28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

May 25,2023

โคราชจีโอพาร์คโลกยูเนสโก โอกาสของโคราช

 

เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 โคราชจีโอพาร์ค (Khorat Geopark) เผยแพร่ข้อมูลว่า ด้วยที่ประชุมคณะกรรมาธิการว่าด้วยโครงการและความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ ในการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก ครั้งที่ 216 วันที่ 17 พฤษภาคม 2566 ณ องค์การยูเนสโก กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้รับรองจีโอพาร์คหรืออุทยานธรณี จำนวนรวม 18 แห่ง เป็นจีโอพาร์คโลกยูเนสโกหรือ UNESCO Global Geoparks รวมถึงโคราชจีโอพาร์ค (Khorat Geopark) ด้วยนั้น ทางโคราชจีโอพาร์ค ขอให้ข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อความเข้าใจตรงกัน ดังนี้

1. องค์การยูเนสโก รับรองโคราชจีโอพาร์คเป็น จีโอพาร์คโลกยูเนสโก (UNESCO Global Geopark) เท่านั้น ไม่ได้รับรองโคราชจีโอพาร์คเป็นดินแดน 3 มงกุฎแห่งที่ 4 ของโลก ตามที่บางสื่อเผยแพร่แต่อย่างใด

2. เรื่องดินแดน 3 มงกุฎแห่งที่ 4 ของโลก ทางโคราชจีโอพาร์ค เคยประชาสัมพันธ์ แต่การประเมิน
โคราชจีโอพาร์คเป็นจีโอพาร์คโลก เมื่อ พ.ศ.2565 ผู้ประเมินชาวเยอรมันและแคนาดาที่แต่งตั้งโดยยูเนสโก แนะนำว่าไม่ควรใช้ข้อความดังกล่าว เพราะจะทำให้นานาชาติ เข้าใจว่าเป็นพื้นที่ทับซ้อนกันเหมือนเชจูจีโอพาร์คของเกาหลีใต้ คือ ทั้ง 3 มรดกหรือโปรแกรมของยูเนสโก (มรดกโลก พื้นที่สงวนชีวมณฑลและจีโอพาร์คโลก) ทับซ้อนกันอยู่บนพื้นที่เดียวกัน ซึ่งทางยูเนสโกจะให้ตั้งองค์กรใหม่มาบริหาร 3 มรดกดังกล่าว แต่กรณีจังหวัดนครราชสีมา โคราชจีโอพาร์คไม่ได้ทับซ้อนกันกับอีก 2 มรดกของยูเนสโก จึงไม่ต้องตั้งองค์กรใหม่มาบริหาร 3 มรดก เพียงแต่เสนอแนะให้ประสานทำงานเชื่อมโยงกัน เพราะต่างเป็นโปรแกรมของยูเนสโกด้วยกันภายในจังหวัด และจะเป็นรูปแบบใหม่ของการพัฒนาที่ให้ภาพสมบูรณ์ของการอนุรักษ์มรดกโลกทั้งด้านธรณีวิทยา ชีววิทยาและวัฒนธรรม

3. โคราชจีโอพาร์ค จึงได้เสนอต่อสาธารณะ โดยเปลี่ยนข้อความใหม่จาก UNESCO Triple Crown City (เมือง 3 มงกุฎยูเนสโก) เป็น UNESCO Triple Heritage City (เมือง 3 มรดกโลกยูเนสโก) แทนข้อความเดิม ซึ่งหากพิจารณาเฉพาะจังหวัดที่มี 3 มรดกทางธรรมชาติ ดังกล่าวข้างต้น จังหวัดนครราชสีมา จะเป็นจังหวัดที่ 4 ของโลกต่อจาก 1) จังหวัดเชจู (เกาหลีใต้) 2) จังหวัดหูเป่ย์และ 3) จังหวัดอันหุย ในประเทศจีน ส่วนในระดับประเทศ ประเทศไทยก็จะเป็นประเทศที่ 3 ของโลกต่อจากเกาหลีใต้และจีน ที่มีจังหวัดซึ่งมีมรดกหรือโปรแกรมของยูเนสโกครบทั้ง 3 โปรแกรมภายใน 1 จังหวัด

4. โคราชจีโอพาร์คไม่ได้หมายถึงพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมาเท่านั้น เพราะโคราชจีโอพาร์คได้รับการประกาศจัดตั้ง เมื่อ พ.ศ.2558 โดยจังหวัดนครราชสีมา แต่ได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ เป็นหน่วยงานหลักในการประสานการพัฒนาร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย โดยพื้นที่ที่ประกาศจัดตั้งโคราชจีโอพาร์ค คือ พื้นที่ลุ่มน้ำลำตะคอง ครอบคลุมเขต 5 อำเภอ คือ สีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ เมืองฯ และเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งมีแหล่งอนุรักษ์และท่องเที่ยวรวม 39 แหล่ง โดยป่าไม้กลายเป็นหินโกรกเดือนห้าและพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินเป็นเพียง 1 แหล่งใน 39 แหล่งใน 5 อำเภอดังกล่าว ทางจังหวัด จึงมอบหมายให้สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ เป็นที่ตั้งสำนักงานโคราชจีโอพาร์ค และแต่งตั้งผู้อำนวยการสถาบันฯ ขณะนั้นเป็นผู้อำนวยการโคราชจีโอพาร์ค ด้วย

5. จีโอพาร์คโลกหรืออุทยานธรณีโลกปัจจุบัน (2566) มีจำนวนทั้งสิ้น 195 แห่งใน 48 ประเทศ สำหรับโคราชจีโอพาร์ค หากพิจารณาจากลำดับที่เห็นชอบโดยสภาจีโอพาร์คโลกก่อนเสนอยูเนสโก จะเป็นแห่งที่ 183 ของโลก และแห่งที่ 2 ของประเทศไทยต่อจากอุทยานธรณีโลกสตูล

6. ชื่อโคราชจีโอพาร์ค ในภาษาอังกฤษใช้ Khorat เพราะใช้ตามการบัญญัติศัพท์ของทางราชการ คือ ราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำหนดชื่อและการเขียนเป็นภาษาอังกฤษเกี่ยวกับชื่อสถานที่ต่างๆ ทางภูมิศาสตร์และการปกครอง เช่น ภูเขา แม่น้ำ ชื่อเมือง อำเภอ ตำบล ฯลฯ ส่วนการใช้คำว่า Korat ก็เป็นศัพท์ ที่ใช้ได้ทั่วไปตามความนิยม โดยสรุป คือ ถูกต้องทั้ง 2 คำ

7. จีโอพาร์ค เป็น เรื่องในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ
สิ่งแวดล้อม โดยความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และผ่านลงมาทางกรมทรัพยากรธรณี ในระดับจังหวัดจะมี คณะอำนวยการและคณะบริหาร 2 คณะ คือ 1) คณะอนุกรรมการอุทยานธรณีโคราช แต่งตั้ง โดย รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติฯ เป็นกรรมการและเลขานุการ และ 2 คณะผู้บริหารโคราชจีโอพาร์ค ปัจจุบันมีอดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลาย เป็นหินฯ เป็นผู้อำนวยการ และมีบุคลากรจากภาครัฐ ท้องถิ่นและเอกชนจาก 5 อำเภอร่วมบริหารอีก 30 คน เพราะจีโอพาร์คต้องทำงานบูรณาการกับหลายๆ ภาคส่วน

8. จีโอพาร์ค เป็นโปรแกรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ 1 ใน 3 โปรแกรมของยูเนสโก อีก 2 โปรแกรม คือ มรดกโลกกับพื้นที่สงวนชีวมณฑล จีโอพาร์คจะเน้นการอนุรักษ์มรดกทางธรณีวิทยา (หิน ดิน แร่ ฟอสซิล ภูมิประเทศ) รวมทั้งมรดกทางธรรมชาติอื่นและมรดกทางวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับมรดกทางธรณีวิทยา เน้นการอนุรักษ์ การศึกษาและการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมผ่านการท่องเที่ยวเชิงภูมิศาสตร์หรือ Geotourism ประการสำคัญเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการบริหารจัดการจีโอพาร์คจากล่างสู่บนหรือแบบ Bottom-up

9. โคราชจีโอพาร์คเป็นจีโอพาร์คโลกยูเนสโกแล้วจะเกิดอะไรขึ้น? โคราชจะเป็นเมืองแห่งโอกาส จากการเป็น “เมือง 3 มรดกโลกยูเนสโก” เช่น มรดกทางธรณีวิทยา นิเวศวิทยาและวัฒนธรรมของโคราช จะได้รับการอนุรักษ์ ปกป้องและเกิดประโยชน์แก่คนรุ่นอนาคตยั่งยืนนานขึ้น, เกิดเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ “วงแหวนท่องเที่ยวแหล่ง 3 มรดกโลกยูเนสโก” (UNESCO Ring Road) ที่แตกต่างจากภูมิภาคอื่นของประเทศไทยและอาเซียน, เกิดการลงทุนโดยภาครัฐและเอกชนในเรื่องผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นอัตลักษณ์ของ 3 มรดกโลก การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการท่องเที่ยว การศึกษาวิจัยองค์ความรู้ใหม่ด้านมรดกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมในพื้นที่ และ ชุมชนท้องถิ่นในบริเวณ 3 มรดกโลกกว่า 1.2 ล้านคนใน 10 อำเภอ จะมีโอกาสมีงานทำและมีรายได้เพิ่มขึ้นจากกิจกรรมการท่องเที่ยว และผู้คนที่ละทิ้งถิ่นจะมีจำนวนลดลง เป็นต้น


1002 1642