19thApril

19thApril

19thApril

 

December 20,2012

ศูนย์ประชุมนิทรรศการ ๑๐๐ ไร่ งบ ๑,๒๐๐ ล้านบาทรองรับเออีซี

koratdaily2127sut
มทส.ผลักดันศูนย์ประชุมและจัดแสดงนิทรรศการ ๖๐,๐๐๐ ตารางเมตร ใหญ่ระดับภาคอีสานตอนล่าง เสนอกระทรวงศึกษาธิการและสภาพัฒน์ฯ ตอบสนองยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศและประชาคมอาเซียน อธิการบดีเตรียมพื้นที่ ๑๐๐ ไร่บริเวณเทคโนธานี  รองรับผู้เข้าร่วมประชุมและกิจกรรมต่างๆ ได้พร้อมกัน ๑๕,๐๐๐ คน หากได้รับการจัดสรรงบ ๑,๒๐๐ ล้านบาท พร้อมก่อสร้างได้ทันที 

koratdaily2127sut2
ตามที่มีการผลักดันโครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและจัดแสดงนิทรรศการภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี(มทส.) อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ด้วยงบประมาณ ๑,๒๐๐ ล้านบาท เพื่อรองรับจัดการประชุมและการจัดแสดงนิทรรศการขนาดใหญ่ระดับชาติและนานาชาติ รวมทั้งงานแสดงสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ในเขตจังหวัดนครราชสีมาและกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ซึ่งในการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๕ ที่จังหวัดสุรินทร์ มีมติเห็นชอบในหลักการแล้วนั้น 

ล่าสุดศาสตราจารย์ ดร.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี(มทส.) กำลังเตรียมผลักดันโครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและจัดแสดงนิทรรศการภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง เป็นศูนย์ประชุมนานาชาติและจัดแสดงนิทรรศการขนาดใหญ่ ในพื้นที่ ๑๐๐ ไร่ บริเวณเทคโนธานีของมหาวิทยาลัย ซึ่งจะคล้ายกับศูนย์ประชุมขนาดใหญ่ส่วนภูมิภาค ที่ได้ดำเนินการก่อสร้างในจังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดภูเก็ต โดยศูนย์ประชุมแห่งนี้จะมีพื้นที่ใช้สอยรวม ๖๐,๐๐๐ ตารางเมตร ประกอบด้วย อาคารศูนย์ประชุมและสัมมนา (Meeting and Convention Center), ส่วนจัดแสดงงานและนิทรรศการ (Exhibition Hall), ศูนย์ธุรกิจ (Business Center), ศูนย์อาหารและห้องจัดเลี้ยง (Food Court and Ballroom) และพื้นที่จอดรถ (Parking Lot) มีระบบสาธารณูปโภคที่สามารถรองรับผู้เข้าร่วมประชุมและร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้พร้อมกัน ๑๕,๐๐๐ คน ใช้งบประมาณ ๑,๒๐๐ ล้านบาท มีระยะเวลาในการก่อสร้าง ๓ ปี แบ่งเป็นปีที่ ๑ จำนวน ๓๖๐ ล้านบาท, ปีที่ ๒ จำนวน ๔๘๐ ล้านบาท และปีที่ ๓ จำนวน ๓๖๐ ล้านบาท 

อธิการบดี มทส. กล่าวถึงศักยภาพของจังหวัดนครราชสีมาว่า ประเทศไทยซึ่งตั้งอยู่ระหว่างสองประเทศยักษ์ใหญ่คือ จีนและอินเดีย ทั้งยังอยู่กลางระหว่างกลุ่มประเทศอาเซียนตอนบนและกลุ่มประเทศอาเซียนตอนล่าง จึงมีความได้เปรียบด้านภูมิยุทธศาสตร์ในการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจการค้าขาย ขนส่ง บริการ การลงทุนกับประเทศเวียดนาม ลาว กัมพูชา และพม่า ผ่านภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด โดยรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนให้มีการลงทุนและดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระจายความเจริญมายังภูมิภาคนี้ ทั้งด้านคมนาคม เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม เพื่อสร้างโอกาสและสร้างสมรรถนะการแข่งขันเมื่อ AEC (Asean Economic Community หรือประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน) เกิดขึ้น เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-นครราชสีมา, โครงการมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-นครราชสีมา, โครงการขยายเส้นทางรถไฟระบบทางคู่ เป็นต้น สำหรับจังหวัดนครราชสีมาถือเป็นจังหวัดที่มีจำนวนประชากรมากเป็นอันดับสองของประเทศ เป็นศูนย์กลางทางด้านการคมนาคม อุตสาหกรรม การค้า ศูนย์ราชการ กองบัญชาการกองทัพ ตำรวจ ศูนย์การศึกษา และศูนย์การบริการสาธารณสุขที่สำคัญ และยังเป็นประตูสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่สามารถเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ภาคกลางรวมทั้งพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก ไปสู่กลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Great Mekong Subregion, GMS) ได้

อธิการบดี มทส. กล่าวอีกว่า จากความสำคัญทางภูมิยุทธศาสตร์ดังกล่าวของจังหวัดนครราชสีมา ทำให้รัฐบาลมีการลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น การก่อสร้างโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา, โครงการพัฒนาเขตอุตสาหกรรม, การสร้างสนามบินส่วนภูมิภาคนครราชสีมา, การจัดตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี,โครงการผลิตไฟฟ้าแบบสูบกลับลำตะคอง, การสร้างสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษาฯ เพื่อรองรับการเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬานานาชาติ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม โครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญและจำเป็นสำหรับภูมิภาคที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและสังคม ที่ยังขาดแคลนอยู่เป็นอย่างมากและมีความต้องการของทุกภาคส่วนอย่างยิ่ง คือศูนย์ประชุมและจัดแสดงนิทรรศการขนาดใหญ่ เพื่อรองรับจัดการประชุมและสัมมนา รวมถึงการจัดแสดงนิทรรศการ การแสดงด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ระดับชาติและนานาชาติที่ควรจัดในส่วนภูมิภาค เช่น งานประชุมและนิทรรศการมันสำปะหลังโลก งานประชุมและนิทรรศการกระบือโลก เป็นต้น การประชุมใหญ่ข้าราชการ ทหาร ตำรวจในภาคอีสาน การประชุมใหญ่และให้ความรู้แก่เกษตรกร การประชุมใหญ่ผู้ประกอบการ รวมเอสเอ็มอี ตลาดนัดแรงงาน นิทรรศการทางการศึกษา นิทรรศการทรัพย์สินทางปัญญา นิทรรศการเครื่องจักรกลการเกษตร พิธีพระราชทานปริญญาบัตร งานแสดงคอนเสิร์ต ดนตรี หัตกรรม เป็นต้น

“ผมคิดว่าการก่อสร้างศูนย์ประชุมและจัดแสดงนิทรรศการภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างนี้ จะสามารถส่งเสริมศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทย ในการรองรับความต้องการของภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง สอดรับกับการเพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมไมซ์ (Meetings Incentive Travel Conventions and Exhibitions) และเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญเพื่อเตรียมการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี ๒๕๕๘ และองค์กรการค้าโลก(WTO) ในปี ๒๕๖๓ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการประชุมครม.สัญจร เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๕ ที่จังหวัดสุรินทร์ มีมติเห็นชอบในหลักการแล้ว แต่การผลักดันโครงการสำคัญนี้ยังคงต้องดำเนินต่อไป โดยมทส.ได้นำเสนอโครงการดังกล่าวผ่านไปยังกระทรวงศึกษาธิการและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อยืนยันว่าโครงการดังกล่าวจะมีส่วนส่งเสริมขีดความสามารถและตอบสนองต่อยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ ในส่วนของ มทส.มีความพร้อมทุกอย่างทั้งพื้นที่รองรับการก่อสร้างและแบบก่อสร้าง หากได้รับจัดสรรงบประมาณสามารถสร้างได้ทันที” อธิการบดี มทส. กล่าวสรุป
 
อนึ่ง ปัจจุบันสถานที่การจัดประชุมและสัมมนาภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี(มทส.) คือ อาคารสุรพัฒน์ ๒ ที่มีความจุ ๓,๐๐๐ คน ในอดีตใช้ประโยชน์ในงานแสดงสินค้าและอุตสาหกรรม Wolrdtech 95 ปัจจุบันให้บริการรองรับความต้องการจัดประชุมและสัมมนาของภาคส่วนต่างๆ ในจังหวัดนครราชสีมาและภูมิภาคใกล้เคียง เช่น การจัดประชุมของหน่วยงานราชการ ครู องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ทหาร ตำรวจ สาธารณสุข งานพิธี เป็นต้น รวมทั้งการจัดแสดงนิทรรศการต่างๆ งานพิธีพระราชทานปริญญาบัตร งานพิธีพระราชทานเข็มกาชาด งานวันเกษตรแห่งชาติ งานตลาดนัดอุดมศึกษา การประชุมใหญ่สามัญสหกรณ์ครูประจำปี ซึ่งมีผู้เข้าร่วมงานนับหมื่นคนในแต่ละกิจกรรมล้นความจุที่จะรองรับได้ มทส.จึงผลักดันโครงการศูนย์ประชุมและนิทรรศการภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างมารองรับ  

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๓๘ ฉบับที่ ๒๑๒๗ วันพฤหัสบดีที่ ๒๐ - วันจันทร์ที่ ๒๔ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๕๕

746 1350