23rdApril

23rdApril

23rdApril

 

September 11,2022

เห็นชอบ‘โคราชจีโอพาร์ค’ ทะยานสู่‘อุทยานธรณีโลก’ ‘ยูเนสโก’รับรองเมษา’๖๖

 

สภาจีโอพาร์คโลก เห็นชอบขั้นต้นให้อุทยานธรณีโคราช เป็นอุทยานธรณีโลก เตรียมอนุมัติและรับรองในเดือนเมษายน ๒๕๖๖ “ผศ.ดร.ประเทือง” เผยกรรมการฯ ไร้ข้อกังขา ชมโคราช คือ จีโอพาร์คที่แท้จริง เป็นตัวอย่างให้กับจีโอพาร์คทั่วโลก เดินหน้าพัฒนาต่อ ส่งเสริมชุมชนมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน


สืบเนื่องจาก ครม.ได้รับรองให้อุทยานธรณีโคราช เป็นอุทยานธรณีระดับประเทศ และอนุมัติให้ขอรับการประเมินจากยูเนสโก เพื่อยกระดับเป็นอุทยานธรณีระดับโลก ต่อจากอุทยานธรณีสตูล ซึ่งเดิมทีมีกำหนดการประเมินในช่วงปี ๒๕๖๒ แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-๑๙ ทำให้การประเมินถูกเลื่อนเรื่อยมานั้น

จากนั้น องค์การยูเนสโกมอบหมายให้ Dr.Marie Luise Frey ผู้ประเมินอาวุโสจากสหพันธรัฐเยอรมนี และ Ms.Sarah Gamble ผู้ประเมินจากประเทศแคนาดา ลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ ๒๓-๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๕ รวบรวมข้อมูลและเก็บหลักฐานประกอบการรับรองอุทยานธรณีโคราช เพื่อรับรองให้เป็นอุทธยานธรณีโลกของยูเนสโก โดยผู้ประเมินมีกำหนดการประชุมร่วมกับคณะทำงาน ชุมชน และทุกภาคส่วนในจังหวัดนครราชสีมา เพื่อรวบรวมข้อมูลภาพรวมและลงพื้นที่ตรวจประเมินภาคสนาม จำนวน ๑๗ แหล่งสำคัญ ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งนี้มีแนวโน้มที่อุทยานธรณีโคราช จะได้รับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลก ตามที่ “โคราชคนอีสาน” เสนอข่าวไปอย่างต่อเนื่องแล้วนั้น

ต่อมาเมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๕ ที่โรงแรมซีซี รีสอร์ท อำเภอละงู จังหวัดสตูล มีการประชุมสภาอุทยานธรณีโลก (UNESCO Global Geoparks council meeting : UGGp) เพื่อพิจารณาการขอรับรองเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก รวมถึงการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาเครือข่ายอุทยานธรณีโลกภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก (AC) ทั้งนี้ ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช ร่วมสังเกตการณ์ด้วย

ภายหลังการประชุม ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช เผยแพร่ข้อความผ่านโซเชียลว่า “ขอเรียนแจ้งผลการพิจารณาการประเมินเป็น UNESCO Global Geopark ของที่ประชุมสมาชิกสภาจีโอพาร์คโลก วันที่ ๔ กันยายน ๒๕๖๕ ณ สตูลยูเนสโกโกลบอลจีโอพาร์ค ซึ่งที่ประชุมมีมติ “ยอมรับ” โคราชจีโอพาร์คให้เป็น UNESCO Global Geopark โดยทาง UNESCO จะประกาศผลการรับรองอย่างเป็นทางการ ในเดือนเมษายน ๒๕๖๖ ต่อไป และที่ประชุมสภาจีโอพาร์คโลกได้มีข้อเสนอแนะเพื่อให้ทางจีโอพาร์คได้ปรับปรุงในอนาคต”

ศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช

“กระผม ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ในนามคณะผู้บริหารโคราชจีโอพาร์ค ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ได้มอบโอกาส ความไว้วางใจให้การสนับสนุนและร่วมกันขับเคลื่อนดำเนินการโคราชจีโอพาร์คมาโดยตลอด กระผมขอยืนยันถึงความตั้งใจของคณะผู้บริหารโคราชจีโอพาร์ค และคณะทำงาน ในฐานะผู้อาสาเข้ามาเพื่อทำงานขับเคลื่อนโคราชจีโอพาร์คด้วยความตั้งใจจริงเพื่ออนุรักษ์ ศึกษา พัฒนาท้องถิ่นของเรามีความยั่งยืน เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมของทุกท่าน ในโอกาสนี้ขอแสดงความยินดีไปยังทุกท่าน เนื่องด้วยในความสำเร็จในครั้งนี้ เป็นผลจากการร่วมแรงร่วมใจของชาวโคราชจีโอพาร์คและพันธมิตรทุกภาคส่วน หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเป็นจีโอพาร์คโลกจะส่งผลให้โคราชจีโอพาร์คของเรามีความเจริญก้าวหน้าและยังคงได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรทุกภาคส่วนเพื่อยังประโยชน์ให้กับท้องถิ่น รวมถึงประเทศของเราต่อไป”
จากนั้นในวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๖๕ ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูล จังหวัดสตูล นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม เป็นประธานเปิดการประชุมเครือข่ายอุทยานธรณีโลกภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ ๗ (7th Asia Pacific Geoparks Network Symposium) อย่างเป็นทางการผ่านระบบออนไลน์ โดยมีนายจงคล้าย วรพงศธร รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายพงศ์บุณย์ ปองทอง อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล และหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมงาน

งานประชุมเครือข่ายอุทยานธรณีโลกภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ ๗ เป็นกิจกรรมสำคัญที่จัดขึ้นทุก ๒ ปี โดยประเทศเครือข่ายสมาชิกเวียนกันเป็นเจ้าภาพ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญด้านอุทยานธรณี ทั้งในภูมิภาคและทั่วโลก ผ่านการประชุม สัมมนาวิชาการ และการศึกษาดูงาน ซึ่งการประชุมเครือข่ายอุทยานธรณีโลกภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก ครั้งที่ ๗ ในครั้งนี้ จัดขึ้นในระหว่างวันที่ ๔-๑๑ กันยายน ๒๕๖๕ ณ โรงแรม ซีซี รีสอร์ท มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา วิทยาเขตสตูลและอุทยานธรณ์โลกสตูล จังหวัดสตูล ภายใต้ธีมงาน “UNESCO Global Geoparks Building Sustainable Communities” เพื่อสื่อถึงความยั่งยืนของชุมชนที่อยู่ในพื้นที่อุทยานธรณีโลกของเอเชียแปซิฟิก โดยมีหัวข้อการประชุม อาทิ คณะกรรมการที่ปรึกษาเครือข่ายอุทยานธรณีโลกภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกและคณะกรรมการผู้ประสานงานเครือข่ายอุทยานธรณีโลกภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก การประชุมกรรมการบริหารเครือข่ายอุทยานธรณีโลก การบรรยายพิเศษและการประชุมวิชาการเครือข่ายอุทยานธรณีโลกภาคพื้นเอเชียแปซิฟิก การจัดนิทรรศการทางวิชาการและการจัดแสดงสินค้าจากอุทยานธรณีโลกเอเชียแปซิฟิกและการทัศนศึกษาในพื้นที่อุทยานธรณีโลกสตูลรวม ๓ เส้นทาง

งานประชุมในครั้งนี้ ประกอบด้วยสมาชิกจากเครือข่ายอุทยานธรณีโลก สมาชิกเครือข่ายอุทยานธรณีประเทศไทย ชุมชนการท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานธรณี หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน สถาบันการศึกษา พร้อมผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงานประชุมประมาณ ๕๐๐ คน รวมไปถึงการรับทราบการจัดการประชุมทางเว็บไชต์และสื่อเผยแพร่ทั่วโลก

ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช เปิดเผยกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ว่า “เบื้องต้นการยอมรับอุทยานธรณีโคราชเป็นอุทยานธรณีโลก เป็นการยอมรับกันภายใน ถ้าไปบอกว่าอนุมัติหรือรับรองแล้ว สภาจีโอพาร์คโลกจะไม่พอใจ เพราะนี่เป็นแค่ขั้นตอนเริ่มต้น เป็นเพียงการพิจารณาขั้นต้น ยังเป็นเพียงการเห็นชอบเท่านั้น ส่วนกระบวนการรับรองยังไม่สิ้นสุด จะต้องเข้าคณะกรรมการบริหารจีโอพาร์คโลกในเดือนเมษายน ๒๕๖๖ ส่วนจะมีโอกาสหลุดหรือไม่ น่าจะยากแล้ว เพราะเหลือเพียงการอนุมัติและประกาศเป็นทางการในปีหน้า”

“สำหรับจีโอพาร์คโคราช ครั้งนี้ผ่านการเห็นชอบอย่างไม่มีข้อกังขา กรรมการที่มาตรวจให้การสนับสนุน ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ จีโอพาร์คอื่นอาจจะมีข้อซักถามหรือคำแนะนำ แต่ของโคราชใช้เวลาไม่นาน ไม่มีใครสงสัยหรือกังขา มีแต่ได้รับคำชม และเรียกว่า โคราชเป็น True Geopark หรือจีโอพาร์คที่แท้จริง เพราะทุกคนมีส่วนร่วม โดยเฉพาะระดับชุมชน เป็นตัวอย่างให้กับจีโอพาร์ค อื่นๆ ซึ่งก็สนใจจะมาดูงานที่โคราช และหลังจากนี้จะมีการพัฒนาร่วมกับยูเนสโก ให้ความสำคัญกับชุมชนท้องถิ่น มีรายได้ มีผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ที่แตกต่างจากที่อื่นๆ เกิดความภาคภูมิใจในมรดกทางธรณี นำไปเชื่อมโยงกับผลิตภัณฑ์หรือบริการต่างๆ ในท้องถิ่น นี่คือความแตกต่างระหว่างโคราชกับจีโอพาร์คอื่นๆ เพราะเน้นเรื่องชุมชนมส่วนร่วม มีรายได้ มีงานทำ และพัฒนาอย่างยั่งยืน” ผศ.ดร.ประเทือง กล่าว


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๗๔๓ วันพุธที่ ๗ - วันอังคารที่ ๑๓ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๕


1031 1417