19thApril

19thApril

19thApril

 

November 01,2022

‘สนามบินโคราชจุดไม่ติด’ ‘บิ๊กโต’ชี้รมต.ไม่จริงใจ ต้องยอมขาดทุนเพื่ออนาคต

“ส.ส.โต” ผู้ร่วมผลักดันให้สายการบินเกิดในโคราชเผย เหตุที่จุดไม่ติดเพราะรัฐ โดยเฉพาะผู้บริหารกระทรวงคมนาคมขาดความจริงใจ ไม่ใช่เรื่องใหญ่ถ้าช่วยกัน ลดภาษี และให้สิทธิพิเศษ เพื่อลดรายจ่าย ส่งผลให้ราคาตั๋วถูกลง คนจะแห่ใช้บริการ ยืนยันโคราชต้องมีสายการบิน พร้อมผลักดันเป็นศูนย์ซ่อมของเอเชีย ตั้งเป็นศูนย์กลางคมนาคมทั้งทางบก ทางอากาศ

 

ตามที่มีสายการบินหลายบริษัทที่มาเปิดบริการในเส้นทางนครราชสีมาไปยังจังหวัดต่างๆ แต่ไม่ประสบความสำเร็จและต้องม้วนเสื่อกลับไป ล่าสุดคือ “นิวเจน แอร์เวย์ส” และ “นกแอร์” ซึ่งผู้ที่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้สายการบินต่างๆ มาทำการบินมาตลอดคือ นายวัชรพล โตมรศักดิ์ (บิ๊กโต) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นครราชสีมา เขต ๒, รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า และประธานสโมสรวอลเลย์บอลนครราชสีมา คิวมิน ซี (แคทเดวิล) โดย “โคราชคนอีสาน” ได้สอบถามถึงสาเหตุที่สายการบินในโคราชเกิดขึ้นแต่ไม่ยั่งยืน

 

รัฐต้องจริงใจ

“ผมเคยนำเรื่องนี้ไปพูดคุยและหารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และได้ต่อสู้หลายต่อหลายครั้ง ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่า รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงคมนาคมไม่มีความจริงใจ สนามบินที่ทิ้งร้างไว้ ๕-๖ แห่ง มีงบประมาณการลงทุนมหาศาลแล้วให้ข้าราชการไปอยู่ รายจ่ายแต่ละเดือนก็มหาศาล ถามว่าสนามบินนครราชสีมาทำไมจึงจุดไม่ติด ความจริงเป็นเรื่องที่ง่ายมาก ซึ่งกรมท่าอากาศยาน โดยเฉพาะอธิบดี รวมทั้งรัฐมนตรีคมนาคมจะต้องมาดูว่า การที่สายการบินขอสิทธิพิเศษต่างๆ เป็นเรื่องที่ต้องยอมเสียบางอย่างเพื่อให้ได้บางอย่าง ยกตัวอย่างเช่น ถังน้ำมันไม่มี เวลาจะเติมน้ำมันก็ต้องไปจ้างรถวิ่งไปนำมา การขอลดภาษีอากร เช่น ค่าภาษีสนามบิน ค่าจอดอากาศยาน รัฐจะต้องยอมเสียบ้าง ในต่างประเทศเช่นอเมริกามีกฎหมายระบุไว้เลยว่า รัฐจะต้องสนับสนุนสาธารณูปโภคหรือสิ่งอำนวยความสะดวกให้ประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน นั่นหมายความ สมมุติเรามีสายการบินหนึ่งมาบินแล้วขาดทุน เช่น มีผู้โดยสาร ๕๐ ที่นั่ง ยังว่างอีก ๔๐ ที่นั่ง รัฐต้องเข้ามาสนับสนุนช่วยเหลือในส่วนนี้ แต่ในขณะนี้คือ มีความรู้สึกว่าอธิบดีกรมท่าอากาศยานอาจจะมีความรู้สึกไม่ดีกับสายการบินเอกชนบางบริษัท”

นายวัชรพล กล่าวอีกว่า ความจริงแล้ว ถ้าจะให้ยั่งยืนต้องให้มีสายการบินมีเครื่องบินมาบินตลอดเวลา (ทุกวัน) มีตารางการบินตรงตามความต้องการ ก็จะมีประชาชนมาขึ้น ที่ผ่านมาคือบินไปเชียงใหม่ ผ่านไป ๓ วันแล้วจึงค่อยมีตารางบินกลับมาโคราช ใครจะไปนั่ง และต้องมาช่วยกันหาทางออกว่า ทำอย่างไรในช่วงแรกจึงจะจุดติด เพราะหลายสนามบินกว่าจะประสบความสำเร็จก็ต้องช่วยกันเต็มที่

 

ยอมขาดทุนเพื่อแลกกำไร

สำหรับในประเด็นที่มีคนมองว่า สนามบินโคราชอยู่ไกลจากตัวเมืองนั้น นายวัชรพลมองว่า ไม่ใช่ปัจจัยหลัก แต่ถ้าบินไปแค่กรุงเทพฯ แน่นอนว่าสนามบินอยู่ไกล แต่หากไปเชียงใหม่ นั่งรถโดยสาร ๑๑ ชม. นั่งเครื่องบิน ๑ ชม. ก็ช่วยประหยัดเวลาการเดินทางไปมาก เช่น กรณีที่นกแอร์มาบิน ภาคเอกชนช่วยกันได้หรือไม่ เช่นห้างสรรพสินค้าก็เปิดให้จองตั๋วที่ห้างและขึ้นรถจากห้างไปสนามบิน และให้จอดรถฟรี

“ไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย เช่น ถ้าวันนี้ผมบินไปธุระที่ภาคเหนือ พรุ่งนี้จะบินกลับก็มีเครื่องบิน การเดินทางไปภาคใต้ ทำไมรถทัวร์เต็มตลอด แต่เครื่องบินไม่เต็ม รวมทั้งปัญหาเรื่องราคาค่าโดยสารด้วย ก็ต้อง subsidize กว่านี้ ให้ราคาถูก เหตุที่นกแอร์ตั๋วแพงเพราะเขาต้องมีค่าเสี่ยงทางการตลาด แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ถ้าเราช่วยกัน เช่นราคาตั๋วเทียบกับค่าโดยสารรถทัวร์ ถ้าแรกเริ่มราคาพอๆ กับรถทัวร์ เรายอมขาดทุนในช่วงแรก จัดเป็นโปรโมชั่นสัก ๑-๒ เดือน ให้คนมาใช้บริการมากๆ ต้องยอมขาดทุนเพื่อแลกกับกำไร เหมือนห้างสรรพสินค้าช่วงเปิดบริการใหม่ๆ ก็มีโปรโมชั่นลดราคาเพื่อต้องการดึดดูดลูกค้า แต่ถ้าเริ่มต้นมาก็ไม่มีโปรโมชั่นต่างๆ และไม่มีใครช่วย ปล่อยให้แค่จังหวัดช่วย ในที่สุดก็ไปต่อไม่ได้” นายวัชรพล กล่าว

นายวัชรพล โตมรศักดิ์ (บิ๊กโต) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) นครราชสีมา เขต ๒

ต้องนั่งคุยกันจริงจัง

ส.ส.วัชรพล กล่าวอีกว่า “ผมเคยบอกว่า วิธีการที่จะให้อยู่รอด จะต้องเชิญสายการบิน ตัวแทนกรมท่าอากาศยาน ตัวแทนจังหวัด และตัวแทนทุกภาคส่วนมาพูดคุยกัน โคราชมีประชากร ๒ ล้านกว่าคน ทำไมจะทำไม่ได้ ถ้าเราสามารถดึงนักท่องเที่ยวจากจีนมาเชียงใหม่แล้วบินมาโคราช หรือแม้กระทั่งคนที่เดินทางไปเหนือไปใต้เยอะแยะในแต่ละวัน”
“ควรมีการบินไปทุกภาค ทั้งภาคเหนือและภาคใต้ เพราะโคราชมีประชากร ๒ ล้านกว่าคน เขาก็เดินทางไปภาคเหนือ ภาคใต้ มีญาติพี่น้องและมีเครือข่าย ในทางธุรกิจก็มีมากอยู่แล้ว เราจะสำรวจว่ามีคนใช้รถมากแค่ไหน ดูจากสถานีขนส่งก็ได้ว่าทำไมจึงมีคนเดินทางไปเชียงใหม่ตลอดเวลา ถ้ามีเครื่องบินไปกลับได้ และมีความต้องการที่จะเดินทางโดยเครื่องบิน มีการทำการตลาดหรือไม่ แต่กลับไปเอาตลาดที่คุณต้องการจะบิน ไม่เคยถามลูกค้าว่าต้องการอะไร จึงต้องมานั่งคุยกัน ถ้ามีสายการบินก็มีการท่องเที่ยวเกิดขึ้น มีการทำธุรกิจ และมีกิจกรรมอื่นๆ ตามมา แต่ถ้าตั๋วเครื่องบินแพง และต้องเสียเวลานั่งรอขึ้นเครื่อง ก็จะพากันคิดว่า ขับรถไปเองหรือนั่งรถทัวร์ไปไม่ดีกว่าหรือ? เรื่องเหล่านี้ต้องมานั่งคุยกัน” นายวัชรพล กล่าว

 

โคราชศูนย์กลางการเดินทาง

“โคราชคนอีสาน” ถามว่า หากการคมนาคมด้านอื่นทั้งมอเตอร์เวย์ รถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูงพร้อมเปิดใช้บริการ ในส่วนของสายการบินยังมีความจำเป็นหรือไม่? นายวัชรพล เปิดเผยว่า ยิ่งจำเป็นต้องมีมากกว่าเดิมด้วยซ้ำไป ผมเคยเสนอว่าในต่างประเทศ เขาจะมีการคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ จะมีการเดินทางมาขึ้นที่สถานีเดียวกัน จะไปทางน้ำทางบกทางอากาศได้หมด ซึ่งที่โคราชก็จะมีทางรางก็คือรถไฟ ทางอากาศคือเครื่องบิน และทางรถยนต์ ทำให้โคราชเป็นศูนย์กลางในการเดินทาง คนก็จะแห่มาที่นี่ ใช้บริเวณหนองเต็งที่เป็นที่ตั้งสนามบินได้ไหม รถไฟวิ่งไปที่นั่นได้ไหม เป็นสถานีใหญ่ ในต่างประเทศเขาจะนำมารวมกัน แต่เวลาที่รัฐบาลหรือกระทรวงคมนาคมไทยนั้นไม่เคยคิดเลยว่า จะเชื่อมต่่อการคมนาคมแต่ละเส้นทางอย่างไร คิดอยากทำอะไรก็ทำ เหมือนที่เป็นปัญหาทุกวันนี้ที่ต้องมาเวนคืนที่ดินในเขตเมืองเพื่อสร้างสถานีรถไฟ ทำไมไม่เอาสถานีแบบบางซื่อไปตั้งไว้ที่หนองเต็งซึ่งมีหลายพันไร่ ออกไปจากเมืองไม่ไกลมาก สมมุติคนที่อยู่ในจังหวัดอื่นของภาคอีสานจะมาขึ้นรถไฟความเร็วสูงก็มาจอดรถที่นี่ได้ เมืองก็จะได้เจริญไปข้างนอก แม้ทุกวันนี้โคราชจะมีสถานีรถไฟแต่ก็เป็นแค่ sub station ไม่ใช่ main station ผมพูดในหลักความเป็นจริง ทำไมห้างในกรุงเทพฯ จึงมีสถานีรถไฟฟ้าไปจอด ในขณะที่ศูนย์ราชการแถวแจ้งวัฒนะกลับไม่มีรถไฟฟ้าผ่าน จึงต้องคิดให้เชื่อมโยงกัน ให้เชื่อมโยงการขนส่งให้ได้แบบ One stop Service เช่นถ้าไปประเทศจีนเขาจะนั่งรถไฟ เครื่องบิน หรือทางน้ำ จะเชื่อมต่อกันได้หมด”

 

ยอมขาดทุนเพื่ออนาคต

นายวัชรพล กล่าวย้ำว่า “เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยาก ถ้ารัฐลงมาทำอย่างจริงจัง เช่น แทนที่รัฐจะไปคิดเงินค่าจอด ค่าภาษีต่างๆ ก็ยกเลิก แล้วให้สัมปทานในระยะยาว ๑๐ ปี เขาจะได้เสี่ยงเจ๊งเสี่ยงขาดทุน เพราะทุกวันนี้ก็เสียค่าน้ำค่าไฟและเงินเดือนข้าราชการที่มานั่งประจำอบู่แล้ว ขาดทุนวันนี้ก็ต้องยอมเพื่อแลกกับอนาคต สายการบินจะได้ลดค่าใช้จ่าย จะได้ลดค่าตั๋วเครื่องบิน เมื่อลดตั๋วแล้วประชาชนก็สามารถมาใช้บริการได้ แต่ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันคือ ไม่รู้วันนี้จะบินหรือเปล่า บินไปวันนี้จะบินกลับได้ก็ต้องรออีก ๓ วันแล้วใครจะไป”

ผลักดันศูนย์ซ่อมเอเชีย

เมื่อถามว่า ต้องการที่จะผลักดันสายการบินใดมาอีกหรือไม่? นายวัชรพล กล่าวว่า “ผมมีแอร์เอเชีย นกแอร์ ที่ขอสัมปทานมา แต่สุดท้ายแล้วกระทรวงคมนาคมไม่ได้มีความจริงใจ อยากบินก็บิน อยากทำก็ทำ แทนที่จะเชิญสายการบินไปประชุมอย่างจริงจัง แล้วตกลงกัน เช่น ยอมขาดทุนในเรื่องนี้ไหม มีการแชร์การตลาดกัน ซึ่งต้องให้โอกาสว่า เมื่อมาแล้วสายการบินจะได้ส่วนลดอะไรเป็นพิเศษ เช่น ในเรื่องกีฬา บริษัทที่เข้ามาสนับสนุนก็จะได้สิทธิพิเสษเรื่องภาษีอย่างเต็มที่ เขาก็อยากช่วย แต่ในเรื่องสายการบินเขาต้องมาเสี่ยงขาดทุน แต่รัฐก็ไม่เคยไปเจรจา ถ้าเขาต้องการปั๊มน้ำมันก็ต้องนำไปให้ เขาต้องการส่วนลดใดก็ต้องเอาไปให้ จะมาสร้างสนามบินทำไมเป็นพันๆ ล้าน แล้วปล่อยให้ร้าง โคราชมีประชากร ๒ ล้านกว่าคนจะไม่มีคนไปเหนือไปใต้เลยหรือ ผมเชื่อว่าเป็นไปได้ล้านเปอร์เซ็นต์ ขอให้มีความจริงใจ กล้าที่จะลงมาคุยหรือไม่ ผมเคยพูดกับผู้บริหารกรมท่าอากาศยาน ให้ไปโคราช เขาก็เหมือนจะงอนว่าตอนที่นกแอร์ไปบินที่เบตงและมีนายกรัฐมนตรีไปเปิด แต่พอบินได้ ๑ สัปดาห์ก็เลิกบิน ก็กลายเป็นความแค้นส่วนตัว ไม่ได้มองประโยชน์ของส่วนรวม วันนี้นั่งทำงานอยู่ ทำไมไม่ลงมาคุยกับจังหวัด สายการบินอยากได้ส่วนลดในเรื่องใดก็นำเรื่องไปเข้าที่ประชุม ครม. ให้เงินประชาชนฟรียังให้ได้ การันตีที่นั่งให้ ลดราคาลงมาให้ราคาใกล้ๆ กับค่าโดยสารรถทัวร์ เมื่อคนติดแล้วทุกอย่างก็ขับเคลื่อนไปได้ด้วยตัวมันเอง ทุกอย่างทำได้ แต่ต้องมีความจริงใจ”

“สร้างสนามบินมาทิ้งไว้ทำไม ขาดความจริงใจจากส่วนราชการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐมนตรีที่ไม่มีความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหา” นายวัชรพล กล่าวย้ำ

 

ยืนยันคนโคราชต้องการสายการบิน

นายวัชรพล กล่าวอีกว่า “ผมสู้อยู่แล้วในเรื่องนี้ รวมทั้งจะผลักดันสนามบินโคราชให้เป็นศูนย์ซ่อมของเอเชีย ซึ่งเมื่อปี ๒๕๖๒ มีเอกชนมาเสนอให้รัฐบาลเทรันเวย์เพิ่มอีก ๕๐๐ เมตร เพื่อจะนำเครื่องบินลำใหญ่มาได้ ปัจจุบันก็มีเอกชนมาเปิดโรงเรียนสอนการบิน ซึ่งถ้าเราตั้งเป็นศูนย์ซ่อมของเอเชีย บริเวณนั้นก็จะเจริญ เศรษฐกิจก็จะขับเคลื่อนไปได้ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยาก อยู่ที่รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความจริงใจหรือเปล่า ทำไมคนโคราชจะไม่อยากเดินทางไปเชียงใหม่ในเวลาแค่ ๑ ชม.เศษ”

“ถ้าวันนี้มีเครื่องบินตลอด มีไฟลท์บินไปกลับได้ หรือมีไฟลท์บินถี่ขึ้น และราคาตั๋วโดยสารที่ไม่สูงมาก ทำไมคนจะไม่ขึ้น แค่รัฐขาดความจริงใจและขาดความตั้งใจแก้ปัญหา” นายวัชรพล กล่าวย้ำ


ฉบับพิเศษ ครบรอบ ๔๘ นสพ.โคราชคนอีสาน ฉบับที่ ๒๗๔๖ วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕

 


1003 1394