25thApril

25thApril

25thApril

 

October 06,2022

“คลังวิลล่า” แบกวิกฤตไม่ไหว ทั้งโควิดทั้งภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

ห้างดังโคราชยกธงขาวอีกสาขา “คลังวิลล่าสุรนารายณ์” แบกวิกฤตซ้อนโควิด-เศรษฐกิจไม่ไหว

 

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม “คลังวิลล่าสุรนารายณ์” เยื้องมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีสาน นครราชสีมา ห้างสรรพสินค้าท้องถิ่นของคนโคราช แจ้งปิดให้บริการแผนกซูเปอร์มาร์เก็ตและสินค้าอื่นๆ เป็นวันสุดท้าย จากนั้นจะปิดตัวยุบไปรวมกับ “คลังพลาซ่าอัษฎางค์” หรือคลังเก่า อย่างเป็นทางการ
 

นายไพรัตน์  มานะศิลป์ รองประธานกรรมการ บริษัท คลังพลาซ่า จำกัด ผู้ประกอบการในเครือคลังพลาซ่า เปิดเผยว่า การหยุดกิจการ “คลังวิลล่า” สาเหตุเกิดจากผลกระทบวิกฤตซ้อน ทั้งโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจซบเซา รวมทั้งพฤติกรรมผู้บริโภคการเดินในห้างเปลี่ยนไป รูปแบบห้างสรรพสินค้าดีพาร์ทเม้นท์ที่แยกเป็นแผนกสินค้าต่างๆ ไม่ตอบโจทย์คนยุคใหม่ จึงต้องปรับตัวโดยเปลี่ยนแปลงธุรกิจและปรับปรุงในทางที่ดีกว่า เลือกเฉพาะกลุ่มธุรกิจที่ได้รับความนิยม ผู้บริหารได้พยายามทุกวิถีทาง เพื่อประคับประคองกิจการแต่ระยะเวลาที่ยาวนาน ยังขาดทุนสะสมต่อเนื่อง สถานการณ์อยู่ในภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงิน การดำเนินธุรกิจอยู่ภาวะวิกฤตแบกรับภาระไม่ไหว โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าของ “คลังวิลล่า” ไม่รวมค่าจ้างแรงงานกว่า 40 คน ต้องจ่ายเดือนละ 5 แสนบาท จึงจำเป็นต้องปิดในส่วนของคลังมาร์เก็ต ที่บริษัทฯ รับผิดชอบ เหลือเฉพาะอาคารของผู้เช่าด้านหน้าประกอบด้วย “คลินิกทันตกรรม” “เคเอฟซี” “วัตสัน” และสวนอื่นที่ยังเปิดให้บริการตามปกติ


โดยสินค้าต่างๆ รวมทั้งหนังสือและอุปกรณ์การเรียนต่างๆ ได้นำไปวางจำหน่ายชั้น 1 “คลังพลาซ่าอัษฎางค์” ส่วน “คลังพลาซ่าจอมสุรางค์” ได้เปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจเป็นโปรเจ็กต์มัลติยูส อาคารอเนกประสงค์ที่มีหลากหลายธุรกิจมารวมอยู่ในพื้นที่และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น “อาภาญา” มิใช่ห้างสรรพสินค้าเหมือนเดิม ได้ผสมผสานหลายอย่างภายในพื้นที่ทั้งหมดไม่มีสินค้าเหมือนห้างในอดีต ตนเป็นที่ปรึกษา ส่วนทีมบริหารเป็นชุดใหม่มีน้องสาวเป็นผู้บริหารหลัก

 

สำหรับ “คลังพลาซ่าอัษฎางค์” โครงสร้างอาคาร 3 ชั้น รวมพื้นที่ใช้สอยประมาณ 8,000 ตารางเมตร และ “คลังวิลล่า” เป็นทรัพย์สินสร้างบนที่ดินของตระกูลมานะศิลป์ ไม่ได้สร้างบนที่ดินเช่า เราพร้อมให้ผู้สนใจมาพูดคุย เพื่อเช่าประกอบกิจการ

 

ส่วนโปรเจ็กต์ “คลังสเตชั่น” หนองไผ่ล้อมห้าแยกหัวรถไฟ ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เป็นระยะเวลา 30 ปี ยังเหลือเวลา 26 ปี ใช้งบลงทุนประมาณ 750 ล้านบาท ได้ก่อสร้างจากชั้นใต้ดินของอาคารหลักมีความคืบหน้ากว่า 40 % ขณะนี้ลงทุนไปแล้วกว่า 400 ล้านบาท


 

ทั้งนี้ “คลังพลาซ่า” เป็นห้างสรรพสินค้าท้องถิ่นโดยเจ้าของเป็นคนโคราชคือนายไพศาล มานะศิลป์ ซึ่งเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2501 จากร้านขายอุปกรณ์การเรียนในชื่อ “คลังวิทยา” ข้างวัดพายัพ พระอารามหลวง ในปี 2519 ได้ขยายสาขาและย้ายมาอยู่ที่ ถนนอัษฏางค์ เป็น “คลังวิทยาดีพาร์ทเม้นท์สโตร์” ซึ่งมีบันไดเลื่อนเป็นแห่งแรกของภาคอีสาน


จากนั้นได้ขยายสาขาเพิ่มบริเวณตรงข้ามโรงภาพยนตร์เฉลิมวัฒนารามา เยื้องลานย่าโม ถนนจอมสุรางค์ยาตร์ วันที่ 24 ธันวาคม 2534 เปิดให้บริการ “คลังพลาซ่าจอมสุรางค์” ในขณะนั้นเป็นห้างสรรพสินค้าที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในภาคอีสาน โดยได้รับการตอบรับจากชาวโคราชและคนอีสานเป็นอย่างดี ใครมากราบไหว้ย่าโมต้องแวะมาเดิน “คลังพลาซ่า”


ปี 2553 ได้เปิด “คลังวิลล่าสุรนารายณ์” เยื้อง มทร.อีสาน แม้ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันของบรรดาทุนใหญ่จากส่วนกลาง ทั้ง เดอะมอลล์, เทอร์มินอล 21 โคราช และเซ็นทรัลพลาซา แต่ “คลังพลาซ่า” ทั้ง 3 สาขา ยังคงยืนหยัดต่อสู้ได้อย่างแข็งแกร่ง

ปี 2557 “คลังพลาซ่าจอมสุรางค์” ลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาทปรับปรุงทุกชั้นทุกแผนก แต่ด้วยปัญหานานัปการ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 “คลังพลาซ่าจอมสุรางค์” ห้างดังที่สุดในยุค 30 ปี ต้องปิดตัวและวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 “คลังพลาซ่าอัษฎางค์” ได้ยุบบางแผนก เหลือเพียงแผนกดีพาร์ทและเครื่องเขียนที่เปิดขายเฉพาะชั้น 1

 

ล่าสุด “คลังวิลล่า” ประกาศปิดในส่วนของอาคาร A ซึ่งเป็นการดำเนินการของคลังมาร์เก็ตสุรนารายณ์ คงเหลือเพียงอาคารที่เปิดให้เช่าในส่วนของอาคาร B และ C ซึ่งมีคลินิกทำฟันโคลอนพี, วัตสัน, KFC


994 1406