23rdApril

23rdApril

23rdApril

 

November 02,2022

‘สายสีเขียว’ยังต้วมเตี้ยม อดีตนายกฯ ท้าลองวิ่ง หนุน BRT ใช้งบน้อย


 รฟม.ประชุมนัดพิเศษ เสนอรูปแบบรถไฟฟ้าและการเก็บค่าโดยสารให้คนโคราชเลือก หารูปแบบที่เหมาะสมกับเมือง แต่ประชาชนยังต้องการขยายเส้นทาง จากราชสีมาวิทยาลัย-จอหอ และวิ่งบนถนนมิตรภาพ ด้าน ‘สุรวุฒิ เชิดชัย’ ท้าทดลองวิ่ง เพื่อให้ประชาชนทราบรายละเอียดแท้จริงทุกเส้นทาง และหนุนใช้ระบบ BRT ง่ายต่อการเปลี่ยนแปลงและใช้งบน้อยกว่า LRT


ตามที่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ร่วมกับกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา NMGC ประกอบด้วย บริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท เอ็นทิค จำกัด และบริษัท เอ ๒๑ คอนซัลแตนท์ จำกัด จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ ๒ (สรุปผลการศึกษาของโครงการ) ภายใต้งานศึกษารายละเอียด ความเหมาะสม ออกแบบ และจัดเตรียมเอกสารประกวดราคา โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) เมื่อวันพุธที่ ๒๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๓ ที่โรงแรมสีมาธานี เพื่อนำเสนอข้อมูล ผลการศึกษาแนวเส้นทาง สถานีรูปแบบการพัฒนาของโครงการ และผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการฯ รวมทั้งการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประชุมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อโครงการ และจัดการประชุมทดสอบความสนใจของภาคเอกชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Market Sounding) ไปแล้วนั้น แต่โครงการฯ ต้องถูกนำไปทบทวนใหม่ โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ เพื่อให้เกิดความสนใจแก่นักลงทุน ตามที่ “โคราชคนอีสาน” นำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่อง

ล่าสุดในวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๕ เวลา ๐๙.๓๐-๑๒.๐๐ น. ที่โรงแรมดิ อิมพีเรียล โคราช การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท เอ็นทิค จำกัด และบริษัท เอ ๒๑ คอนซัลแตนท์ จำกัด จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ต่อผลการศึกษาเปรียบเทียบทางเลือกระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่เหมาะสม สำหรับโครงการการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองบ้านนารีสวัสดิ์) โดยมีนายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมด้วยนายสาโรจน์ ต.สุวรรณ รองผู้ว่าการ รฟม. นายสุรวุฒิ เชิดชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เชิดชัย คอร์ปอเรชั่น จำกัด และอดีตนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา นายศรรบ หล่อธราประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยสงวนโภชนา จำกัด และบริษัท ไทยสงวนบริการ จำกัด นายจักริน เชิดฉาย อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา นายสุพจน์ พิริยะเกียรติสกุล ผู้ประกอบการร้านอาหารบริเวณถนนโพธิ์กลาง และประชาชนในพื้นที่โครงการฯ กว่า ๓๐๐ คน ร่วมรับฟังรายละเอียดจาก นายเทิดศักดิ์ พ่วงจินดา ผู้จัดการโครงการฯ นายชวลิต กูลเกื้อ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบรถไฟฟ้า ดร.อัครพล ตั้งไพศาลกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านขนส่งและจราจร และนายณัฐ นาคธรณินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า รฟม.

ผลตอบแทนไม่คุ้มค่า

นายสาโรจน์ ต.สุวรรณ รองผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า “ตามที่ รฟม.ศึกษาและออกแบบระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งได้นำเสนอผลการศึกษาออกแบบแล้วเมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๖๓ อย่างไรก็ตาม พบว่า เมื่อศึกษาด้านการลงทุนโครงการ ให้ผลตอบแทนธุรกิจที่ไม่คุ้มค่านัก ดังนั้น ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-๑๙ รฟม.จึงใช้โอกาสนี้เพื่อทบทวนและศึกษาระบบรถไฟฟ้าแบบอื่นๆ ที่อาจมีความเหมาะสมกับโครงการ ดังนั้น วันนี้จึงเป็นการประชุมครั้งพิเศษ เพื่อนำเสนอเปรียบเทียบ รูปแบบทางเลือกเทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่เหมาะสมกับโครงการ เพื่อให้ผู้ศึกษานำความคิดเห็นไปพิจารณาและปรับปรุงและออกแบบต่อไป”

 

หารูปแบบที่เหมาะสมกับโคราช

นายเทิดศักดิ์ พ่วงจินดา ผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า “โครงการนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๕๘ คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) ได้รับทราบผลการดำเนินงานระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ และมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ดำเนินการศึกษาแผนแม่บท โดยว่าจ้างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เป็นผู้จัดทำแผนแม่บท ซึ่งมีข้อสรุปว่า จะดำเนินการทำระบบขนส่งมวลชนแบบรางเบา ๓ เส้นทาง คือ สายสีส้ม (แยกประโดก-คูเมืองเก่า) สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-มุขมนตรี-สถานคุ้มครองบ้านนารีสวัสดิ์) และสายสีม่วง (ตลาดเซฟวัน-มิตรภาพ-สถานคุ้มครองบ้านนารีสวัสดิ์) และมีส่วนต่อขยายของและสายต่างๆ รวมระยะทางของเส้นทางทั้งหมด ๕๐ กิโลเมตรเศษ ทั้งนี้ ข้อสรุป ไม่สามารถจัดทำพร้อมกันได้ทั้ง ๓ สาย จึงเลือกทำสายสีเขียวไปพร้อมกับสายสีส้มก่อน”

“จากนั้น สนข.ได้ส่งแผนแม่บทให้ คจร.พิจารณา และสรุปว่า ให้ดำเนินการทีละ ๑ เส้นทาง โดยลำดับความสำคัญให้ก่อสร้างสายสีเขียวก่อน ต่อมา รฟม.จึงว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ๓ บริษัท ให้มาดำเนินการศึกษา ออกแบบ และทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเป็นโครงการที่ทำออกมาในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนกับภาครัฐ โดยที่ผ่านมาตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นทั้งหมด ๒ ครั้ง และในปี ๒๕๖๓ มีการประชุมผู้ที่สนใจมาลงทุน ๒ ครั้ง ที่โคราชและกรุงเทพฯ ซึ่งจากการประชุมที่ผ่านมามีคนเห็นด้วยกับโครงการมากกว่าร้อยละ ๙๐ และส่วนใหญ่เสนอแนะให้ขยายเส้นทางไปถึงโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย (รส.) มาสิ้นสุดแยกตำบลจอหอ โดยเสนอแนะให้เปลี่ยนจากระบบรางล้อเหล็กให้มาเป็นล้อยาง ซึ่งการดำเนินการด้วยรถไฟฟ้ารางเบานั้น มีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก อาจจะทำให้ไม่คุ้มทุน และมีค่าโดยสารแพง รฟม.จึงให้โจทย์กับบริษัทที่ปรึกษาว่า ให้ศึกษาว่า มีระบบรถไฟฟ้าอื่นหรือไม่ ที่เหมาะสมและนำมาใช้ในโคราชได้ จึงเป็นที่มาของการศึกษาเพิ่มและรับฟังความคิดเห็นในวันนี้”

“การศึกษาครั้งนี้จะดำเนินการศึกษาระบบรถไฟฟ้าที่เหมาะสมกับโคราชว่ามีแบบใดบ้าง โดยคาดการณ์ปริมาณการจราจรหลังช่วงโควิด-๑๙ ระบาด ค่าตอบแทนทางการเงิน และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมว่า จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง EIA หรือไม่ เนื่องจากขณะนี้โครงการได้ยื่นรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเรียบร้อยแล้ว โดยสายสีเขียวมีจุดเริ่มต้นที่ตลาดเซฟวัน วิ่งมาตามถนนมิตรภาพ เลี้ยวเข้าถนนมุขมนตรี ตรงมาตามถนนโพธิ์กลาง ถึงหน้าอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี มุ่งไปยังถนน ๒๒๔ ไปตามถนนสุรนารายณ์ ผ่านมหาวิทยาลัยราชภัฏ-ราชมงคล และสิ้นสุดที่สถานคุ้มครองบ้านนารีสวัสดิ์ โดยจุดสิ้นสุดจะมีศูนย์ซ่อมบำรุงด้วย ระยะทางรวม ๑๑.๑๕ กิโลเมตร มี ๒๑ สถานี” นายเทิดศักดิ์ กล่าว

รูปแบบรถไฟฟ้า

นายชวลิต กูลเกื้อ กล่าวว่า “บริษัทที่ปรึกษาได้ศึกษาระบบรถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นมาอีก ๒ แบบ รวมเป็น ๓ แบบ ประกอบด้วย ๑.ระบบรถรางไฟฟ้าล้อเหล็ก ซึ่งจะมีรางเหล็กฝังอยู่ในถนน มีขนาดขบวนกว้าง ๒.๔๐-๒.๖๕ เมตร ขบวนรถยาว ๓๐-๔๐ เมตร และวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด ๘๐ กิโลเมตร/ชั่วโมง ๒.ระบบรถรางไฟฟ้าล้อยาง ซึ่งมี ๒ รูปแบบ คือ แบบติดตั้งอุปกรณ์รางประคองฝังอยู่ในถนน และแบบใช้รางเสมือน ตีเส้นคล้ายเส้นจราจร มีขนาดขบวนกว้าง ๒.๒๐-๒.๖๕ เมตร ขบวนรถยาว ๓๐-๔๐ เมตร จุผู้โดยสารได้ ๒๐๐-๓๐๐ คน และวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด ๗๐ กิโลเมตร/ชั่วโมง และ ๓.ระบบโดยสารไฟฟ้าประจำทางด่วนพิเศษ (Electric Bus Rapid Transit : E-BRT) เป็นรถที่ใช้พลังงานไฟฟ้าหรือแบตเตอรี่ มีขนาดขบวนกว้าง ๒.๕๐ เมตร ขบวนรถยาว ๑๒-๑๘ เมตร จุผู้โดยสารได้ ๔๕-๘๐ คน และวิ่งด้วยความเร็วสูงสุด ๘๐ กิโลเมตร/ชั่วโมง”

 

รถไฟฟ้า E-BRT เหมาะสม

นายเทิดศักดิ์ พ่วงจินดา กล่าวว่า “ผลการให้คะแนนทางเลือกระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่เหมาะสม ในเขตเมืองนครราชสีมา โดยการพิจารณาปัจจัย ๓ ด้านหลัก ได้แก่ ด้านวิศวกรรมและจราจร ด้านเศรษฐกิจการเงิน และด้านสิ่งแวดล้อม พบว่า แบบที่ ๓ ระบบรถโดยสารไฟฟ้าประจำทางด่วนพิเศษ (E-BRT) เป็นระบบเทคโนโลยีรถไฟฟ้าที่เหมาะสมมากที่สุด สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียวฯ เนื่องจากมีระยะเวลาการก่อสร้าง ค่าลงทุนงานก่อสร้างและเครื่องจักร ค่าบำรุงรักษาและดำเนินการ ค่าเวนคืนที่ดินและชดเชยสิ่งปลูกสร้าง และมีผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากโครงการฯ ในระยะก่อสร้างน้อยกว่าระบบอื่นๆ”

“สำหรับระบบรถไฟฟ้าที่มีความเหมาะสมรองลงมา คือ ระบบรถรางไฟฟ้าล้อยาง (Tire Tram) พบว่า มีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสาร และความน่าเชื่อถือของเทคโนโลยีมากกว่าระบบรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ แต่จะมีระยะเวลาการ ก่อสร้าง มูลค่าการลงทุนก่อสร้างและเครื่องจักร ค่าบำรุงรักษาและดำเนินการ ค่าเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะก่อสร้างมากกว่า และท้ายสุด ระบบรถรางไฟฟ้าล้อเหล็ก (Steel Wheel Tram) พบว่ามีคะแนนความแหมาะสมน้อยที่สุด แม้จะมีความน่าเชื่อถือของระบบ และมีศักยภาพรองรับปริมาณผู้โดยสาร แต่จะมีระยะเวลาก่อสร้าง ค่าลงทุนก่อสร้างและเครื่องจักร ค่าบำรุงรักษาและดำเนินการ ค่าเวนคืนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในระยะก่อสร้าง และระยะดำเนินการมากกว่าระบบอื่นๆ” นายเทิดศักดิ์ กล่าว

 

ตัวเลือกค่าโดยสาร

ดร.อัครพล ตั้งไพศาลกุล กล่าวว่า “ในการหาข้อสรุปว่า จะต้องใช้ระบบรถไฟฟ้ารูปแบบใดก็มีปัจจัยหลักอีก ๒ อย่าง คือ ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และระยะเวลา ซึ่งระยะเวลาการเดินทางนั้นอาจจะไม่ได้แตกต่างกับรถยนต์ส่วนตัวและรถโดยสารอื่นๆ แต่สิ่งที่แตกต่าง คือ ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งเดิมทีเรากำหนดค่าโดยสารไว้รูปแบบเดียว คือ คิดราคาตามระยะทาง เมื่อค่าใช้จ่ายเป็นปัจจัยในการตัดสินใจเลือกระบบรถไฟฟ้า ที่ปรึกษาจึงวิเคราะห์รูปแบบการคิดค่าโดยสารขึ้นมาอีกเป็น ๓ รูปแบบ ดังนี้ รูปแบบที่ ๑ การคิดอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง โดยคิดตามระยะทางเดินทางจริง (เดินทางใกล้จ่ายน้อย เดินทางไกลจ่ายมาก) มีราคาเริ่มต้น เท่ากับ ๑๒ บาท และราคาสูงสุดเท่ากับ ๒๗ บาท รูปแบบที่ ๒ การคิดอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง โดยคิดตามจำนวนสถานีแบบขั้นบันได โดยมีอัตรา (ก) ๑-๘ สถานี ๑๔ บาท (ข) ๙-๑๖ สถานี ๑๘ บาท (ค) มากกว่า ๑๖ สถานี ๒๒ บาท และรูปแบบที่ ๓ การคิดแบบอัตราเดียว ๑๘ บาทตลอดสาย โดยผู้ร่วมประชุมฯ สามารถตอบแบบสอบถามและแสดงความคิดเห็นว่ารูปแบบใดเหมาะสมได้”

 

ค่าโดยสารสำหรับนักเรียน

จากนั้น ที่ประชุมเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น โดยนายสุเมธ รื่นระเริงศักดิ์ ผู้จัดการโรงเรียนรวมมิตรวิทยา กล่าวว่า “สายสีเขียวมีเส้นทางผ่านโรงเรียนหลายแห่ง เช่น โรงเรียนมารีย์วิทยา โรงเรียนเมืองนครราชสีมา และโรงเรียนสุรนารีวิทยา ต้องการทราบว่า มีการกำหนดค่าโดยสารสำหรับเด็กหรือไม่ เพราะถ้ามีการคิดค่าโดยสารสำหรับนักเรียนไม่ว่าจะเป็นรายสัปดาห์หรือรายเดือน จะช่วยให้ลดปริมาณการจราจรได้ เนื่องจากผู้ปกครองจะได้ไม่ต้องมาส่งบุตรหลานด้วยตนเอง”

นายเทิดศักดิ์ พ่วงจินดา ผู้จัดการโครงการฯ ชี้แจงว่า “โครงการของ รฟม.ทุกเส้นทางในประเทศ มีประเภทตั๋วนักเรียนหรือรายเดือน เพื่อช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายสำหรับนักเรียนหรือผู้ที่ต้องใช้งานประจำทุกวัน ดังนั้น ของโคราชก็น่าจะมีอยู่แล้ว”

นายวัชร กลินทะ อดีตผู้อำนวยการหอการค้าจังหวัดฯ

ไม่ต้องการให้ล้มเลิก

นายวัชร กลินทะ อดีตผู้อำนวยการหอการค้าจังหวัดฯ กล่าวว่า “สิ่งที่ผมจะพูดไม่ใช่ว่า ผมต้องการให้ล้มเลิกหรือยกเลิก แต่มีความเกี่ยวข้องกับความคิดเห็นประเด็นต่างๆ ของผม โดยก่อนหน้านี้จังหวัดนครราชสีมา มีการประชุมเรื่องการปรับผังเมืองใหม่ เป็นการสร้างเมืองใหม่ ๔ แห่ง คือ สุรนารี หนองระเวียง บัวใหญ่ และปากช่อง ดังนั้น หากมีเมืองใหม่เกิดขึ้น การจราจรในเมืองเก่าก็จะลดน้อยลง แต่อย่างไรก็ตามในเมืองเก่าก็ยังต้องการระบบขนส่งมวลชนเหมือนเดิม จึงเป็นที่มาของประเด็นที่ ๒ ว่า การเลือกระบบรถไฟฟ้า ผมเห็นด้วยกับรูปแบบที่ ๓ เพราะว่า ในอนาคตเมื่อเมืองขยายออกไป ผู้โดยสารด้วยรถไฟฟ้าก็จะน้อยลง ซึ่งรูปแบบที่ ๓ จุคนได้ประมาณ ๔๐-๘๐ คน น่าจะพอดีกับจำนวนผู้ใช้งาน ประเด็นต่อมา ผมเห็นด้วยกับการเก็บค่าโดยสารแบบที่ ๒ คือ การคิดอัตราค่าโดยสารตามระยะทางสถานีแบบขั้นบันได ๘ สถานีแรก ๑๔ บาท, ๙-๑๖ สถานี ๑๘ บาท มากกว่านั้น ๒๒ บาท แต่คนที่จะเลือกแบบค่าโดยสารแต่ละแบบนั้น มีปัจจัยต่างกัน คือ กลุ่มอาชีพต่างๆ โดยแบ่งเป็น ๒ กลุ่มหลัก คือ คนที่ใช้เที่ยวเดียวจบ และกลุ่มคนใช้งานประจำ เช่น พ่อค้าแม่ค้าที่ต้องเดินทางไปขายของที่อื่นๆ อาจจะต้องการจ่ายแบบเหมาทีเดียว และประเด็นสุดท้าย บริเวณสถานีรถไฟนครราชสีมา ในอนาคตจะมีการเวนคืนที่ดินโดยรอบ เรื่องนี้ รฟม.ได้มีการปรึกษากับ รฟท.หรือยัง”

นายเทิดศักดิ์ พ่วงจินดา ชี้แจงว่า “โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว นอกจากจะแก้ไขปัญหาด้านการจราจรแล้ว ยังเป็นการฟื้นฟูและรองรับการเติบโตของเมืองด้วย ซึ่งในเมืองเก่าโคราช มักจะมีปัญหาด้านการจราจรในช่วงเร่งด่วนเช้าและเย็น ทำให้เกิดความลำบากในการเข้าถึงพื้นที่การค้าหรือสถานที่ท่องเที่ยวในเมือง ซึ่งในเมืองต่างๆ ทั่วโลกจึงนิยมใช้ระบบขนส่งมวลชนเข้ามาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ส่วนรูปแบบการเก็บค่าโดยสารรูปแบบที่ ๒ น่าจะเป็นรูปแบบราคาที่ตรงใจหลายคน และเรื่องการเวนคืนนั้น รฟม.จะนำไปประสานกับ รฟท.”

 

ห่วงรถติดในเมือง

นางอมรรัตน์ ทุดาดิษฐ์ หรือผู้ใหญ่ไข่ จากชุมชนหนองไผ่ล้อม กล่าวว่า “วันนี้ขอเป็นตัวแทนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบในเขตเมือง ความเจริญเข้ามาถือเป็นเรื่องดี แต่พื้นที่เมืองเก่ามีพื้นที่จำกัด การจราจรติดขัดมากในช่วงเย็นและเช้า หากมีรถไฟฟ้าเข้ามาอีกก็จะติดขัด ดังนั้นเป็นไปได้หรือไม่ที่จะวิ่งตรงไปตามถนนมิตรภาพ ไม่ต้องเลี้ยวเข้ามุขมนตรี โดยเฉพาะช่วงที่มีกิจกรรมต่างๆ บริเวณลานย่าโม รถจะติดมาก พื้นที่ก็น้อย จึงขอฝากผู้บริหาร รฟม.พิจารณาเส้นทางใหม่”
นายเทิดศักดิ์ พ่วงจินดา ชี้แจงว่า “เรื่องการปรับเปลี่ยนเส้นทางไปตามถนนมิตรภาพ ที่ปรึกษาได้รับฟังตั้งแต่วันแรกที่มีการประชุม ต้องยอมรับว่า เส้นทางถนนมิตรภาพมีความเจริญรองรับเรียบร้อยแล้ว และเราได้รับข้อมูลมาตลอด แต่ด้วยการลำดับความสำคัญของเส้นทางตามมติ คจร. สายสีเขียวมีความสำคัญอันดับ ๑ ส่วนเส้นทางที่เสนอแนะมานั้น จะเป็นเส้นทางสายสีม่วง ซึ่งจะอยู่ในขั้นถัดไป ห่างกันไม่กี่ปี ไม่ใช่ว่าจะไม่ทำ แต่จะดำเนินการในลำดับต่อไป”

นายสุรวุฒิ เชิดชัย อดีตนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา

เสนอทดลองวิ่ง

นายสุรวุฒิ เชิดชัย อดีตนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา กล่าวว่า “รถไฟฟ้าระบบ BRT กับ E-BRT เราถือว่าเป็นรถชนิดเดียวกัน แต่มีระบบที่แตกต่างกัน และทั้ง ๒ ชนิดเป็นระบบรถที่ทางยุโรปเริ่มนิยมใช้งานมากขึ้นแล้ว เพราะมีความทันสมัย มีเรดาห์ด้วย ในส่วนของการก่อสร้าง LRT จะต้องเจาะถนนเพื่อก่อสร้างรางเหล็ก ใช้เวลาประมาณ ๓ ปี แต่ BRT กับ E-BRT ไม่ต้องเจาะถนน ดังนั้น ระยะเวลาการก่อสร้างก็จะเร็วกว่า นอกจากนี้ ถ้าก่อสร้างเป็น LRT เมื่อเจาะถนนวางรางเหล็กไปแล้ว หากต้องการย้ายเส้นทางไปวิ่งตามถนนมิตรภาพ ก็จะไม่สามารถทำได้ แต่ถ้าเป็น BRT กับ E-BRT จะสามารถย้ายได้ แต่อาจจะติดเรื่องสถานีและจุดชาร์จไฟฟ้า และผมยังหวังว่า ถ้านำระบบ E-BRT มาใช้ งบประมาณของโครงการก็จะน้อยกว่า LRT ซึ่งส่วนนี้อาจจะนำไปลดราคาตั๋วลดลงกว่าเดิม อาจจะเหลือ ๑๐ บาท และที่สำคัญ ผมเสนอให้ทดลองวิ่งจริงก่อน จะได้เก็บข้อมูลการใช้งานได้จริง และทราบปัญหาต่างๆ จริง ประชาชนจะได้รับรู้ว่า ถ้ามีรถไฟฟ้าแล้วจะเป็นอย่างไร ทดลองทั้งสายสีเขียวและสีม่วง”

นายณัฐ นาคธรณินทร์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า รฟม. ชี้แจงว่า “ในประเด็นที่ถามว่า นำรถ BRT กับ E-BRT ไปวิ่งเส้นใหม่ได้หรือไม่ รถไปได้แต่โครงการไปไม่ได้ แต่ผมเห็นด้วยกับการวิ่งตามเส้นทางของสายสีม่วง ส่วนสาเหตุที่ไม่ทำสายสีม่วงก่อนนายเทิดศักดิ์ พ่วงจินดา ชี้แจงแล้ว แต่โครงการนี้เป็นโครงการที่รัฐและเอกชนร่วมลงทุนด้วยกัน ดังนั้น สิ่งแรกที่เราต้องทำ คือ ทำให้โครงการนี้มีความน่าสนใจ เอกชนจะไม่มาลงทุนทันทีถ้าเขามองว่า เส้นทางนี้ทำแล้วไม่ได้อะไร วันแรกที่เอกชนร่วมลงทุน ความเสี่ยงทั้งหมดเอกชนจะต้องรับไป จึงเป็นความยากที่จะทำให้เขามาร่วมลงทุน วันนี้จึงมานำเสนอเรื่องที่เป็นไปได้ในการจูงใจภาคเอกชน ทั้งระบบและแนวเส้นทาง”

นายสุพจน์ พิริยะเกียรติสกุล (นั่ง) และ นายจักริน เชิดฉาย

เสนอใช้ระบบรางเสมือน

นายจักริน เชิดฉาย กล่าวว่า “มี ๒ ประเด็นที่ต้องการนำเสนอ คือ ๑.ถ้าที่ประชุมยืนยันว่า เส้นทางแรก คือ สายสีเขียว ส่วนสายสีม่วงเป็นเส้นทางรองที่จะดำเนินการในอนาคต เป็นไปได้หรือไม่ ถ้าทำเส้นสายสีม่วงพร้อมกันเลย อาจจะต้องมีสถานีเพิ่มขึ้น แล้วก็ไปบรรจบกันที่โรงเรียนเมือง จะทำให้ก่อสร้างได้ ๒ เส้นทางตั้งแต่แรก การลงอาจจะทำให้มีความคุ้มค่ามากขึ้น และ ๒.จากการเดินทางไปทั่วโลก พบว่า LRT ส่วนใหญ่เป็นล้อเหล็ก ซึ่งเป็นระบบเก่า มีสายไฟระโยงรยาง ไม่เหมาะกับเมืองโคราช และจะต้องเจาะถนนทำรางรถไฟอีก ๓ ปี แต่วันนี้มีเทคโนโลยีใหม่แล้ว เช่น ล้อยางหรือระบบเสมือนราง ที่ขีดเส้นตามถนนให้รถไฟฟ้าวิ่ง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าล้อเหล็ก ส่วนระบบ E-BRT อาจจะเป็นระบบที่มีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุด แต่ความทันสมัยวันหนึ่งอาจจะเก่า เพราะคล้ายกับรถเมล์ ถ้าถามว่าดีหรือไม่ ดี แต่อาจจะไม่เชื้อเชิญให้คนหันมาใช้งานเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ระบบรางเสมือน หากกังวลเรื่องการจราจรติดขัดจากขบวนที่ยาว ก็อาจจะลดจำนวนขบวนลงในบางเวลา ส่วนเวลาที่บริเวณลานย่าโมมีกิจกรรมใหญ่ อาจจะตีเส้นรางเสมือนไว้ในเส้นทางอื่นด้วย ทำให้บังคับรถไปในทางอื่นได้”

นายสุพจน์ พิริยะเกียรติสกุล ผู้ประกอบการร้านอาหารบริเวณถนนโพธิ์กลาง กล่าวว่า “ผมต้องการความชัดเจนมากกว่านี้ในประเด็นที่ว่า บริเวณสถานีของรถไฟฟ้าจะใช้พื้นที่มากเท่าไหร่ จะบดบังหน้าบ้านแล้วประชาชนจะทำการค้าได้อย่างไร และถนนโพธิ์กลางบางช่วงกว้าง ๑๐ เมตร ถ้ามีรถไฟฟ้าจะเหลือพื้นที่เท่าไหร่ จะต้องจัดการระบบจราจรอย่างไร และรถขนส่งสินค้าจะจอดส่งของได้หรือไม่”

นายณัฐ นาคธรณินทร์ กล่าวว่า “เส้นทางช่วงถนนโพธิ์กลางและจอมสุรางค์ยาตร์ รฟม.ได้รับข้อเสนอแนะมาตั้งแต่ช่วงแรกๆ ช่วงแรกจะให้รถไฟฟ้าวิ่งสวนกันเส้นทางเดียว แต่เนื่องจากถนนแคบจึงได้รับการปรับแบบ โดยขาไปจะวิ่งผ่านถนนโพธิ์กลาง ส่วนขากลับจะวิ่งบนถนนจอมสุรางค์ยาตร์ ส่วนสถานีจะตั้งอยู่กลางถนน กว้างเพียง ๒-๓ เมตร และเราจะจัดการระบบจราจรให้สะดวกและจอดรถอื่นได้”

 

ทำรถไฟฟ้าใต้ดิน

ด้านนายสุวัฒน์ (ไม่ทราบนามสกุล) ประชาชนในพื้นที่โครงการฯ กล่าวว่า “ผมคิดว่า ควรจะขยายจุดเริ่มต้นไปที่ตำบลโคกกรวด เพราะมีสถานที่สำคัญ ทั้งโรงเรียนและโรงพยาบาล และไปสิ้นสุดที่จอหอ ส่วนช่วงที่วิ่งในเมือง ถ้าวิ่งบนถนนรถก็ติด ทำไมไม่นำลงดิน ทำเหมือนประเทศญี่ปุ่นหรือในกรุงเทพฯ ดังนั้น ช่วงที่ผ่านพื้นที่คับแคบหรือชุมชน ขอให้นำลงดินได้หรือไม่ เพราะต้องใช้งานอีกหลายสิบปี เมื่อจะเปลี่ยนก็ต้องมาทะเลาะกันอีก นำคนมานั่งสัมมนาอีก ไม่จบ ไหนๆ จะลงทุนทำแล้ว ในเขตเมืองก็นำลงใต้ดิน ส่วนนอกเมืองก็ยกระดับ ไม่ต้องยุ่งกับถนน”

นายเทิดศักดิ์ พ่วงจินดา ชี้แจงว่า “การขยายจุดเริ่มต้นไปตำบลโคกกรวด ที่ปรึกษาทราบข้อมูลโรงพยาบาลและโรงเรียน ส่วนจะให้ไปสิ้นสุดที่จอหอ เราก็ทราบข้อมูลแล้ว แต่ในการขยายเส้นทางเราต้องไปพิจารณาตามตัวเส้นทางที่ สนข.จัดทำไว้ การที่จะทำเส้นทางนอกเหนือจากนี้ อาจจะต้องกลับไปที่ คจร. ทำให้โครงการขยายเวลามากขึ้น แต่ถ้าเราดำเนินการแล้วเร่งให้เกิดเส้นทางต่อไป คือ สายสีม่วง ก็จะช่วยบรรเทาการจราจร และช่วยดึงดูดผู้โดยสารด้วย ส่วนกรณีการปรับแบบเป็นเส้นทางใต้ดินนั้น อย่างที่ทราบกันดีว่า ในเขตเมืองรถไฟฟ้าจะวิ่งปะปนไปกับรถยนต์ ส่วนนอกเมืองวิ่งแบบแยกเลนหรือช่องทางเฉพาะ แต่ถ้าจะนำลงใต้ดิน มูลค่าการลงทุนจะเพิ่มขึ้นสูงมาก นักลงทุนอาจจะไม่สนใจและโครงการอาจจะไม่เกิดขึ้น ผมยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า ถ้านำลงใต้ดิน ๕ กิโลเมตร อาจจะต้องลงทุนเพิ่มประมาณ ๕ หมื่นล้านบาท เมื่อพิจารณาแล้วโครงการอาจจะไม่เกิดขึ้น”

เส้นทางสายสีเขียว

ทั้งนี้ โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว (ตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์) เป็นระบบขนส่งมวลชนประเภทระบบรถรางไฟฟ้า (Tram) มีลักษณะเป็นระบบรถไฟฟ้าที่วิ่งไปตามทางวิ่งหรือรางบนถนน (ระดับดิน) มีจุดเริ่มต้นที่บริเวณตลาดเซฟวัน (ถนนมิตรภาพ) ฝั่งมุ่งหน้าเข้าตัวเมืองนครราชสีมา วิ่งไปตามแนวถนนมิตรภาพ ผ่านแยกปักธงชัย แล้วเบี่ยงขวาตามทางรถไฟ มุ่งหน้าตามถนนสืบศิริ ซอย ๖ เลี้ยวซ้ายผ่านทางรถไฟไปตามแนวถนนสืบศิริ จากนั้นเลี้ยวขวาตรงบริเวณวัดใหม่อัมพวัน ไปตามแนวถนนมุขมนตรี ผ่านสวนภูมิรักษ์และตลาด ๑๐๐ ปี โรงเรียนมารีย์วิทยา สถานีรถไฟนครราชสีมา ห้าแยกหัวรถไฟ บริเวณนี้แนวเส้นทางแยกเป็น ๒ เส้นทางคือ เส้นทางขาไปตามถนนโพธิ์กลาง จนถึงบริเวณหน้าอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จากนั้นเลี้ยวซ้ายไปตามถนนราชดำเนินฝั่งคูเมือง จนถึงแยกอนุสาวรีย์ท้าวสุนารี (บริเวณถนนราชดำเนินตัดกับทางหลวงหมายเลข ๒๒๔) แล้วเลี้ยวขวาไปตามทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ ผ่านโรงเรียนเมืองนครราชสีมา วิทยาลัยอาชีวศึกษานครราชสีมา โรงเรียนอนุบาลนครราชสีมา โรงเรียนสุรนารีวิทยา และวัดสามัคคี แล้วเลี้ยวซ้ายบริเวณแยกประปา (ทางหลวงหมายเลข ๒๒๔ ตัดกับทางหลวงหมายเลข ๒๐๕) มุ่งหน้าไปตามถนนสุรนารายณ์ ผ่านมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) นครราชสีมา ไปสิ้นสุดที่บริเวณสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ซึ่งอยู่ในเขตท้องที่อำเภอเมืองนครราชสีมา

ส่วนเส้นทางขากลับจากบริเวณสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ถึงแยกอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จะใช้เส้นทางเดียวกับขาไป จากนั้นจะใช้ถนนชุมพล และถนน จอมสุรางค์ยาตร์ จนถึงห้าแยกหัวรถไฟ แล้วใช้เส้นทางเดียวกับขาไปจนถึงตลาดเซฟวัน ระยะทางประมาณ ๑๑.๑๕ กิโลเมตร รวมงบประมาณโครงการเฉพาะสายสีเขียว ประมาณ ๗,๑๑๕ ล้านบาท ซึ่งเดิมทีมีกำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จในปี ๒๕๖๙ แต่ปัจจุบันต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากอยู่ในขั้นตอนการทบทวนรายละเอียดโครงการฯ


ฉบับพิเศษ ครบรอบ ๔๘ นสพ.โคราชคนอีสาน ฉบับที่ ๒๗๔๖ วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕

 


1031 1420