศัยภายในที่พักสงฆ์ พื้นที่นี้เป็นเขตโบราณสถาน ไม่มีสิทธิ์เข้าไปอาศัย ไม่ว่าจะใครก็ตาม ปราสาทหินพิมาย ปราสาทหินพนมรุ้ง ไม่มีใครเข้าไปอยู่ แต่ทำไมปราสาทบ้านหลุ่งตะเคียน ถึงมีคนเข้าไปอยู่อาศัย ชาวบ้านก็แปลกใจ ทุกคนยังต้องการวัฒนธรรมเดิมๆ ต้องการโบราณสถานปราสาทบ้านหลุ่งตะเคียนคืน” นางพรไพลิน กล่าว

นางเปรมฤดี เพียนาม กล่าวว่า “ขอทวงโบราณสถานปราสาทบ้านหลุ่งตะเคียนคืน แล้วจะไปซื้อที่ที่ไหนก็ได้ จะก่อสร้างสถานปฏิบัติธรรมอะไรก็ทำไป ไม่มีใครหวง แต่ขออย่าทำในพื้นที่โบราณสถาน ซึ่งเอาไว้ให้ลูกให้หลานเข้าไปศึกษา ไม่ใช่มองไปเห็นแต่คนจูงมือกันเดินเหมือนเป็นรีสอร์ต”

นางพรไพลิน วงษ์ทองดี กล่าวอีกว่า “ฝากถึงอธิบดีกรมศิลปากร ให้ดำเนินคดีกับผู้บุกรุกปราสาท ตอนก่อสร้างต่างๆ เขาถามท่านหรือไม่ มีใครขออนุญาตหรือไม่ ตอนเขาก่อสร้างทับพื้นที่โบราณสถาน อธิบดีฯ ทราบหรือไม่ ถ้าไม่ขออนุญาต ก็ขอวอนให้ดำเนินการ พาเขาออกจากแหล่งโบราณสถานด้วย ท่านมีอำนาจมากกว่าชาวบ้าน ชาวบ้านบอกเขามา ๑๐ ปีแล้ว เขาก็ไม่ย้ายออก ท่านมีอำนาจ ท่านมีกฎหมาย ขอฝากความหวังไว้กับท่านอธิบดีฯ และขอให้แจ้งความดำเนินคดีพวกที่บุกรุกพื้นที่โบราณสถานด้วย”

ผู้ดูแลแฟนเพจ “ห้วยแถลง” กล่าวท้ายสุดว่า “หลังจากที่กรมศิลปากร โดยสำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา สั่งให้ผู้บุกรุกรื้อย้ายสิ่งปลูกสร้างทั้ง ๑๐๗ จุด ออกจากพื้นที่โบราณสถาน หากครบกำหนด ๙๐ วัน แล้วไม่ดำเนินการแจ้งความกับผู้บุกรุก ชาวบ้านหลุ่งตะเคียนจะร้อง ป.ป.ช.อีกครั้ง เพื่อให้ดำเนินการกับสำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา ในฐานะละเว้นหน้าที่”

ทั้งนี้ “โคราชคนอีสาน” ได้ติดต่อกับนางสาวบุญเหลือ ผาสุขสม ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อให้ชี้แจงผ่านทางโทรศัพท์ในประเด็นต่างๆ ที่ชาวบ้านหลุ่งตะเคียนกล่าวอ้าง ซึ่งนางสาวบุญเหลือ ไม่สะดวกจะชี้แจงผ่านโทรศัพท์

ดำเนินคดีผู้บุกรุก

เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๖๕ นายทศพร ศรีสมาน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว ว่า “ล่าสุดผมทำหนังสือแจ้งความแล้วเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เพราะมีการร้องเรียนมา โดยแจ้งความเจ้าสำนักสงฆ์หรือพระ ในข้อหาบุกรุกพื้นที่โบราณสถานปราสาท”

พ.ต.ท.พลพิไชย พันธ์อินทร์ สว.สภ.เมืองพลับพลา เปิดเผยว่า “เบื้องต้นการแจ้งความยังไม่ระบุว่า จะดำเนินคดีกับใคร แต่เป็นการแจ้งความผู้ดูแลที่พักสงฆ์ ผมจึงให้ไปทำเอกสารเพิ่มเติม และเบื้องต้นรับแจ้งความร้องทุกข์ไว้แล้ว ซึ่งหลังจากนี้ ผมจะทำหนังสือไปถึงสำนักงานที่ดิน อำเภอจักราช ให้มารังวัดที่ดินว่า พื้นที่จริงๆ ของแหล่งโบราณสถานมีเท่าไหร่ เพราะกรมศิลปากรเพิ่งมาขึ้นทะเบียนเมื่อปี ๒๕๓๗ แต่ทราบว่า ก่อนหน้านั้นชาวบ้านมีเอกสารสิทธิ์ครอบครองอยู่ ก็ต้องไปดูว่า ชาวบ้านหรือกรมศิลปากรมาก่อน หากกรมศิลปากรมาทีหลัง ต้องไปดูว่าสำนักงานที่ดินเพิกถอนสิทธิ์ชาวบ้านหรือยัง”

อนึ่ง บล็อก “dr-nontayan.blogspot.com” ซึ่งมี ผศ.ดร.ณัฐนนต์ สิปปภากุล อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เป็นเจ้าของบล็อกและผู้เขียน ระบุว่า พระบรมเจดีย์พุทธนิมิต หรือเจดีย์พระธาตุ ณ ที่พักสงฆ์โคกปราสาท เกิดจากการกล่าวอ้างว่า ครั้งที่หลวงแม่ชีอุ่น ไร่พิมาย ซึ่งเป็นมารดาของหลวงพ่อฉลวย อาภาธโร ได้ละสังขารเมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๕๖ และหลังจากการถวายเพลิงสรีระในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๖ แล้ว ปรากฏว่า อัฐิของแม่ชีอุ่นกลายเป็นพระอรหันตธาตุทันที และเนื่องจากสถานที่ถวายเพลิงหลวงแม่ในครั้งนั้น ยังคงมีกองเถ้าถ่าน และอัฐิธาตุบางส่วนปะปนอยู่ หลวงพ่อฉลวย อาภาธโร จึงอยากจะสร้างเจดีย์ขนาดเล็กครอบไว้เป็นการส่วนตัว เพื่อเป็นอนุสรณ์สถานรำลึกถึงคุณงามความดีของมารดา และเพื่อให้ลูกหลานและพุทธศาสนิกชนได้กราบสักการะบูชา ซึ่งมีนายธนาบดินทร์ สิปปภากุล (บุตร ผศ.ดร.ณัฐนนต์ สิปปภากุล) และเพื่อนภาควิชาสถาปัตยกรรมไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย นายนิธิณัช สังสิทธิ นายธิติวุฒิ วิเชียรนุกูล และนายสุภเวช กิ่งตัน เป็นผู้ออกแบบ

โดยการก่อสร้างพระบรมเจดีย์พุทธนิมิต หรือเจดีย์พระธาตุ ณ ที่พักสงฆ์โคกปราสาท มีผู้ร่วมบริจาคเงินเข้าบัญชี ผศ.ดร.ณัฐนนต์ สิปปภากุล และบริจาคโดยตรงกับหลวงพ่อฉลวย อาภาธโร เพื่อก่อสร้าง จำนวน ๑,๑๗๐ ราย รวมรายรับทั้งหมด ๕,๐๑๙,๙๐๖.๕๗ บาท และระบุค่าใช้จ่ายทั้งหมด ดังนี้ ๑.ค่าก่อสร้างฐานราก ๕๐๐,๐๐๐ บาท ๒.ค่าก่อสร้างคานและเสาปูน ๔๘๑,๒๘๐ บาท ๓.ค่าปูหินอ่อนและกระเบื้องแกรนิต ๑๐๐,๐๐๐ บาท ๔.ค่าระบบไฟส่องสว่างเจดีย์และและอื่น ๓๔,๐๐๐ บาท ๕.ค่าตกแต่งภายในและภายนอก ๑๐๐,๐๐๐ บาท ๖.ค่าดำเนินการและผู้ควบคุมงานก่อสร้าง ๑๐๐,๐๐๐ บาท ๗.จ่ายค่ารับเหมาช่างหินทราย รวม ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ๘.อื่นๆ ประมาณ ๒๐๐,๐๐๐ บาท รวมยอดรายจ่ายทั้งหมด ๖,๕๑๕,๒๘๐ บาท

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ วันพุธที่ ๑๐ - วันอังคารที่  ๑๖  เดือนสิงหาคม  พุทธศักราช  ๒๕๖๕


970 1612